กระทู้ธรรม

กระทู้: กระทู้ธรรม

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. lover said:
    อริยสัจสี่


    อริยสัจสี่ เรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และ ปริวัฏฏ์ ๓ อาการ ๑๒ คงเคยได้ยินได้ฟังกันบ้าง

    ธรรมเหล่านี้มีแสดงไว้ในพระอภิธรรม คำสอนในเรื่องอริยสัจ ๔ นี้มีตัวอย่างเช่นทรงแสดงว่า จิต ๘๑ดวง เจตสิก ๕๑ และ รูป ๒๘ เป็นทุกข์

    อันนี้ฟังดูก็เข้าใจได้ว่ารูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ จิตที่เป็นทุกข์นั้น ท่านหมายความเฉพาะโลกียจิต ่ไม่ได้รวมมรรคจิต และผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรจิต

    เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดตามคำสอนเฉพาะในส่วนที่ว่าโลกียจิตเป็นทุกข์นั้น

    เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้ความเข้าใจที่ฝังรากลึกกันมาแล้วจะพบว่าเป็นสัจจธรรมที่สวนกระแสโลกอย่างมาก

    โลกียจิตในส่วนที่เป็นอกุศลนั้น เราย่อมเข้าใจได้ง่ายว่าเป็นทุกข์อย่างแน่นอน เช่น ความอยากได้สิ่งต่างๆ ทำให้จิตใจเร่าร้อนเป็นทุกข์

    อันนี้เป็นความจริงที่สัมผัสได้ง่าย เรายอมรับยอมเข้าใจได้ง่าย แต่โลกียจิตในส่วนที่เป็นกุศลนี่ซิ ข้าพเจ้าเองกว่าจะเข้าใจว่าเป็นทุกข์จริงๆ

    ก็ใช้เวลานานอยู่เหมือนกันที่จะเห็นได้ด้วยใจ ไม่ใช่ด้วยความจำ หากข้าพเจ้าเดินไปบอกใครสักคนที่กำลังยิ้มแย้มแจ่มใสถวายสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยใจที่มีปีติในบุญอยู่ดีๆ

    แต่ข้าพเจ้ากลับสะกิดบอกเขาว่าความปีติในใจท่านน่ะเป็นทุกข์นะ เขาคงว่าข้าพเจ้าเสียสติ นี้แหละที่เรียกว่าสวนกระแส ทำอย่างไรจะให้เขาเห็นว่าปีติก็เป็นทุกข์

    จิตที่เป็นโลกียกุศลทั้งหมดเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะไม่สามารถตั้งอยู่ได้ ต้องเสื่อมสิ้น แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไป โดยที่เราไม่สามารถบังคับบัญชาได้

    เรียกว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา




    ความเพียรมีรสขม แต่ผลของมัน หวานชื่นเสมอ.......เต้ เลิฟเวอร์

    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-09-2015 เมื่อ 06:32 PM
     
  2. lover said:
    วิปัสสนาญาน


    วิปัสสนาญาน พระอภิธรรมอธิบายลำดับขั้นของวิปัสสนาญานที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มจนถึงนิพพาน ก็ควรจะทราบไว้บ้างว่า

    ที่เรียกว่าวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้วนั้นเป็นเช่นไร เรื่องวิปัสสนาญาณนี้ไม่ใช่แนวทางหรือวิธีการปฏิบัติ แต่เป็นผลของการปฏิบัติที่เกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัย

    จะบังคับให้เกิดไม่ได้ (ยิ่งบังคับหรืออยากให้เกิดก็จะไม่เกิด) ดังนั้นเมื่อเข้าใจแล้ว ก็วางเสีย ข้อสำคัญที่ควรระลึกเกี่ยวกับวิปัสสนาญาณ คือ

    ทรงแสดงเรื่องวิปัสสนูปกิเลสอันทำให้วิปัสนนาเศร้าหมอง ไม่ก้าวหน้า เพื่อผู้ปฏิบัติจะได้เท่าทัน และปฏิบัติต่อไปได้โดยไม่ติดอยู่กับวิปัสสนูปกิเลส



    ปฏิจจสมุปบาท


    ปฏิจจสมุปบาท ทรงแสดงไว้ว่า ธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ แล้วทรงแสดงถึงเหตุปัจจัยต่างๆ

    ของความเกิดดับทั้งหลาย ตลอดจนการทำเหตุให้ถูกต้องเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ เพื่อที่จะดับเหตุนั้นๆ ทำให้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก



    วิถีจิต


    วิถีจิต ทรงแสดงวิถีของการเกิดดับของจิต ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนถึงจุติ คือตาย

    ในทางการแพทย์สามารถอธิบายได้เพียงว่าร่างกายมนุษย์นั้นปฏิสนธิเมื่อไร แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจิตของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อใด

    เรื่องนี้ถามคุณหมอที่เรียนพระอภิธรรม ท่านก็ยังถึงกับอึ้งและไม่กล้าตอบแน่ชัด เพราะไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์ว่าจิตมนุษย์เกิดในวันไหน

    ตอนไหน หรือเกิดพร้อมร่างกายเมื่อปฏิสนธิ ถ้าจะตอบก็ด้วยการคาดคะเน แต่เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุตญาณและทรงแสดงไว้อย่างละเอียด

    อีกเรี่องหนึ่งที่ทรงแสดงไว้คือ ธรรมชาติของจิตที่ใกล้จะตาย เรื่องนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นที่สนใจมากในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

    มีหนังสือ มีบทความ มีการสอน มีคำถามมากมายเรื่องเกี่ยวกับจิตที่ใกล้จะตาย หรือจะรักษาจิตอย่างไรเมื่อใกล้จะตาย

    เรื่องนี้ก็ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จึงควรศึกษาตรงจากคำสอนเรื่องมรณาสันนวิถี เป็นวิถีจิตที่ใกล้จะตายนิมิตในจิตก่อนตายดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้บ้าง

    จะเป็นประโยชน์มากในขณะที่มีชีวิตอยู่นี้โดยไม่ต้องรอตอนใกล้จะตาย ด้วยรื่องมรณาสันนวิถีนี่้ท่านทรงชี้ให้เห็นว่า

    ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่ยังมิได้เป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม หรือสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานก็ตาม

    เมื่อใกล้จะตาย จะมีนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าในทวารใดทวารหนึ่งด้วยอำนาจของกรรมที่เคยทำไว้ก่อนหน้า

    นิมิตเหล่านี้เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปเกิดใหม่ในทุคติภุมิ หรือสุขติภูมิ นิมิตมี ๓ คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์

    ดังนั้นหากเราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนิมิตทั้ง ๓ ว่าเกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรม ก็จะทำให้เราหมั่นทำกรรมดีละเว้นการทำกรรมชั่ว




    ความเพียรมีรสขม แต่ผลของมัน หวานชื่นเสมอ.......เต้ เลิฟเวอร์

    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-09-2015 เมื่อ 06:32 PM
     
  3. lover said:
    กรรม

    กรรม ศาสนาพุทธสอนเรื่องกรรม และผลของกรรม ในพระอภิธรรมก็อธิบายเรื่องกรรมไว้มาก

    ทำให้เข้าใจว่าสัตว์ บุคุลที่เกิดมาล้วนแตกต่างกันตามอัตภาพที่ได้นั้นมีเหตุมาจากกรรมใด



    ภพภูมิ


    ภพภูมิ ทำกรรมเช่นใดจะได้ไปเกิดในภพภูมิใดอย่างไร ภพภูมิใดที่ บุคคลเหล่าใดสามารถบรรลุธรรมได้

    บุคคลเหล่าใดสามารถบรรลุธรรมได้บุคคลเหล่าใดจะเกิดอีก และจะเกิดที่ใดอย่างไร บุคคลใดจะไม่เกิดอีก ่

    และ หรือจะเวียนว่ายตายเกิดอีกกี่ชาติจึงจะเข้าถึงพระนิพพาน บุคคลเหล่าใดเกิดมาแล้วก็จักตายไปไม่สามรถบรรลุธรรมได้ เป็นต้น

    อนึ่ง คำว่าบุคคลเหล่าใด มิได้หมายถึงบุคคลโดยสมมุติบัญญัติ แต่พระองค์ทรงแสดงสภาวะของบุคคลโดยปรมัตถ์ เช่นว่า ติเหตุกบุคคล

    คือบุคคลที่เกิดมาด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ บุคคลเหล่านี้เท่านั้นที่ีสามารถบรรลุธรรมได้ และจะเกิดในปัญจโวการภูมิ

    และอรูปภูมิเท่านั้น ดังนั้นพวกเราทั้งหลายที่ถือกำเนิดมาในโลกใบนี้ ก็นับว่าอยู่ในปัญจโวการภูมิ ท่านมิอาจทราบได้ว่าท่านเป็นติเหตุกบุคคลหรือไม่

    จนกว่าท่านจะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม ติเหตุกบุคคลนั้น จะมีความแตกฉานในพระธรรมเนื่องด้วยได้เคยสะสมปัญญาบารมีทั้งปริยัติ ่

    และปฏิบัติมาหลายภพหลายชาติ เมื่อได้มาปฏิบัติในชาตินี้จนบารมีแก่กล้าก็จะสามารถบรรลุธรรมได้ ส่วนบุคคลที่เป็นทุคติอเหตุกบุคคล

    เช่นบุคคลที่เกิดมา หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เหล่านี้พระอภิธรรมสอนไว้ทั้งสิ้น

    ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นการกล่าวโดยสังเขปว่าให้เห็นภาพว่าที่ว่าเรียนพระอภิธรรมนั้น เรียนอะไร

    และจะมีประโยชน์นำมาใช้ในการปฏิบัติโดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้อย่างไร





    ความเพียรมีรสขม แต่ผลของมัน หวานชื่นเสมอ.......เต้ เลิฟเวอร์

    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-09-2015 เมื่อ 06:31 PM
     
  4. lover said:
    " ๗ สหชาติ ของพระพุทธเจ้า "


    ครั้น พระนางสิริมหามายา พระราชมารดาของพระพุทธเจ้าเมื่อใกล้ถึงกำหนดพระประสูติกาล

    ก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปยังกรุงเทวทหะอันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง (ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ฝ่ายหญิงจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านบิดามารดา)

    เมื่อขบวนผ่านมาถึงอุทยานลุมพินีซึ่งตั้งอยู่ระหว่างนครทั้งสอง พระนางประชวรพระครรภ์ บรรดาข้าราชบริพาลก็รีบจัดที่ประสูติถวายภายใต้ต้นสาละใหญ่

    กาลเวลานั้นแดดอ่อน ดวงตะวันยังไม่ขึ้นตรงศรีษะเป็นวันเพ็ญเดือน ๖ พระจันทร์จักโคจรเต็มดวงในยามเที่ยงคืน ชมพูทวีปเริ่มมีฝนอากาศโปร่ง

    ต้นไม้ในอุทยานป่าสาละกำลังผลิดอกออกใบอ่อน ดอกสาละ ดอกจำปาป่า ดอกอโศก และดอกไม้นานาพรรณกำลังเบ่งบานส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ

    พระนางสิริมหามายาประทับยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ พระหัตถ์ซ้ายปล่อยตก ประสูติพระโอรสโดยสะดวก

    ในวันเพ็ญเดือน ๖ วันที่พระกุมารประสูตินั้น มีมนุษย์และสัตว์กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติมงคลบังเกิดร่วมถึง ๗ อัน "สหชาติ"

    นั้นหมายถึงผู้เกิดร่วมด้วย ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า คือ



    ๑. พระนางพิมพา


    หรือพระนางยโสธรา เป็นพระราชบุตรีของประเจ้าสุปปพุทธะกรุงเทวทหะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะเมื่อมีประชนม์ได้ ๑๖ พรรษา

    เป็นพระมารดาของพระราหุล ภายหลังออกบวชมีนามว่า พระภัททกัจจานา



    ๒. พระอานนท์


    เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ

    ท่านออกบวชในพุทธศาสนา และได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหลายด้าน

    ท่านบรรลุพระอรหันต์หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน

    เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนถึงอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี

    ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติสองฝ่ายคือศากยะ และโกลิยะ



    ๓. นายฉันนะ


    เป็นอำมาตย์คนสนิท และเป็นสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะในวัง เสด็จออกบรรพชาเมื่อมีพระชนม์ได้ ๒๙ พรรษา

    นายฉันนะตามเสด็จไปด้วยและนำเครื่องอาภรณ์พร้อมทั้งคำกราบทูลของเจ้าชายสิทธัตถะกลับกรุงกบิลพัสดุ์

    ภายหลังบวชเป็นภิกษุถือตัวว่าเป็นคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาแต่เก่าก่อน

    ใครว่าไม่ฟังเกิดความบ่อย ๆ หลังจาก พระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว ถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์หายพยศและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์




    ๔. อำมาตย์กาฬุทายี


    เป็นพระสหายสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์พระเจ้าสุทโธนะส่งไปทูลเชิญพระศาสดาเพื่อเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์

    อำมาตย์กาฬุทายีไปเผ้าพระศาสดาที่กรุงราชคฤห์ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตตผล

    อุปสมบทเป็นภิกษุแล้วทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

    ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส




    ๕. ม้ากัณฐกะ


    ม้าพระที่นั่งของเจ้าชายสิทธัตถะ ตัวม้ายาวจากคอถึงหาง ๑๘ ศอก ส่วนสูงก็เหมาะสมกับส่วนยาว

    มีสีขาวผ่องเหมือนเปลือกหอยสังข์ที่ขาวสะอาด ในราตรีที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จหนีออกจากพระราชวัง เพื่อเสด็จออกพรรพชา

    การเดินทางครั้งนี้มีนายฉันนะเกาะหางม้ากัณฐกะไปด้วย ม้ากัญฐกะเดินทางถึงแม่น้ำอโนมาใช้เวลาเที่ยงคืนถึงเช้าระยะทาง ๓๐ โยชน์ (๔๘๐ กิโลเมตร)

    กระโดดครั้งเดียวก็ข้ามแม่น้ำอโนมา เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำแล้วเจ้าชายสิทธัตถะจึงรับสั่งว่า กัณฐกะเจ้าจงกลับไปยังเมืองกบิลพัสดุ์เถิด

    ม้ากัณฐกะจึงเหลียวมองไปทางเจ้าชายสิทธัตถะ พอเจ้าชายลับสายตาไป ม้าก็ถึงแก่ความตายเนื่อง จากเสียใจ และได้ไปเกิดอยู่ในดาวดึงส์ มีชื่อว่า "กัณฐกเทวบุตร"




    ๖. ต้นมหาโพธิ์


    เจ้าชายสิทธัตถะขณะที่มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

    ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ใต้ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ภายในป่าสาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ

    (ปัจจุบันคือ ตำบลพุทธคยา แขวงเมืองอุรุเวลาเสนานิคม ของรัฐพิหาร)

    ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๑ เกิดพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะ มีอายุ ๓๐๕ ปี

    (ต้นโพธิ์ตรัสต้นที่ ๒ มีอายุ ๘๙๑ ปี ต้นที่ ๓ มีอายุ ๑,๒๒๗ ปี ต้นโพธิ์ตรัสรู้ปัจจุบันเป็นหน่อที่ ๔ ปลูกราว พ.ศ. ๒๔๓๔)




    ๗. ขุมทรัพย์ทั้งสี่


    ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ หรือนิธิกุมภี คือขุมทอง ๔ ขุม ได้แก่ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี


    ความเพียรมีรสขม แต่ผลของมัน หวานชื่นเสมอ.......เต้ เลิฟเวอร์

    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-09-2015 เมื่อ 06:31 PM
     
  5. lover said:
    โพธิปักขิยธรรม


    โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ประกอบด้วยธรรมะ 7 หมวด คือ

    สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7, มรรคมีองค์ 8 รวมเป็น 37 จึงเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม 37




    1.) สติปัฏฐาน 4 คือ การเจริญสติระลึกรู้

    1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องรูปธรรม

    2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องนามธรรมในส่วนความรู้สึกจากสัมผัส

    3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องนามธรรมในส่วนของการรับรู้

    4. ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นทุกเรื่องทั้งรูปธรรมและนามธรรม




    2.) สัมมัปปธาน 4 คือ ความเพียรพยายาม


    1. สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น

    2. ปหานปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

    3. ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น

    4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น




    3.) อิทธิบาท 4 คือ ทางแห่งความสำเร็จในกิจอันเป็นกุศล


    1. ฉันทะ คือ ความพอใจและเต็มใจ

    2. วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม

    3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ จิตใจจดจ่อ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน

    4. วิมังสา คือ ปัญญาที่พิจารณาใคร่ครวญ หาเหตุผล เพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น




    4.) อินทรีย์ 5 คือ ธรรมที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในอารมณ์


    1. สันธินทรีย์ คือ ความศรัทธาเป็นใหญ่

    2. วิริยินทรีย์ คือ ความเพียรเป็นใหญ่

    3. สตินทรีย์ คือ สติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ปัจจุบันเป็นใหญ่

    4. สมาธินทรีย์ คือ การทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน

    5. ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาทำหน้าที่เป็นใหญ่ด้วยการรู้แจ้ง




    5.) พละ 5 คือ ธรรมอันเป็นกำลังที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค


    1. สัทธาพละ คือ ความเชื่อ เลื่อมใส ศรัทธาที่เป็นกำลังให้อดทน และเอาชนะธรรมอันเป็นข้าศึก เช่น ตันหา

    2. วิริยะพละ คือ ความเพียรพยายาม เป็นกำลังให้ต่อสู้กับความขี้เกียจ

    3. สติพละ คือ ความระลึกได้ในอารมณ์สติปัฏฐาน อันจะเป็นกำลังให้ต้านทานความประมาทพลั้งเผลอ

    4. สมาธิพละ คือ ความตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ทำให้เกิดกำลังต่อสู้เอาชนะความฟุ้งซ่าน

    5. ปัญญาพละ คือ เป็นกำลังปัญญาที่เข้มแข็ง ซึ่งทำให้เอาชนะโมหะ คือความโง่ ความหลง




    6.) โพชฌงค์ 7 คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้


    1. สติสัมโพชฌงค์ คือ ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง

    2. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม

    3. วิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียร

    4. ปีติสัมโพชฌงค์ คือ ความอิ่มใจ

    5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ ความสงบกายใจ

    6. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์

    7. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง




    7.) มรรคมีองค์ 8 คือ หนทางปฏิบัติที่นำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน


    1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา

    2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม

    3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม

    4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง

    5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน

    6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม

    7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ

    8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ



    ความเพียรมีรสขม แต่ผลของมัน หวานชื่นเสมอ.......เต้ เลิฟเวอร์

    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-09-2015 เมื่อ 06:31 PM
     
  6. lover said:
    การสวดศพมีการสวด 5 อย่าง ได้แก่


    1.สวดพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ เป็นยอดแม่บทใหญ่ที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นมาแสดงค่าข้าว ป้อนน้ำนม

    โปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์สวรรค์ สิ้นกาล 3 เดือน มี 7 คัมภีร์ คือ พระธรรมสังคณี พระวิภังค์ พระธาตุกถา พระปุคคลบัญญัติ พระกถาวัตถุ พระยมก

    และพระมหาปัฏฐาน นิยมใช้สวดตามพิธีศพทั่วไป

    2.สวดพระสหัสสนัย แปลว่า มีนัยพันหนึ่ง เป็นการกล่าวถึงธรรมทั่วจะให้สำเร็จประโยชน์ 4 ประการ (หรือ อิทธิบาท 4)

    ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ ความเอาใจใส่ ฝักใฝ่ และ วิมังสา ความหมั่นไตร่ตรองพิจารณาหาเหตุผล

    3.สวดพระอภิธรรมมัตถสังคหะ มี 9 ปริจเฉท กล่าวถึง จิต, เจตสิก, รูป, และนิพพาน เป็นการกล่าวถึงความไม่เที่ยงของสังขาร

    ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ปัจจุบันยังนิยมสวด แต่หาพระสงฆ์สวดได้ยาก เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง

    เช่น ความพร้อมเพรียง เสียง และการประสานเสียง

    4.สวดพระมาลัย เป็นการกล่าวถึงพระประวัติของพระเถระรูปหนึ่งที่สำเร็จฌานสมาบัติ มีฤทธิ์ เสด็จไปโปรดยังเมืองนรกและสวรรค์

    ให้เห็นว่าทำดีไปสวรรค์ ทำชั่วไปนรก

    และนำสิ่งที่พบเห็นมาสั่งสอนคนบนโลกให้ทำบุญ ทำดี อย่าทำชั่ว การสวดพระมาลัยนี้สันนิษฐานว่าในสมัยก่อนใช้สวดในพิธีแต่งงาน

    เพื่อให้คู่บ่าวสาวเข้าใจเรื่องของความดีความชั่วในการใช้ชีวิตร่วมกัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนมาสวดในงานศพ เนื่องจากมีคนฟังธรรมมากกว่า

    การสวดแบบนี้ ปัจจุบันหาฟังได้ยาก

    5.สวดทำนองหลวง ผู้สวดจะเป็นพระพิธีธรรมที่อยู่เฉพาะวัดหลวง ซึ่งแต่ละวัดจะมีทำนองการสวดไม่เหมือนกัน

    จะใช้สวดเฉพาะในงานพิธีศพที่อยู่ในชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ หรือพระบรมราชานุเคราะห์ แต่มียกเว้นในงานสวดทั่วไปบางงานที่เจ้าภาพจัดขึ้น



    ความเพียรมีรสขม แต่ผลของมัน หวานชื่นเสมอ.......เต้ เลิฟเวอร์

    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-09-2015 เมื่อ 06:31 PM
     
  7. lover said:
    การตั้งนะโม


    วิธีตั้งบทนะโม 4 แบบ


    นะโมชั้นเดียว

    นะโม

    ตัส// สะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท// ธัส// สะ นะโม

    ตัส// สะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท// ธัส// สะ นะโม

    ตัส// สะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท// ธัส// สะ



    นะโม 3 ชั้น


    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ//

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ//

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ//


    นะโม 5 ชั้น

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัส สะ นะโม ตัสสะ//

    ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ//

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต//

    อะระหะโต สัมมา//

    สัมพุทธัสสะ//


    นะโม 9 ชั้น

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต//

    อะระหะโต/

    สัมมา/

    สัมพุท/ ธัส// สะ นะโม ตัส// สะ ภะคะวะโต/

    อะระหะโต/

    สัมมา/

    สัมพุท/ ธัส// สะ นะโม ตัส// สะ ภะคะวะโต/

    อะระหะโต/

    สัมมา/

    สัมพุท// ธัส// สะ// ฯ


    หมายเหตุ; 1. นะโมชั้นเดียว ขึ้น นะโม แล้วรับพร้อมกัน ตัสสะ ฯลฯ หยุด ตามสังโยค ใช้เป็นบทนมัสการ ในการสวดมาติกาบังสกุล

    2. นะโม 3 ชั้น เป็นบทนมัสการ ใช้ในการให้ศีล ว่าทีละบท ๆ

    3. นะโม 5 ชั้น เป็นบทนมัสการ ใช้ในการทำสังฆกรรม แสดงพระธรรมเทศนา

    4. นะโม 9 ชั้น เป็นบทนมัสการ ใช้ในการเจริญพระพุทธมนต์ที่ใช้ทำนองสังโยค



    ความเพียรมีรสขม แต่ผลของมัน หวานชื่นเสมอ.......เต้ เลิฟเวอร์

    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-11-2015 เมื่อ 01:24 PM
     
  8. รูปส่วนตัว oubasika

    oubasika said:
    ขอร่วมอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะดีเจเลิฟเวอร์ สาธุๆค่ะ


    *กิจโฉ มนุสสปฏิลาโภ การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นแสนยากส์
    *


     
  9. lover said:
    สติ คือการระลึกรู้ ไม่ใช่กำหนด


    รู้ ไม่ใช่คิด ไม่ใช่เพ่ง

    คำว่า รูปนาม ที่เข้าใจง่ายแต่ไม่ตรงทีเดียว คือกายกับใจ

    ความเป็นจริง คือเห็นว่าไม่เที่ยง; ถูกบีบคั้น ทนอยู่ไม่ได้; บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนถาวร

    จิตที่ตั้งมั่น คือจิตที่มีสัมมาสมาธิตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตไม่เผลอลืมสิ่งที่ถูกรู้ และจิตไม่ไหลไปเพ่งจ้องสิ่งที่ถูกรู้

    เป็นกลาง คือสักว่ารู้โดยไม่เข้าไปแก้ไข หรือแทรกแซง เห็นแล้วไม่ยินดีไม่ยินร้าย




    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-11-2015 เมื่อ 01:24 PM
     
  10. lover said:
    แนวทางการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

    ๑ . โอกาสทองของชีวิต

    พวกเรามีบุญวาสนา ได้เกิดในแผ่นดินซึ่งศาสนาพุทธยังดำรงอยู่ หลักธรรมแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนยังได้รับการถ่ายทอดอยู่

    เราได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้พบสัตบุรุษ แล้วมีศรัทธาสนใจที่จะศึกษา ยากมากนะที่จะมีสภาวะอย่างนี้

    ธรรมะของพระพุทธเจ้ากระจ่าง แจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และต้องเห็นผลเร็วด้วย ใครๆ ไปเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วถึงอุทานบอก

    “ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ” ง่าย คว่ำๆ อยู่ จับหงาย มันยากเหรอ



    ธรรมะของพระพุทธเจ้า

    งดงามในเบื้องต้น คือชี้ทางให้เราเดินไปได้ งดงามในท่ามกลาง คือมีเหตุผลสมบูรณ์

    อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา งดงามในที่สุด คือ เราละกิเลสได้จริงๆ ความทุกข์ตกหายไปได้จริงๆ เป็นลำดับๆไป

    ศาสนาพุทธสอนให้เราเรียนรู้ตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือกายกับใจ ท่านสอนว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้น สิ่งที่เรารักที่สุดคือตัวเอง

    คือกายกับใจ ทำไมรัก เพราะเรารู้สึกว่านำความสุขมาให้ อย่างเช่นเรารักตา เรากลัวตาบอด เพราะว่า ตาทำให้เราเห็นของสวยๆ

    ถ้าตาเห็นแต่ของน่าเกลียดน่ากลัว เราคงไม่อยากมีตา หูก็ทำให้ได้ยินเสียงดีๆ ถ้าได้ยินแต่เสียงไม่อยากฟัง เราก็คงไม่อยากมีหู

    อายตนะทั้งหลาย ตาหูจมูกลิ้นกายใจมันทำให้เราเชื่อมต่อเข้ากับโลกภายนอกได้ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นของดี

    นำความสุขมาให้ แต่ตอนนำความทุกข์มาให้ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ไป อย่างน้อยมันก็ยังมีความสุขกระเส็นกระสายให้หวังเล่นๆ

    มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ หวังอะไร หวังจะสุขถาวร หวังจะดีถาวร หวังจะสงบถาวร แต่ความจริงคือ ทุกอย่างชั่วคราว

    นี่เราหวังลมๆ แล้งๆ หวังสิ่งซึ่งไม่มีจริง หวังอย่างนั้นก็นำความทุกข์มาให้ หวังแล้วก็ไม่มีทางสมหวัง

    แต่ถ้าเรารู้ลงในกายในใจ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้ใจนี้เป็นแต่ตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งนะ มันจะวาง

    ไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ เมื่อไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจ จะยึดอะไรอีก ไม่มีแล้ว เพราะสิ่งที่ยึดมากที่สุดคือกายกับใจ ระหว่างกายกับใจก็ยึดใจมากกว่ากาย

    วัตถุประสงค์ของเราชาวพุทธก็คือ ต้องพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือนิพพานนั่นเอง คือพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจ เพราะกายกับใจคือตัวทุกข์



    เรามีเป้าหมายอยู่ ๔ เป้าหมาย

    เป้าหมายที่ ๑

    เป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เห็นความจริงแล้วว่าตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ถาวรนั้นไม่มี มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย

    เป้าหมายที่ ๒

    เป็นพระสกิทาคามี มีสติที่รวดเร็วในการรู้สึกตัว จนกิเลสตัณหาอ่อนกำลังลงไป มีสมาธิปานกลาง มีปัญญาเล็กน้อย

    เป้าหมายที่ ๓

    เป็นพระอนาคามี สามารถปล่อยวางความยึดถือกายได้ จึงพ้นจากกามและปฏิฆะ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง

    เป้าหมายที่ ๔

    เป็นพระอรหันต์ มีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ สามารถปล่อยวางความยึดถือใจได้ ก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง


    ศาสนาพุทธ คือตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้ถูกความเข้าใจถูกในสภาวธรรม (รูปธรรมและนามธรรม)

    จนกระทั่งปล่อยวางความยึดถือสภาวธรรมทั้งปวงได้ ซึ่งก็คือ ความรู้แจ้งอริยสัจ

    อริยสัจมีทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา

    เมื่อใจเข้าถึงความจริง ยอมรับความจริงแล้ว มันจะไม่ทุกข์

    อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญมากเลย ลึกซึ้งที่สุด ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด วนเวียนอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ พ้นไม่ได้หรอก

    อริยสัจเป็นความจริงของบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเหล่านี้เห็นความจริงของโลก ของชีวิต ของจักรวาล

    หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน ฉะนั้นชาวพุทธเป็นนักเรียนนะ เราต้องเรียนธรรมะ เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้แจ้งธรรมะของพระอริยเจ้า เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพระอริยเจ้า

    อริยสัจตัวที่หนึ่งชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจแปลว่ากายกับใจ รูปกับนาม เรารู้สึกไหมว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ เราไม่รู้สึกหรอก

    เรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง

    ตราบใดที่ยังเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง มันจะไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจหรอก

    เพราะมันยังมีทางเลือกที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข ยังรักอยู่ ยังหวงแหนอยู่ ยังหาทางดิ้นรนให้กายให้ใจมีความสุขอยู่

    เมื่อไม่รู้แจ้งในธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นตัวทุกข์ จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือกายความยึดถือใจได้

    ยังรักมัน ยังหวงแหนมัน

    เมื่อรักมันหวงแหนมันนะ สมุทัยก็จะเกิดขึ้น สมุทัยคือตัณหา หมายถึงความอยาก อยากอะไร อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายพ้นทุกข์

    อยากให้จิตใจมีความสุข อยากให้จิตใจพ้นทุกข์ นี่ความอยากนี้แหละคือตัวตัณหา

    ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นอีก มันจะเกิดทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา เบื้องต้นนะ กายกับใจเป็นตัวทุกข์ อันนี้เราไม่เห็นหรอก

    แต่ว่าเบื้องปลายนี่ ทันทีที่เกิดความอยาก อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

    เมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไร จิตจะดิ้นรนเมื่อนั้น เมื่อจิตดิ้นรนเมื่อไร จิตจะมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา กายกับใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้วนะ

    พอเกิดตัณหา เกิดอุปาทานคือความยึดถือ ก็เกิดภพคือการดิ้นรนทำงานของจิต ความทุกข์ก็จะเกิดซ้ำซ้อนขึ้นที่จิตอีกชั้นหนึ่ง

    เมื่อไม่รู้ทุกข์นะ มันก็เกิดสมุทัย จิตใจก็ดิ้นรนปรุงแต่ง นิโรธก็ไม่ปรากฏ นิโรธคือนิพพาน นิพพานคือสภาวะซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะซึ่งพ้นจากตัณหา

    สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า วิสังขาร สภาวะที่พ้นจากตัณหามีชื่อว่าวิราคะ อันนี้เป็นชื่อของนิพพานทั้งสิ้นเลยนะ

    เมื่อจิตยังดิ้นรนค้นคว้า จิตยังมีความอยากมีความยึดถืออยู่ นิพพานไม่ปรากฏ ความพ้นทุกข์ไม่มี เพราะยังวนเวียนยึดถือขันธ์อยู่

    ต่อเมื่อไรรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ นิโรธแจ้งอัตโนมัติ อริยมรรคก็เกิดอัตโนมัติเลย

    พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าให้เรารู้แจ้งอริยสัจเท่านั้น แต่ท่านบอกวิธีที่จะทำให้เรารู้แจ้งอริยสัจด้วย คือให้รู้ทุกข์ ทุกข์คือกายกับใจ

    ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ สมุทัยดับเอง นิโรธปรากฏเอง อริยมรรคเกิดขึ้นเอง

    หากรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันทำกิจของอริยสัจทั้ง ๔ เสร็จสิ้นในขณะเดียวกัน

    วิธีรู้ทุกข์ที่ท่านสอนก็คือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการเห็นอย่างวิเศษ คือเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้




    บัฑิน...หนุ่มไอที
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-11-2015 เมื่อ 01:24 PM