งานวันปิยมหาราช




วันที่ ๒๓ ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดการงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เป็นการประจำปี งานนี้จัดเป็นงานวันเดียว มีสวดมนต์ ถวายเทศนา และสดับปกรณ์ พระสงฆ์สวดมนต์มี ๒๐ รูป ไม่ได้นิมนต์ตามเกณฑ์สมณศักดิ์ แต่นิมนต์โดยถือเกณฑ์วัดที่เกี่ยวกับ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และอัฐิสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวีพระพันวสาอัยิกาเจ้า ส่วนพระสดับปกรณ์พระบรมอัฐิมีจำนวน ๕๗ รูป เช้าเป็นการเท่ากับพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระถวายเทศนานิมนต์จากพระราชาคณะชั้นสูง ตั้งแต่ชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะลงมา งานพระราชพิธีนี้ จัดที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย บางครั้งจัดที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ไม่ต้องวงสายสิญจน์ และไม่ต้องตั้งหม้อน้ำมนต์ เพราะเป็นพระราชพิธีทักษิณานุปทาน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวด้วยพระบรมอัฐิ ไม่ใช่พระราชพิธีมงคล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปทรงวางพวงดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะ กราบถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ที่ลานพระราชวังดุสิตก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะ กราบถวายบังคมพระบรมอัฐิแล้วประทับนั่งยังพระเก้าอี้ พระสงฆ์ ๒๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้วนิมนต์พระขึ้นนั่งยังธรรมาสน์ อาราธนาศีล และอาราธนาธรรม เมื่อถวายเทศนาจบ ยถา ฯลฯ บนธรรมมาสน์ สมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระราชาคณะ ที่เป็นประธานในการสวดมนต์ตั้งพัด รับ สพฺพี ฯลฯ จบแล้ว ทรงประเคนเครื่องไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ ทรงพาดผ้าสดับปกรณ์ สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์ที่สวดมนต์ไปนั่งยังอาสนสงฆ์เพื่อสดับปกรณ์ การสดับปกรณ์พระบรมอัฐินี้คงนั่งตามสมณศักดิ์ ไม่นั่งสลับตามเกณฑ์เหมือนสดับปกรณ์ผ้าคู่ในพระราชพิธีสงกรานต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ว่า อนิจจา วต สงฺ ขารา ฯลฯ ชักผ้าสดับปกรณ์แล้วกลับไปนั่งยังอาสนสงฆ์ตามเดิม สมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรก พระสงฆ์องค์สองขึ้นบท สพฺพพุทฺธานุภาเวน ฯลฯ อยยฺ จโข ฯลฯ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ สถาโสตถี ภวนฺตุ เต แล้วสมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะรูปที่สอง ถวายพระพรลาเสร็จแล้วลงจากอาสนเดินทางกลับ สังฆการีจะนิมนต์พระเข้าสดับปกรณ์ทีละชุดอีกครั้งหนึ่ง กะให้พอดีกับจำนวนอาสนสงฆ์ งานนี้ปกติต้องมีมาติกา แต่จะไม่มีก็ได้สุดแต่ฝ่ายสำนักพระราชวังจะแจ้ง ให้สังฆการีทราบ และสังฆการีจะเผดียงให้พระรูปที่เป็นหัวหน้าทราบอีกครั้งหนึ่ง พระสงฆ์ที่เข้าสดับปกรณ์ชุดแรกเมื่อว่า อนิจฺจา วต สงฺ ขารา ฯลฯ ชักผ้าสดับปกรณ์เสร็จแล้ว ต้อง ยถา ฯลฯ สพฺพี ฯลฯ ถวายอดิเรก ฯลฯ ภวตุ สพฺพ มงฺคลํ ฯลฯ จบแล้วรูปที่สามต้องถวายพระพรลา แล้วลุกจากอาสนสงฆ์ไป พระสงฆ์ที่จะเข้าสดับปกรณ์ชุดต่อ ๆ ไปในงานเดียวกันนี้ ไม่ต้อง ยถา ฯลฯ สพฺพี ฯลฯ ไม่ต้องถวายอดิเรก ไม่ต้องถวายพระพรลา เพียงแต่ว่า อนิจฺจา ฯลฯ ชักผ้าสดับปกรณ์ แล้วก็ลุกจากอาสนสงฆ์ออกไปได้
ในวันปิยมหาราช เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน จะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าในกรุงเทพ ฯ มีการวางพวงมาลา และถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ที่ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ในต่างจังหวัดมีงานพิธีบำเพ็ญกุศล ที่ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทั่วพระราชอาณาจักร
พิธีสงฆ์ในงานพิธีของทางราชการ
งานพิธีที่ทางราชการจัดขึ้น และได้กราบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จไปเป็นประธานในพิธี พิธีสงฆ์ในงานนี้ไม่มีสวดมนต์ หรือเจริญพระพุทธมนต์ ไม่มีฉันคงมีแต่เจริญชัยมงคลคาถาเมื่อเวลาทรงเปิดงาน หรือพระราชทานปริญญาบัตรเท่านั้น แต่ต้องสวดชยันโตเรื่อยไปหลายจบ จนกว่าจะถึงผู้เข้ารับพระราชทานคนสุดท้าย พระสงฆ์ที่นิมนต์ไปในงานเช่นนี้ โดยปกตินิมนต์พระราชาคณะที่เป็นเปรียญ ๙ ประโยค เพราะถือว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุด ทางฝ่ายปริยัติธรรมได้รับปริญญาเหมือนกัน เมื่อสวดชัยมงคลคาถาจบ เจ้าภาพของงานนั้นเป็นผู้ถวายของ แล้วพระสงฆ์ ยถา ฯลฯ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แต่ไม่ต้องถวายพระพรลา ในงานเช่นนี้ต้องใช้พัดยศ เพราะเป็นงานที่เสด็จพระราชดำเนิน แต่ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินต้องใช้พัดรอง เพราะไม่ใช่งานพระราชพิธี งานพระราชกุศล หรืองานรัฐพิธี นอกจากนี้ก็มีงานพิธีที่เสด็จพระราชดำเนินอีกหลายอย่าง เช่นเสด็จในงานพิธีเปิดอาคาร พิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ พิธีวางศิลาฤกษ์ เป็นต้น งานพิธีเช่นนี้พระสงฆ์ที่นิมนต์ไปในงานต้องใช้พัดยศเหมือนกัน
ส่วนงานพิธีที่ทางราชการหรือส่วนงานราชการจัดขึ้นเอง ทำนองกับงานราษฎร์ทั่วไป เมื่อจัดให้มีพิธีสงฆ์ เช่นทำบุญเลี้ยงพระ หรือนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์มาในงานเช่นนี้ จะไม่ใช้พัดยศคงใช้พัดรองเท่านั้น การดำเนินพิธีทั้งฝ่ายเจ้าภาพ และฝ่ายสงฆ์คงเป็นเช่นเดียวกัน กับงานราษฎร์ทั่วไป จะมีแตกต่างกันแต่ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตอนขึ้นต้นตำนาน ตั้งแต่ สรชฺชํ สเสนํ เท่านั้น
ตัวอย่างคำถวายอดิเรก
อติเรก วสฺสสตํ ชีวตุ (สามครั้ง)
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ , ทีฆายุโก , อโรโค โหตุ , สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา สราชินี , สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ราชินียา สห ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร
ตัวอย่างคำถวายพระพรลา
ขอถวายพระพรเจริญราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์สมเด็จพระปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เวลานี้สมควรแล้ว อาตมภาพทั้งปวงขอถวายพระพรลา แด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอถวายพระพร


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.heritage.thaigov.net/reli...ny/relcer1.htm