สงสัยเรื่องของมโนทวาร

กระทู้: สงสัยเรื่องของมโนทวาร

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. ponchario said:

    สงสัยเรื่องของมโนทวาร

    ทราบมาว่า ในปัญจทวาร วิถีจิตต่างๆ อาศัย ปสาทรูป เป็นทวาร และปสาทรูปนั้นก็มีอายุ 17 ขณะของจิตพอดี หมายความว่า วิถีจิตทุกดวงในปัญจทวารได้อาศัย ปสาทรูปนั้นเป็นทวาร (เอ... แต่ก็ไม่แน่ใจว่า อตีตภวังค์
    ภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะ จัดเป็นวิถีจิต ด้วยหรือเปล่า เพราะเคยได้ยินว่า ภวังคจิต ไม่ใช่วิถึจิต เพราะไม่ต้องอาศัยทวารในการเกิด)

    ส่วนใน มโนทวาร วิถีจิตดวงแรกคือ มโนทวารวัชชนะจิต อาศัย ภวังคุปัจเฉทะ เป็นทวาร

    อยากเรียนถามว่า แล้วจิตดวงอื่นๆ ที่เกิดตามมาในมโนทวารวิถึ เช่น ชวนะ และตทาลัมพนะ นั้น อาศัยอะไรเป็นทวารในการเกิดในระหว่างนั้น ?? เพราะภวังคุปัจเฉทะ ก็ดับไปแล้ว

    >> พอดีเพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องจิต และเพิ่งมาสมัครสมาชิกใหม่ อาจตั้งคำถามไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ ขอผู้มีความรู้ ช่วยให้ความรู้ด้วยครับ ขอบคุณมาก <<
     
  2. รูปส่วนตัว D E V

    D E V said:
    สวัสดีครับ คุณ ponchario

    การรับรู้อารมณ์ทางปัญจทวารนั้นต้องอาศัยรูปกระทบกับปสาทรูป
    จึงต่างจากการรับรู้อารมณ์ทางมโนทวาร
    มโนทวารนี้ได้แก่ภวังคุปัจเฉทจิต

    เมื่อมโนทวารวิถีจิตหน่วงเอาสิ่งใดเป็นอารมณ์
    ภวังคจลนะไหว.....แล้วภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้นตัดกระแสภวังค์
    นี้เองจึงเป็นทวารหรือทางให้มโนทวาราวัชชนจิตรับรู้อารมณ์นั้น
    แล้วจิตอื่นที่เกิดก็รับอารมณ์ต่อ (หน่วงเอาสิ่งเดียวกันนั้นเป็นอารมณ์)
    แม้ภวังคุปัจเฉทจิตดับไปแล้ว

    ทางมโนทวารนั้นรับรู้อารมณ์ได้ทั้งที่เป็นอดีต, ปัจจุบัน, อนาคต และกาลวิมุต
    ต่างจากทางปัญจทวารที่รับรู้ปัจจุบันอารมณ์เท่านั้น
    คือขณะที่รูปกระทบกับปสาทรูป ปรากฏเป็นอารมณ์แก่จิตในปัญจทวารวิถี
    ซึ่งจิตแต่ละดวงนั้นก็รับอารมณ์สืบต่อกันนั่นเองครับ




    เดฟ

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย D E V : 11-20-2015 เมื่อ 09:56 AM

    สรณะคือพระรัตนตรัย
     
  3. Admax said:
    สาธุ สาธุ สาธุ ครับพี่เดฟ
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  4. ponchario said:
    สาธุครับ ขอบคุณคุณ DEV มากทีให้ความกระจ่าง ดูเหมือนว่าการทำงานของมโนทวารเป็นอะไรที่ซับซ้อนเกินจินตนาการจริงๆ ขอถามเพิ่มเติมหน่อยนะครับ สงสัยว่า บัญญัติ เกิดมาจากอะไร? บัญญัติจัดเป็นสัญญาประเภทหนึ่งได้มั้ย (เคยได้ยินคำว่า "อัตตสัญญา" คำนี้หมายถึงบัญญัติหรือเปล่า) หรือ ควรจัดเป็นอุปาทาน ?
     
  5. รูปส่วนตัว D E V

    D E V said:
    .
    บัญญัติธรรม คือสิ่งที่สมมติขึ้น
    คงเคยได้ยินบางแห่งเรียกควบกันไปว่า สมมติบัญญัติ ใช่ไหมครับ
    เป็นการที่เราสมมติเรียก หรือให้ความหมาย
    แก่สภาวะที่เป็นอยู่ มีอยู่จริง
    ให้เรียกชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้
    หรือมีความหมายอย่างนั้นอย่างนี้
    เพื่อการสื่อสารที่เข้าใจได้ตรงกันน่ะครับ

    อย่างเช่น เสียง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นของจริง
    เป็นสภาพที่ดังๆ ค่อยๆ ทุ้มๆ แหลมๆ
    ไม่ว่าคนชาติใด ก็ได้ยินเสียงต่างๆ เหล่านั้นเหมือนกันทั้งสิ้น
    แต่เรามาสมมติให้เสียงที่ดังๆ ค่อยๆ ทุ้มๆ แหลมๆ เหล่านั้น
    มีความหมายต่างๆ ขึ้นมา กลายเป็นคำ ชื่อเรียก ภาษาต่างๆ
    สภาพที่แท้จริงได้แก่เสียง
    ส่วนความหมายต่างๆ ของเสียงนั้น
    แต่ละชาติก็สมมติให้เสียงเหล่านั้นมีความหมายต่างๆ กันไป
    กลายเป็นภาษาต่างๆ ขึ้นมานั่นเองครับ

    หรือตัวอย่างง่ายๆ เช่น
    มีวัตถุที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่ชิ้นนึง
    ลักษณะกลมๆ แบนๆ เอาไว้ใส่อาหาร
    คนไทยก็สมมติเรียกสิ่งนั้นว่า จาน
    แต่ชนชาติอื่นสมมติเรียกว่า dish
    จะเห็นได้ว่าสิ่งเดียวกันแท้ๆ
    แต่ แต่ละคนก็สมมติต่างๆ กันไป

    ดังนั้น สภาพธรรมที่เป็นจริงแท้ๆ
    มีสภาวะอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอื่น
    แต่สิ่งที่เราสมมติหรือบัญญัติกันขึ้นมาเพื่อเรียก
    หรือเพื่อให้มีความหมายอย่างนั้นอย่างนี้
    จะเปลี่ยนไปตามแต่ใครจะสมมติกันขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับกัน
    และไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หรือการสมมติขึ้นมา
    สัญญาเจตสิกเค้าทำหน้าที่จดจำไว้หมด
    เราจึงรู้จักสิ่งที่เคยเห็น จำภาษาที่พูดคุยกันได้

    สำหรับ อัตตสัญญา
    ก็คือการจดจำไว้ว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา
    ซึ่งเป็นการจดจำที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงนั่นเองครับ





    เดฟ


    สรณะคือพระรัตนตรัย
     
  6. Admax said:
    สาธุ สาธุ สาธุ
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  7. ponchario said:
    สาธุธรรมครับคุณ Dev ผมพอเข้าใจในเรื่องของบัญญัติในแง่มุมที่คุณ dev อธิบายนะครับ แต่ผมยังข้องใจเรื่องอัตตสัญญา คือ ผมเคยฟังการบรรยายอ.สุจินต์ เห็นท่านเคยยกตัวอย่างว่า บางอย่างแม้ไม่มีชื่อ หรือไม่รู้จักชื่อ (คือไม่ต้องมีเรื่องภาษามาเกี่ยวข้องก็ได้) ถ้าเราสำคัญว่าเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นั่นก็เป็นบัญญัติแล้ว ผมเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น บัญญัติมันก็น่าจะเทียบเท่ากับอัตตสัญญา แล้วปกติสัญญา เป็นขันธ์ๆหนึ่งในขันธ์ห้า เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ แต่บัญญัติเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานไม่ได้ แสดงว่า อัตตสัญญา ก็เป็นอารมณ์วิปัสสนาไม่ได้ด้วย แสดงว่า อัตตสัญญา ไม่ใช่ สัญญากระนั้นหรือ?? เพราะดูจากอาการของมันมันก็เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเหมือนกันนี่นา.. ทำไมเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไม่ได้ ตรงนี้แหละครับที่ผมสงสัย
     
  8. รูปส่วนตัว D E V

    D E V said:
    .
    สัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมแท้ๆ ที่มีอยู่จริง
    เป็นปรมัตถธรรม ทำกิจจดจำทุกอารมณ์ที่ปรากฏ
    ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นปรมัตถ์หรือบัญญัติ

    จะเห็นได้ว่า ตัวสัญญาเจตสิกเองนั้นเป็นปรมัตถธรรม
    แต่อารมณ์ที่สัญญาเจตสิกจดจำนั้น
    มีทั้งที่เป็นปรมัตถธรรม
    เช่น สี กลิ่น รส ฯลฯ (โดยที่ยังไม่มีความหมายใดๆ)
    รวมทั้งจดจำบัญญัติธรรม
    ที่สมมติขึ้นเป็นความหมายต่างๆ ด้วยครับ
    ซึ่งบัญญัติธรรมนี้ไม่ได้เป็นขันธ์ใดเลย
    เพราะเป็นอสภาวะ

    ดังนั้น สัญญาเจตสิก จึงเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้
    เพราะเป็นสภาพธรรมแท้ๆ เช่นเดียวกับขันธ์อื่นๆ นั่นเองครับ

    สำหรับบัญญัติธรรมนั้น
    ดังที่ยกตัวอย่างไว้เกี่ยวกับความหมายของเสียง
    ที่สมมติกันขึ้นเป็นภาษาต่างๆ นั้น
    ก็เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจน่ะครับ
    เพราะในกรณีนี้เรายกตัวอย่างสภาพธรรมของ "เสียง"

    แต่ตัวอย่างต่อมา
    ก็ได้ยกตัวอย่างสภาพของวัตถุที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน
    แสดงความเป็นรูปทรงสัณฐาน
    แล้วเราก็สมมติให้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้
    นี่ก็เป็นบัญญัติอีกลักษณะหนึ่งเช่นกันน่ะครับ
    ซึ่งแม้จะยังไม่ใส่ีชื่อเรียกวัตถุนั้น
    แต่ก็สำคัญมั่นหมายว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว
    จึงเป็นบัญญัติธรรม
    เพราะตัวสภาพธรรมแท้ๆ นั้น
    เป็นเพียงรูปธาตุแต่ละธาตุที่เล็กละเอียดยิบย่อย
    เปลี่ยนแปลงสภาพอยู่ตลอดเวลา
    แต่เมื่อเรามองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิบย่อยนั้นด้วยตา
    ก็สำคัญมั่นหมายว่ารูปธาตุที่ประชุมรวมกันปรากฏเป็นรูปทรงวัตถุนั้น
    เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมานั่นเองครับ

    บัญญัติธรรม จึงมีทั้งที่เป็น "อัตถบัญญัติ" และ "สัททบัญญัติ"
    นี่อย่างย่นย่อเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ น่ะครับ
    สำหรับรายละเอียดก็จะแตกแยกย่อยออกไปอีกมากเลยครับ

    สำหรับสัญญาเจตสิก
    เมื่อจดจำสภาพที่เป็นกลุ่มก้อน เป็นรูปทรงสัณฐาน
    ก็เรียกว่าความจดจำนั้นว่า "ฆนสัญญา"
    เมื่อจดจำสภาพที่สำคัญผิดว่าเที่ยง คงทน
    ก็เรียกความจดจำนั้นว่า "นิจจสัญญา"
    เมื่อจดจำสภาพที่สำคัญผิดว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา
    ก็เรียกความจดจำนั้นว่า "อัตตสัญญา"
    ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

    จึงเห็นได้ว่า "สัญญาเจตสิก"
    ก็ย่อมเป็นสัญญาเจตสิกอยู่นั่นเอง คือทำกิจจดจำ
    แล้วแต่ว่าจะจดจำสภาพใด
    ก็เรียกชื่อไปตามสภาพนั้นนั่นเองครับ

    ดังนั้น "อัตตสัญญา" ที่คุณ Ponchario สงสัย
    ก็คือการจดจำอย่างหนึ่งของสัญญาเจตสิก
    ที่จดจำว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา
    ซึ่งจริงๆ แล้ว สภาพธรรมที่แท้จริงนั้น
    ความเป็นเรา...มีมั้ย?
    ตัวตนที่เป็นของเราจริงๆ...มีมั้ย?
    ไม่มีเลยใช่มั้ยครับ

    แต่ "สัญญาเจตสิก" เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ
    เป็นปรมัตถธรรม เป็นสัญญาขันธ์ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้
    ส่วนความเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา
    นั้นไมใช่สิ่งที่เป็นจริง



    เดฟ


    สรณะคือพระรัตนตรัย
     
  9. ponchario said:
    สาธุธรรมนะครับคุณ dev ผมขอสรุปตามความเข้าใจว่า...
    บัญญัติหรือสมมุติ เป็น สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่มีอยู่โดยสมมุติ เป็นอารมณ์ของจิตได้ และบัญญัติไม่ใช่ตัวสัญญาเจตสิก แต่เป็นอารมณ์ที่ถูกจำหมายโดยสัญญา
    อัตตสัญญา เป็น การจำหมาย ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ว่ามีอยู่จริง เป็นสัญญาที่ไม่ปลอดจากอุปาทาน อาจเรียกอีกชื่อว่า สัญญูปาทาน
    อนัตตสัญญา เป็น การจำหมาย ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ว่าไม่มีอยู่จริง เป็นสัญญาที่ปลอดจากอุปาทาน
    พระอรหันต์ กำหนดรู้อัตตสัญญาถ้วนทั่วแล้ว ละอุปาทานจากสัญญาได้แล้ว ขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็ไม่มีอุปาทานในบัญญัตินั้น รู้บัญญัติว่าเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ตัวตน...
    ถ้ายังมีอะไรผิดพลาดช่วยแก้ไขให้ด้วยนะครับ ขอบคุณมาก สาธุครับ..
     
  10. รูปส่วนตัว D E V

    D E V said:
    .
    บัญญัติหรือสมมุติ เป็น สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่มีอยู่โดยสมมุติ เป็นอารมณ์ของจิตได้ และบัญญัติไม่ใช่ตัวสัญญาเจตสิก แต่เป็นอารมณ์ที่ถูกจำหมายโดยสัญญา
    ใช่แล้วครับ




    อัตตสัญญา เป็น การจำหมาย ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ว่ามีอยู่จริง เป็นสัญญาที่ไม่ปลอดจากอุปาทาน อาจเรียกอีกชื่อว่า สัญญูปาทาน
    อัตตสัญญา เป็นการจดจำในสภาพธรรมทั้งหลายที่ประชุมรวมกัน
    ดังเช่น ขันธ์ 5 (ขันธ์ 5 เป็นสภาพธรรมที่มีจริง) ว่าเป็นตัวเป็นตน
    ทั้งที่แท้จริงแล้วขันธ์ 5 นั้นไม่ได้เป็นตัวเป็นตนของใครเลยใช่มั้ยครับ
    เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ประชุมรวมกัน
    แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา บังคับบัญชาไม่ได้
    แต่ด้วยความเข้าใจผิด มีความเห็นผิด...จึงจดจำผิด
    ซึ่งความเห็นผิดที่ยึดมั่นในสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวเป็นตน
    ก็คือ อัตตวาทุปาทาน

    สำหรับ สัญญูปาทาน
    เรียกเต็มว่า สัญญูปาทานขันธ์ (สัญญูปาทานักขันธ์)
    หมายถึง สัญญาเจตสิก (สัญญาขันธ์) อันเป็นที่ยึดมั่นของอุปาทานน่ะครับ

    (อุปาทานขันธ์ หมายถึง ขันธ์อันเป็นที่ยึดมั่นของอุปาทาน)
    (หมายถึงขันธ์ 5 นั่นเอง)
    (รูปขันธ์ อันเป็นที่ยึดมั่นของอุปาทาน ก็เรียกว่า รูปูปาทานักขันธ์)
    (เวทนาขันธ์ "------------------------" ก็เรียกว่า เวทนูปาทานักขันธ์)
    (สัญญาขันธ์ "------------------------" ก็เรียกว่า สัญญูปาทานักขันธ์)
    (สังขารขันธ์ "------------------------" ก็เรียกว่า สังขารูปาทานักขันธ์)
    (วิญญาณขันธ์ "----------------------" ก็เรียกว่า วิญญาณูปาทานักขันธ์)




    อนัตตสัญญา เป็น การจำหมาย ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ว่าไม่มีอยู่จริง เป็นสัญญาที่ปลอดจากอุปาทาน
    อนัตตสัญญา ถ้าเอาง่ายๆ
    ก็ตรงข้ามกับ อัตตสัญญา นั่นเองครับ

    ก็คือสัญญาเจตสิกที่จดจำว่าสภาพธรรมทั้งหลาย
    ดังเช่น ขันธ์ 5 (ขันธ์ 5 เป็นสภาพธรรมที่มีจริง) ว่าไม่ได้เป็นตัวเป็นตน
    เพราะมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก
    ว่าแท้จริงแล้วขันธ์ 5 นั้นไม่ได้เป็นตัวเป็นตนของใครเลย
    เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ประชุมรวมกัน
    แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา บังคับบัญชาไม่ได้
    ซึ่งความเข้าใจถูกนี้คือ ปัญญาเจตสิก
    และปัญญาเจตสิกนี้ก็ไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต
    ดังนั้น ขณะจิตนั้นจึงไม่มีอุปาทานเกิดร่วมด้วยครับ




    พระอรหันต์ กำหนดรู้อัตตสัญญาถ้วนทั่วแล้ว ละอุปาทานจากสัญญาได้แล้ว ขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็ไม่มีอุปาทานในบัญญัตินั้น รู้บัญญัติว่าเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ตัวตน...
    นับตั้งแต่พระโสดาบันบุคคล
    ท่านก็ละอัตตวาทุปาทาน (สักกายทิฏฐิ) สิ้นแล้ว
    คลายจากอัตตสัญญาแล้ว
    ปราศจากความเห็นผิดในสภาพธรรมทั้งหลาย
    ที่ประชุมรวมกันอยู่นั้นว่าเป็นตัวเป็นตน
    นี่สภาพธรรมแท้ๆ ท่านก็ยังเข้าใจถูก
    ประจักษ์แจ้งแทงตลอด ไม่มีความเห็นผิด
    ดังนั้น สำหรับบัญญัติธรรม ท่านย่อมไม่เข้าใจผิดแน่นอนครับ

    สำหรับพระโสดาบัน
    ท่านละทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน สิ้นซากแล้ว
    ทั้ง 3 ตัวนี้ องค์ธรรมคือ ทิฏฐิเจตสิก นั่นเองครับ

    ส่วนกามุปาทานนั้น (องค์ธรรมคือ โลภเจตสิก)
    สิ้นซากหมดจดไม่เหลือแม้ความติดข้องในภพ
    ก็เมื่อถึงซึ่งพระอรหันต์


    อนุโมทนาครับ




    เดฟ


    สรณะคือพระรัตนตรัย