พระขทิรวนิยเรวัตตเถระ

ชาติภูมิ

ท่านพระเรวัตตะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่านาลันทะ เป็นบุตรสุดท้อง และเป็น้องชายของท่านพระสารีบุตร เดิมชื่อว่า เรวัตตมาณพ เมื่อบวช เข้ามาในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านได้พำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ด้วยเหตุนั้น ท่นจึงไดนามของป่านั้นนำหน้าชื่อว่า “ขทิรวนิยเรวัตตะ” ตามตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อเรวัตตมาณพเจริญวัยมีอายุประมาณ ๘ ปี มารดาบิดาจึงปรึกษากันว่า บุตรของเราบวชหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่เรวัตตะคนเดียว ถ้าบวชเสียก็จะไม่มีใครสืบวงศ์ตระกูล เราควรจะผูกพันเจ้าเรวัตตะบุตรของเราไว้ ด้วยอันให้มีเหย้าเรือนเสียแต่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่ อย่าให้พระสมณศากยบุตรพาไปบวชเสียอีกเลย ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงพาไปขอหมั้นนางกุมาริกาผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน และได้กำหนดวันอาวาหมงคลด้วยฯ



หนีออกบวช

ครั้นถึงวันกำหนด จึงประดับตกแต่งเรวัตตมาณพ พาไปสู่เรือนของนางกุมาริกาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ในขณะเมื่อทำการมงคล เรวัตตะมาณพเกิดความเบื่อหน่ายในการอยู่ครอบครองเรือน เมื่อเสร็จจากการมงคลแล้ว พากันจัดแจงกลับบ้าน เรวัตตมาณพกับนางกุมาริกานั่งมาในรถคันเดียวกัน เมื่อมาในระหว่างทาง เรวัตตมาณพหาอุบายหลีกเลี่ยงหนีไปเสีย เข้ามาหาภิกษุผู้อยู่ในป่าประมาณ ๑๙ รูป ซึ่งอยู่ในประเทศนั้นแล้วขอบรรพชา ภิกษุเหล่านั้นทราบว่าเป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ก็ให้บรรพชาไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากมารดา เพราะท่านพระสารีบุตรได้สั่งบังคับภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ถ้าเรวัตตะน้องชายของผมเข้ามาขอบวชในสำนักของพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงบวชให้เธอด้วย ไม่ต้องขอรับอนุญาตจากมารดาบิดา เพราะมารดาบิดาของผมเป็นมิจฉาทิฐิ ครั้นพวกภิกษุเหล่านั้นให้เรวัตตะบวชเป็นสามเณรแล้ว ส่งข่าวไปให้พระสารีบุตรทราบ ท่านมีความประสงค์จะมาเยี่ยม จึงได้ทูลลาพระบรมศาสดาถึงสองครั้ง พระองค์ตรัสห้ามเสียทั้งสองครั้งจึงได้ยับยั้งอยู่ (เมื่อเรวัตตสามเณรมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยนิยมแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนา) พระเรวัตตะนั้นเมื่อบวชแล้วคิดว่า ถ้าเราจักอยู่ที่นี่ พวกญาติจักติดตามมาพบเรา จึงเรียนเอากรรมฐานในสำนักของภิกษุเหล่านั้น แล้วถือเอาบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้ตะเคียนระยะไกลประมาณ ๓๐ โยชน์ ได้พำนักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลในภายในพรรษานั้น เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระบรมศาสดา เพื่อจะไปเยี่ยมพระเรวัตตะ พระบรมศาสดารับสั่งให้รอก่อน เพราะว่าพระองค์จะเสด็จไปด้วย และรับสั่งให้บอกแก่ภิกษุผู้จะตามเสด็จตระเตรียมตัว ครั้งนั้นได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุห้าร้อยเป็นบริวาร พระเรวัตตเถระทำการต้อนรับเป็นอย่างดี ตามตำนานท่านกล่าวว่า พระเรวัตตะนิรมิตพระคันธกุฎีเพื่อเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา และนิรมิตเรือนยอดห้ารอยเป็นที่พักของพวกบริวาร นิรมิตที่จงกรมก็ห้าร้อย ที่พักกลางคืนและกลางวันก็ห้าร้อย พระบรมศาสดาเสด็จประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้นถึงเดือนหนึ่งแล้วจึงเสด็จกลับฯ



เอตทัคคะ

ส่วนท่านพระเรวัตตะชอบพำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียนนั้น เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ในป่า ท่านพระเรวัตตะดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาล ก็ดับขันธปรินิพพานฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab65.htm