พระทัพพมัลลบุตรเถระ

ชาติภูมิ

ท่านพระทัพพมัลลบุตร เป็นพระราชโอรสพระราชเทวีผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ามัลลราช เดิมชื่อว่าทัพพราชกุมาร อาศัยที่ท่านเป็นพระราชบุตรของพระเจ้ามัลละ คำว่า “มัลลบุตร” จึงได้ชื่อผสมกับนามเดิมเป็น “ทัพพมัลลบุตร” ทัพพมัลลบุตรราชกุมารนั้น นับแต่วันประสูติมามีพระชนม์ได้ ๗ ปี ได้เข้าไปหาพระมารดา ทูลอ้อนวอนขออนุญาตจากมารดาเพื่อจะบรรพชาในพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับอนุญาตจากพระมารดาแล้ว จึงไปบรรพชาบวชเป็นสามเณรอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา เมื่อได้สดับพระโอวาทของพระองค์แล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ตามตำนานปรากฏว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตต์เมื่อเวลามีดโกนจรดลงที่พระเศียร (เมื่อมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ตามวินัยนิยมแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา) ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ในกิจของสงฆ์เป็นอย่างดี ในครั้งหนึ่งได้มีความดำริว่า เราอยู่จบพรหมจรรย์แล้วควรจะรับภารธุระสงฆ์ จึงได้กราบทูลความดำรินั้นแด่พระบรมศาสดา เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วได้ตรัสสาธุการว่าดีละ ๆ ทัพพมัลลบุตรแล้ว ตรัสให้สงฆ์สมมติท่านเป็นภัตตุทเทสกะและเสนาสนคาหาปกะฯ



เอตทัคคะ

ท่านได้ตั้งใจทำกิจในหน้าที่ของท่านให้สำเร็จเรียบร้อยดี และท่านเป็นผู้ฉลาดในการนี้ด้วย จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างเป็นผู้แต่งตั้งปูลาดเสนาสนะฯ



นิพพาน

ครั้นกาลต่อมา ท่านพิจารณาอายุสังขารของท่าน เห็นว่าสมควรปรินิพพานแล้ว จึงได้ไปกราบทูลพระบรมศาสดานิพพาน เมื่อจะนิพพานก็ไปทำประทักษิณเวียนรอบพระองค์สิ้นรอบหนึ่งแล้ว แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะทะยานขึ้นสู่อากาศ นั่งขัดบัลลังก์บนอากาศแล้วเข้าเตโชสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศนั้นเอง ท่านพระทัพพมัลลบุตรนิพพานเสียแต่เมื่อยังไม่ชรา มีอาจารย์บางท่านแก้ว่า เพราะท่านถูกพวกภิกษุชาวเมติยภูมิหาเลศโจทย์ ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ครั้นเมื่ออธิกรณ์นั้นได้วินิจฉัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยังพากันแช่งด่าท่านอีก ภิกษุที่เป็นปุถุชนไม่รู้ก็พากันเชื่อถือ พากันรังเกียจท่าน แสดงอาการดูหมิ่นดูแคลน ไม่มีความเคารพนับถือในท่าน ท่านเกิดความระอาใจในเรื่องนี้ จึงได้ถวายบังคมลาพระบรมศาสดานิพพานเสียฯ บางอาจารย์ก็คัดค้านว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ควรจะเชื่อได้ เพราะว่าธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่มีความหวั่นไหวในโลกธรรมละความยินดียินร้ายเสียได้แล้ว เป็นผู้อดทนต่อคำอุปวาท คือ การเข้าไปว่าร้ายแห่งชนเหล่านั้น การที่ท่านนิพพานเสียแต่ยังหนุ่มก็เพราะมีอายุขัยเพียงเท่านั้นเองฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab69.htm