พระอุทายีเถระ

ชาติภูมิ - คุณธรรมของธรรมกถึก

ท่านพระอุทายี มีชาติภูมิอยู่ ณ ที่ไหน และเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ในสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน เรื่องราวของท่านที่มีมาในปกรณ์ต่าง ๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ดังเรื่องที่มีมาในปัญจกนิบาตอังคุตตระนิกาย หน้า ๒๐๔ มีความว่า ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่โฆสิตาราม ในพระนครโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีนั่งแสดงธรรมแก่บริษัทหมู่ใหญ่ ซึ่งนั่งแวดล้อมท่านอยู่ ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านแสดงธรรมอยู่เช่นนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลเนื้อความให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า ดูกรอานนท์การแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ไม่ใช่เป็นของทำได้โดยง่ายเลย ผู้แสดงธรรมต้องตั้งธรรมไว้ในใจ ๕ อย่างคือ ตั้งใจว่าเราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับไม่ตัดลัดให้ขาดความ, เราจักแสดงธรรมชี้แจงอ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย, เราจักอาศัยความเอ็นดูแสดงธรรม, เราจักไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่ลาภสักการะ และเราจัดไม่แสดงธรรมกระทบตนแลผู้อื่น ฯ เรื่องนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ท่านพระอุทายีแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทในหมู่ใหญ่เช่นนั้นก็ย่อมตั้งธรรม ๕ อย่างนั้นไว้ในใจ ธรรมเทศนาของท่านจึงเป็นที่ชอบใจของพุทธบริษัท นับว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถในการแสดงธรรมได้เป็นอย่างดี ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพานฯ ท่านพระอุทายีนี้มีชื่อว่ามหาอุทายีก็มี แต่เมื่อดูที่มาเพียงในบาลีแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้สงสัยและเข้าใจได้ยาก เพราะศัพท์บาลีที่วางไว้ว่า “อายสุมา อุทายิ” แปลว่า ท่านพระอุทายี คำนี้หมายเอาพระอุทายีองค์อื่นก็มี เช่นในมหาวิภังค์ ตอนสังฆาทิเสส ๕ สิกขาบทข้างต้นนั้นก็วางศัพท์มคธไว้ว่า “อายสฺมา อุทายิ” แต่อรรถกถาท่านแก้เป็นพระโลลุทายี พระสาวกผู้มีนามว่าอุทายีมีหลายรูป เท่าที่ปรากฏชื่ออยู่ที่รู้กันโดยทั่วไปมี ๓ องค์ คือ พระกาฬุทายี ๑ พระโลลุทายี ๑ พระมหาอุทายี ๑ ฯ พระโลลุทายีและอุทายีสององค์นี้ มีเหตุผลหลายอย่างที่ให้น่าสงสัยว่าจะเป็นองค์เดียวกัน ในอสีติมหาสาวนิพพาน ท่านก็จัดเอาพระโลลุทายีเข้าไว้องค์หนึ่ง ส่วนลำดับพระสาวก ๘๐ องค์ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าท่านจัดไว้ในพุทธานุพุทธประวัติ ไม่ได้จัดท่านพระโลลุทายีเข้าด้วย ทรงจัดเอาพระอุทายีเข้าในจำพวกนั้นองค์หนึ่ง เรื่องพระสาวกสองรูปนี้ ข้าพเจ้าได้เคยถามท่านผู้รู้มามากแล้ว ก็ไม่ได้รับคำอธิบายอันเป็นที่พอใจให้หายความสงสัยได้ นอกจากจะค้นพบประวัติเดิมของท่านทั้งสององค์ เรื่องนี้ขอนักธรรมวินัยช่วยกันวิจารณ์ด้วยเถิดฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab70.htm