พระยโสชเถระ

ชาติภูมิ
ท่านพระยโสชะ เกิดในตระกูลชาวประมงในพระนครสาวัตถี บิดาของท่านเป็นหัวหน้าของชาวประมง ๕๐๐ ตระกูล เดิมท่านชื่อว่า “ยโสชะ” เมื่อวันที่ท่านคลอดจากครรภ์มารดานั้น บรรดาภรรยาชาวประมง ๕๐๐ คน ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชายพร้อมกันในวันเดียวกัน ใช่แต่เท่านั้น ท่านกล่าวว่าเมื่อปฏิสนธิลงสู่ครรภ์มารดาก็พร้อมกันด้วย เหตุนั้น เมื่อหัวหน้าชาวประมงผู้เป็นบิดาของยโสชะ ทราบว่าเด็กในบ้านนั้นเกิดพร้อมกันในวันเดียวกันกับบุตรของตน จึงให้เครื่องบำรุงเลี้ยงมีค่าน้ำนมเป็นต้นแก่เด็กเหล่านั้น ด้วยประสงค์ว่า ต่อไปจะได้เป็นสหายแห่งลูกชายตน เด็กเหล่านั้นทั้งหมดได้เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน ค่อยเจริญขึ้นโดยลำดับ ลูกชายหัวหน้าชาวประมงได้เป็นผู้ใหญ่กว่าเด็กเหล่านั้น โดยยศ และ โดยเดช เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้วได้เป็นสหายจับปลาด้วยกัน และมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน วันหนึ่งพวกสหายเหล่านั้นพากันถือแหไปเพื่อจะจับปลา พากันทอดแหในแม่น้ำอจิรวดี ได้ปลาทองใหญ่ตัวหนึ่ง แต่มีกลิ่นปากเหม็น เมื่อพวกชาวประมงทั้งหมดได้เห็นแล้วพากันส่งเสียงขึ้นด้วยความดีใจ ปรึกษากันว่า บุตรของพวกเราจับได้ปลาทองตัวใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินคงจะโปรดปรานพระราชทานรางวัลให้ สหายเหล่านั้นทั้งหมดจับปลาใส่ในเรือนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้พระองค์ทรงทอดพระเนตร พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรแล้ว ทรงดำริว่า พระบรมศาสดาคงจะทรงทราบเหตุที่ปลานี้เป็นทอง จึงรับสั่งให้คนหามปลานั้น แล้วเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พอถึงที่เฝ้าแล้วปลานั้นก็อ้าปากขึ้น กลิ่นเหม็นกลบทั่วพระนครทั้งหมด พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่า ปลานี้เมื่อก่อนเคยเป็นภิกษุชื่อว่า กปิลเป็นพหุสูตมีบริวารมาก แต่ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ในพุทธศาสนากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นรับสั่งดังนั้นแล้วจึงตรัสกปิลสูตรฯ

อุปสมบท – บรรลุอรหันต์
ในเวลาจบเทศนา บุตรชาวประมง ๕๐๐ คน มียโสชะเป็นหัวหน้าเกิดความเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระบรมศาสดา ครั้นอุปสมบทแล้วก็หลีกไปอยู่ที่เงียบสงัดเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ครั้งหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป มีท่านพระยโสชะเป็นหัวหน้า พากันมาเฝ้าพระองค์ ครั้นถึงแล้วได้คุยกันกับพวกภิกษุเจ้าถิ่นเสียงดังลั่น จนได้ยินถึงพระกรรณ พระองค์ทรงรับสั่งถามว่า อานนท์ ภิกษุพวกไหนนั่นมาคุยกันเสียงดังลั่นเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน พระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้บอก ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาเฝ้า ตรัสถามอีก ท่านพระยโสชะกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ทรงประณามขับไล่ไม่ให้อยู่ในสำนักของพระองค์ พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถวายบังคมกระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป เที่ยวจาริกโดยลำดับ บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เขตแดนเมืองเวสาลี พากันทำกุฎิและบังด้วยใบไม้เข้าพรรษา ณ ที่นั้น อาศัยความไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมกันทั้งหมดภายในพรรษานั้น ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายัง กรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงรับสั่งให้พระอานนท์มาเรียกพวกเธอมาเฝ้า พระอานนท์ได้ไปเรียกภิกษุเหล่านั้นให้มาเฝ้าตามรับสั่ง ครั้นถึงที่เฝ้าแล้ว ได้เห็นพระองค์นั่งเข้าอเนญชาสมาธิอยู่ พวกท่านรู้พากันนั่งเข้าอเนญชาสมาธิตาม ส่วนพระอานนท์เห็นพระบรมศาสดาประทับนิ่งอยู่ จึงทูลเตือนถึงสามครั้งว่าภิกษุอาคันตุกะมานั่งอยู่นานแล้ว จึงตรัสบอกว่า อานนท์ ฉันและภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ นั่งเข้าอเนญชาสมาธิอยู่ฯ ท่านพระยโสชะนั้น นับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง เมื่อดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab75.htm