หลังจากตรัสรู้แล้วสัปดาห์แรก พระองค์ได้ประทับอยู่ภายใต้ต้นโพธิที่ตรัสรู้นั้น สัปดาห์ที่สอง เสด็จประทับทางด้านทิศอิสานของต้นโพธิ เพ่งพระ เนตรต้นโพธิโดยไม่กระพริบพระเนตรตลอดเจ็ดวัน เพื่อคารวะพระธรรม แล้วเสด็จจากที่นั้นมา หยุดระหว่างกลางแห่ง พระศรีมหาโพธิทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้น แล้วเดินจงกรม ณ ที่นั้นสิ้นเจ็ดวัน ในสัปดาห์ที่สี่ เทวดาได้นิรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศพายัพแห่งต้นโพธิ เสด็จนั่งขัดสมาธิบัลลังก์ ทรงพิจารณาพระอภิธรรมสิ้นเจ็ดวัน ในสัปดาห์ที่ห้าได้เสด็จไปประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ(ต้นไทร) เมื่อพระพุทธองค์อยู่ภายใต้ร่มไม้อชปาลนิโครธ อันตั้งทางทิศบูรพาของต้นพระศรีมหาโพธิ ในสัปดาห์ที่ห้า ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ ธิดามาร ๓ คน คีอ นางตัณหา นางราคาและนางอรดี ได้ อาสาพระยามารเข้าไปเฝ้า เนรมิตอัตภาพ เป็นหญิงนานาชนิด หวังให้พระองค์พอพระทัย แต่ พระองค์มิได้ใฝ่พระทัยกลับทรงขับไล่ให้ออกไป อันแสดงถึงความไม่ยอมกลับมาเป็นผู้แพ้อีก ในสัปดาห์ที่หก ได้มีฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่เจ็ดวัน พญานาคชื่อมุจลินท์ เข้ามาวงด้วยขนด เจ็ดรอบ แล้วแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อป้องกันลมและฝนมิให้ถูกพระกาย ครั้นฝน หายแล้ว ก็คลายขนดออกจำแลงเพศเป็นมาณพ เข้ามายืนเฝ้า ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ พระพุทธ เจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า "ความสงัดเป็นความสุขสำหรับบุคคลผู้ได้สดับธรรมแล้วยินดี อยู่ในที่สงัดรู้เห็นตามเป็นอย่างไร ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความ ปราศจากกำหนัดคือความล่วงกามทั้งหลาย เสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำ อัสมิมานะถือว่ามีตัวตนให้หมดได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง"

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ได้สี่สัปดาห์ และได้ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นเกต ซึ้งได้ นามว่า ราชายตนะ ซึ่งอยู่ทางทิศทักษิณของต้นพระศรีมหาโพธิ ได้มีนายพานิชสองคน คือ ตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางมาจาก อกุกลชนบท เมื่อได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั่น มีพระรัศมีผ่องใสยิ่งนักก็บังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์มาก จึงได้น้อมนำเอาข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผง เข้าไปถวายพระองค์ และพระองค์ก็มีพระประสงค์จะรับ แต่ขณะนั้นพระองค์ไม่มีบาตรทั้งนี้เป็นธรรมเนียมของพระ ศาสดาชั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่จะไม่รับของถวายประเภทอาหารด้วยพระหัตถ์แต่จะรับคือพาชนะคือบาตรเท่านั้น ฝ่ายท้าวมหาราชทั้งสี่ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวกุเวร ทราบจึงต่างนำบาตรศิลาองค์ละใบเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับบาตรจากท้าวมหาราชทั้งสี่แล้ว ทรงอธิษฐานให้รวมกันเป็น บาตรใบเดียว แล้วทรงรับข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ของนายพาณิชทั้งสองด้วยบาตรนั้น เมื่อประทับอยู่ใต้ต้นพระราชาตนะหรือไม้เกด ครบ ๗ วันแล้ว พระพุทธเจ้า เสด็จแปรสถานที่ประทับ กลับไปประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธหรือต้นไทร ซึ่งเคยเสด็จไปประทับหน หนึ่งมาแล้ว ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ ณ ที่นี่ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงพระธรรมที่พระองค์ทรง ตรัสรู้มา ทรงเห็นว่าเป็นธรรมที่มีความหมายสุขุมละเอียด ก็ทรงบังเกิดความท้อพระทัยว่า จะมีใคร สักคนที่ฟังธรรมของพระองค์รู้เรื่อง พระทัยหนึ่งเกิดจากความมักน้อยว่าจะไม่แสดงธรรมเพื่อโปรด ใครเลย พระดำริของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ได้ทราบไปถึงท้าวสหัมบดีพรหมในเทวโลก ท้าวสหัมบดี พรหมจึงตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเปล่งศัพท์สำเนียงอันดังเป็นสามหนว่า "โลกจะฉิบบหายในครั้งนี้"ท้าวสหัมบดีพรหมพร้อมด้วยเทวคณานิกรจึงลงมากราบทูลอาราธนาให้ พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ซึ่งท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวอาราธานาพระพุทธเจ้ามีข้อความดังนี้ "ท้าวสหัมบดีพรหม ประณมกรกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐว่า สัตว์ในโลกนี้ ที่มีกิเลสบางเบาพอที่จะฟังพระธรรมเข้าใจนั้นมีอยู่ ขอพระองค์ได้แสดงธรรมช่วยเหลือชาวโลก เทอญ"

ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมีอำนาจ เหนือกว่า คือ พระมหากรุณา และพระมหากรุณานี้เองเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยว่า จะทรงแสดงธรรม หลังจากพิจารณาแล้ว จึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของคนในโลกแล้วทรงเห็นความ แตกต่างแห่งปัญญาของคนมีสี่ระดับ หรือสี่จำพวก

จำพวกที่หนึ่ง ฉลาดมากเพียงแต่ได้ฟังหัวข้อธรรมที่ยกขึ้นครั้งแรกก็เข้าใจทันที จำพวกที่สอง ฉลาดพอควร ต่อเมื่อฟังคำอธิบายอีกชั้นจึงจะเข้าใจ จำพวกที่สาม ฉลาดปานกลาง เรียกว่าเวไนยสัตว์ ต้องใช้เวลาอบรมสติปัญญาพอสม ควรจึงจะเข้าใจ จำพวกที่สี่ เรียกว่า ปทปรมะ ตรงกับภาษาไทยว่าโง่ทึบ เป็นคนที่ใครโปรดไม่ได้ เรียกอีกสำนวนหนึ่งว่า ผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง จำพวกที่หนึ่งเปรียบเหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน ที่สองเหมือน ดอกบัวใต้น้ำที่จะโผล่พ้นน้ำ และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น ที่สาม เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไป หน่อยซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อๆไป และที่สี่ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาด ไม่สามารถออกมาบานได้ เพราะตกเป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน

ครั้นพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงคนที่พระองค์จะทรงเสด็จไปโปรด ทรงมองเห็นภาพ ของดาบสทั้งสอง ที่พระองค์ทรงเคยเสด็จไปศึกษาอยู่ด้วย แต่ทั้งสองท่านนั้ก็สิ้นชีพเสียแล้ว ทรง เห็นปัญจวัคคีย์ว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงทรงตั้งพระทัยว่าจะเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก

พระองค์ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ในเวลาเย็นแห่ง วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เพื่อเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยได้อยู่อุปัฏฐาก พระองค์ เมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ เมื่อปัญจวัคคีย์ เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาตั้ง แต่ระยะไกล ปัญจวัคคีย์เข้าใจว่าพระองค์ เลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยาแล้ว และคงไม่ได้บรรลุธรรม วิเศษอะไร จึงนัดกันไม่ออกไปต้อนรับอย่างที่เคยปฏิบัติมา และเมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้ ก็ยัง ใช้โวหารเรียกพระนามโดยไม่เคารพ ต่อเมื่อพระองค์ตรัสว่า "เราได้ตรัสรู้ อมฤตธรรมโดยชอบ แล้ว จะนำมาสั่งสอนพวกเธอ ถ้าพวกเธอตั้งใจฟังและปฏิบัติตาม ในไม่ช้าจะบรรลุอมฤตธรรมนั้น" ปัญจวัคคีย์ระลึกได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อน จึงได้ปฏิบัติเช่นที่เคยปฏิบัติมาก่อน ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์ได้เทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ เป็นปฐมเทศนา เพื่อประกาศสัจธรรมอันประเสริฐ ทรงแสดงถึงที่สุดสองอย่างที่ไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค ความพัวพันหนักในกามสุข และ อัตตกิลมถานุโยค การประกอบกรรมเป็นการทรมานตนให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่ทางแห่งอริยภูมิ ทรงชี้ทางมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งมีอยู่ 8 ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาวาจา การเจรจาชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติการระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ แล้วทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ คือ ทุกข์ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทรงชี้ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความโศก คือ แห้งใจ ความคร่ำครวญ รัญจวนใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ คับแค้นใจ เป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวัง เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อขันธ์ที่ยึด ไว้ทั้งห้าประการ เป็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา อันเป็นความดิ้นรนทะยานอยากของใจ อันมีลักษณะซัดส่ายไปสู่ภพ คือ ภาวะใหม่เสมอไปด้วยกันกับความ เพลิดเพลิน ความติดความยินดี มีความเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง ในอารมณ์นั้นๆ มีสามประการคือ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในกาม คือ สิ่งที่น่ารักใคร่ ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในภพ คือ ความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในวิภพ คือ ความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ความดับ ทุกข์ คือการดับตัณหาเสียได้หมด สละตัณหาเสียได้หมด ปล่อยคืนตัณหาเสียได้หมด พ้นตัณหาเสียได้หมด ไม่อาลัยพัวพันอยู่ในตัณหาทั้งหมด หนทางปฎิบัติ เพื่อความดับทุกข์ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า มรรค ได้แก่ มรรค อันมีองค์แปดประการ เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระโกญทัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า "ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพัญตัง นิโรธธัมมัง"สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา เป็นเหตุให้พระบรมศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า "อัญญาสิ วตโภ โกณทัญโญ" แปลว่า "โอ! โกณทัญญะได้รู้แล้ว ได้สำเร็จแล้ว" แล้วพระโกญทัญญะก็กราบทูลขออุปสมบท ทรงประทานอุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาพระองค์ได้เทศนาสั่งสอน จนพระปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด


หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ จนได้บรรลุอรหันต์ทั้ง ๕ คนแล้ว ก็เสด็จโปรดสัตว์และเผยแพร่พระศาสนามาโดยตลอด พระองค์ได้ทรงเผยแพร่ศาสนาโดยมีพระสงฆ์จำนวนมากมายศาสนาพุทธจึงได้เจริญรุ่งเรือง มีผู้นับถือกันมาก ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเสด็จโปรดสัตว์ทั้งหลายนั้น ล้วนมากมายนัก จึงขอยกตัวอย่างบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปโปรดเป็นเหตุการณ์สำคัญๆต่อไปนี้

พระโมคัลลานะ และพระสารีบุตร อัครสาวกซ้าย-ขวา มาทูลขอบรรพชา สญชัยเป็นศาสดาปริพาชกที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในแคว้นมคธ มีลูกศิษย์และคนนับถือมาก โมคัลลานะ และสารีบุตรเคยอยู่นี่เพื่อศึกษาหาความรู้ เพื่อการดับทุกข์ แต่ครั้นศึกษาจบแล้วเห็นว่าไม่ใช่ทางดับแห่งทุกข์ จึงลาอาจารย์สญชัยออกแสวงหาความรู้ต่อไป แล้วจึงมาพบพระอัสสชิในเมืองราชคฤห์ พระอัสสชิเป็นรูปหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งออกไปเผยแพร่ศาสนา ท่านทราบว่าขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองราชคฤค์ ท่านจึงเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นั่น ระหว่างทางได้มาพบพระสารีบุตร ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า อุปติสสปริพาชก สารีบุตรเห็นกริยาท่าทางของพระอัสสชิน่า เลื่อมใสจึงสนใจเข้าไปสนทนาถามถึงทางปฏิบัติ และพระผู้เป็นพระศาสดา เมื่อได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิสารีบุตรก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ก็ชอบใจ ภายหลังจากนั้นจึงกลับมาชวนสหายคือโมคคัลลานะ หรือ โกลิตปริพาชก แล้วเล่าธรรมที่พระอัสสชิได้บรรยายให้ฟังโมคคัลลานะก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่น กัน ทั้งสองจึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยปริพาชกบริวารที่ติดตามมาอีก ๒๕๐ คน เมื่อพระพุทธเจ้ารับรองการบวชของท่านทั้งสองด้วยพระดำรัส ว่า "มาเป็นพระด้วยกันเถิด" ทั้งสองก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ ภายหลังบวชได้ไม่นานนัก ท่านทั้งสองได้ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ ได้เป็นกำลังสำคัญของ พระพุทธศาสนาในการเผยแพร่ศาสนา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านทั้งสองให้เป็นพระอัครสาวก พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นฝ่ายซ้าย

เสด็จโปรดองคุลิมาลย์ มีกุมารผู้หนึ่งชื่อ อหิงสกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ไปศึกษาศิลปศาสตร์ ที่นครตักสีลา เนื่องจากอหิงสกุมาร เป็นผู้ที่มีความสามารถ จึงเป็นที่รักใคร่ ของอาจารย์ ทำให้บรรดาสานุศิษย์อื่น ๆ พากันอิจฉา และได้ช่วยกันยุยงให้อาจารย์ชิงชังอหิงสกุมาร ในที่สุดอาจารย์ก็คล้อยตามศิษย์ส่วนใหญ่ คิดหาทางขจัด อหิงสกุมารโดยวิธีการยืมมือผู้อื่น ให้สังหารอหิงสกุมารเสีย จึงได้ออกอุบายให้ฆ่าคนให้ครบหนึ่งพันคน เพื่อสังเวยวิทยาเวท อหิงสกุมารต้องอุบายดังกล่าวจึงได้ ออกสู่ป่าชาลินีแห่งแคว้นโกศล แล้วแอบฆ่าผู้คนที่สัญจรไปมาผ่านป่านั้น และเพื่อเป็นการนับจำนวนผู้ที่ถูกฆ่า จึงได้ตัดข้อนิ้วมือเอาไว้ แล้วทำเป็นพวงมาลัยคล้อง คอไว้กันลืม จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาลย์ แปลว่าผู้มีนิ้วมือคนเป็นมาลัย เมื่อฆ่าคนได้ ๙๙๙ คน เหลืออยู่เพียงหนึ่งคนก็จะครบจำนวน ตามที่อาจารย์กำหนด และกำลังจะ ฆ่ามารดาของตนที่ออกไปตามด้วยความไม่รู้ พระพุทธเจ้าทราบด้วยพระญาณ พระองค์จึงได้เสด็จไปดักทางไว้ก่อน เมื่อองคุลิมาลย์เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่จึงรีบ ตามไปแต่ตามไม่ทัน จึงได้ร้องเรียกให้พระองค์หยุดก่อน พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์หยุดแล้วแต่องคุลิมาลย์ยังไม่หยุด องคุลิมาลย์จึงได้ขอคำอธิบาย พระองค์จึงได้ขยายความหมายให้ฟังว่า พระองค์ได้หยุดการประกอบอกุศลกรรมทั้งปวงแล้ว แต่องคุลิมาลย์ยังไม่หยุดการประกอบอกุศลกรรม องคุลิมาลย์ได้คิด และขอบวชเป็นพระภิกษุต่อมา

พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าได้ทรงประชุมพระสาวกขึ้นในวันเพ็ญเดือนสามที่พระเวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน การประชุมสาวกของพระพุทธเจ้าครั้งนี้แปลกกว่าทุกครั้งในสมัยพุทธ กาล คือ มีพระสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป แต่ละรูป และแต่ละองค์ล้วนบวชกับพระพุทธเจ้ามีพระอุปัชฌาย์ องค์เดียวกัน คือ พระพุทธเจ้า ล้วนเป็นพระอรหันต์ ต่างมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย และพระพุทธ เจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุม การประชุมพระสาวกครั้งนี้เรียกอีกอย่างหนึ่ง ตามลักษณะแปลก ๔ ประการนี้ว่า จาตุรงคสันนิบาต

โอวาทปาติโมกข์ คือ หลักการโดยสรุปของศาสนาพุทธ มีทั้งหลักคำสอนและหลักการปกครอง คณะสงฆ์ มีทั้งหมด ๑๓ ข้อ ด้วยกัน เช่นเป็นต้นว่า ศาสนาพุทธสอนว่า ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สุด ยอดของคำสอนอยยู่ที่นิพพาน ดับกิเลสพ้นทุกข์ และเป็นพระสงฆ์ต้องสำรวม กินอยู่พอประมาณ อดทน ไม่กล่างร้ายป้ายสีคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น

การเกิดเหตุการณ์ในที่นี้ทำให้เกิดวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่ยอม รับและเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดี วันนี้เรียกว่า วันมาฆบูชา วันมาฆบูชาเป็นวันที่พุทธ ศาสนิกชนแสดงถึงความเคารพต่อพระธรรม มาฆะเป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชาย่อมาจากคำว่า มาฆบุรณมมี แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓

เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา เมื่อพระนางสิริมหามายาเสด็จสวรรคตนั้น เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารจำเริญวัยได้ เพียง ๗ วัน เมื่อพระนางสวรรคตแล้ว ได้ไปอุบัติ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อพระพุทธองค์ทรง ปรารภจะเสด็จเยี่ยมพระพุทธมารดา จึงได้เสด็จสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประทับบนพระแท่น บัณฑุกัมพล ภายใต้ต้นปาริฉัตต์ แล้วทรงแสดงพระสัตตปกรณาภิธรรม โปรดพระพุทธมารดา ซึ่งเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสักกะเทวราชพร้อมทั้งเทพยดาในหมื่นจักรวาฬ ได้พร้อม กันมาประชุม ณ ที่นั้น เพื่อสดับพระธรรมเทศนา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ตลอดไตร มาส ครั้งนั้นพระพุทธมารดาพร้อมกับหมู่เทพยดา ทั้งหลายได้บรรลุอริยผล ครั้นถึง วันอัสสยุชปุรณมี เพ็ญเดือน ๑๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้ว จึงตรัสแก่ท้าว สักกะเทวราชว่า พระองค์จะเสด็จลงสู่มนุษย์โลกในวันนี้ ท้าวสักกะเทวราชจึงได้นฤมิตบันไดทิพย์ ทั้งสามลงจากเทวโลก คือบันไดทองอยู่ทางขวา บันไดเงินอยู่ทางซ้าย บันไดแก้วอยู่ท่ามกลาง และเชิงบันไดทั้งสาม ลงมาที่พื้นปฐพีใกล้เมืองสังกัสสะ หัวบันไดจดยอดเขาสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้ง ของดาวดึงส์พิภพ บันไดทองเป็นที่ลงของหมู่เทพยดาที่ตามเสด็จ บันไดเงินเป็นที่ลงของหมู่ พรหมทั้งหลาย บันไดแก้วเป็นที่เสด็จของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงประทับยืนเหนือบันได แก้วท่ามกลางหมู่เทพ ทรงกระทำยมกปาฏิหารย์อีกครั้ง ณ กาลบัดนั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมา จากดาวดึงส์เทวโลก หลังจากได้ทรงเสด็จไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว พระองค์ได้เสด็จลงมายังมนุษยโลกในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ณ เมืองสังกัสสะ พระองค์ได้แสดง อิทธิปาฏิหารย์ บรรดาลให้สรรพสัตว์มองเห็นกันและกัน ตลอดทั้งเทวโลก มนุษย์โลก และนรก นอกจากนั้นแม้แต่สัตว์ดิรัจฉานและคนตาบอด ก็สามารถมองเห็น พระพุทธองค์และบรรดาสัตว์เหล่านั้นต่างก็ ปรารถนาพุทธภูมิด้วยกันทั้งสิ้น




http://www.geocities.com/peera_pin/index.html