พระครูสุจิณธรรมวิมล (หลวงปู่ม่น) วัดเนินตามาก ชลบุรี
พระครูสุจิณธรรมวิมล มีนามเดิมว่า ม่น นามสกุล วิญญาณ เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีจอ ตรงกับวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2453 โยมบิดาชื่อ มา โยมมารดาชื่อ แดง มีพี่น้องรวมกัน 3 คน คือ
1.นางเทียม เอมเปีย
2.หลวงปู่ม่น
3.นางย้อย โบราณ
ในวัยเยาว์ โยมบิดามารดา นำไปฝากเรียนกับพระที่วัดใกล้บ้าน ศึกษาอักขระสมัย เนื่องจากท่านเป็นผู้มีจิตใจ อ่อนโยน โอบอ้อมอารี สนใจใฝ่เรียน มีความพยายามและอดทนเป็นเยี่ยม ทำให้พระอาจารย์ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้อย่างเต็มกำลัง จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ด้านอักษร การแพทย์แผนโบราณ และการช่าง
เนื่องจากท่านเป็นบุตรชายคนเดียว จึงถือเป็นหลักของครอบครัว ขยันขันแข็ง ประกอบสัมมาอาชีพช่วยเหลือโยมบิดามารดาทำให้ครอบครัวมีฐานะมั่นคงในเวลาต่อมา มีที่นาทำกินเป็นของตนเองจำนวนพอสมควร
จนกระทั่งอายุได้ 29 ปี ท่านจึงได้ขอบรรพชาอุปสมบทในบวชพุทธศาสนา ในวันเสาร์ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2481 ณ พัทธสีมาวัดโคกเพลาะ ตำบลโคกเพลาะ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยมี พระครูสังวรศีลาจารย์ วัดหลวงพรหมาวาส ตำบลวัดหลวง อำเภอพนัสนิคม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพัฒน์ธรรมคุณ วัดโบสถ์ ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอพนัสนิคม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูอาจารสุนทร วัดโคกเพลาะ ตำบลโคกเพลาะ อำเภอพนัสนิคม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า ธมฺมจิณฺโณ
เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้พำนักที่วัดโคกเพลาะระยะหนึ่ง จึงได้ย้ายไปจำพรรษา ที่วัดเนินตามาก เริ่มศึกษาเล่าเรียนคันธุระและวิปัสสนาธุระอย่างจริงจัง เคร่งครัด ประกอบคุณงามความดีตามความเหมาะสมของเพศสมณะท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในธรรมวินัยตั่งแต่เริ่มอุปสมบท ศึกษาปริยัติธรรม เข้าสอบนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ตามลำดับ มีความสามารถในการจำและสวดพระปาฏิโมกข์ได้ จนมาทำการค้นคว้าด้วยตนเอง ฝึกการปฏิบัติจิตและกัมมัฏฐาน เพื่อหลุดพ้นอย่างจริงจังเมื่ออุปสมบทได้ 5 พรรษา จึงได้ออกธุดงค์เพื่อหาประสบการณ์ไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น พระพุทธบาท สระบุรี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น
ท่านเล่าว่า ไปศึกษาวิชชาธรรมกายกับ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ (สมัยที่หลวงพ่อสดยังมีชีวิตอยู่) แต่เมื่อปฏิบัติได้ 7 วัน ท่านบอกว่าไม่ถูกกับจริต เลยขอลาไปที่อื่นต่อภายหลังท่านได้ฝากตนเป็นศิษย์ พระสมุห์บุญยิ่ง วิริโย ที่วัดเขาบางพระ อำเภอศรีราชา รับคำแนะนำสั่งสอนในการปฏิบัติอันเป็นไปด้วยธาตุและจริตเป็นหนึ่งเดียวกัน
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาด้านเวชกรรมจากพระสมุห์บุญยิ่งเพิ่มเติมจนมีความเชี่ยวชาญต่อมา พระสมุห์บุญยิ่ง ได้ชักชวนหลวงปู่ม่นออกธุดงค์หาสถานที่ปฏิบัติวิเวก เป็นสัปปายะ จนได้พบถ้ำจักรพงศ์ บนเกาะสีชัง ทั้งอาจารย์และศิษย์จึงได้พำนักอยู่ ณ ที่นี้ จนหลวงปู่ม่นเกิดความก้าวหน้าทางจิตเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ. 2490 พระอธิการกี่ เจ้าอาวาสวัดเนินตามาก ได้ลาสิกขา ทางคณะสงฆ์ และอุบาสก อุบาสิกาได้มาอาราธนานิมนต์หลวงปู่ม่น กลับไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด สั่งสอนภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกาสืบต่อไปเมื่อหลวงปู่ม่นเป็นเจ้าอาวาส ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ทำนุบำรุงวัดเนินตามากให้เจริญรุ่งเรือง สร้างถาวรวัตถุ เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ วิหาร ฯลฯ
นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาท้องถิ่น ทำถนน ไฟฟ้า สร้างโรงเรียน ตั้งกองทุนมูลนิธิต่างๆ ให้การศึกษาแด่พระภิกษุ สามเณร สอนนักธรรม พระนวกะ ส่งเข้าสอบนักธรรมสนามหลวงทุกปีหลวงปู่ม่น เป็นที่เคารพศรัทธาของบรรดาศิษย์ เสียสละ สร้างคุณงามความดี ให้แก่พระพุทธศาสนาและท้องถิ่น เป็นที่ยอมรับของสาธุชนทั่วไป
ในปี พ.ศ.2529 คณะสงฆ์ได้พิจารณาขอพระตรชั้นโทที่ พระครูสุจิณธรรมวิมล
ในปี พ.ศ.2523 หลวงปู่ได้อาพาธด้วยโรคอัมพฤกษ์ เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลพนัสนิคม จนกระทั่งเกือบหายเป็นปกติ จึงกลับมาพักพื้นที่วัด
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2537 ท่านอาพาธหนักอีกครั้ง จนกระทั่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง 8 เดือน จึงสามารถกลับมาอยู่วัด
หลังจากนั้น ท่านก็อาพาธเป็นๆหายๆ เข้าออกโรงพยาบาลสมิติเวช จนกระทั่งมรณภาพด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2541 เวลา 18.00 น. รวม สิริอายุได้ 88 ปี 5 เดือน 24 วัน พรรษาที่ 60ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2549 เวลา 16.00 น. ณ วัดเนินตามาก ตำบลโคกเพลาะ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.amulet.in.th/forums/view_...8bc1535da1db57