พระเทพสิทธาจารย์ "หลวงปู่จันทร์ เขมิโย" วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม

จ.นครพนม ถือเป็นเมืองพระพุทธศาสนา แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาแสวงบุญ ท่องวัดกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สักการะขอพรกันมาก ต่างก็อิ่มบุญอิ่มใจกันทั่วหน้า

"วัดศรีเทพประดิษฐาราม" ตั้งอยู่เลขที่ 386 ถนนศรีเทพ อ.เมือง จ.นครพนม เป็นพระอารามที่โดดเด่นเป็นสง่า สวยงาม สะอาดร่มรื่น เหมาะแก่การเข้าไปทำบุญไหว้พระ

ตามประวัติวัดนี้ตั้งเมื่อพ.ศ.2402 โดยเจ้าเมืองทองทิพย์ มังคละคีรี เดิมชื่อว่าวัดศรีคุณเมือง ก่อนเป็นวัดร้าง กระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2445 พระจันทร์ เขมิโย ลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มาบูรณะเมื่อ พ.ศ.2449 ก่อนเปลี่ยนชื่อมาถึงปัจจุบัน

วัดศรีเทพประดิษฐาราม มีพระมหาเถระชื่อดังรูปหนึ่งของเมืองไทยพำนักอยู่จำพรรษา คือ พระเทพสิทธาจารย์ หรือที่รู้จักกันในนาม "หลวงปู่จันทร์ เขมิโย"

ท่านบรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2434 ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุในวัย 20 ปี และอยู่จำพรรษาครองสมณเพศมาถึงอายุ 92 ปี จึงละสังขารเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516

อัตโนประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ นามเดิมชื่อ จันทร์ สุวรรณมาโจ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2424 ขณะอายุในวัยเยาว์ได้ 7 ขวบ เริ่มศึกษาเขียนอ่านอักขรสมัยเบื้องต้นคือ หนังสือไทยน้อย ขอม ไทยใหญ่ และหนังสือธรรมจากสำนักพระอาจารย์เคน อุตตโม วัดโพนแก้ว อ.ท่าอุเทน

หลวงปู่จันทร์ ถือกำเนิดในบวรพระพุทธศาสนา ต่อเนื่องมาถึงปี พ.ศ.2460 มีสมณศักดิ์เป็นพระครูสารภาณพนมเขต ในรัชกาลที่ 7 ก่อนเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสารภาณมุณี ในรัชกาลที่ 8 และได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราชในนามเดิม กระทั่งเมื่อ พ.ศ.2502 ในรัชกาลที่ 9 ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนาม "พระเทพสิทธาจารย์"







ดังนั้น ในวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปี ซึ่งเป็นวันมรณภาพ คณะศิษยานุศิษย์จึงได้ร่วมกันจัดงานเพื่อรำลึกถึงบูรพาจารย์ ที่ได้สร้างคุณงามความดีไว้มากมายให้กับวงการพระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระรูปแรกที่ได้นำการศึกษาทั้งนักธรรมบาลีและฝ่ายโลก ที่ได้นำคณะธรรมยุตมาตั้งสำนักธรรมยุตขึ้นที่ จ.นครพนม เมื่อปีพ.ศ.2499

หลวงปู่จันทร์เป็นเจ้าอาวาสปกครองคณะสงฆ์ธรรมวงศ์ยุตรูปแรกที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ก่อนเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดนครพนม รองเจ้าคณะภาค 8-11 และเป็นที่ปรึกษาภาค 8-11 ตามลำดับ จนถึงวันมรณภาพในวันดังกล่าว

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯทรงทอดผ้าไตรหน้าหีบศพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางดอกไม้จันทน์พระราชทานเพลิงศพ พระเดชพระคุณพระเทพสิทธาจารย์

ต่อมาลูกศิษย์ของหลวงปู่จันทร์ นำโดยพระราชสุทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 2 ได้ร่วมกันก่อสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิขึ้นที่บริเวณด้านหลังอุโบสถ สร้างเมื่อปี 2536 แล้วเสร็จในปีถัดมา ก่อนที่พระสงฆ์สามเณรและพุทธศาสนิกชน จะร่วมกันอัญเชิญอัฐิแห่รอบพระอุโบสถ ทำพิธีขอขมาคารวะแล้ว ทำพิธีบรรจุในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537

ในสมัยพระครูอุทัยธรรมโสภณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3 เมื่อปี 2548 มูลนิธิหลวงปู่จันทร์และสโมสรโรตารี่นครพนม นำโดย นายจิตร ปิติพัฒน์ ประธานมูลนิธิหลวงปู่จันทร์ นายพิศิษฐ์ ปิติพัฒน์ นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม และญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันก่อสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงปู่จันทร์ขึ้น ณ บริเวณริมกำแพงวัดด้านทิศเหนือ (ข้างตึกสารภาณนุสรณ์) เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังและพุทธศาสนิกชน ได้ศึกษาชีวประวัติพระอริยสงฆ์ของชาวไทยที่ทำคุณประโยชน์คุณูปการแก่ชาว จ.นครพนม และคณะสงฆ์นิกายธรรมยุต

พระครูอุทัยธรรมโสภณ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2548 แล้วเสร็จในปลายปี 2549 เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว เป็นห้องโถ่งโล่ง ปูด้วยหินอ่อนทั้งหลัง สิ้นงบในการก่อสร้าง 5.2 ล้านบาท ประกอบพิธีเปิดและสมโภชไปแล้วเมื่อต้นปี 2550

ภายในพิพิธภัณฑ์ เมื่อเดินเข้าไปจะเห็นรูปปั้นเหมือนหลวงปู่จันทร์เท่าตัวจริง ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนสูง 3 ชั้น ครอบด้วยกระจกใส ล้อมรอบด้วยดอกบัวแห้งประดิษฐ์ มุมซ้ายเป็นตู้กระจกไม้สูง 4 เมตร มีภาพหลวงปู่เขียนด้วยสีน้ำมันอยู่ในกรอบไม้ ภายในตู้ประกอบด้วยเครื่อง

อัฐบริขาร เช่น ผ้าไตร จีวร กระติกน้ำร้อน ชานหมาก บาตร รองเท้าแตะ และไม้เท้า

ถัดไปเป็นมุมโต๊ะลายมุก มีใบแต่งตั้งหลวงปู่ ตั้งแต่สมัยเป็นพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูศีลสัมบัน ต่อมาในรัชกาลที่ 6 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระสารภาณมุณี สมัย พ.อ.พระยาพหล พยุหเสนา และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชกาลที่ 7, 8 ก่อนเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์ ในรัชกาลที่ 9 ตามลำดับ และใบแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค 8-11 รูปที่ 3 (ธรรมยุต) โดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

ด้านขวาเป็นโต๊ะหมู่บูชา มีพระประธาน พระพุทธรูปไม้ปางประทานพร และภาพถ่ายหมู่ในอดีตคณะสงฆ์วงศ์ธรรมยุตสมัยเก่า ถ่ายเมื่อ 23 เม.ย.2508 มีหลวงปู่จันทร์นั่งเป็นประธานหน้าสุด กับพระอริยสงฆ์ชื่อดังของเมืองไทย อาทิ หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทศก์ เทสรังสี, หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่หลอด ปโมทิโต เป็นต้น

ส่วนบริเวณด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ปูด้วยอิฐแดงตัวหนอน ประดับตกแต่งด้วยโคมไฟรูปนกกินรี ปลูกพันธุ์ไม้ดอกไว้หลายชนิด และยังอนุรักษ์บ่อน้ำบาดาล (น้ำสร้าง) เก่าแก่ไว้

เข้าวัดทั้งทีต้องไปกราบไหว้พระในอุโบสถ นามว่า "พระแสง" เป็นพระพี่น้องกับพระสุก พระใส และพระเสริม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงาม ภายในยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามเต็มทุกด้าน เป็นภาพพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า 108 ภาพ

ส่วนด้านหลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิหลวงปู่จันทร์ และภาพจิตรกรรมนูนต่ำ ภาพเทพพระยาดาติดฝาผนังที่หาดูได้ยาก และได้รับรางวัลภาพถ่ายนานาชาติจากตากล้องอิสระ

ถ้าจะเข้ามาวัดนี้ เพื่อขอหวยไปเสี่ยงโชค คงหมดสิทธิ์ เพราะเป็นวัดสายวิปัสสนากัมมัฏฐานขนาดแท้ หากอธิษฐานให้ค้าขายร่ำรวย เจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน

พรที่ขออาจสมปรารถนา ถ้าคุณงามความดีมีอยู่ในตัวท่านแล้ว



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.amulet.in.th/forums/view_...8bc1535da1db57