เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส

กระทู้: เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส







    เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (พระยานรรัตนราชมานิต)
    วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

    ชีวิตเมื่อวัยเด็กจนกระทั่งรับราชการ

    เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันมาฆะบูชา บุตรชายคนหัวปีของพระคุณนรนาฏภักดี นายอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีก็ได้คลอดมาจากครรภ์มารดา ลืมตามองดูโลกอันโสภี ยังความโสมนัสให้แก่ผู้เป็นบิดามารดา และประดาญาติเป็นอย่างยิ่งท่านนายอำเภอบางปลาม้าได้ตั้งชื่อบุตรชายคนหัวปีของท่านว่า "ตรึก"

    เมื่อทารกผู้ได้นามว่า "ตรึก" นี้เจริญวัยขึ้น ในฐานะเด็กน้อยเรือนร่างแบบบางผิวพรรณละเอียดอ่อนเปล่งปลั่งเป็นน้ำเป็นนวล อันเป็นลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นผู้มีบุญวาสนาสูง เมื่อวัยถึงขั้นสมควรเล่าเรียนหนังสือก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนในพระนคร ต่อมาจึงเข้าเรียน ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนี้จนสอบได้ชั้นสูงสุด

    นาย "ตรึก" มีความปรารถนาที่จะเรียนเป็นนายแพทย์ต่อไป เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ทางเจ็บไข้ได้ป่วยแต่ท่านบิดาซึ่งเป็นนายอำเภอนักปกครองต้องการให้บุตรชายเป็นนักปกครองเจริญรอยตามบิดา นาย "ตรึก" เป็นเด็กว่านอนสอนง่ายและมีจิตใจสูงด้วยความเคารพต่อผู้มีอุปการคุณ จึงต้องทำตามความประสงค์ของบิดา นายตรึกจึงเข้าศึกษาต่อวิชารัฐศาสตร์ที่โรงเรียนกฏหมาย ซึ่งสมัยนี้ยังรวมอยู่กับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นายตรึกเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถเรียกสำเร็จรัฐศาสตร์เป็นรุ่นแรก ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับท่านเจ้าคุณสุนทรพิพิธ

    เมื่อนายตรึกได้เรียกสำเร็จรัฐศาสตร์แล้วก็หาได้ไปเป็นนายอำเภอและเจ้าเมืองสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามเจตนารมณ์ของท่านบิดา เพราะในระหว่างศึกษาวิชารัฐศาสตร์อยู่นั้น เป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้มีงานเลี้ยงเป็นพิธีในพระบรมมหาราชวัง เป็นงานใหญ่ที่จำนวนมหาดเล็กเด็กชายมีไม่พอ สำหรับตำแหน่งพนักงานเดินโต๊ะและรับใช้อื่นๆ นักเรียนรัฐศาสตร์ที่มีหน้าตา และหน่วยก้านดีจึงถูกเกณฑ์ไปช่วยในหน้าที่ดังกล่าว นักเรียนรัฐศาสตร์ที่ถูกเกณฑ์ไปในครั้งนี้ก็ได้มีนายตรึกรวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณและหน่วยก้านของหนุ่มน้อยตรึกเข้าก็ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงรับสั่งให้เข้าเฝ้า แล้วทรงไต่ถามถึงเหล่ากองพงศ์พันธุ์เมื่อพระองค์ทราบจะแจ้งดีแล้วก็ดำรัสว่า

    "เมื่อเรียนจบแล้วมาอยู่กับข้า"

    โดยเหตุนี้เองเมื่อหนุ่มตรึกเรียนสำเร็จรัฐศาสตร์แล้วแทนที่จะได้เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยตามวิชาที่เรียนสำเร็จ และเป็นไป ความประสงค์ของบิดาผู้เป็นนักปกครอง กับไพล่ไปเป็นข้าราชสำนักสังกัดกระทรวงวัง ในตำแหน่งหน้าที่มหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ก็ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก และพระราชทานนามสกุลให้ว่า "จินตยานนท์"

    หนุ่มตรึกรับราชการอยู่ใต้เบื้องยุคบาทเพียงไม่ทันถึงปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ก็พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น "หลวงศักดิ์นายเวร" ต่อมาไม่ช้ามินานก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น "เจ้าหมื่นศรีสรรเพชร"พออายุ ๒๕ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาพานทอง ราชทินนามว่า "นรรัตนราชมานิต" ซึ่งเป็นพระยาหนุ่มที่สุดในสมัยนั้น

    พร้อมกับที่พระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาพานทองให้นี้ได้พระราชทานที่ดิน เพื่อให้ปลูกบ้านอยู่อาศัยแทนเช่าอยู่ ที่ดินที่พระราชทานให้นั้นมีจำนวนถึง ๔ ไร่ อยู่ตรงเชิงสะพานราชเทวี ตรงที่มีซอยชื่อ "ซอยนรรัตน" ปัจจุบันนี้


    ในการพระราชทานที่ดินให้นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานให้พร้อมกันถึง ๔ คน อีก ๓ คนคือท่านเจ้าพระยารามราฆพ พระยาอนิรุธเทวา และอีกท่านหนึ่งข้าพเจ้าต้องขออภัยที่ค้นคว้าหาชื่อไม่ได้

    พระยานรรัตนราชมานิต ได้รับตำแหน่งเป็นต้นห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ หน้าที่ของท่านคืออยู่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ในที่รโหฐานและเป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็กห้องพระบรรทมคนอื่นๆ ซึ่งมีอยู่หลายคนด้วยกัน

    ขณะที่รับราชการอยู่ใต้ เบื้องยุคลบาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระยานรรัตน์ราชมานิต ก็มิได้ปล่อยเวลาว่างจากรับหน้าที่ราชการค้นคว้าศึกษาวิชาต่างๆ อยู่เสมอ เช่นวิชาลักธิโยคี ทางดูลายมือและรูปร่างลักษณะบุคคล สั่งตำราจากอังกฤษ, อเมริกา มาค้นคว้าจนมีความชำนิชำนาญทางด้านดูลายมือและรูปลักษณะบุคคลและศึกษาภาษาฝรั่งเศส จากมองซิเออ.เอ.เค. จนกระทั่งแตกฉาน สามารถแปลตำราภาษาฝรั่งเศสได้อย่างแคล่วคล่อง ส่วนทางด้านภาษาอังกฤษนั้น พระยานรรัตน ท่านมีความชำนิชำนาญเป็นพิเศษอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ จึงทรงโปรดปรานมาก และทรงชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์เอาเป็นธุระเรียกสถาปนิกฝีมือเยี่ยมจากอิตาเลียนผู้หนึ่งมาออกแบบ เพื่อทรงสร้างที่อยู่ให้แก่พระยานรรัตนซึ่งปล่อยที่ดินที่พระราชทานให้รกร้างหญ้าพงขึ้นเต็มที่ดิน มิเหมือนกับพระยาคนอื่นๆ พอได้รับพระราชทานที่ดินก็เริ่มก่อสร้างที่พักเสียจนหรูเพื่อประดับเกียรติ อย่างเช่นท่านพระยารามราฆพก็ได้สร้างคฤหาส์นอันโอ่อ่าด้วยหินอ่อนอิตาเลียน แล้วตั้งชื่อคฤหาส์นหลังนั้นว่า "บ้านนรสิงห์" (ปัจจุบันเป็นทำเนียบของรัฐบาล) พระยาอนิรุธเทวาก็ได้สร้างขึ้นอย่างโอฬารเหมือนกัน แล้วตั้งชื่อว่า "บ้านบรรทมสินธุ์" (ปัจจุบันเป็นบ้านสำหรับรองรับแขกเมืองของรัฐบาล) อีกท่านหนึ่งก็ได้สร้างขึ้นอย่างโอ่อ่าอีกหลังหนึ่งและให้ชื่อว่า "บ้านมนังคศิลา" มีแต่พระยานรรัตน์ฯ ผู้เดียวเท่านั้นที่มิได้ยินดียินร้ายต่อที่ดินที่พระองค์ท่านพระราชทานให้เลย พระองค์ท่านจึงยื่นพระหัตถ์เอาเป็นธุระ แต่พระยานรรัตนนฯ กลับปฏิเสธในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ โดยสิ้นเชิง ถึงแม้แต่พระองค์จะทรงกริ้วก็สุดแล้วแต่พระกรุณา จึงได้กราบบังคมทูลขอให้ยับยั้งพระราชประสงค์ หากทรงสร้างคฤหาสน์ขึ้นบนที่ดินที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ แม้จะเอาตัวท่านไปประหารชีวิต ท่านก็จะทูลเกล้าฯ ถวายคืนทั้งคฤหาสน์และที่ดินที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ล้นเกล้าฯ จึงต้องตามใจพระยานรรัตนฯ

    พระยานรรัตนราชมานิตได้รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ด้วยความจงรักภักดีเรื่อยมาจนกระทั่งล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตลงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ก็ขึ้นเถลิงราชสมบัติสืบต่อมา ก็มีพระราชประสงค์อยากจะได้ตัวพระยานรรัตนมานิตไว้ในราชการ จึงรับสั่งให้เจ้าคุณไพชยนเทพ (ทองเจือ ทองใหญ่) ไปติดต่อเพื่อขอชุบเลี้ยงเยี่ยงรัชกาลที่ ๖ แต่พระยานรรัตนราชมานิตผู้ยึดมั่นในคติที่ว่า "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย" นั้นไม่ดีแน่ จึงได้กราบบังคมทูลแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ไปว่า

    " ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงชุบเลี้ยงอย่างใดก็เท่ากับเอาทองคำไปลงยาฝังเพชรเท่านั้น"

    ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ จะทรงให้ใครมาติดต่อกับพระยานรรัตนฯ หลายครั้งหลายหน แต่พระยานรรัตนก็มิได้ตอบตกลงสักครั้งเดียว จนกระทั่งถึงวันถวายพระเพลิงพระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ พระยาท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิตจึงได้สละทรัพย์สมบัติมอบที่ดิน ๔ ไร่ และทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดแก่วัดเทพศิริทราวาส ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพระยานรรัตนฯ อุปสมบทแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงชุบเลี้ยงตนมาเป็นอย่างดีซึ่งยากจะหาบุคคลเยี่ยงพระยานรรัตนราชมานิตนี้อีกไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบันนี้



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  2. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส




    ชีวิตในเพศบรรพชิต

    พระยานรรัตนราชมานิต ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ มีอายุครบ ๒๘ ปี ที่ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า ธมฺมวิตกโก

    หลังจากท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) ธมฺมวิตกฺโก ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านก็ศึกษาปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ออกบิณฑบาตรโปรดสัตว์ไปตามท้องถนนเยี่ยงพระนวกะทั่วไปจนครบหนึ่งพรรษา

    ครั้นย่างเข้าพรรษา ๒ ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิตจึงงดบิณฑบาตรโปรดสัตว์แต่นั้นเป็นต้นมา และเริ่มฉันจังหันเพียงมื้อเดียวเท่านั้น โดยมีญาติเป็นผู้นำปิ่นโตมาถวาย อาหารที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิตฉันนั้นก็ล้วนเป็นอาหารเจทั้งสิ้นคือไม่มีเนื้อสัตว์ และสิ่งที่ขาดเสียมิได้ก็คือมะขามเปียกกับกล้วยน้ำว้า ครั้นพรรษาต่อไปท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต จึงได้งดฉันจังหันในวันพระทุกวันพระอีกด้วย ซึ่งท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ปฏิบัติเรื่อยมาเป็นประจำจนกระทั่งได้มรณภาพลง กิจวัตรที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ จะขาดเสียมิได้นั่นก็คือการลงอุโบสถทำวัตร เช้า-เย็นเป็นประจำ ท่านบอกกับภิกษุสงฆ์ในวัดเสมอว่า

    "ถ้าท่านขาดทำวัตรครั้งใด นั่นก็หมายความว่า ท่านต้องอาพาธหนัก หรือได้มรณภาพไปแล้ว"

    และก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ได้ขาดลงอุโบสถ เพราะท่านเดินมาลงโบสถ์และเหยียบถูกงูเห่า งูจึงกัดที่เท้าท่าน ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็ยังลงโบสถ์ทำวัตรต่อไป โดยมิยินดียินร้ายต่อเขี้ยวของอสรพิษแต่อย่างใด ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็จะต้องรีบเข้าสถานเสาวภาอย่างไม่มีปัญหา แต่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ กลับเห็นเป็นเรื่องธรรมดา โดยมิต้องวิ่งไปหาหมอหรือหาหยูกหายามาฉันเลยแม้แต่อย่างเดียวท่านกระแสร์จิตอันแก่กล้า ของท่านเท่านั้นที่ดับพิษร้ายของงูเห่าไม่ให้ทำอันตราย ต่อองค์ท่านได้ แต่ถึงกระนั้นก็เล่นเอาท่านแทบแย่เหมือนกัน เท้าข้างที่ถูกงูกัดบวมเต่งตึง จะนั่งลุกก็แสนจะลำบากเมื่อเวลาทำวัตรสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ทรงเห็นเข้าจึงได้ขอร้องให้ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ งดลงทำวัตรจนกว่าเท้าจะหายบวมด้วยความเกรงใจและระลึกเคารพต่อผู้มีพระคุณฝังจิตใจของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ อยู่นั้น ท่านเจ้าคุณจึงได้งดลงโบสถ์ ๑ วัน รุ่งขึ้นเท้าข้างที่บวมเต่งตึงก็อันตรธานหายไปอย่างปลิดทิ้ง เกิดความมหัศจรรย์แก่ผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เสียงโจษจรรเล่าลือจึงระบือไปทั่วว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ มีกระแสร์จิตแก่กล้าสามารถระงับพิษให้เหือดหายไปเอง โดยไม่ต้องไปหามดหาหมอและฉันยาแต่อย่างใดเลย และเคล็ดลับการปฏิวัติร่างกายให้แข็งแรง ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บนั้นก็ได้มีผู้ทราบว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ เมื่อครั้งเป็นฆรวาสได้ปฏิบัติทางโยคะศาสตร์ จนสามารถระงับโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดขึ้นได้

    ถือสันโดษ

    คราวนี้ข้าพเจ้าขอพาคุณผู้อ่านเข้าไปชมภายในกุฎิที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ พำนักซึ่งผิดแผกแตกต่างกับภิกษุสงฆ์องค์อื่นๆ อย่างฟ้ากับดินทีเดียว ยากที่จะหาภิกษุรูปใดในปัจจุบันนี้เสมอเหมือนเยี่ยงท่านเจ้าคุณนรรัตนฯหาได้ไม่ เพราะท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ท่านเป็นภิกษุสงฆ์ที่ถือสันโดษ ตัดกิเลสหมดทุกอย่าง แม้แต่เงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนตามกฏหมาย ในปัจจุบันนี้ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็มิเคยเห็นและแตะต้องด้วยซ้ำไป เครื่องตบแต่งเพื่อประดับบารมีภายในกุฏิก็หามีสิ่งมีค่ามาตั้งโชว์ให้รกหูรกตาแม้แต่สิ่งเดียว สิ่งที่ประดับบารมีของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ นั้นก็คือตำหรับตำราและหนังสือธรรมวินัยต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนที่จำวัดนั้นก็เป็นเฉพาะองค์ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ เท่านั้น โดยมีผ้าจีวรเก่าๆ ปูกับพื้นเพียง ๒-๓ ผืน และมีมุ้งหลังเล็กๆ อยู่หลังเดียวเท่านั้น และสิ่งที่สดุดตาและเตือนใจแก่ผู้พบเห็นนั่นก็คือโครงกระดูกและหีบศพ๑ หีบ หีบที่วางไว้ให้เป็นเครื่องขบคิดโครงกระดูกที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ นำเข้าไปไว้ในกุฏิของท่านก็เพื่อไว้นั่งพิจารณาและปลงอนิจจัง ว่าสังขารของมนุษย์เรานั้นมันไม่เที่ยงแท้ มี เกิด, แก่,เจ็บ, ตายผลที่สุดก็เหลือแต่โครงกระดูก แล้วก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปในที่สุด

    ส่วนหีบศพนั้นเล่า ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ได้สั่งให้ญาติซื้อมาไว้เมื่อบวชได้พรรษา ๒ และท่านได้บอกกับญาติโยมให้ทราบว่า การที่สั่งให้ต่อหีบศพมาไว้นั้นก็เพื่อที่จะไว้ใส่ตัวท่านเอง เมื่อเวลาดับขัณฑ์จะมิต้องทำความยุ่งยากลำบากให้แก่ผู้อยู่ข้างหลังและหีบศพใบนี้ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็เคยลงไปทำวิปัสสนากรรมฐานบ่อยครั้งนัก นับเป็นสถานที่ที่สงบแห่งหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ปฏิบัติธรรม

    ในกุฏิของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ จะหาไฟฟ้าใช้แม่แต่ดวงเดียวก็ไม่มี แม้แต่น้ำที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ใช้ดื่มฉันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นแต่น้ำฝนทั้งสิ้น และภาชนะที่ท่านใช้ก็เป็นกะลามะพร้าวขัด ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ท่านชี้แจงว่าของสิ่งนี้เป็นของสูง ไม่มีมลทินอะไรติดอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว และท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ได้ให้เหตุผลอย่างน่าฟังว่า "ธรรมชาติได้สร้างมนุษย์เราเป็นที่พอเพียงอยู่แล้วจะวุ่นวายกันไปทำไม ยิ่งเป็นภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติอยู่ในธรรมวินัยก็ยิ่งลำบาก น้ำฝนเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ดื่มฉันก็เกิดอาบัติน้อยมาก ยิ่งไฟฟ้าด้วยแล้วก็ถือว่าไม่เป็นสำคัญเลย เพราะดวงอาทิตย์ได้ให้แสงสว่างแก่โลกมุนษย์เราตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น เราจะทำอะไรก็ควรรีบๆ ทำเสียเมื่อพระอาทิตย์สิ้นแสงแล้วก็หมดเวลาที่เราจะทำอย่างอื่นนอกเสียจากทำสมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมญานแต่เดียวเท่านั้น"

    ด้วยเหตุนี้เองกุฏิของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ จึงปิดเงียบมืดมิดผิดกว่ากุฏิพระภิกษุสงฆ์องค์อื่นๆ และท่านเจ้าคุณนรรัตนฯภิกษุผู้เคร่งครัดต่อธรรมวินัยรูปนี้เองได้มีประชาชนจำนวนมาก เลื่อมใส่ศรัทธาใคร่อยากจะพบปะสนทนาด้วย ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็มิได้รังเกียจ เปิดโอกาสให้ญาติโยมพบปะสนทนาเป็นอย่างดี ตอนที่ท่านลงทำวัดเช้าและเย็นเสมอชั่วระยะเวลาหนึ่ง ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ จะไม่ยอมให้ใครเข้าพบเป็นอันขาดที่กุฏิของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หรือกระยาจนเข็นใจคนใดทั้งสิ้น

    เหตุผลที่ท่านงดออกบิณฑบาตร

    เมื่อท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิตได้อุปสมบทเป็น ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุแล้ว ท่านได้ประพฤติธรรมโดยเคร่งครัด มีศีลอันบริสุทธิ์ ไม่เคยล่วงศีลข้อใดเลย ท่านไม่ยอมแม้แต่จะมีเด็กไว้รับใช้ ด้วยเกรงว่าจะขาดประเคนอันเป็นการล่วงศีล และไม่ต้องการจะเบียดเบียนใครแม้แต่กำลังกายของเขาในเมื่อท่านสามารถทำเองได้ ท่านได้ออกบิณฑบาตเช่นเดียวกับภิกษุทั้งหลาย และใช้เวลานี้ไปเยี่ยมบ้าน เยี่ยมโยม เมื่อกลับมาก็จะเอาอาหารบิณฑบาตถวายสมเด็จอุปัชฌาย์เป็นประจำทุกวันไม่เคยขาด นอกจากนี้แล้วท่านไม่เคยออกไปไหน ต่อมาภายหลัง เมื่อท่านปฏิบัติธรรมเคร่งครัดมากขึ้นท่านไม่ออกจากวัดอีกเลย ส่วนเรื่องการบิณฑบาตนั้นภายหลังท่านได้งดออกบิณฑบาตนอกวัด โดยครั้งแรกท่านเบื่อหน่ายที่มีผู้ศรัทธามาดักคอยถวายบิณฑบาตแก่ท่าน เป็นการไม่ถูกต้องกับความประสงค์ของท่านที่ต้องการจะได้อาหารบิณฑบาตตามแต่จะได้เช่นภิกษุอื่น ต่อมาภายหลังท่านได้ตัดสินใจไม่ออกบิณฑบาตอีกเลย เพราะเกิดความสลดใจ ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านได้ออกบิณฑบาตตามปกติ ขณะที่จะเดินเข้ารับภัตตาหารจากที่มีผู้ถวายประจำนั้น ได้มีพระภิกษุอื่นเดินตัดหน้าท่านไปรับภัตตาหารนั้นก่อน ท่านจึงหยุดรอ เมื่อพระภิกษุรูปนั้นรับภัตตาหารแล้วท่านได้ยินเพื่อนของคนใส่บาตรที่ยืนอยู่ข้าง ๆ พูดว่า “หมายังไม่แย่งกันอย่างนี้ ทำไมพระจึงแย่งกัน” ด้วยคำพูดที่ท่านได้ยินท่านจึงเกิดความสลดใจ และเห็นว่าท่านเองถ้าไม่ออกบิณฑบาตก็ยังมีทางได้รับอาหารจากทางบ้าน แต่พระภิกษุอื่นอาจจะไม่มีทางจะได้อาหารจากที่อื่นนอกจากอาหารบิณฑบาต และอาจจะมีความจำเป็น เช่นมีลูกศิษย์มาก ถ้าท่านงดบิณฑบาตก็จะมีอาหารเพิ่มสำหรับพระภิกษุอื่นอีกหนึ่งองค์ นอกจากนี้ท่านได้บิณฑบาตมาถวายสมเด็จอุปัชฌาย์อยู่หลายปีแล้ว แม้จะงดถวายก็ไม่กระทบกระเทือนต่อสมเด็จอุปัชฌาย์ ท่านจึงงดออกบิณฑบาต และให้ทางบ้านท่านส่งอาหารมาถวายแทนโดยใช้เงินของท่านที่ได้รับทุกเดือนทำอาหารมาถวายท่าน และท่านใช้บาตรรับอาหารที่กุฏิแทน ต่อมาท่านได้เริ่มฉันอาหารมื้อเดียวคือตอนเพล ส่วนอาหารนั้นเป็นอาหารประเภทผักทั้งสิ้น ไม่มีอาหารประเภทเนื้อ ฉะนั้นอาหารของท่านจึงมีเพียง ข้าว ถั่ว และงา ท่านบอกว่าบางครั้งท่านก็ฉันใบตอง โดยให้ตำมาให้ก่อนพอจะเคี้ยวได้ ส่วนอาหารประจำของท่านคือมะนาว ที่ท่านฉันอาหารอย่างนี้ท่านบอกว่าจะได้สะดวกแก่คนทำถวายไม่ต้องไปหามาลำบาก เพราะเป็นสิ่งที่หาง่ายไม่สิ้นเปลืองมาก เมื่อท่านฉันอาหารมื้อเดียวท่านเล่าว่า บางวันก็ไม่ได้ฉัน เพราะหลานท่านเอามาถวาย บางวันด้วยความเป็นเด็กไปเล่นกับเพื่อนเพลินจนลืมท่าน เอาอาหารมาถวายตอนบ่าย ท่านบอกว่ามาเคาะประตูเรียกท่านว่า “หลวงลุงครับ” ท่านเปิดประตูออกมาถามว่ามาทำไม หลานท่านบอกว่าเอาอาหารมาถวาย ท่านก็ตอบว่า “เอามาทำไมตอนนี้ เอากลับไป” ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นอันว่าวันนั้นท่านไม่ได้ฉันอาหาร

    งดออกนอกวัด

    ส่วนเรื่องงดออกนอกวัดนั้น ผมไม่ได้เรียนถามท่านแน่นอนว่าท่านงดออกนอกวัดในวันเดือนปีใด ผมเชื่อแน่ว่าท่านต้องจำได้หรือจดไว้ เพราะปกติท่านจะจดวันเดือนปีเกี่ยวกับเรื่องของท่านไว้เสมอ แต่ท่านเคยบอกว่าท่านงดออกจากวัดออกก่อนสร้างสะพานพุทธฯ หรือก่อนสร้างเสร็จ เพราะท่านบอกว่าท่านไม่เคยเห็นสะพานพุทธฯ ว่าเป็นอย่างไร นอกจากรูปถ่ายที่มีผู้เอามาถวายให้ท่านดู ผมเคยเรียนถามท่านว่า แล้วท่านอยากไปดูไหม ท่านบอกว่าไม่อยากไปดู เพราะถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องของสังขาร ล้วนเป็นอนิจจังทั้งสิ้น ส่วนที่กุฏิของท่านนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ ท่านบอกว่าไม่ใช่เพราะต้องการจะอวดคุณวิเศษอะไรดอก แต่เพราะเมื่อท่านบวช กุฏิท่านไม่มีไฟฟ้า เพราะการไฟฟ้าวัดเลียบยังไม่จ่ายกระแสไฟฟ้ามา ภายหลังทางการไฟฟ้าจ่ายกระแสไฟฟ้ามา ท่านก็เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะท่านไม่มีการงานอะไรที่จะต้องทำเวลากลางคืน หากจะอ่านหรือเขียนหนังสือ ท่านก็ใช้เวลากลางวันได้และเพียงพอแล้ว หากจำเป็นจริง ๆ ก็จุดเทียนทำได้ ส่วนเวลากลางคืนนั้น ท่านก็ใช้เป็นเวลาปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว การปฏิบัติธรรมนั้นท่านบอกว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อต้องการแสงสว่างในจิตใจ ไม่จำเป็นต้องใช้แสงสว่างภายนอกมาช่วยแต่อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงไม่ได้ขอต่อกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในกุฏิเรื่อยมา นอกจากที่ท่านบอกให้ฟังแล้ว ผมคิดว่าอาจจะมาจากนิสัยประหยัดและเสียสละของท่านด้วย เพราะท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นผู้ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย และอีกอย่างหนึ่งคือเสียสละ เมื่อท่านไม่จำเป็นต้องใช้ก็ควรจะให้คนอื่นที่จำเป็นได้ใช้ดีกว่า ท่านพูดเสมอว่า คนเราควรรู้จักประหยัดและเสียสละเพื่อประเทศชาติจะได้เจริญ ท่านบอกว่าอย่างโครงการวางแผนครอบครัวที่ทำกันทุกวันนี้ ถ้าทำตามที่พระพุทธเจ้าวางไว้จะมีประโยชน์กว่า ผมไม่เข้าใจจึงถามท่านว่าพระพุทธเจ้าวางไว้อย่างไร ท่านก็อธิบายว่า คนเรานั้นเมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้วคู่สมรสก็ควรถือศีลห้า เพื่อให้ครอบครัวอยู่เป็นสุข เพราะศีลจะทำให้ผู้รักษาศีลนั้นเป็นสุขและร่มเย็นเสมอ เมื่อมีลูกพอแก่ความต้องการแล้วก็เปลี่ยนมาถือศีลแปล การถือศีลแปดหรืออุโบสถศีลนี้ นอกจากจะไม่มีลูกเพิ่มแล้ว ยังไม่เปลืองอาหารมื้อเย็นอีกมื้อหนึ่งด้วย ประเทศไทยคงมีอาหารสมบูรณ์กว่านี้ เมื่ออธิบายจบท่านก็สรุปว่า เรื่องนี้ทำยาก แต่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ท่านบอกว่าถ้าทำได้ก็ประเสริฐประเทศชาติจะร่มเย็นเป็นสุข และได้เล่าว่าเมื่อสมัยพุทธกาลมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง หลังจากมีบุตรแล้วก็ปฏิบัติธรรมแข่งขันกัน จนกระทั่งภายหลังสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไปทั้งสองคน

    หูทิพย์ตามทิพย์ 1

    เหตุเกิดเมื่อระหว่างปี 2503-2504 นายพิทักษ์ พยุงธรรม หลานชายท่านเจ้าคุณธรรมธัชมุนี เลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นยังมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี นายพิทักษ์ พยุงธรรมเวลานั้นกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม.ศ. 3 ของโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ โดยปรกติเป็นเด็กแก่นเอาการอยู่ ค่ำวันหนึ่งในระหว่างเวลาดังกล่าว ที่หน้ากุฏิท่านเจ้าคุณธรรมธัชมุนี ซึ่งอยู่ห่างจากกุฏิท่านธมมวิตกโกไกลโขพอดู ไม่มีทางที่จะได้ยินการสนทนาใด ๆ ถึงกันอย่างปรกติธรรมดาได้เลย วันนั้นนายพิทักษ์ ได้ตั้งวงนินทาท่านธมมวิตกโกกับหมู่บรรดาเพื่อนฝูงศิษย์วัดด้วยกัน ซึ่งเป็นคำกล่าวหานินทาที่ออกจะฉกรรจ์อยู่

    “กูว่าพระองค์นี้บ้าแน่ ๆ ว่ะ…..” เขาเอ่ยขึ้น

    แล้วเขาก็เล่าต่อไปว่า ท่านธมมวิตกโกได้ถ่ายปัสสาวะใส่ตุ่มไว้ แล้วท่านก็เอามาอาบเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค หรือแก้ “เคล็ด” ทางไสยศาสตร์บางอย่าง ซึ่งตัวเขาไม่อาจจะทราบได้แน่ สภาพการณ์ความเป็นไปในวัดเทพศิรินทร์ขณะนั้นก็ชวนให้น่าเชื่อตามคำกล่าวหาของนายพิทักษ์อยู่ เพราะขณะนั้นน้ำประปาในวัดขัดข้องจึงเกิดขาดแคลน ไม่มีน้ำจะใช้อาบกินอย่างปรกติธรรมดาได้ แต่ท่านธมมวิตกโกกลับมีน้ำสรงน้ำอาบได้เช่นปรกติ บรรดาเพื่อนฝูงนายพิทักษ์ จึงเชื่อตามคำบอกเล่ากล่าวหาโดยสนิทใจว่า ท่านธมมวิตกโกจะต้องมีจริตไม่ปรกติเป็นแน่ ถึงกับเอาปัสสาวะของท่านเองมาสรงต่างน้ำพอวันรุ่งขึ้นเข้าใจว่าตอนสาย นายพิทักษ์มีเหตุจะต้องเดินผ่านไปทางกุฏิท่านเพื่อไปโรงเรียนตามปรกติ ทันทีที่ท่านเห็นหน้านายพิทักษ์ ท่านก็กวักมือเรียกให้เข้าไปหาท่าน ท่านพาเข้าไปในกุฏิให้นั่งลงแล้วท่านก็กล่าวขึ้นว่า

    “ที่เธอนินทาฉันเมื่อคืนนี้น่ะ ไม่จริงหรอกนะ เธอเข้าใจฉันผิด ฉันไม่ได้ทำอย่างนั้น…”

    ทำเอานายพิทักษ์ พยุงธรรมถึงกับสะดุ้งและงุนงงอย่างที่สุด จนด้วยเกล้าจริง ๆ ไม่รู้ว่าท่านทราบเรื่องได้อย่างไร จากนั้นท่านก็สั่งสอนหลักธรรมที่มีคติเตือนใจหลายประการ เสร็จแล้วจึงให้เขากลับออกมานับแต่วันนั้นมานายพิทักษ์ พยุงธรรม ก็บังเกิดความกลัวเกรงในท่านธมมวิตกโกเป็นที่สุด เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งเจออภินิหารพระดี แสดงทีเด็ด ให้เขาต้องเข็ดขยาดหลาบจำเป็นครั้งแรกนี่แหละ ทำให้เขาไม่กล้าจาบจ้วงล่วงเกินใด ๆ ต่อท่านธมมวิตกโกตลอดไปจนชั่วชีวิตเลยทีเดียว

    “พระองค์นี้เอ็งอย่าไปทำเล่น ๆ กับท่านนะ…..”

    เขาเตือนเพื่อนฝูงเช่นนี้อยู่เสมอ และทุกครั้งที่เล่าเรื่องนี้ นายพิทักษ์ จะมีอาการขนลุกขนพองอย่างเห็นได้ชัด เขาเชื่อตลอดมาว่าท่านธมมวิตกโกนี้ ต้องมีหูทิพย์หรือตาทิพย์อย่างเด็ดขาด จึงสามารถล่วงรู้คำนินทากล่าวหาของเขาในครั้งนั้นได้

    จากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว และประสบการณ์ต่าง ๆ จากที่อื่นอีกหลายครั้ง หลายบุคคล จึงทำให้เชื่อแน่ว่าท่านธมมวิตกโกนี้จะต้องมีญาณวิเศษ มีทิพยจักขุญานหรือทิพยโสต สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้หมดสิ้น


    หูทิพย์ตาทิพย์ 2

    ราวปี 2512-2513 นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ พร้อมด้วยคุณลุงแก้ว ศิริรัตน์ บิดา ได้นำน้ำผึ้งไปถวายท่าน ท่านได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนกำเนิดพระพุทธรูปปางเลไลยก์ อันเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี แล้วบรรดาพระภิกษุสงฆ์สาวกเกิดแตกสามัคคีก่อการวิวาทกัน แม้สมเด็จพระบรมศาสดาจะทรงพร่ำสอนสักเท่าใด ๆ พระสงฆ์เหล่านั้นก็ยังไม่ยอมปรองดองกันได้ พระพุทธองค์จึงทรงปลีกพระองค์เสด็จออกไปอยู่ในป่าแต่ตามลำพัง จนได้มีพญาช้างเชือกหนึ่ง และพญาลิงตัวหนึ่งเข้าไปตั้งหน้าปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์เป็นอันดี โดยพญาวานรได้คิดอ่านไปจัดหารวงผึ้งมาถวายให้เสวย ฯลฯ เรื่องราวต่าง ๆ อันปรากฏตามที่ท่านเล่าในวันนั้นผิดแปลกแตกต่างไปจากที่เคยได้ยินได้ฟังมา หรือที่ได้เคยอ่านผ่านสายตามา โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยพิสดารน่าฟังยิ่งโดยเฉพาะคุณลุงแก้วนั้น ในอดีตเคยเป็นพระครู เคยเป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว อายุอานามก็น้อง ๆ ท่านธมมวิตกโก ได้เล่าเรียนได้รับฟังจากที่ต่าง ๆ มาเป็นอันมาก ทั้งอ่านมาก ฟังมาก และคิดว่าก็รู้มากมาพอควร ทั้งจากพุทธประวัติและอนุพุทธประวัติ ก็ไม่เคยได้พบได้ฟังเรื่องราวรายละเอียดอย่างน่าพิศวงอย่างนี้ จึงเฝ้าตั้งหน้าซักถามเรื่องราวต่าง ๆ จากท่านเพิ่มเติมอยู่ตั้งนานสองนาน ก็ปรากฏว่าไม่อาจที่จะ “ไล่” ท่านให้ “จน” ได้สักที นับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดมากจริง ๆ จึงเชื่อกันว่าเรื่องอย่างนี้จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการหยั่งรู้ด้วยญาณของท่านธมมวิตกโกนั่นเอง สมแล้วที่กล่าวกันว่าท่านธมมวิตกโกเป็นยอดพหูสูตในยุคนี้

    คราวหนึ่งตอนปลายปี 2513 ระหว่างที่ท่านกำลังอาพาธด้วยแผลมะเร็งที่ต้นคออย่างหนัก นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ ได้นำไฮโดรเยนและแอลกอฮอล์ไปถวายเพื่อให้ท่านใช้ชะล้างแผล พร้อมกันนั้นก็ถวายน้ำผึ้งขวดหนึ่ง ของอื่น ๆ ท่านรับประเคนไว้หมดรวม 6 ขวดด้วยกัน แต่น้ำผึ้งนั้นท่านให้คืนพร้อมกับให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม โดยท่านบอกว่าน้ำผึ้งเก่ายังมีเหลือพอเพราะท่านใช้ละลายน้ำฉันคราวละไม่กี่หยดเท่านั้น น้ำผึ้งที่ท่านให้คืนไปนี้ท่านบอกว่าสามารถใช้เป็นยาได้ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็อธิษฐานจิตกินเป็นยาได้

    ด้วยความตื่นเต้นดีใจที่ได้น้ำผึ้งวิเศษของเสกจากท่านมา นายแพทย์สุพจน์จึงเที่ยวโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามหมู่บรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมิตรสหายรายทางตลอดค่ำคืนวันนั้น โอ้อวดถึงคุณวิเศษของน้ำผึ้งขวดนั้นที่ท่านเสกให้มา ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ขอให้บอกจะแจกให้บริโภคฟรี ๆ ครั้นวันรุ่นขึ้นนายแพทย์สุพจน์ มีกิจธุระที่จะต้องเข้าไปพบท่านที่วัดอีก ด้วยเมื่อวันวานนั้นถวายน้ำไฮโดรเยนขาดไปขวดหนึ่ง เพราะระหว่างทางได้พบพระอาจารย์ที่ชอบพอกันมาจากอ่างทองรูปหนึ่งจึงถวายไปหนึ่งขวด วันต่อมาจึงนำไปถวายท่านธมมวิตกโกเพิ่มอีกขวดหนึ่งโดยนำไปรอคอยถวายท่านที่ข้างกุฏิ เพราะท่านยกไม่ไหว

    ทันใดที่พบกัน ท่านได้ชี้หน้าพร้อมกับต่อว่านายแพทย์สุพจน์ทันที

    “หมอ เรื่องอะไรของเราเที่ยวเอาน้ำผึ้งไปโพนทะนา เราเป็นเอเย่นต์น้ำผึ้งหรือยังไง” แล้วท่านก็กล่าวต่อไปอีกว่า “ยาของเราที่ร่ำเรียนมา ทำไมไม่โพนทะนา…..”

    ทำเอานายแพทย์สุพจน์งุนงงต่อเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง ไม่ทราบว่าท่านล่วงรู้ถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์สรรพคุณของน้ำผึ้งเสกของท่านได้อย่างไรกัน



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  3. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส




    หูทิพย์ตาทิพย์ 3

    ระหว่างที่ทางบ้านคุณลุงแก้ว ศิริรัตน์ ตลาดคลอง 16 ตำบาลดอนฉิมพลี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังเร่งพิมพ์พระเป็นการใหญ่ เนื่องจากได้ถวายผงให้ท่านเสกไตรมาสในพระอุโบสถนำมาเก็บไว้เฉย ๆ นานถึง 2 ปีแล้ว ท่านได้เตือนนายแพทย์สุพจน์ให้นำไปสร้างเป็นองค์พระมาหลายครั้งแล้ว แต่จนแล้วจนรอดไม่มีโอกาสสร้างได้สักที เฝ้าแต่ผลัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา จนกระทั่งได้ทราบว่าทางวัดเทพศิรินทราวาสจะมีพิธีสวดอธิษฐานจิตครั้งใหญ่โดยท่านธมมวิตกโก ในวันเสาร์ห้า ตรงกับวันที่ 25 เมษายน 2513 โดยท่านเจ้าคุณอุดมฯ แต่ครั้งยังเป็นพระครู ดำริจัดทำขึ้นอย่างเป็นการใหญ่เพื่อหารายได้สร้างโรงเรียนนวมราชานุสรณ์ วัดวังกระโจม จังหวัดนครนายก ทางนายแพทย์สุพจน์ กับญาติพี่น้องจึงได้ลงมือสร้างพระผงเป็นการใหญ่ เพื่อให้ทันเข้าร่วมพิธีสวดอธิษฐานจิตกับทางวัดเทพศิรินทร์ การพิมพ์พระผงผสมครั้งนั้น ได้ทำกันเองอาศัยวงศาคณาญาติช่วยกันทำอย่างอุตสาหกรรมในครัวเรือน มิได้จ้างให้ช่างทำแต่อย่างไรด้วยเกรงจะมีการปลอมแปลงเกิดขึ้น หรือมีการยักยอกนำผงวิเศษไปใช้ในการอย่างอื่น พระที่ทำกันขึ้นเองครั้งนั้นจึงไม่มีความสวยงามใด ๆ และทำกันในบ้านปราศจากพิธีกรรมโดยสิ้นเชิง

    ระยะนั้นเอง ค่ำวันหนึ่งนายแพทย์สุพจน์ ก็ยังไปวัดเทพศิรินทราวาสตรงไปยังพระอุโบสถ เพื่อจะไปกราบและคุยกับท่านอย่างธรรมดา ๆ เพราะไม่ได้มีกิจธุระสำคัญอันใด ขณะนั้นเป็นเวลาราวหนึ่งทุ่ม ท่านเสร็จจากทำวัตรค่ำแล้วและกำลังมีแขกเหลื่อไปสนทนาอยู่กับท่านราว 10 คน เมื่อเห็นดังนั้นนายแพทย์สุพจน์จึงถือโอกาสหลบบังเสาอยู่ห่าง ๆ ก่อน ยังไม่แสดงตัวให้ท่านรู้ คิดว่าเป็นเวลาค่ำมืดแล้วท่านคงจะไม่เห็นและไม่ทราบว่าเป็นใคร ทันใดนั้นเอง ท่านก็เรียกหาขึ้นมาทีเดียว

    “หมอรึ มานี่ ๆ”

    นายแพทย์สุพจน์ จึงต้องรีบคลานเข้าไปกราบท่านใกล้ ๆ

    “ไปบอกพ่อนะ พระที่กำลังทำอยู่ให้เลิกได้แล้ว” ท่านเอ่ยขึ้นแล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่า

    “การทำพระนั้นต้องมีพิธีกรรม………”

    ทำเอานายแพทย์สุพจน์นั่งงงไปอีกครั้งหนึ่ง ทำไมท่านจึงทราบได้ว่าทางบ้านคลอง 16 ซึ่งอยู่ห่างไกลมากกำลังสร้างพระจากผงไตรมาสของท่าน ระยะนั้นก็ไม่มีใครทางบ้านไปมาหาสู่หรือได้พบปะบอกเล่ากันท่านเลย เฉพาะอย่างยิ่งนายแพทย์สุพจน์ซึ่งใกล้ชิดกับท่านมากที่สุดในหมู่บรรดาญาติด้วยกัน ก็ว่างเว้นมิได้เข้าไปในวัดเทพศิรินทร์ในระยะนั้นเป็นเวลานานพอดู แต่ท่านสามารถล่วงรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

    บางคนเล่าว่า ท่านรู้จนกระทั่งในครั้งนั้นได้ทำพระตกเปื้อนน้ำครำไปองค์หนึ่ง เหตุเกิดเพราะได้เอาพระผงที่พิมพ์เสร็จแล้วนั้นไปผึ่งบนหลังคาครัวหลังบ้างซึ่งสร้างอย่างลวก ๆ มิได้มีความแข็งแรงสวยงามแต่อย่างไร เมื่อต้องรับน้ำหนักมาก ๆ เข้าหลังคาทานไม่ไหวก็หักพังลงมา ยังผลให้พระผงที่ผึ่งไว้หล่นกระจายไปอยู่กับพื้นดินและองค์หนึ่งร่วงไปอยู่ในน้ำครำสกปรก ท่านก็รู้และพูดจาว่ากล่าวได้ถูกต้องยิ่งกว่าตาเห็น

    ภิกษุกายทิพย์

    เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ตรงกับวันที่ ๑๗ พ.ย. ทางกรมการรักษาดินแดนได้จัดสร้างเหรียญ ร.๖ ขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนนำไปบูชาและได้ทำการพุทธาภิเศกตามวันดังกล่าวนี้ โดยนิมนต์พระคณาจารย์ที่มีชื่อเข้าร่วมทำพิธีปลุกเศก คือหลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร, หลวงพ่อปู่อาคม วัดสุทัศน์ฯ, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม, หลวงปู่นาค วัดระฆัง, พระสุธรรมธีระคุณ วัดสระเกศ, หลวงพ่อคล้าย วัดจันดี, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, และพระอาจารย์ผ่อง จินดา วัดสามปลื้ม ยังได้กระทำพิธีอัญเชิญดวง พระวิญญาณของอดีตพระมหากษัตริย์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ ร.๑ ถึง ร.๘ มาประทับทรงในร่างของนายทหารและนายตำรวจ เพื่อทรงเป็นประธานและสักขีพยาในพิธีปลุกเศกนี้ด้วย

    ในการกระทำพิธีพุทธาภิเศกเหรียญ ร.๖ ครั้งนี้ คณะกรรมการทุกคนจะลืมนินมต์ท่านเจ้าคุณนรรัตนเสียมิได้ เพราะท่านเจ้าคุณนรรตันเป็นภิกษุรูปหนึ่งที่จงรักภักดีต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่๖ จนปวารณาตัวบวชไม่ยอมสึก และล้นเกล้ารัชกาลที่๖ ก็ทรงโปรดปรานเจ้าคุณนรรัตนเช่นเดียวกัน เมื่อมีการสร้างเหรียญ ร.๖ ขึ้นครั้งนี้ คณะกรรมการจึงได้เดินทางไปนินมต์ท่านเจ้าคุณนรรัตนให้เข้าพิธีพุทธาภิเษกด้วย แต่คณะกรรมการ ก็ได้รับความผิดหวัง เพราะท่านเจ้าคุณนรรัตนไม่ยอมรับนิมนต์ออกนอกเขตวัดท่านเจ้าคุณนรรัตนได้บอกกับคณะกรรมการชุดนั้นว่า

    "อาตมาจะขอนั่งปรกปลุกเสกอยู่ในกุฏินี้เพื่อส่งกระแสร์จิตไปร่วมพุทธาภิเศกด้วยในครั้งนี้ จนกระทั่งเสร็จพิธี"

    คณะกรรมการสร้างเหรียญ ร.๖ ชุดนี้จึงได้นำชื่อท่านเจ้าคุณนรรัตนประกาศให้ประชาชนทราบทั่วกันว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตนได้ส่งกระแสร์จิตเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเศกเหรียญ ร.๖ ในครั้งนี้ด้วย

    เมื่อประชาชนได้ทราบข่าวว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนส่งกระแสร์จิตปลุกเศกเหรียญ ร.๖ ต่างก็ทะยอยมาสั่งจอง กันเป็นจำนวนมาก แม้บางรายยังไม่เคยเห็นรูปลักษณะเหรียญ ร.๖ เลยก็ยังสั่งจองกันมากมายชั่วเวลาเพียงไม่ถึงสิบวัน ก็มีประชาชนสั่งจองเหรียญ ร.๖ ถึง ๔ หมื่นเหรียญ และเมื่อเสร็จพิธีพุทธาภิเศกก็ได้นำออกแจกจ่ายให้ประชาชนบูชาเพียงไม่นานนักเหรียญ ร.๖ ก็หมดเกลี้ยงอย่างไม่มีใครคาดถึง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะบารมีกระแสร์จิตของท่านเจ้าคุณนรรัตนที่เข้าร่วมปลุกเศกด้วยนั่นเอง

    เมื่อประชาชนจำนวนมากรับเหรียญ ร.๖ ไปพกติดตัว ต่างก็ปรากฏอภินิหารต่างๆ นานา ทั้งทางอยู่ยงคงกระพันและโชคลาภ จนโจษขานกันทั่วอยู่พักหนึ่ง ปรากฏการณ์สิ่งนี้เองที่มีประชาชนจำนวนมากได้ประจักษ์กันว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตนมีกระแสร์จิตอันแก่กล้า สามารถส่งมาร่วมพิธีพุทธาภิเษกได้ แต่ไม่เพียงกระแสจิตเท่านั้น ท่านเจ้าคุณนรรัตนยังสามารถถอดกายทิพย์ออกไปให้ผู้อื่นพบเห็นได้อีกด้วย

    ผู้ที่พบท่านเจ้าคุณนรรันไปปรากฏองค์ให้เห็น ก็คือมีนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความเลือมใสศรัทธาท่านเจ้าคุณนรรัตนมาก เมื่อครั้งได้รับคำสั่งทางราชการให้เดินทางไปสมรภูมิเวียดนาม จึงได้เดินทางมาหาท่านเจ้าคุณนรรัตนเพื่อขอศีลขอพร และให้ท่านเจ้าคุณนรรัตนประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้เพื่อเป็นศิริมงคล ครั้นได้เดินทางไปประจำอยู่ในสมภูมิเวียดนาม ก็ได้ปะทะกับพวกเวียดกงหลายครั้ง บางครั้งอยู่ในภาวะคับขันหวุดหวิดจะได้รับอันตราย ก็ได้พบท่านเจ้าคุณนรรัตนมาปรากฏร่างช่วยเหลือคลี่คลายสถานการณ์จนพ้นภาวะคับขันไปได้ทุกครั้ง จนเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากมายในกลุ่มทหารกองพลเสือดำมาแล้ว

    ส่วนทางด้านสหรัฐอเมริกาก็ได้มีผู้พบเห็นท่านเจ้าคุณนรรัตนไปปรากฏมาแล้วเหมือนกัน กล่าวคือ มีชาวอเมริกันผู้หนึ่งซึ่งได้เคยรู้จักกับ พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์ ได้เขียนจดหมาย เล่าเรื่องราวประหลาดมหัศจรรย์แก่ พ.ต.อ. ชลอ ว่า ได้มีเศรษฐีอเมริกันผู้หนึ่งอยู่ในนครนิวยอร์ค ได้ล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรงโรคหนึ่ง ได้รักษาเสียเงินเสียทองมาแล้วอย่างมากมายโรคร้ายนั้นก็ไม่หาย แต่เศรษฐีอเมริกันผู้นี้เป็นผู้ใจบุญสุนทาน และประกาศตนเป็นพุทธมามะกะมาแล้ว เมื่อเสียเงินเสียทองรักษาตัวทางแพทย์ปัจจุบันมาแล้วหลายแห่ง โรคร้ายนั้นก็ไม่ยอมหาย จึงหันมาระลึกถึงพุทธคุณทางพุทธศาสนาอยู่เสมอปรากฏว่าวันหนึ่งได้มีพระภิกษุไทยรูปหนึ่ง ได้ไปเยี่ยมที่บ้านของเศรษฐีผู้นั้น และแสดงความจำนงค์ขอช่วยรักษาโรคร้าย ให้โดยการใช้กระแสร์จิตรักษา เศรษฐีผู้นั้นก็ยินยอมให้ภิกษุไทยรูปนั้นรักษาให้ และหลังจากพระภิกษุไทยรูปนั้นใช้กระแสร์จิตรักษาแล้ว ปรากฏว่าอาการป่วยของเศรษฐีผู้นั้นก็เริ่มทุเลาลงเป็นอันดับ พระภิกษุไทยรูปนั้นจึงได้บอกชื่อว่า พระภิกษุเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต พำนักอยู่ที่วัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ทำให้เศรษฐผู้นั้นงุนงงเป็นอันมาก และหลังจากนั้นไม่นานนักอาการของเศรษฐีนั้น ก็ค่อยทุเลาและหายเป็นปกติ จึงได้บอกเพื่อนชาวอเมริกันที่คุ้ยเคยกับคนไทยในกรุงเทพฯให้ช่วยเขียนจดหมายมาถามดูว่าที่ในกรุงเทพฯ มีวัดเทพศิรินทร์ และพระภิกษุชื่อเจ้าคุณนรรัตนหรือไม่? เพื่อนของเศรษฐีอเมริกันผู้นั้นซึ่งคุ้นเคยกับ พ.ต.อ. ชลอ ก็ได้เขียนตอบไปแล้วว่ามีจริงดังที่ถามมาทุกประการ


    อีกรายหนึ่ง ที่พบท่านเจ้าคุณนรรัตน ธมฺมวิตกฺโก ไปปรากฏร่างให้เห็นก็คือ พ.ต.ท. นายแพทย์สุภัค บรรฑุรัตน์ หัวหน้าแผนกนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้เล่าว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนเคยไปเยี่ยมถึงบ้าน และพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันเป็นเวลานานจึงได้ลากลับ นายแพทย์สุภัคถึงกับงุนงง เพราะเป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสศรัทธาท่านเจ้าคุณนรรัตนมาก และก็ทราบว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนมิเคยย่างกรายออกจากวัดเทพศิรินทร์เลยแต่เหตุไฉนที่นเจ้าคุณนรรัตน จึงได้ไปเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับตนถึงบ้านได้ ท่านเจ้าคุณนรรัตนต้องถอดกายทิพย์ไปอย่างแน่นอน

    ภิกษุอรหันต์รู้วันมรณภาพ

    ท่านเจ้าคุณนรรตันฯ ท่านก็เป็นภิกษุสงฆ์ที่ตัดแล้วด้วยกิเลสนานาประการ ยศถาบรรดาศักดิ์ทางสงฆ์ ท่านก็มิได้ปรารถนาผิดกับภิกษุสงฆ์บางรูป พอเริ่มห่มผ้าเหลืองเพียงไม่กี่พรรษา เป็นที่นับหน้าถือตาของบรรดาญาติโยม ก็เพียรพยายามหายศประดับบารมีเสียแล้ว แม้แต่จะต้องเสียเงินเสียทองเพื่อได้ตำแหน่งยศมาประดับบารมีก็ยังต้องยอม และยิ่งมีญาติโยมก้มกราบเรียกขานว่า "ท่านอาจารย์" หรือ "หลวงพ่อ" ด้วยแล้วมีความปลาบปลื้มปิติยินดีอย่างล้นพ้น ผิดกับท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ไม่ว่าใครที่เข้าไปพบประสนทนา จะเรียกขานท่านว่า "ท่านอาจารย์" หรือ "หลวงพ่อ" แล้วท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ จะเอ่ยปากบอกญาติโยมทันทีว่า

    "ที่นี้ไม่มีอาจารย์และไม่มีหลวงพ่อหรอกโยม ที่มีอาจารย์และหลวงพ่อนั้นมีที่วัดอื่น ไม่ใช่ที่วัดเทพศิรินทร์"


    นี่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า ตลอด ๔๕ พรรษาที่ครองเพศบรรพชิตของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ มิได้มีอะไรด่างพร้อยให้ปรากฏในวงการพุทธศาสนาเลยแม้แต่น้อย กลับเป็นตัวอย่างอันดีงามของภิกษุสงฆ์ที่ครองเพศบรรพชิตควรยืดถือ เป็นเยี่ยงอย่างอีกด้วยและท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ธมฺมวิตกฺโก รูปนี้ก็ยังรู้วันมรณภาพของท่าน ดังปรากฏการณ์ที่ข้าพเจ้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้

    เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านเจ้าคุณนรรัตนได้ถูกโรคร้ายเข้าแทรกซึมในร่างกาย อีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือฝีปรากฏขึ้นที่คอด้านซ้าย เป็นเม็ดแดงระเรื่อ แต่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ กลับรู้สึกเฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับตัวท่านเลย ถ้าเป็นอย่างมนุษย์ปุถุชนเช่นเรา-ท่านละก็ต้องร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวดอย่ารวดร้าวแสนสาหัสทีเดียว และจะต้องวิ่งเข้าโรงพยาบาลอย่างไม่มีปัญหา แต่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯไม่อนาทรร้อนใจด้วยโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเลย ท่านใช้กระแสร์จิตอันแก่กล้าและญาณขั้นสูงสุดพินิจพิจารณา ท่านก็สามารถทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างทะลุปรุโปร่ง


    ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นนายแพทย์ชั้นปริญญาหลายท่านได้แสดงความปริวิตก และต่างก็ขันอาสาพยาบาลกันมากมาย แต่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็ได้ปฏิเสธไปทุกรายมิยอมฉันหยูกยาใดๆ ทั้งสิ้นที่มีผู้นำมาให้ ได้แต่บอกแก่ผู้หวังดีทุกคนไปว่า


    "ฝีที่เกิดขึ้นเรียกว่าฝีสบาย เขามาอาศัยร่างอาตมาอยู่เท่านั้น เมื่อถึงกำหนดฝีนี้ก็จะแตกเอง และหายไปพร้อมกับอาตมา ขอให้ทุกคนไม่ต้องเป็นห่วง"

    ด้วยคำพูดที่เป็นปริศนาและให้คิดเป็นการบ้านของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ประโยคนี้เอง ทำให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรในวัดเทพศิริทร์และประชาชนที่เลื่อมในศรัทธาท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ต่างปริวิตกไปตามๆกัน และก็เฝ้ารอวินาทีที่ฝีแตกจะเกิดขึ้น

    ผลที่สุดวินาทีวิกฤตที่ทุกคนเฝ้ารอคอยก็ปรากฏขึ้นในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ฝีที่คอท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ แตกแล้ว แต่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ก็มิได้แสดงความเจ็บปวดรวดร้าวอะไรออกมาให้ญาติโยมพบเห็น เลยแม้แต่น้อย ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ยังปฏิบัติลงโบสถ์ทำวัตรเช้า-เย็น และสนทนาปราศรัยกับญาติโยมธรรมดา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

    ความเรื่องนี้ได้ล่วงไปถึงพระกรรณของสมเด็จพะนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีความประสงค์ จะให้ศาสตราจารย์นายแพทย์มาทำการรักษาให้ ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯก็ได้ตอบปฏิเสธอีกเช่นเคย

    ครั้งที่สองสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมส่วนพระองค์ พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหญิงและราชองครักษ์ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ คราวนี้ท่านเจ้าคุณนรรัตนได้กราบบังคมทูลเป็นลางว่า

    "อาตมาเห็นจะต้องขอลาแล้ว"

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตนสามารถล่วงรู้วันมรณภาพของท่านด้วยญาณชั้นสูงจริงๆ



    ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.amulet.in.th/forums/view_...403742df28dd78





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน