ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์

กระทู้: ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์






    ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์

    ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟู ส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม

    และอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์)

    พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๓๓

    ข้อมูลจาก http://www.thaiherbclub.com/

    ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้รับการยกย่องและนับถืออย่างสูงจากบรรดาศิษย์ทั้งหลายว่าเป็นบรมครูและปูชนียบุคคล ท่านเป็น ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาหลายแขนงในหลายสถาบันไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แผนโบราณ พยาบาล เภสัชกรรม ทันตแพทย์ พลศึกษา กีฬา ศีลธรรมและสังคม จนมีลูกศิษย์อยู่ทั่วไป ท่านเป็นผู้มีอัจฉริยะผู้มีความริเริ่มหลากหลาย ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และอุปกรณ์การทดสอบกำลัง มีงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เขียนบทความทางวิชาการ การศาสนา และความรู้ทั่วไปไว้อย่างมากมาย ตลอดจนมีงานส่งเสริมสังคมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

    อาจารย์เกิดที่ตำบลรังสิต อำเภอรังสิต จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก เป็นบุตรคนที่สองของรองอำมาตย์เอก หลวงศรีนาวาพล (อู่ เกตุสิงห์) และนางลูกจันทร์ (งามเจริญ) ศรีนาวาพล มีพี่น้องรวม ๗ คน คือ

    ๑. นางเอื้อ เจียมประเสริฐ

    ๒. ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์

    ๓. นายออ เกตุสิงห์

    ๔. นางออมสุข มุกตะพันธ์

    ๕. นางสาวเอินศรี เกตุสิงห์

    ๖. นายแพทย์อัฐ เกตุสิงห์

    ๗. นางพนอศรี สุนทรานนท์

    ท่านได้รับการหล่อหลอมอุปนิสัยในเชิงความดีงามทุกอย่างจากท่านบิดา ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกสำหรับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ กวีนิพนธ์ ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน และมีคุณยาย (เป้า งามเจริญ) เป็นครูเคหะศิลป์และผู้สอนให้รู้จักความเสียสละ กตัญญูรู้คุณ การมีภูมิหลังตั้งแต่เยาว์วัยมาดังนี้ ท่านจึงมีประวัติการศึกษาที่ดีเด่นโดยตลอด ท่านเริ่มเรียนที่โรงเรียนประถมจักวรรดิ ประถม ๑-๓ พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๖๐, มัธยม ๑-๕ พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๓ที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข (เพียง ๓ ปีท่านเรียนได้ ๕ ชั้น) ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๔๖๘ ชั้นมัธยม ๖-๘ ,ชีวประวัติที่อาจารย์เขียนไว้เองนั้น กล่าวได้ว่าเรียนมัธยม ๘ อยู่ถึง ๓ ปี เพราะรอสอบชิงทันเล่าเรียนหลวงเพื่อไปศึกษาต่างประเทศ ปีแรกท่านสอบได้ที่ ๔ (มีทุน ๓ ทุน) ปีที่ ๒ สอบได้ที่ ๓ (มีทุน ๒ ทุน) ปีที่ ๓ สอบซ้ำอีกได้ที่ ๓ อาจารย์จึงเปลี่ยนความมุ่งหมายมาเรียนแพทย์ ผู้เขียนเห็นว่าถ้าท่านสอบชิงทุนได้คงเป็นนายพลไปนานแล้ว แต่เป็นโชคของโรงเรียนแพทย์ มากกว่าที่ได้บุคคลอย่างท่านมาเป็น "ครู"

    อาจารย์เข้าเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เมื่ออายุ ๑๘ ปี (ทั้งที่เรียนมัธยม ๘ อยู่ถึง ๓ ปี ) ในพ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๗๐, ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ในแผนกเคมี ต่อมาเรียนที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๕ ,โดยข้ามฟากมาเรียนที่ศิริราช เป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ในแผนก สรีรวิทยา (สมัยนั้นรวมชีวเคมีและเภสัชวิทยาด้วย) ในขณะที่เรียนปี ๒,๓,๔ ได้รับทุนของพระยาอุเทนเทพโกสินทร์ สำหรับการสอบได้เป็นที่หนึ่ง ต่อมาได้ฟื้นฟูระบบนักเรียนผู้ช่วยขึ้นมาอีกหลายรุ่น

    อาจารย์เรียนจบได้รับพระราชทานปริญญา พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่ออายุ ๒๔ ปี (สมัยนั้นเรียกเวชบัณฑิตย์ตรี ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแพทย์ศาสตร์บัณฑิตย์) ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำหรับการเรียนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร และรางวัลเหรียญทองแดงสำหรับความเป็นเยี่ยมในวิชา สรีรวิทยา พยาธิวิทยา อายุรศาสตร์ ศัลยศาตร์ และสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (สมัยนั้นมี ๖ แผนกวิชา อาจารย์ได้รับเหรียญ ๕ เหรียญ) ทั้งๆ ที่ได้คะแนนเป็นเยี่ยมในวิชาทางคลินิคทุกวิชาท่านก็ยังมาเป็นอาจารย์อยู่ในปรีคลินิค ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังเรียนจบ โดยศาสตราจารย์อัลบริตตัน หัวหน้าแผนกสรีรวิทยาในสมัยนั้นเป็นผู้หันเหเข็มทิศวิชาชีพ

    เมื่อรับราชการเป็นอาจารย์แล้ว ท่านก็ทำงานพร้อมกับศึกษาต่อในคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล และสอบได้ปริญญา แพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ (อายุ ๒๗ ปี) เป็น พ.ด. คนที่ ๔ ของไทย โดยเสนอวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษเรื่อง "The Reaction of Pinchax - Pinchax Hamilton to Lethal Dose of igitalis" (ปฏิกิริยาของปลาหัวตะกั่วต่อขนาดตายของดิจดตาลิส)

    พ.ศ. ๒๔๗๙ (อายุ ๒๘ ปี) สอบได้ทุนอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลท์ ไปเรียนเพิ่มเติมในวิชาสรีรวิทยา เภสัชวิทยา และเคมี ณ มหาวิทยาลัยฮัมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ท่านได้รับทุนทั้งประกาศนียบัตร โรคเมืองร้อนและปาราสิตวิทยา (จากสถาบันโรคเมืองร้อน) ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ และใน พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ (Dr.rer.nat.) สาขาอินทรีย์เคมี ด้วยเกียรตินิยมดีมากอาจารย์ได้บันทึกไว้ว่า ศาสตราจารย์ ชลูบัฆ แห่งสถาบันเคมี ฮัมเบิร์กเป็นผู้เปิดทางแห่งวิชาชีพที่สอง คือ ทางเคมีและอินทรีย์เคมี

    การรับราชการ (การประกอบอาชีพ) "ครู"

    พ.ศ. ๒๔๗๖ อาจารย์ตรีแผนกสรีรวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมมหา วิทยาลัย กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)

    พ.ศ. ๒๔๗๙ อาจารย์โท

    พ.ศ. ๒๔๘๖ อาจารย์เอก แผนกสรีรวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข

    พ.ศ. ๒๔๘๙ หัวหน้าแผนกสรีรวิทยา (ระยะนั้นยังรวมเภสัชวิทยา และชีวเคมีอยู่ด้วย)

    พ.ศ. ๒๔๙๔ อาจารย์ชั้นพิเศษ

    พ.ศ. ๒๔๙๕ ศาสตราจารย์

    พ.ศ. ๒๕๐๘ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี

    พ.ศ. ๒๕๐๙ หัวหน้าแผนกเภสัชวิทยาคณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้แยกแผนก สรีรวิทยา เป็น ๓ แผนก คือ สรีรวิทยา เภสัชวิทยา และชีวเคมี อาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชวิยา)

    พ.ศ. ๒๕๑๑ เกษียณอายุราชการ ราชการทหาร

    พ.ศ. ๒๔๘๖ นายทหารนอกกอง ยศเรือโทสังกัดกรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลทหารเรือสัตหีบ พ.ศ. (๒๔๘๔-๒๔๘๕) บัตรทหารผ่านศึกเลขที่ ๒๕๙0/๒๕๑๘

    หน้าที่พิเศษในทางราชการ

    พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๖ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์

    พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๑ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย หลังจากเกษียณอายุราชการแล้วท่านได้รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

    พ.ศ. ๒๕๑๖ เกษียณอายุครั้งที่ ๒ (อายุ ๖๕ ปี) ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการองค์การส่งเสริมการกีฬาแห่งแระเทศไทย เป็นที่ปรึกษาพิเศษของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา

    กิจการลูกเสือ

    พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๘ กรรมการบริหาร คณะลูกเสือแห่งชาติ

    พ.ศ. ๒๕๑๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาลูกเสือแห่งชาติ ผู้ตรวจการลูกเสือ

    พ.ศ. ๒๕๑๙ ลูกเสือชาวบ้าน เลขที่ ๒๘๗ รุ่น ๙๙๗/๒/ช.ม. ๗๕

    การสมรส

    ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖ สมรสกับแพทย์หญิงหม่อมราชวงศ์ ส่งศรี เกษมศรี (ต่อมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ หัวหน้าภาค วิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) ธิดาหม่อมเจ้าปฏิพัทธ เกษมศรี (อดีตเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี) และหม่อมเนื่อง (ปันยารชุน) เกษมศรี (ไม่มีบุตร)

    ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๑๑ (อายุ ๔๗-๖๑ ปี) อาจารย์ได้ทุนต่างประเทศอีกหลายทุน เช่น เอ.ซี.เอ.,โคลอมโบ , รัฐบาลฝรั่งเศส , ไชน่าเมดิคัลบอร์ดแห่งนิวยอร์ค , ฮุมโบลท์ , เนชชะนั่ลสติติวท์ออฟเฮลท์ซ , ทุนของสถาบันเวชศาสตร์ประสิทธิภาพ (มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน) การดูงานและการศึกษาในต่างประเทศในแต่ละครั้ง ท่านได้อะไรใหม่ ๆ มานำเสนอสำหรับโรงเรียนแพทย์ และการกีฬาของประเทศไทย ไม่ใช่ไปเพื่อความรู้ความชำนาญของตนเอง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อาจารย์หันเข็มไปทางกีฬาเวชศาสตร์ ก็ยังไปดูงาน และประชุมในต่างประเทศอีกหลายต่อหลายครั้ง นับได้ว่า อาจารย์เป็นผู้ใฝ่ใจการเรียนตลอดชีวิต

    เกียรติพิเศษทางวิชาการที่ได้รับภายในประเทศและต่างประเทศ

    ๑. แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมหาศักดิ์ (มหาวิทยาลัย แพทย์ศาสตร์-มหิดล)

    ๒. เภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมหาศักดิ์ (มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์มหิดล)

    ๓. ราชบัณฑิตย์ในราชศาสตร์ประยุกต์ หลังเกษียณอายุราชการ

    ๔. วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ (ศึกษาศาสตร์) กิตติมศักดิ์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

    ๕. ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์ (คณะครุศาสตร์จุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

    ๖. ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ (คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

    ๗. วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์ (พลศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ.๒๕๒๘ อายุ ๗๗ ปี)

    ๘. Fellow , member , guest professor , invited panellist , invited speaker , consultant ของสถาบันต่างประเทศไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่ง

    ราชการพิเศษและกิจกรรมพิเศษบางอย่าง

    กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาแพทย์ , สาขาเคมีและเภสัช ; กรรมการฝ่ายแพทย์ในกรณีสวรรคตพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ , กรรมการแพทยสภา , กรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย (ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข) , กรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ , อาจารย์พิเศษ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) , มหาวิทยาลัยขอนแก่น , วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์มงกุฏเกล้า) , อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล , นายกสมาคมเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย , นายกสมาคมไทย-เยอรมัน , นายกสมาคมอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต , อุปนายกสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย , กรรมการวิจัยกิตติมศักดิ์ สหพันธ์กีฬาเวชศาสตร์แห่งเอเชียเป็นต้น ตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ ตำแหน่ง

    สัญญลักษณ์แห่งเกียรติยศ

    สูงสุดสำหรับชีวิตราชการ

    - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฏ (อายุ ๕๘ ปี)

    - มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (อายุ ๗๔ ปี)

    สูงสุดสำหรับนักวิชาการและนักวิจัย

    - เหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา (อายุ ๔๘ ปี)

    สำหรับราชการในพระองค์

    - ทุติจุลจอมเกล้าวิเศษ (อายุ ๖๒ ปี)

    - อิสริยาภรณ์ชั้นสูง (ต่างประเทศ) สาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก (อายุ ๖๒ ปี)

    ลักษณะแห่งการเป็นผู้ให้

    นอกจากอาจารย์จะเป็นผู้ให้ทางวิชาการจริยธรรม และในสังคมแก่ศิษย์ทั้งหลายแล้วท่านยังเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศล ได้บริจาคโลหิตเป็นครั้งคราวแก่สภากาชาด ได้รับพระราชทานเข็มสละโลหิต ๗ ครั้ง จากสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ (อายุ ๕๘ ปี) และเมื่อครบรอบวันเกิด ๖๐ ปี อาจารย์ได้บริจาคโลหิตเป็นครั้งที่ ๑๗

    ผลงานของอาจารย์นั้น อาจารย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในหลายสาขา ทั้งด้านวิชาการ งานวิจัย เสนอบทความ สารคดีความรู้ทั่วไปในทางสร้างสรรค์ กล่าวโดยย่อได้แก่

    ๑. งานนิพนธ์

    ในระหว่างที่อยู่ในราชการ อาจารย์มีผลการวิจัยและบทความที่เสนอในประเทศรวม ๔๒ เรื่อง มีรายงานบทความที่ตีพิมพ์ หรือเสนอในต่างประเทศ ๑๖ เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้ ๑๐ เรื่อง ได้นำ เสนอในที่ประชุมนานาชาติ ย่อเอกสารและบันทึกสั้นใน "สารศิริราช" ๔๕ เรื่อง เสนอศัพท์แพทย์อังกฤษ-ไทย ตีพิมพ์ในสารศิริราช ๕๐ เรื่อง รวมคำศัพท์ ๑๐,๖๐๐ คำ และธาตุ (รากศัพท์) ๔๗๓ คำ บทบรรณาธิการ เรื่องจูงใจ บันทึกประวัติเกี่ยวกับสถาบัน และบุคคลที่น่ารู้ ความเห็น ความรู้เบ็ดเตล็ด ๑๘๖ เรื่อง เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นบทความตีพิมพ์ในสารศิริราช ๖๓ เรื่อง บทความตีพิมพ์ในที่อื่น ๆ ๒๙ เรื่อง คำขวัญและข้อความสั้น ๆ ๓๑ เรื่อง รวมทั้งสิ้น ๑๒๓ เรื่อง

    งานนิพนธ์ของอาจารย์นั้นจะต้องมีข้อคิดของท่านแทรกด้วยเสมอ เช่นการศึกษาสมุนไพรที่ใช้รักษามาลาเรีย (รวมทั้งในวาระที่ท่านปฏิบัติราชการในกองทัพเรือ แม้เพียงประมาณ ๑ ปี ) อาจารย์ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า การศึกษาเรื่องยาต้านมาลาเรียจำต้องคำนึงด้วยว่าโรคนี้อาจหายเองได้ชั่วคราว (ไม่ใช่จากยา) ในการเสนอเรื่อง " โรคมอทำ" (latrogenic diseease) ท่านได้ให้ข้อคิดไว้ว่า แพทย์ทุกคนควรระลึกว่า ทุกครั้งที่เกิด "โรคหมอทำ" ขึ้นแพทย์มีส่วนรับผิดชอบด้วยไม่มากก็น้อยแล้วแต่กรณี

    เมื่ออาจารย์อายุใกล้ครบ ๖๐ ปี แม้ว่าท่านจะเป็นหัวหน้าแผนกวิชาและใกล้เกษียณอายุราชการท่านก็ไป " อุดร" ในหน่วย ช่วยเหลือการแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พวกลูกศิษย์ฟังเรื่องผู้ป่วยบ่นเรื่อง "วิ้น" ก็เอามาพูดล้อกันเองสนุกสนาน แต่อาจารย์ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเขียนเรื่อง " อาการวิ้น-การศึกษาทางคลินิก" (ทั้ง ๆ ที่อาจารย์อยู่ในแผนกปรีคลินิก) ตีพิมพ์ในสารศิริราช

    บทบรรณการในสารศิริราชนั้นมีความหลากหลายสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวศิริราชก็คือ อาจารย์ทำให้ศิษย์ได้รู้จักผู้มีพระเดชพระคุณต่อศิริราช ท่านได้เขียนถึง "ทูลกระหม่อม" รอคคิเฟลเล่อร์มูลนิธิกับโรงเรียนแพทย์ หลักหินในความก้าวหน้าของศิริราช เช่น พระพุทธเจ้าหลวง, พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์, กรมพระยาชัยนาทนเรนทร, หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี, พระอาจวิทยาคม เป็นต้น

    อาจารย์นิพนธ์ ชุด โดยพระยุคลบาท ไม่น้อย กว่า ๑๔-๑๕ เรื่องล้วนเป็นพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งชาวศิริราชควรยึดถือเป็นแบบฉบับ

    อาจารย์เขียนบทความภาษาอังกฤษเรื่อง "The Man who deserves a monument" ในหนังสือฉลองครบรอบ ๕๐ ปี จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวถึงหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ผู้เริ่มประวัติศาสตร์ของสหศึกษาในตอนต้นของ พ.ศ. ๒๔๗๐ มีนักเรียนเตรียมแพทย์หญิง ๘ คน (หนึ่งในกลุ่มนี้ คือ ม.ร.ว.หญิงส่งศรี เกษมศรี) เรื่องนี้ไม่ได้มีใครกล่าวถึงเลยเป็นเวลานานถึง ๔๐ ปี

    หลังจากอาจารย์เกษียณอายุราชการใน พ.ศ. ๒๕๑๑ งานนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการกีฬาเวชศาสตร์มีทั้งรายงาน การบรรยาย ปาฐกถารับเชิญในการประชุมนานาชาติในต่างประเทศ เรื่องปาฐกถาในประเทศ ๑๔ เรื่อง บทความตีพิมพ์ในประเทศ ๗ เรื่อง เอสารบรรยายเผยแพร่ความรู้ เขียนในศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและการอบรมด้านวิชาการไม่น้อยกว่า ๑๕ เรื่อง เป็นที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ ครุศาสตร์ มหาบัณฑิต (พลศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๑ เรื่อง ผลงานนี้รวมทั้งการสอนบรรยายแก่นิสิต อาจารย์ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ กิตติมศักดิ์ ของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

    ๒. ความเชี่ยวชาญในด้านภาษา

    ๒.๑ ภาษาไทย อาจารย์เป็นแพทย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ท่านก็เป็นผู้รู้ในภาษาไทยอย่างดีเยี่ยม ได้รับเชิญให้บรรยาย " เรื่องภาวะภาษาไทยในสายตาของผู้ใช้" ในการประชุมชุมนุมภาษาไทย ณ ห้องประชุม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๐๓ อาจารย์ได้กล่าวถึงความวิปริตของภาษา ๖ ประการ

    - ภาษาคลาดเคลื่อน เช่น ใช้กันสับสนระหว่าง คำ เรี่ยราย/เรี่ยไร

    - ภาษาฟุ้งเฟ้อ ปัจจุบันนี้คงเทียบได้กับอภิมหาเศรษฐี อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล

    - ภาษากุดด้วน อาจารย์ จาน, กิโลกรัม โล

    - ภาษาหย่อนสติ เช่น รายได้ทวีคูณขึ้นหลายสิบเท่า ธนาคารเลือด ธนาคารกระดูก ธนาคารนัยน์ตา

    - ภาษาแผลง เช่น ดิฉัน อะฮั้น เวลานาน เวลา ยาว ขอบคุณอย่างมาก ขอบคุณอย่างสูง

    - ภาษาหยาบคาย

    ในคำบรรยายเรื่อง "สมเด็จพระราชบิดาฯ กับด้านการค้นคว้าทางการแพทย์ของไทย " หน้าพระที่นั่ง ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดสำนักงานมูลนิธิวิจัยประสาท ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ โรงพยาบาลประสาท พญาไท เมื่อ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๗ นั้น แม้จะประกอบด้วยคำราชาศัพท์ค่อนข้างมาก แต่ก็ได้ความรื่นหูไม่ติดขัด เมื่ออาจารย์นิพนธ์เรื่องเป็นภาษาไทย ก็จะใช้ภาษาไทยล้วน ๆ และเขียนภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง ท่านมักจะติงพวกลุกศิษย์เสมอ ๆ เมื่อใช้ภาษาผิดพลาด และใช้ความ บกพร่องในภาษาไทยที่มีผู้ใช้ผิด ๆ เสมอ

    ๒.๒ ภาษาอังกฤษ อาจารย์เป็นผู้รู้ในภาษาอังกฤษอย่างดีเยี่ยม บทความที่ท่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษนั้นฝรั่งแท้ ๆ ก็ยังชมเชย เมื่อนิตยสารโคโรเน็ทตีพิมพ์เรื่อง Medical Ambassador to Thailand ฉบับเดือน มี.ค. ๑๙๕๒ (พ.ศ. ๒๔๙๕) อาจารย์ก็เขียนประท้วงเป็นภาษาอังกฤษโดยทันที และตีพิมพ์ในสารศิริราชฉบับเดือน เม.ย. ๒๔๙๕ ว่าเป็น Super-imaginative report (ท่านแปลเป็นภาษาไทยว่ารายงานแบบเพ้อเจ้อ) และได้ส่งให้ศาสตราจารย์อัลบริตตัน อดีตหัวหน้า แผนกสรีรวิทยาเมื่อสมัยอาจารย์เป็นนักเรียนแพทย์ ซึ่งท่านได้มีจดหมายชมเชยว่าอาจารย์เขียนได้เป็นอย่างดียิ่ง เมื่อมีผู้ถามอาจารย์ว่าเป็นนักเรียนเยอรมันทำไมจึงคล่องภาษาอังกฤษ ท่านตอบว่าเพราะสนใจและชอบก็เลยทำได้

    บทความภาษาอังกฤษเรื่อง Lord of Life of the Thais and His Subjecsts เฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๕ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเรื่อง Nehru as Father ที่อาจารย์ได้รับเชิญให้กล่าวที่อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต เนื่องในวาระครบรอบวันเกิดปีที่ ๗๘ ของท่านเนห์รู เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๕๑๐ ทั้งสอง เรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นภาษาอังกฤษที่ไพเราะและตรึงใจอย่างมาก

    ๒.๓ ภาษาเยอรมัน ไม่น่าต้องสงสัยในเรื่องความเชี่ยวชาญในภาษาเยอรมันของอาจารย์ เพราะเพียงแต่ได้เรียน ๒ ปี อาจารย์ก็แต่งเรียงความภาษาเยอรมันประกวดทั่วโลก ได้รับรางวัลสำหรับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ (อายุ ๒๗ ปี) และได้รับ "เหรียญฮุมโบลท์" และทุนพิเศษไปเรียนวิชาการสอนภาษาเยอรมันที่อคาเดมีเมืองนิวมิค ประเทศเยอรมันเป็นเวลา ๖ สัปดาห์ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งช่วงนั้นอยู่ระหว่างการไปเรียนเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัย อัมเบอร์ก ดังได้กล่าว บทความภาษาเยอรมันที่ท่านได้เคยเขียนไว้นั้น นายกสมาคมนักเรียน เก่าไทยในเยอรมัน และเลขาธิการสมาคมไทยเยอรมันได้เขียนไว้ว่า "ขอแปลบางตอนเป็นภาษาไทยอย่างกระท่อนกระแท่น เพราะไม่สามารถถอดความหมายที่ลึกซึ้งและเพราะพริ้งในภาษาเยอรมันออกเป็นภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์" นอกจากความรู้อย่างดียิ่งในภาษาเยอรมันแล้ว ต้องกล่าวเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า อาจารย์ได้ทำหน้าที่เสริมสร้างสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนี และระหว่างชาวไทยกับชาวเยอรมัน จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากประธานาธิบดีสาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก

    ๓. กิจกรรมทางศาสนา

    อาจารย์อุปสมบทครั้งแรก อายุ ๔๙ ปี (๗ ก.ค. - ๗ พ.ย. ๒๕๐๐ ) ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรหมมุนี (ผิน สุวจเถระ) และพระมงคลรัตนมุนี (แก้ว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระธรรมวราภรณ์ (เจริญ สุวัฑโน) เป็นพระอนุศาสนาจารย์ สอบนักธรรมตรี (สนามวัด) ได้ที่ ๑ ในภาคพระวินัย แม้ขณะอยู่ในสมณเพศ ศึกษาธรรมะแต่อาจารย์ก็ยังเป็นห่วงในหน้าที่การงาน อาจารย์มีบันทึกสั่งงานไปให้แผนกสรีรวิทยาเป็นครั้งคราว

    อุปสมบทครั้งที่สอง อายุ ๗๗ ปี เมื่อวันที่ ๒๗ ก.ค. ๒๕๒๘ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรเป็นอุปัชฌาย์ เจ้าคุณพระธรรมดิลกเป็นพระกรรมวาจาจารย์ วันที่ ๓๑ ก.ค. ๒๕๒๘ ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี จนตลอดพรรษา ในการอบรมสั่งสอนของ "พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน " อาจารย์กัมมัฎฐานชั้นยอด หลังออกพรรษาในวันที่ ๒๙ ต.ค. ไปรุกขมูล อยู่ในป่าภายในเขตวัดถ้ำกลองเพลในความดูแลของพระอาจารย์บุญเพ็งเป็นเวลา ๕ คืน วันที่ ๖ เดินทางกลับกรุงเทพฯ และทำพิธีลาสิกขาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ ๘ พ.ย. โดยมีเจ้าคุณพระธรรมดิลกเป็นประธาน

    ในการบวชครั้งที่สองนี้ ได้มีโอกาสศึกษาแบบพระธุดงค์กัมมัฏฐานโดยตรงกับพระอาจารย์มหาบัว ได้มีโอกาสปฏิบัติอย่าง อุกฤษฏ์ และต้องเหน็ดเหนื่อยตรากตรำมาก แต่ปรากฏอานิสงส์ หลังจากสึกออกมาแล้วสุขภาพซึ่งเสื่อมโทรมในต้นมี ๒๕๒๔ ได้กลับดีขึ้นอย่าชัดเจน

    ญาติมิตรและลูกศิษย์ก็ได้รับฟังบ่อย ๆ ว่าถ้ามีโอกาสจะบวชครั้งที่สาม และขอตายในผ้าเหลืองแต่อาจารย์ก็ไม่มีโอกาสเสียแล้ว

    อาจารย์เขียนบทความเกี่ยวกับศาสนา และธรรมะไว้หลายเรื่อง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๑๑ มีทั้งปาฐกถา และตีพิมพ์ ๒๓ เรื่อง แต่ละเรื่องล้วนน่าอ่านเข้าใจง่ายชวนให้ติดตาม อาจารย์ศึกษาอย่างจริงจังในด้านศาสนา มีศรัทธาแก่กล้าและวิริยะเยี่ยมยอด ได้สลัก "พระพุทธบัณฑูรนิมิตร" เป็นพระพุทธรูปปางลีลา สูง ๓.๓๕ เมตร ที่หน้าผาวัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี สำเร็จเมื่อวันที่ ๓ ก.ย. ๒๕๑๑ เมื่ออาจารย์อายุครบ ๖๐ ปี ท่านใช้เวลาเฉพาะวันหยุดราชการ ขับรถเองทั้งไปและกลับ ใช้เวลาแกะสลักอยู่ประมาณ ๙ เดือน ทั้งนี้แสดงถึงอัจฉริยะและความเพียรชอบในทางหนึ่งของท่าน เคยมีผู้ถามว่าทำไมจึงทำเป็น ท่านบอกว่ามีเพื่อนเยอรมันเป็นนักสลักหิน ช่วยแนะนำ เมื่อถามอาจารย์ว่าเอาเวลาที่ไหนไปฝึก ท่านบอกว่าเวลานั้นมีอยู่เสมอถ้ารู้จักหา

    ๔ งานเกี่ยวกับการศึกษา

    อาจารย์ได้ทำงานด้านการศึกษาไว้หลายด้าน บางด้านก็แปลกกว่าของใคร ๆ ทั้งนั้น กล่าวโดยย่อได้ดังนี้

    ๔.๑ งานด้านสามัญศึกษา ได้ตั้งโรงเรียนสวนบัวขึ้นมาใน พ.ศ. ๒๕๐๑ เริ่มด้วยกิจการอนุบาลแล้วขยายขึ้นโดยลำดับ กิจการเจริญ และมั่นคงแข็งแรง อาจารย์มุ่งหมายให้การอบรมด้านศีลธรรม และวัฒนธรรม โรงเรียนมีกิจกรรมพิเศษหลายอย่าง เน้นเรื่องกิจการลูกเสือ และเนตรนารี ตัวท่านเองก็เข้ารับการอบรมขั้นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนในประเทศ และไปรับการอบรมในต่างประเทศด้วย ในวงการลูกเสือแห่งชาติเป็นที่ทราบกันดีว่าอาจารย์ส่งเสริมในทุก ๆ ทาง

    นอกจากนั้น ยังเน้นเรื่องพุทธศาสนา มีการบวชสามเณร และบวชผ้าขาว (บวชชีพราหมณ์) การจัดงานการกุศลตามกาลสมัย และการส่งเสริมการทำบุญของนักเรียน

    ๔.๒ งานด้านอุดมศึกษา ตลอดชีวิตราชการ ๓๕ ปี ได้อุทิศเวลาการเรียนการสอนให้แก่ศิริราชทั้งหมด และยังทำหน้าที่อาจารย์พิเศษได้แก่สถาบันอื่น หลังจากที่เกษียณอายุราชการแล้ว รวมทั้งหันความสนใจไปสู่กีฬา เวชศาสตร์ และพลศึกษา เป็นอาจารย์สอนให้แก่ภาควิชาพลศึกษาของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า อาจารย์จึงมีลูกศิษย์ลูกหาในวงการกีฬา และพลศึกษาอีกด้วย

    ๔.๓ งานอาสาพัฒนาเกี่ยวกับการศึกษา บทบาทการพัฒนาชนบทโดยชาวมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาคิดว่าไม่มีใครทำมาก่อนนั้น อาจารย์ก็เป็นผู้ดำเนินการมาก่อนตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นไหน ๆ งานค่ายอาสาพัฒนาชนบท นำนักศึกษาช่วยสร้างโรงเรียนในถิ่นไกล ก็เริ่มโดยอาจารย์ ท่านต้องให้นักศึกษาฝึกหัดฝีมือก่อสร้างก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง ๆ ท่านเป็นผู้ทำให้นักศึกษารู้จักการทำงานร่วมกัน ค่ายอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และต่อมาก็เป็นค่ายอาสาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒) ได้ช่วยสร้างบุคลิกภาพและเจตคติแห่งความเป็นสาธารณชนให้แก่นักศึกษาชายหญิงของมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มาสมทบนับจำนวนเป็นพันคน อาจารย์ได้ไปนอนกลางดินกินกลางทราย และร่วมงานกับนักศึกษาทุกค่าย แต่งเพลงปลุกใจ รวมทั้งเพลงประจำกลุ่ม อาสาชาวค่ายทุกรุ่นสามัคคีกลมเกลียวกันเป็นอันดี กล่าวได้อีกว่า ชาวค่ายอาสาฯ ไม่มีผู้ใดรังเกียจที่จะไปรับราชการต่างจังหวัด แม้ชาวค่ายหญิงหลายคนก็ยังอาสาไปทำงานในอำเภอที่ห่างไกลความเจริญ นับว่ากิจการกลุ่มอาสาฯ ได้มีส่วนช่วยพัฒนาบ้านเมืองด้วยแม้โดยส่วนน้อยก็ตาม

    ๔.๔ งานฟื้นฟูวิชาแพทย์ไทย ข้อนี้นับเป็นงานพิเศษสุดของอาจารย์ ท่านได้ปรารภไว้ตั้งแต่เมื่อมีอายุ ๖ รอบ เกี่ยวกับ "โครงการฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์อายุรเวท" ท่านคิดว่าในปัจจุบันการแพทย์ ไทย (ไทยเดิม) ได้เสื่อมโทรมลงมาก หมอแผนโบราณที่ดีมีแต่จะหมดไป หมอที่เกิดขึ้นใหม่ก็หาคนเก่งได้ยาก ถ้าปล่อยเช่นนี้ต่อไป ไม่ช้าการแพทย์ไทยเดิมซึ่งเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของชาติก็จะสิ้นสูญไป สมุนไพรไทยก็จะรู้จักกันน้อยลง หลักการของท่านคือ ต้องการให้เป็น "หมอไทย" ป้องกันไม่ให้กลายเป็นแผนปัจจุบัน ให้ใช้ยาแบบไทย และให้ศึกษาสรรพคุณยาไทย อุดมคตินี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทันสมัยเพราะในปัจจุบันนี้ "ประเทศที่เจริญแล้วหันมาสนใจ สรรพคุณและฤทธิ์ของสมุนไพรทั่วโลก" อาจารย์ได้ประกาศความตั้งใจที่จะฟื้นฟูวิชาแพทย์ไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสนับสนุนหลังจากที่ต่อสู้กับมรสุมทางการเมืองผ่านมาเป็นผลสำเร็จ ขณะนี้อายุรเวทวิยาลัยฯ อยู่ในสภาพเสริมสร้างสถานภาพ อาจารย์เป็นผู้มีบารมีมาก จะคิดอะไรก็มีผู้ร่วมดำเนินการสนับสนุน หวังว่าแพทย์อายุรเวทของวิทยาลัยนี้จะสามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติสมความมั่นหมายของอาจารย์




    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  2. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์



    ๕. การกีฬาของชาติ - กีฬาเวชศาสตร์

    อาจารย์เป็นคนแรกที่นำเอาวิทยาศาสตร์และการแพทย์มาช่วยพัฒนามาตรฐานการกีฬาของชาติ ได้เสนอให้จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขึ้นในองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านได้สละกำลังกาย กำลังใจ และแม้กำลังทรัพย์ เพื่อดำเนินกิจการของศูนย์ฯ สนับสนุนงานวิจัย และได้เสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมนานาชาติไม่น้อยว่า ๑๐ เรื่อง จัดประชุมวิชาการทางกีฬาเวชศาสตร์นานาชาติในประเทศไทย และได้รับตำแหน่งเกียรติยศทั้งในและนอกประเทศหลายตำแหน่ง สนับสนุนแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ไปศึกษาอบรมในประเทศเยอรมนีจนถึงระดับปริญญาเอก ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬา หากไม่มีท่าน วงการกีฬาของไทยคงไม่มีกีฬาเวชศาสตร์ที่แท้จริง

    นอกจากนั้นท่านได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ทดสอบกำลังหลายชิ้น เช่น เครื่องวัดความสูงของการกระโดด, เครื่องวัดการงอตัว, เครื่องวัดความแม่นตรงของเครื่องวัดกล้ามเนื้อ และเครื่องทดสอบการดึงข้อแบบเคลื่อนที่ เป็นต้น

    นับได้ว่า ท่านเป็น "บิดาแห่งการกีฬาสมัยใหม่ของไทย" ได้ทำคุณประโยชน์แก่วงการกีฬาของชาติอยู่กว่า ๒๐ ปี เป็นความโชคดีของทุกผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาเวชศาสตร์ ที่มีบิดาที่ประเสริฐเช่นท่าน เป็นศรีแก่ประเทศชาติที่บุคคลเช่นท่าน สมควรได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคลของชาติ และเป็นบุคคลตัวอย่างของผู้ประกอบคุณความดีต่อคุณโดยแท้

    ความคิดริเริ่ม

    อาจารย์มีนิสัยชอบหางานใหม่ ๆ อยู่เสมอ ความสนใจหลายด้าน จึงมีงานหลายอย่างที่ได้รับตั้งต้นไว้หลายอย่างยังคงดำเนินต่อไปและทำประโยชน์ให้แก่ศิริราชหรือแก่สังคมในทางต่าง ๆ กัน ความคิดเหล่านี้พอจะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ได้ คือ

    ๑. พิธีและระเบียบ

    ๒. การวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์และวิทยาศาสตร์

    ๓. งานนิพนธ์

    ๔. การส่งเสริมจริยธรรม

    ๕. การศึกษา

    ๖. การกีฬา

    ๑. พิธีและระเบียบ

    ๑.๑ พิธีรับน้องใหม่

    จะมีใครสักคนที่รู้ว่า อาจารย์เป็นผู้เริ่มพิธีนี้เป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยนิสิตเตรียมแพทย์บางคนที่จะข้ามฟาก ( จุฬา ฯ มาศิริราช ) ในปี ๒๔๗๕ รุ่นพี่ก็เตรียมจะ " ตอบแทน " ต่ออาจารย์ไม่อยากให้เกิดการแตกแยกในคณะ จึงเสนอสโมสรนิสิตแพทย์ให้ยกโทษเสีย และแสดงความเมตตาต่อรุ่นน้อง โดยการจัดการต้อนรับบำรุงขวัญ ในสมัยนั้นต้อนรับโดยนำเรือเอี้ยมจุ๊นไปรับจากท่าพระจันทร์มาศิริราช คู่กรณีจับมือกันกอดคอกันร่วมร้องเพลง " ศิริราชสามัคคี "

    หลังจากนั้นก็มีการจัดงานต่อมาเป็นประจำ จนกลายเป็นประเพณีและกระจายไปทั่วทุกแห่ง น่าเสียดายที่งานต้อนรับน้องใหม่ ในบางสถาบันดำเนินไปค่อนข้างรุนแรงจนถึงมีการเสนอให้ยกเลิกก็มี แต่งานต้อนรับน้องใหม่ของชาวศิริราชก็มีส่วนที่งดงามตามแบบฉบับที่อาจารย์ได้เริ่มไว้

    ๑.๒ ระเบียบสมนาคุณผู้อุปการะคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ( ๒๔๙๐ )

    แต่เดิมประชาชนมักบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลอื่น ซึ่งมีระเบียบตอบแทนด้วยเครื่องประดับและให้สิทธิบางอย่าง แต่เวลาเจ็บป่วยชอบมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราชที่อาจารย์เป็นกรรมการคณะได้เสนอระเบียบสมนาคุณผู้อุปการะที่ให้เงินแก่คณะ ฯ หรือโรงพยาบาลศิริราช โดยแบ่งเป็นอุปการะกิตติมาศักดิ์ และผู้อุปการะวิสามัญ มีเข็มเครื่องหมาย กิตติบัตร และได้สิทธิเกี่ยวกับรักษาพยาบาล

    ๑.๓ งานฉลอง ๖๐ ปี ศิริราช (๒๔๙๓) และงานฉลอง ๗๒ ปี (๒๕๐๕)

    อาจารย์มีส่วนเสนอแนะการจัดงานทั้งสอง ในการสร้างถาวรวัตถุเพื่อเป็นที่ระลึกทั้งสองวาระก่อนหน้าศิริราชจะมี อายุครบ ๖๐ ปี คณะฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดอนุสาวรีย์ และทรงเปิดงานคณะฯ ใช้ชื่อว่า "ราชแพทยาลัย" ซึ่งต้องมาใช้ประโยชน์จากหอประชุมนี้อย่างคุ้มค่า งานฉลองครั้งนี้เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก จนต้องเพิ่มการจัดงาจาก ๕ วัน เป็น ๗ วัน และหลังจากนั้นมาก็ได้จัดงาน "วันมหิดล" เป็นการประจำในวันที่ ๒๔ กันยายน ซึ่งตรงกับวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระบรมราชชนก และสถาบันการแพทย์แห่งอื่นก็ได้ถือเป็นแบบฉบับจัดงานเช่นเดียวกัน

    ๑.๔ พิธีไหว้ครู (เริ่มครั้งแรก ๙ มิ.ย. ๒๕๐๓)

    การแพทย์ไทยเดิมนั้น การไหว้ครูเป็นของสำคัญมาก การไหว้ครูเป็นวิธีของชาวตะวันออกโดยเฉพาะ ในหมู่ชาวตะวันตก ไม่ปรากฏวิธีเช่นนี้ คณะฯ เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ได้เสนอพิธีนี้ขึ้นได้จัดพิธีไหว้ครูเป็นครั้งแรกเมื่อ ๙ มิ.ย. ๒๕๐๓ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบุญคุณของอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว พิธีนี้ปรากฏขึ้นในสถาบันอื่น ๆ ในภายหลัง ทำนองเดียวกันกับพิธีรับน้องใหม่

    ๑.๕ ระเบียบการสอบไล่รวม (๒๕๐๖)

    เพื่อให้เกิดความยุติธรรม การคุมสอบอย่างรัดกุมและเคร่งครัด อาจารย์ได้ร่าง "ระเบียบการสอบไล่ประจำปี" เสนอ ต่อคณะกรรมการประจำคณะฯ หลักการเช่นให้สอบไล่ พร้อมกันทุกชั้นปี กรรมการกลางคุมสอบนักศึกษาหมดทุกคนในห้องสอบ จัดที่นั่งไม่เหมาะสมป้องกันการไม่ซื่อ เป็นต้น คณะฯ เห็นชอบด้วย และแต่งตั้งให้อาจารย์เป็นกรรมการคนแรก อาจารย์กำหนดเอาหอสมุดราชแพทยาวิทยาลัยเป็นสถานที่สอบ ผลการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่ายอาจารย์และนักศึกษา และได้ใช้ระเบียบนี้เป็นประจำตลอดมา

    ทั้งนี้ยกเว้นนักศึกษาปีสุดท้ายซึ่งสอบเพื่อปริญญา ได้จัดสอบโดยเฉพาะเพื่อศักดิ์ศรีแห่งปริญญา

    ๒. การวิจัย และสิ่งประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์และวิทยาศาสตร์

    ๒.๑ การวิจัยสมุนไพร อาจารย์เริ่มงานวิจัยตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๘๑ ความมุ่งหมายเพื่ออย่างน้อยให้รู้ฤทธิ์สำคัญของยาแต่ละอย่าง สำหรับเป็นแนวทางของนักวิจัยอื่น ๆ ต่อไปได้รับรองสรรพคุณของเมี่ยง (๒๔๘๑) , พิษในหัวกวาวขาว (๒๔๘๔) , พิษของกลอย (๒๔๘๕) , สรรพคุณระบายของชุมเห็ดเทศ (๒๔๘๔) สำหรับสมุนไพรรักษาไข้จับสั่น ได้ศึกษาผลทางคลีนิคของยาพื้นเมือง ๓๐ ขนานที่อ้างอิงว่า มีสรรพคุณรักษาไข้จับสั่น พบว่ามีเพียง ๗ ขนานที่ให้ผลลการรักษามากกว่า ๕๐% และพอจะชี้ได้ว่า ภูมิคุ้มกันมีส่วนช่วยอย่างมาก ในช่วงปี ๒๔๘๔ ที่ไปปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลทหารเรือสัตหีบ ก็ได้ใช้สมุนไพรรักษาไข้จับสั่นและโรคบอดในกลุ่มทหาร เพราะในระยะนั้นมีการขาดแคลนยาอย่างมาก อาจารย์เป็นผู้ริเริ่มการสอนและการวิจัยทางด้านเภสัชวิทยา ได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้ง "ชมรมนักเภสัชวิทยา" ซึ่งต่อมาก็คือ "สมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย" นักเภสัชวิทยาทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันว่าอาจารย์เปรียบเสมือน "บิดาแห่งนักเภสัชวิทยาไทย"

    ๒.๒ การผลิตน้ำเกลือฉีดเข้าหลอดเลือดใช้เอง เริ่มทดลองใช้ พ.ศ. ๒๔๘๙

    แต่เดิมนั้นประเทศไทยทำยาฉีดไม่ได้เลย ทุกอย่างต้องสั่งจากต่างประเทศ รวมทั้งน้ำเกลือที่ใช้สำหรับฉีดเข้าทางหลอดเลือด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ยาทุกอย่างรวมทั้งน้ำเกลือขาดแคลน และราคาก็แพงมาก แผนกศัลยศาสตร์ซึ่งมีความต้องการน้ำเกลือมากกว่าผู้อื่น ได้เสนอคณะให้มอบหมายอาจารย์ศึกษาหาวิธีผลิตน้ำเกลือให้ใช้ได้ (โดยฉีดให้ผู้ป่วยแล้วไม่มีอาการหนาวสั่น) อาจารย์เริ่มต้นด้วยเครื่องกลั่นน้ำเล็กๆ ที่ปรับปรุงขึ้น ต่อมาได้สร้างเครื่องกลั่นขนาดใหญ่ ปรับปรุงขึ้นเองตามหลักวิชาและความชำนาญภายใน ๓ ปี ผลิตเพิ่มจากวันละ ๔-๕ ลิตร จนถึง ๑๐๐ ลิตร และผลิต " น้ำยาฉีด" อื่นๆ เพิ่มขึ้น ออกแบบสร้างตู้อบฆ่าเชื้อด้วยความร้อนขนาดใหญ่ และเครื่องมืออัด ( autoclave ) ใช้บุคลากรเพียง ๘ คน ภายใน "โรงงาน" เนื้อที่รวมประมาณ ๖๐ ตารางเมตร พบว่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๐๐ " หน่วยน้ำเกลือ " ประหยัดรายจ่ายให้ศิริราชไม่น้อยกว่า ๔ ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินมิใช่น้อยเมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว

    เมื่อเกิดการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ หน่วยน้ำเกลือได้เร่งการผลิตจนพอความต้องการ และยังมีเหลือใช้จนได้ส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุข ได้รับพระราชทานเงินหนึ่งหมื่นบาทมาช่วยสร้างเครื่องกลั่น อาจารย์ว่าครั้งนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ได้รับ "รางวัล" สำหรับการผลิตน้ำเกลือ

    เมื่ออาจารย์ได้เผยแพร่ทฤษฎีการผลิตน้ำกลั่นไร้พัยโรเจ็น พร้อมทั้งโครงสร้างเครื่องกลั่นอย่างละเอียดในสารศิริราช ( โดยไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์ ) ก็ได้มีโรงงานสร้างเครื่องกลั่นจำหน่ายแก่ โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งในกรุงและต่างจังหวัดได้ใช้กันทั่วไป โดยอาจารย์ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนแต่อย่างใด

    ที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อศิริราชได้ปรึกษาไปทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าให้ช่วยปรับปรุงเครื่องกลั่นน้ำ สถาบัน ได้ส่งอาจารย์ผู้ใหญ่มาศึกษา และได้รายงานว่า เครื่องที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นเหมาะสมดีแล้ว เพราะมีโครงสร้างง่าย สร้างเองได้ ซ่อมแซมและตรวจสอบง่าย และมีประสิทธิภาพสูง ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ ในปัจจุบันนี้แม้เครื่องกลั่นจะดูสวยงามขึ้นเพราะชุบโครเมียมสะอาด แต่ภายในนั้นก็ยังเป็นเครื่องแบบเดิมที่อาจารย์ได้ออกแบบไว้เมื่อ ๓๐ กว่าปี ก่อนนี้

    ๒.๓ การประดิษฐ์หรือดัดแปลงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ( ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๕๑๑ )ปัจจุบันนี้ที่ชั้นใต้ดิน อาคารสรีศาสตร์ศิริราชมีศูนย์นิทรรศการอุปกรณ์การแพทย์ เก็บรวบรวมอุปกรณ์การแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่เคยใช้ในโรงพยาบาลศิริราชทั้งสมัยใหม่ และสมัยนานมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ที่อาจารย์ประดิษฐ์ขึ้นในช่วง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อสอนนักศึกษาแพทย์ ส่วนมากเป็นอุปกรณ์ทางสรีรวิทยา ส่วนไม่น้อยสร้างโดยฝีมือช่างคนไทยในห้องเล็กๆ ซึ่งใช้เป็นโรงงานของแผนก งานด้านนี้เป็นที่ประทับใจของผู้แทน จากไชน่าเมดิคัลบอร์ดแห่งนิวยอร์คสหรัฐอเมริกา และจูงใจให้องค์การนั้นให้การสนับสนุนหน่วยงานนี้อย่างเต็มที่ ในปัจจุบันหน่วยนี้มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สามารถให้บริการ ได้อย่างดี

    อุปกรณ์ที่อาจารย์ได้คิดผลิตขึ้นมีหลายต่อหลายอย่าง เช่น เครื่องสกัดยาขนาดใหญ่ , Percolator แบบสัตหีบ , เครื่องสกัดทำนองเดียวกับเครื่อง Soxhlet extractor , Spinning Kymograph (ใช้แทน Shooting plate Kymograph บันทึกระยะการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อ), ใบพัด Kymograph , เครื่องวิเคราะห์แก๊สแบบ O.K. ใช้แทนเครื่อง Haldane gas analyzer, เครื่องวัดแบบเมตะบอลิสม์หนูพุก ,เครื่องตรึงเตาแบบศิริราช, เครื่องกลั่นน้ำไร้ พัยโรเจ็น , ตู้อบความร้อนแห้ง, สาแหรกแขวนน้ำเกลือ, เครื่องดูดไปเปตต์กึ่งอัตโนมัติ เป็นต้น อุปกรณ์เหล่านี้มีราคาย่อมเยากว่าการซื้อต่างประเทศ แม้จะให้ประโยชน์น้อยในสมัยนี้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเราอาจช่วยตนเองได้ถ้าพยายามคิด

    นอกจากนั้นอาจารย์ยังคิดวิธีการง่ายๆ แต่ให้ความสะดวกในการปฏิบัติ เช่น การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำที่หางหนูพุก จับหนูให้อยู่นิ่งมันยากนัก ก็คิคกระบอกทองเหลืองให้หนูวิ่งเข้าไป จะออกไม่ได้เพราะปลายปิด ( มีรูเจาะไว้สำหรับหายใจ ) นักศึกษาก็ฉีดยาเข้าหางหนูได้ง่าย หรือการกรอกยาหนู (การทดลองทางเภสัชวิทยา) คนหนึ่งจับหนูอีกคนสอดสายยาง อาจารย์เห็นทุลักทะเลนัก ก็ขอเข็มฉีดยาเข้าไขสันหลังที่ฝ่ายรักษาใช้แล้วเพราะไม่คม เอามาตัดปลายทำให้หายคม ใช้ความร้อนช่วยงอเข้าให้ถูกส่วน ใช้ผ้าห่อตัวหนู จับคอหงาย ก็กรอกยาเข้ากระเพาะได้โดยทำคนเดียว ของที่ใช้แล้ว จะทิ้งอาจารย์ก็เอามาใช้ประโยชน์ได้ นี่ก็คือความประหยัดของอาจารย์

    ๓. งานนิพนธ์

    ๓.๑ ออกวารสาร "สารศิริราช" ของคณะฯศิริราช ( พ.ศ. ๒๔๙๑ ) เพื่อส่งเสริมให้ชาวศิริราชทำการวิจัยได้มีเรื่องที่จะเขียนและได้มีแหล่งตีพิมพ์เป็นการเผยแพร่กิตติคุณของศิริราช เป็นสื่อสัมพันธ์กับศิษย์เก่า และเผยแพร่ความรู้ในหมู่แพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ต่างจังหวัด เมื่อเสนอแผนการต่อคณะฯ ก็ได้รับอนุมัติ อาจารย์ได้รับหมอบหมายให้บรรณาธิการ และผู้จัดทำเองวางแผนที่จะทำให้สารศิริราชเป็นอิสระในด้านการเงิน จึงไม่ได้ใช้เงินของคณะฯ เลย หารายได้จากค่าสมาชิก ( ซึ่งถูกมาก ) และค่าแจ้งความเท่านั้น อาจารย์รับหน้าที่อยู่จนเกษียณอายุ เมื่อ ต.ค. ๒๕๑๑ และยังรับทำต่อไปอีก ๖ เดือน เพื่อให้ครบ ๒๐ ปี

    ๓.๒ จัดตั้งมูลนิธิสารศิริราช (พ.ศ. ๒๕๑๑ ) ด้วยความเป็นห่วงว่านานไปสารศิริราชอาจขัดข้องเรื่องการเงิน อาจารย์ได้ออกเงินส่วนตัว ๕,๐๐๐ บาท เป็นทุนริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิสารศิริราชไว้ช่วยเหลือ ได้อาศัยผู้ร่วมงานหลายคนช่วยรวบรวมทุน ปัจจุบันนี้มูลนิธิสารศิริราชมีทุนไม่น้อยกว่า ๒ ล้านบาท สามารถใช้ดอกผลส่งเสริมการเงินของสารศิริราช ช่วยให้วารสารนี้ทำหน้าที่ได้ตามจุดประสงค์ โดยราบรื่นมาจนปัจจุบัน ซึ่งเป็นปีที่ ๔๔ แล้ว

    ๓.๓ ริเริ่มเสนอศัพท์แพทย์ - พจนานุกรมศัพท์แพทย์ อังกฤษ - ไทย ในการจัดทำสารศิริราช อาจารย์ประสงค์จะส่งเสริม การใช้ภาษาไทยในการเขียนเรื่องวิชาการค่อยๆ คิดคำไทยเข้ามาแทนภาษาอังกฤษเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษในคำที่แปลได้ยาก เพื่อไม่ให้ติดตัวหนังสือภาษาอังกฤษในบทความภาษาไทย ต่อไปก็นำเครื่องหมายวรรคตอนมาใช้เพื่อกระชับความตอนแรกๆ มีคนรำคาญมาก แต่อาจารย์ก็ " เดินทางสายกลาง " ค่อยทำค่อยไปจนผู้อ่านคุ้นขึ้น เสียงบ่นน้อยลง อาจารย์ครุ่นคิดเรื่อง " ศัพท์แพทย์ " มานานแล้วเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย ก็เปิดการ " เสนอศัพท์แพทย์ - การเลือกใช้ " สามคำหลังนี้ดีมากเพราะอาจารย์เห็นว่าการใช้ภาษาไทยไม่ควรบังคับ อาจารย์ ได้เสนอคำศัพท์ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในวารสาร สารศิริราช ต่อมาภายหลังราชบัณฑิตสถานได้จัดพิมพ์ " พจนานุกรมศัพท์แพทย์อังกฤษ - ไทย " ฉบับแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙

    ๔. การส่งเสริมจริยธรรม

    ๔.๑ ชุมชนศึกษาพุทธธรรม ( ศิริราช ) ( พ.ศ. ๒๖๕๐๒ ) เมื่ออาจารย์อุปสมบท ( ครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ) ระหว่างนั้นได้ปฏิบัติทางจิตอย่างแข็งขันและมีประสบการณ์หลายอย่าง ทำให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา อาจารย์ได้พยายามเผยแพร่ความเห็นในทุกโอกาส โดยเฉพาะภายในศิริราช ซึ่งท่านเห็นว่า มีความต้องการศาสนาเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์ ( ร่วมกับอีก ๒ ท่าน คือ ศ.นพ. โรจน์ สุวรรณสุทธิ และ ศ.นพ.ประพันธ์ อารียมิตร ) ได้เสนอในที่ประชุมกรรมการคณะฯ ขอจัดตั้ง " ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม " ( ศิริราช ) และได้รับอนุญาต อาจารย์ประเดิมกิจกรรมโดยบรรยายเรื่อง " ความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับพุทธศาสนา " ในที่ประชุมวิชาการประจำสัปดาห์ของคณะฯ เป็นครั้งแรกที่มีการบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในศิริราช หลังจากนั้นผู้ที่สนใจได้ร่วมกันจัดตั้ง "ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม" ขึ้น ได้เชิญบุคคลและอาราธนาพระภิกษุมาบรรยายและเทศน์ มีผู้อยู่ภายนอกศิริราชมาร่วมงานด้วยเสมอ ต่อมาเมื่อมีงานสำคัญใด เช่น วันมหิดล , วันปีใหม่ , ได้มีการทำบุญตักบาตรและพิธีสงฆ์เป็นประจำ ซึ่งเป็น กิจกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน ชมรมได้เป็นปึกแผ่นมาจนทุกวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ให้ชาวศิริราชใช้ธรรมะประจำใจในการทำงานควบคู่ไปกับการใช้ความรู้ทางวิชาการ

    ๔.๒ กลุ่มอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์มหิดล ( พ.ศ. ๒๕๑๐ ) ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๔.๓ ของงานเกี่ยวกับการศึกษา

    ๕. การศึกษา

    ๕.๑ โรงเรียนพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ( พ.ศ. ๒๕๐๘ ) โครงการนี้เดิมเรียกว่า " การอบรมผู้ช่วยวิชาการ " วัตถุประสงค์ เพื่อให้ได้พนักงานวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพขึ้นแทนพยาบาลที่ฝึกขึ้นมาทำหน้าที่พนักงานวิทยาศาสตร์ ให้ห้องปฏิบัติการของแต่ละหน่วย ในศิริราชผลเป็นที่น่าพอใจของฝ่ายผู้ใช้ ต่อมาได้มีโรงเรียนทำนองนี้เกิดขึ้นอีกหลายสถาบัน

    ๕.๒ ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตสำหรับนักศึกษาแพทย์ ( พ.ศ. ๒๕๐๘ ) จุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ที่ไม่สามารถเรียนจบหลักสูตรแพทย์ได้ปริญญาที่จะประกอบอาชีพได้ นักศึกษาแพทย์ศิรราช ( ต่างกับโรงเรียนแพทย์อื่นๆ ที่ได้รับปริญญา วท.บ. ไปโดยอัตโนมัติเมื่อเรียนจบปรีคลีนิค ) ต้องทำงานวิจัยและส่งวิทยานิพนธ์เพื่อปริญญา วท.บ. เป็นการปลูกฝังให้รู้แนวทางในการวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์ อาจารย์เองไม่ได้เห็นผลที่อาจารย์ริเริ่มไว้ เพราะท่านเกษียณอายุไปเสียก่อนที่นักศึกษารุ่นแรกจะได้รับพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตรแพทย์ศาตร์บัณฑิต และนักศึกษาแพทย์ไม่มีเวลาศึกษาวิชาบังคับตามหลักสูตร โครงการนี้จึงเลิกไป

    ๕.๓ พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย " อวย เกตุสิงห์ " ( พ.ศ. ๒๕๐๔ )

    เพื่ออนุรักษ์ประวัติการแพทย์ไทยอาจารย์ริเริ่มด้วยการ เก็บรวบรวมสิ่งของ ประวัติตำรา เอกสารต่างๆ โดยรับบริจาค หรือหาซื้อด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวและด้วยความอนุเคราะห์จากท่านผู้มีใจเป็นกุศล ซึ่งเห็นความสำคัญของประวัติการแพทย์ไทย

    พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ที่ อาคารสรีรศาสตร์ ศิริราช เริ่มเป็นที่รู้จักของปวงชนเพราะได้จัดแสดงในงานฉลอง ๗๒ ปี ( พ.ศ. ๒๕๐๕ ) และ ๘๔ ปี ( พ.ศ. ๒๕๑๗ ) ของศิริราช คณะกรรมการประจำคณะแพทย์ฯ ได้ลงมติให้ต่อเติมชื่อพิพิธภัณฑ์เป็น " พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย อวย เกตุสิงห์ " และในวันที่ ๑ ต.ค. พ.ศ. ๒๕๒๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิด พิพิธภัณฑ์ ฯ และนับจากนั้นคณะฯ ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวันพุทธ ในเวลาราชการ

    นอกจากประวัติการแพทย์ไทยแล้ว ยังมีแสดงตัวอย่างยาสมุนไพรไทยที่เพื่อนชาวเยอรมันของอาจารย์ได้รวบรวมไว้ใน "มุมชัลเลอร์ "

    ๕.๔ พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน (พ.ศ. ๒๕๑๗) เพื่อแสดงสิ่งที่ใช้สำหรับเจริญกัมมัฏฐานและหลักการอบรมในพระพุทธศาสนา พิพิธภัณฑ์นี้อยู่บนอาคารชั้นสองของอาคาร ภ.ป.ร.วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผลงานของอาจารย์ที่ได้จัดแสดงไว้ พร้อมด้วยคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายควรแก่ศึกษาของนักศึกษา และสาธุชนทั่วไป

    อาจารย์ได้เคยถวายคำอธิบายพิพิธภัณฑ์นี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

    ๖. การกีฬา

    อาจารย์เป็นผู้กำเนิดวิชาสรีรวิทยาการออกกำลังกาย และวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาของประเทศไทย ท่านได้เริ่มค้นคว้าผลการออกกำลังกายในขนาดและปริมาณต่าง ๆ เพื่อนำการประยุกต์กับวิชาพลศึกษา ทำให้มีการเรียนการสอนถูกต้องตามหลักวิชาการและให้ประโยชน์อย่างแท้จริงได้ริเริ่มและเสนอการจัดตั้ง "ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา" ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ได้ลงมือทดสอบสมรรถภาพนักกีฬาเป็นครั้งแรกในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๐๙ ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของกีฬาเวชศาสตร์ในประเทศไทย

    อาจารย์ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจและกำลังความคิด ปรับปรุงศูนย์ ทั้งในด้านสถานที่, บุคลากร, อุปกรณ์ จัดหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ช่วยเหลือให้คำแนะนำทั้งในด้านการออกกำลังกาย, การฝึกกีฬา และการจัดพลศึกษาให้ถูกต้อง สมบูรณ์ตามหลักวิชาการและสันทนาการแห่งประเทศไทย และได้สนับสนุนอย่างดียิ่งทั้งด้านการให้คำปรึกษาในการดำเนินกิจการของสมาคม โดยทั่วไป เป็นวิทยากรในการประชุมทางวิชาแห่งชาติประจำปี ในการประชุมวิชาการระหว่างชาติ ท่านก็เป็นที่เชื่อถือของนักวิชาการจากต่างประเทศที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร และเข้าร่วมประชุม ท่านได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานที่มีผลงานดีเด่นทางพลศึกษา ในโอกาสการประชุมทางวิชาการสุขศึกษาพลศึกษาและสันทนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

    อาจารย์ครุ่นคิดอยู่เสมอที่จะชักจูงให้ประชาชนสนใจในการสร้างเสริมสุขภาพตนเองด้วยการออกกำลังกาย น้อยคนที่จะรู้ว่าการวิ่ง - เดินการกุศล นั้น อาจารย์เป็นผู้ริเริ่มขึ้น โดยไม่ได้หวังชื่อเสียงแต่อย่างไร การนี้ได้เริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๔ (เพื่อเป็นการเผยแพร่การออกกำลังกายแก่ประชาชน และได้กุศลในการนำเงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์) มีผู้ร่วมวิ่งหนึ่งร้อยเศษ ได้เงิน ๕๘,๒๐๐ บาท นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล อาจารย์ได้เริ่มเผยแพร่ออกไปยังต่างจังหวัด จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้บางครั้งได้กลายเป็นการแข่งขัน ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เดิมของอาจารย์ เพราะถ้าเป็นการแข่งขันเพื่อเอาชนะอาจเป็นอันตรายสำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกมาก่อน หรือฝึกซ้อมไม่สม่ำเสมอ

    ความเป็นครู และความเป็นหัวหน้า

    ตลอดชีวิตการทำงานของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ นั้นไม่ว่าจะอยู่ในราชการหรือหลังจากเกษียณอายุแล้ว ท่านคงความเป็นครูอยู่ตลอดในด้านการสอน ท่านจะต้องคำนึง ว่ามีผู้เรียนเป็นระดับใด ควรสอนลึกซึ้งเพียงไร การสอนนักศึกษาท่านสอนแต่เพียงพอความต้องการ สั้นง่าย ไม่ต้องลงรายละเอียดมาก แต่ก็ได้ประโยชน์เพียงพอ ก่อนการบรรยาย ท่านจะเขียนหัวข้อสำคัญไว้ในกระดานดำก่อน (คงจะเชยสำหรับสมัยนี้) นักศึกษา ต้องมาแต่เช้า คัดลอกลงสมุดไว้ก่อน ต่างคนต่างทำกันเอง ไม่ต้องมี "ฝ่ายวิชาการ" มาทำให้อย่างสมัยนี้ พอ ๘.๐๐ น. ท่านเข้ามาบรรยาย นักศึกษาก็ไม่ต้องจดตามกันทุกคำ เพราะการคัดลอกไว้ก่อนก็ทำให้รู้เรื่องไปครึ่งหนึ่งแล้ว อาจารย์บอกว่า คนเราต้องลงมือทำเอง นัยน์ตาดู มือจด หัวคิดตาม พอฟังคำบรรยาย ก็ได้สัมผัสทางหู ก็จะได้ประโยชน์กว่าการได้ "Sheet" ไปง่าย ๆ และยังทำให้ทุกคนต้องมาเช้าให้ทันเวลา อาจารย์บอกว่าคนจะเป็นแพทย์ต้องหัดทำตัวให้ตรงต่อเวลา

    ถ้าสอน "พวกครูน้อยในแผนก" ท่านจะให้ทำงานตั้งแต่เบื้องต้นขั้นต่ำสุด เพราะท่านบอกว่าถ้าทำงานตั้งแต่ระดับล่างไม่เป็น จะเป็น "นาย" เขาได้อย่างไร เมื่อเริ่มจะทำให้ "ครูน้อย" เป็นผู้บรรยาย แก่นักศึกษา ท่านก็ฟังบรรยายด้วย แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เริ่มสอนใหม่ ๆ รู้สึกประหม่า ท่านก็จะย่องมาตอนหลัง โดยที่ผู้สอนจะไม่ค่อยรู้ว่า อาจารย์ใหญ่แอบเข้ามาฟังเมื่อไร

    ความประหยัดของอาจารย์นั้นเป็นที่รู้กันดี การเลี้ยงปีใหม่แก่นักศึกษา ท่านเก็บเงินนักศึกษาคนละ ๑ บาท เพียงเพื่อให้สำนึกว่ามีส่วนในการจัดงาน พวกครูน้อยก็แล้วแต่จะให้ ไม่ต้องกะเกณฑ์ตามเปอร์เซนต์เงินเดือน อาหารมีข้าวราดแกง ใครกินเผ็ดไม่ได้ ก็มีไข่พะโล้ น้ำหวานเขียว-แดง โอเลี้ยง ชงกันเอง (น้ำหวานขวดไม่มี , แพงไป) ใช้กระทงใบตองแห้ง (ราคาถูกมาก สมัยนี้คงไม่มีแล้ว) ขนาดเล็กเพราะถ้าขนาดใหญ่ตักอาหารไปกินไม่หมดเสียของ เลี้ยงเสร็จช่วยกันเก็บทำความสะอาดเรียบร้อย ไม่ต้องจ้างคนงานให้เสียเงิน นึกถึงงานเลี้ยงปีใหม่เดี๋ยวนี้หมดเปลืองกว่ามาก เตรียมงานกันโกลาหล แต่ก็สนุกเท่ากัน แพทย์รุ่นน้องในสมัยนั้นบอกว่าเห็นกระทงใบตองแห้งทีไร นึกถึงอาจารย์หมออวย ทุกที!

    อาจารย์เป็นหัวหน้าที่ดี จัดการสมานสามัคคีในแผนกโดย "นำเที่ยว" เมื่อมีโอกาส ความเป็นนักกวีของท่านเป็นที่รู้กันดี ทั้งโคลงกลอน กวีนิพนธ์ ท่าน "นำเที่ยว" ครั้งใดต้องได้บทนิราศไว้ทุกครั้ง ในเรื่องบทเพลงแม้จะไม่ได้แต่งทำนองเพลง แต่ก็นิพนธ์คำร้องไว้ ไม่ใช่น้อย เพลงหนึ่งที่รู้จักกันดีและยังร้องกันอยู่เสมอในศิริราช คือ "เพลงสรรเสริญศิริราช" คนรุ่นหลังนี้คงไม่คิดว่าอาจารย์ได้เป็นผู้ประพันธ์ เพลงปลุกใจเกี่ยวกับความสามัคคีในศิริราชก็มี เช่น เพลงศิริราชสามัคคี (ทำนองโอลด์แลงชัยน์) , เพลงศิริราชรวมกำลัง (ทำนองเขมรไล่ควาย) , เพลงศิริราชเฮฮา (ทำนองเงี้ยว) และเพลงสรีรศาสตร์สามัคคี (ทำนองช้างประสานงา) เพลงเหล่านี้อาจจะเสื่อมจากความทรงจำถ้าไม่มีผู้ใดให้ความสนใจสืบต่อไป






    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  3. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์




    อาจารย์เป็นผู้รู้เรื่องสมุนไพร ทั้งสรรพคุณและโทษ จากนิราศรายทางท่านสุนทรภู่เขียนไว้ อาจารย์ได้นำมาเรียบเรียงเป็นคำกลอน "สุนทรภู่รู้สมุนไพร" ถึงสมุนไพรกว่าร้อยชนิด ในโอกาสสองร้อยปีแห่งท่านสุนทรภู่และเพื่อระลึกถึงอาจารย์ใหญ่ท่านชีวก ผู้เป็นต้นความรู้ฝ่ายแพทย์สมุนไพร (อวยนิมิตร ๓ หน้า ๘๗-๑๐๑)

    อาจารย์เป็นผู้มีความคิดรอบคอบ รู้วิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนะนำแก่ผู้ที่มาปรึกษาเมื่อมีปัญหาใด ๆ ในการทำงาน โดยท่านแนะนำให้ถือหลักดังนี้

    ศิษย์มีครู

    หากเกิดความรู้สึกว่างานนี้ยากนัก งานนี้หนักนัก ปัญหานี้ใหญ่หลวงนัก เราน่าจะทำไม่ได้ เราน่าจะทำไม่ไหว เราน่าจะแก้ไม่ตก พึงบอกแก่ตนว่า "เราเป็นศิษย์มีครู" แล้วการนั้นเราจักทำได้ แล้วการนั้นเราจักทำไหว แล้วปัญหาเรานั้นเราจักแก้ตก

    หากเกิดความรู้สึกว่ากรรมชั่วนี้เย้ายวนนัก เราน่าจะเสี่ยง ไม่พ้น พึงบอกแก่ตนว่า "เราเป็นศิษย์มีครู" แล้วความเย้ายวนนั้นเราจักเลี่ยงพ้น จะอยู่ในที่ใด ทุกเมื่อพึงระลึกคำนี้ "ศิษย์มีครู"

    อาจารย์หน้าที่ "ครู" ตลอดชีวิตการทำงานในความคิดของท่าน ครูควรต้องเป็นผู้ที่ยั่วแหย่ยุยงให้ศิษย์เกิดความมานะ บากบั่น หาความรู้ใส่ตัวจนเป็นผลสำเร็จ ครูคนใดมีปากน้อย ปากทื่อปล่อยลูกศิษย์ตามสบาย ไม่คอยแคะสะกิดสะเกา หรือทิ่มแทงเอาไว้บ้าง ครูคนนั้นลูกศิษย์อาจจะรักในระหว่างเรียน ว่าใจดี แต่เมื่อเขาเรียนจบไปแล้วคงจำได้ไม่แม่น และไม่เคารพนับถือ เท่าครูที่เคยทำให้เขาเกรงใจ และกลัว หรือแม้บางครั้งเกลียด อาจารย์ถือว่า "ครูดีตีเก่ง" น่าจะเป็นคติเหมาะสมสำหรับทุกคน "ครูแท้" ต้องทำให้ศิษย์เกิดความรู้ชนิดดี ชนิดถูกต้อง ครูต้องเป็นผู้มีพรหมวิหาร ๔ ให้ความรู้แก่ศิษย์อย่างสิ้นเชิงโดยไม่ปิดบัง และให้การสนับสนุนศิษย์โดยสมควรแก่กรณี

    โดยปกติอาจารย์เป็นผู้มีสุขภาพดี แต่มีโรคประจำอยู่อย่างหนึ่ง คือ ความดันโลหิตค่อนข้างสูง ท่านมีวิธีออกกำลังกายเพื่อบำรุงสุขภาพอยู่เป็นประจำ บรรดาศิษย์ก็มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ ได้ขอให้ท่านเพลางานลง และพักผ่อนเสียบ้าง แต่ท่านก็คงทำงานต่อไปเช่นเดิม ท่านให้ตรวจร่างกายเป็นครั้งคราว รับยาตามความจำเป็น ทำสมาธิโดยสม่ำเสมอ แต่ท่านก็เห็นชีวิตเป็นอนิจจัง ท่านสนใจสุขภาพอนามัยของคนอื่น แต่เอาใจใส่ตนเองน้อยกว่า การทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ ๖๐ ปี คงทำให้ร่างกายท่านล้า ท่านล้มป่วยลงด้วยเส้นเลือดแตกในสมอง หมดสติ ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชได้รับการผ่าตัดโดยลูกศิษย์ ของท่านเอง ทุกคนเป็นห่วงให้ความดูแลท่านอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ทุกคนเป็นกำลังใจให้ อาการมีแต่ทรงกับทรุด และหลังจากเข้ารับการรักษาที่ศิริราชนาน ๑๙ วัน ท่านก็จากไปโดยสงบ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ สิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑๗ วัน การจัดงานศพของท่านได้รับพระมหากรุณา รับไว้พระบรมราชานุเคราะห์

    เมื่อบรรดาศิษย์จัดงานฉลองครบอายุครบ ๘๐ ปี อาจารย์หวังที่จะลงมือ "โครงการอนามัย" เป็นการกุศลใหญ่ยิ่งที่สุด โดยหวังว่าโครงการนี้จะส่งผลไปถึงประชาชนส่วนใหญ่ ท่านก็ได้เพียงเริ่มต้นไว้ ในวาระนั้น ด้วยความเป็นคนอารมณ์ขัน อาจารย์ได้ปรารภว่า ถ้ามีอายุครบ ๑๐๐ ปี จะมีใครช่วยจัดงานให้ อีกหรือเปล่า ท่านก็ไม่ต้องรอจนถึงวันนั้นอีกแล้ว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดให้มีการบรรยายระลึกถึง "งาน-ชีวิตจิตใจของท่านหมออวย" ในการประชุมใหญ่ทางวิชาการประจำปี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และใน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งครบ ๙๐ ปี ของอาจารย์ กระทรวงศึกษาธิการ ต้นสังกัดแรกของอาจารย์ ก็จะจัดทำ "ประวัติครู" เผยแพร่เกียรติประวัติ และยกย่องเทิดทูนประกอบคุณงามความดีเป็นแบบอย่างสำหรับครูปัจจุบันได้ยึดถือปฏิบัติ

    อาจารย์ได้ปรารภทำตัวให้สมชื่อ " อวย " ดังที่ท่านได้ประพันธ์โคลงสี่สุภาพเองว่า

    อวย ทรัพย์จับจ่ายเกื้อ
    กูลชน ยากแฮ
    อวย นิวาสไว้คน
    คฤห์ไร้
    อวย สติแก่ผู้มล
    โมหะ
    อวย วิทย์ศิลปะให้
    โลกรู้ เจริญศิลป์

    ผู้เขียนประวัติ

    ศาสตราจารย์แพทย์หญิง นันทา ติตถะสิริ, รองศาสตราจารย์นายแพทย์กรุงไกร เจนพานิชย์

    ต้นฉบับบทความ จาก

    ศาสตราจารย์นายแพทย์นรา แววศร

    เอกสารอ้างอิง

    ๑. ประวัติข้าราชการ มหาวิทยาลัย

    ๒. หนังสือ อวยนิมิต ๑ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๑๑)

    ๓. หนังสือ อวยนิมิต ๒ ๖๑-๗๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๓๓) โรงพิมพ์ไทยเขษม ถนนเฟื่องนคร กทม.

    ๔. หนังสือ อวยนิมิต ๓ ๗๓-๘๐ (พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๓๐) ไทยมิตรการพิมพ์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร.

    ขอขอบคุณ เนริศา เอกปัชชา

    ปี 2 โปรแกรม สุขศึกษา

    มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้พิมพ์ต้นฉบับ




    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  4. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์



    ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์

    เกร็ดประวัติในส่วนที่เกี่ยวกับท่านอาจารย์ขาว อนาลโย
    โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 005588 โดยคุณ : ยุ [ 25 มิ.ย. 2545 ]

    เนื้อความ : คัดมาจากหนังสือของคุณทองทิว สุวรรณทัต

    ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์เป็นนายแพทย์ผู้ทรงวุฒิเป็นเยี่ยมด้วยการจบวิชาเคมีชั้นสูงจากเยอรมัน ท่านเคยรักษาพยาบาล ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่ขาว อนาลโยอย่างใกล้ชิดจวบจนท่านถึงแก่มรณภาพอย่างหาศิษย์ผู้ใดจะมีโอกาสได้รับใช้ปรนนิบัติพยาบาลพระอริยเจ้าเสมอเหมือนไม่ อันถือว่าเป็นมหาบุญมหากุศลอย่างที่สุดแล้ว

    และด้วยความกรุณาที่ท่านเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงประสบการณ์ตอนหนึ่งที่ท่านพบเห็นมาจากปฏิปทาของ หลวงปู่ขาว อนาลโย ผู้เขียนจึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ เพื่อเป็นที่ระลึกด้วยความเคารพรักและอาลัยจากผู้เขียนที่มีต่อ ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ หรือ พี่หมอ ของผู้เขียน ณ โอกาสนี้

    ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง ถึงการได้เข้านมัสการหลวงปู่ขาวครั้งแรกที่วัดถ้ำกลองเพล ว่าประทับใจเป็นอย่างมาก หน้าตาของหลวงปู่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา น่าเคารพกราบไหว้เหลือเกิน

    "เสียอย่างเดียวเราฟังหลวงปู่พูดไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ท่านพูดโอภาปราศรัยเป็นคำพื้นเมืองเสียมาก ไม่ค่อยพูดภาษากลาง"

    พี่หมอบอกต่อมาอีก 4-5 ปี หลังจากพี่หมอกับคณะขึ้นไปเยี่ยมท่านเป็นครั้งที่สองแล้ว พี่หมอกับคณะได้จัดกฐินไปทอดที่วัดป่าบ้านตาด ในครั้งนี้มี ท่านเจ้าคุณธรรมจินดาภรณ์ (สมณศักดิ์ในสมัยนั้น) วัดราชบพิธฯ ท่านสนใจในธรรมและคุ้นเคยกับพี่หมอมากได้ขอไปด้วย ท่านอยากจะพบ ท่านอาจารย์ขาว เพราะได้ยินชื่อมานาน แต่ไม่เคยพบปะสนทนากัน พร้อมกันนั้นก็มีแหม่มชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งกำลังเรียนภาษาไทยที่ วาย.เอ็ม.ซี.เอ แต่พูดภาษาไทยไม่ได้เลย ขอติดตามไปด้วย

    พี่หมอยินดีที่จะพา ท่านเจ้าคุณธรรมจินดาภรณ์ และแหม่มไปทอดกฐินที่วัดป่าบ้านตาดแล้วจะนำไปนมัสการ หลวงปู่ขาวตามความประสงค์ แต่ได้บอกกล่าวไว้ล่วงหน้าว่า หลวงปู่ท่านพูดภาษาพื้นเมือง ไม่ค่อยพูดภาษากลางเกรงจะฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อคณะของพี่หมอทอดกฐินเรียบร้อย ได้ออกเดินทางไปยังวัดถ้ำกลองเพลทันที

    และแล้วพี่หมอกับคณะก็ได้พบสิ่งมหัศจรรย์ไม่คาดฝันนั่นก็คือ หลวงปู่ขาว ได้ออกมาต้อนรับเป็นอันดีด้วยการพูดจาปราศรัยเป็นภาษาไทยภาคกลางอย่างชัดเจนไม่ผิดไม่เพี้ยนแม้แต่คำเดียวนอกจากนั้น หลวงปู่ยังได้แสดงธรรมสอนเรื่องสติเป็นเวลานานประมาณ 20 นาที

    ท่านเริ่มต้นว่า

    "โดยทำนองเดียวกันที่รอยเท้าของบรรดาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้อาจจะรวมลงไปในรอยเท้าของช้าง พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ก็อาจรวมลงได้ในธรรมข้อเดียวคือ สติ! "

    จนพี่หมอกล่าวว่า

    "ธรรมนั้นช่างซาบซึ้งจนน้ำตาไหล มันกระจ่างไปหมด"

    ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นก็คือแหม่มชาวอังกฤษที่พูดไทยไม่ได้เลย บอกพี่หมออวยว่า เธอเข้าใจในธรรมที่หลวงปู่แสดงโดยตลอด!อยู่มาวันหนึ่งมีโทรศัพท์ทางไกลจากอุดรฯ แจ้งว่าหลวงปู่อาพาธหลายวันแล้ว ไม่มีใครรักษา พี่หมอทราบดังนั้นก็รีบโทรศัพท์ทางไกล ติดต่อหัวหน้าหน่วยแพทย์ศิริราชที่ไปปฏิบัติราชการที่หนองบัวลำภู ขอให้ช่วยไปดูอาการของหลวงปู่ด้วย และในตอนเย็นวันนั้น พี่หมอนึกสังหรณ์ใจอย่างไรไม่ทราบ จึงปุปปัปขึ้นรถไฟไปอุดรฯ ทันที

    และความสังหรณ์ใจของพี่หมอในครั้งนั้นได้ช่วยชีวิตหลวงปู่ขาวไว้ได้อย่างหวุดหวิดเต็มที เพราะเมื่อไปถึงอุดรฯ ก็ปรากฏว่ามีลูกศิษย์ผู้มีฐานะมั่งคั่งคนหนึ่งของหลวงปู่ กำลังจะพาไปรักษาที่หนองคาย ซึ่งห่างออกไปถึง 100 กิโลเมตร ทั้งเป็นระยะทางที่ขรุขระ เกินกว่าที่หลวงปู่จะทนทานได้และคงมรณภาพกลางทางเป็นแน่แท้

    พี่หมอจึงคัดค้านและอาสาจะอยู่รักษาหลวงปู่ที่ถ้ำกลองเพลเอง

    ในการรักษาหลวงปู่ขาวที่อาพาธหนักครั้งนี้ พี่หมออวยได้สละเลือดของท่านเป็นจำนวน 350 ซี.ซี ให้หลวงปู่ทันที เพราะหลวงปู่กำลังซีดมาก ทั้งเลือดของท่านอยู่ในกรุ๊ปโอ ไม่สามารถจะรับการถ่ายเลือดจากกรุ๊ปอื่นๆ ได้นอกจากกรุ๊ปโอด้วยกัน และจำเพาะพี่หมอเองก็มีเลือดกรุ๊ปโอ เช่นเดียวกับหลวงปู่ ท่านจึงค่อยยังชั่วจากการอาพาธ แต่ก็ยังไม่หายทีเดียว

    พี่หมอต้องเทียวไป-มาระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรฯ มิได้ขาด จนอยู่มาวันหนึ่ง พี่หมอเดินไปเที่ยวบนภูเขาหลังวัด แล้วเผอิญเหลือบไปเห็นหินก้อนใหญ่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวก้อนหนึ่ง มีต้นไม้ปกคลุมอยู่ ท่านจึงบุกเข้าไปใกล้ๆ ให้ถนัดตา จึงเห็นหินก้อนบนชะเงื้อมออกมา ในใจนึกว่าจะทำพระฉาย และในที่สุดเมื่อตกลงใจจะทำพระฉายบนหินก้อนนั้นอย่างแน่นอนแล้ว พี่หมอจึงพนมมืออธิษฐานต่อเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอให้หลวงปู่ขาวหายจากอาพาธในครั้งนี้ แล้วจะมาสร้างพระฉายบนก้อนหินใหญ่ให้สำเร็จด้วยมือของตนเอง!

    อีกไม่กี่วันต่อมาหลวงปู่ขาวก็หายจากอาพาธพอดีกับพี่หมอต้องไปประชุมที่ประเทศเยอรมัน จึงไปแวะหาเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นศิลปินจบการสลักหิน ได้ปรึกษาและขอให้เขาช่วยสอนให้ทั้งๆ ที่มีเวลาเหลือเพียงสามวันเท่านั้น เพื่อชาวเยอรมันผู้นั้น หยิบเอาดินเหนียวก้อนหนึ่งมาแผ่ให้เป็นแผ่น แล้วบอกให้พี่หมอลองทำรูปพระที่จะปั้นให้เขาดู พี่หมอก็เอาดินเหนียวมาทำรูปพระ

    เขาดู ๆ แล้วบอกว่า ได้! ทั้งสอนว่า ถ้าจะทำรูปอะไรให้ทำแบบเล็ก ๆ ไว้ก่อน แล้วขยายไปทำที่ก้อนหินและเพื่อนชาวเยอรมันยังได้ซื้อเครื่องมือสลักหินส่งมาให้ชุดหนึ่งในภายหลัง

    ด้วยเจตนาอันแน่วแน่ที่จะสร้างพระฉายตามคำที่อธิษฐานไว้ พี่หมอได้ไปสมัครทำงานในหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของศิริราชที่หนองบัวลำภู มีกำหนดเวลาปฏิบัติราชการ 15 วันครั้นใกล้วันวิสาขบูชา พี่หมอตั้งใจจะลงมือในวันนั้น จึงกราบเรียนหลวงปู่ขาว ขออนุญาตอีกครั้งหนึ่ง และพอวันวิสาขะมาถึง พี่หมอก็ลงมือโดยมีพระช่วยกันสร้างนั่งร้านให้เท่านั้น

    ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผาในยามบ่าย สุภาพบุรุษผู้จบวิชาแพทย์ของประเทศไทย และวิชาเคมีชั้นสูงจากเยอรมันนีผู้ซึ่งไม่เคยมีความรู้ทางสลักหินมาก่อน ปืนขึ้นไปยืนบนนั่งร้านที่มีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่ ลงมือตอกสลักบนเนื้อหินที่แข็งแกร่งตามหน้าผาแต่ละชิ้น ด้วยข้อลำของตนเองทุกวัน อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า รวมเป็นเวลาทำงานทั้งหมด 125 ชั่วโมง จึงได้พระฉายที่งดงาม สลักเสลาอยู่บนหินก้อนนั้นสมดังคำอธิษฐาน

    พระลูกศิษย์ของหลวงปู่แอบมาเล่าให้พี่หมอฟังว่า ระหว่างที่พี่หมอกำลังดำเนินงานการสร้างพระได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ หลวงปู่ขาว จะออกมานั่งสมาธิเบื้องหน้าหินก้อนที่พี่หมอจะสลักเป็นประจำ!

    ชีวิตของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งอุทิศเวลาให้แก่ประเทศชาติศาสนามาค่อนชีวิต อันควรแก่การคารวะจากชนทุกชั้นได้จบสิ้นแล้วในคืนวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2533 จึงไม่แปลกอะไรเลยที่เมื่อ ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ใกล้หมดลม ได้มีผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งทำสมาธิแล้วเห็น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย มายืนใกล้ ๆ เตียงคนไข้ ! พระอริยเจ้าทั้งสองท่านมาคอยรับลูกศิษย์ของท่านเพื่อพาไปสู่สรวงสวรรค์เบื้องบนนั่นเอง !

    จากคุณ : ยุ [ 25 มิ.ย. 2545 ]

    ความคิดเห็นที่ 14 : (dhamma2001)

    ชื่อพระพุทธฉายองค์นั้นคือ พระพุทธบัณฑรนิมิต ครับ

    จากคุณ : dhamma2001 [ 27 มิ.ย. 2545 ]






    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  5. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์




    ผลแห่งบุญ (หลวงปู่ขาว)

    โพสท์ใน http://www.thaimisc.com/ กระทู้ที่ 00260 โดย ยุ [14 ส.ค. 2545 ]



    คัดจากหนังสือของคุณทองทิว สุวรรณทัต

    หนังสือ “อนาลโยวาท” อันเป็นหนังสือรวมคำสั่งสอนของหลวงปู่ขาว นั้นมีค่าที่สุด และที่หาอ่านได้ยากคือ ภาคผนวก ที่เขียนเป็นบทส่งท้ายโดยท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อวย ผู้ล่วงลับไปแล้ว จากการที่พี่หมออวยได้ใกล้ชิดกับหลวงปู่เป็นพิเศษเนื่องจากเป็น “หมอประจำพระอาจารย์ขาว” ท่านจึงมี เรื่องของหลวงปู่ขาวที่ยังไม่มีใครทราบอยู่หลายเรื่องมาเล่าให้ฟัง ดังจะขอถ่ายทอดแก่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

    พี่หมออวย (ขอเขียนตามสรรพนามที่ผู้เขียนเรียกท่าน) กับคณะได้เดินทางไปศึกษา “ชีวิตพระป่า “เมื่อ พ.ศ. 2505 และได้มีโอกาสไปนมัสการหลวงปู่ขาว ที่วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี โดยคำแนะของ คุณสิรี อึ้งตระกูล แล้วได้ฟังเทศน์เป็นธรรมะสั้น ๆ จากหลวงปู่ แต่เพราะท่านพูดคำพื้นเมืองเป็นส่วนมาก พี่หมอกับคณะ จึงฟังออกบ้างไม่ออกบ้างในครั้งแรก

    หลังจากนั้น ถ้าพี่หมอไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าบ้านตาดก็จะต้องเลยไปนมัสการหลวงปู่ขาวด้วยทุกครั้ง และท่าน เทศน์โปรดพี่หมอกับคณะทุกครั้ง จนกระทั่งถึง พ.ศ.2509 พี่หมอกับคณะไปทอดกฐินที่ วัดหนองแซงของพระ อาจารย์บัว โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดาภรณ์ (สมณศักดิ์ในสมัยนั้น) ร่วมไปด้วย ท่านเจ้าคุณท่านอยากไป นมัสการหลวงปู่ขาวเพราะยังไม่เคยพบ จึงขอให้พี่หมอพาไปวัดถ้ำกลองเพล พี่หมอก็ตกลงไป ภายหลังที่ ทอดกฐินแล้ว ทั้งนี้มีสุภาพสตรีชาวอังกฤษผู้หนึ่งอยู่ในคณะ

    ในระหว่างเดินทาง พี่หมอได้กราบเรียนท่านเจ้าคุณว่า

    “ท่านอาจารย์ท่านมีเมตตามาก เราไปนมัสการท่านที่ไรท่านก็เทศน์ให้ฟังทุกครั้ง เสียแต่ท่านพูดภาษาอีสาน พวกเรา ฟังไม่ใคร่ออก”

    พอคณะของพี่หมอไปถึง กราบเรียนเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ก็ลงมือเทศน์เป็นภาษาไทยกลางอย่างชัดถ้อยชัดคำ

    ท่านเริ่มต้นว่า

    “โดยทำนองเดียวกับที่รอยเท้าของบรรดาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้อาจจะรวมลงไปในรองเท้าของช้าง พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ก็อาจรวมลงได้ในธรรมข้อเดียวคือ สติ! “

    พี่หมออวยเล่าในหนังสือ “อนาลโยวาท” ว่าตัวพี่หมอเองถึงน้ำตาไหล ด้วยความปิติในความกระจ่ายแจ้งของ ธรรมะที่หลวงปู่แสดงในวันนั้น และที่น่าประหลาดก็คือ สุภาพสตรีชาวอังกฤษซึ่งเพิ่งมาอยู่เมืองไทยได้ 6 สัปดาห์ ก็พลอยเข้าใจในคำเทศน์ของ หลวงปู่

    ครั้งหนึ่งพี่หมอไปเยี่ยมหลวงปู่ตามปกติ โดยเข้าทางหลังกุฏิเผอิญเห็นถังน้ำมัน 200 ลิตร ถังหนึ่งตั้งอยู่ริม กำแพงในสภาพบุบบิบ มีตัวหนังสือเขียนด้วยสีขาวว่า “ถังช้างเหยียบ” พี่หมอสงสัยเที่ยวสอบถามพระเณรดู ได้ความว่า

    ก่อนหน้านี้ไม่เท่าไหร่ หลวงปู่ขาวท่านระลึกถึงช้างพลายใหญ่เชือกหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าโขลงช้างอยู่ใน ป่าหลังเขาเคยเข้ามาเที่ยวในวัดประจำ หลวงปู่ว่าท่านคุ้นเคยกับช้างเชือกนั้น แต่ตอนหลังนี้ห่างไป ไม่ได้มาให้ เห็นอีก

    ค่ำวันหนึ่งหลวงปู่ปรารภดัง ๆ ว่า ช้างของเราหายไปไหนนะ ไม่เห็นมานานแล้ว จะถูกใครเขาฆ่าตายเสียแล้วกระ มั้ง ตกดึกคืนนั้นหลวงปู่ก็ต้องตกใจตื่น เพราะกุฏิคลอน และมีเสียงใครเอาอะไรมาถูเสียดสีที่ข้างฝา ท่านร้อง ถามออกไปว่าใคร ก็ไม่มีเสียงตอบ แล้วอะไรก็เงียบไป พอตื่นเข้ามีผู้เห็นถังน้ำมันใบนั้นตั้งอยู่ใกล้กุฏิในสภาพ บุบบู้บี้ ก็รู้กันว่าในตอนดึก “ช้างหลวงปู่” ได้มารายงานตัวให้ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ และเอาสีข้างถูผนังกุฏิ ให้รู้ว่ามา พร้อมทั้งเหยียบถังน้ำมันทิ้งไว้เป็นที่ระลึกด้วย

    พี่หมอเล่าว่า หลวงปู่มีบารมีพิเศษเกี่ยวกับช้าง ในชีวประวัติของท่าน มีเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างท่านธุดงค์ไปกับ ท่านพระอาจารย์มั่นและสหธรรมิกบางรูป ในดินแดนของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะไปถึงทางเลียบไหล่เขาแห่ง หนึ่ง บังเอิญพบช้างใหญ่ขวางอยู่ ท่านพระอาจารย์มั่นคงจะมีญาณทราบคุณธรรมอันพิเศษของหลวงปู่เกี่ยว กับช้าง จึงส่ง “ท่านขาว” ไปเจรจาขอทาง

    หลวงปู่จึงเดินไปใกล้ช้างแล้วพูดเรียบ ๆ ว่า

    “อ้าย อ้ายตัวใหญ่โต ข้อยตัวเล็กน้อย พวกข้อยจะพากันไปปฏิบัติธรรม แต่ข้อยกลัว ขออ้ายเปิดทางให้ด้วย เถิด”

    ช้างเชือกนั้นฟังแล้วก็หัวหน้าซุกกับก้อนหิน เปิดทางให้ผ่านแต่โดยดี

    ผู้ที่ทราบเรื่องนี้ เชื่อกันว่าในชาติหนึ่งหลวงปู่เคยเป็นช้างชั้นผู้ใหญ่มาก่อน พระเณรที่วัดถ้ำกลองเพลบอกว่า หลวงปู่สามารถจะเรียกข้างมาได้ถ้าท่านต้องการ

    คราวหนึ่ง มีคณะสุภาพสตรีจากกรุงเทพฯ ไปแวะนมัสการ และนำร่ม 6 คัน ถวายหลวงปู่ ท่านรับประเคนแล้ว พูดหัวเราะ ๆ ว่า

    “ของเหลือมาซีนะ”

    คณะทายิกาสะดุ้งไปตาม ๆ กัน ทำไมหลวงปู่รู้ว่าเป็นของเหลือ เพราะความจริงคณะได้ตระเวนไปตามวัดกรรม ฐานมาแล้วหลายวัน และถวายร่มวัดละ 12 คัน มาถึงวัดถ้ำกลองเพลยังเหลืออยู่เพียง 6 คันจึงถวายท่าน เป็น ของเหลือจริง ๆ

    วันหนึ่งมีชายแปลกหน้าคนหนึ่ง เป็นคนวัยฉกรรจ์ ขอเข้านมัสการหลวงปู่ พอได้พบก็ตรงเข้าไปกราบที่เท้า แล้วเอ่ยปากขอบพระคุณท่านที่ช่วยเขาให้พ้นจากโทษมหันต์ ทุกคนงงงันไปหมด เพราะไม่เคยเห็นหน้าผู้นั้นมา ก่อน แต่หลวงปู่นั่งฟังโดยดุษฎีภาพ ชายผู้นั้นเล่าว่า เขาเป็นทหารไปรบที่ประเทศลาวอยู่นาน พอกลับบ้าน รู้เรื่องภรรยานอกใจ ก็เตรียมปืนจะไปยิงให้ตายทั้งชายชู้ด้วย ได้ไปแวะร้านเหล้าดื่มจนเมาหลับไป แล้วฝันว่า มีพระแก่รูปหนึ่งมาขอบิณฑบาตความอาฆาตโกรธแค้น และเทศนาให้ฟังถึงบาปกรรมของการฆ่า เขาตาย จนชายคนนั้นยอมยกความพยาบาทให้ และถามพระเถระนั้นว่าท่านชื่อว่าอะไร มาจากไหน พระบอกว่า “เราชื่อ ขาว มาแต่เมืองอุดรฯ” พอตื่น ชายคนนั้นก็ตัดสินใจออกเดินทางเสาะหาหลวงปู่จน ได้พบวัด หลวงปู่ฟังจบแล้วอนุโมทนา และอบรมต่อไป จนชายผู้นั้นเกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรม จนตัดสินใจออก บวชในเวลาต่อมา

    โดย ยุ [14 ส.ค. 2545 , 23:56:01 น.]




    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  6. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์




    อุดมการณ์ทางการแพทย์

    ของท่านอาจารย์หมออวย เกตุสิงห์

    ดร.ชาตรี ศรีเสริมวงศ์



    ข้อมูลจาก http://www.thaiherbclub.com/

    ผู้เขียนเคยได้ยินกิตติศัพท์ทางการแพทย์ของท่านอาจารย์หมออวยมานาน และรู้สึกเลื่อมใสในภูมิปัญญาและอุดมการณ์ทางการแพทย์ของท่าน ตั้งแต่ท่านได้ไปศึกษาต่อทางการแพทย์ ณ ประเทศเยอรมันนี แต่ผู้เขียนไม่เคยเห็นหน้าและรู้จักท่านเป็นการส่วนตัวเลย จนกระทั่งในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ผู้เขียนได้เดินทางไปจังหวัดอุดรธานี เพื่อกลับกรุงเทพ ฯ โดยทางรถไฟได้พบสุภาพบุรุษ สูงอายุผู้หนึ่ง ร่างสูงโปร่ง ท่าทางทะมัดทะแมง แฝงไว้ด้วยความเอาจริงเอาจัง แต่อารมณ์ดี

    ผู้เขียนในฐานะผู้อาวุโสรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงทักทายคาราวะท่านด้วยความอ่อนน้อมแบบวัฒนธรรมไทยเพราะบังเอิญได้นั่งติดกัน และเมื่อใกล้ค่ำ พนักงานบริการก็มาปรับที่นั่งให้เป็นที่นอน ซึ่งปกติท่านจะต้องนอนชั้นบน ผู้เขียนได้นอนชั้นล่าง แต่ผู้เขียนเห็นว่าผู้เขียนควรจะขึ้นไปนอนชั้นบนมากกว่าจึงเรียนท่านว่า เปลี่ยนที่กันเถอะครับ ท่านกล่าวยิ้ม ๆ ว่าอย่านอนเลย มานั่งคุยกันชั้นล่างดีกว่า ผู้เขียนรู้สึกดีใจมากที่ท่านได้เสนอไมตรีอันดีงาม จึงรีบตอบรับ และดีใจมากไปอีกเมื่อทราบว่าท่านคือ ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ นั่นเอง

    หลังจากได้แนะนำตัวซึ่งกันและกันจึงได้ทราบว่า ต่างก็เป็นลูกศิษย์พระป่าทางอีสานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ด้วยกัน ผู้เขียนเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน มานานพอสมควรจึงเดินทางไปปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด เป็นประจำเกือบทุกสัปดาห์ก็ว่าได้ ปี ๒๕๒๔ ได้มีโอกาสบวชเป็นภิกษุและได้อยู่ปฏิบติธรรมกับพระอาจารย์มหาบัวระยะหนึ่ง หลังจากลาสิกขาแล้ว ผู้เขียนก็ได้เดินทางมาวัดเป็นประจำมิได้ขาด เนื่องจากภารกิจของผู้เขียน มีมาก เช่น เป็นอาจารย์พิเศษ และกรรมการในองค์กรเอกชนหลายแห่งจึงมิได้มีโอกาส อยู่ปฏิบัติที่วัดได้นาน

    ส่วนท่านอาจารย์หมออวย มีประสบการณ์ทางวัดป่าสายหลวงปู่มั่นมากกว่าผู้เขียนมากมายนัก ซึ่งท่านได้เล่าถึงการปฏิบัติธรรมและดูแลรักษาสุขภาพ ครูบาอาจารย์ต่าง ๆ หลายรูปด้วยกัน อาทิ เช่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่เทสก์ และท่านอาจารย์มหาบัว เป็นต้น ท่านเลื่อมใสพระสายหลวงปู่มั่นเป็นอย่างยิ่ง ท่านประทับใจการปฏิบัติธรรมแบบมักน้อย สันโดษ เอาจริง เอาจังต่อการปฏิบัติธรรม อย่างไม่ลดละเพื่อมุ่งหวังมรรคผล นิพพานอย่างแท้จริง

    การคุยกับท่านอาจารย์หมออวยในครั้งนี้ออกรสอย่างยิ่ง เพราะคุยกันถูกคอเหลือเกินเพราะความคิดคล้ายคลึงกันมากมี ทัศนคติโน้มเอียงไปทางวิมุตินิยม จึงทำให้ไม่รู้สึกง่วงนอนเลย ช่วงหนึ่งท่านได้ปรารภถึงการแพทย์ประเทศไทย ท่านได้ให้ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ต่อสังคมไทยแก่ผู้เขียน และอธิบายถึงผลกระทบต่อสังคมไทยด้านต่าง ๆ อาทิ เช่น ด้านเศรษฐกิจประเทศไทยต้องสั่งซื้อยาประเภทต่าง ๆ และเครื่องมือทางการแพทย์ปีหนึ่งเป็นแสน ๆ ล้าน

    ด้านประสิทธิภาพทางการบำบัดรักษาโรค ซึ่งยาที่ส่งมาจากต่างประเทศ มักเป็นยาสังเคราะห์มักมีผลข้างเคียงตามมาเป็นลูกโซ่ ผู้เขียนเรียนถามว่า ใคร ๆ ก็ ทราบปัญหานี้ดีแต่ไม่มีใครคิดจะแก้ไขหาทางออกที่ดีให้แก่ประเทศชาติอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนเลย คิดว่าคงไม่มีทางแก้ไขได้ และอีกประการหนึ่งค่านิยมของคนไทยมักนิยมของต่างชาติ

    ท่านอาจารย์หมออวยทำหน้าตาขึงขัง พูดเอาจริงเอาจังว่า ผมว่ามีทางและผมกำลังทำโครงการนี้อยู่ ถ้าไม่รังเกียจผมจะขอไปปรึกษารายละเอียดโครงการนี้ต่อกันที่กรุงเทพ ฯ ผู้เขียนเรียนถามว่าโครงการอะไร ท่านกรุณาอธิบายว่า ยาไทยหรือสมุนไพรไทยก็มีคุณค่ามหาศาล ในอดีตสังคมไทยได้อาศัยสมุนไพรไทยรักษา บำบัดโรคภัยไข้เจ็บอย่างมีประสิทธิภาพมาตลอด หมอไทยดี ๆ มีคุณภาพก็มีไม่น้อยตำรายาดี ๆ ก็มีมากสืบต่อกันมาหลายชั่วคน จุดเด่นของยาสมุนไพรคือ "มีประโยชน์ยอด และประหยัดยิ่ง" ถ้าได้ศึกษา รวบรวมจะทำวิจัยอย่างจริงจังเป็นระบบ จะขจัดข้อบกพร่องและข้อจำกัด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่าง ๆ ได้

    วิธีการบำบัดรักษาโรคอีกวิธีหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพเด่นมากไม่แพ้ประเทศใดในโลกนั่นก็คือการนวดแบบไทย

    ซึ่งมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ

    การนวดแบบราชสำนัก (เน้นการรักษาโดยเฉพาะ)

    การนวดแบบเชลยศักดิ์ (นวดแก้เมื่อยทั่วไป)

    การนวดแบบไทยแบบแรกนั้น มีคนรู้จริงน้อยเพราะ คนรุ่นก่อนที่อยู่ในราชสำนักจะหวงแหตนมากเพราะผุ้เพราะแพทย์ ทำการนวดนั้น จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ หลายประการ อาทิเช่น รู้จักมารยาทในการเข้าเจ้าเข้านาย

    มีจรรยาบรรณทางการแพทย์แบบวัฒนธรรมไทย มีความรักและภูมิใจในอาชีพ เน้นการ บำบัดโรคมากกว่าผลประโยชน์ คือ เป็นหมอแท้ด้วยจิตและวิญญาณนั่นเอง การมีอุดมการณ์ เช่นนี้ไม่ใช่ของง่าย

    ท่านจึงได้คิดโครงการนี้ขึ้นมาตามอุดมการณ์ทางการแพทย์ของท่าน ท่านได้ใช้ประสบการณ์ และภูมิปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญอย่างละเอียดรอบคอบ จึงทำให้โครงกานนี้เกิดขึ้นมาเรียกว่า "แพทย์อายุรเวท" ซึ่งมีหลักการย่อย ๆ ดังนี้

    ๑. จะต้องมีสถาบันรองรับ นั่นก็คือวิทยาลัยทางการแพทย์ อายุรเวท

    ๒. สร้างหลักสูตรการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย คือ ได้แพทย์อายุรเวทที่มีคุณภาพ กล่าวคือ

    - มีอุดมการณ์ทางการแพทย์

    - มีจริยธรรมทางการแพทย์ หรือสำนึกในจรรยาบรรณนั่นเอง

    - มีพื้นความรู้อย่างน้อย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ทางวิทยาศาสตร์

    - ศึกษาส่วนที่เป็นประโยชน์ทางกาพื้นฐานการแพทย์อย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยผสมผสานจุดเด่นทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ดับจุดเด่นทางการแพทย์ แผนไทย ให้กลมกลืนเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมไทย เพื่อเป็นแนวทางเลือกอีกทางหนึ่งในการบำบัดรักษาโรค

    ๓. จะต้องมีครูบาอาจารย์ที่ดีมีความสามารถในทางแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทยเพื่อถ่ายทอด ความรู้ทางทฤษฎี และภาคปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้แพทย์อายุรเวทที่มีคุณภาพ

    ๔. จะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อายุรเวทได้ โดยมีใบประกอบโรค ศิลปะ เป็นเครื่องรับรอง

    ๕. โครงการ จะต้องมีทุนทรัพย์เพียงพอในการเนินการ ฮะนั้นควรจะต้องมีมูลนิธิของสถาบันรองรับในระยะยาว

    ๖. ปรัชญา เป้าหมายของแพทย์อายุรเวท คือผลิตแพทย์อายุรเวทที่ดีมีคุณภาพ เพื่อรับใช้สังคมไทย ทุกชั้นวรรณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมกลุ่มล่างซึ่งมีรายได้น้อย และกลุ่มเป้ราหมายที่แท้จริงก็คือ ชุมชนในชนบทห่างไกล ซึ่งกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ เพราะเขาเหล่านั้นก็คือคนเหมือนกัน สมควรที่จะได้รับการอนุเคราะห์ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน แน่วแน่และสูงสุด

    ท่านอาจารย์เน้นว่า ผมอยากได้ไหมอไทยแท้ ๆ ที่มีอุดมการณ์และจรรยาบรรณทางการแพทย์อย่าสงแท้จริงมีความเสียสละและซื่อสัตย์อย่างสูงต่ออาชีพ มีจิตสำนึกในทางเมตตา ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เปรียบเหมือนบิดา มารดา ของเรา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่คำนึง ถึงผลประโยชน์จนทำลาย อุดมการณ์ทางการแพทย์ได้ อุดมการณ์นั้นกินได้ มีรสหอมหวานมาก มีผลตอบแทนทาง ด้านจิตใจสูง ฉะนั้นของให้กินมาก ๆ เถอะ จะมีประโยชน์ มากต่อตัวเอง และผู้อื่นถ้าใครคิดถึงแต่ผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ทางการแพทย์ ขอให้เปลี่ยนใจเถอะ ควรจะไปเรียนวิชาบริหารธุรกิจจะเหมาะกว่า มิฉะนั้น จะทำให้ทรยศต่ออุดมการณ์การแพทย์อันสูงส่ง

    ผู้เขียนนั่งฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ และพิจารณาตามไปด้วย รู้สึกทึ่งในโครงการนี้มาก เพราะเน้นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่ในชนบทเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินตรา ที่จะสั่งยาและเครื่องมือจากต่างประเทศปีละเป็นแสนบาท ประกอบกับบิดาของ ผู้เขียนก็เป็นแพทย์แผนโบราณ จึงได้ตอบรับคำเสนอ และนัดกันว่าจะประชุมต่อที่กรุงเทพฯ

    ต่อมาท่านอาจารย์ขอให้ผู้เขียนมาร่วมโครงการด้าน การบริหารซึ่งผู้เขียนถนัดพอสมควร และขอให้สละเวลามาบรรยายวิชาการบริหารเพิ่มเติม เพื่อจะได้ให้แพทย์ทุกคน รู้หลักบริหารเบื้องต้นเมื่อเวลาออกไปทำงานจริงจะได้อยู่ร่วมกันอย่างไม่มีปัญหา หรือมีก็ขจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียน ได้ตอบรับและยินดีเจียดเวลาที่มีน้อยอยู่แล้วไปเป็นกรรมการร่วมทำงานในสถาบันอายุรเวท โดยไม่ต้องการผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้นโดยเริ่มต้นประมาณปี ๒๕๒๕ และเรียนท่านว่ายินดีจะช่วยไปถึงปี ๒๕๓๐ แล้วผู้เขียนซึ่งรักความอิสระเป็นชีวิตจิตใจ จะย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในชนบทแถวอีสานเพราะเห็นว่าภาคนี้ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยบุคคลมากกว่าภาคอื่น ๆ

    ผู้เขียนได้ร่วมทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายและอุดมการณ์ทางการแพทย์ของท่านอาจารย์หมออวยจนถึงปี ๒๕๓๐ จึงได้ย้ายภูมิลำเนาไออยู่ภาคอีสาน ตามความต้องการที่ตั้งใจมาแต่ต้น ก่อนจากกันท่านอาจารย์ยังได้ร่วงโครงการต่อมาอีกหนึ่งโครงการซึ่งมีความสำคัญมาก เช่นกัน นั่นก็คือ โครงการ "ธรรมานามัย" ซึ่งเป็นการนำเอาธรรมะซึ่งเน้นทางจิตใจมาผสมผสานกับอนามัยซึ่งเน้นทางด้านร่างกาย แต่โครงการได้เริ่มต้นไปไม่มากท่านอาจารย์หมออวยก็ ได้จากโลกนี้ไปเสียก่อน เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

    ผู้เขียนขอกราบระลึกถึงคุณงามความดี ตลอดจนอุดมการณ์ทางการแพทย์อันสูงส่งของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ผู้เขียนหวังว่าสายเลือดทุกเส้นของ "แพทย์อายุรเวท" คงจะสืบสานปณิธานของท่านอาจารย์ อย่างแน่วแน่และยั่งยืนต่อไปให้สมกับที่ท่านได้เสียสละ และทุ่มเทกำลังใจ กำลังกาย กำลังปัญญา และกำลังทรัพย์ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง

    สุภาษิตของทางตะวันตกและตะวันออกมีความเห็นตรงกัน คือ "เงิน” สำคัญที่สุด แต่ "น้ำใจและสุภาพสำคัญกว่าเงิน" หรืออาจจะกล่าวได้ว่า "ผลประโยชน์ สำคัญอย่างยิ่ง" แต่ "อุดมการณ์และจรรยาบรรณสำคัญมากกว่า"

    ขอกราบคาราวะท่านอาจารย์ที่ผู้เขียนรักและเคารพดุจบิดาอีกวาระหนึ่ง

    ดร.ชาตรี ศรีเสริมวงศ์

    ขอขอบคุณ เนริศา เอกปัชชา

    ปี2 โปรแกรม สุขศึกษา

    มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้พิมพ์ต้นฉบับ




    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  7. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์







    พระพุทธบัณฑรนิมิต

    สูงจากยอดพระเกตุถึงปลายพระบาท

    ๓.๓๕ เมตร



    พระพุทธบัณฑรนิมิต

    ผลรวมความน่าพิควง

    โดย

    อวย เกตุสิงห์



    ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์กับมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปช่วยรักษาพยาบาลพระอาจารย์ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีชนมายุถึงแปดสิบพรรษาและอาพาธหนักจนศิษยานุศิษย์เตรียมการทำศพไว้พร้อมแล้ว ในขณะนั้นหนองบัวลำภูๆยู่ในภาวะคับขันเนื่องจากผู้ก่อการร้าย จึงหาคนเต็มใจไปรักษาท่านไม่ได้ ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้แพทย์ในหน่วยพัฒนา ฯ ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลที่อุดร ฯ ไปช่วย ได้บริจาคโลหิตของตนเองถวายหนึ่งครั้งและได้ปวารณาตัวที่จะช่วยพยาบาลจนถึงที่สุด เนื่องด้วยมีราชการติดพันอยู่ ข้าพเจ้าต้องเดินทางไปกลับทุกปลายสัปดาห์ระหว่างกรุงเทพ ๆ กับอุดร ๆ โดยรถไฟ ติดต่อกันอยู่ถึงหกสัปดาห์อาการของพระอาจารย์จึงทุเลาถืงขั้นพ้นอันตราย เป็นที่ชื่นชมอย่างยิ่งของศิษยานุศิษย์ และเป็นกุศลอย่างสูงของคณะพัฒนาการแพทย์ ฯ ของศิริราชโดยทั่วกัน.

    ระหว่างที่อยู่ในวัดถ้ำกลองเพล วันหนึ่งขณะที่อาการของพระอาจารย์กำลังหนักมาก เพราะท่านไม่ยอมฉันอาหารมาหลายวันแล้ว ข้าพเจ้าเดินเล่นขึ้นไปตามลาดเขาทางทิศตะวันตกของกุฏิห่างประมาณสิบห้าเส้น ได้พบก้อนหินใหญ่ทรงเกือบเป็นลูกบาศก์ กว้างยาวสูงประมาณด้านละเจ็ดเมตร (ประมาณบ้านสองชั้นขนาดย่อม ๆ ) ตั้งอยู่ท่ามกลางที่โล่งแต่มีต้นไม้รกปกคลุมจนเห็นไม่ชัด เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ เห็นตรงกลางทางด้านหน้าเป็นส่วนเว้าเข้าไปเล็กน้อย ตอนบนเป็นชะโงกคล้ายชายคา นึกในใจว่า หินนี้เหมาะมากสำหรับสลักเป็นพระพุทธฉาย

    ด้วยความเป็นห่วงใยพระอาจารย์ ข้าพเจ้าได้อธิษฐานในใจว่า ถ้าหากท่านหายเป็นปกติ ข้าพเจ้าจะสลักหินตรงนั้นเป็นพระพุทธรูปด้วยมือตนเองคนเดียว ในขณะนั้นนึกในใจว่า จะถากหน้าหินให้เรียบแล้วสลักเป็นภาพลายเส้นแบบภาพเขียนลงบนนั้นคิดว่าคงพอทำได้ เพราะข้าพเจ้ามีผีมือทางวาดเขียนพอใช้ได้

    ต่อมาพระอาจารย์ก็หายและแข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ข้าพเจ้าเห็นว่าจะ ซึ่งทำตามคำอธิษฐาน กะว่าจะใช้เวลาสองสามปี โดยออกไปทำเวลาหยุดงานคราวละเล็กละน้อย เพราะในคำอธิษฐานไม่ได้กำหนดเวลาเอาไว้

    ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ข้าพเจ้าไปประชุมเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาที่สวิตเซอร์แลนด์ ขากลับแวะดูงานที่เมืองมิวนิค (เยอรมนี) สามวัน จึงได้ไปหาเพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่ง ซึ่งศึกษาศิลปะสลักหินอยู่ที่นั่นและขอให้แนะนำการสลักหินให้ เมื่อเขาทราบว่ามีเวลาเพียงสามวันก็บอกว่า ไม่มีหวังที่จะทำได้

    ข้าพเจ้าบอกเขาว่ามีความประสงค์จะทำเฉพาะภาพพระพุทธเจ้าและเป็นเพียงภาพนูน ขอให้แนะนำเฉพาะเรื่องนี้คงจะพอได้ผลบ้าง.เพื่อนว่าถ้าเช่นนั้นให้ลองทำภาพนูนบนดินเหนียวดูก่อน

    เขาสอนให้ข้าพเจ้าติดดินเหนียวบนไม้กระดานขนาดสูงประมาณ ๑๑๐ เซ็นติเมตร เขียนรูปพระลงบนนั้น แล้วใช้เครื่องมือเเคะดินออกให้เหลือเป็นรูปนูนตามต้องการ ข้าพเจ้าใช้แบบ “พระรำพึง” เพราะเห็นว่าทำง่ายที่สุด และได้ทำไปตามลำพังในเวลาสามวันที่มีอยู่ วันละประมาณหนึ่งชั่วโมงในตอนค่ำ (กลางวันข้าพเจ้าไปดูงานและเพื่อนไปทำงาน ) ได้ผลเป็นที่พอใจของเพื่อนมาก เขาบอกว่า ถ้าอย่างนี้ก็มีหวังจะสลักหินด้วยตนเองได้ เขาจะจัดซื้อเครื่องมือส่งมาให้ เมื่อข้าพเจ้าจะสลักหินเป็นรูปอย่างไรก็ให้ทำรูปดินเป็นแบบเสียก่อน แล้วถอดลงบนหินโดยสลักส่วนนูนส่วนเว้าไปตามแบบ.

    ข้าพเจ้าถึงบ้านแล้วไม่ช้าเครื่องมือก็มาถึง รวมทั้งหมด ๘ ชิ้น เป็นฆ้อน ๑ อันเครื่องหน้าแบนคล้ายสิ่ว ๔ อัน เครื่องแหลมคล้ายดินสอ ๓ อัน ข้าพเจ้าว่าจะลองสลักอะไรง่าย ๆ ดูบ้างก็ไม่มีโอกาส จะลองทำแบบดินขึ้นก็ไม่มีเวลา จนเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๑ ข้าพเจ้าไปช่วยงานพัฒนาการแพทย์ ฯ ที่อำเภอหนองบัวลำภู ซึ่งห่างจากวัดถ้ำกลองเพลเพียง ๑๔ กิโลเมตร จึงได้ไปเรียนพระอาจารย์ขออนุญาตสลักพระพุทธรูป ท่านอุตส่าห์เดินขึ้นไปดูก้อนหินเองแล้วตกลงอนุญาต แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้กำหนดเวลาลงมือ ต่อมาในกลางเดือนพฤษภาคม ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปประจำที่หนองบัวลำภูอีกครั้งหนึ่ง พอดีนึกขึ้นได้ว่าวันที่ ๑๓ เป็นวันวิสาขะตรงกับวันประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าได้ลงมือสลักพระในวันนี้จะเหมาะมาก คิดว่าแล้วจะหาโอกาสต่อเติมไปเรื่อย ๆ โดยทำแบบดินเหนียวเสียก่อน.

    ข้าพเจ้าจึงรีบเขียนรูปพระพุทธลีลาขึ้นที่อุดร ฯ นั้นเอง โดยอาศัยความจำ เท่าขนาดที่กะว่าจะสร้าง คือสูง ๙๙ นิ้วฟุต ใช้กระดาษวาดเขียนติดกาวต่อกันเป็นแผ่นใหญ่ อ่องลูกชายข้าพเจ้าได้ออกความคิดว่า ถ้าเจาะกระดาษให้เป็นรูไปตามเส้นที่เขียนแล้ว เอาไปทาบกับหินและเอาสีเขียนไปตามรูคงจะง่ายขึ้น ข้าพเจ้าก็เห็นด้วยและได้ทำตามนั้น โดยลงมือในเช้าวันวิสาขะ.พระอาจารย์บุญเพ็งและพระเณรได้ช่วยสร้างนั่งร้านให้ แต่ก้อนหินขรุขระและหน้าไม่เสมอกัน ทำตามวิธีที่กะไว้ไม่สะดวก จึงคิดจะถากหน้าหินให้เรียบเสียก่อน แต่พิจารณาเห็นว่านอกจากส่วนบนจะเป็นชะโงกออกมากันฝนชะได้ ตอนต่อลงมายังมีส่วนนูนส่วนหวำคล้ายกับพระพุทธลีลาอยู่แล้วอีกด้วย เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก แม้ลูกชายข้าพเจ้าซึ่งเป็นเด็กอายุเพียงสิบสามปียังชี้บอกได้ว่า ตรงนั้นเหมือนกับขากำลังก้าวเดิน ตรงนั้นเหมือนกับไหล่และแขนฯ ล ฯ ข้าพเจ้าจึงเลิกคิดที่จะถากหน้าหิน กลับแก้ภาพร่างเสียใหม่ให้คล้องจองไปกับลักษณะของหิน ซึ่งมีเค้าเป็นไหล่และแขนขวา ข้อศอกซ้าย เข่าซ้ายและขาซ้าย ขาขวาทั้งขาและชายโครงกับหน้าท้องซีกขวา.

    หลังจากทำงานไปได้สองสามครั้ง ข้าพเจ้าเกิดความคิดขึ้นอีกว่า ในต้นเดือนกันยายนคือประมาณอีกสามเดือนเศษต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็จะมีอายุครบห้ารอบ ถ้าสลักพระให้เสร็จทันฉลองในวันเกิดก็คงจะดีอย่างยิ่ง จึงเปลี่ยนแผนการเป็นรีบเร่งสลักแทนที่จะค่อยทำค่อยไปส่วนที่คิดว่า จะทำแบบด้วยดินเหนียวก็เป็นอันพับไป ระหว่างทำงานที่หนองบัวลำภูวันไหนงานเสร็จเร็วข้าพเจ้าขออนุญาตหัวหน้าหน่วย ( น.พ. สุพร เกิดสว่าง ) ขับรถส่วนตัวไปที่วัดและทำการสลักได้วันละหนึ่งถึงสองชั่วโมง ครั้นเมื่อกลับมากรุงเทพ ฯ แล้วก็ออกไปในตอนปลายสัปดาห์ เช่นเมื่อไปรักษาพระอาจารย์ ได้ทำงานในวันเสาร์ประมาณเจ็ดแปดชั่วโมงและวันอาทิตย์ประมาณหกชั่วโมง งานก้าวหน้าโดยรวดเร็วน่าประหลาด ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าเพิ่งเคยจับเครื่องมือสลักหินเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ตีฆ้อนลงไปครั้งแรกจนกระทั่งครั้งสุดท้ายไม่เคยเกิดความผิดพลาดอย่างเสียผลเลยสักครั้งเดียว บางคราวต่อยแรงเกินกว่าควร หินหลุดออกเป็นกระบิใหญ่ ใจหายวาบกลัวรูปจะเสีย แต่พอพินิจดูก็เห็นว่าอย่างนั้นเป็นการถูกแล้ว สรุปว่าตั้งแต่ต้นจนเสร็จงานไม่ต้องแก้ไขรูปเลย (นอกจากตอนที่แก้แบบ).

    ลมฟ้าอากาศก็อำนวยอย่างน่าพิศวง เวลาที่ทำงานนั้นเป็นกลางฤดูฝน บางครั้งข้าพเจ้าก็ออกจากกรุงเทพ โดยไม่แน่ใจว่าจะได้ทำการหรือไม่ เพราะฝนอาจตกหนักจนทำไม่ได้ แต่ในจำนวน ๑๔ ครั้งที่ทำงาน มีเพียงครั้งเดียวที่เสียเวลาไปหนึ่งชั่วโมงเพราะฝนตก.ในครั้งอื่น ๆ แม้บางทีท้องฟ้ามืดครึ้ม ฝนตกก็ที่อื่นและไม่ตกที่ในวัด มีสองสามครั้งที่ตกแต่ตกในระหว่างหยุดพักกลางวันและไม่ทำให้เสียเวลาทำงานเลย.

    ข้าพเจ้าได้รอการสลักพระเศียรและพระพักตร์ไว้ตอนหลังเพราะเห็นว่าเป็นงานยากอยากทำในเมื่อค่อยมีความชำนาญขึ้นบ้างแล้ว ในการสลักส่วนอื่น ๆ ข้าพเจ้าอาศัยพระพุทธรูปแบบสุโขทัยปางลีลาองค์เล็กขนาดแปดนิ้วเป็นแบบ แต่พอถึงพระหัตถ์เห็นว่าแบบเล็กเกินไป มีลวดลายละเอียดไม่พอ จึงได้นำเอารูปจำลองพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์ที่ข้าพเจ้าซื้อจากญี่ปุ่นไปใช้เป็นรูปแบบ “หน้ากาก” อัดด้วยกระดาษ ( ปาปิเอร์มาเช่) ขนาดเท่าหน้าคน ลักษณะเป็นหน้าหญิงจีนหรือญี่ปุ่นสวยงามมาก

    ในวันที่นำ “หน้ากาก” ไป ข้าพเจ้าได้แวะนมัสการพระอาจารย์ที่กุฏิตามเคย ยังไม่ทันจะพูดอะไรท่านก็กล่าวขึ้นว่าพระพักตร์นั้นต้องทำให้งดงามจึงจะดึงดูดความศรัทธา สำหรับตัวท่านนั้นชอบแบบพระพุทธชินราช

    ข้าพเจ้านึกในใจว่า พระพุทธชินราชนั้นตำนานกล่าวว่า เทวดาแปลงองค์มาสร้าง.มือชั้นข้าพเจ้าขอเพียง “พระญี่ปุ่น” ก็พอแล้ว ในวันนั้นได้เร่งสลักพระพักตร์จนกระทั่งมืดโดยอาศัย “หน้ากาก” พระญี่ปุ่นเป็นแบบและขยายส่วนขึ้นประมาณครึ่งเท่า ข้าพเจ้าคิดว่า ทำได้คล้ายแบบมาก

    ครั้นพอเช้ารุ่งขึ้นไปทำงานต่อก็สะดุดใจว่า ภาพที่ทำไว้นั้นพระพักตร์กว้างกว่าและแป้นกว่าแบบมาก ความเห็นข้าพเจ้าเองว่า มีเค้าไปทางพระพุทธชินราชจริง ๆ

    ส่วนพระและเณรในวัดตลอดจนญาติมิตรที่ได้ไปเห็นในภายหลัง บอกว่าคล้ายข้าพเจ้าเองบ้าง คล้ายน้องข้าพเจ้าบ้าง แต่พระพุทธรูปนี้เป็นภาพนูนแบน ดูคนละเหลี่ยมอาจเห็นแตกต่างกันบ้าง ข้าพเจ้าว่ามีเค้าพระพุทธชินราชมาก อย่างน้อยก็มากกว่าคล้ายพระญี่ปุ่น และตรงกับความประสงค์ของพระอาจารย์ด้วย.

    การสลักพระพุทธรูปได้เสร็จสิ้นลงในเวลา ๙ น ของวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๑๑ ในเวลา ๑๐ น วันนี้ก็ได้เริ่มพิธีสมโภชและพุทธาภิเษก เป็นอันเสร็จงานทันกำหนด รวมเวลาที่ใช้ในการสลัก ๑๒๕ ชั่วโมง ได้พระพุทธรูปสูง ๓๓๕ เซ็นติเมตรจากยอดพระเกตุมาลาถึงปลายพระบาท ภาพนี้เจ้าพระคุณพระธรรมจินดาภรณ์ วัดราชบพิธ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระพุทธรูปเมื่อได้เห็นของจริงแล้ว กรุณาให้คำวิจารณ์ว่า “ในทางรูปลักษณะไม่มีที่ติ”

    ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่พระพุทธรูปได้สำเร็จสมความปรารถนา แต่ข้าพเจ้ามิได้มีความผยองเลย เพราะมีความสำนึกอยู่ในใจว่า ความสำเร็จมิได้เกิดจากลำพังข้าพเจ้า แต่มีอิทธิพลหลายอย่างส่งเสริมอยู่ด้วย

    ประการหนึ่ง คือคำแนะนำสั่งสอนของพระอาจารย์จวน วัดภูวัว ที่ให้นึกถึงพระรัตนตรัยไปด้วยในระหว่างสลัก คือตีค้อนลงครั้งหนึ่งนึก “พุท” ครั้งสองนึก “โธ” ครั้งสาม “ธัม” ครั้งสี่ “โม” ครั้งห้า “สัง” ครั้งหก “โฆ” แล้วเวียนกลับต้นอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ วิธีนี้ยังจิตให้เกิดสมาธิ เป็นพลังพิเศษอย่างหนึ่ง

    ประการที่สองคือ บุญญาภินิหารของพระอาจารย์ขาว โดยข้าพเจ้าได้ตั้งใจสร้างพระถวายท่าน และถวายพระนามวา“ พระพุทธบัณฑรนิมิต” (ด้วยความกรุณาของพระสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศวิหาร ) ซึ่งแปลว่า “พระพุทธรูปพระอาจารย์ขาวสร้าง”.

    ประการที่สาม คืออำนาจสัจจาธิษฐานซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่ามีพลังพิเศษ อาจบันดาลอะไร ๆ ก็ได้

    ประการสุดท้ายอาจมีอิทธิพลอะไรอื่น ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ มาคอยช่วยอีกส่วนหนึ่งด้วย ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๑ ก่อนที่จะคิดลงมือสร้างพระพุทธรูป เพื่อนคนหนึ่งได้เอาดวงชาตาของข้าพเจ้าไปให้ผู้ชำนาญทางโหราศาสตร์ผู้หนึ่งตรวจ และท่านผู้นั้นได้ทายว่า “คนผู้นี้กำลังคิดสร้างอนุสรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนาและจะทำสำเร็จ เพราะมีผู้ช่วยเหลือ”.

    “ผู้ช่วยเหลือ” นี้ท่านบอกใบ้ไปในเชิงว่า ไม่ใช่คนธรรมคา เพื่อนข้าพเจ้าคนนั้นไม่ทราบเรื่องที่ข้าพเจ้ากำหนดจะสร้างพระ และผู้ทายก็ไม่รู้จักข้าพเจ้าเลย ทำไมในดวงชาตาของข้าพเจ้าจึงมีเรื่องจะสร้างพระพุทธรูปด้วย ข้าพเจ้าถือว่าเป็นเรื่องน่าพิศวงอย่างยิ่ง.

    พระพุทธบัณฑรนิมิตนี่ได้สัมฤทธิ์เป็นรูปร่างขึ้นแล้ว เป็นผีมือของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งไม่เคยฝึกฝนในทางสลักหินมาก่อนเลย ได้สำเร็จลงในเวลาอันรวดเร็วเกินคาด ด้วยความราบรื่นอย่างไม่นึกถึง แม้แต่ลมฟ้าอากาศก็ดูเหมือนจะเป็นใจด้วย และการสร้างก็มีผู้รู้ล่วงหน้าได้ด้วยวิธีของโหร..ข้าพเจ้าคิดว่า มีความน่าอัศจรรย์หลายอย่างอยู่ในเรื่อง และหวังใจว่า พระพุทธรูปนี้จะสถิตอยู่สถาพรเป็นเครื่องส่งเสริมศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณของพระอาจารย์ขาวผู้ควรแก่การเคารพสักการะ และเป็นพยานของความกตัญญูกตเวทีของคนผู้หนึ่ง ซึ่งเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมอันเป็นหัวใจแห่งคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า.

    บุญกุศลใด ๆ อันเกิดจากการสร้างพระพุทธบัณฑรนิมิตนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศถวายพระอาจารย์ขาว อนาลโย ที่เคารพนับถืออย่างสูงสุด และขออุทิศแก่เวไนยสัตว์ทั้งปวง โดยเฉพาะแก่บุพการีของข้าพเจ้า ขอท่านที่มีจิตศรัทธาจงอนุโมทนาเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคตนั้นเทอญ.



    ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.dharma-gateway.com/ubasok...-main-page.htm





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน