ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

นักเรียนนอกผู้ใฝ่พุทธธรรม
โดย......วิภาวินี รายงาน
หนังสือธรรมจักษุ ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2545

คัดลอกจาก http://mahamakuta.inet.co.th/T-BOOK/February-45.html

เช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2545 ได้มีข่าวที่สะเทือนใจชาวพุทธและวงการตุลาการเกิดขึ้นคือ ข่าวอสัญกรรมของ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานองคมนตรี อดีตประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และอดีตตำแหน่งสำคัญอีกมากมาย ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยวัย 94 ปี เศษ

หนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันจันทร์ที่ 7 ม.ค. ในประเทศไทยทุกฉบับลงข่าวพาดหัวออกพร้อมเพรียง ไทยรัฐพาดหัวข่าวว่า "สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม ไทยสูญเสียปูชนียบุคคล " ส่วนมติชน บรรยายถึงชีวิตอันงดงามของ ‘ สัญญา ธรรมศักดิ์ ’ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันรุ่งขึ้น คือวันอังคารที่ 8 ม.ค. 45 ได้ทำเป็นบทความพิเศษ หน้า 1 สดุดีเกียรติคุณของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในช่วงเดือนตุลาคม 2516 ที่เรารู้จักกันว่าเป็นวันที่ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค เพราะเกิดการประท้วงนองเลือดโค่นล้มอำนาจเผด็จการทหาร ฯพณฯ สัญญา เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย อยู่ในช่วงเวลาคับขันนั้น และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์สัญญาฯ จึงเป็นผู้นำทางการเมืองคนเดียว ที่ถูกเรียกได้อย่างเต็มปากว่า นายกฯพระราชทาน

ชีวิตของท่านมีเรื่องที่โลดโผนพิสดารน่ารู้อีกมาก แต่จะพักไว้แค่นี้ จะขอนำให้ท่านรู้จักประวัติส่วนตัวท่านอาจารย์ย่อๆ เสียก่อน

อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2450 ที่บ้านข้างวัดอรุณราชวราราม ตำบลบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี (ในสมัยนั้น) มหาอำมาตย์ตรีพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี (ทองดี ธรรมศักดิ์) เป็นบิดา คุณหญิงชื้น ธรรมสารเวทย์เป็นมารดา ท่านเกิดในครอบครัวผู้พิพากษา บิดาของท่านเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์

ท่านเริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนทวีธาภิเษก เมื่ออายุได้ 6 ขวบ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ พออายุได้ 11 ปี ท่านบิดาถึงอสัญกรรม ท่านเล่าว่าชีวิตท่านผกผันทันที ครอบครัวที่เคยสุขสบายต้องประสบความลำบากยากจน เคยนั่งรถเก๋งไปโรงเรียนจำต้องเดินไปโรงเรียน ท่านได้รับทุกข์ โทมนัสอย่างแสนสาหัสอีกครั้ง เมื่อนายบรรจง ธรรมศักดิ์ ซึ่งได้รับทุนของกรมรถไฟไปเรียนวิศวกรรมที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตที่สหรัฐ แต่ท่านก็เรียนต่อจนจบมัธยมหกที่โรงเรียน อัสสัมชัญ

ท่านเริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นนักเรียนล่าม ที่กระทรวงยุติธรรม และเรียนกฎหมายไปด้วยจนจบเป็นเนติบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2471 อายุ 21 ปี ในปีรุ่งขึ้น คือปี พ.ศ. 2472 เข้าสอบแข่งขันได้คะแนนสูงสุดและได้รับทุนเล่าเรียน “รพีบุญนิธิ” ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในประเทศอังกฤษ ที่สำนักมิดเดิลเทมเปิล ศึกษาอยู่ 3 ปี ก็สอบไล่ได้สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2475

ท่านเล่าว่า “ทุนรพีเก็บดอกเบี้ยให้เป็นค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนมันก็ได้น้อย เพราะเหตุว่า ดอกเบี้ยตอนนั้นถูก (เหมือนตอนนี้) นักเรียนทุนหลวงคนอื่นๆ ท่านให้ปีละ 450 ปอนด์ (ปัจจุบัน ปี 2545ให้ปีละ 19,640 ปอนด์)”

เมื่อกลับจากอังกฤษมาเป็นผู้พิพากษา ท่านยังไม่ทิ้งพระพุทธศาสนายังศึกษาพุทธธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ความจริงท่านเริ่มสนใจพระพุทธศาสนาตั้งแต่อยู่ที่อังกฤษ ท่านเล่าว่า ก่อนที่ท่านจะสอบได้ทุนรพีบุญนิธิ ของเนติบัณฑิตยสภา ไปเรียนกฎหมายต่อนั้น ท่านได้อุปสมบทหนึ่งพรรษาที่วัดเบญจมพิตรฯ ได้ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมเท่าที่พระบวช 3 เดือนจะเรียนได้ โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ. 9) เมื่อครั้งเป็นพระเทพมุนี เป็นผู้สอนเอง การอุปสมบทครั้งนั้น เป็นการเพาะเชื้ออย่างสำคัญ

เมื่อท่านกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่านได้ฟังว่าที่เมืองฝรั่งก็มีการสอนพระพุทธศาสนา ดำเนินการโดยมหาโพธิสมาคมแห่งอินเดีย ซึ่งได้ไปตั้งสำนักเผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ในกรุงลอนดอน ท่านจึงรู้สึกยินดีและตื่นเต้นเพราะไม่เคยนึกว่าจะมีมาก่อน ท่านจึงไปฟังเขาบรรยายธรรมทุกสัปดาห์ ผู้สอนเป็นพระภิกษุชาวลังกา 2 รูป และอังกฤษชาวพุทธอีกหลายคน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ท่านได้ร่วมกับชาวพุทธอีกหลายท่านก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยขึ้น (เดิมชื่อว่าพุทธธรรมสมาคม) ในสมัยเริ่มแรกท่านได้เป็นเลขานุการของสมาคมฯ นานหลายปี จนสุดท้ายท่านได้เป็นนายกสมาคมฯ เป็นเวลาถึง 10 ปี

เมื่อท่านพ้นหน้าที่นายกสมาคมฯ ท่านได้ไปช่วยเป็นกรรมการบริหารองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The World Fellowship of Buddhists) ซึ่งรู้จักกันในชื่อย่อว่า พ.ส.ล. โดยทำหน้าที่เป็นรองประธาน และได้รับเลือกให้เป็นประธานองค์การฯ ในปี พ.ศ. 2527 แทนท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกูล จนถึงปีพ.ศ. 2541 ท่านได้ขอลาออกเพราะสุขภาพไม่แข็งแรงและคุณแผน วรรณเมธี ได้เป็นแทน จนถึงปัจจุบัน

น.พ. จักธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บุตรชายคนที่ 2 คนเล็ก ของศาสตราจารย์สัญญา กล่าวถึงพ่อว่า…พ่อไม่เพียงเป็นที่รักเคารพของลูก ๆ แต่ยังเป็นที่รักนับถือของคนไทยทั่วไป พ่อเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ เที่ยงตรง สมถะ เปี่ยมคุณธรรม ยึดมั่นในอุดมการณ์ตุลาการ และมีความแน่วแน่มั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก

“พ่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมาก และตลอดระยะเวลา 6 ปีที่พ่อป่วยจะได้รับพระราชทานดอกไม้อังคารเว้นอังคารมิได้ขาด” น.พ. จักธรรม เผยอีกว่า…พ่อเป็นคนรักครอบครัวเป็นที่สุด ครอบครัวเราจะอยู่ที่บ้านทั้งหมด ในพื้นที่จำนวน 2 ไร่ และพ่อมักจะพร่ำสอนลูกว่าให้พอใจในสิ่งที่มีอยู่ อย่าเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูก พ่อเป็นลูกชาวสวน ฝั่งธนฯ ความสุขของพ่อคือการมีชีวิตที่เรียบง่าย ตอนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรี พ่อไม่ชอบมีรถขบวน ไม่ชอบมีคนห้อมล้อม พ่อชอบนุ่งผ้าขาวม้า และชอบสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส และไปนอนที่สวนโมกข์เสมอ ช่วงป่วยพ่อทำวิปัสสนาบนเตียงตลอด 6 ปี โดยได้อธิฐานว่าอย่าให้ท่านเป็นภาระของใคร อย่าให้ท่านทรมาน ขอให้ท่านได้ตายไปอย่างสงบ พ่อจึงได้เขียนขั้นตอนต่าง ๆ เมื่อท่านสิ้นลมหายใจลงในสมุดบันทึกไว้ 10 ปีก่อนว่า ต้องไปทำอะไรในวัง ระบุให้นำเงินของท่านที่มีอยู่มาดำเนินการอย่างไรบ้าง

“พ่อปรารถนาที่จะเห็นคนไทยทุกคนเป็นคนดี มีความสุข และอยากให้ประเทศไทยมีความร่มเย็น ไม่อยากเห็นเยาวชนและเด็กวัยรุ่นตกเป็นทาสวัตถุนิยมให้ช่วยกันรักษาความเป็นไทยไว้ตลอดไป”

ณ วันนี้แม้จะสิ้นศาสตราจารย์สัญญาไปแล้ว แต่คุโณปการที่ศาสตราจารย์สัญญา ได้ทำไว้จะยังคงอยู่ต่อไป และขณะนี้ก็กำลังมีโครงการจัดทำหนังสือ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน” เกิดขึ้น โดยเป็นแนวคิดเดิมของคณะทำงานมูลนิธิศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการจัดทำหนังสือ “84 ปี สัญญา ธรรมศักดิ์” ไปแล้ว

วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้รับหน้าที่เขียนและเป็นบรรณาธิการหนังสือ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน” เผยว่า

... โครงการนี้เดิมต่างคนต่างช่วยกันหาข้อมูลที่ตัวเองรู้ คนโน้นนิดคนนี้หน่อย รวบรวมกันมาตลอด จนปลายปีที่ผ่านมาก็ไดรับการทาบทามให้รับผิดชอบหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะต้องรวบรวมข้อมูลที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของชีวิตผู้ชายคนหนึ่ง

เพื่อที่จะนำเสนอให้สังคมได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ในตัวเขาที่ไม่ได้เกิดจากหน้าที่การงานหรือฐานะที่ร่ำรวย แต่เป็นความยิ่งใหญ่จากการกระทำที่เสียสละเพื่อแผ่นดินเกือบชั่วชีวิต

งานเขียนชิ้นนี้คงจะไม่สำเร็จแน่ หากไม่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากเครือญาติ และผู้ใกล้ชิด ศาสตราจารย์สัญญา โดยเฉพาะญาติทางฝ่ายท่านผู้หญิงพงา ภริยาศาสตราจารย์สัญญา

“ได้เริ่มงานนี้ราวเดือน พ.ย.ปีกลาย ตอนนี้ก็เขียนไปได้ประมาณ 5 บทแล้ว จากที่คิดไว้ว่าน่าจะมีประมาณ 40 บท โชคดีอยู่อย่างที่ว่าแม้จะไม่ได้รู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัว แต่ก็รู้จักกับญาติทางฝ่ายท่านผู้หญิงพงา เลยได้ข้อมูลบางส่วนที่บางคนยังไม่รู้ อีกทั้งเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เราก็เป็นนักข่าวอยู่แล้วและได้ร่วมรับรู้วีรกรรมของท่าน รู้จักชื่อท่านมานาน เลยไม่ยากที่จะเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนที่ต้องการ”

สำหรับงานเขียนตั้งใจไว้ว่าจะให้มีครบทุกรส ทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตรักและชีวิตการทำงาน เพื่อให้คนได้รู้จักท่านครบในทุกแง่มุม ว่าท่านทำอย่างไรจึงสามารถชนะใจหญิงที่ท่านรัก ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการที่ท่านทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ

ในหนังสือชีวประวัติที่เขียนถึงอาจารย์สัญญานั้น เราจะไม่ชูให้เห็นว่าท่านเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานฎีกา เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือแม้กระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่เราจะเน้นให้เห็นถึงชีวิตผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดมาเพื่อเป็นลูกที่ดี เป็นสามีที่ดี เป็นพ่อที่ดี แล้วก็เป็นประชากร เป็นคนไทยที่ดี ที่นำคุณงามความดีมาสู่ประเทศอย่างใหญ่หลวง

หนังสือ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน” มีกำหนดจัดทำให้แล้วเสร็จตามโครงการ ในเดือน ก.ย. 2545 นี้ นี่จะเป็นบันทึกชีวประวัติปูชนียบุคคลที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่ง..

เป็นบันทึกสุดท้าย “นายกฯ พระราชทาน ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์”




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.dharma-gateway.com/ubasok...-main-page.htm