ประวัติ ท่าน ก. เขาสวนหลวง
โพสท์ในลานธรรมเสวนาโดย คุณ : กระต่าย [ 1 ธ.ค. 2542]

เนื้อความ : เคยได้อ่านธรรมะของท่าน ก. เขาสวนหลวง มาก็หลายครั้งแล้วจนมีหลายคนถามถึงว่า ท่าน ก. นั้นเป็นใคร พอดีมีพิมพ์ประวัติของท่านเอาไว้ สำหรับจะนำไปไว้ในห้องสมุดออนไลน์ด้วย เลยสามารถนำมาลงให้อ่านกันก่อนได้

ประวัติโดยสังเขป ของท่าน ก. เขาสวนหลวง

ท่าน ก. เขาสวนหลวง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในบรรดาท่านที่สนใจธรรมปฏิบัติ มีนามเต็มว่า อุบาสิกา กี นานายน เกิดเมื่อวันที่ มิถุนายน 2444 ปีฉลู ที่ตำบลท่าแจ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี บิดาชื่อ นายฮก นานายน มารดาชื่อ นางบุญมี นานายน มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน คือ

1. อุบาสิกา กี นานายน

2. เด็กหญิงถึงแก่กรรมเมื่อยังเล็กๆ

3. นายอุ๋ยเส่ง นานายน

4. นายชยัญ นานายน

5. อุบาสิกาวัลย์ นานายน (ละสังขารเมื่อ 8 เมษายน 2536)

ในวะระคล้ายวันเกิดของท่าน ก. เขาสวนหลวง ในปี พ.ศ.2514 ท่านได้เล่าเกี่ยวกับประวัติ ชีวิตส่วนตัว ว่าเกิดมาทำไม ดังต่อไปนี้

เมื่ออายุประมาณ 3-4 ขวบ มารดาได้สอนให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ถ้าเผลอตัวหลับไป โดยไม่ได้ สวดมนต์ ต้องลุกขึ้นสวดมนต์เสียก่อน จึงจะนอนต่อไป

พออายุ 6 ขวบ มารดาท้องแก่แล้วยังต้องทำงานหนัก เช่น หาบน้ำจากแม่น้ำที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน รู้สึก มีความสงสารมารดา จึงได้บอกแก่มารดาว่า จะช่วยหาบน้ำบ้าง มารดาจึงได้ตัดไม้กระบอกให้ และได้หาบน้ำ ด้วยไม้กระบอกนั้นทุกวัน

ใกล้รุ่งคืนหนึ่ง มารดาเจ็บท้องจะคลอด มีความรู้สึกกลัวมาก พอสว่างก็ออกมาดู เห็นน้องตัวแดงๆ ผมดำนอนอยู่ในเบาะ ก็เกิดความกลัว จึงรีบหนีไปอยู่บ้านที่ใกล้เคียง ล่วงไปได้ 3 วัน จึงได้กลับมาบ้าน เห็นมารดานอนอยู่บนเตียงเล็กๆ ตามแบบอยู่ไฟของคนโบราณ ให้รู้สึกสงสารมาก

ครั้นอายุได้ 7 ขวบ ได้ไปอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ ได้รับเงินค่าขนมวันละหนึ่งอัฐ ก็ไม่ได้นำไปซื้อขนมกินเลย แต่ได้ไปซื้อดอกไม้มาบูชาพระพุทธรูปทุกวัน

ต่อมาได้ค่าขนมเพิ่มขึ้นเป็นวันละหนึ่งไพ จึงซื้อข้าวที่เขาขายกระทงละหนึ่งไพ นำไปใส่บาตรทุกวัน เมื่อได้กลับมาอยู่บ้านเดิม (จังหวัดราชบุรี) มารดาซึ่งเคยรักษาศีลอุโบสถก็ได้สอน ไม่ให้ทำบาป และไม่เคย พาลูก ไปเที่ยวดูการละเล่นเลย และไม่ชอบแต่งตัวด้วย

เมื่ออายุ 11-12 ปี ได้หัดอ่านหนังสืออยู่กับบ้านจนอ่านออก ชอบอ่านหนังสือคำกลอน ซึ่งเป็นคำสุภาษิต และเรื่องของพระโพธิสัตว์สร้างบารมี พออายุ 18 ปี มารดาป่วยหนัก ต้องคอยดูแลทั้งกลางวันและกลางคืน จนมารดาถึงแก่กรรมด้วยความสงบ

ได้เริ่มรักษาศีลอุโบสถเมื่ออายุ 24 ปี การท่องบทสวดมนต์แปลทำให้ได้รับประโยชน์มาก ครั้งหนึ่ง ผู้ใหญ่ชวนไปดูงานประจำปี ยืนดูสักครู่หนึ่งก็นึกถึงศีลข้อ "นัจจ คีตฯ" ที่ห้ามไม่ให้ดูการฟ้อนรำต่างๆ ก็เกิดความละอายใจ จึงได้บอกกับผู้ใหญ่ที่ไปด้วยว่าจะกลับบ้าน ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่ได้ไปดูการละเล่นอีกเลย ถ้าที่วัดมีงานในวันอุโบสถ ก็กลับมานอนที่บ้าน การใช้เครื่องนุ่งห่มก็ไม่ใช้ผ้าสี มีความสนใจอ่านหนังสือธรรมะ ที่เป็นข้อปฏิบัติอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งไปที่วัดเขาวัง (พ.ศ. 246 มีผู้ปฏิบัติไปทำความเพียรกันอย่างเคร่งครัด ด้วยการถือเนสัชชิ คือไม่นอนตลอดคืน จึงอยากจะทดลองดูบ้าง แต่คิดจะอยู่เพียงครึ่งคืน เพราะยังไม่เคยอดนอนตลอดคืน ได้กำหนดภาวนา "พุทโธ" ติดต่ออยู่ ทั้งอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน ขณะกำลังเดินไปมาท่ามกลางอากาศโปร่ง ได้แหงนขึ้นดูดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอกในตอนดึก ความรู้สึกภายในจิตมันอุทานออกมาว่า "พระพุทโธ" เป็นผู้ตื่น ไม่มีกิเลสภายในจิตใจ เบิกบานอย่างนี้เอง ในขณะนั้นจิตมีความซาบซึ้ง เกิดจากความปีติ เบิกบาน อยู่ภายใน เพราะได้เห็นดวงจันทร์ที่ปราศจากราคี เป็นสื่อมาเทียบกับจิตใจในขณะนั้นด้วย เวลาดึก จนเที่ยงคืน ล่วงแล้ว ก็ไม่มีความง่วงเหงาหาวนอนเลย มีแต่ความชุ่มชื่น เบิกบานอยู่ภายใน มีความปีติ ถึงกับได้ก้มลงกราบ กับพื้นดิน แล้วก็ค่อยๆ เดินบ้าง นั่งบ้าง จนตลอดรุ่ง เป็นอันว่าได้ถือเนสัชชิได้เป็นครั้งแรก และได้อรรถรสใน พระพุทธคุณบท "พุทโธ" ด้วยใจจริงเป็นครั้งแรก และเป็นเหตุให้ถือเนสัชชิได้ในเวลาต่อๆมา

อีกครั้งหนึ่งได้ไปพักที่วัดเขาวังกับอุบาสิกาผู้หนึ่ง เมื่ออยู่ได้ 5-6 วัน อุบาสิกาผู้นั้นได้กลับก่อน อยู่คนเดียวมีความปลอดโปร่งมาก ได้นั่งทำความสงบ พอง่วงก็ออกไปเดินรับอากาศข้างนอกห้อง พอหายง่วง ก็กลับมานั่งทำความสงบใหม่ ทำอย่างนี้อยู่เรื่อยมา พอคืนที่ 9 ขณะกำลังทำความสงอยู่ในมุ้ง ได้เผลอ สัปหงกไป แล้วกลับมามีความรู้สึกโพลงแจ้งขึ้น มีความรู้แจ้งกระจ่างในพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ ตั้งต้นจาก กุสลาธัมมา คัมภีร์ที่หนึ่ง พรึ่บเดียวถึงคัมภีร์ที่เจ็ด เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด พอความรู้หยุดเพียงแค่นั้น จึงได้ลืมตาขึ้น ก็เห็นภายในมุ้งมีความสว่างเหมือนแสงเดือนส่อง เกิดความสงสัยว่า เป็นแสงอะไร จึงได้เปิดมุ้ง ออกมาดูข้างนอก ซึ่งมีแสงสลัวๆ ได้เปิดประตูไปดูนอกห้อง เห็นมืดไปหมด จึงย้อนเข้ามาดูในห้องใหม่อีก ก็มืดไปตามเดิม

การทำข้อปฏิบัติชนิดที่ไม่รู้หลักเกณฑ์มาก่อน เมื่อได้รับการอบรมให้เหมาะสม ก็มักจะมีการโพลงแจ้ง ขึ้นมาเอง และก็ได้มีข้อสังเกตของตังเอง ซึ่งพอจะจับเค้าได้ในภายหลังว่า ความสงสัยในเรื่องความสว่าง ความมืดข้างนอก มันเป็นมายา การปฏิบัติที่มีความสันโดษต่อปัจจัยตามมีตามได้ ทำให้ไม่ตกเป็นทาสของอามิส ในโลก มีความเป็นอิสระตามฐานะของตนตลอดมา

เมื่ออายุ 26 ปี สมัยนั้นวัดมหาธาตุเป็นป่าเงียบสงัด จึงได้ชวนกันไปทำความเพียรที่นั่น ไปกัน 4 คน ได้ไปพักที่ศาลา ห่างจากเชิงตะกอนประมาณ 20 วา เพื่อฝึกให้เอาชนะความกลัวผี ในเวลากลางคืน ได้ค่อยกระเถิบเข้าไปหาเชิงตะกอน คืนละเล็กละน้อย จนกระทั่งหลายคืนต่อมา ก็ได้เข้าไปถึงเชิงตะกอน ประจวบกับเป็นเวลาเดือนหงาย จึงทำให้มองเห็นเศษกระดูกสีขาวปนอยู่กับถ่าน เรี่ยราด อยู่ตามเชิงตะกอน เมื่อได้พิจารณาดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะน่ากลัวที่ตรงไหน เลยทำให้ไม่มีความหวาดกลัว เหมือนแต่ก่อน

ต่อมาประมาณ 10 วัน กลางวันวันหนึ่ง ได้เข้าไปนั่งทำความสงบที่ใต้ธรรมมาสน์ ซึ่งทำเหมือนตู้เก็บของ มีประตูเปิดปิดได้ พอนั่งอยู่สักพักใหญ่เหงื่อออกท่วมตัว จึงต้องออกมา เพราะมีความมุ่งที่จะทำความเพียรจัด ไปอย่างเดียว และเป็นการทดลองทำเอง มีวิธีการหลายอย่าง ต่อมาก็ได้มานั่งอยู่ข้างนอกอย่างเอาจริงเอาจัง ตั้งอกตั้งใจ เพียรอยู่ในท่าสมาธิ ตั้งตัวตรง มีความมุ่งแต่จะให้จิตสงบอย่างรุนแรง

สักพักใหญ่เมื่อจิตไม่สงบ จึงคิดว่า

"ทำมาหลายวันแล้ว จิตก็ไม่สงบเลย เลิกเพียรเอาจริงเอาจังเสียทีเถิด มีความรู้ที่จิตไว้อย่างเดียวดีกว่า" พร้อมกับชักมือและเท้า ออกจากท่าสมาธิ ขณะนั้นเท้าข้างหนึ่งยังอยู่ในท่าชันเข่า รู้ลักษณะจิตคล้ายลูกตุ้ม นาฬิกาที่แกว่งช้าเข้า ช้าเข้า จนหยุดกึก แล้วก็เกิดความรู้ที่ประคับประคองขึ้นมาเอง ค่อยๆยกเท้าเข้ามาซ้อนกัน และมือก็วางซ้นกันในท่าสมาธิ ทั้งจิตก็มีความรู้ สงบ อย่างแนบแน่น ได้มีความรู้แจ้งในสภาพธรรม ที่มีลักษณะ เกิดดับ เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ และเห็นสภาพที่ไม่มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงภายใน ซึ่งเป็นสิ่ง "ปัจจัตตัง" โดยเฉพาะ

ต่อมาก็ได้ค่อยๆ ลุกไปเอนพักผ่อน ลักษณะจิตนั้นยังปรากฏอยู่ มันเป็นความสงบที่ทรงตัวอยู่ได้เอง ในภายในลึกๆ ต่อมาจึงค่อยคลายเป็นความปกติ จึงได้เป็นข้อสังเกตว่า การทำด้วยความอยากจัด ทำให้จิตวุ่นวาย ไม่สงบ เมื่อมีความรู้จิตอย่างเหมาะสมแล้ว ความรู้ภายในก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะการรู้แจ้งภายในมีเป็นทุน จึงทำให้รู้ข้อเท็จจริงถูกผิดในระยะต่อมาได้เรื่อยๆ และเป็นข้อที่จะให้รู้ได้ว่า ขณะที่จิตปล่อยหมดนี่เอง จึงเป็นการรู้สภาพธรรมอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นการรู้เอง เห็นเองภายใน จะไปอยากรู้อยากเห็นเอาเองก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้นหลัก "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ของพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้มีความยึดถือสภาพธรรม ทั้งสังขาร และวิสังขารว่าเป็นตัวตน ตั้งแต่นั้นมาก็รู้ข้อเท็จจริงและคลายออกจากความยึดถือไปตามลำดับ

ครั้งหนึ่งมีผู้มาบอกว่ามีอาจารย์เป็นสมเด็จ และทำให้คนสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอรหันต์ก็มี จึงได้พูดกับเขาว่า "กิเลสมันอยู่ที่ตัวเรา อาจารย์จะมาทำให้หมดกิเลสไม่ได้ เราต้องไปปฏิบัติ ละกิเลสด้วยตัวเองจึงจะได้ ฉันไม่ไปหรอก ถ้าอยากจะสำเร็จแบบนั้นก็ไปเถอะ" คนที่มาชวนก็เลยไม่ไป การตื่นผู้สำเร็จ ตื่นเครื่องราง ของศักดิ์สิทธิ์ ตื่นหมอดู ล้วนเชื่อถืออย่างไม่รู้เหตุผล

ต่อมาได้ประกอบการค้าอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน การค้าก็ก้าวหน้าขึ้นมาเอง แต่ก็ไม่คิดจะขยาย กิจการ เพราะไม่หวังจะร่ำรวย ทำตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อสนองคุณบิดาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่มีโอกาส ปลีกตัวไปทำความสงบ เหมือนเมื่อครั้งทำการค้าเล็กๆน้อยๆ เหตุการณ์เหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามคติธรรมดา

ระยะต่อมาบิดาป่วยหนัก ได้พยายามพูดธรรมะให้ท่านเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ และได้หัดให้ท่านนั่งกัมมัฏฐาน บ้าง ครั้งหนึ่งขณะท่านป่วยหนัก ได้อธิบายธรรมะให้ท่านฟัง อาการป่วยของท่านในขณะนั้นก็ได้บรรเทาไป ท่านจึงสนใจการปฏิบัติธรรม ภายหลังท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยความสงบ

การประพฤติปฏิบัติสนองคุณมารดาบิดา ก็ได้ทำไปสมกับหน้าที่ของบุตร เป็นการผ่อนใช้หนี้เก่าตาม สมควรแล้ว ต่อจากนี้ไม่มีกังวลห่วงใย ก็หาทางออกสำหรับตน เป็นการออกไปเป็นอิสระ ไม่มีเครื่องพัวพันใดๆ ที่จะทำให้ย้อนกลับมาหามันอีก ออกไปสู่บรรยากาศว่างเปล่า ปลอดโปร่ง สดชื่นตามธรรมชาติ เงียบสงัดภายใน รุ่งอรุณ เหนือขุนเขา เมื่ออายุ 44 ปี ตรงกับ พ.ศ. 2488

ท่านไม่เคยแสดงอาการเจ็บป่วยหรืออ่อนแอให้ใครเห็น ขนาดท่านขอร้องอย่าให้คนทางกรุงเทพฯ หรือที่ไกลๆ ไปพบท่านเลย เพราะท่านไม่สบาย แต่คนกลับพากันไปมากขึ้น แต่เมื่อไปแล้วท่านก็ให้พบ โดยไม่มีอาการว่าไม่สบาย ผู้ที่ไปพบก็มีแต่ความชื่นใจ ปีติกลับมา แต่ท่านก็ต้องทรมานต่อการปวดหลัง เพราะกระดูกสันหลัง ที่เอว ท่านหลุดจากกันและท่านร้อยในท้อง ดิฉันเคยเข้าไปเยี่ยมถามอาการท่าน ท่านเล่าถึงอาการท่านให้ฟัง แต่ท่านก็ไม่สนใจที่จะไปรักษา

ในพรรษานั้น (2520) ท่านพยายามฝึกศิษย์ที่อยู่ประจำที่เขาสวนหลวงให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ท่านไม่ขึ้นเทศน์ แต่ให้ผู้ปฏิบัติขึ้นไปนั่งตอนกลางคืนในวันพระที่ศาลาที่ท่านพักคือศาลาธรรมโอสถ

ในพรรษานี้ท่านได้ให้พี่เจือ (อุบาสิกาเจือพันธ์ กาลกฤษณ์) สร้างที่เก็บร่างของท่านเมื่อท่านสิ้นแล้ว โดยท่านอนุญาตให้พี่เจือหาสถานที่ที่เหมาะสม และจัดการสร้างพี่เจือเลือกที่บนเขา ซึ่งต้องเดินขึ้นมาจากโรงครัว พอที่ทุกคนจะขึ้นได้สบาย ส่วนที่เป็นที่เก็บร่างทำด้วยหินอ่อนสีเทา หากนั่งที่ลานหน้าหอประชุมจะมองเห็นได้ชัด พวกเราใจหาย เมื่อท่านสั่งให้สร้าง และท่านจัดการกิจการทุกๆ อย่าง โดยมอบหน้าที่ให้แต่ละคนรับไปทำ และท่านดูอยู่ภายนอก เมื่อท่านละสังขารแล้วจะได้อยู่กันได้ต่อไป

ต้นเดือนกันยายน 2521 ท่าน ก. ได้เข้ารับการรักษาตา ที่จังหวัดปทุมธานี วันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 ท่านก็ได้ละสังขารที่จังหวัดปทุมธานี รวมอายุ 77 ปี

สิ่งที่ประทับใจศิษย์ทุกคน ที่จะงดบันทึกเอาไว้ไม่ได้คือ พิธีทำการบรรจุสรีระของท่าน ทำกันด้วยธรรมไม่มีการทำพิธีกรรม ไม่มีการสวดกลางคืน เมื่อบรรจุร่างท่านเรียบร้อยแล้ว ศิษย์ทั้งหลายยืนกันตามไหล่เขาเป็นระยะ เป็นระเบียบเรียบร้อย และทำความเคารพด้วยการนั่งสมาธิด้วยความสงบ เป็นพิธีง่ายๆ ซึ่งไม่เคยมีใครทำ แต่ก็ดูศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง สำหรับท่านที่ดับไม่เหลือแล้วอย่างคุณแม่ ท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง ซึ่งเกินจะพรรณนาในความเมตตากรุณาที่มีต่อศิษย์ทุกคน

(ข้อความที่พิมพ์ไว้ต่างสีด้านบน คือประวัติเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่คุณกระต่ายได้โพสท์ไว้)

ประวัติส่วนตัว และประวัติการปฏิบัติธรรมเพิ่มเติมจากที่ท่านเล่าไว้ และคำบอกเล่าจากผู้ปฏิบัติร่วมสมัย ตั้งแต่ พ.ศ.2492 จนถึงวาระท่านละสังขาร พ.ศ. 2521

ท่าน ก. เขาสวนหลวง ได้เล่าเรื่องราวของตนเอง เกี่ยวกับคำกลอนเมื่ออายุ 12 ปี พออ่านหนังสือออก ก็อ่านคำกลอนมาก และจำเนื้อความในกลอนได้ การจำคำกลอนนี้มันเกิดประโยชน์มาก ทำให้เห็นว่าบทกลอน เปรียบเทียบเสมือนภาชนะสำหรับใส่ธรรมะจริงๆ และในสมัยโบราณก็ชอบหนังสือคำกลอนกันเป็นส่วนมาก

เป็นข้อแปลกที่ว่า อ่านหนังสือออกเมื่ออายุ 12 ปี เรื่องอื่นๆที่อ่านจำไม่ได้ แต่กลับจำคำกลอนได้อยู่ 2 บท และคำกลอน 2 บทนี้ก็เป็นครูเป็นอาจารย์มาตั้งแต่วัยเด็ก คำกลอนนี้เป็นสุภาษิตโบราณ มีข้อความดังต่อไปนี้

จิตเอ๋ยจิตเขลา นอนในกายเน่า เฝ้าสมบัติดิน กินอสุจิ ตริไม่เห็นเลย หลงเชยชมงาม เดินตามทางรก มุ่นหมกเพศบ้า อวดกล้าสู้ตาย ไม่หน่ายหนีโลก นั่งโงกงมแก่ เหลียวแลว่าคน รูปตนคือผี เห็นดีสิ่งใด ภายในเหม็นนัก หลงรักจูบกอด ตาบอดใจบ้า เป็นข้าความรัก เหนื่อยนักไม่รู้ หลงอยู่ช้านาน สมภารไม่บอก เชื่อหลอกหมู่มาร สังขารเขาลวง หาห่วงผูกคอ ใครหนอทำให้ ตัวใบ้ใจบ้า หันหน้ามาดู พระครูบอกบ้าง อย่าหลงทางเดิน อย่าเมินเหยียบขวาก อย่าลากเรียวหนาม เดินตามพระไป ไกลพระจักโง่ มักโอ่เสียของ เอาทองแต่ลิง อวดจริงแก่บ้า อวดกล้าแก่ผี อวดมีแก่ดินอวดกินแก่ขี้ อวดดีแก่ตาย อวดสบายแก่โรค ทุกข์โศกเสียเปล่า อย่าเดาผิดผิด อย่าคิดโดยโง่ อย่าโตแต่เปลือก อย่าเสือกหาทุกข์ อย่าสุขในบาป อย่าคาบเหล็กแดง อย่าแต่งแผ่นดิน อย่ากินของร้อน อย่านอนในไฟ เป็นไปอย่างแร้ง แสวงหาบริสุทธิ์ ให้หยุดเหมือนพระ ให้ละความโง่ ให้โตเต็มโลก ข้ามโอฆสงสาร นิพพานไม่ไกล หาสุขสำราญ เถิดนะท่านทั้งหลาย

กลอนบทนี้ไม่ได้ท่องเลย อ่านไปอ่านมาก็จำได้ ตั้งแต่นั้นมา กลอนบทนี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจ ไปตาม ประสาเด็ก ๆ แม้จะแต่งตัวอะไร มันก็นึกเสียว่า "เอาทองแต่ลิง" แล้วก็เลยไม่ชอบแต่ง สำหรับกลอนบทนี้ มีประโยชน์มากมาย ที่จำได้ และเป็นเครื่องเตือนใจมาเป็นลำดับ เมื่ออายุสูงขึ้นมา และยังมีความรู้สึกที่ว่า "เป็นข้าความรัก" สำหรับในวัยรุ่นหรือวัยต่อมา ความรู้สึกในกลอนบทนี้ มันเตือนใจอยู่เรื่อยว่า จะไม่เป็นทาส ของความรัก มันทำให้รู้สึกว่าต้องมีความเป็นอิสระ ต้องเป็นอิสระเด็ดขาด เพราะกลอนบทนี้ทุกบท ทุกคำ เราก็ไม่ได้รู้ไปทั้งหมด แต่ก็รู้ไปตามประสาที่จะรู้ได้ในวัยเด็ก แล้วก็เตือนใจมาเรื่อย จนกระทั่งแน่ใจว่า จะไม่มีการ เป็นทาสของความรัก

เป็นความมั่นคงต่อมาได้เพราะกลอนบทนี้ และมีกลอนอีกบทหนึ่งที่มีเนื้อความต่อไปนี้

พวกหมอยาว่าธาตุไม่สมดุลย์

พวกแม่มดว่าวุ่นถูกคุณผี

พวกโหรทายเทวาเข้ายายี

ท่านเมธีว่ากรรมตนทำมา

สำหรับกลอนบทนี้ก็ได้รู้สึกมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเห็นผู้ใหญ่ชอบบนบานศาลกล่าว หรือหมอดูหมอเดา อะไรก็สุดแท้ มันเลิกไปกับกลอนบทนี้ ไม่มีการเชื่อถือ ในสมัยเป็นเด็ก ยังไม่มีความคิดอะไรมากนัก แต่ถ้า ไปพบเห็นเขาทำกันอย่างนี้แล้ว มันไม่เชื่อ รู้สึกว่าเรื่องกรรมนี่ก็รู้ไปตามประสาเด็กๆ แต่ว่ามันดับทุกข์ ได้จริง ถ้าเกิดมีเรื่องอะไรที่เป็นทุกข์ขึ้นมา ไม่รู้จะไปบอกกับใคร ก็บอกว่า มันกรรมของเรา แล้วก็หยุดไป แล้วก็หยุดไปเลย ใจก็สบายไปได้ ไม่ว่าจะมีการโกรธเคืองอะไรเกิดขึ้น ถ้าใครเขามาทำอะไรให้ ที่ไม่พอใจ ก็นึกว่าเป็นกรรม แล้วก็ดับหายไป และเฉพาะกลอนบทนี้ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าหมอดูตลอดมาจนบัดนี้

จากการบอกเล่าของท่านอุบาสิกา วัลย์ นานายน ถึง ท่าน ก. เขาสวนหลวง ในสมัยที่ได้อยู่ค้าขาย ด้วยกันว่า ในสมัยนั้น พ.ศ. 2468 ท่าน ก. อายุ 24 ปี ส่วนอุบาสิกา วัลย์ อายุ 15 ปี "ทุกๆวันพระ ท่านได้พาดิฉันไปรับอุโบสถที่วัดมิได้ขาด ท่านอบรมให้ดิฉันเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ เมื่อฟังธรรมแล้ว จะต้องเล่าให้ท่านฟังทุกครั้งว่า ฟังเทศน์แล้วเข้าใจรู้เรื่องอย่างไร บางโอกาส ท่านจะหยุดการค้า ลงชั่วคราว เพื่อไปทำความสงบในที่ต่างๆ ตามที่ท่านพอใจ ดิฉันก็ได้ตามท่านไปอยู่เสมอ เพราะหลังจากบิดา ได้สิ้นชีวิตลงแล้ว ก็อยู่กับท่านเพียง 2 คนเท่านั้น ไปไหนจึงต้องไปด้วยกันเสมอ คราวหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2470 ท่านทราบข่าวเรื่องของการบวชเป็นภิกษุณี ที่วัดนารีวงศ์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้โอกาสสตรีได้มีโอกาสสืบศาสนา ก็มีศรัทธา ที่จะมีวัดของสตรีโดยเฉพาะเพื่อการปฏิบัติธรรม จึงได้ชวนกันเช่าเรือแจว เดินทางจากราชบุรีไป นนทบุรี ท่าน ก.แจวท้าย ดิฉันแจวหัวเรือ ใช้เวลาเดินทางถึง 3 วัน จึงถึงนนทบุรี ได้พักอยู่ที่วัดนารีวงศ์ประมาณ 5 วันก็พากันกลับ

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายให้คนไทยสวมหมวก ท่าน ก. ก็เย็บหมวกขายด้วย ต่อมา เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดราชบุรีถูกระเบิด ในปี 2488 ดิฉันก็อพยพไปทำการค้าชั่วคราว อยู่ที่ปากน้ำ สมุทรสงคราม ท่านเห็นว่าดิฉันอยู่ปลอดภัยแล้ว จึงได้บอกว่าจะไม่ไปด้วย ท่านจะไปอยู่เขาสวนหลวงตั้งแต่นั้น มา เขาสวนหลวงนี้ท่านเคยสนใจมาก่อนแล้ว เพราะว่ามีลุงและป้า ซึ่งเป็นพี่ชายของแม่อยู่หลังเขา คือ คุณลุงเปลี่ยน รักแซ่ และคุณป้าแดง รักแซ่ ภรรยาของคุณลุงเปลี่ยน ทุกครั้งที่ท่านมาเยี่ยมคุณลุงและคุณป้า ท่านจะต้องมาที่เขาสวนหลวงเสมอ

ท่านปรารภอยู่เสมอว่า "การอยู่บ้านเรือนและค้าขายเป็นภาระหนัก เราหาเงินได้สักก้อนแล้ว ไปหาที่สงบ อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมดีกว่า"

ท่านเทิดทูนบูชาชีวิตพรหมจรรย์อย่างเหลือเกิน ท่านชี้ให้เห็นว่า "เรามีมือ มีเท้า มีปัญญา ทำไมจะต้องไป เป็นทาสเขาทั้งกายและใจ คนอ่อนแอเท่านั้นที่ต้องพึ่งผู้อื่น ผลที่สุดก็ได้รับความทุกข์ตลอดชีวิต"

ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึงท่าน ก. เขาสวนหลวง ในการสัมภาษณ์ลงหนังสือ "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา" ในฐานะสหายธรรมทานว่า

"สำหรับทางฝ่ายราชบุรีนั้น คุณกี นานายน ได้ร่วมมือในการเผยแผ่ อย่างเต็มกำลังสติปัญญาของตน เป็นผู้มีความประสงค์ เพื่อความรู้เรื่องธรรมะโดยแท้ ตลอดเวลาที่ติดต่อกันมาเพื่อธรรมะทั้งนั้น

เมื่อค้าขายรวบรวมเงินทองได้ทุนสำรองไว้เป็นหลักแล้ว ก็ออกไปตั้งสำนักเองที่เขาสวนหลวง ตอนจะออกไปก็ได้มาคุย มาบอก มาปรึกษา แกเป็นคนกล้าหาญ ไม่กลัวตาย มีลักษณะเป็นผู้นำ คิดจะเปิดสำนักสำหรับผู้หญิงขึ้นปกครองดูแลกันเอง ก็ทำได้อย่างที่แกคิด

แกอ่านหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ศึกษามาอย่างดีแล้วค่อยมาพบ ผมก็ให้พักที่บ้านโยม กลางวันก็มา คุยกันใต้ถุนกุฏิ ตรงริมสระเล็ก (สวนโมกข์เก่า) เรื่องที่คุยกัน ก็เป็นเรื่องปรมัตถธรรม ที่แกได้ศึกษามาแล้ว มาซักถามเพื่อความเข้าใจ ก็ต้องนับว่าเป็นผู้หญิงพิเศษ ไม่แต่งงาน น้องสาวก็ไม่แต่งงาน และรับงานทางสำนัก ต่อมาเมื่อคุณกีตายแล้ว ตอนมาหาผม ไม่มีแววว่ามีความทุกข์อะไรมา มาแบบนักศึกษาธรรมะ แกอยากแต่ง กลอน แต่แต่งไม่เป็น ผมเลยสอนให้ทางไปรษณีย์ ยังได้เอามาลงหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาอยู่หลายชิ้น ในสมัยนั้น"

จากการบันทึกของผู้ปฏิบัติธรรมผู้หนึ่ง ที่กล่าวถึงลักษณะของท่าน ก. ไว้เมื่อ พ.ศ. 2519 ว่า ท่านเป็นผู้หญิงผิวขาว ใส่แว่นดำ ใส่เสื้อสีขาว นุ่งถุงดำ ปลงผม หน้าท่านงาม ผิวละเอียด ถึงแม้จะมีอายุแล้ว แต่ก็ดูเหมือนคนอายุประมาณสัก 40-50 ปีเท่านั้น นั่งตัวตรงพูดเรียบๆสม่ำเสมอ พอเห็นครั้งแรกก็เลื่อมใส

อัศจรรย์ที่ตาท่านไม่เห็น แต่สามารถที่จะให้ธรรมได้ทุกแง่ทุกมุม ถ้าตาดีจะได้ว่า ก่อนท่านขึ้นพูด ก็คงค้นคว้าอ่านตำรับตำรา สำหรับจะขึ้นเทศน์ แต่ละวันๆ นี่ท่านไม่ต้องเตรียมเลย เวลาขึ้นเทศน์ ท่านก็เทศน์ไปเรื่อยๆ ติดต่อ โดยไม่ติดอ่าง ตะกุกตะกักหรือต้องคิดเลย ลูกศิษย์หรือเจ้าหน้าที่จะอัดเทปไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านสิ้นแล้ว ชาวเขาสวนหลวงจึงไม่เดือดร้อนเลย ไม่ต้องขวนขวายหาอาจารย์ที่ไหนมาแทน เพราะเทปที่ท่านเทศน์ไว้มีมากมายพอที่จะสั่งสอนไปได้ตลอด



ขณะพิมพ์ไป ใจยิ่งรู้สึกทึ่ง และปิติยิ่ง ในการที่ท่านเป็นฆราวาส ที่ปฏิบัติได้สมบูรณ์จริง ทั้งทางโลก และทางธรรม ใจขอกราบระลึก ยึดท่านเป็นแบบอย่าง ขอเดินตามรอยพระอรหันต์ขออานิสงส์นี้ จงแผ่ไพศาลไป แด่เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมทุกท่านด้วย......

เจริญในธรรมค่ะ

จบข้อความที่คุณกระต่าย โพสท์ไว้เพียงเท่านี้



บันทึกจากคำบอกเล่าของผู้ปฏิบัติธรรม (เพิ่มเติมจากที่คุณ : กระต่าย ได้โพสท์ไว้)





มีต่อคะ