ในปีนี้วัดเกาะจัดงานก๋วยสลาก
ในวันอาทิตย์ ที่ 14 กันยายน 2551

สลากภัต ( ก๋วยสลาก )

ประเพณีทานข้าวสลาก

ประเพณีการ “ทานข้าวสลาก” หรือการ “กิ๋นก๋วยสลาก” ตามสำเนียงการพูดของเมืองเหนือนี้หมายถึงประเพณีทานสลากภัต เป็นประเพณีที่ชาวเหนือถือสืบเนื่องมาช้านานแล้ว การทานก๋วยสลากจะเริ่มในราววันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ (คือเดือนสิบใต้ ประมาณเดือนกันยายน) และสิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือนสิบเอ็ดใต้ ) การทานก๋วยสลาก (หรือบางแห่งเรียกว่า ตานข้านสลาก)

ก่อนวันทำพิธี “ทานก๋วยสลาก” ๑ วัน เรียกว่า “วันดา” เป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ก๋วย” ไว้หลายๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูกแล้วแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์จะอำนวยให้ ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมห่อจอกระจุกกระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมข้ามต้ม และอาหาร เช่นห่อหมก สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เครื่องใช้สอยต่างๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุดด้วยใบตองหรือกระดาษสีต่างๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่างๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้วก็จะเอา”ยอด” คือ สตางค์หรือธนบัตรผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ยอด” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าจะเท่าใดแล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธาจะอำนวยให้ เมื่อเตรียมสิ่งของดังกล่าวเสร็จเรายบร้อยแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นในวันทานสลาก เข้าก็จะใช้เด็ก ลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาบาตร และเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถวๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน(พาน) เข้าตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ถือขัน (พาน) ไปวัดกันเป็นหมู่ๆ บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วย ส่วนพวกหนุ่มๆ สาวๆ ก็ไม่เหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตนี้มีอานิสสงส์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “เส้นสลาก”

ขออธิบายเรื่องเส้นสลากสักเล็กน้อย “เส้นสลาก”ที่กล่าวนี้ ผู้เป็นเจ้าของ”ก๋วยสลาก”จะต้องเอาใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาวๆ จารึกชื่อเจ้าขอไว้ และบอกด้วยว่าอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นมักจะเขียนดังนี้ “สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้านายแก้ว นางดี ขอทานให้กับตนตัวภายหน้า” หมายถึง ถวายทานไว้อุทิศส่วนกุศลไว้สำหรับตัวเอง เมื่อล่วงลับไปแล้วจะได้รับเอาของไทยทานนั้นในปรโลก ซึ่งเป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนทั่วไปว่า เมื่อทำบุญถวายทานไว้ในพระศาสนาแล้วเมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปก็จะได้ไปเสวยอานิสงส์ผลบุญนั้นในโลกหน้าและจะมีการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว “ผู้ข้าหนานเสนา บางบุ บ้านวังม่วง ขอทานไว้ถึงนางจันตาผู้เป็นแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว ขอหื้อไปรอดไปถึงจิ่มเต๊อะฯ” เป็นต้น

ขอเล่าถึงการแบ่ง “เส้นสลาก” ในแบบฉบับเดิมของ “ชาวบะเก่า” (คนโบราณ) ให้เป็นที่เข้าใจของท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย ในสมัยที่พวกชาวบ้านยังไม่รู้หนังสือ ไม่รู้จักคิดเลขอยู่นั้น การแบ่ง”ก๋วยสลาก”จะต้องตก “เส้นสลาก”เป็นกองๆ รวม ๓ กอง กองหนึ่งคือของไพระเจ้า”(คือของวัด) ส่วนอีก ๒ กอง นั้นเฉลี่ยออกไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือก็มักจะปัดเป็นของพระเจ้าเสีย

“เส้นสลาก” ที่แบ่งปันให้พระภิกษุ สามเณรที่นิมนต์มาจากวัดต่างๆ นั้น เมื่อพระภิกษุ สามเณร ได้รับส่วนแบ่งแล้ว ก็จะไปยึดชัยภูมิแห่งใดแห่งหนึ่งในวัดและจัดการออกสลาก คือ อ่านเชื่อในเส้นสลากดังๆ หรือให้ลูกศิษย์ (ขะโยม) ที่ไปด้วยนั้นตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลาก หรือ เปลี่ยนเป็นคำสั้นๆ เช่น “ศรัทธาหนานใจวงศ์ บ้านวังม่วงมีไหมเหอ” เมื่อผู้เป็นเจ้าของได้ยินหรือมีเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ยิน ก็จะไปบอกให้เจ้าของ “ก๋วยสลาก” ซึ่งบางรายก็จะหิ้ว “ก๋วย” ไปตามหาเส้นสลากตามลานวัด การเที่ยวหาเส้นสลากนี้เป็นที่น่าสนุกสนานมาก ทั้งพวกหนุ่มๆ สาวๆ และผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะหิ้ว “ก๋วยสลาก” ออกตามเส้นสลากกันขวักไขว่ ทุกคนจะมีใบหน้าแช่มชื่นผ่องใส ก็จะถือโอกาสช่วยๆ สาวๆ หาเส้นสลากเป็นการผูกไมตรีไปด้วย เมื่อพบเส้นสลากองตนแล้วก็จะเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระ พระก็จะอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่งแล้วรับเอา “ก๋วยสลาก” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนเส้นสลากนั้นให้เจ้าของสลากไป เจ้าของสลากก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จงาน “แก่วัด” หรือมรรคนายกก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย

การ “ทานก๋วยสลาก” นี้นอกจากจะมี “ก๋วยเล็ก” แล้ว ผู้ที่มีฐานะดี การเงินไม่ขัดสน ก็จะจัดเป็นพิเศษที่เรียกว่า “สลากโชค” สลากโชคนี้ทำเป็นพิเศษกว่าสลากธรรมดา และในสมัยก่อนมักจะทำเป็นรูปเรือนหลังเล็กๆ มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม เครื่องนอนหมอนมุ้ง เสื่ออ่อน ไม้กวาด เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูป ๑ สำรับ และรอบๆ เรือนหลังเล็กนั้นจะมีต้นกล้วย ต้นอ้อยผูกติดไว้ และยังมี “ยอด” เงินหลายสิบ หรือปัจจุบันก็เป็นร้อยๆ บาท ผูกติดไว้ด้วย สลากโชคนี้บางคนก็อุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว

สลากโชคนี้เจ้าของจะตบแต่งประณีตสวยงามกว่าสลากธรรมดา บางราจเจ้าของก็เอาเครื่องประดับอันมีค่า สร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือหรือเข็มขัดนาค เข็มขัดเงินใส่ลงไปด้วย แต่ไม่ได้ “ทาน” ไปจริงๆ เมื่อถวายสลากแล้วก็มักจะขอ “บูชา”คืน การเอาของมีค่าใส่ลงไปเช่นนั้น ผู้ถวายมักจะอุทิศส่วนกุศลนั้นๆ ให้ตนเอง เพราะเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วหากไปเกิดในภพอื่นๆ ก็จะได้รับสิ่งของที่ตนถวายอุทิศไปอีกด้วย .