หลวงปู่ฝากไว้ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

กระทู้: หลวงปู่ฝากไว้ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. **wan** said:

    หลวงปู่ฝากไว้ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร



    หลวงปู่ฝากไว้

    พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)

    คัดมาจาก หนังสือพุทธาจารานุสรณ์


    โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวด สติปัฏฐาน ๔ กระทู้ 14484 โดย : อิน 21 มี.ค. 48

    หลวงปู่ฝากไว้

    (๑) วันเวลาที่หมดสิ้นไปโดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณค่าเป็นประโยขนืแก่ตนเองบ้างในชีวิตที่เกิดมาในโลก และได้พบพุทธศาสนานี้ ช่างเป็นชีวิตที่น่าเสียดายยิ่งนัก เวลาแม้นเพียงหนึ่งนาทีที่ผ่านเลยไปนั้น แม้ว่าจะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลสักสิบล้าน ร้อยล้าน ก็ไม่สามารถซื้อคืนกลับมาได้ ฉะนั้น สิ่งที่น่าเสียดายในโลกนี้ จะมีอะไรน่าเสียดายเท่ากับปล่อยให้วันเวลา ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้นว่าจะเพียงแค่นาทีเดียว

    (๒) ใจของคนเราทุกคนถ้าเจริญภาวนาไม่ทอดธุระ ภาวนาให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จิของผู้ภาวนาก็สูง คำว่า”สูง” ก็เหมือนกับเรือ เรือที่ลอยลำอยู่ในแม่น้ำลำคลอง หรือที่มหาสมุทรสาคร ก็คือจิตมันอยู่เหนือน้ำ จิตอยู่เหนืออารมณ์ เหมือนเรืออยู่เหนือน้ำ มันก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน จึงจำเป็นจะต้องฝึกตนเอง ให้มีความอดทน

    (๓) เวลาความสุขมาถึงเข้า เราจะไปเอาความสุขในความสรรเสริญเยินยอ มั่งมีศรีสุขอย่างเดียว แต่เราหารู้ไม่ว่า ความสุขมีที่ไหน ความทุกข์ก็มีที่นั่น

    (๔) มรณกรรมนี้เป็นยอดกรรมฐานก็ว่าได้ คนเราเมื่ออาศัยความประมาทมัวเมา ไม่ได้มองเห็นภัยอันตรายจะมาถึงตน คิดเอาเอง หมายเอาเอง ว่าเราคงไม่เป็นไร ง่ายๆสบายดีอยู่ เรายังเด็กยังหนุ่มอยู่ ความตายคงไม่กล้ำกลายได้ง่ายๆ อันนี้เป็นความประมาทมัวเมา

    (๕) เราผู้เป็นสาวก สาวิกา ศรัทธาญาติโยม ภิกษุสงฆ์สามเณร ก็อย่าได้มีความถ้อถอย อย่าไปคิดว่าเราทำไม่ได้ เราบุญน้อย วาสนาน้อย ละกิเลสไม่ได้ อย่าไปคิดอย่างนั้น อะไรก้อตามถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจไม่หวั่นไหวแล้ว ตั้งใจประพฤติดีปฏิบัติชอบในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ท้อถอยในดวงใจแล้ว ย่อมได้ย่อมถึงเป็นไปได้ทุกถ้วนหน้า

    (๖) ยิ่งเจริญยิ่งภาวนาเท่าใด จิตมันก็มีกำลัง เมื่อใจมีพลังมีความอาจหาญแล้ว สิ่งที่เรียกว่ายากก็ไม่มีอะไรยาก สิ่งที่เราคิดว่าเหลือวิสัย ก็ไม่เหลือวิสัย อยู่ที่วิสัยทุกคนจะทำได้ทั้งนั้น

    (๗) คนสมัยนี้ควรเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า พระเจ้าพิมพิสารมีศรัทธาแก่กล้าทำบุญถวายแผ่นดินกับพระพุทธเจ้า แผ่นดินมีเท่าไร ก้อแบ่งครึ่งหนึ่งเลย พวกเราทุกคนถ้ามีอย่างนั้นก็ท่าจะแบ่งไม่ได้แหละ อะไรก็ของกูหมดทุกอย่าง เวลาตายก็เอาไปบ่ได้ ก็ยังว่าของกูอยู่

    (๘) เมื่อเราท่านทั้งหลายพากันได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ให้ตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา มันไม่ใช่ของยาก มันยากอยู่ที่ไม่ทำไม่ปฏิบัติ ถ้าทำถ้าปฏิบัติแล้วไม่มีอะไรเป็นของยาก ย่อมรู้ได้เข้าใจเมื่อภายหลัง

    (๙) ที่ให้นั่งขัดสมาธิเพชรนี้ ก็คือว่าหัวใจเรามีความองอาจกล้าหาญ ใจเป็นเพชรแข็ง ตัดกิเลสความโกรธให้ได้ ตัดกิเลสความโลภให้ได้ ตัดกิเลสความหลงให้ได้

    (๑๐) คลอดออกมาก็ถือหละ ลืมตาเห็นโลกใหม่ โลกใหม่ก็โลกเก่าของตนเองนั่นแหละ โลกเกิด โลกเจ็บ โลกไข้ โลกตาย ถ้าเกิดในประเทศใดก็ยึดถือว่าประเทศนั้นเป็นของตน แผ่นคิดนั้นเป็นของตน ตัวอุปทานมันยึดมันถือ คือมัน “หาบหิน” เป็นผีบ้าหาบหิน หาบไปจนเฒ่า จนแก่ตาย ตายแล้วก็ว่าจะแล้วแต่มันไม่แล้ว ก็เกิดมาอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้แหละเพราะมันหลง

    (๑๑) ถ้ามองเห็นความตายทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว สบายใจไปเลย กูก็จะตายสูก็จะตาย จะมาวุ่นวายกันทำไม

    (๑๒) ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เวลาจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องไปเอาหมด ทุกถ้อยกระทงความ อุบายธรรมอันใด เมื่อเราเอามาสอนใจเราได้ก็ให้จดจำเอาอุบายธรรมอันนั้น มาสอนใจของเราให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนาให้จงได้ อันนั้นแหละจะเกิดประโยชน์ จิตที่ไม่สงบไม่ตั้งมั่น จิตที่ขี้เกียจขี้คร้านภาวนาก็จะได้หมั่นขยันขึ้น เพราะเอาธรรมคำสั่งสอนนั้นมาพร่ำสอนจิตใจของตนเอง จนจิตมีกำลังมีความสามารถอาจหาญในการตัดบ่วงห่วงอาลัยกิเลสในหัวใจของตนได้

    (๑๓) คนเราโง่ ฉลาด มันอยู่ที่ความตั้งใจ ถ้าใจไม่ฉลาดมันก็เก็บเอาความโง่เขลาเบาปัญญามาไว้ อารมณ์ที่ดีมันนึกไม่ได้ ” พุทโธ ๆ ” ในใจมันนึกไม่ได้ แต่นึกรั่ว ไหลไปที่อื่น หลงใหลไปตามกิเลสของใจกิเลสของโลก เมื่อหลงใหล ออกไปกว้างขวางเท่าไรก็เรียกว่าจมลงไปในแม่น้ำมหาสมุทร คือว่าหลงไปตามสมมติของมนุษย์ที่สมมติอยู่ จิตใจเราไม่ภาวนาไม่สงบเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวจึงใช้การไม่ได้

    (๑๔) เมื่อไปไหนอยู่ไหนอะไรก้อตาม จงเป็นผู้มีสติเตือนใจของตนเองว่า เราจะต้องมีสติ เราจะต้องมีสมาธิ เราจะต้องมีปัญญา เราจะต้องฝึกฝนจิตใจเราให้เกิดความรู้เข้าใจในธรรมปฏิบัติ ธรรมปฏิบัติไม่ได้เลือกกาลเวลา กาลใดเวลาไหน ก็ตามมันขึ้นอยู่กับการประกอบกระทำ

    (๑๕) ภาวนาก็เหมือนกัน ต้องรู้จักเลือกอุบายภาวนา พิจารณาอุบายที่ถูกจริต อาศัยความเพียรอย่างเดียวบ่ได้ กิเลสมันพลิกเพลงเก่ง ต้องตามให้ทัน คนรู้จักพิจารณาก็ได้บรรลุธรรมเร็ว

    (๑๖) มรณกรรมฐานนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เพียงคำพูด คำพูดหรือตัวหนังสือ มันละกิเลสอะไรไม่ได้ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติน้อมรำลึกถึงในมรณกรรมฐานไม่ว่าจะเห็นคน เห็นสัตว์ ป่าไม้ ป่าดงพงพี ก็เห็นความตายแตกดับ ความตายของคนของสัตว์ ของต้นไม้ ใบหญ้า ผลที่สุดที่เกิดมาแล้วก็ต้องมีความแตกดับทำลายตายไปเป็นธรรมดา ใครจะมายึดว่าตัวเราของเราก็ไม่ได้ทั้งนั้น ยึดไปเถิดเมื่อถึงความตายก็ต้องทิ้ง ไม่ทิ้งก็จำใจทิ้งเมื่อจิตใจของผู้ภาวนา ภาวนาเข้าถึงขั้นมรณกรรมฐานแล้ว ไม่ห่วงใคร บ้านก็ไม่ห่วง ลูกเต้าก็ไม่ห่วง ลูกหลานเหลน โหลน อะไรไม่ห่วงทั้งนั้น เพราะมันเล็งเห็นแจ้งชัดว่าตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้

    (๑๗) เราเกิดมามีอายุเท่านั้นเท่านี้ ปี มันเป็นเรื่องที่แล้วมาแล้ว แต่เวลาข้างหน้ามันขึ้นอยู่กับลมหายใจ กำหนดแน่ไม่ได้.. เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ก็อย่าประมาท พยายามทำจิตใจให้สำรวมระวัง เกิดปัญญาฟาดฟันกิเลสให้หมดไปสิ้นไปอยู่เสมอ

    (๑๘) กาลเวลามันล่วงไปผ่านไป แต่มันมิได้ล่วงไปเปล่า มันเอาอายุวัยของเราไปด้วย ดังนั้นอย่าประมาทเรื่องกาลเวลา ให้เสวงหาสาระคือ บุญกุศลไว้เสมอๆ อย่าให้ชีวิตล่วงไปเปล่าประโยชน์



    ôôôôô ต่อหน้า 2 ôôôôô
     
  2. **wan** said:

    Re: หลวงปู่ฝากไว้ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

    หลวงปู่ฝากไว้ 2

    พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)

    คัดมาจาก หนังสือพุทธาจารานุสรณ์

    (๑๙) เรื่องการภาวนานั้น ไม่หมายเอาเพียงรูปร่างภายนอก การนั่งสมาธิตามแบบแผนอย่างเดียว ซึ่งการนั่งแต่เพียงรูปร่างกายนั้นไม่ยุ่งยาก ข้อสำคัญอยู่ที่การทำจิตใจตั้งมั่นรู้อยู่ภายใน รวมอยู่ภายใน รู้ตามเป็นจริง ของสิ่งต่างๆ มี อนิจจัง ทุกขัง อันตตา เป็นต้น จนไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียได้

    (๒๐) ชีวิตของเราไม่เป็นของยั่งยืน เป็นของที่ต้องตายลงโดยแน่นอน เวลานี้เราอาจได้ยินข่าวการมรณกรรมของผู้อื่น พระอื่น แต่อีกไม่นาน ข่าวนั้นจะต้องเป็นของเราบ้าง เพราะชีวิตทุกชีวิตจะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ทั้งนั้น .. ฉะนั้น อย่าประมาทเรื่องความตาย ให้เร่งภาวนา ทำจิตใจให้หมดกิเลส หมดทุกข์ หมดร้อนให้ได้ก่อนความตายมาถึง

    (๒๑) ถึงอย่างไรก้อตาม เมื่อผู้ใดยังข้องอยู่ในกาม ลุ่มหลงอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสแล้วจะไม่มีทุกข์มีโทษนั้นอย่าหวัง เพราะกามนั้นมีคุณน้อย มีโทษมาก ท่านเปรียบเหมือนงู ผู้ใดไปใกล้หรือไปเหยียบงูเข้า จะถูกมันกัดทำให้เจ็บปวด ถ้าเป็นงูพิษก็อาจทำให้ถึงตายได้

    (๒๒) ทางพระทานสอนให้ละชั่ว ทำความดี แต่ก็ไม่ให้ติดออยู่ในความดี ให้บำเพ็ญจิตให้ยิ่งขึ้นจนถึงไม่ติดดีไม่ติดชั่ว จึงจะพ้นจากโลกนี้ไปได้ ทางพระจึงสอนมุ่งภาวนา ทำจิตให้สำรวมตั้งมั่น ทำจิตให้มีปัญญารู้ตาม ความเป็นจริงด้วยตนเอง จนถอดถอนอุปทาน ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆออกเสีย จึงจะเป็นไปเพื่อสิ้นภพสิ้นชาติ หมดทุกข์หมดอยากได้โดยแท้จริง

    (๒๓) ถ้าเราภาวนาชำระกิเลสโลภ โกรธ หลง ออกไปมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับความเป็นพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ของเราเพิ่มขึ้นทุกที

    (๒๔) เรื่องของรูปขันธ์มันเป็นของอาศัย อย่าไปตามใจมันนัก ไม่ว่าจะปรุงแต่งเต็มที่อย่างไร มันก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อยู่นั่นเอง จะช้าจะเร็วก็สุดแต่กรรม ถ้า มันแปร ปรวน ก็เยียวยาแก้ไขกันไปตามควร แต่ด้วยความรู้เท่านั้น ว่ามันถึงที่สุดของมัน มันก็ย่อมแก้ไขไม่ได้ ฉะนั้น วิธีจะช่วยไม่ให้เดือดร้อนมาก ก็โดยฝึกจิตฝึกใจให้แกร่งกล้า จนรู้จักปล่อยวางได้

    (๒๕) ธรรมดาเหล็กมันจะเกิดสนิม มันก็จะเกิดจากภายใน จากเนื้อเหล็กนั้นเอง โรคภัยไข้เจ็บก็เหมือนกัน ก็ไม่ได้เกิดที่ไหน นอกจากภายในกายสังขารของเรานั้นเอง การจะสู้ศัตรูภายใน เราต้องบำรุงกำลังภายในของเราให้แข็งแรงเสมอทั้งอวัยวะร่างกายและจิตใจ จึงจะไม่เสียทีต่อข้าศึกนั้น ๆ

    (๒๖) เป็นธรรมดาสังขารร่างกายของเราจะต้องเดินไปสู่ความเสื่อมความสลายแม้จะป้องกันแก้ไขอย่างไร ก็เป็นแต่จะยืดเวลาออกไปเท่านั้น ที่จะห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายเลยนั้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงให้มุ่งเอาจิตเป็นสำคัญ คือบำรุงรักษาร่างกายพอประมาณ แต่บำรุงรักษาจิตให้มากๆ เป็นการหาสาระจากสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารนั้น ๆ ให้มากที่สุด ที่จะทำได้ คือต้องเร่งบำเพ็ญกุศล เต็มสติกำลัง ทั้งทาน ศีล ภาวนา แม้ร่างกายจะแก่จะแตกจะตายก็ไม่วิตกกังวล เพราะสมบัติดีๆ มีไว้ เตรียมไว้แล้วดังนี้ จะไปไหน ก็ไม่ต้องกลัว

    (๒๗) การภาวนาเป็นเรื่องของการบำเพ็ญเพื่อความสุข ไม่ใช่เพื่อความทุกข์ แม้นจะมีความยากลำบากบ้างก็อย่าท้อถอย ให้เห็นเป็นของธรรมดาของการทำสิ่งที่มีค่าให้เกิดขึ้น

    (๒๘) การที่เราตั้งใจทำความดี ทุกสิ่งทุกอัน จะเป็นประเภทบารมี ๑๐ ทัศ ๓๐ ทัศ ก็ดี หรือความดีต่างๆ ก็ดี ก็มีความมุ่งหมายที่จะทำให้จิตใจเราดีขึ้น สะอาดขึ้น มีปัญญารู้แจ้ง ทำนองเดียวกัน ฉะนั้น แม้ว่าเราจะมาเพียงนั่งภาวนาทำจิตให้รวมเป็นสมาธิ เป็นวิปัสนา ให้เกิดปัญญารู้แจ้งนี้ จึงเป็นการทำความดีอย่างสูง เป็นการสร้างบารมี รวบยอดนั่นเอง

    (๒๙) เรื่องการแผ่เมตตานี้ เป็นการทำกระแสจิตของเราให้กว้างขวาง ผ่องใส ปราศจากความพยายามจองเวร มีส่วนช่วยในการภาวนาดีขึ้น

    (๓๐) เรื่องกรรมฐาน ๔๐ อย่าง และอาจมีหลายอย่างล้วนเป็นคุณประโยชน์ ต่อการภาวนาทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญ อยู่ที่ดวงจิตของผู้บำเพ็ญ ต้องเอาจิตจึงจะเป็นผลขึ้นมา ถ้าไม่เอาจริง กรรมฐานดีอย่างไร ก็ไม่เกิดเป็นผลขึ้นมา ได้

    (๓๑) เมื่อมีปฐมมรรคแล้ว ก็ต้องมีปัจฉิมผล อันเป็นปริโยสาน มิฉะนั้นแล้ว พุทธังก็ย่อมไม่จำเป็นจะต้องมีสังฆัง

    (๓๒) การภาวนาเหมือนเครื่องมือค้นคว้าหาแก้วอันประเสริฐ คนเรามีแก้วอันประเสริฐอยู่ในตัว แต่เมื่อไม่อาศัยการภาวนาก็ไม่สามารถค้นพบแก้วนั้นได้ พระพุทธศาสนามีคุณค่าสูงก็ด้วยวิธีภาวนา ทำจิตใจที่มีกิเลสอาสวะเศร้าหมองให้หมดจดจากสิ่งเศร้าหมองกลับผ่องใสขึ้น

    (๓๓) เรื่องความรู้ของคนเรามีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือความรู้ที่แส่สาย ฟุ้งซ่านไปในสิ่งต่างๆทั้งในอดีต อนาคต เรียกว่า “จิตสังขาร” ความปรุงแต่งของจิต ส่วนอีกอันหนึ่งเป็นความรู้ ที่รู้เรื่องการปรุงแต่งของจิตอีกทีหนึ่ง ..เป็นสภาพที่รู้อยู่ภายใน

    (๓๔) ธรรมะคือมรรคผล เปรียบเหมือนน้ำอยู่ใต้ดิน คนบางคนขุดไปได้เล็กน้อย ไม่พบท้อใจเลิก ก็ไม่ได้น้ำ คนบางคนขุดไปพอลึกลงหน่อยดินพังแล้ว ไม่มีปัญญาแก้ไขเลยขุดไม่ได้ถึงน้ำ ส่วนผู้มีความพยายาม มีสติปัญญา เหมือนผู้มีเครื่องมือดี มีความเพียร มีความอดทน ย่อมขุดไปถึงน้ำได้

    (๓๕) กิเลสมันมีอุบาย หลายอย่าง ที่จะเอาชนะคนผู้จะปราบมันเสมอ แทนที่จะปราบมันลงกลับถูกมันปราบเอา ฉะนั้นวันคืน ล่วงไปอย่าให้ล่วงไปเปล่า ต้องประกอบความเพียรภาวนา อย่าเห็นแก่กิน แกนอนเป็นใหญ่ ให้มุ่งชำระกิเลสเป็นของจำเป็น เป็นหน้าที่สำคัญ

    (๓๖) กิเลสมันเหมือนปลิงหรือทาก ถ้าเราปล่อยให้มันดูดติดอยู่กับตัวเราโดยไม่มีการแก้ไขแล้ว ไม่มีวันที่มันจะหลุดออกได้เอง และนับวันจะทำอันตรายให้มากขึ้น ดังนั้น เราผู้เห็นภัยของกิเลส ก็จงพยายามภาวนาหาทางขูดดึงกิเลส ออกจากตัว อย่าได้นอนใจปล่อยให้มันดูดติดอยู่เรื่อยไป

    (๓๗) ภัยต่างๆที่เห็นๆ กันนั้น อย่างมากก็เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ผ่านไป แต่ส่วนของภัยของกิเลส นั้น ตายแล้วยังไม่หมดภัย มันยังเป็นภัยข้ามภพข้ามชาติ ไปอีก ไม่รู้สิ้นสุด ถ้าเราไม่หาอุบายวิธีกำจัดมัน ให้หมดสิ้นไปหรือเบาบางลง เราก็จะประสบภัยจากมันเรื่อยมา

    (๓๘) คนเราโดยมาก มักถืออุปสรรคเป็นเครื่องบันทอนกำลังใจ เลยท้อแท้ที่จะแก้ไข ปรับปรุง หรือดำเนินกิจการให้รุดหน้าต่อไป ส่วนผู้ที่มีความเข้มแข็ง หรือทำให้จิตใจตนเข้มแข็งต่อไป จะต้องถืออุปสรรคอันตรายต่างๆ เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างเสริมบารมีของตนให้เพิ่มขึ้น



    ôôôôôôôôôô