พระจูฬปันถกเถระ

ชาติภูมิ

ท่านพระจูฬปันถกะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐีผู้มีทรัพย์ ในพระนครราชคฤห์ ชื่อว่าปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง ด้วยเหตุที่เป็นน้องชายพระมหาปันถกะ จึงเติมเครื่องหมาย “จูฬ” เข้าข้างหน้าว่า จูฬปันถกะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องราวของพระมหาปันถกะนั้น ประวัติของท่านในตอนต้น พึงทราบความตามนัยที่กล่าวแล้วในประวัติของพระมหาปันถกะนั้นเถิด ในที่นี้จักกล่าวแต่ตอนที่เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาต่อไป ซึ่งมีความว่า ในเมื่อพระมหาปันถกะผู้เป็นพี่ชายได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว เสวยวิมุตติสุขอยู่ ใคร่จะให้ความสุขเช่นนี้แก่จูฬปันถกะผู้น้องชายบ้าง จึงไปขออนุญาตจากตาเพื่อขอให้จูฬปันถกะบวช เศรษฐีผู้เป็นตาก็อนุญาตให้ตามความประสงค์ พระมหาปันถกะจึงให้จูฬปันถกะบวชฯ



เรียนคาถา

ครั้นจูฬปันถกะบวชแล้วเป็นคนหัวทึบมาก พี่ชายสอนให้เรียนคาถาพรรณนาพระพุทธคุณเพียงคาถาเดียว เรียนอยู่ถึงสี่เดือนก็ยังจำไม่ได้ คาถานั้นว่า “ปทุมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข” แปลว่า “เธอจงดูพระสักยมุนีอังคีรส ผู้มีพระรัศมีแผ่สร้านออกจากพระวรกาย มีพระบวรพักตร์อันเบิกบานปานหนึ่งดอกปทุมชาติชื่อว่าโกกนุท มีกลิ่นหอมย่อมขยายกลีบแล้วบานในกาลเช้า มีกลิ่นเรณูไม่จางหาย ท่านย่อมรุ่งเรืองไพโรจน์ดุจดวงอาทิตย์อันส่องสว่างแผดแสงอยู่กลางท้องฟ้า ฉะนั้น”ฯ



บรรลุอรหัตต์ – เอตทัคคะ

ท่านพระมหาปันถกะ ทราบว่าท่านจูฬปันถกะน้องชายโง่เขลามาก จึงประณามขับไล่ออกเสียจากสำนักของท่าน ทั้งในเวลานั้นท่านเป็นภัตตุทเทศน์ หมอชีวกโกมารภัจจ์มานิมนต์ภิกษุไปฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านก็ไม่นับจูฬปันถกะเข้าด้วย จูฬปันถกะเกิดความน้อยใจคิดจะไปสึกเสีย จึงออกไปแต่เช้าตรู่ ได้พบพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ที่ซุ้มประตู พระองค์จึงตรัสถามว่า จูฬปันถกะ เธอจะไปไหนในเวลาเช่นนี้ จูฬปันถกะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปสึก เพราะพี่ชายขับไล่พระพุทธเจ้าข้า จูฬปันถกะ เธอบวชเพื่อพี่ชายของเธอเมื่อไหร่ บวชเพื่อฉันต่างหาก ก็เมื่อพี่ชายขับไล่แล้วทำไมไม่มาหาฉัน มานี่ เป็นฆราวาสจะมีประโยชน์อะไร มาอยู่กับฉันดีกว่า จูฬปันถกะเข้าไปเฝ้าที่ใกล้แล้วพระองค์ทรงลูบศีรษะด้วยฝ่าพระหัตถ์แล้วพาเสด็จให้นั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงประทานผ้าขาวอันบริสุทธิ์ให้นั่งลูบคลำทำบริกรรมไปว่า “ร โชหรณํ ร โชหรณํ” เมื่อท่านลูบคลำบริกรรมไปไม่นาน ผ้านั้นก็เศร้าหมองเหมือนผ้าเช็ดมือ จึงคิดว่าผ้านี้เป็นของขาวบริสุทธิ์อย่างเหลือเกิน แต่อาศัยที่ได้มาถูกอัตภาพนี้ จึงละภาวะเดิมเสีย กลายเป็นผ้าที่เศร้าหมองไปอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ แล้วเจริญวิปัสสนา พระบรมศาสดาทรงทราบจึงตรัสสั่งสอนด้วยพระคาถา ในเวลาจบพระคาถา ท่านพระจูฬปันถกะ ได้บรรลุอรหันต์ขณะที่ยังลูบคลำผ้าบริกรรมอยู่นั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ หย่อนอยู่องค์หนึ่งเสด็จ ไปสู่เรือนของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นเข้าไปถวาย พระองค์ทรงปิดบาตรเสีย ตรัสว่า ภิกษุยังมาไม่หมด ยังเหลืออยู่ที่วิหารอีกองค์หนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงให้คนไปตาม ในครั้งนั้นท่านพระจูฬปันถกะนิรมิตพระภิกษุให้เต็มวิหารพันรูป เมื่อคนใช้ไปถึง เห็นพระมากตั้งพันรูป จึงกลับไปบอกแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้งนั้นพระบรมศาสดาตรัสกะบุรุษนั้นว่า เจ้าจงไปบอกว่า “พระศาสดาตรัสเรียก พระจูฬปันถกะ” บุรุษนั้นก็กลับมาบอกเหมือนอย่างนั้น ภิกษุตั้งพันพูดขึ้นว่า ฉันชื่อจูฬปันถกะ บุรุษนั้นก็กลับมาอีก กราบทูลว่าภิกษุเหล่านั้นชื่อ จูฬปันถกะทั้งนั้นพระเจ้าข้า พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุรูปใดตรัสขึ้นก่อน จงจับมือภิกษุนั้นไว้ ภิกษุที่เหลือนอกนั้นจักอันตรธานหายไปบุรุษนั้นไปทำเหมือนอย่างนั้น จึงได้พาพระจูฬปันถกะไปที่นิมนต์ ในที่สุดแห่งภัตตกิจ ท่านพระจูฬปันถกะได้ทำภัตตานุโมทนา อาศัยที่ท่านประกอบด้วยมโนมยิทธิเช่นนี้ จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธ์ปรินิพพานฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab49.htm