เตมิยชาดก/พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมม

กระทู้: เตมิยชาดก/พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมม

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. *8q* said:

    เตมิยชาดก/พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมม

    ท่านจงอย่าแสดงตนเป็นคนฉลาด จงให้คนทั้งปวงรู้ว่าตนเป็นคนโง่
    คนทั้งหมดนั้นจะได้ดูหมิ่นท่านว่า เป็นคนกาฬกัณณี ความประสงค์ของ
    ท่านจะสำเร็จด้วยอาการอย่างนี้.
    [๓๙๕] ดูกรแม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่ท่านกล่าว ท่านเป็นผู้ปรารถนา
    ประโยชน์ ปรารถนาจะเกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า.
    [๓๙๖] ดูกรนายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไม เราถามแล้ว ขอท่านจงบอก
    ท่านจักทำประโยชน์อะไรด้วยหลุม.
    [๓๙๗] พระราชโอรสของพระราชาเป็นใบ้ เป็นง่อยเปลี้ย ไม่มีจิตใจ พระราชา
    ตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า พึงฝังลูกเราเสียในป่า.
    [๓๙๘] ดูกรนายสารถี เรามิได้เป็นคนหนวก มิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย
    มิได้มีอินทรีย์วิกลการ ถ้าท่านพึงฝังเราในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่
    ไม่เป็นธรรม เชิญท่านดูขาและแขนของเรา และเชิญฟังคำภาษิตของเรา
    ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.
    [๓๙๙] ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ ท่านเป็นใคร
    หรือว่าเป็นบุตรของใคร เราทั้งหลายจะรู้จักท่านอย่างไร.
    [๔๐๐] เราไม่ใช่เป็นเทวดา ไม่ใช่เป็นคนธรรพ์ ไม่ใช่เป็นท้าวสักกปุรินททะ
    เราเป็นโอรสของพระเจ้ากาสีผู้ที่ท่านอาศัยบารมีเลี้ยงชีพอยู่ ดูกรนายสารถี
    ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคล
    พึงนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะว่า
    ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็น
    เหมือนกิ่งไม้ ท่านสารถีเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ดูกรนายสารถี
    ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.
    [๔๐๑] ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ออกจากเรือนของตน ไปในที่ไหนๆ ย่อมมี
    อาหารมากมาย คนเป็นอันมากย่อมอาศัยผู้นั้นเป็นอยู่ ผู้ใดไม่ประทุษร้าย
    มิตร ผู้นั้นไปยังชนบท นิคม ราชธานีใดๆ ย่อมเป็นผู้อันชนทั้งหลาย
    ในชนบท นิคม ราชธานีนั้นๆ บูชา ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นโจร
    ทั้งหลายไม่ข่มเหง พระมหากษัตริย์ ก็ไม่ทรงดูหมิ่น และผู้นั้นย่อมข้าม
    พ้นศัตรูทั้งปวงได้ ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นไม่ได้โกรธเคืองใครๆ
    มายังเรือนของตน ย่อมเป็นผู้อันมหาชนยินดีต้อนรับในสภา ทั้งเป็น
    ผู้สูงสุดในหมู่ญาติ ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นสักการะคนอื่นแล้ว
    ย่อมเป็นผู้อันคนอื่นสักการะตอบ เคารพคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้อันคนอื่น
    เคารพตอบ ทั้งเป็นผู้อันบุคคลกล่าวสรรเสริญเกียรติคุณ ผู้ใดไม่ประทุษ
    ร้ายมิตร บูชาผู้อื่น ย่อมได้บูชาตอบ ไหว้ผู้อื่น ย่อมได้ไหว้ตอบ
    ทั้งย่อมถึงอิสริยยศและเกียรติยศ ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นย่อม
    รุ่งเรืองเหมือนกองไฟ ย่อมไพโรจน์เหมือนเทวดา เป็นผู้อันสิริไม่ละแล้ว
    ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร โคของผู้นั้นย่อมเกิดมากมูล พืชในนาย่อม
    งอกงาม ผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลที่หว่านลงแล้ว นรชนใดไม่ประทุษร้าย
    มิตร นรชนนั้น พลาดจากภูเขา หรือพลาดตกจากต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่ง
    ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ศัตรูทั้งหลายย่อมไม่ข่มขี่ผู้นั้น เหมือนต้นไทร
    ที่มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว ลมประทุษร้ายไม่ได้ฉะนั้น.
    [๔๐๒] ข้าแต่พระราชโอรส เชิญเสด็จเถิด เกล้ากระหม่อม จักนำพระองค์
    เสด็จกลับยังพระราชมณเฑียร เชิญพระองค์เสวยราชสมบัติ พระองค์
    จงทรงพระเจริญ จะทรงหาประโยชน์อะไรอยู่ในป่าเล่า.
    [๔๐๓] ดูกรนายสารถี เราไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ พระประยูรญาติ หรือทรัพย์
    สมบัติ ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติธรรม.
    [๔๐๔] ข้าแต่พระราชโอรส พระองค์เสด็จกลับจากที่นี้แล้ว จะทำให้เกล้า-
    กระหม่อมได้รางวัลที่น่ายินดี เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว พระชนกและ
    พระชนนีพึงพระราชทานรางวัลแก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส
    เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว นางสนม พวกกุมาร พ่อค้า และพวก
    พราหมณ์ จะพึงดีใจ ให้รางวัลแก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส
    เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และ
    กองพลราบ จะพึงดีใจให้รางวัล แก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส
    เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว ชาวชนบท และชาวนิคม ผู้มีธัญญาหาร
    มากมาย จะมาประชุมกันให้เครื่องบรรณาการแก่เกล้ากระหม่อม.
    [๔๐๕] เราเป็นผู้อันพระชนกและพระชนนี ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคม และ
    กุมารทั้งปวงสละแล้ว เราไม่มีเรือนของตน เราอันพระชนนีทรงอนุญาต
    แล้ว และพระชนกก็ทรงยินดี สละอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ไม่พึงปรารถนา
    กามทั้งหลาย เราจะบวช.
    [๔๐๖] ความปรารถนาผลของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เราเป็น
    ผู้มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว ดูกรนายสารถี ท่านจงรู้อย่างนี้ ประโยชน์
    โดยชอบของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จโดยแท้ เราเป็นผู้มีพรหมจรรย์
    อันสำเร็จแล้ว เราออกบวชแล้ว เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.
    [๔๐๗] พระองค์เป็นผู้มีพระวาจาอันไพเราะ สละสลวยอย่างนี้ เพราะเหตุไร
    พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนักพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น.
    [๔๐๘] เราเป็นคนง่อยเปลี้ยเพราะไม่มีเครื่องต่อก็หาไม่ เป็นคนหนวกเพราะ
    ไม่มีช่องหูก็หาไม่ เป็นคนใบ้เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ ท่านอย่าเข้าใจว่า
    เราเป็นใบ้ เราระลึกชาติก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้ เราได้เสวย
    ราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง เราได้เสวย
    ราชสมบัติในกาลนั้นยี่สิบปีแล้วต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี เรา
    กลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลาย
    อย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พูดในสำนัก
    ของพระชนก และพระชนนีในกาลนั้น พระชนกทรงอุ้มเรา ให้นั่ง
    บนพระเพลา แล้วตรัสสั่งข้อความว่า จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงขังโจร
    คนหนึ่งไว้ในเรือนจำ จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง แล้วราดด้วยน้ำแสบ
    ที่แผล จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว พระชนกตรัสสั่งข้อความแก่มหาชน
    ด้วยประการดังนี้ เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคาย ที่พระชนกตรัสนั้น จึง
    กลัวต่อการเสวยราชสมบัติ เรามิได้เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ มิได้เป็น
    คนง่อยเปลี้ย ก็ทำเหมือนเป็นคนง่อยเปลี้ย เราแกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่
    ในอุจจาระปัสสาวะของตน ชีวิตเป็นของฝืดเคือง เป็นของน้อย
    ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้ว พึงก่อเวรกับใครๆ ใคร
    เล่าได้อาศัยชีวิตนี้แล้ว พึงก่อเวรกับใครๆ เพราะไม่ได้ปัญญา และเพราะ
    ไม่เห็นธรรม ความหวังผลของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน
    เราเป็นผู้มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว ดูกรนายสารถี ท่านจงรู้อย่างนี้
    ประโยชน์โดยชอบของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จโดยแท้ เราเป็นผู้
    มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว เราออกบวชแล้วเป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.
    [๔๐๙] ข้าแต่พระราชโอรส แม้เกล้ากระหม่อม ก็จักบวชในสำนักของพระองค์
    ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอนุญาตให้เกล้ากระหม่อมบวชด้วยเถิด ขอพระ
    องค์จงทรงพระเจริญ เกล้ากระหม่อมก็ชอบบวช.
    [๔๑๐] ดูกรนายสารถี เรามอบรถให้ท่านไว้ ท่านจงเป็นผู้ไม่มีหนี้มา จริงอยู่
    การบรรพชา ของบุคคลผู้ไม่มีหนี้ ท่านผู้แสวงหาทั้งหลายสรรเสริญ.
    [๔๑๑] ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ เมื่อใด เกล้ากระหม่อมได้ทำตามพระดำรัส
    ของพระองค์แล้ว เมื่อนั้น เกล้ากระหม่อมทูลวิงวอนแล้ว ขอพระองค์
    ได้ทรงโปรดกระทำตามคำของเกล้ากระหม่อม ขอพระองค์จงประทับรอ
    อยู่ ณ ที่นี้จนกว่าเกล้ากระหม่อมจะเชิญเสด็จพระราชามา เมื่อพระชนก
    ของพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นแล้ว จะพึงทรงมีพระปีติโสมนัสเป็นแน่.
    [๔๑๒] ดูกรนายสารถี เราจะทำตามคำที่ท่านกล่าวกะเรา แม้เราก็ปรารถนาจะได้
    เห็นพระชนกของเราเสด็จมา ณ ที่นี้ เชิญท่านกลับไปเถิด ท่านได้ทูล
    พระประยูรญาติด้วยก็เป็นความดี ท่านเป็นผู้อันเราสั่งแล้ว พึงกราบทูล
    ถวายบังคมพระชนนีและพระชนกของเรา.
    [๔๑๓] นายสารถีจับพระบาทของพระโพธิสัตว์ และกระทำประทักษิณแล้ว ขึ้น
    รถบ่ายหน้าเข้าไป ยังพระทวารพระราชวัง.
    [๔๑๔] พระราชชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว
    ทรงกรรแสง มีพระเนตรชุ่มด้วยน้ำอัสสุชล ทอดพระเนตรดูนายสารถี
    นั้นอยู่ ทรงเข้าพระทัยว่านายสารถีฝังลูกของเราเสร็จแล้วกลับมา ลูก
    ของเราอันนายสารถีฝังในแผ่นดิน ถมแผ่นดินแล้วเป็นแน่ ศัตรูทั้งหลาย
    ย่อมพากันยินดี คนมีเวรทั้งหลายย่อมพากันอิ่มใจแน่แท้ เพราะเห็นนาย
    สารถีกลับมา เพราะนายสารถีฝังลูกของเรา พระราชชนนีทอดพระเนตร
    เห็นรถเปล่า และนายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว จึงทรงกรรแสง มีพระเนตร
    ชุ่มด้วยน้ำอัสสุชล ตรัสถามนายสารถีระร่ำระรักว่า ลูกของเราเป็นใบ้
    หรือ เป็นง่อยเปลี้ยจริงหรือ ลูกของเราขณะเมื่อท่านจะฝังในแผ่นดิน พูด
    อะไรบ้างหรือเปล่า ดูกรนายสารถี ขอได้บอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด ลูก
    ของเราเป็นใบ้ ง่อยเปลี้ย เมื่อท่านจะฝังลงแผ่นดิน กระดิกมือและเท้า
    อย่างไร เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา.
    [๔๑๕] ขอเดชะพระแม่เจ้า ขอได้โปรดพระราชทานอภัยแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้า-
    พระพุทธเจ้าขอกราบทูลตามที่ได้ยินและได้เห็นมา ในสำนักพระราชโอรส.
    [๔๑๖] ดูกรนายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยแก่ท่าน อย่ากลัวเลย จงพูดไปเถิด
    ตามที่ท่านได้ฟัง หรือได้เห็นมาในสำนักพระราชโอรส.
    [๔๑๗] พระราชโอรสนั้น มิได้ทรงเป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย มีพระวาจาสละ-
    สลวย ทราบว่า พระองค์ทรงกลัวต่อการครองราชสมบัติ จึงได้ทรง
    กระทำการลวงเป็นอันมาก พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อนที่พระองค์ได้
    เสวยราชสมบัติได้ พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไป
    ตกนรกอันกล้าแข็ง พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี แล้ว
    ต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐๐๐๐ ปี พระองค์ทรงกลัวจะต้องเสวยราช-
    สมบัตินั้น จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลายอย่าอภิเษกเราใน
    ราชสมบัติเลย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสในราชสำนัก ของ
    พระชนกและพระชนนีในกาลนั้น พระราชโอรสทรงสมบูรณ์ด้วยอังคา-
    พยพ มีพระรูปสมบัติงดงามสมส่วน มีพระวาจาสละสลวย มีพระ
    ปัญญาเฉียบแหลม ทรงสถิตอยู่ในทางสวรรค์ ถ้าพระแม่เจ้าทรงปรารถนา
    พระราชโอรสของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลเชิญเสด็จพระแม่เจ้า
    เสด็จไปให้ถึงสถานที่ ซึ่งพระเตมีย์ราชโอรสประทับอยู่เถิด พระพุทธ-
    เจ้าข้า.
    [๔๑๘] เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมรถ จงเทียมม้า จงผูกเครื่องประดับช้าง จง
    กระทั่งสังข์และบัณเฑาะว์ จงตีกลองหน้าเดียว จงตีกลองสองหน้า
    และรำมะนาอันไพเราะ ขอชาวนิคม จงตามเรามา เราจักไปให้โอวาท
    พระราชโอรส นางสนม พวกกุมาร พวกพ่อค้า และพวกพราหมณ์
    จงรีบตระเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทพระราชโอรส พวกกองพลช้าง
    กองพลม้า กองพลรถและกองพลราบ จงรีบเทียมยาน เราจักไปให้
    โอวาทพระราชโอรส ชาวชนบท และชาวนิคม จงมาพร้อมกัน จงรีบ
    ตระเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทพระราชโอรส.
    [๔๑๙] พวกสารถี จูงม้าที่เทียมรถและม้าสินธพ ซึ่งเป็นพาหนะว่องไว มายัง
    ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลว่า ม้าทั้งสองนี้เทียมไว้เสร็จแล้วพระเจ้าข้า.
    [๔๒๐] ม้าอ้วนไม่มีความว่องไว ม้าผอมไม่มีเรี่ยวแรง จงเว้นม้าผอมและม้า
    อ้วนเสีย เลือกเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์.
    [๔๒๑] ลำดับนั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับสินธพ อันเทียมแล้ว ได้ตรัส
    กับนางชาววังว่า จงตามเรามาทุกคน พระราชาตรัสสั่งว่า จงตระเตรียม
    เครื่องปัญจราชกกุธภัณฑ์ คือ พัดวาลวีชนี อุณหิส พระขรรค์ เศวต-
    ฉัตร และฉลองพระบาททอง ให้ขนขึ้นรถไปด้วย ลำดับนั้นแล พระ
    ราชาตรัสสั่งให้นายสารถีนำทางเสด็จเคลื่อนขบวนเข้าไปถึงสถานที่ ที่
    พระเตมีย์ ราชฤาษีประทับอยู่โดยพลัน.
    [๔๒๒] ส่วนพระเตมีย์ราชฤาษี ทอดพระเนตรเห็นพระชนกนาถกำลังเสด็จมา
    ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ ทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ จึงถวาย
    พระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ทรงปราศจากพระโรคาพาธหรือ ทรง
    พระสำราญดีหรือ ราชกัญญาทั้งปวง และโยมพระมารดาของอาตมภาพ
    ไม่มีพระโรคพาธหรือ.
    [๔๒๓] ดูกรพระลูกรัก ดิฉันไม่มีโรคาพาธ สุขสำราญดี พระราชกัญญาทั้งปวง
    และโยมพระมารดาของพระลูกรักไม่มีโรคาพาธ.
    [๔๒๔] ขอถวายพระพร มหาบพิตรไม่เสวยน้ำจัณฑ์ หรือ ไม่ทรงโปรดปราน
    น้ำจัณฑ์หรือ พระหฤทัยของมหาบพิตรทรงยินดีในสัจจะ ในธรรม
    และในทานหรือ.
    [๔๒๕] ดูกรพระลูกรัก ดิฉันไม่ดื่มน้ำจัณฑ์ ไม่โปรดปรานน้ำจัณฑ์ ใจของดิฉัน
    ยินดีในสัจจะ ในธรรมและในทาน.
    [๔๒๖] ขอถวายพระพร พาหนะมีม้าเป็นต้นของมหาบพิตรที่เขาเทียมแล้วไม่มี
    โรคหรือ นำอะไรๆ ไปได้หรือ มหาบพิตรไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาพระ
    สรีระแลหรือ.
    [๔๒๗] ดูกรพระลูกรัก พาหนะมีม้าเป็นต้นของดิฉันที่เทียมแล้ว ไม่มีโรค นำ
    อะไรๆ ไปได้ ดิฉันไม่มีพยาธิเข้าไปแผดเผาสรีระ.
    [๔๒๘] ขอถวายพระพร ปัจจันตชนบทของมหาบพิตรยังเจริญดีอยู่หรือ คาม-
    นิคมในท่ามกลางรัฐสีมาของมหาบพิตรยังแน่นหนาดีหรือ ฉางหลวง
    และท้องพระคลังของมหาบพิตรยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ.
    [๔๒๙] ดูกรพระลูกรัก ปัจจันตชนบทของดิฉันยังเจริญดีอยู่ คามนิคมในท่าม
    กลางรัฐสีมาของดิฉันยังแน่นหนาดี ฉางหลวงและท้องพระคลังของ
    ดิฉันทั้งหมดยังบริบูรณ์ดี.
    [๔๓๐] ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จมาดีแล้ว มหาบพิตรเสด็จไม่ร้าย ขอ
    ราชบุรุษทั้งหลายจงจัดตั้งบัลลังก์ถวายให้พระราชาประทับเถิด.
    [๔๓๑] ขอเชิญประทับนั่ง ณ เครื่องลาดใบไม้ที่เขาปูลาดไว้ถวายมหาบพิตร ณ
    ที่นี้ จงทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของมหาบพิตรเถิด.
    [๔๓๒] ขอถวายพระพร ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้เป็นของสุก (นึ่งแล้ว) ไม่
    มีรสเค็ม มหาบพิตรผู้เป็นแขกของอาตมภาพเสด็จมาถึงแล้วเชิญเสวย
    เถิด ขอถวายพระพร.
    [๔๓๓] ดิฉันไม่บริโภคใบหมากเม่า ใบหมากเม่านี้ไม่ใช่อาหารสำหรับดิฉัน ดิฉัน
    บริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ซึ่งปรุงด้วยมังสะอันสะอาด.
    [๔๓๔] ความอัศจรรย์ย่อมแจ่มแจ้งกะดิฉัน เพราะได้เห็นพระลูกรักอยู่ในที่ลับแต่
    ผู้เดียว บริโภคอาหารเช่นนี้ เหตุไรผิวพรรณ (ของผู้บริโภคอาหารเช่นนี้)
    จึงผ่องใส.
    [๔๓๕]
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  2. *8q* said:

    Re: เตมิยชาดก/พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมม

    ขอถวายพระพร อาตมภาพนอนผู้เดียวบนเครื่องลาดใบไม้ที่ปูลาดไว้แล้ว
    เพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ใครๆ มิได้
    ตั้งการรักษาทางราชการที่ต้องผูกเหน็บดาบสำหรับอาตมภาพ เพราะการ
    นอนผู้เดียวนั้นผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ขอถวายพระพร อาตม-
    ภาพไม่ได้เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มา
    ถึง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น ผิว
    พรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส คนพาลทั้งหลายย่อมเหือดแห้ง เพราะ
    ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
    เปรียบเหมือนไม้อ้ออันเขียวสด ถูกถอนขึ้นทิ้งไว้ที่แดด ฉะนั้น.
    [๔๓๖] ดูกรพระลูกรัก ดิฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กอง
    พลราบ กองโล่ห์และพระราชนิเวศน์อันเป็นสถานที่รื่นรมย์แก่พระลูกรัก
    ดิฉันขอมอบนางสนมกำนัลผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ขอ
    พระลูกรักจงปกครองนางสนมกำนัลเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดิฉัน
    ทั้งหลาย หญิง ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษา
    ดีแล้วในหน้าที่ของหญิง จักยังพระลูกรักให้รื่นรมย์ในกาม พระลูกรัก
    จักทำประโยชน์อะไรในป่า ดิฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่นผู้
    ประดับประดาดีแล้ว พระลูกรักให้พระโอรสเกิดในหญิงเหล่านั้นหลาย
    คนแล้วภายหลังจึงบวชเถิด พระลูกเจ้ายังทรงพระเยาว์หนุ่มแน่น ตั้งอยู่
    ในปฐมวัย พระเกศายังดำสนิท จงเสวยราชสมบัติก่อนเถิด พระลูก
    เจ้าจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า.
    [๔๓๗] ขอถวายพระพร คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
    ควรจะเป็นคนหนุ่ม เพราะว่าการบวชของคนหนุ่ม ท่านผู้แสวงหาคุณ-
    ธรรมมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญคนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้
    ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม อาตมภาพจักประพฤติพรหม-
    จรรย์ อาตมภาพไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ อาตมภาพเห็นเด็กชายของ
    ท่านทั้งหลาย ผู้เรียกมารดาบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักอันได้มาด้วยยากยิ่งนัก
    ยังไม่ทันถึงแก่ก็ตายเสียแล้ว อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของท่านทั้งหลาย
    ซึ่งสวยสดงดงามน่าดูน่าชม มีอันสิ้นไปแห่งชีวิตเหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ถูก
    ถอน ฉะนั้น จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตามแม้จะยังหนุ่มสาวก็ตาย
    เพราะเหตุนั้น ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตนั้นว่า เรายังเป็นหนุ่มสาว
    อายุของคนเป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เปรียบเหมือนอายุ
    ของฝูงปลาในน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้
    สัตว์โลกถูกครอบงำและถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็น
    ประโยชน์เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม.
    [๔๓๘] สัตว์โลกอันอะไรครอบงำไว้ และอันอะไรห้อมล้อมไว้ อะไรชื่อว่าสิ่ง
    ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่ ดิฉันถามแล้ว ขอพระลูกเจ้าจงบอกข้อนั้น
    แก่ดิฉัน.
    [๔๓๙] สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ อันความแก่ห้อมล้อมไว้ วันคืนชื่อว่าสิ่ง
    ไม่เป็นประโยชน์เป็นไป มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร
    เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยัง
    เหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้น้ำ
    ที่เต็มฝั่งย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่
    กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้
    ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัด
    พาไป ฉันนั้น.
    [๔๔๐] ดูกรพระลูกรัก ดิฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กอง
    พลราบ กองพลโล่ห์ และพระราชนิเวศน์อันเป็นสถานที่รื่นรมย์แก่พระ
    ลูกรัก ดิฉันขอมอบนางสนมกำนัลผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
    ขอพระลูกจงปกครองนางสนมกำนัลเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดิฉัน
    ทั้งหลาย หญิง ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษา
    ดีแล้วในหน้าที่ของหญิง จักยังพระลูกรักให้รื่นรมย์ในกาม พระลูกรัก
    จักทำประโยชน์อะไรในป่า ดิฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่น ผู้
    ประดับประดาดีแล้ว มาให้แก่พระลูก พระลูกรักให้พระโอรสเกิดใน
    หญิงเหล่านั้นหลายคนแล้ว ภายหลังจึงบวชเถิด พระลูกเจ้ายังทรงพระ-
    เยาว์หนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัยพระเกศายังดำสนิท จงเสวยราชสมบัติ
    ก่อนเถิด พระลูกเจ้าจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า ดูกร
    พระลูกรัก ดิฉันขอมอบฉางหลวง พระคลัง พาหนะ พลนิกายและนิเวศน์
    อันน่ารื่นรมย์ แก่พระลูกรัก พระลูกรักจงแวดล้อมด้วยราชกัญญาอันงด
    งามเป็นมณฑล จงห้อมล้อมด้วยหมู่นางทาสี เสวยราชสมบัติก่อนเถิด
    พระลูกรักจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า.
    [๔๔๑] มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจักตายเพราะ
    ภรรยาทำไม ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวซึ่งต้องแก่ ทำไมจะ
    ต้องให้ชราครอบงำในโลกพิศวาสอันมีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น จัก
    เพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์
    อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยลูกและเมียแก่
    อาตมภาพ อาตมภาพหลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร มัจจุราช
    ย่อมไม่ย่ำยีอาตมภาพซึ่งรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว
    จะยินดีไปทำไม จะประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ผลไม้ที่สุก
    แล้ว ย่อมเกิดภัยแก่การหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว
    ย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลา
    เช้าพอเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเย็น พอ
    ถึงเวลาเช้าก็ไม่ได้เห็นกัน ควรรีบทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้ทีเดียว
    ใครเล่าจะพึงรู้ความตายว่าจะมีในวันพรุ่งนี้ เพราะความผัดเพี้ยนกับ
    มัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นไม่มีเลย โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์
    อาตมภาพเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร เชิญมหาบพิตรเสด็จ
    กลับเถิด อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ.
    จบ เตมิยชาดกที่ ๑
    เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๒๖๐๗ - ๒๘๗๐. หน้าที่ ๑๐๒ - ๑๑๒.
    http://84000.org/tipitaka/atita/v.ph...70&pagebreak=0
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  3. *8q* said:

    Re: เตมิยชาดก/พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมม

    อรรถกถา เตมิยชาดก
    พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
    พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภมหาภิเนกขัมมบารมี. ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มา ปณฺฑิจฺจยํ วิภาวย ดังนี้เป็นต้น.
    ความพิสดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันอยู่ในโรงธรรมสภา พรรณนามหาภิเนกขัมมบารมี ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นด้วยทิพโสต เสด็จออกจากพระคันธกุฎีมายังโรงธรรมสภา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายประชุมเจรจากันถึงเรื่องอะไร ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามีบารมีเต็มแล้ว ทิ้งราชสมบัติออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลย เมื่อก่อน ญาณยังไม่แก่กล้า เรากำลังบำเพ็ญบารมีอยู่ ได้ทิ้งราชสมบัติออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่นั้น จึงน่าอัศจรรย์. ตรัสดังนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพอยู่. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงเล่าเรื่อง จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่า กาสิกราช ครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอ ในกรุงพาราณสี พระองค์มีสนมนารีประมาณหนึ่งหมื่นหกพันคน. บรรดาสนมนารีเหล่านั้น แม้สักคนหนึ่งก็ไม่มีโอรสหรือธิดาเลย. กาลนั้นชาวพระนครกล่าวกันว่า พระราชาของพวกเราไม่มีพระโอรส แม้องค์หนึ่งที่จะสืบพระวงศ์ จึงประชุมกันที่พระลานหลวง โดยนัยอันมาแล้วในกุสราชชาดกนั่นแล กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงปรารถนาพระโอรสเถิด พระราชาทรงสดับคำแห่งชาวเมืองนั้นแล้ว ตรัสเรียกสนมนารีหนึ่งหมื่นหกพันมาในขณะนั้น แล้วมีพระราชดำรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงปรารถนาบุตร. สนมนารีเหล่านั้นทำกิจ เป็นต้นว่า วิงวอนและบำรุงเทวดาทั้งหลาย มีพระจันทร์ เป็นต้น แม้ปรารถนาก็หาได้โอรสหรือธิดาไม่.
    ฝ่ายอัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช ผู้เป็นพระธิดาแห่งพระเจ้ามัททราช พระนามว่า จันทาเทวี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสีลาจารวัตร. พระราชามีพระราชดำรัสสั่งว่า แน่ะนางผู้เจริญ แม้เธอก็จงปรารถนาพระโอรส. พระเทวีได้สดับพระราชดำรัสของพระราชสวามีแล้ว ทรงทูลรับว่า สาธุ แล้วจึงสมาทานอุโบสถในวันเพ็ญ เปลื้องสรรพาภรณ์ บรรทมเหนือพระยี่ภู่น้อย ทรงอาวัชนาการถึงศีลของพระองค์ ได้ทรงกระทำกิริยาว่า ถ้าข้าพเจ้ารักษาศีลไม่ขาด ขอบุตรของข้าพเจ้าจงเกิดขึ้นด้วยสัจจาวาจานี้.
    ด้วยเดชานุภาพแห่งศีลของพระนางจันทาเทวีนั้น. ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชแสดงอาการร้อน. ท้าวสักกะเมื่อทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้นว่า พระนางจันทาเทวีปรารถนาโอรส ตกลงเราจักให้โอรสแก่พระนางนั้น. ทรงพิจารณาถึงโอรสที่สมควรแก่พระนางก็ทรงเห็น พระโพธิสัตว์. กาลนั้น พระโพธิสัตว์ครองราชสมบัติอยู่ ในกรุงพาราณสีได้ยี่สิบปี เคลื่อนจากมนุษยโลกนั้น บังเกิดในอุสสุทนรก เสวยทุกข์อยู่ในนรกนั้นแปดหมื่นปี เคลื่อนจากนรกนั้น บังเกิดในพิภพดาวดึงส์ ตั้งอยู่ในดาวดึงส์นั้นตลอดอายุ เคลื่อนจากดาวดึงส์นั้น ประสงค์จักไปเทวโลกชั้นสูง. ครั้งนั้น ท้าวสักกะเสด็จไปสู่สำนักของพระโพธิสัตว์ ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ เมื่อท่านเกิดในมนุษยโลก บารมีทั้งหลายของท่านจักเต็มเปี่ยม ความเจริญจักมีแก่ท่าน และแก่พระชนกชนนีของท่าน ด้วยว่า พระอัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช พระนามว่า จันทาเทวี ปรารถนาโอรส. ท่านจงอุบัติในพระครรภ์ของพระนางนั้น แล้วท้าวสักกะทรงถือเอาซึ่งปฏิญญาแก่พระโพธิสัตว์นั้น และแก่เทวบุตรทั้งหลายประมาณ ๕๐๐ องค์ผู้จักจุติ แล้วเสด็จกลับไปยังที่ประทับของพระองค์ทีเดียว. พระโพธิสัตว์นั้นรับคำว่า สาธุ แล้วจุติพร้อมกับเทวบุตร ๕๐๐ องค์. พระองค์เองถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี ส่วนเทวบุตรประมาณ ๕๐๐ องค์นอกนี้ ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของภริยาอมาตย์ทั้งหลาย.
    กาลนั้น พระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี เป็นประหนึ่งเต็มไปด้วยแก้ววิเชียร. พระนางทรงทราบว่าตั้งครรภ์ จึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงทราบดังนั้น จึงได้พระราชทานครรภ์บริหารแก่พระนาง. พระนางมีพระครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็ประสูติพระโอรส ซึ่งสมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม ภรรยาอมาตย์ทั้งหลายก็คลอดกุมาร ๕๐๐ ในเรือนอมาตย์ ในวันนั้นเหมือนกัน. ขณะนั้น พระราชาประทับอยู่ในที่เสด็จออก แวดล้อมไปด้วยหมู่อมาตย์ราชบริพาร. ลำดับนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบว่า พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว พระเจ้าข้า. พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ทรงมีความรักในพระโอรสเป็นครั้งแรกเกิดขึ้น ตัดพระฉวีจดพระอัฐิมิญชะ ดำรงอยู่เกิดพระปีติซาบซ่านภายในพระกมล แม้หทัยของอมาตย์ราชบริพารทั้งหลายก็เกิดเยือกเย็นทั่วกัน พระราชาตรัสถามเหล่าอมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายดีใจหรือ ? เมื่อลูกชายของเราเกิด. อมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า พระองค์ตรัสถามไย? พระเจ้าข้า เมื่อก่อนพวกข้าพระองค์ไร้ที่พึ่ง บัดนี้พวกข้าพระองค์มีที่พึ่ง ได้เจ้านายแล้ว.
    พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของเหล่าอมาตย์ ก็เกิดพระปีติปลื้มพระทัย จึงตรัสเรียกมหาเสนาบดีมาตรัสสั่งว่า ท่านมหาเสนาบดีผู้เจริญ ลูกชายของฉันควรจะได้บริวาร ท่านจงไปตรวจดูว่า ในเรือนอมาตย์มีทารกเกิดในวันนี้เท่านี้. มหาเสนาบดีรับพระราชบัญชาแล้ว ไปตรวจดูเห็นทารกในเรือนอมาตย์ ๕๐๐ คน จึงกราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาได้ทรงสดับคำ ของอมาตย์เหล่านั้นก็เกิดพระปิติ จึงมีรับสั่งให้พระราชทานเครื่องประดับสำหรับกุมารแก่ทารกทั้ง ๕๐๐ คน และให้พระราชทานนางนม ๕๐๐ คน. แต่สำหรับพระมหาสัตว์ พระราชาพระราชทานนางนม ๖๔ นาง ล้วนแต่เป็นนางนมผู้เว้นโทษมีสูงนัก เป็นต้น นมไม่ยาน น้ำนมมีรสหวาน เว้นนางนมที่มีโทษเช่นนั้น เพราะเหตุไร เพราะเมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีที่สูงนัก คอทารกจักยืดยาวเกินไป เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีเตี้ยนัก กระดูกคอทารกจักหดสั้น. เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีผอมนัก ขาทั้งสองของทารกจักเสียดสีกัน. เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีอ้วนนัก เท้าทั้งสองของทารก จักเพลีย. สตรีมีผิวดำนัก น้ำนมเย็นเกินไป สตรีมีผิวขาวนัก น้ำนมร้อนเกินไป. เมื่อทารกดื่มนมของสตรีนมยาน จมูกจักแฟบ. สตรีเป็นโรคหืด มีน้ำนมเปรี้ยวนัก. เมื่อทารกดื่มโรคมองคร่อ น้ำนมจักมีรสวิการต่างๆ มีเผ็ดจัด เป็นต้น. เพราะเหตุนั้น พระเจ้ากาสิกราชทรงเว้นโทษทั้งปวงเหล่านั้น พระราชทานนางนม ๖๔ คน ที่เว้นจากโทษมีสูงนัก เป็นต้น นมไม่ยาน น้ำนมมีรสหวาน. ทรงทำสักการะใหญ่ ได้พระราชทานพร แม้แก่พระนางจันทาเทวี พระนางรับพระพรแล้วถวายคืนไว้ก่อน
    ในวันขนานพระนามพระโพธิสัตว์ พระเจ้ากาสิกราชทรงทำสักการะ เป็นอันมากแก่เหล่าพราหมณ์ ผู้รู้ลักษณะพยากรณ์ แล้วตรัสถามถึง อันตรายของพระมหาสัตว์. พราหมณ์ผู้รู้ลักษณะพยากรณ์เหล่านั้น เห็นพระลักษณสมบัติแห่งพระโพธิสัตว์ จึงกราบทูลว่า พระโอรสของพระองค์สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งเลย พระโอรสของพระองค์ทรงสามารถครองราชสมบัติ ในมหาทวีปทั้ง ๔ มี ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร (จักรพรรดิ) อันตรายอะไรๆ จะไม่ปรากฎแก่พระโอรสเลย. พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของพราหมณ์เหล่านั้น ก็ดีพระหฤทัย. เมื่อทรงขนานพระนามพระกุมารได้ทรงขนานพระนามว่า เตมิยกุมาร เพราะเหตุในวันที่พระกุมารประสูติ ฝนตกทั่วกาสิกรัฐ และเพราะพระกุมารประสูติ เป็นเหมือนยังพระหฤทัยแห่งพระราชา และหัวใจแห่งหมู่อมาตย์ และมหาชนให้ชุ่มชื่น. ลำดับนั้น นางนมทั้งหลายยังพระโพธิสัตว์ ผู้มีพระชนม์ได้หนึ่งเดือนให้สนานประดับองค์ แล้วนำขึ้นเฝ้าพระราชบิดา พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปิโยรส ทรงสวมกอดจุมพิตที่พระเศียรแล้ว ให้พระทับบนพระเพลา ประทับนั่งรื่นรมย์อยู่ด้วยพระกุมาร ขณะนั้น พวกราชบุรุษนำโจร ๔ คนมาหน้าที่นั่ง. พระราชาทอดพระเนตรเห็นโจรเหล่านั้นแล้ว มีพระราชดำรัสสั่ง ให้ลงพระอาญาโจรเหล่านั้น ให้เอาหวายทั้งหนามเฆี่ยนโจรคนหนึ่ง ๑,๐๐๐ ที ให้จำโจรคนหนึ่งด้วยโซ่ตรวน ล้วส่งเข้าเรือนจำ ให้เอาหอกแทงที่สรีระของโจรคนหนึ่ง ให้เอาหลาวเสียบโจรคนหนึ่ง.
    ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ได้ทรงฟังพระดำรัสของพระบิดา ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ทรงจินตนาการว่า โอ พระชนกของเราอาศัยราชสมบัติ ทำกรรมอันหนักเกินซึ่งจะไปสู่นรก. วันรุ่งขึ้น พระพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายให้ พระมหาสัตว์บรรทมเหนือพระแทนที่สิริไสยาสน์ ซึ่งตกแต่งแล้วภายใต้เศวตฉัตร. พระโพธิสัตว์บรรทมหน่อยหนึ่ง ตื่นบรรทมลืมพระเนตรทั้งสอง ทอดพระเนตรเศวตฉัตรเห็นสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่. ลำดับนั้น ความกลัวอย่างเหลือเกินได้เกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์ ผู้ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งอยู่เป็นปกติแล้ว พระองค์ทรงดำริว่า เราจากที่ไหนมาสู่พระราชมณเฑียรนี้ เมื่อทรงใคร่ครวญดูก็ทรงทราบโดยทรงระลึกชาติได้ว่า มาจากเทวโลก เมื่อทรงทอดพระเนตร ต่อจากนั้นไปอีก ก็ทอดพระเนตรเห็นว่า ไปไหม้อยู่ในอุสสุทนรก เมื่อทรงทอดพระเนตรต่อจากนั้นไปอีก ก็ทรงทราบว่า พระองค์เป็นพระราชาในพระนครนั้นเทียว เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาอยู่ว่า เราได้ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ๒๐ ปี แล้วไหม้อยู่ในอุสสุทนรก ๘๐,๐๐๐ ปี. บัดนี้เราเกิดในเรือนหลวงดุจเรือนโจรนี้อีก เมื่อวานนี้ เมื่อเขานำโจร ๔ คนมา พระบิดาของเราได้กล่าวผรุสวาจาเช่นนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ตกนรก หากว่าเราครองราชสมบัติ ก็จักบังเกิดในนรกเสวยทุกข์ใหญ่อีก ดังนี้ ได้เกิดความกลัวเป็นอันมาก พระสรีระซึ่งมีวรรณะดุจทองของพระโพธิสัตว์ ได้เหี่ยวมีวรรณะเศร้าหมอง ราวกะว่าดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ ฉะนั้น พระองค์บรรทมจินตนาการอยู่ว่า ทำอย่างไร เราจึงจะพ้นจากพระราชมณเฑียร ซึ่งดุจเรือนโจรนี้เสียได้.
    คราวนั้น เทพธิดาผู้สิงอยู่ที่เศวตฉัตร เคยเป็นมารดาพระโพธิสัตว์ในอัตภาพ ในระหว่างอัตภาพหนึ่ง ปลอบพระโพธิสัตว์ให้สบายพระทัยแล้วกล่าวว่า พ่อเตมิยกุมาร พ่ออย่าเศร้าโศก อย่าคิด อย่ากลัวเลย ถ้าพ่อประสงค์จะพ้นจากพระราชมณเฑียรนี้ พ่อไม่เป็นคนง่อยเปลี้ยเลย ก็จงเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย พ่อไม่เป็นคนหนวก ก็จงเป็นเหมือนคนหนวก พ่อไม่เป็นคนใบ้ ก็จงเป็นเหมือนคนใบ้เถิด พ่อจงอธิษฐานองค์สามเหล่านี้ อย่างนี้แล้ว อย่าประกาศความที่พ่อเป็นคนฉลาด.

    เทพธิดากล่าวแล้ว จึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า
    พ่ออย่าแสดงว่า เป็นคนฉลาด. จงให้ชนทั้งปวงรู้กันว่า พ่อเป็นคนโง่. ชนในที่นั้นทั้งหมดจะได้ ดูหมิ่นพ่อว่า เป็นคนกาลกรรณี. ความปรารถนาของพ่อจักสำเร็จได้ ด้วยอุบายอย่างนี้.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา ปณฺฑิจฺจยํ ความว่า จงอย่าประกาศความเป็นบัณฑิตของตน อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า ปณฺฑิจฺจํ ความก็อย่างนี้แหละ. บทว่า พาลมโต แปลว่า รู้กันว่าเป็นคนโง่. บทว่า สพฺพปาณินํ ได้แก่ อันเหล่าสัตว์ทั้งปวง คือ ชนทั้งหลาย. บทว่า สพฺโพ ตญฺชโน ได้แก่ ทั้งชนภายในทั้งชนภายนอกทั้งสิ้น. บทว่า โอจินายตุ ได้แก่ จงเข้าใจต่ำ คือ จงดูหมิ่นว่า พวกท่านจงนำคนกาลกรรณีนั่นออกไป.

    พระโพธิสัตว์กลับได้ความอุ่นพระหฤทัย เพราะคำของเทพธิดานั้น จึงกล่าวคาถาที่สองว่า
    ดูก่อนเทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน ที่ท่านกล่าวกะข้าพเจ้า ข้าแต่แม่เทพธิดา ท่านเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ใคร่เกื้อกูลแก่ข้
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  4. *8q* said:

    Re: เตมิยชาดก/พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมม

    ครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว พระโพธิสัตว์ได้อธิษฐานองค์สามเหล่านั้น เทพธิดานั้นก็อันตรธานหายไป.
    ลำดับนั้น พระเจ้ากาสิกราชมีพระดำริว่า ลูกควรจะได้กุมาร ๕๐๐ เหล่านั้นเป็นบริวาร เพื่อเป็นที่พอใจ จึงรับสั่งให้กุมารทั้ง ๕๐๐ เหล่านั้น นั่งอยู่ในสำนักของพระโพธิสัตว์ ทารกเหล่านั้นร้องไห้อยากดื่มน้ำนม. ส่วนพระมหาสัตว์ถูกความกลัวนรกคุกคาม ทรงดำริว่า จำเดิมแต่วันนี้ กายของเราแม้เหือดแห้งตายเสียเลย ยังประเสริฐกว่า ดำริดังนี้ จึงไม่ทรงกันแสง นางนามทั้งหลาย กราบทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระนางจันทาเทวี พระนางก็กราบทูลแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้เรียกเหล่าพราหมณ์ผู้รู้ทำนาย นิมิตมาตรัสถาม พราหมณ์ทั้งหลายได้กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ นางนมควรจะถวายน้ำนมแด่พระกุมาร ให้ล่วงเวลาตามปกติ เมื่อทำอย่างนี้ พระกุมารจะทรงกันแสง จับนมมั่นเสวยเองทีเดียว ตั้งแต่นั้น นางนมทั้งหลายเมื่อถวาย ก็ถวายน้ำนมแด่พระโพธิสัตว์ ล่วงเวลาตามปกติ บางคราวถวายล่วงเวลาวาระหนึ่ง บางคราวไม่ถวายน้ำนมตลอดทั้งวัน พระโพธิสัตว์ถูกความกลัวนรกคุกคาม แม้พระกายเหี่ยวแห้ง ก็ไม่ทรงกันแสงอยากเสวยนม. ลำดับนั้น พระนางจันทาเทวีเห็นพระโพธิสัตว์ไม่ทรงกันแสง ก็ทรงพระดำริว่า ลูกเราหิวจึงให้ดื่มน้ำพระถันของพระนางเอง บางคราวนางนมทั้งหลายให้ดื่มน้ำนม เหล่าทารกที่เหลือต่างร้องไห้ ไม่นอนในเวลาไม่ได้ดื่มน้ำนม. พระโพธิสัตว์ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่บรรทม ไม่คู้พระหัตถ์และพระบาท ไม่เปล่งพระวาจา.
    ครั้งนั้น นางนมทั้งหลายคิดกันว่า ธรรมดามือและเท้าของคนง่อยเปลี้ยไม่เป็นอย่างนี้ ปลายคางของคนใบ้ไม่เป็นอย่างนี้ ช่องหูของคนหนวกก็ไม่เป็นอย่างนี้ จะต้องมีเหตุในพระกุมารนี้ พวกเราจักทดลองพระกุมาร จึงไม่ถวายน้ำนมแด่พระโพธิสัตว์นั้นตลอดทั้งวัน ด้วยประสงค์ว่า จักทดลองพระกุมารด้วยเรื่องนมก่อน. พระโพธิสัตว์แม้เหี่ยวแห้ง ก็ไม่ทรงกันแสง อยากเสวยนม ครั้งนั้นพระชนนีของพระโพธิสัตว์ตรัสสั่งให้นางนมถวายนม ด้วยพระราชเสาวนีย์ว่า ลูกฉันหิว จงให้น้ำนมแก่เขา. นางนมเหล่านั้น แม้ทดลองไม่ถวายน้ำนมในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. ลำดับนั้น หมู่อมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกอายุขวบหนึ่ง ชอบกินขนมและของเคี้ยว พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยขนม และของเคี้ยว กราบทูลดังนี้แล้วให้กุมารทั้ง ๕๐๐ คนเหล่านั้นนั่งใกล้ๆ พระราชกุมาร นำขนมและของเคี้ยวต่างๆ เข้าไปวางไว้ใกล้ๆ พระมหาสัตว์ กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอาขนม และของเคี้ยวเหล่านั้นตามชอบใจ แล้วพากันยืนแอบดูอยู่ พวกทารก ที่เหลือทะเลาะยื้อแย่งกันและกัน ถือเอาขนม และของเคี้ยวมาเคี้ยวกิน. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงโอวาทพระองค์ว่า แน่ะ พ่อเตมิยกุมาร ถ้าเจ้าประสงค์นรก ก็จงประสงค์ขนมและของเคี้ยว เป็นผู้กลัวภัยในนรก จึงไม่ทอดพระเนตรดูขนมและของเคี้ยวเลย แม้ทดลองด้วยขนมและของเคี้ยวในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกสองขวบชอบผลไม้น้อยใหญ่ พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยผลไม้ กราบทูลดังนี้แล้ว นำผลไม้น้อยใหญ่ต่างๆเข้าไปวางไว้ใกล้ๆ พระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอา ผลไม้น้อยใหญ่เหล่านั้น ตามชอบใจเถิด แล้วพากันยืนแอบดูอยู่ เหล่าทารกที่เหลือต่างต่อสู้ทุบตีกันและกัน ถือเอาผลไม้เหล่านั้นเคี้ยวกินอยู่. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็โอวาทพระองค์ว่า แน่ะพ่อเตมิยกุมาร ถ้าเจ้าประสงค์นรก ก็จงประสงค์ผลไม้น้อยใหญ่ทั้งหลาย เป็นผู้ถูกภัยในนรกคุกคาม ไม่ทอดพระเนตรดูผลไม้น้อยใหญ่เลย แม้ทดลองด้วยผลไม้น้อยใหญ่ในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาทารกสามขวบชอบของเล่น พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยของเล่น กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้ทำรูปช้าง เป็นต้นสำเร็จด้วยทอง เป็นต้น วางไว้ใกล้ๆ พระโพธิสัตว์ เหล่าทารกที่เหลือต่างแย่งกันและกันถือเอา ฝ่ายพระมหาสัตว์ ไม่ทรงทอดพระเนตรดูอะไรๆเลย แม้ทดลองด้วยของเล่นในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาหนึ่งปี ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกสี่ขวบชอบโภชนาหาร พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยโภชนาหาร กราบทูลดังนี้แล้ว จึงน้อมโภชนาหารต่างๆ เข้าถวายพระมหาสัตว์ แม้เหล่าทารกที่เหลือต่างก็ทำเป็นคำๆ บริโภค. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงโอวาทพระองค์ว่า แน่ะ พ่อเตมิยกุมาร อัตภาพของเจ้าที่ไม่ได้โภชนะบริโภคนับไม่ถ้วน ทรงกลัวภัยนรก มิได้ทอดพระเนตรดูโภชนาหารนั้น. ลำดับนั้น พระชนนีของพระโพธิสัตว์ เป็นผู้เหมือนมีพระหฤทัยแตกทำลาย ให้พระโอรสเสวยโภชนาหารด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง แม้ทดลองด้วยโภชนาหารในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ธรรมดาทารกห้าขวบย่อมกลัวไฟ พวกข้าพระองค์ จักทดลองพระกุมารด้วยไฟ กราบทูลด้วยนี้แล้ว ให้ทำเรือนใหญ่มีหลายประตู ที่พระลานหลวง มุงด้วยใบตาล ให้พระมหาสัตว์ซึ่งแวดล้อมด้วยเหล่าทารกที่เหลือ นั่งท่ามกลางทารกเหล่านั้นแล้วจุดไฟ เหล่าทารกที่เหลือเห็นเรือนไฟลุกโพลง ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ต่างร้อนลั่นวิ่งหนีไป. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ความร้อนแห่งเพลิงนี้ ยังดีกว่าไหม้ด้วยไฟนรก. พระมหาสัตว์มิได้มีความหวั่นไหวเลย เหมือนพระมหาเถระผู้เข้านิโรธสมาบัติ. ครั้นเมื่อเพลิงลุกลามมา อมาตย์ทั้งหลายก็อุ้มพระโพธิสัตว์ออกไป แม้ทดลองด้วยไฟในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกหกขวบย่อมกลัว ช้างตกมัน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยช้างตกมัน กราบทูลดังนี้แล้ว ให้ฝึกช้างเชือกหนึ่งซึ่งฝึกอย่างดี ให้พระโพธิสัตว์ซึ่งแวดล้อมด้วยเหล่าทารกที่เหลือ ประทับนั่ง ณ พระลานหลวง แล้วปล่อยช้าง. ช้างนั้นบันลือเสียงโกญจนาท เอางวงตีพื้นดินสำแดงภัยมา เหล่าทารกที่เหลือเห็นช้างตกมัน ก็กลัวมรณภัย จึงวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง. ฝ่ายพระมหาสัตว์เห็นช้างตกมันนั้นมา ทรงคิดว่า เราตายเสียที่งาช้างตกมัน ตัวดุร้าย ยังประเสริฐกว่า ไหม้ในนรกอันร้ายกาจ. พระมหาสัตว์ถูกภัยนรกคุกคาม ประทับนั่งตรงนั้นเอง ไม่หวั่นไหวเลย. ลำดับนั้น ช้างที่ฝึกดีแล้วนั้นเล่นเข้ามาจับพระมหาสัตว์ เหมือนจับกำดอกไม้ วิ่งไปวิ่งมาทำให้พระมหาสัตว์ลำบากยิ่ง. มหาชนรับพระมหาสัตว์จากงวงช้างแล้วนำออกไป แม้ทดลองด้วยช้างตกมันในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. พระราชตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกเจ็ดขวบย่อมกลัวงู พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยงู กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้พระมหาสัตว์กับเหล่าทารกที่เหลือ นั่งที่พระลานหลวง ปล่อยงูทั้งหลายซึ่งถอดเขี้ยวแล้ว เย็บปากแล้ว ในกาลที่พระโพธิสัตว์ประทับนั่งแวดล้อมไปด้วยเหล่าทารกที่เหลือ ทารกที่เหลือทั้งหลายเห็นงูดุร้ายเหล่านั้น ก็ร้องลั่นวิ่งหนีไป. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรก ทรงดำริว่า ความพินาศไปในปากของงูดุร้าย ยังดีกว่า ตายในนรกอันร้ายกาจ ดังนี้แล้ว จึงทรงนิ่งเฉยเหมือนเข้านิโรธสมาบัติ. คราวนั้น งูทั้งหลายก็เลื้อยมารัดพระสกลกายของพระมหาสัตว์ แผ่พังพานอยู่บนพระเศียรของพระมหาสัตว์. แม้ในกาลนั้น พระมหาสัตว์ก็มิได้หวั่นไหวเลย แม้ทดลองด้วยงูในระหว่างๆ อย่างนี้ เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกแปดขวบย่อมชอบมหรสพ ฟ้อนรำ. พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยมหรสพ ฟ้อนรำ กราบทูลดังนี้แล้ว ให้พระกุมารประทับนั่ง ณ พระลานหลวงกับทารก ๕๐๐ คน แล้วให้แสดงมหรสพฟ้อนรำ เหล่าทารกที่เหลือเห็นมหรสพ ฟ้อนรำแล้ว ต่างกล่าวว่า ดี ดี พากันหัวเราะเฮฮา. ส่วนพระมหาสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรกว่า ในเวลาที่เราบังเกิดในนรก ความรื่นเริงหรือโสมนัส ไม่มีแม้ชั่วขณะหนึ่ง จึงนิ่งเฉยมิได้ทอดพระเนตรดูอะไรๆนั้นเลย แม้ทดลองด้วยมหรสพฟ้อนรำในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกเก้าขวบย่อมกลัวศัสตรา พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยศัสตรา จึงให้พระมหาสัตว์ประทับนั่ง ณ พระลานหลวงกับทารก ๕๐๐ คน ในเวลาที่ทารก ๕๐๐ คนกำลังเล่นกันอยู่ บุรุษผู้หนึ่งถือดาบมีสีดังแก้วผลึก กวัดแกว่ง บันลือ โห่ร้อง โลดเต้น ปรบมือ ยักเยื้องท่าทาง ขู่ตวาดว่า ได้ยินว่า ราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้ากาสิกราช เป็นกาลกรรณี เขาอยู่ไหน เราจักเอาดาบตัดศีรษะเขา วิ่งกล่าวอยู่ดังนี้ เหล่าทารกที่เหลือเห็นดังนั้น ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ร้องลั่นวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง. ส่วนพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรก ทรงเห็นว่า พินาศเสียในคมดาบอันร้ายกาจ ยังดีกว่า ตายในอุสสุทนรก ดังนี้ ประทับนั่งเหมือนไม่ทรงทราบ. ลำดับนั้น บุรุษนั้นเอาดาบจดลงที่ศีรษะ แล้วกล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า เราจักตัดศีรษะท่าน แม้ทำให้พระมหาสัตว์สะดุ้ง ก็ไม่สามารถจะให้สะดุ้งได้ จึงหลีกไป. แม้ทดลองด้วยดาบในระหว่างๆ อย่างนี้ เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบขวบย่อมกลัวเสียง ควรจะใช้เสียงทดลองพระกุมารว่า หนวกหรือไม่ กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้แวดวงที่บรรทมด้วยม่าน ทำช่องไว้สี่ข้าง ให้คนเป่าสังข์นั่งอยู่ใต้ที่บรรทมไม่ให้พระโพธิสัตว์เห็นตัว ให้เป่าสังข์ขึ้นพร้อมกันได้มีเสียงกังวานพร้อมกัน นางนมทั้งหลายให้พระมหาสัตว์ บรรทมเหนือที่บรรทม อมาตย์ ๔ คน ยืนอยู่ที่ข้างทั้ง ๔ แลดูอิริยาบถของพระมหาสัตว์ตามช่องม่าน มิได้เห็นวิการแห่งพระหัตถ์พระบาท หรือเพียงกระดิกไหว อันเผลอพระสติของพระมหาสัตว์ แม้วันหนึ่ง. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร. แม้ทดลองด้วยเป่าสังข์ ในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์เลย.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบเอ็ดขวบ ย่อมกลัวเสียงกลอง ควรจะทดลองพระกุมารด้วยเสียงกลอง (เมื่อล่วงไปหนึ่งปี). อมาตย์ทั้งหลาย แม้ทดลองด้วยเสียง กลองในระหว่างๆ อย่างนั้นแลเป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบสองขวบ ย่อมกลัวประทีป พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยประทีป กราบทูลดังนี้แล้ว ให้พระโพธิสัตว์บรรทมในที่มืดเวลาราตรี คิดว่า พระกุมารจะยังพระหัตถ์หรือพระบาทให้ไหวหรือไม่หนอ ทำประทีปให้ลุกโพลงในหม้อทั้งหลาย ให้ดับประทีปอื่นๆ เสีย ให้พระโพธิสัตว์บรรทมหน่อยหนึ่ง ในที่มืด แล้วยกหม้อประทีปน้ำมันทั้งหลายขึ้น ทำให้สว่างพร้อมกันทีเดียว พิจารณาดูอิริยาบถของพระโพธิสัตว์ ก็มิได้เห็นแม้สักว่า ความไหวพระกายของพระมหาสัตว์. แม้ทดลองด้วยประทีปในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นแม้เพียงความไหวอะไรๆ ของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบสามขวบย่อมกลัวแมลงวัน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยน้ำอ้อย กราบทูลดังนี้แล้ว จึงเอาน้ำอ้อยทาทั่วพระสรีระพระโพธิสัตว์ แล้วให้บรรทมในสถานที่มีแมลงวันชุกชุม เลี้ยงบำรุงแมลงวันทั้งหลาย แมลงวันเหล่านั้นก็ตอมพระสรีระทั้งสิ้นแห่งพระโพธิสัตว์ กินน้ำอ้อย ดุจแทงด้วยเข็มเป็นอันมาก. พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เราตายในปากแมลงวันทั้งหลายดีกว่า ตายในนรกอเวจี จึงอดกลั้นทุกขเวทนา ไม่หวั่นไหวเลย ดุจพระมหาเถระเข้านิโรธสมาบัติ. แม้ทดลองด้วยน้ำอ้อยในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็น แม้เพียงความไหวอะไรๆ ของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ เมื่อเวลาทารกมีอายุได้สิบสี่ขวบ ก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว บัดนี้พระกุมารนี้เป็นผู้ใหญ่ ใคร่ของสะอาด รังเกียจของโสโครก พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยของโสโครก กราบทูลดังนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นมาไม่สรงสนานพระโพธิสัตว์ ไม่จัดให้ลงบังคน ไม่ช่วยให้ลุกจากที่บรรทม. พระโพธิสัตว์ก็ลงบังคนหนักเบาบรรทมเกลือกกลั้วอยู่ในที่นั้นนั่นเอง ก็เพราะกลิ่นเหม็น. กาลนั้นได้เป็นเสมือน กาลสำแดงพระอัธยาศัยภายในแห่งพระโพธิสัตว์ออกมาภายนอก แมลงวันทั้งหลายก็มาตอมกิน อยู่ที่พระสรีระของพระโพธิสัตว์. คราวนั้นพระชนกพระชนนีประทับนั่งล้อม พระโพธิสัตว์ ตรัสอย่างนี้ว่า พ่อเตมิยกุมาร บัดนี้พ่อก็โตแล้ว ใครเขาจะประคับประคองพ่อเสมอไป พ่อไม่ละอายหรือ พ่อนอนอยู่ทำไม ลุกขึ้นชำระร่างกายซิ แล้วตรัสตัดพ้อบริภาษ พระโพธิสัตว์ แม้จมอยู่ในกองคูลซึ่งปฏิกูลอย่างนั้น ก็ทรงวางพระอารมณ์เป็นกลาง เพราะทรงพิจารณาเห็นความมีกลิ่นเหม็นของคูถนรก ซึ่งสามารถฟุ้งตลบขึ้นในใจของผู้ที่แม้ยืนอยู่ในที่สุด ของร้อยโยชน์ เพราะมีกลิ่นเหม็น แม้ทดลองด้วยของโสโครกในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารก สิบห้าขวบย่อมกลัวความร้อน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยถ่านเพลิง. ลำดับนั้น อมาตย์ทั้งหลายได้วางกระเบื้อง เต็มด้วยไฟไว้ใต้พระแท่นของพระโพธิสัตว์ด้วยคิดว่า อย่างไรเสีย พระกุมารถูกความร้อนเบียดเบียน เสวยทุกขเวทนา เมื่ออดกลั้นทุกขเวทนาไม่ได้ ก็พึงแสดงความกระดิกไหวพระหัตถ์ หรือพระบาทบ้าง. นางนมทั้งหลายให้พระมหาสัตว์บรรทมเหนือพระแท่นแล้วออกมาเสีย พระมหาสัตว์ถูกความร้อนเบียดเบียน เปลวไฟ ปรากฎเหมือนลุกโพลงทั่วพระสรีระของพระมหาสัตว์ แม้พระมหาสัตว์ก็ทรงโอวาทพระองค์เองว่า แน่ะ พ่อเตมิยกุมาร ความร้อนในนรกอเวจีแผ่ไปตั้งร้อยโยชน์ ทำลายนัยน์ตาของบรรดาสัตว์ที่อยู่ในที่ร้อยโยชน์ได้ ความร้อนแห่งเพลิงนี้ยังดีกว่าความร้อนในนรกนั้น ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า ดังนี้แล้วทรงอดกลั้น ความร้อนนั้นเสีย มิได้หวั่นไหวเลย เหมือนผู้เข้านิโรธสมาบัติ. ลำดับนั้น พระชนกพระชนนีของพระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ถูกความทุกข์เบียดเบียน ก็เป็นเหมือนพระหฤทัยจักแตก จึงแหวกฝูงชนเข้าไปนำพระโพธิสัตว์ออกมาจากความร้อนของไฟนั้น แล้วตรัสวิงวอนพระโพธิสัตว์ว่า พ่อเตมิยกุมาร พวกเรารู้ว่า มิใช่คนง่อยคนเปลี้ย เป็นต้น เพราะคนพิการเหล่านั้นมิได้มี มือ เท้า ปาก และช่องหูอย่างนี้ พ่อเป็นบุตรที่พวกเราปรารถนาจึงได้ พ่ออย่าให้พวกเราฉิบหายเลย พ่อจงเปลื้องพวกเราจากครห าแต่สำนักพระราชาทั่วชมพูทวีปเถิด. แม้พระชนกพระชนนีวิงวอนถึงอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ก็บรรทมนิ่ง เหมือนมิได้ทรงสดับพระวาจานั้น. ลำดับนั้น พระชนกพระชนนีของพระโพธิสัตว์ก็ทรงกันแสงเสด็จหลีกไป บางคราวพระชนกของพระโพธิสัตว์ แต่พระองค์เดียวเสด็จเข้าไปวิงวอนพระโพธิสัตว์ บางคราวก็พระชนนี แต่พระองค์เดียวเสด็จเข้าไปวิงวอนพระโพธิสัตว์ บางคราวทั้งสองพระองค์เสด็จเข้าไปวิงวอนด้วยกัน. แม้ทดลองด้วยถ่านเพลิงในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    ลำดับนั้น กาลเมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา หมู่อมาตย์และพราหมณ์เป็นต้น คิดกันว่า

    .. อรรถกถา เตมิยชาดก
    อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
    อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  5. *8q* said:

    Re: เตมิยชาดก/พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมม

    อรรถกถา เตมิยชาดก
    พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
    หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

    ลำดับนั้น กาลเมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา หมู่อมาตย์และพราหมณ์เป็นต้น คิดกันว่า
    พระกุมารเป็นง่อยเปลี้ยก็ตาม เป็นใบ้ก็ตาม เป็นคนหนวกก็ตาม หรือไม่เป็นก็ตาม จงยกไว้. เมื่อวัยเปลี่ยนแปรไป บุคคลชื่อว่าไม่กำหนัดในอารมณ์ที่น่ากำหนัด ย่อมไม่มี. ชื่อว่าไม่ดูในอารมณ์ที่น่าดู ย่อมไม่มี. ชื่อว่าไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่ายินดี ย่อมไม่มี. เมื่อถึงคราวแล้ว ความกำหนัดยินดีนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา เหมือนความแย้มบานของดอกไม้ ฉะนั้น. พวกเราจักให้เหล่านางสนมนักฟ้อนรำบำเรอพระกุมาร ทดลองพระกุมารด้วยนางสนมนักฟ้อนรำเหล่านั้น. ลำดับนั้น พระเจ้ากาสิกราชมีรับสั่งให้เรียกหญิงฟ้อนรำ ทรงรูปอันอุดม สมบูรณ์ด้วยความงามดังเทพอัปสร ตรัสกะหญิงทั้งหลายว่า บรรดาเธอทั้งหลาย หญิงใดสามารถทำให้พระกุมารร่าเริง หรือผูกพันไว้ด้วยอำนาจกิเลสได้ หญิงนั้นจักได้เป็นอัครมหสีของพระกุมารนั้น. นางนมทั้งหลายสรงสนานพระกุมารด้วยน้ำหอม ตกแต่งพระกุมารราวกะเทพบุตร ให้บรรทมบนพระที่สิริไสยาสน์ที่ตกแต่งไว้ดีแล้ว ในห้องมีสิริเช่นกับเทพวิมาน ทำให้เป็นที่ลุ่มหลงเพราะกลิ่นหอมอย่างเอกภายในห้อง ด้วยพวงของหอม พวงระเบียบดอกไม้ พวกบุปผชาติ และจุรณ์แห่งธูป และเครื่องอบเป็นต้น แล้วหลีกไป. ลำดับนั้น หญิงเหล่านั้นพากันแวดล้อมพระโพธิสัตว์ พยายามให้พระโพธิสัตว์อภิรมย์ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้องบ้าง ด้วยกล่าวคำไพเราะเป็นต้นบ้าง มีประการต่างๆ เพราะความที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยพระปรีชา พระองค์จึงมิได้ทอดพระเนตรดูหญิงเหล่านั้น ทรงอธิษฐานว่า หญิงเหล่านี้อย่าได้ถูกต้องสรีระของเรา แล้วทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ. ครั้งนั้น พระสรีระของพระโพธิสัตว์แข็งกระด้างหญิงเหล่านั้น เมื่อไม่ได้ถูกต้องพระสรีระของพระโพธิสัตว์ คิดว่า พระกุมารนี้มีสรีระแข็งกระด้าง คงไม่ใช่มนุษย์จักเป็นยักษ์ ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ไม่อาจที่จะดำรงตนอยู่ได้ จึงพากันหนีไป แม้ทดลองด้วยหญิงทั้งหลายในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
    หมู่อมาตย์ พราหมณ์ พระราชา แม้ทดลองด้วยการทดลองอย่างใหญ่สิบหกครั้ง และด้วยการทดลองอย่างน้อยมากครั้งอย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะกำหนดจับพิรุธของพระโพธิสัตว์นั้นได้. ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามหญิงทั้งหลายว่า แม่มหาจำเริญทั้งหลาย ลูกของเราหัวเราะกับพวกเธอบ้างหรือไม่? หญิงทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. พระราชาทรงสดับคำของหญิงเหล่านั้นแล้ว ทรงร้อนพระหฤทัย เพราะเหตุนั้น มีรับสั่งให้เรียกพวกพราหมณ์ ผู้ทำนายลักษณะมาตรัสว่า ท่านพราหมณ์ผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อพระกุมารประสูติ พวกท่านบอกแก่เราว่า พระกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม อันตรายไม่มีแก่พระกุมารนี้ บัดนี้ พระกุมารนั้นเป็นทั้งง่อยเปลี้ย เป็นทั้งใบ้ทั้งหนวก ถ้อยคำของพวกท่านไม่ทำให้เรายินดีเลย. ลำดับนั้น พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ขึ้นชื่อว่า นิมิต ที่อาจารย์ทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ไม่เห็น ย่อมไม่มี อีกประการหนึ่ง พระกุมารนี้เป็นโอรสที่ราชตระกูลทั้งหลาย ปรารถนาจึงได้มา เมื่อพวกข้าพระองค์กราบทูลว่า เป็นกาลกรรณี ความโทมนัสก็จะพึงมีแด่พระองค์ เพราะเหตุนั้นพวกข้าพระองค์จึงไม่กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ถ้าเมื่อพระกุมารอยู่ในราชมณเฑียรนี้ จะปรากฏอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายแห่งชีวิต อันตรายแห่งเศวตฉัตร อันตรายแห่งพระอัครมเหสี เพราะฉะนั้น ควรที่พระองค์จะชักช้าไม่ได้ โปรดให้จัดรถอวมงคล เทียมม้าอวมงคล ให้พระกุมารบรรทมบนรถนั้น นำออกทางประตูทิศตะวันตก ฝังเสียในป่าชัาผีดิบ. พระราชาได้ทรงสดับคำของ พราหมณ์เหล่านั้น ทรงกลัวภยันตราย จึงโปรดให้ทำอย่างนั้น.
    กาลนั้น พระนางจันทาเทวีได้ทรงสดับประพฤติเหตุนั้น จึงรีบเสด็จเข้าเฝ้าพระราชาแต่พระองค์เดียว ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระองค์ได้พระราชทานพรแก่หม่อมฉันไว้ หม่อมฉันรับแล้ว ถวายฝากพระองค์ไว้ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพรนั้น แก่หม่อมฉัน ในบัดนี้. พระราชาตรัสว่า จงรับเอาซิ พระเทวี. พระนางกราบทูลว่า ขอพระองค์ โปรดพระราชทานราชสมบัติแก่ลูกของหม่อมฉันเถิด. ตรัสว่า ให้ไม่ได้. พระเทวีทูลถามว่า เพราะเหตุไร. ตรัสว่า ลูกของเราเป็นกาลกรรณี. ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ถ้าไม่พระราชทานตลอดชีวิต ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติเจ็ดปี. ตรัสว่า ให้ไม่ได้. พระเทวีทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติหกปี พระเจ้าข้าตรัสว่า ให้ไม่ได้. พระเทวีทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติห้าปี พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ให้ไม่ได้ พระเทวี. พระนางจันทาเทวีทูลขอราชสมบัติลดเวลาลงเป็นลำดับ คือ สี่ปี สามปี สองปี ปีเดียว เจ็ดเดือน หกเดือน ห้าเดือน สี่เดือน สามเดือน สองเดือน เดือนเดียว ครึ่งเดือน จนถึงเจ็ดวัน พระราชาจึงพระราชทานอนุญาต. พระนางจึงให้ตกแต่งพระโอรสแล้วอภิเษกว่า ราชสมบัตินี้เป็นของเตมิยกุมาร ให้ป่าวร้องทั่วพระนคร ให้ประดับพระนครทั้งสิ้น ให้พระโอรสประทับบนคอช้าง ให้ยกเศวตฉัตรเบื้องบนพระเศียรพระโอรส ทำประทักษิณพระนคร ให้พระโอรสผู้เสด็จมาบรรทมบนพระยี่ภู่อันมีสิริ ตรัสวิงวอนตลอดคืนและวัน ถึงห้าวันว่า พ่อเตมิยะ แม่ไม่เป็นอันหลับนอนร้องไห้อยู่ ถึงสิบหกปีเพราะพ่อ ดวงตาทั้งสองของแม่ฟกช้ำ หัวใจของแม่เหมือนจะแตกด้วยความโศก แม่รู้ว่า พ่อไม่ใช่ ง่อยเปลี้ย เป็นต้นเลย พ่ออย่าทำให้แม่ หาที่พึ่งมิได้เลย. ครั้นถึงวันที่หก พระราชารับสั่งให้หานายสารภี ชื่อสุนันทะ มาตรัสสั่งว่า พ่อสุนันทสารถี พรุ่งนี้ เจ้าจงเทียมม้าอวมงคลคู่หนึ่ง ที่รถอวมงคลแต่เช้าทีเดียว ให้พระกุมารนอนบนรถนั้น นำออกทางประตูทิศตะวันตก ประกาศว่า คนกาลกรรณี จงขุดหลุมสี่เหลี่ยมที่ป่าช้าผีดิบ ใส่พระกุมารในหลุมนั้นแล้ว เอาสันจอบทุบศีรษะให้ตาย กลบดินข้างบนทำดินให้พูนขึ้น อาบน้ำแล้วกลับมา นายสารถีทูลรับพระราชดำรัสว่า ดีแล้ว.
    พระเทวีได้สดับดังนั้น ก็เป็นเหมือนพระหฤทัยแตกทำลาย เสด็จไปสำนักพระโอรส วิงวอนพระกุมารตลอดราตรี ตรัสว่า พ่อเตมิยะ พระเจ้ากาสิกพระราชบิดาของพ่อ มีพระราชดำรัสสั่ง ให้ฝั่งพ่อในป่าช้าผีดิบในวันพรุ่งนี้แต่เช้าทีเดียว พ่อจะตายแต่เช้าพรุ่งนี้นะลูก พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้น ก็มีพระมนัสยินดี ทรงดำริว่า พ่อเตมิยะ ความพยายามที่เจ้าทำมาสิบหกปี จะถึงที่สุดแห่งมโหรถของเจ้า ในวันพรุ่งนี้แล้ว. เมื่อพระมหาสัตว์ทรงดำริอยู่อย่างนี้ ก็เกิดปิติขึ้นในภายในพระกมล ส่วนพระหฤทัยของพระมารดาพระมหาสัตว์ ได้เป็นทุกข์เหมือนจะแตกทำลาย แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระมหาสัตว์ ก็ทรงดำริว่า ถ้าเราจักพูด มโนรถของเราก็จักไม่ถึงที่สุด ดังนี้จึงไม่ตรัสกับพระชนนี้นั้น. ลำดับนั้น ครั้นราตรีนั้นล่วงไปรุ่งขึ้นเช้า พระเทวีสรงสนานพระมหาสัตว์ ตกแต่งองค์แล้ว ให้ประทับนั่งบนพระเพลาประทับ นั่งสวมกอดพระมหาสัตว์นั้น. ครั้งนั้น นายสุนันทสารถีเทียมรถแต่เช้าทีเดียว เทวดาดลใจให้เทียมม้ามงคล ที่รถมงคล ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์หยุดรถไว้แทบพระราชทวาร ขึ้นยังพระราชนิเวศน์ เข้าสู่ห้องอันเป็นสิริ ถวายบังคมพระเทวี แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ขอพระแม่เจ้าอย่าได้กริ้วข้าพระบาท ข้าพระบาทรับพระราชบัญชามา กราบทูลดังนี้แล้ว เอาหลังมือกันให้พระเทวีผู้นั่งสวมกอดพระโอรสอยู่ หลีกไป อุ้มพระกุมารดุจกำดอกไม้ลงจากปราสาท. กาลนั้น พระนางจันทาเทวีสยายพระเกศา ข้อนพระทรวง ทรงปริเทวนาการดังสนั่นอยู่กับหมู่นางสนมในประสาท.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพระมารดา ทรงกันแสง ก็เป็นเหมือนมีพระหฤทัยแตกทำลายเป็นเจ็ดเสี่ยง ทรงดำริว่า เมื่อเราไม่พูดกับพระชนนี พระชนนีของเราจักมีพระหฤทัยทำลายวายพระชนม์ จึงทรงใคร่จะพูดด้วย แต่ทรงดำริต่อไปว่า ถ้าเราจักพูดกับพระมารดา ความพยายามที่เราทำมาสิบหกปี ก็จักหาประโยชน์มิได้ แต่เมื่อไม่พูด เราจักเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่พระชนกพระชนนี และแก่มหาชน ทรงดำริดังนี้จึงทรงกลั้นโศกาดูรเสียได้ ไม่ตรัสกับพระชนนี.
    ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีให้พระมหาสัตว์ขึ้นรถแล้ว แม้คิดว่า เราจักขับรถตรงไปประตูทิศตะวันตก ถูกเทวดาดลใจด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ยังรถให้กลับแล้วขับรถตรงไปประตูทิศตะวันออก ครั้งนั้น ล้อรถกระทบธรณีประตู พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับเสียงนั้น ทรงดำริว่า มโนรถของเราถึงที่สุดแล้ว ได้มีพระมนัสแช่มชื่นเป็นอย่างยิ่ง รถแล่นออกจากพระนครไปถึงสถานที่สามโยชน์ ชัฏป่าในที่ตรงนั้น ปรากฏแก่นายสารถีดุจป่าช้าผีดิบ นายสารถีกำหนดว่า ที่นี้ผาสุก จึงแวะรถจากทางเข้าที่ข้างทาง ลงจากรถเปลื้องเครื่องแต่งองค์ของพระมหาสัตว์ ห่อวางไว้ แล้วถือจอบลงมือขุดหลุมสี่เหลี่ยมในที่ไม่ไกลรถ แต่นั้นพระมหาสัตว์ทรงดำริว่า กาลนี้เป็นกาลพยายามของเรา ก็เราพยายามถึงสิบหกปี ไม่ไหวมือและเท้า กำลังของเรายังมีอยู่ หรือว่าไม่มีหนอ? ดังนี้แล้วลุกขึ้น ลูบมือขวาด้วยมือซ้าย ลูบมือซ้ายด้วยมือขวา นวดพระบาททั้งสองด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง เกิดดวงจิตคิดจะลงจากรถ ขณะนั้นแผ่นดินได้สูงขึ้นจดท้ายรถ ตรงที่ประดิษฐานพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ดุจผิวฝุ่นที่เต็มด้วยลมฟุ้งขึ้น ฉะนั้น.
    พระมหาสัตว์เสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินไปมาสิ้นเวลาเล็กน้อย ก็ทรงทราบโดยนิยามนี้ว่า เรายังมีกำลังที่จะเดินทางไกลถึงร้อยโยชน์ได้ ในวันเดียว. เมื่อทรงพิจารณาพระกำลังว่า หากนายสารถีประทุษร้ายเรา กำลังของเราที่จะต่อสู้กับนายสารถีมีอยู่ หรือหนอ. จึงทรงจับท้ายรถยกขึ้น ประทับยืนกวัดแกว่งรถนั้น ดุจจับยานเครื่องเล่นของพวกเด็ก ฉะนั้น. เมื่อทรงกำหนดว่า กำลังที่จะต่อสู้กับนายสารถีของพระองค์ยังมีอยู่ จึงมีพระประสงค์จะได้เครื่องประดับองค์. ในขณะนั้นเองพิภพแห่งท้าวสักกเทวราชได้แสดงอาการร้อน. ท้าวสักกะทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่า ความปรารถนาของเตมิยกุมารถึงที่สุดแล้ว. บัดนี้ เธอต้องการเครื่องประดับ เครื่องประดับของมนุษย์เธอจะต้องการทำไม. เราจักให้เตมิยกุมารประดับองค์ด้วยเครื่องประดับทิพย์ จึงตรัสเรียกพระวิสสุกรรมเทวบุตรมา มอบเครื่องประดับทิพย์แล้ว ทรงส่งไปโดยตรัสสั่งว่า ไปเถิด พ่อจงประดับเตมิยกุมารราชโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ด้วยเครื่องประดับทิพย์. พระวิสสุกรรมเทพบุตร ฟังคำท้าวสักกะ รับเทวโองการแล้วไปมนุษยโลก ไปยังสำนักพระมหาสัตว์ โพกพระเศียรพระมหาสัตว์ด้วยผ้าทิพย์หมื่นรอบ ประดับพระมหาสัตว์ให้เป็นเหมือนท้าวสักกะ ด้วยเครื่องประดับทั้งเป็นของทิพย์ และของมนุษย์ แล้วกลับไปที่อยู่ของตน. พระมหาสัตว์เสด็จไปยังที่ขุดหลุมของนายสารถี ด้วยการเยื้องกรายของท้าวสักกเทวราช ประทับยืนที่ริมหลุม.

    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  6. *8q* said:

    Re: เตมิยชาดก/พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมม

    เมื่อจะตรัสถามนายสารถีนั้น ได้ตรัสคาถาที่สามว่า
    แน่ะนายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไม เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกแก่เราเถิดเพื่อน ท่านจะใช้หลุมทำประโยชน์อะไร.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาสํ ได้แก่ หลุมสี่เหลี่ยม.

    นายสารถีได้ฟังดังนั้น ขุดหลุมมิได้เงยหน้าขึ้นดู กล่าวคาถาที่สี่ทูลตอบว่า
    พระโอรสของพระราชา เป็นใบ้เป็นหนวกเป็นง่อยเปลี้ย เหมือนไม่มีพระมนัส พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ฝังลูกเราเสียในป่า.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกฺโข แปลว่า คนง่อยเปลี้ย ก็ด้วยคำว่า มูโค นั่นแหละ ย่อมสำเร็จแม้ความเป็นคนหนวกของเตมิยกุมาร เพราะคนหนวกไม่สามารถกล่าวตอบได้. บทว่า อเจตโส ความว่า เหมือนไม่มีจิตใจ นายสารถีกล่าวอย่างนี้ เพราะเตมิยกุมารไม่พูดถึง ๑๖ ปี. บทว่า สมิชฺฌิตฺโถ ความว่า พระราชามีรับสั่งส่งไปแล้ว. บทว่า นิกฺขนํ วเน ความว่า พึงฝังเสียในป่า.

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะนายสารถีว่า
    ดูก่อนนายสารถี ข้าพเจ้ามิได้เป็นคนหนวก มิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย มิได้มีอินทรีย์วิกลวิการ ถ้าท่านฝังข้าพเจ้าในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เชิญท่านดูขาและแขนของข้าพเจ้า และเชิญฟังคำภาษิตของข้าพเจ้า ถ้าท่านฝังข้าพเจ้าเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พธิโร ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสอย่างนี้ เพื่อแสดงว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ถ้าพระราชามีรับสั่งให้ฝังพระโอรสนี้อย่างนั้น แต่เรามิได้เป็นอย่างนั้น. บทว่า ปิงฺคโล ได้แก่ มีอินทรีย์วิกลวิการ. บทว่า มญฺเจ ตฺวํ นิกฺขนํ วเน ความว่า ถ้าท่านฝังเรา ผู้เว้นจากความเป็นคนหนวกเป็นต้น เห็นปานนี้เสียในป่า ท่านก็พึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เตมิยกุมารนั้นเห็นนายสารถี แม้ฟังคาถาแรกแล้วก็ไม่แลดูพระองค์เลย ทรงดำริว่า เราจักแสดงแก่นายสารถีนี้ว่า เราไม่หนวก ไม่ใบ้ ไม่ง่อยเปลี้ย ตกแต่งสรีระแล้ว จึงตรัสคาถานี้ว่า อูรู เป็นต้น คาถานั้นมีเนื้อความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ท่านจงดูขาทั้งสองของเรา คือของข้าพเจ้า ซึ่งเช่นกับลำต้นกล้วยทองคำ และแขนทั้งสองของเราคือของข้าพเจ้า ซึ่งมีวรรณะดังใบกล้วยทองคำ และจงฟังคำอันไพเราะของเรา.
    แต่นั้น นายสารถีคิดว่า นี่ใครหนอ ตั้งแต่มาก็สรรเสริญแต่ตนเท่านั้น เขาหยุดขุดหลุมเงยหน้าขึ้นดู ได้เป็นรูปสมบัติของพระมหาสัตว์ เมื่อยังไม่รู้จักพระมหาสัตว์ว่า ชายคนนี้เป็นมนุษย์หรือเทวดาหนอ
    จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกเทวราชผู้ให้ทานในก่อน ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร?

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะสำแดงตนให้แจ้งและแสดงธรรม จึงตรัสคาถาว่า
    เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์ มิใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในก่อน เราที่ท่านจะฆ่าเสียในหลุม เป็นโอรสของพระเจ้ากาสิกราช เราเป็นโอรสของพระราชา ผู้ที่ท่านพึงพระบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ แน่ะนายสารถี ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนลามก พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็นเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิหญฺญสิ แปลว่า จักฝัง พระมหาสัตว์ แสดงว่า ท่านขุดหลุม ด้วยหมายว่า จักฝังผู้ใดในที่นี้ เราคือผู้นั้น แม้เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสว่า เราเป็นพระราชโอรส นายสารถีนั้นก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง แต่รู้ได้ด้วยมธุรกถาของพระมหาสัตว์นั้น จึงได้ยืนฟังธรรมอยู่. บทว่า มิตฺตทุพฺโภ ได้แก่ คนฆ่ามิตร คือ คนเบียดเบียนมิตรทั้งหลาย. บทว่า รุกฺขสฺส ความว่า บุคคลหักราก ลำต้น ผล ใบ หรือหน่อของต้นไม้ที่มีร่มเงาอันตนได้ใช้สอยอยู่ ย่อมเป็นผู้ฆ่ามิตร คือเบียดเบียนมิตร. บทว่า ปาปโก ได้แก่เป็นคนลามก ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้ที่ฆ่ามนุษย์. ด้วยบทว่า ฉายูปโค พระมหาสัตว์ตรัสว่า แน่ะนายสารถี ท่านอาศัยพระราชาเลี้ยงชีพอยู่ เหมือนคนเข้าไปสู่ร่มเงาของต้นไม้ เพื่อต้องการจะใช้สอยฉะนั้น

    เมื่อพระโพธิสัตว์ แม้ตรัสถึงอย่างนี้ นายสารถีก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราจักทำให้นายสารถีนั้นเชื่อ ทรงทำป่าชัฏให้บันลือลั่นด้วยเสียงสาธุการของเหล่าเทวดา และด้วยคำโฆษณาของพระองค์.
    เมื่อจะตรัสคาถาบูชามิตร ๑๐ คาถา จึงตรัสว่า๑. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร ชนเป็นอันมากอาศัยบุคคลผู้นั้นเลี้ยงชีพ บุคคลผู้นั้นจากเรือนของตนไปที่ไหนๆ ย่อมมีภักษาหารมากมาย.

    ๒. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นไปสู่ชนบท นิคม ราชธานีใดๆ ย่อมเป็นผู้อันหมู่ชนในที่นั้นๆ ทั้งหมดบูชา.

    ๓. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โจรทั้งหลายไม่ข่มเหงบุคคลผู้นั้น กษัตริย์ก็มิได้ดูหมิ่นบุคคลผู้นั้น บุคคลผู้นั้นย่อมข้ามพ้นหมู่อมิตรทั้งปวง.

    ๔. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นจะมาสู่เรือนของตนด้วย มิได้โกรธเคืองใครๆ มาได้ความยินดีปรีดาในสภาที่ประชุม เป็นผู้สูงสุดของหมู่ญาติ.

    ๕. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นสักการะคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่นสักการะตน เคารพคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่น เคารพตน ย่อมเป็นผู้ได้รับความยกย่องและเกียรติคุณ.

    ๖. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหลามิตร บุคคลผู้นั้นบูชาผู้อื่น ก็ย่อมได้บูชาตอบ ไหว้ผู้อื่น ก็ย่อมได้ไหว้ตอบ และย่อมถึงยศและเกียรติ.

    ๗. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นย่อมรุ่งเรืองดุจกองเพลิง ย่อมไพโรจน์ดุจเทวดา มีสิริประจำตัว.

    ๘. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้นย่อมเกิด พืชที่หว่านไว้ในนาย่อมงอกงาม บุคคลผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลของพืชที่หว่านไว้.

    ๙. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นตกเหว ตกภูเขา หรือตกต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่งอาศัยไม่เป็นอันตราย.

    ๑๐. บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร เหล่าอมิตรย่อมย่ำยีบุคคลผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรมีรากและย่านงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มได้ ฉะนั้น.


    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุตพฺภกฺโข ได้แก่ ได้ภิกษามาง่าย. บทว่า สกํฆรา ได้แก่ จากเรือนของตน อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้แหละ. บทว่า น ทุพฺภติ แปลว่า ไม่ประทุษร้าย. บทว่า สพฺพตฺถ ปูชิโต โหติ นี้พึงพรรณนาด้วยเรื่องพระสีวลี. บทว่า นาสฺสโจรา ปสหนฺติ ความว่า พวกโจรไม่อาจทำการข่มขี่ บทนี้พึงแสดงด้วยเรื่องสังกิจจสามเณร. บทว่า นาติมญฺเญติ ขตฺติโย นี้พึงแสดงด้วยเรื่องโชติกเศรษฐี บทว่า ตรติ ได้แก่ ย่อมก้าวล่วง. บทว่า สฆรํ เอติ ความว่า ผู้ประทุษร้ายมิตร แม้มาเรือนของตน ก็มีจิต หงุดหงิดโกรธมา แต่ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนี้ ย่อมไม่โกรธมาเรือนของตน. บทว่า ปฏินนฺทิโต ความว่า ย่อม กล่าวคุณกถาของ ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรในสถานที่ประชุมของคนเป็นอันมาก ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อม เป็นผู้ชื่นชมเบิกบานด้วยเหตุนั้น. บทว่า สกฺกตฺวา สกฺกโต โหติ ความว่า สักการะผู้อื่นแล้ว แม้ตนเองก็เป็นผู้อัน ผู้อื่นทั้งหลายสักการะ. บทว่า ครุ โหติ สคารโว ความว่า มีความเคารพในผู้อื่นทั้งหลาย แม้ตนเองก็เป็นผู้อัน ผู้อื่นทั้งหลายเคารพ. บทว่า วณฺณกิตฺติภโต โหติ ความว่า ได้รับยกย่องและสรรเสริญ คือ ยกคุณความดีและเสียงสรรเสริญเที่ยวป่าวประกาศ. บทว่า ปูชโก ความว่า เป็นผู้บูชามิตรทั้งหลาย แม้ตนเองก็ย่อมได้การบูชา. บทว่า วนฺทโก ความว่า ผู้ไหว้กัลยาณมิตรทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมได้ไหว้ตอบในภพใหม่. บทว่า ยโสกิตฺตึ ความว่า ย่อมถึงอิสริยยศ และบริวารยศ และเสียงสรรเสริญคุณความดี พึงกล่าวเรื่องของจิตตคฤหบดี ด้วยคาถานี้. บทว่า ปชฺชลติ ความว่า ย่อมรุ่งเรืองด้วยอิสริยยศ และบริวาร ยศ ในบทว่า สิริยา อชฺชหิโต โหติ นี้ควรกล่าวเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี. บทว่า อสฺนาติ แปลว่า ย่อมบริโภค. บทว่า ปติฎฐํ ลภติ พึงแสดงด้วยจุลปทุมชาดก. บทว่า วิรุฬฺหมูลสนฺตานํ แปลว่า มีรากและย่านเจริญ. ในบทว่า อมิตฺตา นปฺปสหนฺติ นี้พึงกล่าวเรื่องโจรเข้าเรือนของมารดาพระโสณเถระในเรือนตระกูล.

    สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น แม้พระมหาสัตว์ทรงแสดงธรรม ด้วยคาถามีประมาณเท่านี้ ก็ยังจำพระองค์ไม่ได้ หยุดขุดหลุมด้วยคิดว่า คนนี้ใครหนอแล้วลุกขึ้นเดินไปใกล้รถ ไม่เห็นพระมหาสัตว์และห่อเครื่องประทับทั้งสองอย่าง จึงกลับมาแลดูพระองค์ ก็จำพระองค์ได้ จึงหมอบลงแทบพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ประคองอัญชลีทูลวิงวอน กล่าวคาถานี้ว่า
    ขอพระองค์เสด็จมาเถิด ข้าพระบาทจักนำพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสกลับสู่มณเฑียรของพระองค์ ขอพระองค์จงครองราชสมบัติ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระองค์จักทรงทำอะไรในป่า.

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสกะนายสารถีว่า
    แน่ะนายสารถี เราไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติอธรรม พร้อมด้วยญาติและทรัพย์.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลํ เป็นคำปฏิเสธ.

    นายสารถีกราบทูลว่า
    ข้าแต่พระราชบุตร พระองค์เสด็จกลับจากที่นี้ จะทำให้ข้าพระองค์ได้รางวัลเครื่องยินดี. เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว พระชนกและพระชนนี จะพระราชทานรางวัลเครื่องยินดีแก่ข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว นางสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์เหล่านั้นจะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์ . ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพราบ แม้เหล่านั้นจะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชบุตร เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว ชาวชนบท ชาวนิคม ผู้มีธัญญาหารมาก จะประชุมกันให้เครื่องบรรณาการแก่ข้าพระองค์.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุณฺณปตฺตํ ได้แก่ รางวัลเครื่องยินดี คือ ของให้ที่น่ายินดี. บทว่า ทชฺชุ ความว่า พึงให้รางวัล เครื่องยินดีที่ทำให้ความมุ่งหมายของข้าพระองค์บริบูรณ์ ดุจหลั่งฝน คือ รัตนะเจ็ดประการ ฉะนั้น. นายสารถีคิดว่า อย่างไรเสีย พระกุมารนี้ก็คงเสด็จกลับเพื่ออนุเคราะห์เรา จึงได้กล่าวคำนี้. บทว่า เวสิยา แปลว่า พ่อค้า. บทว่า อุปยานานิ แปลว่า เครื่องบรรณาการ.

    พระมหาสัตว์ทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสว่า
    พระชนกและพระชนนี สละเราแล้ว. ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคมและกุมารทั้งปวง ก็สละเราแล้ว. เราไม่มีเหย้าเรือนของตน พระชนนีทรงอนุญาตเราแล้ว พระชนกก็ทรงสละเราจริงๆแล้ว เราจะบวชอยู่ในป่าคนเดียว ไม่ปรารถนากามคุณทั้งหลาย.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตุ มาตุ จ แปลว่า อันพระชนกและพระชนนี. บทว่า จตฺโต แปลว่า สละขาดแล้ว แม้ในบทนอกนี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า มตฺยา ความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก เราชื่อว่า อันพระชนนีผู้รับพรกำหนดให้ครองราชสมบัติ ๗ วัน ทรงอนุญาตแล้ว. บทว่า สญฺจตฺโต แปลว่า สละแล้วด้วยดี. บทว่า ปพฺพชิโต ความว่า ออกเพื่อต้องการบวชอยู่ในป่า.

    เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสคุณธรรมของพระองค์อยู่อย่างนี้ พระปีติได้เกิดขึ้นแล้ว แต่นั้นเมื่อทรงเปล่งพระอุทาน ด้วยกำลังพระปีติ จึงตรัสว่า
    ความหวังผลของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด นายสารถี ประโยชน์โดยชอบของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมให้ผลแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ออกบวชแล้ว จะมีภัยแต่ไหนเล่า.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผลาสาว ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสอย่างนี้ เพื่อแสดงว่า ผลแห่งความมุ่งหมายของเราผู้ไม่รีบร้อน สิบหกปีจึงสำเร็จ. บทว่า วิปกฺกพฺรหฺมจริโยสฺมิ แปลว่า มีความปรารถนาถึงที่สุดแล้ว. บทว่า สมฺมทตฺโถ วิปจฺจติ ความว่า ประเภทคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่พึงทำ ย่อมสำเร็จโดยชอบ คือโดยอุบาย โดยการณ์.

    นายสารถีกราบทูลว่า
    พระองค์มีพระดำรัสไพเราะ และมีพระวาจาสละสลวยอย่างนี้ เหตุไฉนจึงไม่ตรัสในสำนักแห่งพระชนกและพระชนนี ในกาลนั้นเล่า.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วคฺคุกโถ แปลว่า มีพระดำรัสไพเราะ คือ มีพระดำรัสอ่อนหวาน.

    แต่นั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า
    เราเป็นง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีเครื่องติดต่อก็หาไม่ เราเป็นหนวก เพราะไม่มีช่องหูก็หาไม่ เราเป็นใบ้ เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ ท่านอย่าเข้าใจว่า เราเป็นใบ้.
    เราระลึกชาติปางก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้ เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นยี่สิบปี ต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี เรากลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น ขอชนทั้งหลายอย่าพึงอภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พูดในสำนักของพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น.
    พระชนกทรงอุ้มเราให้นั่งบนพระเพลา แล้วตรัสสั่งข้อความว่า จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงจองจำโจรคนหนึ่ง จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง แล้วเอาน้ำแสบราดแผล จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว ตรัสสั่งเจ้าหน้าที่นั้นอย่างนี้ เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคายที่พระชนกตรัสนั้น จึงกลัวการเสวยราชสมบัติ เรามิได้เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย ก็ให้คนเข้าใจว่า ง่อยเปลี้ย แกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่ในปัสสาวะ และอุจจาระของตน
    ชีวิตนั้นเป็นของลำบาก เป็นของน้อย ทั้งประกอบด้วยทุกข์ ใครเล่าจะอาศัยชีวิตนี้ ทำเวรด้วยเหตุการณ์หน่อยหนึ่ง ใครเล่าจะอาศัยชีวิตนี้ ทำเวรด้วยเหตุการณ์หน่อยหนึ่ง เพราะไม่ได้ปัญญา เพราะไม่เห็นธรรม. ความหวังผลของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน. เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด นายสารถี ประโยชน์โดยชอบของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมให้ผลแน่นอน เรามีพรหมจรรย์สำเร็จแล้ว ออกบวชแล้ว จะมีภัยแต่ไหนเล่า.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสนฺธิตา แปลว่า เพราะไม่มีที่ต่อ. บทว่า อโสตตา แปลว่า เพราะไม่มีโสต. บทว่า อชิวฺหตา ความว่า เรานั้นมิได้เป็นใบ้ เพราะไม่มีลิ้น สำหรับเปลี่ยนไปมาของคำพูด. บทว่า ยตฺถ ความว่า ได้เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสีนั่นแลในชาติใด. บทว่า ปาปตฺถํ ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสถึงความชั่วว่า พระองค์ได้ตกมาแล้ว. บทว่า รชฺเชภิเสจยุ แปลว่า พึงอภิเษกในราชสมบัติ. บทว่า นิสีทิตฺวา ความว่า ให้นั่งแล้ว. บทว่า อตฺถานุสาสติ ความว่า ตรัสสั่งข้อความผิด. บทว่า ขาราปตจฺฉกํ ความว่า จงเอาหอกแทงแล้วราดน้ำแสบที่แผล. บทว่า อุพฺเพถ แปลว่า จงยกขึ้น คือจงเสียบ. บทว่า อิจฺจสฺส อนุสาสติ ความว่า ตรัสสั่งข้อความแก่มหาชนนั้นอย่างนี้. บทว่า ตายาหํ ความว่า เราได้ฟังพระวาจาเหล่านั้น. บทว่า ปกฺขสมฺมโต ความว่า ได้เป็นผู้อันชนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็น ง่อยเปลี้ย คือ เป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย. บทว่า อจฺฉาหํ ความว่า อยู่แล้ว คือเราอยู่แล้ว. บทว่า สํปริปลุโต ความว่า เป็นผู้เกลือกกลิ้ง คือจมลงแล้ว. บทว่า กสิรํ แปลว่า เป็นทุกข์. บทวา ปริตฺตํ แปลว่า น้อย คำนี้ มีอธิบายว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเป็นทุกข์ ก็จะพึงตั้งอยู่ คือเป็นไปนานมาก ถ้านิดหน่อยก็จะพึงเป็น คือเป็นไปสบาย แต่ชีวิตนี้ ลำบากก็ตาม นิดหน่อยก็ตาม น้อยก็ตาม ย่อมประกอบ คือ เข้าไปทรงไว้พร้อมด้วยทุกข์ในวัฎฎะทั้งสิ้นทีเดียว คือ ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาสย่ำยี. บทว่า โกมํ ตัดบทเป็น โก อิมํ. บทว่า เวรํ ได้แก่ เวรห้าอย่างมีปาณาติบาต เป็นต้น. บทว่า เกนจิ ได้แก่ ด้วยเหตุไรๆ. บทว่า กยิราถ แปลว่า พึงกระทำ บทว่า ปญฺญาย ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา. บทว่า ธมฺมสฺส ความว่า เพราะไม่เห็นโสดาปัตติมรรค.

    พระมหาสัตว์ได้ตรัสอุทานคาถาซ้ำอีก เพื่อประกาศความประสงค์ ไม่เสด็จกลับไปพระนคร เป็นมั่นคง.
    สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น คิดว่า พระกุมารนี้ทิ้งสิริราชสมบัติ เห็นปานนี้ เหมือนทิ้งซากศพ ไม่ทำลายความตั้งใจมั่นของพระองค์ เข้าป่าด้วยหวังว่า จักผนวช เราจะต้องการอะไรด้วยชีวิตอันไม่สมประกอบนี้ แม้เราก็จักบวชกับด้วยพระกุมารนั้น คิดดังนี้แล้ว
    จึงกล่าวคาถาว่า

    ข้าแต่พระราชบุตร แม้ข้าพระองค์ก็จักบวชในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสเรียกให้ ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ชอบบวช.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวนฺติเก แปลว่า ในสำนักของท่าน. บทว่า อวฺหยสฺสุ ความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสเรียกข้าพระองค์ว่า เจ้าจงมาบวชเถิด.

    แม้นายสารถีทูลวิงวอนอย่างนี้ พระมหาสัตว์ทรงพระดำริว่า หากเราให้นายสารถีบวช ในบัดนี้ทีเดียว พระชนกพระชนนีของเราก็จักไม่เสด็จมาในที่นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ความเสื่อมจักมีแก่พระชนกและพระชนนีทั้งสอง ม้า รถ และเครื่องประดับเหล่านี้ก็จักพินาศ แม้ความครหาก็จักเกิดขึ้นแก่เราว่า นายสารถีนั้นถูกพระราชกุมาร ผู้เป็นยักษ์กินเสียแล้ว ทรงพิจารณาเพื่อจะเปลื้องความครหาของพระองค์ และพิจารณาถึงความเจริญแห่งพระชนกและพระชนนี
    เมื่อทรงแสดงม้ารถและเครื่องประดับ ทำให้เป็นหนี้ของนายสารถีนั้น จึงตรัสคาถาว่า

    แน่ะนายสารถี ท่านจงไปมอบคืนรถ แล้วเป็นผู้ไม่มีหนี้เถิด เพราะผู้ไม่มีหนี้จึงบวชได้ การบวชนั้น ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งสรรเสริญแล้ว.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตํ ได้แก่ การกระทำการบรรพชานั้น. บทว่า อิสีภิ วณฺณิตํ ความ ว่า ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว.

    นายสารถีได้ฟังดังนั้นคิดว่า เมื่อเราไปสู่พระนคร ถ้าพระกุมารนี้จะพึงเสด็จไปที่อื่น พระราชบิดาได้ทรงสดับข่าวนี้ แล้วเสด็จมาตรัสว่า จงแสดงลูกของเรา มิได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารนี้ จะพึงลงราชทัณฑ์แก่เรา เพราะฉะนั้น เราจะกล่าวคุณของตนแก่พระกุมารนี้ จักถือเอาคำปฏิญญาเพื่อไม่เสด็จไปที่อื่น คิดดังนี้แล้ว
    จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

    ข้าพระองค์ได้ทำตามพระดำรัส ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระองค์ควรจะทรงทำตามคำที่ข้าพระองค์ทูลวิงวอน ขอพระองค์จงประทับรออยู่ ณ ที่นี้ จนกว่าข้าพระองค์จะนำพระราชาเสด็จมา อย่างไรเสีย พระราชบิดาของพระองค์ทอดพระเนตรเห็นแล้ว คงทรงพระปีติโสมนัสเป็นแน่.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ความว่า ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระดำรัสใดที่พระองค์ตรัสแล้วแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้กระทำตามพระดำรัสนั้นแล้ว พระองค์อันข้าพระองค์วิงวอนแล้ว ควรจะกระทำตามคำนั้นเท่านั้น.

    แต่นั้น พระมหาสัตว์ ตรัสว่า
    แน่ะนายสารถี เราจะกระทำตามคำของท่าน ที่ท่านกล่าวกะเรา แม้ตัวเราก็อยากเห็นพระชนกของเราเสด็จมาในที่นี้ จงกลับไปเถิดเพื่อนรัก ท่านจงทูลแก่พระญาติทั้งหลายด้วยก็เป็นการดี ท่านเป็นผู้ที่เราสั่งแล้ว จงกราบทูลถวายบังคมพระชนกพระชนนีของเรา.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กโรมิ เต ตํ ความว่า เรากระทำตามคำนั้นของท่าน.
    บทว่า เอหิ สมฺม นิวตฺตสฺสุ ความว่า แน่ะนายสารถีเพื่อนรัก ท่านจงไปในที่นั้น จงรีบกลับไปจากที่นี้ทีเดียว. บทว่า วุตฺโต วชฺชาสิ ความว่า ท่านเป็นผู้ที่เรากล่าวสั่งแล้ว พึงกราบทูลถวายบังคมของเราว่า เตมิยกุมารพระโอรสของพระองค์ ถวายบังคมพระบาทยุคลของพระองค์.

    ครั้นตรัสดังนี้แล้ว พระมหาสัตว์ได้น้อมพระองค์ดุจลำต้นกล้วยทองคำ ผินพระพักตร์ไปทางกรุงพาราณสี ถวายบังคมพระชนกและพระชนนี ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วได้ประทานข่าวสาส์นแก่นายสารถี.
    นายสารถีรับข่าวสาส์นแล้ว ทำประทักษิณพระกุมาร ถวายบังคมแทบพระยุคลบาทของพระกุมาร ขึ้นรถแล้วขับตรงไปยังกรุงพาราณสี.

    พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า
    นายสารถีจับพระบาททั้งสองของพระกุมาร และกระทำประทักษิณพระกุมารแล้ว ขึ้นรถเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส เป็นต้น ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายสารถีนั้นจับที่พระบาททั้งสองของพระกุมารนั้น กระทำประทักษิณแล้ว ขึ้นรถเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง.

    ในขณะนั้น พระนางจันทาเทวีเผยพระแกลคอยแล ดูการมาของนายสารถี ด้วยใคร่จะทรงทราบว่า ความเป็นไปของลูกเราเป็นอย่างไรหนอ พอทอดพระเนตรเห็น นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว ก็เป็นประหนึ่งพระหฤทัยจะแตกทำลายไป ทรงคร่ำครวญแล้ว.
    พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า
    พระชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า มีแต่นายสารถีมาคนเดียว ก็มีพระเนตรทั้งสองนองไป ด้วยพระอัสสุชลทรงกันแสง ทอดพระเนตรดูนายสารถีนั้น ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า นายสารถีนี้ฝังโอรสของเราเสียแล้ว โอรสของเรานายสารถีฝังเสียในแผ่นดิน ถมแผ่นดินแล้วเป็นแน่ ปัจจามิตรทั้งหลายจะยินดี ศัตรูทั้งหลายจะอิ่มใจเป็นแน่ เพราะเห็นนายสารถีมาแล้ว เพราะฝังโอรสของเราแล้ว.
    พระชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว ก็มีพระเนตรทั้งสองนองไป ด้วยพระอัสสุชลทรงกันแสง ตรัสสอบถามนายสารถีนั้นว่า โอรสของเราเป็นใบ้หรือ เป็นง่อยหรือ ตรัสอะไรบ้างหรือ ในเวลาที่ถูกท่านฝังในแผ่นดิน จงบอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด นายสารถี โอรสของเราเป็นใบ้เป็นง่อย เขากระดิกมือเท้าอย่างไรบ้างไหม ในเมื่อถูกท่านฝังในแผ่นดิน เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา.

    บรรดาบทเหล่านั้น มาตา ได้แก่ พระชนนีของเตมิยกุมารโพธิสัตว์. บทว่า ปฐพฺยา ภูมิวฑฺฒโน ความว่า ลูกของเรานั้น ถูกฝังในแผ่นดินถมพื้นดินเป็นแน่. บทว่า โรทนฺตี นํ ปริปุจฺฉติ ความว่า พระนางจันทาเทวีตรัสสอบถาม นายสารถีผู้หยุดรถไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ขึ้นปราสาทถวายบังคมพระนางแล้วยืน ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. บทว่า กินฺนุ ความว่า ลูกของเรานั้นเป็นใบ้และเป็นง่อยเปลี้ยจริงหรือ. บทว่า ตทา ความว่า ในเวลาที่ท่านฝังเขาในหลุมแล้วเอาสันจอบทุบศีรษะ. บทว่า นิหญฺญมาโน ภูมิยา ความว่า เมื่อถูกท่านฝังในพื้นดิน เขาพูดอย่างไรบ้าง. บทว่า ตํ เม อกฺขาหิ ความว่า ท่านจงบอกเรื่องทั้งหมดนั้น อย่าให้คลาดเคลื่อน. บทว่า วิวฏฺฎยิ ความว่า ลูกของเราเขาไหวมือและเท้า พร่ำกล่าวกะท่านว่า หลีกไปสารถี ท่านอย่าฆ่าเรา ดังนี้บ้างหรือไม่.

    ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีกราบทูลพระนางว่า

    .. อรรถกถา เตมิยชาดก
    อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑][๒] [๓]
    อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี