อะไรเอ่ย ? กายนคร

กระทู้: อะไรเอ่ย ? กายนคร

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. *8q* said:

    อะไรเอ่ย ? กายนคร

    อะไรเอ่ย ? กายนคร

    กายนคร

    โดย

    สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ป.ธ.๙ ) วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร


    มีเมืองหนึ่งชื่อว่า กายนคร ( เมืองกาย ) มีเนื้อที่ยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ ศอก

    มีกำแพง ๔ ชั้น
    ชั้น ๑ ชื่อ โลมา ชั้น ๒ ชื่อ ตโจ ชั้น ๓ ชื่อ มังสะ ชั้น ๔ ชื่อ อัฎฐิ


    มีประตู ( ทวาร ) ๙ แห่ง

    จักษุทวาร ๒ เป็นประตูเข้ามหรสพ โสตทวาร ๒ เป็นประตูเข้าเสียงต่างๆ
    ฆานทวาร ๒ เป็นประตูระบายลมเข้าออก มุขทวาร (ปาก) ๑ เป็นประตูเข้าเสบียงอาหาร
    วัจจทวาร(ทวารหนัก) ๑ เป็นประตูระบายของโสโครก ปัสสาทวาร ๑ เป็นประตูระบายน้ำโสโครก

    มีปราสาท ๕ หลัง

    ๑ ) จักษุประสาท เป็นที่ทอดพระเนตรมหรสพ ๒ ) โสตประสาท เป็นที่ทรงประทับสดับเสียงดนตรี
    ๓ ) ฆานประสาท ที่ประทับประดับประดาพระวรกาย ๔ ) ชิวหาประสาท ที่ประทับเสวยพระกระยาหาร
    ๕ ) กายประสาท ที่ประทับบรรทมพักผ่อน


    ผู้สร้างกายนคร คือ พระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวี เมื่อสร้างแล้ว ทรงมอบให้พระราช-โอรส คือเจ้าชาย จิตตราช เป็นผู้ครอง


    เจ้าชาย จิตตราช มีขุนนางผู้ใหญ่ ๔ คือ ขุนโลโภ ขุนราโค ขุนโทโส และ ขุนโมโห
    มีขุนคลัง ขื่อ ขุนมัจฉริยะ ( ตระหนี่ ) เจ้ากรมวัง ชื่อ ขุนพยาบาท อำมาตย์ ชื่อ ขุน ทิฎฐิมานะ ( ดื้อรั้น )
    ที่ปรึกษาใกล้ชิด ชื่อ ขุนมิจฉัตตะ ( ความเห็นผิด )


    วันหนึ่งเจ้าชาย จิตตราช ทรงรำพึงว่า
    “ เรามีเมืองกว้างขวาง มีพระราชวังสวยงาม มีพระราชทรัพย์บริบูรณ์แต่ยังไม่มีมเหสี ”

    มิจฉัตตะอำมาตย์ จึงกราบทูลว่า “ มีเมืองหนึ่ง ชื่อ เมือง ปัจจยาการนคร พระราชาผู้ครองเมือง นามว่า พระเจ้าเวทนา ทรงมีพระราชธิดา ๓ องค์ ชื่อ เจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดี ถ้าทรงปรึกษาพระบิดาพระมารดา ท่านอาจไม่เห็นด้วย ควรเสด็จไปโดยพระองค์เองโดยไม่ต้องทูลพระมารดาพระบิดา ข้าพระองค์จะตามเสด็จไปด้วย ”

    เป็นอันว่าเจ้าชายจิตตราชและอำมาตย์มิจฉัตตะก็หนีออกจากกายนครไป เจ้าชายจิตตราช ทรงม้าพระที่นั่ง ชื่อ อิริยาบถ ส่วนอำมาตย์มิจฉัตตะขี่ม้าอีกตัวไป เดินทางจนถึงป่าใหญ่ ชื่อ ป่าวัฎฏะ ( ป่าเวียนว่ายตายเกิด ) ทางเข้าป่าพบศิลาจารึกความว่า


    “ พระเจ้าเวทนาผู้ครองเมืองปัจจยาการนคร มีพระราชธิดา ๓ องค์ ชื่อ เจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา และเจ้าหญิงอรดี ถ้าบุรุษใดมีปัญญาสามารถตอบปัญหา ๕ ข้อได้จะยกเจ้าหญิงทั้ง ๓ ให้เป็นมเหสีและให้ครองเมืองปัจจยาการนคร แต่ถ้าตอบไม่ได้ต้องเป็นทาสรับใช้เจ้าหญิงทั้ง ๓ ”


    เจ้าชายจิตตราชทรงดีพระทัย ว่ามีทางครองเจ้าหญิงงามทั้ง ๓
    ระหว่างนั้นเองก็มีนางยักษ์ผู้เฝ้าป่าวัฎฏะ ชื่อ นางยักษ์วัฎฏะทุกขีเมื่อเห็นผู้ล่วงล้ำเข้าเขตของตนจึงเข้าไล่จับมาเป็นอาหาร อำมาตย์มิจฉัตตะ เมื่อเห็นภัยมาจึงรีบขี่ม้าหนีทิ้งเจ้าชายจิตตราช ไว้เพียงลำพัง นางยักษ์วัฎฏะทุกขีเข้าขวาง
    เจ้าชายจิตตราชไว้และบอกว่าท่านต้องเป็นอาหารของนางในวันนี้ เจ้าชายจิตตราช ตรัสตอบไปว่า

    “ ท่านไม่อาจจับเรากินเป็นอาหารได้ เพราะเรามีฤทธิ์ธานุภาพมาก ( มหิทธานุภาวํ )
    เราล่องหนหายตัวได้ ( อสรีรํ ) มีกำลังไปทางไหนได้รวดเร็วทันใจ ( ลหุกํ )
    ไปทางบกทางน้ำทางอากาศไกลแค่ไหนก็ไปได้ ( ทูรงคมํ ) ใครๆยากที่เห็นตัวเรา ( สุทุททสํ ) ”


    นางยักษ์วัฎฏะทุกขี กล่าวว่า “ ถึงท่านจะมีฤทธิ์ธานุภาพอย่างไรก็หนีไม่พ้นข้าพเจ้า อย่าว่าแต่ท่านผู้เป็นมนุษย์เลย แม้นาค ครุฑ เทวดา อินทร์ พรหม เมื่อหลงมาในป่าวัฎฏะ ก็ไม่พ้นอำนาจข้าพเจ้าที่สร้างทุกข์ให้แก่ทุกคนที่อยู่ในป่านี้ไปได้ ”


    ในขณะที่เจ้าชายจิตตราช จะเสียทีนางยักษ์วัฎฏะทุกขี พลันก็มีฤาษีตนหนึ่งมาช่วย ท่านชื่อ ฤาษีไตรลักษณญาณ ซึ่งอาศัยอยู่ ณ.จิตตบรรพต ทรงทราบด้วนญาณ จึงเหาะมาช่วยเจ้าชายจิตตราช ฝ่ายนางยักษ์วัฎฏะทุกขี พอเห็นฤาษีมาตกใจเพราะเคยถูกฤาษีไตรลักษณญาณ ปราบปรามมาก่อน จึงรีบหายหนีไป



    เมื่อสนทนากับเจ้าชายจิตตราช ทราบวัตถุประสงค์การมาว่าจะไปตอบปัญหาเพื่อครองเจ้าหญิงงาม ๓ องค์ จึงทูลเจ้าชายจิตตราช ว่า


    “ เจ้าหญิงทั้ง ๓ องค์ท่านรู้จักดี เป็นคนสวยจริงแต่นิสัยไม่ดีทุกคน คือ
    เจ้าหญิงตัณหา มีนิสัยอยากได้ไม่รู้จักพอ ยิ่งได้มากยิ่งชอบ ไม่สนใจว่าจะได้มาทางดีทางชั่ว เอาทั้งนั้น

    เจ้าหญิงราคา มีนิสัยรักง่ายหน่ายเร็ว โลเลไม่แน่นอนเดี๋ยวรักคนนั้นคนนี้ เปลี่ยนรักเรื่อยไป

    เจ้าหญิงอรดี มีนิสัยริษยา ไม่อยากให้ใครได้ดี เห็นใครได้ดีก็ขัดขวาง ทำให้แตกสามัคคี ”

    เมื่อเจ้าชายจิตตราช รู้ทันนิสัยไม่ดีของเจ้าหญิงทั้ง ๓ องค์ ก็เกิดเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด จึงขออยู่กับฤาษีที่จิตตบรรพต ได้เรียนพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และเจริญไตรลักษณญาณ รู้ อนิจจํ ทุกขํ อนัตตา จนชำนาญ


    ฝ่ายอำมาตย์มิจฉัตตะ เมื่อขี่ม้าหนีภัยจากนางยักษ์วัฎฏะทุกขี ก็มิได้หนีไปไกล เมื่อเห็นเจ้าชายมีฤาษีมาช่วยก็ตามห่างๆไปจิตตบรรพต พอเห็นว่าเจ้าชายเปลี่ยนใจไม่ไปแก้ปัญหาเจ้าหญิงทั้ง ๓ ก็ร้อนใจ คิดจะหว่านล้อมเจ้าชายให้ไปแก้ปัญหาให้ได้


    คืนหนึ่งได้โอกาสลอบไปพบเจ้าชายจิตตราชๆ เห็นอำมาตย์ตนสนิทก็ดีพระทัย มิจฉัตตะอำมาตย์แกล้งทูลเท็จว่า

    “ เมื่อเห็นนางยักษ์วัฎฏะทุกขีมาไล่จับ เห็นว่าเราสองคนเป็นมนุษย์คงสู้นางยักษ์ไม่ได้ ตนเองจึงรีบไปบอกให้ฤาษีมาช่วย ”


    เมื่อเห็นว่าเจ้าชายคล้อยตาม จึงกล่าวอีกว่า
    “ เมื่อไม่มีนางยักษ์รังควานแล้ว ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่เรื่อยไปคงต้องแก่ตายบนภูเขานี่แน่ พระองค์ควรลาท่านฤาษีไปแก้ปัญหาเพื่อครองเจ้าหญิงงามดีกว่า อย่าบอกท่านฤาษีว่าไปแก้ปัญหาเพราะคงถูกห้าม ให้บอกว่าจะกลับไปกายนครที่จากมานาน ”


    เจ้าชายจิตตราช ทรงเชื่อมิจฉัตตะอำมาตย์ จึงตกลงพระทัยไปปัจจยาการนครให้ได้ ให้มิจฉัตตะซ่อนตัวไปก่อน

    ในวันรุ่งขึ้น เข้าไปทูลลาท่านฤาษีว่าจะกลับกายนครพบพระมารดาพระบิดาเพราะจากมานาน แต่ท่านฤาษีทราบด้วยญาณ จึงกล่าวว่า

    “ ท่านรู้ว่าเจ้าชายจะไปเมืองปัจจยาการนคร ไม่ต้องโกหก ” เจ้าชายรับว่าจริงจึงกราบขออภัย

    ท่านฤาษีจึงทูลว่า
    “ เมื่อพระองค์ตั้งใจไปแก้ปัญหาจริงๆก็ไม่อาจห้ามได้ และจะมอบแว่น วิชชามัย ( ความรู้แจ้ง ) ให้ หากแก้ปัญหาไม่ได้ให้ส่องแว่นนี้ดูก็จะทราบคำตอบ แต่ห้ามบอกใครเป็นอันขาดว่า มีแว่นวิเศษ ถ้าบอกใครไปจะมีภัยอันตราย ”


    จากนั้นเจ้าชายจิตตราชกราบลาท่านฤาษี ขี่ม้าอิริยาบทมาสมทบกับมิจฉัตตะอำมาตย์แล้วไปจนถึงปัจจยา-การนคร ก็ปลอมพระองค์แต่งากายแบบชาวบ้านเข้าไปขออาศํยที่พักของยายมายาวี ( เจ้าเล่ห์ ) ผู้เฝ้าราชอุทยานและถามเรื่องการไปแก้ปัญหา

    วันต่อมาเจ้าชายจิตตราชลายายมายาวี ไปแก้ปัญหาที่โรงมณฑป เมื่อรับอาสาแก้ปัญหาตามกติกาที่วางไว้แล้ว พระเจ้าเวทนาจึงรับสั่งให้เจ้าหญิงเริ่มถามปัญหา


    คำถามที่ ๑ เจ้าหญิงตัณหาถามว่า ? ทำไมคนตายแล้วจึงถูกผูกตราสัง ๓ เปลาะ คือ ที่คอ ๑ ที่มือทั้งสอง ๑ ที่เท้าทั้งสอง ๑ ?

    เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า

    “ เป็นปริศนาธรรมสอนคนให้รู้ว่า

    ๑ ) ห่วงผูกคอ หมายถึงมีบุตรเหมือนมีห่วงผูกคอ
    ๒ ) ห่วงผูกมือ หมายถึงมีคู่ครองเหมือนมีห่วงผูกมือ
    ๓ ) ห่วงผูกเท้า หมายถึงมีทรัพย์สมบัติเหมือนมีห่วงผูกที่เท้า

    ดังภาษิตว่า

    ปุตโต คีเว มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
    ธนัง ปาเท ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
    ภริยา หัตเถ ภรรยา(สามี)เยี่ยงอย่างปอ รึงรัด มือนา
    สามบ่วงนี้ใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร


    คำถามที่ ๒ เจ้าหญิงราคาถามว่า ? ไฟอะไร ร้อนที่สุดในโลก ?

    เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า

    “ ไฟ ๓ กอง คือ

    ราคัคคิ ไฟ คือ ราคะ ( ความกำหนัดยินดี )
    โทสัคคิ ไฟ คือโทสะ ( ความประทุษร้าย )
    โมหัคคิ ไฟ คือ โมหะ ( ความหลงใหล ) ไฟ ๓ กองนี้ ร้อนที่สุดในโลก


    คำถามที่ ๓ เจ้าหญิงอรดีถามว่า ? ในโลกนี้อะไร เที่ยงที่สุด ?

    เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า

    “ ความตายเป็นของเที่ยง ( ธุวํ มรณํ ความตายเป็นของเที่ยง )


    คำถามที่ ๔ เจ้าหญิงตัณหาถามว่า ? ในโลกนี้อะไร หนักที่สุด ?

    เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้จึงแอบใช้แว่นวิชชามัยส่องดู จึงรู้และตอบว่า

    “ ขันธ์ ๕ เป็นของหนักที่สุด ( ภารา หเว ปญจักขันธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระที่หนักแท้ )



    เจ้าชายจิตตราชก็ต้องยอมตามเพราะเป็นพระราชบัญชา แต่ในใจอยากจะตอบปัญหาข้อที่ ๕ ให้เสร็จจะได้เชยชมเจ้าหญิงงามทั้งสามให้สมใจ แล้วจำใจกลับไปที่พักของยายมายาวีอีกคืน


    เมื่อพระเจ้าเวทนากลับพระราชวังแล้วรับสั่งให้พระราชธิดาทั้งสามเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า


    “ วันนี้มีพระราชสาส์นจากพระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีแห่งกายนคร มาสู่ขอเจ้าทั้งสามให้เป็นมเหสีของเจ้าชายจิตตราชผู้เป็นพระราชโอรส

    พ่อเห็นว่าเป็นวงศ์ที่สมควรกันที่จะยกให้ แต่วันนี้เจ้ามานพหนุ่มคนนั้นไม่รู้เป็นใครมาจากไหน ตอบปัญหาของเจ้าอย่างถูกต้องทั้ง ๔ ข้อ พ่อจึงไม่สบายใจ เพราะหากตอบถูกครบ ๕ ข้อพ่อก็ต้องยกเจ้าทั้งสามให้เพราะพ่อเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ แล้วพ่อจะหาลูกสาวที่ไหนไปยกให้เจ้าเมืองกายนคร ดังนั้นพ่อจึงให้หยุดปัญหาข้อ ๕ ไว้ก่อนเพื่อให้ทางทางแก้ไข เจ้าทั้งสามจะมีวิธีแก้อย่างไร ? ”


    เจ้าหญิงทั้งสาม จึงทูลว่า

    “ หม่อมฉันจะแก้ไขไม่ให้ต้องตกเป็นภรรยาชายแปลกหน้าให้จงได้ ขอเสด็จอย่าได้กังวลพระทัยเลย ”


    เจ้าหญิงทั้งสามให้คนสนิทสืบดูรู้ว่าชายแปลกหน้าพักที่กระท่อมยายมายาวี ผู้เฝ้าราชอุทยาน จึงรับสั่งให้เรียกยายมายาวีเข้าเฝ้ารับสั่งให้ยายมายาวีไปสืบมาว่าชายแปลกหน้ามีอะไรดีจึงตอบปัญหาถูกต้องแล้วรีบนำมาบอก

    ยายมายาวีไปทำยกย่องเจ้าชายจิตตราชที่ตอบปัญหาเก่งแล้วถามว่า “ มีอะไรดีหรือพ่อหนุ่มรูปงาม ? ”


    เจ้าชายจิตตราชไม่ยอมบอกแม้ยายมายาวีจะอ้อนวอนอย่างไรก็ตามเพราะทำตามที่ท่านฤาษีไตรลักษณญาณกำชับไว้

    ยายมายาวีจึงลอบมาหามิจฉัตตะ ยกยอ หว่านล้อมจนทราบเรื่องแว่นวิชชามัย แล้วรีบนำไปกราบทูลเจ้าหญิงทั้งสาม


    ในคืนนั้นเองเจ้าหญิงทั้งสาม แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างงดงามที่สุดไปหาเจ้าชายจิตตราช ณ.เรือนที่พักและใช้มารยาสตรีออดอ้อนว่า

    “ ที่นางทั้งสามตัดความอายมาหาถึงที่พักก็เพราะว่าความรักนำมา รักตั้งแต่แรกเห็นจนไม่อาจทนอยู่ได้ ”


    เจ้าชายจิตตราชหลงเชื่อคำสตรีจึงตรัสว่าตอบทำนองว่า

    “ พระองค์ก็รักเจ้าหญิงทั้งสามตั้งแต่แรกเห็นเช่นกัน ”

    เจ้าหญิงทั้งสามได้โอกาสจึงรุกต่อไปว่า “ ถ้ารักจริงจะของเป็นที่ระลึกสักอย่าง ”

    เจ้าชายจิตตราชรู้ไม่ทันจึงตรัสว่า “ ของที่ขอถ้ามีอยู่ก็จะให้ ”

    เจ้าหญิงทั้งสามยิ้มแล้วรุกฆาตต่อไปว่า “ ถ้าอย่างนั้นขอ แว่นวิชชามัย ก็แล้วกัน ”


    เจ้าชายจิตตราชทรงตกพระทัย กล่าวว่า

    “ ที่เราตอบปัญหาถูกต้องก็เพราะแว่นนี้ หากไม่มีเราก็ตอบไม่ถูก การแก้ปัญหาเหลือข้อที่ ๕ ขอเก็บแว่นนี้อีกวันเมื่อตอบปัญหาข้อที่ ๕ ถูกแล้วจะยกให้ทันที ”

    เจ้าหญิงลวงว่า “ พรุ่งนี้จะถามเหมือนเดิม จะไม่ถามเรื่องอื่น ทั้งนี้เพราะความรักแรกพบ ”


    เจ้าชายจิตตราชทรงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงมอบแว่นวิชชามัยให้



    วันต่อมา เมื่อถึงเวลาถามปัญหาข้อที่ ๕


    คำถามที่ ๕ เจ้าหญิงราคาถามว่า ? คนที่เกิดมาล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ ต้องแก่ เจ็บ ตาย ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ไปได้ ?

    เจ้าชายจิตตราชตอบไม่ได้ เพราะไม่มีแว่นวิชชามัย จึงต้องตกไปเป็นทาสรับใช้โดยไม่กล้าบอกว่าตนเป็นพระราชโอรสแห่งกายนครเพราะจะเสื่อมเสียชื่อเสียงอับอายของราชวงศ์ได้
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  2. *8q* said:

    Re: อะไรเอ่ย ? กายนคร

    จะกล่าวถึงพระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีแห่งกายนคร เมื่อส่งสาส์นสู่ขอพระราชธิดาแห่งปัจจยาการนคร ก็มิได้บอกให้พระราชโอรสทราบเมื่อจวนถึงกำหนดวันอภิเษกสมรส จึงตรัสรับสั่งให้เจ้าชายจิตตราชเข้าเฝ้า

    เมื่อทราบว่าไม่อยู่ที่พระราชวังหลายวันแล้ว รับสั่งให้ราชบุรุษตามหาก็ไม่เจอ ทรงวุ่นวายหทัย จึงจัดขบวนเสด็จไปยังปัจจยาการนครเพื่อปรึกษากับพระเจ้าเวทนาและปรารถว่าเจ้าชายจิตตราชอาจลอบมาแก้ปัญหาโดยไม่บอกให้ใครทราบ



    ดังนั้นพระเจ้าเวทนาจึงรับสั่งให้นำทาสรับใช้พระธิดาทั้งสาม ออกมาเดินให้พระเจ้าอวิชชาและพระนางโมหาราชเทวีทอดพระเนตร


    เมื่อเห็นเจ้าชายจิตตราชเดินในขบวนทาส จึงตรัสบอกพระเจ้าเวทนาๆ รีบรับสั่งราชบุรุษให้เชิญมาเข้าเฝ้าแล้วขออภัยเพราะไม่ทราบมาก่อน

    จากนั้นจึงจัดพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายจิตตราชและเจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดี อย่างสมพระเกียรติแล้วกลับไปครองกายนครสืบไป


    จะกล่าวถึงพระยามัจจุราช ผู้ครองเมือง มรณานคร มีแม่ทัพใหญ่ คือ หลวงชาติ หลวงชรา และหลวงพยาธิ

    เมื่อทรงทราบว่าเจ้าชายจิตตราชครองกายนคร รุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จึงส่งกองทัพทั้งสามที่มีหลวงชาติ หลวงชรา และหลวงพยาธิไปโจมตีกายนคร


    เจ้าชายจิตตราชเมื่อเห็นกองทัพล้อมเมือง จึงส่งข่าวไปถึงพระสหายให้มาช่วยรบทัพ คือ พระยาโอสถ ครองเมืองเภสัช ถือเฉลว ( ไม้ปักปากหม้อยา ) เป็นอาวุธ พระยาโอสถ ก็ส่งกองทัพเภสัชมาโจมตี สามทัพของพระยามัจจุราชให้แตกพ่ายไป


    พระยามัจจุราชพิโรธหนักหนาจึงยกทัพหลวงมาเอง โจมตีกองทัพเภสัชและกองทัพกายนครแตกพ่ายไป พระเจ้าจิตตราชจึงพาพระมารดาพระบิดาและมเหสีทั้งสามหนีออกจากกายนคร ไปสร้างเมืองใหม่ ชื่อกายนครเหมือนเดิม


    พระยามัจจุราชทราบว่าพระเจ้าจิตตราชไปสร้างเมือง กายนครใหม่ ก็ยกทัพไปตีแตกอีก เป็นเช่นนี้หลายหน

    พระเจ้าจิตตราช สร้างเมือง กายนครอีกก็ทรงรำลึกถึง ฤาษีไตรลักษณญาณๆ ทราบด้วยญาณจึงเหาะมาหาพระเจ้าจิตตราชแล้วทูลว่า


    “ การที่พระองค์สร้างกายนคร นั้นไม่มีทางต้านกองทัพพระยามัจจุราชได้ พระองค์ต้องสร้างเมืองใหม่ชื่อ
    อมตมหานฤพานนคร

    จึงสามารถป้องกันพระยามัจจุราชได้ เพราะพระยามัจจุราชไม่รู้ มองไม่เห็นว่าอมตมหานฤพานนคร ตั้งที่ไหน จึงไม่อาจยกทัพมาราวีได้ แต่การสร้างอมตมหานฤพานนคร นั้นต้องดำเนินการดังนี้


    ๑ ) สร้างอาวุธ ๓ อย่าง คือ
    สุตาวุธ ( การฟังธรรม ) วิเวกาวุธ ( ความสงบกายสงบใจ ) ปัญญาวุธ ( ความรอบรู้ในกองสังขาร )


    ๒ ) สร้างรถอริยมรรค ๘( ทางประเสริฐ ๘ )


    ๓ ) ต้องตัดใจทิ้ง พระบิดาพระมาดา พระมเหสี เพราะ รถอริยมรรค ๘ ขับขี่ได้เฉพาะคน และไม่อาจพาใครๆข้ามแม่น้ำสงสารสาคร ไปได้ ถ้าขืนพาใครไปด้วยจะต้องล่มจมใน สงสารสาครแน่นอน


    พระเจ้าจิตตราชทรงรับคำว่าจะปฏิบัติตามคำสอนของฤาษีไตรลักษณญาณ ทุกประการ ท่านฤาษีจึงสอนให้สร้างอาวุธทั้งสามและรถอริยมรรค ๘และสอนฝึกขับขี่รถให้คล่องแคล่ว


    พระยามัจจุราชทราบว่าพระเจ้าจิตตราชจะสร้างเมืองใหม่จึงยกทัพมาตีอีก พระเจ้าจิตตราชทรงถืออาวุธ ๓ ขับรถอริมรรค ๘ แล่นออกจากกายนครไปถึง สงสารสาคร ก็ขับขี่รถอริมรรค ๘ ข้ามแม่น้ำไปได้




    ฝ่ายพระเจ้าอวิชชา พระนางโมหาราชเทวีและเจ้าหญิงตัณหา เจ้าหญิงราคา เจ้าหญิงอรดีทราบว่าพระเจ้าจิตตราชหนีออกจากกายนครก็รีบตามไป พอถึงสงสารสาครก็ไม่อาจข้าม ได้แต่ร้องเรียกให้พระเจ้าจิตตราชกลับมารับไปด้วย


    พระเจ้าจิตตราชเด็ดเดี่ยวไม่กลับมารับ ขอลาไปก่อนแล้วไปสร้าง อมตมหานฤพานนคร

    พระยามัจจุราชไม่ทราบว่าพระเจ้าจิตตราชไปสร้างเมืองที่ไหนจึงไม่อาจยกกองทัพชาติ กองทัพชรา กองทัพพยาธิไปราวีได้

    พระเจ้าจิตตราชจึงทรงเสวยบรมสุขอยู่ในอมตมหานฤพานนคร อย่างที่ไม่มีที่ใดเปรียบปานตราบกาลนาน



    ข้อคิด / ข้อที่น่าคิด

    จากที่กระผมเคยอ่านเรื่องนี้มีหลายประเด็น ก่อนอื่นต้องบอกว่าชอบใจมากกับชื่อตัวละครและโครงเรื่อง

    เพราะอ่านแล้วเข้าใจตามได้ทันที รู้สึกเลื่อมใสท่านผู้รจนาเรื่องนี้มาก ส่วนข้อที่น่าคิดมีดังนี้ครับ


    ๑ ) ในทัศนะหนึ่งของกระผมคิดว่า ร่างกายของมนุษย์นั้น เปรียบได้กับ " หุ่นยนต์ชั้นเลิศ " หรือนวัตกรรมชิ้นเยี่ยม … หรือมหานครใหญ่ เพราะมีกลไลสลับซับซ้อน มีความสามารถในการดำรงชีพและมีศักยภาพสูงในการทำงาน


    ร่างกายของมนุษย์นั้น เหมาะสมใช้สร้างบารมีอันยิ่งกว่าร่างกายของสัตว์ทั้งปวงในมนุษโลก ..

    ในเทวโลก …หรือแม้ในพรหมโลก .. ด้วยซ้ำ

    … ด้วยเหตุนี้เอง … " กายมนุษย์หยาบ " จึงทรงซึ่งคุณค่าเสมอ ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะรู้หรือไม่ก็ตาม

    … มนุษย์ท่านใด … มีสุขภาพกายแข็งแรง สมบูรณ์ … ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับ … ความสำเร็จ … ความสุข

    ในการดำรงชีพ ในการทำงาน และ งานทำความดีอันยิ่ง คือ การสร้างบารมี มากยิ่งขึ้นเท่านั้น.


    ๒ ) " กายมนุษย์หยาบ หรือ กายนคร " นี้ถือเป็นฐานทัพสำคัญยิ่งต่อนักสร้างบารมี ถึงแม้ทั่วไปจะดูพิกลพิการไม่งามไปบ้าง แต่นี่แหละ เป็นฐานทัพให้ดวงจิตอาศัยพัฒนาให้เจริญขึ้น สะอาดบริสุทธิ์ จนหลุดพ้นจากกรอบ “ อวิชชา ” ที่พญามารร้อยรัดไว้ จนเข้าสู่อายตนนิพพานได้


    กายในภพสามก็มี กายมนุษย์หยาบ นี่แหละที่ทำได้ นอกจากกายนี้ มีเพียงกายอรูปพรหมชั้นสูงๆที่เป็นพระอนาคามีเท่านั้น ที่อาศัยก่อนเข้าเข้าสู่อายตนนิพพาน ซึ่งก็มีจำนวนน้อยนิด

    จึงพอกล่าวได้ว่า กายมนุษย์หยาบ คือสมบัติล้ำค่าของพระพุทธศาสนาและธาตุธรรม


    ๓ ) ข้อที่น่าคิดต่อมา คือ กัลยาณมิตรเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้บูชาสักการะ เพราะว่าท่านผู้เป็นกัลยาณมิตรช่วยให้ตัวเราพ้นทุกข์ พบบรมสุขได้ ดังเช่นเจ้าชายจิตตราชที่ได้ฤาษีไตรลักษณ์เป็นกัลยาณมิตร


    ดูใกล้ๆเห็นชัด คือ การที่พวกเรามีพระเดชพระคุณหลวงพ่อและคุณยาย เป็นต้นกัลยาณมิตร สอนเราสร้างบารมีแบบชนิดที่ ได้บุญบารมีเป็นอสงไขย

    อัปปมานัง เกิดเป็นลูกท่านชาตินี้ชาติเดียว ยังคุ้มเกินคุ้มกว่าเกิดมาสร้างบารมีโดยปราศจากท่านเลี้ยงดูแล นับอสงไขยชาติไม่ถ้วน อีกนะครับ


    ๔ ) ธรรมชาติของ “ จิต ” มีฤทธิ์ธานุภาพมากอยู่แล้ว

    ( มหิทธานุภาวํ – ทูรงคมํ – ลหุกํ – อสรีรํ – สุทุททสํ )
    เพียงเราฝึกกลางให้ดี นุ่มนวลควรแก่การงาน ( หยุด นิ่ง เฉย )


    ๕ ) เรื่อง มงคลชีวิต มงคลที่สำคัญๆเป็นฐานให้การสร้างบารมีต่างๆเจริญยิ่งๆขึ้น คือ

    อสเวนา จ พาลานัง คือ ไม่คบคนพาลเป็นมิตร เพราะนำมาซึ่งทางสู่อบายภูมิจริงๆ

    ปัณฑิตา จ เสวนา คือ คบบัณฑิต คบคนดี มีศีลธรรม คุณธรรมเป็นแบบอย่างให้เราได้

    คือ คบลูกๆหลวงพ่อ หลานคุณยาย ที่ฝึกตัวดี มีอุดมการณ์มั่นคง เป้าหมายเลอเลิศ ( ที่สุดแห่งธรรม )


    ๖ ) ว่ากันว่า ธรรมชาติสตรียากแท้หยั่งถึง เหตุนี้เองทำให้บุรุษที่เรียกว่า อุดมเพศไม่ทันมารยาหญิง จึงถูกลวงให้เสียทรัพย์ เสียเวลา เสียบุญบารมีกันนักต่อนัก อย่างที่คำบุราณท่านว่า
    ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ


    คือ ผู้ชายพายเรือจะข้ามฝั่งโอฆสงสารสาคร แต่ถูกผู้หญิงยิงเรือให้รั่วบ้าง ให้ล่มบ้าง ทำให้ถึงฝั่งนิพพานช้า

    เพราะฉะนั้นการสร้างบารมีเผลอไม่ได้ แค่เผลอกระพริบตาเรืออาจรั่ว อาจล่มได้ ต้องสอนตัวเองให้ได้

    ให้โอวาทตนเอง ด่าตนเองเป็น


    ๗ ) การตอบคำถาม เป็นเหตุนำมาซึ่งทั้งความสุขหรือความทุกข์ ได้ทีเดียว มีหลายๆชีวิตที่รุ่งโรจน์ เพราะตอบคำถามได้ถูกต้อง-ถูกใจผู้ถาม แต่อีกหลายๆชีวิตเช่นกัน ที่ไม่รุ่งแต่ร่วง เพราะฉะนั้นไม่ควรดูเบาในการตอบคำถามอะไรๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอบคำถามครูบาอาจารย์ การตอบคำถามท่าน อาจหมายถึงเส้นทาง


    การสร้างบารมีรุ่งหรือร่วงได้เหมือนกัน แต่ไม่ต้องกังวล แค่เราต้องความจริง ถูกต้องแน่นอน ส่วนถูกใจเป็นเรื่องรองเพราะเป็นปฏิภาณเป็นไหวพริบเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และขึ้นอยู่กับมุมมองและอารมณ์ของผู้ถามด้วย Don’t worry about it


    ๘ ) นักสร้างบารมีที่ดี ต้องรู้ตักตัดใจ คือ ตัดอาลัย ในกามคุณ ในบุคคลอันเป็นที่รักที่เกี่ยวข้อง ต้องไม่ติดคน สัตว์ สิ่งของสมบัติ ติดแต่ธรรมะ ติดในบุญ ติดกลางของกลาง เสมือนเจ้าชายจิตตราชที่สละมารดา-บิดา ภรรยาและราชสมบัติฉันนั้น



    ๙ ) ต้องเจนโลก เจนภพสาม เจนวัฎฏสงสาร เจนกลาง คือ ต้องเข้าใจ ต้องรู้เท่าทันธรรมดาของธรรมชาติในวัฎฏสงสารว่าทุกสรรพสิ่งในป่าวัฎฏะนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแท้จริง มีสุข มีทุกข์ ตามกฎโลกธรรม ๘ ที่เขา ทำผังบังคับไว้


    เพราะฉะนั้น เวลามีสุข มีทุกข์ เจอความเปลี่ยนแปลง อย่าดีใจ-เสียใจ เกินงาม ต้องฝึกไม่ยินดี ไม่ยินร้าย กับทุกสรรพสิ่งและทุกเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิต มันก็แค่ ผ่านมาแล้วผ่านไป มาเยี่ยมเรา

    โดยเฉพาะเจนกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย สิ่งที่มากระทบกลางของเรา ทำหน้าที่รักษากลางทุกอย่างสำเร็จ


    หรือคิดว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ได้มาช่วยหล่อหลอมคุณสมบัติและธาตุธรรมภายในของเราให้เก่ง-แกร่ง-กล้า-ชัด-ใส-สว่างยิ่งขึ้น

    จำไว้ว่าสุดท้าย Happy Ending เราต้องบริสุทธิ์ขึ้น ต้องชนะเหนือพญามาร ปราบมารสำเร็จ

    เข้าถึงที่สุดแห่งธรรมอย่างแน่นอน เสมือนวาระสุดท้ายที่เจ้าชายจิตตราชเข้าอายตนะนิพพานฉันนั้น


    ฯลฯ

    ขออนุโมทนาบุญกับการสร้างบารมีของทุกๆท่านด้วยครับ สาธุ .....

    http://board.agalico.com/showthread.php?t=26506

    ขอบคุนครับ
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี