ทัฬหธัมมชาดกว่าด้วยความกตัญญู

กระทู้: ทัฬหธัมมชาดกว่าด้วยความกตัญญู

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. *8q* said:

    ทัฬหธัมมชาดกว่าด้วยความกตัญญู

    ว่าด้วยความกตัญญู


    พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยเมืองโกสัมพี ประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ทรงปรารภช้างพังต้นชื่อภัททวดีของพระเจ้าอุเทน แล้วจึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้
    ส่วนวิธี ที่พระเจ้าอุเทนทรงได้ช้างพังต้นตัวนั้นมีดังนี้
    นางช้างภัททวดีนั้นเดิมเป็นสมบัติของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งเมืองอุชเชนีมาก่อน เหตุที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตจะได้นางช้างนั้นมีประวัติดังนี้
    พาหนะ ๕ ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต
    พระเจ้าจัณฑปัชโชตมีพาหนะทั้ง ๕ คือ:
    นางช้างตัว ๑ ชื่อ ภัททวดี ไปได้วันละ ๕๐ โยชน์
    ทาสชื่อว่า กากะ ไปได้ ๖๐ โยชน์
    ม้า ๒ ตัว คือ ม้าเวลกังสิ และม้ามุญชเกสิ ไปได้ ๑๐๐ โยชน์
    ช้างนาฬาคิรี ไปได้ ๑๒๐ โยชน์
    ประวัติที่จะได้พาหนะเหล่านั้น
    ดังได้ยินมา พระราชาพระองค์นั้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอุบัติขึ้น ได้เป็นคนรับใช้ของอิสรชนผู้หนึ่ง ต่อมาวันหนึ่งเมื่ออิสรชนผู้นั้นออกไปนอกพระนคร อาบน้ำแล้วมาอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต ไม่ได้ภิกษาเลยสักอย่างหนึ่ง เพราะชาวเมืองทั้งสิ้นถูกมารดลใจ มีบาตรตามที่ล้างไว้แล้ว (เปล่า) ออกไป ลำดับนั้น มารเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วถามท่านในขณะที่ท่านถึงประตูพระนครว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านได้อะไร ๆ บ้างไหม ?”
    พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า “ก็เจ้าทำ อาการคืออันไม่ได้แก่เราแล้วมิใช่หรือ ?”
    มาร ถ้ากระนั้น ขอท่านจงกลับเข้าไปอีก คราวนี้ ข้าพเจ้าจักไม่ทำ
    พระปัจเจกพุทธเจ้า เราจักไม่กลับอีก
    ก็ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพึงกลับไปไซร้ มารนั้นจะพึงสิงร่างของชาวเมืองทั้งสิ้น แล้วปรบมือทำการหัวเราะเย้ยอีก เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่กลับ มารก็หายไปในที่นั้นเอง
    ขณะนั้นอิสรชนผู้นั้น พอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มาด้วยเปล่า จึงไหว้ แล้วถามว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านได้อะไร ๆ บ้างไหม ?”
    ท่าน ตอบว่า “ผู้มีอายุ ฉันเที่ยวไปแล้ว ออกมาแล้ว ”
    เขาคิดว่า “พระ ผู้เป็นเจ้า ไม่ตอบคำที่เราถาม กลับกล่าวคำอื่นเสีย ท่านคงจักยังไม่ได้ อะไร ๆ ”
    ในทันใดนั้น เขาแลดูบาตรของท่าน เห็นบาตรเปล่า ก็เป็น ผู้แกล้วกล้า แต่ไม่อาจรับบาตร เพราะยังไม่รู้ว่า ภัตในเรือนของตน เสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จ จึงกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงรอหน่อย” ดังนี้แล้ว ก็ไปสู่เรือนโดยเร็ว ถามว่า “ภัตสำหรับเราเสร็จแล้วหรือ ?”
    เมื่อคนรับใช้ตอบว่า “เสร็จแล้ว”
    เขาจึงกล่าวกะคนรับใช้นั้นว่า “พ่อ คนอื่นที่มีความเร็วอันสมบูรณ์กว่าเจ้าไม่มี ด้วยฝีเท้าอันเร็ว เจ้าจง ไปถึงพระผู้เป็นเจ้านั้น กล่าวว่า ‘ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงให้บาตร,’ แล้วรับบาตรมาโดยเร็ว ”
    คนรับใช้นั้นวิ่งไปด้วยด้วยความเร็วอย่างยิ่ง กระทำการนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าตามที่นายสั่ง รับบาตร และนำมาแล้ว อิสรชนนั้นก็ทำบาตรให้เต็มด้วยโภชนะของตน แล้วกล่าวว่า “เจ้าจงรีบไป ถวายบาตรนี้แก่พระผู้เป็นเจ้า เราจะให้ส่วนบุญในทานนี้ แก่เจ้า ”
    เขารับบาตรนั้นแล้วไปด้วยฝีเท้า (เร็ว) ถวายบาตรแก่พระ ปัจเจกพุทธเจ้า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า เวลาจวนแจแล้ว ข้าพเจ้าไปและมา ด้วยฝีเท้าอันเร็วยิ่ง ด้วยผลแห่งฝีเท้าของข้าพเจ้านี้ ขอพาหนะทั้งหลาย ๕ ซึ่งสามารถจะไปได้ ๕๐ โยชน์ ๖๐ โยชน์ ๑๐๐ โยชน์ ๑๒๐ โยชน์ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า อนึ่ง ร่างกายของข้าพเจ้าผู้มาอยู่และไปอยู่ ถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผาแล้ว ด้วยผลแห่งความที่ร่างกายถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผานั้นของข้าพเจ้า ขออำนาจของข้าพเจ้าจงแผ่ไปเช่นกับแสงแห่งดวงอาทิตย์ ในที่ ๆ เกิดแล้วและเกิดแล้ว ส่วนบุญในเพราะบิณฑบาตนี้ อันนายให้แล้วแก่ข้าพเจ้า ด้วยผลแห่งส่วนบุญนั้น ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมอันท่านเห็นแล้ว ” พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “ขอความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้นี้ จงสำเร็จ” แล้วได้กระทำอนุโมทนาว่า:
    “สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลัน
    สำเร็จแก่ท่าน ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดัง
    พระจันทร์ ซึ่งมีในดีถีที่ ๑๕ สิ่งที่ต้องการแล้ว
    ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน ขอความดำริ
    ทั้งปวง จงเต็ม ดังแก้วมณี ชื่อว่าโชติรส ”
    ได้ทราบว่า คาถา ๒ คาถานี้แล ชื่อว่า คาถาอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย รัตนะคือแก้วมณี อันให้สิ่งที่มุ่งหมายทั้งปวง [แก้วสารพัดนึก] เรียกว่า “แก้วมณีโชติรส” ในคาถานั้น นี้เป็น บุรพจริตแห่งบุรุษรับใช้นั้น เขาได้เป็นพระเจ้าจัณฑปัชโชติในบัดนี้ และด้วยผลแห่งกรรมนั้น พาหนะ ๕ เหล่านี้จึงเกิดขึ้น
    พระเจ้าอุเทนถูกจับ
    พระเจ้าจัณฑปัชโชต ครองราชสมบัติแห่งเมืองอุชเชนี วันหนึ่ง พระองค์เสด็จมาจากพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรดูสมบัติของพระองค์แล้ว ตรัสว่า “สมบัติเช่นนี้ของใคร ๆ แม้อื่น มีไหมหนอ ?” เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า “นี่จะชื่อว่าสมบัติอะไร ? สมบัติของพระเจ้าอุเทนในเมืองโกสัมพีมากยิ่งนัก” ดังนี้แล้วตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เราจักจับพระเจ้าอุเทนนั้น ”
    อำมาตย์ ใคร ๆ ก็ไม่สามารถจับท้าวเธอได้ พระเจ้าข้า
    พระราชา เราจักทำอุบายบางอย่าง จับให้ได้
    อำมาตย์ ไม่สามารถดอก พระเจ้าข้า
    พระราชา เพราะเหตุอะไรเล่า ?
    อำมาตย์ เพราะพระเจ้าอุเทนนั้น รู้ศิลปะ ชื่อหัสดีกันต์ ทรงร่ายมนต์แล้วดีดพิณหัสดีกันต์อยู่ จะให้ช้างหนีไปก็ได้ จะจับเอาก็ได้ ผู้ที่พรั่งพร้อมด้วยพาหนะช้างชื่อว่าเช่นกับท้าวเธอ เป็นไม่มี
    พระราชา เราไม่อาจที่จะจับเขาได้หรือ ?
    อำมาตย์ พระเจ้าข้า หากพระองค์มีความจำนงพระทัยฉะนี้ โดยส่วนเดียวแล้ว ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์จงรับสั่งให้นายช่างทำช้างไม้ ขึ้น แล้วส่งไปยังที่อยู่ของพระเจ้าอุเทนนั้น ท้าวเธอทรงสดับถึงพาหนะ ช้างหรือพาหนะม้าแล้ว ย่อมเสด็จไป แม้สู่ที่ไกล เราจักสามารถจับท้าวเธอผู้เสด็จมาในที่นั้นได้
    พระราชาตรัสว่า “อุบายนี้ ใช้ได้” ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งให้นายช่างทำช้างยนต์สำเร็จด้วยไม้ เอาผ้าเก่าหุ้มข้างนอก แล้วทำเป็นลวดลาย ให้ปล่อยไปที่ริมสระแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้แว่นแคว้นของพระเจ้าอุเทนนั้น บุรุษ ๖๐ คนเดินไปมาภายในท้องช้าง พวกเขานำมูลช้างมา ทิ้งไว้ในที่นั้น ๆ พรานป่าคนหนึ่งเห็นช้างแล้วก็คิดว่า “ช้างนี้ คู่ควรแก่พระเจ้าแผ่นดินของเรา” ดังนี้แล้ว จึงไปกราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์พบช้างตัวประเสริฐซึ่งเผือกล้วน มีส่วนเปรียบด้วยยอดเขาไกรลาศ คู่ควรแก่พระองค์ทีเดียว ” พระเจ้าอุเทนให้พรานป่านั้นแลเป็นผู้นำทาง ขึ้นทรงช้างพร้อมด้วยบริวาร เสด็จออกไปแล้ว เหล่าจารบุรุษทราบการเสด็จมาของท้าวเธอ จึงไปกราบทูลแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชต พระเจ้าจัณฑปัชโชตนั้นเสด็จมาแล้ว ซุ่มพลนิกายไว้ ๒ ข้าง ปล่อยว่างไว้ตรงกลาง พระเจ้าอุเทนไม่ทรงทราบถึงการเสด็จมาของท้าวเธอ จึงติดตามช้างไป มนุษย์ที่อยู่ข้างใน รีบพาช้างไม้หนีไปโดยเร็ว เมื่อพระราชา ทรงร่ายมนต์ดีดพิณอยู่ ช้างไม้ทำเหมือนไม่ได้ยินเสียงแห่งสายพิณ หนีไปถ่ายเดียว พระราชาไม่อาจทันพระยาช้างได้ จึงเสด็จขึ้นม้าติดตามไป เมื่อท้าวเธอรีบตามไปโดยเร็ว พลนิกายก็ล้าหลัง พระราชาได้เป็นผู้เสด็จไปแต่พระองค์เดียวเท่านั้น
    ครั้งนั้นเหล่าบุรุษของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ซึ่งดักซุ่มอยู่แล้ว ณ ๒ ข้างทางจึงจับพระเจ้าอุเทนถวายพระเจ้าแผ่นดินของตน ต่อมาพลนิกายของพระเจ้าอุเทนทราบว่า พระราชาของตนถูกข้าศึกจับไปแล้วแล้ว จึงตั้งค่ายอยู่ภายนอก
    พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงให้พระธิดาเรียนมนต์
    ฝ่ายพระเจ้าจัณฑปัชโชตเมื่อจับพระเจ้าอุเทนได้แล้วก็ ก็ทรงสั่งให้ขังไว้ในเรือนขังโจรหลังหนึ่ง ลัวพระเจ้าจัณฑปัชโชตก็ทรงดื่มน้ำชัยบานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๘ พระเจ้าอุเทนทรงถามพวกผู้คุมว่า
    “พ่อทั้งหลาย พระเจ้าแผ่นดินของพวกเจ้าไปไหนเสีย ”
    พวกผู้คุม พระเจ้าแผ่นดิน ทรงดื่มน้ำชัยบานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่จับปัจจามิตรได้
    พระเจ้าอุเทน พระเจ้าแผ่นดินของพวกเจ้ามีกิริยาช่างกระไร ดังผู้หญิง การจับพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นศัตรูกันได้แล้ว ถ้าจะปล่อยก็ปล่อย หรือจะฆ่า ก็ฆ่าเสีย นี่สิ กลับให้เรานั่งทนทุกข์ แล้วไปนั่งดื่มน้ำชัยบาน
    ผู้คุมเหล่านั้น ก็พากันไปทูลเนื้อความนั้นแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชต พระองค์จึงเสด็จไปแล้วตรัสถามว่า “ได้ยินว่า ท่านพูดอย่างนี้ จริงหรือ ?”
    อุเทน ถูกแล้ว ท่านมหาราชเจ้า
    จัณฑปัชโชต ดีละ เราจักปล่อยท่าน แต่ทราบว่า ท่านมีมนต์เช่นนี้ ท่านจักให้มนต์นั้นแก่เราไหม ?
    อุเทน ตกลง ข้าพเจ้าจักให้ ถ้าในเวลาเรียน จงไหว้ข้าพเจ้าแล้วเรียนมนต์นั้น ก็ท่านจักไหว้ข้าพเจ้าหรือไม่เล่า ?
    จัณฑปัชโชต เราจักไหว้ท่านทำไมเล่า ?
    อุเทน ท่านจักไม่ไหว้หรือ ?
    จัณฑปัชโชต เราจักไม่ไหว้
    อุเทน แม้ข้าพเจ้า ก็จักไม่ให้
    จัณฑปัชโชต เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักลงราชอาชญาแก่ท่าน
    อุเทน เชิญทำเถิด ท่านเป็นอิสระแก่ร่างกายของข้าพเจ้า แต่ไม่เป็นอิสระแก่จิต
    พระราชาทรงสดับถ้อยคำอันองอาจของท้าวเธอแล้ว จึงทรงดำริว่า “เราจักเรียนมนต์ของพระเจ้าอุเทนนี้ ได้อย่างไรหนอ ? แล้วทรงคิดได้ว่า “เราไม่อาจให้คนอื่นรู้มนต์นี้ เราจักให้ธิดาของเราเรียนในสำนักพระเจ้าอุเทนนี้ แล้วจึงเรียนในสำนักของนาง ” ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงตรัสกะพระเจ้าอุเทนนั้นว่า “ท่านจักให้แก่คนอื่นผู้ไหว้แล้วเรียนเอาหรือ ?”
    อุเทน อย่างนั้น ท่านมหาราช
    จัณฑปัชโชต ถ้ากระนั้น ในเรือนของเรามีหญิงค่อมอยู่คนหนึ่ง ท่านยืนอยู่ภายนอกม่าน จงบอกมนต์แก่หญิงนั้น ผู้นั่งอยู่ภายในม่านเถิด
    อุเทน ดีละ ท่านมหาราช นางจะเป็นคนค่อมหรือคนง่อย ก็ช่างเถอะ เมื่อนางไหว้ ข้าพเจ้าจักให้
    ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปตรัสบอกพระนางวาสุลทัตตาราชธิดาว่า “ลูกหญิง ชายเป็นโรคเรื้อนน้ำเต้าคนหนึ่ง รู้มนต์หาค่ามิได้ พ่อไม่อาจที่จะให้คนอื่นรู้มนต์นั้นได้ เจ้าจงนั่งภายในม่านไหว้ชายนั้น แล้วเรียนมนต์ ชายนั้นยืนอยู่ภายนอกม่าน จักบอกแก่เจ้า พ่อจักเรียนจากสำนักของเจ้า ” พระเจ้าจัณฑปัชโชตนั้นตรัสทำให้พระราชธิดาเป็นหญิงค่อม ฝ่ายพระเจ้าอุเทนให้เป็นชายโรคเรื้อนน้ำเต้าอย่างนี้ เพราะทรงเกรงคนทั้งสองนั้นจะทำสันถวะกันและกัน พระเจ้าอุเทนนั้นประทับยืนอยู่นอกม่านเทียว ได้ตรัสบอกมนต์แก่พระนางผู้ไหว้แล้วนั่งภายใน ม่าน
    พระเจ้าอุเทนได้พระอัครมเหสี
    ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าอุเทนซึ่งตรัสสอนมนต์ให้กับพระนางวาสุลทัตตาที่ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นหญิงค่อม พระนางนั้นแม้พระเจ้าอุเทนจะพยายามสอนมนต์ให้แก่พระนาง แต่พระนางก็ไม่สามารถจะจำบทแห่งมนต์ได้จึงทรงพิโรธตรัสบริภาษว่า “เหวย อีหญิงค่อม ! ปากของมึงมีริมขอบและกระพุ้งแก้มอันหนานัก มึงจงว่าไปอย่างนี้ ”
    พระนางได้ยินดังนั้นก็ทรงกริ้วจึงตรัสว่า “เหวย อ้ายขี้เรื้อน ชั่วชาติ มึงพูดอะไร ? คนเช่นกูนะหรือ ชื่อว่าหญิงค่อม ?” ดังนี้แล้ว ทรงยกม่านขึ้นเมื่อพระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร ?” จึงตรัสบอกว่า “เราชื่อ วาสุลทัตตา ธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ”
    พระเจ้าอุเทน บิดาของท่าน บอกเราว่าท่านเป็นหญิงค่อม
    วาสุลทัตตา พระบิดาก็ทรงบอกแก่เราว่าท่านเป็นคนโรคเรื้อนน้ำเต้า
    ทั้งสององค์นั้นทรงดำริว่า “ท้าวเธอคงตรัสดังนั้นด้วยเกรงเราจะทำสันถวะกัน” แล้วก็ทรงทำสันถวะกันในภายในม่านนั่นเอง
    นับแต่นั้น การเรียนมนต์หรือการเรียนศิลปะจึงไม่มี
    ฝ่ายพระราชาทรงถามพระธิดาเป็นนิตย์ว่า “เจ้ายังเรียนศิลปะอยู่หรือ ? ลูก ”
    พระนางตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา กระหม่อมฉันยังเรียนอยู่ เพคะ ”
    ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าอุเทนตรัสกะพระนางว่า “นางผู้เจริญ ชื่อว่าหน้าที่ซึ่งสามีพึงกระทำนั้น หน้าที่นั้น มารดาบิดา พี่น้องชาย และพี่น้องหญิง ไม่สามารถจะทำให้ได้เลย หากเธอจักให้ชีวิตแก่เรา เราจักให้หญิง ๕๐๐ นางเป็นบริวาร แล้วให้ตำแหน่งอัครมเหสีแก่เธอ ”
    พระนางตรัสว่า “ถ้าพระองค์ จักอาจให้สัญญาตามพระดำรัสนี้ หม่อมฉันก็จักทำเพื่อพระองค์ ”
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  2. *8q* said:

    Re: ทัฬหธัมมชาดกว่าด้วยความกตัญญู

    พระเจ้าอุเทนตรัสตอบว่า “พระน้องหญิง เราจักอาจ ”
    พระนางทรงรับพระดำรัสว่า “ตกลง เพคะ” ดังนี้แล้วก็เสด็จไปสู่สำนักพระราชบิดา ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ข้างหนึ่ง ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสถามพระนางว่า “ศิลปะสำเร็จแล้วหรือ ? ลูกหญิง ”

    วาสุลทัตตา ข้าแต่พระบิดา ศิลปะยังไม่สำเร็จก่อน เพคะ
    ลำดับนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชต ตรัสถามพระนางว่า “ทำไมเล่า ลูกหญิง ?”
    วาสุลทัตตา ข้าแต่พระบิดา กระหม่อมฉันขอพระราชทานอนุญาตให้เปิดประตูเมืองประตู ๑ กับพาหนะตัว ๑
    จัณฑปัชโชต เป็นอย่างไรเล่า ลูกหญิง ?
    วาสุลทัตตา ข้าแต่พระบิดา ทราบว่า มีโอสถขนานหนึ่งจะต้องเก็บในเวลากลางคืน ด้วยสัญญาดวงดาว เพื่อประโยชน์เป็นอุปการะแห่งมนต์ เพราะฉะนั้น ในเวลาที่หม่อมฉันออกไปในเวลาหรือนอกเวลา จึงควรที่จะได้รับพระราชานุญาตให้เปิดประตูเมืองประตูหนึ่ง กับพาหนะตัวหนึ่ง
    พระราชาตรัสรับว่า “ได้ ”
    พระเจ้าอุเทนและพระนางวาสุลทัตตานั้น ได้ทรงยึดประตูเมืองประตูหนึ่งซึ่งตนพอใจ ไว้ในเงื้อมมือแล้ว
    พระเจ้าอุเทนหนี
    ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จออก เพื่อทรงกีฬาในพระราชอุทยาน พระเจ้าอุเทนทรงดำริว่า “เราควรจะหนีไปในวันนี้” จึงทรงบรรจุกระสอบหนังใหญ่ ๆ ให้เต็มด้วยเงินและทอง วางเหนือหลังนางช้างภัททวดี แล้วพาพระนางวาสุลทัตตาหนีไป ทหารรักษาวังทั้งหลาย เห็นพระเจ้าอุเทนกำลังหนีไป จึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงส่งพลไปด้วยพระดำรัสสั่งว่า “พวกเจ้าจงติดตามไปโดยเร็ว ” พระเจ้าอุเทนทรงทราบว่า พลนิกายไล่ตามแล้ว จึงทรงแก้กระสอบกหาปณะ ทำกหาปณะให้ตก พวกมนุษย์เก็บกหาปณะขึ้นแล้วไล่ตามไปอีก ฝ่ายพระเจ้าอุเทน ก็ทรงแก้กระสอบทองแล้วทำให้ตก เมื่อมนุษย์เหล่านั้นมัวเนิ่นช้าอยู่ เพราะความละโมบในทอง ก็เสด็จถึงค่ายของพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ภายนอก ขณะนั้นพลนิกายพอเห็นท้าวเธอเสด็จมา ก็แวดล้อมเชิญเสด็จให้เข้าไปสู่พระนครของตน ท้าวเธอครั้นพอเสด็จไปแล้ว ก็อภิเษกพระนางวาสุลทัตตา ตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี
    นางช้างภัททวดีจึงมาเป็นสมบัติของพระเจ้าอุเทนดังนี้

    ราชวงศ์ของพระเจ้าอุเทนก็ดี มีความละเอียดในมาตังคชาดก
    ก็วันหนึ่ง ช้างพังต้นเดินออกจากพระนครไป ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า มีหมู่พระอริยห้อมล้อมเสด็จเข้าไปในพระนคร ด้วยพุทธสิริหาที่เปรียบมิได้เพื่อบิณฑบาตแต่เช้า จึงหมอบลงแทบบาทมูลของพระพุทธเจ้า โอดครวญว่า ข้าแต่พระสรรเพชญผู้ทรงภาคยธรรม ผู้ทรงช่วยเหลือสัตวโลกทั้งมวล พระเจ้าอุเทนทรงโปรดปรานหม่อมฉัน ในเวลาที่หม่อมฉันยัง ามารถช่วยราชการได้ นเวลายังรุ่น โดยทรงเห็นว่า ตนเองได้ชีวิต ได้ราชสมบัติและพระราชเทวีมา โดยอาศัยหม่อมฉัน จึงได้พระราชทานการเลี้ยงดูมากมาย ทรงตกแต่งที่อยู่ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งหลาย รับสั่งให้ทำการประพรมด้วยของหอม ทรงให้ติดเพดานประดับดาวทองไว้เบื้องบน ให้กั้นม่านที่วิจิตรไว้โดยรอบ ให้ตามประทีปด้วยน้ำมันเจือด้วยของหอม ให้ตั้งกระถางอบควันไว้ ให้วางกระถางทองไว้ในที่สำหรับเทคูถแล้วให้หม่อมฉันยืนอยู่บนแท่นที่มีเครื่องลาดอันวิจิตร และได้พระราชทานเครื่องกินที่มีรสเลิศนานาชนิดแก่หม่อมฉัน
    แต่บัดนี้เวลาหม่อมฉันไม่สามารถช่วยราชการได้ในเวลาแก่ พระองค์ทรงงดการบำรุงนั้นทุกอย่าง หม่อมฉันไม่มีที่พึ่ง เป็นผู้ไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย หากินต้นลำเจียกในป่าเลี้ยงชีพ หม่อมฉันไม่มีที่พึ่งอย่างอื่น ข้า แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์จงทรงให้พระเจ้าอุเทนทรงรำลึกถึงคุณความดีของหม่อมฉัน แล้วทรงกระทำการบำรุงอย่างเดิม กลับเป็นปกติแก่หม่อมฉัน
    พระศาสดาตรัสว่า เจ้าจงไปเถิด เราตถาคตจักทูลพระราชาแล้วแต่งตั้งยศให้กลับเป็นปกติ แล้วได้เสด็จไปประตูพระราชนิเวศน์ พระราชาได้ให้พระตถาคตเจ้าเสด็จเข้าไปในพระราชนิเวศน์ของพระองค์แล้ว ทรงถวายมหาทาน แด่พระสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระศาสดาเมื่อทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัตกิจ แล้วได้ตรัสถามว่า ดูก่อนบพิตรมหาราช พังต้นภัททวดีอยู่ที่ไหน
    พระราชาทูลว่า ไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า
    พระศาสดาตรัสถึงคุณความดีของพังภัททวดี ว่า ดูก่อนบพิตรมหาราช ขึ้นชื่อว่าการพระราชทานยศแก่ผู้มีอุปการคุณแล้วทรงทอดทิ้งในเวลาแก่ ย่อมไม่ควร ควรจะเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที พังต้นภัททวดี บัดนี้แก่ทรุดโทรมมาก เป็นสัตว์อนาถา หากินต้นลำเจียกในป่าประทังชีวิตอยู่ การทำให้เขาไร้ที่พึ่งในเวลาแก่ ไม่เหมาะสมแก่พระองค์ แล้วตรัสว่า ขอพระองค์จงทรงทำการบำรุงอย่างเดิมทุกอย่างให้เป็นปกติ ดังนี้แล้วจึงเสด็จหลีกไป พระราชาได้ทรงกระทำอย่างนั้น เสียงเล่าลือได้กระจายไปทั่วพระนครว่า ได้ทราบว่าพระตถาคตเจ้าตรัสถึงคุณความดีของพังต้นภัททวดีแล้วทรงให้พระราชาแต่งตั้งยศเก่าให้กลับคืนตามปกติ แม้ในหมู่พระสงฆ์ประวัตินั้นก็ปรากฏขึ้น
    ภิกษุทั้งหลายพากันตั้งเรื่องสนทนากันในธรรมสภาว่า ท่านผู้มีอายุได้ทราบว่า พระศาสดาตรัสถึงคุณความดีของพังต้นภัททวดี แล้วทรงให้พระเจ้าอุเทนทรงแต่งตั้งยศเก่าให้กลับคืนตามปกติ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องที่สนทนากัน แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายไม่ใช่ในเวลานี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนตถาคต ก็กล่าวถึงคุณความดีของพังต้นภัททวดีนี้ แล้วให้พระ ราชาทรงแต่งตั้งยศตามปกติเหมือนกัน ดังนี้ แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้

    ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า ทัฬหธรรม เสวยราชสมบัติในนครพาราณสี ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ ถือกำเนิดในตระกูลอำมาตย์ เติบโตแล้วได้รับใช้เป็นมหาดเล็กของพระราชาพระองค์นั้น ท่านได้รับพระราชทานยศอันสูง ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งรัตนอำมาตย์จากราชสำนักนั้น กาลครั้งนั้น พระราชาพระองค์นั้นทรงมีช้างพังต้นเชือกหนึ่ง ชื่อโอฏฐิพยาธิ มีกำลังวังชามาก วันหนึ่งเดินทางได้ร้อยโยชน์ ทำหน้าที่นำสิ่งของที่ต้องส่งไปถวายพระราชา คือสื่อสาร ในสงครามทำยุทธหัตถี ทำการย่ำยีศัตรู พระราชาทรงดำริว่า ช้างพังเชือกนี้มีอุปการะแก่เรามาก จึงพระราชทานเครื่องอลังการ คือคชาภรณ์ทุกอย่างแก่พังต้นเชือกนั้น แล้วได้พระราชทานการบำรุงทุกอย่าง เช่นกับที่พระเจ้าอุเทนพระราชทานแก่พังต้นภัททวดี
    ภายหลังเวลาพังต้นโอฎฐิพยาธินั้นแก่แล้วหมดกำลัง ทรงยึดยศทุกอย่างคืน ต่อแต่นั้นมา มันก็กลายเป็นช้างอนาถา หากินหญ้าและใบไม้ในป่าประทังชีวิตอยู่ อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อภาชนะในราชตระกูลมีไม่พอใช้ จึงรับสั่งให้หาช่างหม้อเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า ได้ทราบว่าภาชนะไม่พอใช้
    ช่างจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ หาโคเทียมเกวียนเข็นมูลโคแห้งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเผาหม้อไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า
    พระราชาทรงสดับคำของช่างแล้ว จึงตรัสถามว่า พังต้นโอฏฐิพยาธิของเราอยู่ที่ไหน ?
    อำมาตย์จึงทูลว่า เที่ยวไปตามธรรมดาของตนพระพุทธเจ้าข้า
    พระราชาได้พระราชทานพังต้นเชือกนั้นแก่ช่างหม้อด้วยพระดำรัสว่า ต่อแต่นี้ไปจงเทียมพังต้นเชือกนั้นเข็นมูลโค
    ช่างหม้อรับพระดำรัสว่า ดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วได้ทำอย่างนั้น
    อยู่มาวันหนึ่ง มันออกจากพระนครไปเห็นพระโพธิสัตว์กำลังเข้าพระนคร ยกงวงขึ้นจบแล้วหมอบแทบเท้าของท่าน โอดครวญพลางกล่าวว่า ข้าแต่นาย พระราชาทรงรู้ว่าฉันว่ามีอุปการะมาก ในเวลายังรุ่น ได้พระราชทานยศสูง แต่บัดนี้ เวลาฉันแก่ งดหมดทุกอย่าง ไม่ทรงทำแม้แต่การคิดถึงฉัน ฉันไม่มีที่พึ่ง จึงเที่ยวหากินหญ้าและใบไม้ประทังชีวิตอยู่ บัดนี้ได้พระราชทานฉันผู้ตกยากอย่างนี้ให้ช่างหม้อ เพื่อเทียมยานน้อย เว้นท่านแล้วผู้อื่นที่จะเป็นที่พึ่งของฉันไม่มี ท่านรู้อุปการะที่ฉันทำแก่พระราชาแล้ว ได้โปรดเถิด ขอท่านจงทำยศของฉันที่เสื่อมไปแล้วให้กลับคืนมาตามปกติเถิด แล้วได้กล่าวคาถา ๓ คาถาว่า:
    [๑๐๖๕] เมื่อข้าพเจ้าเป็นสาว ได้ทำลายช้างศัตรูนำกิจนั้นไป ได้ช่วยถอนลูกศรที่
    เสียบอยู่ที่พระอุระ วิ่งตลุยไล่เหยียบย่ำข้าศึกไปในเวลารบ ยังทำให้
    พระเจ้าทัฬหธรรมราชาพอพระทัยไม่ได้
    [๑๐๖๖] พระราชาคงไม่ทราบความเพียรพยายามของข้าพเจ้า ความดีความชอบใน
    สงคราม และการเป็นทูตเดินส่งข่าวสาส์นเป็นแน่
    [๑๐๖๗] ข้าพเจ้าไม่มีพวกพ้อง ไร้ที่พึ่งอาศัย จักต้องตายแน่ๆ ยังมิหนำซ้ำพระ
    ราชทานข้าพเจ้าให้แก่ช่างหม้อ ไว้สำหรับขนโคมัย
    พระโพธิสัตว์สดับถ้อยคำของเขาแล้วจึงปลอบใจว่า เจ้าอย่าโศกเศร้าไปเลย ฉันจักทูลพระราชาแล้วให้พระราชทานยศตามปกติ แล้วเข้าไปพระนคร รับประทานอาหารเข้าแล้วไปราชสำนักยกเรื่องขึ้นทูลถามว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทรงมีช้างพังต้นชื่อโอฏฐิพยาธิ มิใช่หรือ ? เขาผูกหลาวไว้ที่หน้าอกแล้วช่วยสงครามในที่โน้นและในที่โน้น วันโน้นถูกผูกหนังสือ คือสารที่คอแล้วส่งไปสื่อสาร ได้เดินทางไปร้อยโยชน์ ฝ่ายพระองค์ก็ได้พระราชทานยศแก่เขามาก บัดนี้เขาอยู่ที่ไหน ?
    พระราชาตรัสตอบว่า เราได้ให้เขาแก่ช้างหม้อ เพื่อเข็นโคมัยแล้ว ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงทูลพระองค์ว่า ข้าแต่มหาราช การพระราชทานแก่ช่างหม้อ เพื่อให้เทียมล้อ ที่พระองค์ทรงทำแล้วไม่สมควรเลย แล้วได้ ภาษิตคาถา ๔ คาถา โดยการถวายโอวาทพระราชาว่า:
    [๑๐๖๘] คนบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังอยู่เพียงใด ก็ยังคบหากันอยู่เพียง
    นั้น เมื่อประโยชน์ที่หวังสิ้นไป คนพาลทั้งหลายย่อละทิ้งเขา เหมือน
    พระมหากษัตริย์ทอดทิ้งช้างพังโอฏฐิพยาธิ ฉะนั้น
    [๑๐๖๙] ผู้ใดอันคนอื่นทำความยินดีให้แก่ตนก่อน ช่วยเหลือกิจให้สำเร็จทุกอย่าง
    แล้ว ไม่รู้สึก ประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น ย่อมพินาศ
    ไปหมด
    [๑๐๗๐] ผู้ใดอันคนอื่นทำความดีให้แก่ตนก่อน ช่วยเหลือกิจให้สำเร็จทุกอย่าง
    แล้ว ย่อมรู้สึก ประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น ย่อมเจริญ
    ทวีขึ้น
    [๑๐๗๑] เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงขอพูดกะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย มาประ
    ชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มีประมาณเท่าใด ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
    ประมาณเท่านั้น ขอท่านทุกคนจงเป็นผู้มีกตัญญู ท่านทั้งหลายจักประ
    ดิษฐานอยู่ในสวรรค์ตลอดกาลนาน
    พระมหาสัตว์ได้ให้โอวาทแก่คนทั้งหมดที่มาประชุมกันแล้ว พระราชาทรงสดับโอวาทนั้นแล้วได้ทรงแต่งตั้งยศ ให้ช้างพังต้นโอฏฐิพยาธิ ตามเดิม พระองค์ทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์แล้วทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ตลอดกาลนานแล้ว ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ว่า ช้างพังต้นชื่อโอฏฐิพยาธิในครั้งนั้น ได้แก่พังภัททวดีในบัดนี้ พระราชาได้แก่พระอานนท์ ส่วนอำมาตย์ ได้แก่เราตถาคต ฉะนี้แล
    จบ ทัฬหธัมมชาดก
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี