ต่อจากนั้น อนุสาวิกาจะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกัมมวาจาว่า

 “ข้าแต่แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขมานามีชื่อย่างนี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขาของแม่เจ้าชื่อนี้ หากสงฆ์มีความพร้อมเพรียง ข้าพเจ้าพึงถามอันตรายิกธรรมอุปสัมปทาเกปกขาชื่อนี้”

จากนั้น อนุสาวิกาเริ่มถามอันตรายิกธรรมเหมือนกับที่ได้ซักซ้อมมาก่อนภายนอกสงฆ์ เมื่อถามอันตรายิกธรรมเสร็จ จึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกัมมวาจาว่า

ข้าแต่แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขมานาชื่ออย่างนี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขาของแม่เจ้าชื่อนี้ บริสุทธิ์แล้วจากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย มีบาตรจีวรครบบริบูรณ์ อุปสัมปทาเปกขาชื่อนี้ มีแม่เจ้าชื่อนี้เป็น
ปวัตตินี ขออุปสมบทต่อสงฆ์ หากสงฆ์มีความพร้อมเพรียง จงให้อุปสัมปทาเปกขาชื่อนี้ อันมีแม่เจ้าชื่อนี้เป็นปวัตตินีอุปสมบท นี้เป็นวาจาที่ประกาศให้สงฆ์ทราบ…. สงฆ์ใดให้การอุปสมบทแก่อุปสัมปทาเปกขาชื่อนี้ อันมีแม่เจ้าชื่อนี้เป็นปวัตตินี เพราะสงฆ์เห็นชอบ จึงนิ่ง ข้าพเจ้าจะจำความนี้ไว้อย่างนี้

เมื่อเสร็จการสวดญัตติกัมมวาจา เป็นอันได้ชื่อว่า “เอกโตอุปสัมปทา” คือ “ผู้ได้รับอุปสมบทจากสงฆ์ฝ่ายเดียว” ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุณีโดยสมบูรณ์ ดังพระพุทธานุญาตว่า “เราอนุญาตให้ผู้บวชโดยสงฆ์ฝ่ายเดียวในภิกษุณีสงฆ์ ได้บวชในภิกษุสงฆ์ต่อไป” ต้องดำเนินการอุปสมบทในชั้นต่อไปจากภิกษุสงฆ์

๒.๔ การขออุปสมบทในสำนักภิกษุสงฆ์

มีพระพุทธบัญญัติว่า“เราอนุญาตให้ภิกษุบวชภิกษุณี” ดังนั้น เมื่อผ่านการอุปสมบทจากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์แล้ว ภิกษุณี(ปวัตตินี)จะพาเธอผู้เป็นอุปสัมปทาเปกขาไปขออุปสมบทในสำนักภิกษุสงฆ์ต่อไป พึงให้อุปสัมปทาเปกขาห่มผ้าเฉวียงบ่า ทำความเคารพภิกษุทั้งหลาย นั่งคุกเข่า ประนมมือกล่าวคำขออุปสมบทต่อภิกษุสงฆ์ ๓ ครั้งว่า

ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าชื่อนี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขาของแม่เจ้าชื่อนี้ เป็นผู้ได้รับการอุปสมบทต่อสงฆ์ สงฆ์โปรดเอ็นดูยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด

ต่อจากนั้น ภิกษุผู้ฉลาดสามารถจะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกัมมวาจาว่า



ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นางผู้มีชื่ออย่างนี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขาของแม่เจ้าชื่อนี้ได้รับการอุปสมบทแล้วจากสงฆ์ฝ่ายเดียว บริสุทธิ์แล้วในภิกษุณีสงฆ์ นางผู้นี้ มีแม่เจ้าชื่อนี้เป็นปวัตตินีขออุปสมบทต่อสงฆ์ หากสงฆ์มีความพร้อมเพรียง จงให้นางผู้มีชื่อนี้มีแม่เจ้าชื่อนี้เป็นปวัตตินีอุปสมบท นี้เป็นวาจาประกาศให้สงฆ์ทราบ.. สงฆ์ได้ให้อุปสมบทนางผู้มีชื่อนี้ มีแม่เจ้าชื่อนี้เป็นปวัตตินี เพราะสงฆ์เห็นชอบ จึงนิ่ง ข้าพเจ้าจะจำความนี้ไว้อย่างนี้

เมื่อจบการสวดญัตติจตุตถกัมมวาจา อุปสัมปทาเปกขาก็ได้ชื่อว่าสำเร็จเป็นองค์ภิกษุณี ตามประพุทธญัตติทุกอย่าง จากนั้น จึงวัดเงาแดด บอกฤดู บอกส่วนแห่งวัน บอกจำนวนสงฆ์ที่รวมประชุมเพื่อให้รู้ว่า การอุปสมบทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่เงาแดดอยู่ในระยะเท่าใด (การอุปสมบทของภิกษุในปัจจุบันใช้ “นาฬิกา” แทนการวัดเงาแดด) อยู่ในฤดูไหน อยู่ในส่วนแห่งวัน คือ เช้า สาย บ่าย และเพื่อรู้จำนวนสงฆ์ที่ประชุมให้อุปสมบท ต่อจากนั้น สงฆ์พึงมอบให้ภิกษุณีที่พามานั้นบอกอนุศาสน์คือ หลักสำคัญที่ภิกษุณีผู้บวชใหม่จะต้องเรียนรู้ เรียกว่า “นิสัย” และ “อกรณียกิจ”

ดังพระพุทธานุญาตที่ตรัสว่า“พึงบอกนิสัย ๓ อย่าง และอกรณียกิจ ๘ อย่าง แก่ภิกษุณีนี้”

นิสัย ได้แก่ สิ่งที่ภิกษุณีจะต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมี ๓ อย่าง คือ

๑. บรรพชิตต้องอาศัยโภชนะ คือ อาหารที่หามาได้ด้วยลำแข้ง พึงอุตสาหะในข้อนี้ตลอดชีวิต

๒. บรรพชิตต้องอาศัยผ้าบังสุกุลจีวร พึงอุตสาหะในข้อนี้ตลอดชีวิต

๓. บรรพชิตต้องอาศัยน้ำมูตรเน่า พึงอุตสาหะในข้อนี้ตลอดชีวิต

นิสัย ๓ ของภิกษุณี เหมือนนิสัยของภิกษุ ต่างแต่ว่านิสัยของภิกษุมี ๔ อย่าง ภิกษุณีไม่มีการอยู่โคนต้นไม้เหมือนภิกษุ ทั้งก็เพื่อสวัสดิภาพของภิกษุณีเอง
<!-- / message -->

<!-- / message -->