มโหสถบัณฑิต

กระทู้: มโหสถบัณฑิต

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. 8ocdj said:

    มโหสถบัณฑิต

    พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์
    โดย ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม
    ๕ พระมโหสถ ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
    คัมภีร์ขุททกนิกาย มหานิบาตชาดก
    ว่าด้วยเรื่องปัญญาของพระมโหสถ
    ปัญฺจาโล สพฺเพ เสนายาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ปญฺญาปารมิ อารพฺภ กเถสิฯ เอกทิวสมฺหิ ภิขู ธมฺมสภายํ สนนิสินฺนา ตถาคตสฺส ปญฺญาปารมิ วณฺณยนฺตา มหาปญฺโญ อาวุโส ตถาคโต ปุถุปญฺโญ คมฺถีรปญฺโญ ภูริปญฺโญ ติกฺขปญฺโญ ชวนปญฺโญ นิพฺเพธิกปญฺโญ ปรปวาทโนติ.
    ณ บัดนี้จะได้แสดงพระไตรปิฎกเทศนา มหาวิถารนัย ในคัมภีร์ขุทกนิกาย มหานิบาตชาดก ว่าด้วยเรื่องพระมโหสถชาดก เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน ในการที่จะได้สดับเรื่องพระปัญญาขอมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ในครั้งเมื่อพระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถบันฑิต โดยสมควร
    ก็แลเรื่องพระมโหสถชาดกนี้ เป็นเรื่องพิสดารกว้างขวางมากจึงำม่สามารแสดงให้จบในตอนเดียวได้ ส่วนในตอนนี้จะแสดงเป็นตอนที่ ๑ ซึ่งมีเนื้อความสืบต่อไปตามวาระพระบาลีและอรรถกถาว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ประทับอยู่ในเชตะวันมหาวิหารใกล้กรุงสาวัตถีนั้น พระองค์ทรงปรารภซึ่งพระปัญญาบารมีของพระองค์เองให้เป็นต้นเหตุ จึงตรัสเทศนาพระมโหสถชาดกนี้ให้เป็นผล มีคำเริ่มต้นว่า ปญฺจาโล สพฺพเสนาย ดังนี้
    มีเรื่องพิสดารสืบต่อไปว่า ในเวลาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้ประชุมสนทนากันในธรรมสภาพรรณนาซึ่งพระปัญญาบารมีของพระตถาคตเจ้าว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีพระปัญญามาก มีพระปัญญาหนาแน่นเหมือนกับแผ่นพื้นพสุธา มีพระปัญญาทำให้เวไนยสัตว์ร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ้ง มีพระปัญญากว้างขวางเหมือนกับดินฟ้าอากาศ มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาทำลายเสียซึ่งกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทรงย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคำของผู้อื่นได้ พระองค์ได้ทรมานฝึกฝนคนทั้งหลาย ให้หมดพยศอันร้ายกลายเป็นคนดีมากมายนัก จักนับไม่ถ้วนด้วยพระปัญญาของพระองค์ เป็นต้นว่า กูฏทันตพราหมณ์ และสัพพิยปริพาชก อาฬวกยักษ์ พระอินทร์ พระพรหม อังคุลิมาลโจร ดังนี้ฯ เมื่อสมเด็จพระชินศรีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสดับคำสนทนาแห่งภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงเสด็จไปประทับที่ธรรมสภาทรงสอบถามให้ทรงทราบเนื้อความสนทนาอันนั้นแล้ว จึงถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่เราตถาคตจะมีปัญญาปรากฏแก่กล้า แต่ในเวลานี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในปางก่อน เราตถาคตก็มีปัญญาแก่กล้าเหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายใคร่จะทราบเรื่องอดีตของพระองค์ จึงทูลอาราธนาให้แสดงเรื่องในอดีตต่อไป พระองค์จึงทรงนำมาซึ่งเรื่องมโสถชาดกนี้ แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

    อตีเต ภิกฺขเว มิถิลายํ วิเทหรฏฺเฐ วิเทโห นามราชา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้วมา มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราช เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลา
    อันเป็นประเทศวิเทหรัฐ พระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชนั้นมีนักปราชญ์สำหรับสั่งสอน อรรถธรรมอยู่ ๔ คนด้วยกัน คนหนึ่งชื่อ เสนกะ คนหนึ่งชื่อ ปุกกุสะ คนหนึ่งชื่อว่า กามินท์ คนหนึ่งชื่อ เทวินท์ ครั้นอยู่มาในเวลาที่พระมโหสถถือปฏิสนธินั้น พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงพระสุบินนิมิตอันแปลกประหลาด ในเวลาจวนใกล้รุ่งว่า มีกองเพลิงอยู่ ๔ กอง สูงเท่ากำแพงวัง เกิดขึ้นในมุมกำแพงวังทั้ง ๔ แต่มีกองเพลิงอีกกองหนึ่งเกิดในท่ามกลางแห่งกองเพลิงทั้ง ๔ นั้น บัดเดี๋ยวใจก็รุ่งโรจน์โชตนาการท่วมกองเพลิงทั้ง ๔ แล้วสูงขึ้นไปจนกระทั่ง ถึงอกนิฏพรหม สว่างไสวไปทั่วจักรวาล โดยที่สุดแม้เมล็ดพันธุ์ผักกาดอันตกลงไปในสถานที่ทั้งปวงก็ปรากฏสิ้น ในขณะนั้น แม้เทวดาและมหาชนในมนุษย์โลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก พากันเกลื่อนกล่นมาบูชาซึ่งกองเพลิงนั้น แล้วพากันเดินผ่านไปมาในระหว่างกองเพลิงนั้นได้ตามสบาย ไม่มีความร้อนรนแม้แต่ขุมขนหนึ่ง สิ้นพระสุบินนิมิคของพระเจ้าวิเทหราชแต่เพียงเท่านี้
    ราช อิมํ สุปินํ ทิสฺวา ครั้นพระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินนิมิตดังนี้แล้ว ก็ทรงสะดุ้งพระทัยตื่นจากพระบรรทม ทรงดำริว่า จักมีเหตุผลดีร้ายประการใดหนอ ครั้นทรงพระดำริแล้ว ก็ประทับนั่งอยู่จนกระทั่งอรุณขึ้น จตฺตาโร ปณฺฑิตา ปาโตว อาคนฺตวา ครั้นรุ่งเช้านักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็เข้าไปทูลถาม สุขไสยาจารวัตรว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า พรองค์ทรงบรรทมเป็นสุขหรือประการใด พระเจ้าข้า ตรัสตอบว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ทั้ง ๔ เราจะมีความสุขมาแต่ไหน เพราะเมื่อคืนนี้เราฝันเห็นสิ่งประหลาดนักหนา ลำดับนั้น เสนกะ กราบทูลว่า พระองค์ทรงสุบินเป็นประการใด ท้าวเธอจึงเล่าพระสุบินนิมิตนั้นให้ฟัง เสนกะ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์จงอย่าได้ทรงหวันพระทัยเลย พระพุทธเจ้าข้าเพราะพระสุบินนิมิตนี้ เป็นมหามิ่งมงคลอันใหญ่หลวง จะนำสิริสวัสดิ์พิพัฒมงคลทั้งปวงมาให้แด่พระองค์ คือ พระองค์จะได้นักปราชญ์อีกคนหนึ่งเป็นคำรบ ๕ นักปราชญ์คนนั้นจะครอบงำเสียซึ่งปัญญาแห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ มีอุปมาเหมือนกับกองเพลิงอันน้อย ซึ่งมีรัศมีอันรุ่งโรจน์ยิ่งกว่ากองเพลิงทั้ง ๔ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ ซึ่งเป็นนักปราชญ์อยู่เวลานี้เปรียบเหมือนกองเพลิงทั้ง ๔ ที่เกิดขึ้นอยูในมุมกำแพงวังทั้ง ๔ ส่วนนักปราชญ์คนที่ ๕ ซึ่งจักเกิดมีขึ้นใหม่นั้น เปรียบเหมือนกองเพลิงอันน้อยซึ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในท่ามกลางกองเพลิงทั้ง ๔ นั้น นักปราชญ์คนใหม่นั้นจะหาผู้ใดเสมอมิได้ ทั้งในมนุษยโลกและเทวโลก ขอพระองค์จงทรงทราบผลแห่งพระสุบินนิมิตไว้ดังนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้าฯ
    อิทานิ ปเนสํ กุหิสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจึงมีพระราชดำรัสถามว่า ดูก่อนอาจารย์ ก็บัดนี้นักปราชญ์คนใหม่นั้นอยู่ที่ไหน ท่านรู้ได้หรือไม่ หรือรู้แต่เพียงว่า จะได้นักปราชญ์คนใหม่เท่านั้นฯ มหาราช อชฺช ตสฺส ปฏิสนฺธิคหเณน วา /-ข้าแต่มหาราชเจ้า นักปราชญ์คนใหม่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจตามตำราทายพระสุบินนิมิตว่า ต้องถือปฏิสนธิในครรภ์มารดาในคืนวันที่พระองค์ทรงพระสุบินนิมิตนี้ หรือไม่อย่างนั้นก็จะประสูติจากครรภ์มารดาพร้อมกับในเวลาที่พระองค์ทรงสุบินนิมิตนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่แท้ การที่ เสนกะกราบทูลทำนายพระสุบินนิมิตนี้ คล้ายกับเห็นด้วยทิพพจักษุ ฉะนั้น
    ราชา ตโต ปฏฺฐาย ตํ วจนํ อนุสฺสริ จำเดิมนั้นมา
    โปรดรออ่านตอนต่อไป
     
  2. piangfan said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    สาธุ ค่ะ
     
  3. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    ราชา ตโต ปฏฺฐาย ตํ วจนํ อนุสฺสริ จำเดิมนั้นมา พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงระลึกถึงถ้อยคำที่ เสนกะ พยากรณ์นั้นอยู่เนืองๆ อันเมืองมิถิลามหานครนั้น มีหมู่บ้านใหญ่ๆ ที่ประตูนอกกำแพงพระนครมีบ้านอยู่ ๔ ตำบล คือ บ้านข้างประตูทิศใต้ มีหมู่บ้านตำบลหนึ่งชื่อว่า ทักขิณวยมัชฌคาม บ้านข้างประตูทิศตะวันตก ชื่อว่ามัชฌิมวยมัชฌคาม บ้านข้างประตูทางทิศเหนือ ชื่อว่า อุตตรวยมัชฌคาม บ้านข้างประตูทิศตะวันออกชื่อว่า ปาจีนวยมัชฌคาม ในบ้านปาจีนวยมัชฌคามนั้น มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่งชื่อว่า สิริวัฒกเศรษฐี ภรรยาของเศรษฐีนั้นชื่อว่า สุมนเทวี มีเรื่องสืบต่อไปว่า ในขณะที่พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินนิมิตนั้น เป็นเวลาที่พระมหาโพธิสัตว์เจ้า จุติจากดาวดึงส์สวรรค์ลงมาปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางสุมนเทวี ส่วนเทพบุตรอีกหนึ่งพันองค์ ก็จุติจากดาวดึงส์สวรรค์ลงมาปฏิสนธิในครรภ์แห่งอนุภรรยาเศรษฐีในบ้านนั้นในเวลาเดียวกัน เมื่อนางสุมนเทวีได้ประคองครรภ์มาครบถ้วนทศมาส ๑๐ เดือนแล้ว ก็ประสูติบุตรอันมีผิวพรรณบริสุทธิผ่องใสเหมือนทองชมพูนุท
    ตสฺมิ ขเณ สกฺโก เทวราชา ในขณะที่พระมหาโพธิสัตว์เจ้าประสูตินั้น ท้าวสักกเทวราชได้ทรงตรวจดูมนุษยโลก ทรงทราบว่า พระมหาโพธิสัตว์เจ้าได้ประสูติจากครรภ์พระมารดาแล้ว จึงทรงพระดำริว่า เราควรจะกระทำหน่อพุทธางกูรนี้ให้ปรากฏในมนุษยโลก เทวโลก ครั้นทรงพระดำริดังนี้แล้วก็เสด็จลงมาจากสวรรค์ไปวางแท่งทิพยโอสถแท่งหนึ่ง ไว้ในพระหัตถ์แห่งพระมหาโพธิสัตว์เจ้าโดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเห็น แล้วเสด็จกลับคืนสู่สวงสวรรค์ ส่วนพระมหาโพธิสัตว์เจ้า ก็ทรงกำไว้ซึ่งทิพยโอสถนั้น ส่วนพระมารดาจะได้มีความลำบากแม้แต่เล็กน้อยก็หามิได้ พระองค์ประสูติโดยสะดวกดุจดังเทน้ำออกจากกระบอกกรองน้ำฉะนั้น พอพระมารดาได้แลเห็นแท่งทิพยโอสถอยู่ในพระหัตถ์ของพระมหาโพธิสัตว์เจ้าดังนั้นจึงถามว่า
    ลูกได้อะไรมาด้วย
    ตอบมารดาว่า ได้ยามาด้วย แล้วจึงส่งแท่งยาอันเป็นทิพย์นั้นให้แก่มารดาแล้วบอกว่า จงใช้ยานี้แก่ผู้ที่เจ็บไข้ด้วยเถิด จักรักษาโรคได้ทุกชนิด
    มารดาได้ฟังดังนั้นก็เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ จึงบอกแก่สิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นสามีให้ทราบ
    ก็แล สิริวัฒกเศรษฐี ผู้เป็นบิดาแห่งพระมหาโพธิสัตว์เจ้านั้น ได้เป็นโรคปวดศีรษะอยู่ถึง ๖ ปืมาแล้ว เมื่อได้แท่งยาทิพย์ก็มีความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งจึงดำริว่า
    ลูกของเรานี้พอเกิดมาก็ถือยามาด้วย ทั้งพูดกับมารดาได้ด้วย แปลกประหลาดกว่ามนุษย์ทั้งหลาย เห็นจะต้องเป็นผู้มีบุญญาภินิหารอันยิ่งใหญ่แน่นอน ยาที่ผู้มีบุญญาภินิหารอันยิ่งใหญ่เช่นนี้จะต้องเป็นยาที่มีอานุภาพมากเป็นแน่แท้ ครั้นคิดแล้วจึงจับเอาแท่งยาไปฝนทาที่หน้าผากเล็กน้อย โรคปวดศีรษะอันนั้นก็หายไปเหมือนดังน้ำอันตกจากใบบัวฉะนั้น เศรษฐีนั้นมีความดีใจเป็นอย่างยิ่งว่า ยานี้เป็นยามีอานุภาพมาก แล้วก็มีความเล่าลือไปทุกแห่งหนว่า บุตรสิริวัฒกเศรษฐี ได้ถือแท่งยาทิพย์ติดมือออกมาจากครรภ์ด้วย ผู้ที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ได้พากันไปขอยากับเศรษฐีๆ ก็ฝนยาให้คนละน้อยๆ พอคนทั้งหลายที่เป็นโรคภัยต่างๆ ได้ทายานั้นแล้วก็หายจากโรคภัย มีความสุขสบายทั่วกัน ฉะนั้นในการที่ตั้งชื่อพระมหาโพธิสัตว์เจ้านั้น เศรษฐีจึงได้ขนานนามตามนิมิตนั้นว่า มโหสถกุมาร ตามเหตุการณ์ที่ได้แท่งยาทิพย์ติดมือมาด้วย
    ครั้นตั้งชื่อเสร็จแล้วจึงคิดว่า
    กรุณารออ่านต่อ
     
  4. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    ครั้นท่านสิริวัฒกเศรษฐีตั้งชื่อเสร็จแล้วจึงคิดว่าเราได้เห็นอานุภาพของมโหสถกุมารบุตรชายของตนแล้ว เกิดความคิดขึ้นว่า “
    โอ ลูกของเราช่างมีบุญมากจริงหนอ ธรรมดาว่าผู้มีบุญญาธิการเช่นนี้ จะไม่เกิดมาเพียงลำพังผู้เดียว แต่จะต้องมีบริวารผู้มีบุญติดตามมาเป็นแน่ ”
    คิดดังนี้แล้ว จึงได้ใช้ให้ชนผู้เป็นบริวารไปเที่ยวสืบเสาะหาดู เพื่อให้แน่ใจว่า มีทารกคลอดในวันเดียวกันกับบุตรของตนบ้างหรือไม่ ในที่สุด เหล่าบริวารก็ได้กลับมารายงานว่า มีทารกถือกำเนิดในตระกูลของอนุเศรษฐีในวันเดียวกันถึง ๑ พันคนอย่างน่าอัศจรรย์
    ท่านเศรษฐีได้ทราบดังนั้นก็ปลาบปลื้มใจยิ่งนัก คิดอยากจะได้กุมารเหล่านั้นมาเป็นเพื่อนเล่นกับมโหสถ จึงได้จัดส่งของกำนัลเป็นอาภรณ์และเครื่องประดับอย่างดีเลิศ ทั้งยังได้มอบนางนมให้ดูแลกุมารน้อยๆ เหล่านั้นอีกคนละนาง
    มโหสถกุมารค่อยๆเจริญวัยขึ้นตามลำดับ โดยมีสหายกุมารพันคนรายล้อมรอบข้าง เป็นทั้งเพื่อนเล่นและบริวารติดตามไปทุกหนแห่ง จวบจนอายุได้ ๗ ปี รูปร่างของมโหสถกุมารก็ยิ่งสมบูรณ์งดงาม ผิวพรรณเปล่งปลั่งประหนึ่งหล่อด้วยทองคำ แลดูสง่าผ่าเผยกว่ากุมารอื่น ทั้งยังมีกำลังมากดุจช้างสาร

    บัดนี้ มโหสถกุมารเป็นดุจมิ่งขวัญของชาวบ้าน เมื่อเอ่ยถึงมโหสถกุมารคราใด ผู้คนในหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคามอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร ก็จะเกิดความบันเทิงหรรษา มักจะกล่าวถึงด้วยความภาคภูมิใจดุจเดียวกันว่า “ มโหสถกุมารของเรานี่น่ะ ช่างสง่างามเสียจริง ทั้งเฉลียวฉลาด และเก่งกาจสามารถ ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ”
    ทุกหนทุกแห่งใน ปาจีนยวมัชฌคาม (ปา-จีน-ยะ-วะ-มัด-ชะ-คาม) จึงตลบอบอวลไปด้วยเสียงสรรเสริญเกียรติคุณของมโหสถกุมาร ร่ำลือกันไปปากต่อปาก ระบือไกลไปทั่วทุกทิศ
    ไม่ว่าใครก็ตาม แม้เพียงได้แลเห็นกุมารน้อยเท่านั้น ที่จะไม่รักไม่เอ็นดูไม่เชิดชูมโหสถกุมารนั้นไม่มีเลย
    วันหนึ่งขณะที่มโหสถกุมารกำลังวิ่งเล่นกับเหล่าสหาย ภายในสนามเด็กเล่นท่ามกลางหมู่บ้าน พลันมหาเมฆก็ตั้งเค้าทะมึน ไม่ช้าก็โปรยปรายละอองฝนลงมา สายฝนตกกระหน่ำถี่ขึ้นเป็นลำดับ จนเหล่ากุมารต้องรีบวิ่งหนีฝนกันอลหม่าน ต่างยื้อแย่งหาที่หลบฝนภายใต้ร่มไม้ชายคา วิ่งชนกันและกันหกล้มหกลุกคุกคลาน เข่าแตก แข้งแตก เท้าบวม ได้รับลำบากเป็นอันมาก
    และบ่อยครั้งที่บริเวณลานสนามที่กุมารวิ่งเล่นกันนั้น มักถูกช้างและสัตว์ใหญ่ทั้งหลายบุกเข้ามาทำลายจนเสียหายยับเยิน แม้ชาวบ้านชาวเมืองที่เดินทางผ่านไปมาในบริเวณนั้น ก็ต้องกรำแดดกรำฝน ไม่ได้รับความสะดวกสบายเลย
    มโหสถกุมารเห็นความเป็นไปเช่นนั้น ก็ให้นึกสมเพชเวทนา จึงคิดที่จะสร้างศาลาใหญ่สักหลังหนึ่งเพื่อเป็นสถานที่พักหลบแดดหลบฝนของพวกตนและสหาย อีกทั้งจะได้เป็นที่พักสำหรับบรรดานักบวช พ่อค้า คนเดินทาง และคนยากจนเข็ญใจที่แวะเวียนผ่านไปมา ให้ได้รับความสะดวกสบายตามสมควร จึงได้แจ้งข่าวดีนี้แก่บรรดากุมารผู้เป็นสหายว่า “
    เพื่อนเอย พวกเราได้รับความลำบากมามากแล้ว ยามที่ฝนตกพวกเราก็เปียกปอน ยามที่แดดร้อนพวกเราก็ประดุจว่าถูกย่าง นับจากนี้ไปพวกเราจะไม่ลำบากอีกแล้ว เราจะสร้างศาลาขึ้นสักหลัง กะว่าจะให้ใหญ่พอไว้เป็นที่วิ่งเล่น เป็นที่นั่ง ที่นอนของพวกเราได้ เพื่อนๆ คิดว่าจะดีไหมละถ้าเราจะมีศาลาสักหลังหนึ่ง ” เหล่ากุมารทั้งหลาย เมื่อได้ยินมโหสถกล่าวเช่นนั้นก็ดีใจ พากันกล่าวเสริมว่า “ โอ ถ้าได้อย่างนั้นก็ดีนะซิ เพื่อน แต่ว่าเราจะได้เงินจากที่ไหนมาสร้างล่ะ ”

    มโหสถกุมารเอ่ยขึ้นว่า “ เรื่องนั้นไม่หนักหนาอะไร ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันบริจาคทรัพย์คนละกหาปณะ ส่วนนอกจากนั้น หากว่าเงินยังไม่พอ เราก็จะออกทรัพย์เอง ” ทุกคนต่างก็เห็นชอบด้วย จึงรับปากว่าจะช่วยกันออกเงินคนละหนึ่งกหาปณะ จึงได้ไปขอจากบิดามารดาของตน แล้วนำมามอบให้กับมโหสถด้วยความเต็มใจ
    ครั้นรวบรวมทรัพย์ครบพันกหาปณะแล้ว มโหสถจึงได้เรียกนายช่างมาเจรจารับเหมาก่อสร้าง เมื่อได้ตกลงเรื่องค่าจ้างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายช่างจึงเริ่มปรับพื้นดินให้เรียบเสมอ แล้วลงมือขึงเชือกเพื่อวัดระดับพื้นที่

    มโหสถกุมารแม้อายุเพียง ๗ ขวบแต่เป็นผู้มีสติปัญญาเปี่ยมด้วยปฏิภาณ ได้สังเกตเห็นนาย"มโหสถกุมารแม้อายุเพียง ๗ ขวบแต่เป็นผู้มีสติปัญญาเปี่ยมด้วยปฏิภาณ"' ช่างขึงเชือกไม่ถูกแบบ ก็ตรงรี่เข้าไปใกล้ๆ เอ่ย
    ขึ้นว่า “ นายช่าง ขอท่านจงหยุดก่อน ท่านขึงเชือกอย่างนี้ เห็นทีจะขึงผิดแบบเสียแล้ว ธรรมดาว่าการงานที่เริ่มต้นด้วยความผิดพลาด งานที่ทำต่อๆ ไปก็มีแต่จะผิดพลาดตามไปด้วย ฉะนั้น ขอท่านจงช่วยกันขึงเชือกใหม่เถิด
    ” นายช่างแม้ได้ยินคำทักท้วงอยู่เต็มสองหู แต่ก็หาได้ใส่ใจในคำพูดของมโหสถกุมาร ด้วยสำคัญว่าเป็นเพียงเด็กน้อย ทั้งหมดจึงยังคงก้มหน้าก้มตาขึงเชือกแบบเดิมของตนต่อไป มโหสถกุมารเห็นว่านายช่างไม่สนใจในคำพูดของตนเลย เมื่อการณ์เป็นดังนั้นแล้วท่านจะทำอย่างไร
    โปรดติดตามตอนต่อไป




     
  5. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    นายช่างก็ไม่ได้ใส่ใจในคำพูดของมโหสถกุมาร ด้วยสำคัญว่าเป็นเพียงเด็กน้อย ทั้งหมดจึงยังคงก้มหน้าก้มตาขึงเชือกแบบเดิมของตนต่อไป
    มโหสถกุมารเห็นนายช่างยังนิ่งเฉยอยู่ ก็พูดซ้ำเป็นคำรบสอง คราวนี้นายช่างนั้นเงยหน้าขึ้น ตอบมโหสถน้ำเสียงที่ทั้งเคารพทั้งเอ็นดูว่า นายท่าน เราได้ศึกษาศิลปะงานช่างนี้มาอย่างไร ก็เพียรก่อสร้างไปตามนั้น พวกเราจะทำจนสุดกำลังความสามารถของตน ขอท่านจงเชื่อมั่นเถิด
    มโหสถกุมารค้านว่า แม้เพียงการขึงเชือกเท่านั้น พวกท่านก็ยังทำไม่ถูก แล้วท่านจะรับทรัพย์ของเรา สร้างศาลาได้อย่างไรกัน
    พ่อหนูเอย พวกเราทำดีที่สุดแล้ว หากพ่อมโหสถต้องการจะให้ดียิ่งไปกว่านี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้วละ”นายช่างกล่าวตอบด้วยสีหน้าห่อเหี่ยว บ่งชัดว่าเริ่มท้อใจ
    ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร ท่านจงส่งเชือกนั้นมาให้กระผม เดี๋ยวกระผมจะขึงให้เองกล่าวดังนี้แล้ว มโหสถก็รับเชือกจากมือนายช่างนำมาขึงเสียเอง
    ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ เชือกที่ขึงนั้นก็เป็นประหนึ่งว่าท้าววิสสุกรรม เทพเจ้าแห่งศิลปะการก่อสร้างมาขึงให้ เกินกว่าวิสัยที่นายช่างทั่วไปจะสามารถทำได้ นายช่างเห็นดังนั้นก็พากันประหลาดใจ ที่เด็กตัวเล็กแค่นี้สามารถทำงานยากๆ ที่แสนซับซ้อนได้
    นับแต่นั้นมา มโหสถกุมารจึงเป็นผู้วางแผนงาน และคอยควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเองในทุกขั้นตอน โดยจัดสรรศาลาออกเป็นส่วนๆ ภายในแบ่งเป็นห้องๆ ประกอบไปด้วยห้องสำหรับคนยากไร้ได้พักพิง ห้องสำหรับนักบวชอาคันตุกะที่จาริกมาจากแดนไกลได้พำนัก
    ห้องสำหรับคนเดินทางแวะพักผ่อนให้หายเหนื่อยล้า ห้องเก็บสินค้าและสัมภาระสำหรับพ่อค้าวาณิชที่เดินทางมาค้าขาย รวมถึงห้องสำหรับหญิงอนาถาใช้คลอดบุตร
    ห้องเหล่านี้ล้วนมีซุ้มประตูออกทางด้านหน้า ภายในศาลามีห้องโถงใหญ่ เป็นสนามเล่น มีโรงวินิจฉัยคดี และที่ประชุมดุจโรงธรรมสภา ภายในศาลายังได้ให้จิตรกรวาดจิตรกรรมที่ผนังรายรอบห้องทุกห้อง ล้วนเป็นยอดศิลปะที่วิจิตรอลังการชวนทอดทัศนา
    โปกฺขรณี ขนาเปตวา ครั้นเมื่อได้สร้างศาลาสำเร็จแล้ว มโหสถบัณฑิตก็มาดำริว่า เพียงแต่ศาลาเท่านั้น ยังหางดงามไม่ แต่หากว่าศาลาหลังนี้มีสระโบกขรณีอยู่รายรอบ ความงามก็จักปรากฏเฉิดฉายขึ้น
    คิดดังนี้แล้วจึงสั่งการให้ขุดสระโบกขรณีขนาดใหญ่ไว้รอบศาลา เป็นเวิ้งวุ้งคุ้งน้ำ คดเคี้ยวนับพันคุ้ง ทั้งยังให้ทำท่าน้ำถึง ๑๐๐ ท่า เพื่อให้มหาชนได้ลงอาบชำระกาย ล้วนดารดาษไปด้วยปทุมชาติหลากพันธุ์เต็มสระ รอบขอบสระก็ให้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างพันธุ์ และไม้ผลยืนต้นไว้ร่มครึ้มงามตา ไม้ดอกไม้ผลเหล่านั้นต่างชูดอกออกใบให้ผลสลับกันไม่ขาด ทั้งนี้เพราะมโหสถได้ขอทรัพย์เพิ่มเติมจากท่านสิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นบิดา ซึ่งก็ได้เพิ่มเติมจากบิดาอีกหลายพันกหาปณะ
    ในที่สุดศาลาหลังนี้จึงปรากฏว่าสง่างามล้ำสมัย เปรียบได้กับสุธรรมาเทวสภาบนสรวงสวรรค์ ได้ชะลอมาสู่ภพมนุษย์
    ด้วยเหตุที่มโหสถบัณฑิตได้จัดการทุกสิ่ง โดยมุ่งเพิ่มพูนบารมีของตนให้ยิ่งๆขึ้นไป ศาลาหลังนี้จึงได้ก่อประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก
    ก็ปรากฏว่ามีประชาชนพากันมาพักค้างทุกวันมิได้ขาด แม้นผู้คนที่สัญจรไปมาต่างก็ได้รับความสะดวกสบายครบครัน ยิ่งกว่านั้นในบางคราวเมื่อถึงกาลอันเหมาะสม มโหสถบัณฑิตยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงข้ออรรถข้อธรรม ชักนำมหาชนที่มาพักค้างให้ตั้งอยู่ในกองการกุศลแนะนำในสิ่งอันเป็นกรณียกิจ คือ สิ่งที่ควรทำ เป็นความถูกต้องดีงาม เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ
    ให้เว้นห่างจากอกรณียกิจ คือสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นความผิดความชั่ว ที่จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โทษภัยและความเสื่อม
    หมู่ชนที่ได้สดับรสอรรถรสธรรมที่แสดงเหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก ต่างอนุโมทนาสาธุการ กล่าวแซ่ซ้องสรรเสริญ จึงทำให้เกียรติคุณอันงดงามของพระโพธิสัตว์ฟุ้งเฟื่องระบือไกลไปทั่วทุกทิศานุทิศ
    วิเทหิราชา ปน สตฺตวสฺสจฺจเยน ในเวลาที่มหาโพธิสัตว์เจ้ามีพระชนได้ ๗ ขวบนั้นพระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงคำนึงถึงวันที่ท่านอาจารย์เสนกะได้ทำนายพระสุบินนิมิต พระองค์ก็ได้ปรารภถึงบัณฑิตน้อยผู้นั้นกับท่านเสนกะอยู่เนืองนิตย์
    พระประสงค์ที่จะเสาะหาบัณฑิตคู่พระหฤทัยไว้ช่วยเหลือราชกิจ ก็ยังมั่นคงเช่นเดิม แม้บัดนี้จะล่วงเลยมานานถึง ๗ ปีแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังทรงคิดคำนึงถึง และเฝ้ารอคอยการมาสู่ราชสำนักของมหาบัณฑิตผู้นั้นอยู่ตลอดเวลา
    แต่เหตุการณ์เบื้องหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น กรุณาอ่านต่อพรุ่งนี้




     
  6. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    พระเจ้าวิเทหราช นับแต่วันที่ได้สดับคำทำนายพระสุบินนิมิต พระองค์ก็ได้ปรารภถึงบัณฑิตน้อยผู้นั้นกับท่านเสนกะอยู่บ่อยครั้ง แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง ๗ ปีแล้ว ก็ยังทรงคิดคำนึงถึง และเฝ้ารอคอยการมาสู่ราชสำนักของมหาบัณฑิตในฝันอยู่ตลอดเวลา
    แล้ววันหนึ่งพระองค์ก็ทรงมีพระดำรัสกับท่านเสนกะว่า"
    ท่านอาจารย์ นับจากวันที่ท่านได้ทำนายสุบินนิมิตให้แก่เรา จนถึงบัดนี้ก็ ๗ ปีแล้ว ถ้าถือเอาวันนั้นเป็นวันเกิดของบัณฑิตน้อย ป่านฉะนี้เขาก็คงเจริญวัยได้ ๗ ปีแล้ว ก็น่าจะปรากฏแววแห่งความเฉลียวฉลาดมาบ้างเป็นแน่ เห็นทีเราจักต้องให้อำมาตย์ออกไปเที่ยวสืบเสาะดูให้รู้แน่ชัด ท่านจะเห็นเป็นประการใด”
    อาจารย์เสนกะเห็นชัดว่าพระราชาทรงใฝ่พระหฤทัยในเรื่องบัณฑิตน้อยมาก จึงปรารถนาจะให้ถูกพระอัธยาศัยของพระองค์ จึงรีบกราบทูลคล้อยตามพระดำรัสว่า “
    ข้าแต่มหาราช นั่นเป็นพระดำริอันชอบยิ่งแล้วพระเจ้าข้า”
    “ดีละ ท่านเสนกะ ถ้าเช่นนั้นเราจักสั่งให้อำมาตย์ไปสืบดูให้ทั่วนคร”
    รับสั่งพลางเรียกอำมาตย์ ๔ คนมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งให้แยกย้ายกันออกไปสืบหาให้ทั่วทั้ง ๔ ทิศ
    บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น มีเพียงอำมาตย์ผู้มุ่งตรงไปทางตะวันออกเท่านั้น ที่ได้ประสบกับสถานที่น่าอัศจรรย์ใจ เพราะเมื่อมาถึงหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม เขาได้เข้าไปนั่งพำนักอยู่ในศาลาอันโอ่โถงวิจิตรตระการ ตื่นตากับสระโบกขรณี และสวนไม้ดอกไม้ผล ดุจดังว่าได้นั่งชื่นชมทิพยสมบัติอันโอฬารอยู่ในเทวโลก ก็ดำริในใจว่า “ผู้ที่สร้างศาลาหลังนี้ต้องเป็นบัณฑิตผู้มีสติปัญญาอย่างยิ่งทีเดียว จึงสามารถกระทำศาลาให้ยิ่งใหญ่อลังการได้ถึงเพียงนี้”
    เขาจึงเริ่มไต่ถามมหาชน จนได้ความว่า มโหสถกุมาร บุตรสิริวัฒกเศรษฐี บัณฑิตน้อยแห่งบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง
    ยิ่งได้ฟังเสียงร่ำลือถึงกุมารผู้ปรีชาสามารถแล้ว กอปรกับวัยของกุมารก็มาพ้องตรงกันกับพระสุบินนิมิต ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่า “มโหสถกุมารผู้นี้ เห็นทีว่าจะต้องเป็นบัณฑิตที่พระราชาทรงมีพระราชดำรัสให้สืบหาเป็นแน่”
    อำมาตย์ผู้นั้นจึงได้ซักไซ้ไล่เลียงถามประวัติของบัณฑิตนั้นอย่างละเอียดลออ แล้วรีบทำรายงานถวายพระราชา โดยให้บุรุษคนสนิทเป็นทูตถือสารนั้นไปกราบทูลข่าวดีแด่พระองค์ ส่วนตนก็ยังคงรออยู่ในที่นั้นเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ต่อไป
    ราชา ตํ สุตฺวา ตุฏฺฐตฺโต
    ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช ครั้นทรงสดับคำกราบทูลของทูตแล้ว ก็ทรงปราโมทย์ยิ่งนัก พระพักตร์สดชื่นราวกับได้ทรงเสวยทิพยสุธาโภชน์อันเอมโอษฐ์
    จึงตรัสเรียกท่านเสนกะมาเฝ้า รับสั่งว่า “เป็นอย่างไรเล่าท่านอาจารย์ ก็อำมาตย์เขามารายงานเช่นนี้ ท่านอาจารย์เห็นว่าเราควรจะนำบัณฑิตน้อยนั้นมาได้หรือยัง”
    ท่านเสนกะเพิ่งจะได้ทราบข่าวนั้น ก็ตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง คิดว่า “โอ นี่หรือ ที่ควรจะเรียกว่าเป็นข่าวดี ก็แน่ละอาจเป็นข่าวดีสำหรับพระองค์ แต่สำหรับเราแล้ว สมควรจะเรียกว่าเป็นข่าวร้ายมากกว่า”
    พระราชาทรงเห็นท่านเสนกะนิ่งเงียบไป ก็เข้าพระทัยว่าท่านอำมาตย์คงตรวจดูด้วยพยากรณ์ศาสตร์ จึงทรงยับยั้งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะตรัสถามซ้ำเป็นครั้งที่สอง
    อาจารย์เสนกะจินตนาการไปไกลว่า “หากมโหสถกุมารนี้ได้เข้ามาอยู่ในราชสำนักเมื่อใด เราก็คงหมดความสำคัญ แม้พระราชาก็จักทรงลืมเราไปเสียสิ้น ไม่ช้าเราก็จะตกต่ำหมดรัศมี แม้ลาภ ยศ บริวาร และความเป็นใหญ่ก็จะพลอยสูญสิ้น จำเราจะต้องกราบทูลทัดทานไว้ก่อน”
    อาจารย์เสนกะไม่ปรารถนาให้พระราชาตรัสถามเป็นครั้งที่ ๓ จึงรีบกราบทูลในขณะนั้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ เพียงแค่กุมารนี้สามารถสร้างศาลาได้ใหญ่โต ยังหาอัศจรรย์ไม่
    บุคคลจะเป็นบัณฑิตเพียงเพราะการสร้างศาลา ข้อนี้ช่างเล็กน้อย ดูไม่สมแก่เหตุเลย พระพุทธเจ้าข้า”
    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของท่านเสนกะแล้ว ก็เห็นพ้องว่า หากพระองค์จะอาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ แล้วนำกุมารน้อยเข้ามาสู่ราชสำนัก ในฐานะราชบัณฑิตก็ดูกระไรอยู่ ยังมีข้อที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้าง อีกประการหนึ่ง ท่านอาจารย์เสนกะผู้พยากรณ์เรื่องนี้มาแต่ต้นก็ยังมากล่าวคัดค้านเช่นนี้ สมควรที่พระองค์จะทรงรับฟังคำของท่านเสนกะไว้ก่อน แต่เพราะเหตุที่ทรงใฝ่หายอดบัณฑิตนี้มานานถึง ๗ ปี จึงยากยิ่งที่จะทรงตัดพระหฤทัยได้ในทันที จึงทรงนิ่งครุ่นคิดอยู่
    อาจารย์เสนกะเห็นพระองค์ทรงนิ่งแสดงท่าทีครุ่นคิดอยู่ ไม่ตรัสสิ่งใดออกมาเลย ก็ไม่รู้ว่าพระราชาทรงคิดอย่างไรอยู่ หากปล่อยให้นิ่งนานไป ก็หวั่นใจว่าพระราชาจะทรงกริ้วตน จึงรีบกราบทูลอธิบายเพื่อปกป้องตนเองว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าของชาววิเทหรัฐ ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลทัดทานเช่นนี้ เพราะตรองเห็นด้วยเกล้าว่า หากบัณฑิตที่พระองค์จะทรงโปรดเกล้าฯรับไว้ในฐานะราชบัณฑิตนั้น ด้วยเหตุเพียงการให้ช่างสร้างศาลาเท่านั้น เมื่อข่าวนี้แพร่ไปทั่วชมพูทวีป พระราชาต่างเมืองก็อาจทรงรำลึกถึงพระองค์ด้วยความดูแคลนก็เป็นได้ แต่ในทางกลับกัน หากพระราชาเหล่านั้นทราบว่า ผู้ที่จะมาเป็นราชบัณฑิตของพระองค์ จะต้องผ่านการทดสอบภูมิปัญญาอย่างเข้มงวด ไฉนเลยจะไม่กลัวเกรงในพระบารมี ขอพระองค์ทรงใคร่ครวญดูเถิด พระเจ้าข้า”
    พระราชาทรงสดับคำของท่านอาจารย์เสนกะแล้ว ก็ทรงพอพระหฤทัย จึงมีพระดำรัสให้ทูตที่มากราบทูลไปแจ้งแก่อำมาตย์ผู้นั้นว่า “ขอให้ท่านอำมาตย์จงรออยู่ที่บ้านปาจีนยวมัชฌคามนั้นต่อไป และหากมีเหตุการณ์ใดที่เนื่องกับบัณฑิตผู้นั้น ก็จงนำความมากราบทูลเราทันที จนกว่าเราจะมั่นใจว่า มโหสถกุมารคือบัณฑิตที่เราตามหา เมื่อนั้นท่านจึงค่อยเดินทางกลับ”
    ทูตนั้นเมื่อรับพระบรมราชโองการแล้ว ก็รีบนำพระราชสาสน์ไปแจ้งแก่อำมาตย์ผู้นั้นในทันที ดังนั้น มโหสถกุมารจึงอยู่ในการสอดแนมของพระราชาตลอดเวลา
    โปรดรอ อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ และช่วยกันตอบปัญหา

     
  7. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    ตสฺส มํสนฺติ ฯ เอกทิวสํ โพธิสตฺโต กีฬามณฺฑลํ คจฺฉนฺโต เอโก เสโน สูนผลกโต มํสเปสิ คเหตฺวา อากาเสน ปกฺขนฺทิ ฯ ตํ ทิสฺวา ทารกา มํสเปสิฉฑฺฑาเปสฺสสามาติ เสนํ อนุพนฺธิสูติ
    ในระหว่างที่อำมาตย์ของพระเจ้าวิเทหราชคอยเฝ้าดูมโหสถกุมารอยู่อย่างใกล้ชิดนั้น ก็ได้ปรากฏเหตุมากมายหลายเรื่อง ซึ่งล้วนเป็นประจักษ์พยาน ยืนยันในความเป็นผู้มีปัญญาอันยอดยิ่ง
    ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น อำมาตย์ก็จะนำความนั้นขึ้นกราบทูลพระราชา โดยผ่านทูตผู้ทำหน้าที่ส่งสาสน์ทุกคราวไป ปรากฏเรื่องราวโดยพิสดาร ดังต่อไปนี้
    ครั้งหนึ่ง มีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินผ่านโรงฆ่าสัตว์ เห็นชิ้นเนื้อขนาดฝ่ามือ ที่คนฆ่าสัตว์วางไว้บนเขียงเตรียมนำไปขาย ก็หวังจะได้ลิ้มลองรสชาดของเนื้อนั้นให้สมอยาก จึงเฝ้ารอทีเผลอ เมื่อเห็นคนฆ่าสัตว์ง่วนอยู่กับการลับมีด ก็รีบโฉบลงตรงชิ้นเนื้อโดยเร็ว ก็รีบบินหนีไป
    ขณะนั้นเอง มโหสถกุมารกับสหายทั้ง ๑,
    ๐๐๐ คน พากันเล่นกันอยู่ในสนามกีฬา เห็นเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อกะร่องกะแร่งบินผ่านมาในบริเวณนั้น ก็พากันนึกสนุก อยากจะแย่งชิ้นเนื้อจากเหยี่ยว จึงตกลงกันว่า หากใครสามารถจะคว้าชิ้นเนื้อนั้นมาได้ ก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะ
    ในที่สุดก็เลยถือเอาเหยี่ยวเป็นกีฬาไปเสียด้วย ว่าแล้วก็พากันวิ่งตามเหยี่ยวขู่ตวาดโห่ร้องเกรียวกราว เพื่อให้เหยี่ยวตกใจปล่อยชิ้นเนื้อลงมา ต่างคนต่างวิ่งไล่ตามกันสนุกสนาน แต่ก็พลอยได้รับความลำบากไปตามๆ กัน เพราะขณะที่วิ่งตามเหยี่ยวไป ก็แหงนดูตัวเหยี่ยวไปพลาง จึงสะดุดเข้ากับตอไม้ ตกหลุม ตกบ่อ ล้มลุกคลุกคลาน แข้งขาก็ถลอกปอกเปิก มีบาดแผลฟกช้ำดำเขียว สะบักสะบอมกันถ้วนหน้า
    มโหสถกุมารเห็นเช่นนั้น ก็ร้องห้าม บอกให้พวกกุมารเหล่านั้นหยุดเสีย แล้วอาสาจะไล่ตามเหยี่ยวนั้นเอง หยุดก่อนๆ เราจะไล่กวดให้มันปล่อยชิ้นเนื้อนั้นให้ได้ เพื่อนๆ คอยดูให้ดีนะ
    กล่าวดังนี้แล้ว มโหสถกุมารก็รีบวิ่งกวดไปโดยเร็วจนสุดกำลัง ราวกับลมพัดผ่านนภากาศ โดยไม่ต้องแหงนดูบนฟ้าเลย
    กุมารเหล่านั้นเห็นมโหสถกุมารเอาจริง ก็พากันหยุดไล่ กล่าวขึ้นว่า พวกเราหลีกทางเถอะ ปล่อยให้มโหสถลองดูบ้าง แล้วก็หลีกให้พ้นทางวิ่ง
    มโหสถกุมารไล่กวดเหยี่ยวนั้นในระยะกระชั้นชิด ไม่ช้าก็ทันเหยี่ยวได้ ตบมือผางผาง! ตวาดขึ้นไปด้วยเสียงดังสนั่น
    เสียงนั้นได้ดังกึกก้องสะท้านสะเทือน ชวนให้เสียวสยอง ดุจผ่านเข้าแก้วหูไปคำรามคำรนอยู่ จนมันสะดุ้งตกใจด้วยความกลัว แม้จะมีความเสียดายชิ้นเนื้อนั้นสักปานใด ก็จำต้องทิ้งชิ้นเนื้อลงมา แล้วรีบโผบินหนีไปโดยเร็ว
    มโหสถก็เอามือรองรับไว้มิทันให้ตกถึงดิน เหล่ากุมารที่เหลือเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้น ก็พากันเปล่งเสียงโห่ร้องอึงคะนึง ปรบมือกันเกรียวกราวด้วยความชื่นชม มิใช่เฉพาะเหล่าสหายของมโหสถกุมารเท่านั้น แม้แต่ฝูงชนที่ชุมนุมกัน ณ ที่นั้น ก็อดมิได้ที่จะแสดงอาการชื่นชมยินดี
    อำมาตย์ซึ่งเฝ้าดูมโหสถอยู่อย่างไม่ละสายตาตามรับสั่งของพระราชา ก็เห็นแววความฉลาดเฉลียวของมโหสถกุมารในครั้งนั้นเช่นกัน
    จึงเร่งส่งทูตไปกราบทูลเรื่องนี้แด่พระเจ้าวิเทหราช ท้าวเธอทรงสดับคำกราบบังคมทูลนั้นแล้ว ก็ทรงแย้มพระสรวลด้วยความโสมนัสยินดี ในขณะที่ท่านอาจารย์เสนกะกลับนั่งฟังนิ่งๆ ไม่ไหวติงดั่งถูกมนต์สะกด
    ครั้นแล้วพระราชาจึงผินพระพักตร์มาทางอาจารย์เสนกะ ตรัสถามว่า
    เป็นอย่างไรเล่าท่านอาจารย์ พ่อบัณฑิตน้อยนี่ธรรมดาเสียทีไหน ท่านอาจารย์ว่า เท่านี้จะเพียงพอหรือยังที่เราจะรับตัวมโหสถกุมารเข้ามาเสียที

    ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้าฯ
    ขอพระองค์ทรงโปรดยับยั้งเรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะเหตุเพียงเท่านี้ ช่างเล็กน้อยเหลือเกิน ข้าพระบาทว่า ทางที่ดีพระองค์น่าจะรอต่อไปอีกหน่อยเพื่อทดลองให้แน่พระหฤทัยก่อน พระพุทธเจ้าข้า ท่านเสนกะกราบทูล
    พระราชาทรงฉงนพระหฤทัย ถึงกับตรัสว่า
    อะไรกันท่านอาจารย์ บุคคลผู้สามารถเล็งเห็นได้ทั้งบนฟ้าและบนดินพร้อมกันเช่นนี้ ควรจะเรียกว่าผู้มีปรีชาญาณอันยอดเยี่ยมมิใช่หรือ

    ไม่เป็นการยากอันใดดอก พระเจ้าข้า ท่านเสนกะกราบทูลยืนยัน เพียงแค่ใช้ความคิดเล็กน้อยเท่านั้น ก็อาจจะกระทำได้ ก็เรื่องนั้นมีเหตุให้ต้องคิด เนื่องด้วยมโหสถกุมารเห็นสหายพากันได้รับความลำบาก จึงได้คิดหาหนทางแก้ไข ดังนั้น จึงยังถือว่าเป็นความคิดที่มีเงื่อนไขให้คิด จึงหาใช่เรื่องยากที่จะคิดอ่านเช่นนั้น พระเจ้าข้า
    ท้าวเธอทรงสดับคำอธิบายของอาจารย์เสนกะแล้ว ก็ทรงจำต้องยอมรับในเงื่อนไข ด้วยยังไม่อาจหาเหตุผลอื่นใดมากล่าวอ้างให้ยิ่งกว่านั้น จึงได้แต่ทรงนิ่งเสีย จากนั้นก็มีรับสั่งให้ทูตนำพระกระแสรับสั่งกลับไปบอกอำมาตย์ผู้นั้นให้ประจำอยู่ไปก่อน เพื่อคอยดูเหตุการณ์ต่อไป
    [HIGHLIGHT=#ffffff]ลองภูมิกันหน่อยไหมครับว่า มโสถกุมาร วิ่งไล่ตามเหยี่ยวถูกทิศทางได้อย่างไรโดยไม่ต้องแหงนหน้ามองเหยี่ยวที่บินอยู่บนฟ้า
    [/HIGHLIGHT]
    ดังนั้นในตอนหน้า มโหสถกุมารจะแสดงอัจฉริยภาพ ในเรื่อง ขโมยลักโคแล้วตู่ ว่าเป็นของตน มโหสถกุมารจะมีวิธีพิสูจน์อย่างไรว่าใครคือเจ้าของโคที่แท้จริง โปรดติดตามอ่านพรุ่งนี้



     
  8. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    กาลต่อมา ครั้นย่างเข้าวสันตฤดู ฝนฟ้าเริ่มโปรยปรายสายธารา ทำพื้นดินให้ชุ่มชื่น ส่วนพื้นที่ลุ่มก็เจิ่งนองด้วยน้ำฝน ชาวนาชาวไร่พากันเริ่มงานไถเพื่อเตรียมหว่านข้าวกล้า
    ชายหนุ่มคนหนึ่งในปาจีนยวมัชฌคามก็เช่นกัน เขาคิดว่าเมื่อฝนตกมากพอสมควรแล้ว เราจะได้เริ่มไถนาเสียที จึงไปซื้อโคจากตำบลอื่น นำมาเลี้ยงไว้ในบริเวณบ้านของตนรุ่งขึ้นก็พาออกไปกินหญ้าที่ชายทุ่งแต่เช้าตรู่ เขานั่งอยู่บนหลังโค พอเหน็ดเหนื่อย ก็ลงมานั่งใต้โคนไม้ ครั้นผิวกายปะทะลมพัดอ่อนๆ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์เย็นสบาย จึงผล็อยหลับไปครู่ใหญ่
    ขณะที่กำลังนอนเฝ้าโคอยู่ใต้โคนต้นไม้นั่นเอง โจรคนหนึ่งผ่านมา เห็นเจ้าของโคหลับ จึง
    ขโมยโคไป นึกกระหยิ่มใจว่า “เจ้าหนุ่มนี่ขี้เซาจริง เขาลักโคของตนก็ยังไม่รู้ ช่างเป็นลาภของเราหนอ ที่ได้โคมาเปล่าๆ นี่ถ้าเอาไปขายต่อ ก็คงจะได้กำไรงาม”
    ว่าแล้วก็รีบจูงโคลัดเลาะไปตามแนวคันนาจนลับสายตาของชายหนุ่ม
    ชายหนุ่มก็ตื่นขึ้นมาอย่างงัวเงีย แต่ครั้นมองไม่เห็นโคของตน ก็ลืมความง่วงไปเสียสิ้น ลนลานมองหาโคข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่เห็นครั้นสังเกตเห็นรอยเท้าคนจูงโคก้าวเป็นทางยาวไปตามแนวคันนา ก็มั่นใจว่าต้องถูกโจรลักไปเป็นแน่ จึงตัดสินใจออกติดตาม เขาวิ่งไล่กวดอย่างไม่คิดชีวิต กระทั่งเห็นหลังโจรไวๆ ครั้นไปถึงตัวก็ขู่ตะคอกด้วยน้ำเสียงอันดังว่า
    “เฮ้ย แกจะจูงโคของข้าไปไหน เอาโคของข้าคืนมานะ”
    โจรแกล้งทำตีหน้าเซ่อ กล่าวตอบว่า “นี่แกพูดอะไร โคของข้า ข้าก็จะนำมันไปเลี้ยงสิ เอ็งเกี่ยวอะไรด้วย”
    ชายเจ้าของโคไม่ยอม ยืนยันจะเอาโคของตนคืนให้ได้ จึงตะโกนด่าว่า “ไอ้หัวขโมย โคนี่ของข้าต่างหาก เอ็งมาตู่เอาเสียเฉยๆ อย่างนี้ เดี๋ยวจะต้องเห็นดีกัน”
    ฝ่ายโจรแม้จะถูกเขาจะก่นด่าเช่นนั้น ก็ทำหน้าให้หนาเข้าไว้ตามวิสัยโจร ยังคงอ้างกรรมสิทธิ์ในโคตัวนั้นอย่างไม่ลดราวาศอก
    เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกันและกัน ต่างก็อ้างว่าเป็นโคของตน ใช้ฝีปากเข้าห้ำหั่นบอกว่าตนเท่านั้นเป็นเจ้าของ จึงต้องเดินเถียงกันไปด้วยสีหน้าเคร่งเครียด จวนเจียนจะลงไม้ลงมือใส่กัน
    มหาชนได้ยินเสียงชายทั้งสองวิวาทกัน ก็มายืนมุงดูกันจนแน่นขนัด มโหสถบัณฑิตได้ยินเสียงเอ็ดอึง จึงให้เรียกคนทั้งสองมาในศาลา พอได้เห็นหน้าตาและกิริยาของคนทั้งสองอย่างชัดเจน ก็รู้ทันทีว่า ใครเป็นโจร ใครเป็นเจ้าของโค แต่ต้องการจะสอบสวนให้กระจ่าง ทำความจริงให้ปรากฏแก่มหาชน จึงเริ่มถามว่า “ท่านทั้งสองวิวาทกันเรื่องอะไร”
    บุรุษผู้เป็นเจ้าของโครีบกล่าวขึ้นว่า “นายท่าน กระผมซื้อโคตัวนี้มา แล้วนำไปเลี้ยงที่ชายทุ่งแต่เช้า ชายผู้นี้เห็นว่ากระผมเผลอหลับ จึงได้แอบลักโคของกระผมมา เมื่อตื่นขึ้นกระผมจึงไล่ตามชายคนนี้มา พอจับตัวได้ไล่ทันจึงขอคืน เขาก็ไม่ยอมให้ แถมยังตู่ว่าเป็นโคของเขาเสียอีก”
    “ท่านแน่ใจหรือว่าเป็นโคของท่าน”
    มโหสถถามทดลองปัญญาบุรุษผู้เป็นเจ้าของโค
    “แน่ใจสิ เจ้าของโคคนเก่าที่กระผมซื้อมา ก็อาจเป็นพยานให้ได้ แม้ชาวบ้านใกล้เคียงต่างก็รู้ว่ากระผมซื้อโคตัวนี้มาขอรับ”
    มโหสถนึกในใจว่า บุรุษผู้นี้นับว่ามีปัญญาใช้ได้ทีเดียว แต่คงไม่ต้องลำบากตามไปจนถึงเจ้าของโคคนเก่า เดี๋ยวเราจะตัดสินให้กระจ่างใสต่อหน้ามหาชนทีเดียว จึงหันไปถามชายอีกคนหนึ่งว่า “เขาหาว่าท่านลักโคของเขามา ท่านจะว่าอย่างไร”
    ชายที่เป็นโจรตอบว่า“นายท่าน โคตัวนี้เป็นของกระผม เจ้านั่นโกหก ท่านอย่าหลงเชื่อคำของมันง่ายๆ นะ”
    มโหสถบัณฑิตจึงถามชายทั้งสองว่า “หากเราจะวินิจฉัยความของท่านทั้งสองโดยยุติธรรม ท่านทั้งสองจะยอมฟังคำวินิจฉัยของเราหรือไม่”
    ชายทั้งสองก็รับคำ
    มโหสถคิดว่าการวินิจฉัยครั้งนี้จะต้องให้เป็นไปตามมติมหาชน จึงถามชายที่เป็นโจรก่อนว่า
    ถ้าท่านเป็นมโหสถ ท่านจะมีวิธีพิจารณาอย่างไรจึงจะพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นเจ้าของโค
    คอยอ่านต่อพรุ่งนี้ครับ ขอบคุณ

    ตอบปัญหาที่ ๑ มโหสถวิ่งตามเหยี่ยวโดยไม่ต้องแหงนหน้ามองบ้นฟ้า เพราะวิ่งตามเงาเหยี่ยวที่ปรากฏบนพื้นดิน



     
  9. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    มโหสถบัณฑิตจึงถามชายที่เป็นโจรก่อนว่า ท่านให้โคของท่านกินและดื่มอะไร
    กระผมให้โคดื่มยาคู ให้กินงา แป้ง และขนมสด ขอรับ
    โจรตอบ
    แล้วจึงหันไปถามเจ้าของโคด้วยคำถามเดียวกัน
    ชายเจ้าของโคตอบว่า
    กระผมให้กินหญ้าอย่างเดียวเท่านั้นล่ะ คนจนอย่างกระผม จะหายาคู งา แป้ง และขนมสด มาแต่ที่ไหน
    มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำให้การของคนทั้งสองแล้ว ปรารถนาจะทำความจริงให้ประจักษ์ท่ามกลางมหาชน จึงให้คนใช้นำถาดพร้อมใบประยงค์มาด้วยกำหนึ่ง สั่งให้ตำในครกจนแหลก ขยำด้วยน้ำ แล้วกรอกน้ำนั้นใส่ปากโค
    โคดื่มเข้าไปได้หน่อยหนึ่ง ก็สำรอกออกมาเต็มถาดนั้น ปรากฏว่ามีแต่ใบหญ้าล้วนๆ ไม่มีสิ่งใดเจือปนเลย มโหสถบัณฑิตจึงยกถาดนั้นขึ้น ชี้ให้มหาชนได้เห็นโดยทั่วกัน แล้วหันมาถามโจรว่า
    เจ้าเป็นโจรลักโคเขามา ใช่หรือไม่
    ฝ่ายโจรเมื่อเห็นความจริงปรากฏเช่นนั้น ก็ไม่อาจทำหน้าด้านปากแข็งอีกต่อไป จำต้องยอมรับความเป็นจริง ด้วยสีหน้าที่เหมือนกำลังแก้ผ้าอยู่ท่ามกลางมหาชนว่า
    ใช่ครับ กระผมเป็นโจร
    ทันทีที่โจรรับสารภาพ ฝูงชนที่เฝ้ามุงดูเหตุการณ์อยู่นั้น ต่างก็กลุ้มรุมกันเข้าไปทุบตีเตะต่อยโจรด้วยความเจ็บแค้นแทนเจ้าของโคอย่างไม่ปรานีปราศรัย จนโจรนั้นบอบช้ำไปทั้งตัว
    มโหสถเห็นเช่นนั้น ก็เกรงเจ้าโจรร้ายจะมาตายคาสหบาทาของมหาชน จึงเข้าไปขอร้องให้ชาวประชาหยุดการลงประชาทัณฑ์ก่อน แล้วก็กล่าวสอนโจรด้วยจิตเมตตาว่า
    เจ้าอย่าได้ทำอย่างนี้อีกนะ เจ้าได้รับโทษในคราวนี้เพียงเท่านี้ ก็หนักหนาสาหัสพอแก่กรรมของเจ้าแล้ว แต่ต่อไปภายหน้า หากเจ้ายังขืนทำผิดอีก เจ้าคงรู้ดีว่าจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ยิ่งกว่านี้สักเพียงไร
    เมื่อเห็นว่าโจรได้สำนึกผิดแล้ว มหาชนจึงยินยอมปล่อยตัวโจรนั้นไปด้วยอาการสะบักสะบอม จากนั้นมโหสถได้ให้โอวาทต่อไปว่า
    เจ้าเห็นทุกข์ของเจ้าในภพนี้แต่เพียงเท่านี้ แต่ในภพหน้า เจ้ายังจะต้องเสวยทุกข์ใหญ่ในนรก ต้องทนทุกข์ทรมานอีกยาวนานนับเท่าไม่ถ้วน แต่นี้ไปเจ้าจงละกรรมนี้เสีย แล้วจงรักษาศีลไว้ให้ดี เผื่อว่าทุกข์นั้นจะได้ลดหย่อนผ่อนเบาลง
    โจรนั้นก็รับปากว่า ขอรับนายท่าน ต่อไปกระผมจักไม่ทำเช่นนี้อีก นับแต่นั้นมา เขาก็กลับตัวกลับใจ แล้วตั้งใจทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต
    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำรายงานที่มหาอำมาตย์ส่งมาถวายทั้งหมด ด้วยพระอาการเพลิดเพลิน ครั้นทูตนำสาส์นกราบทูลเรื่องนั้นจบลง พระองค์ก็ทรงพระสรวลด้วยความปราโมทย์ยินดีในการวินิจฉัยของมโหสถบัณฑิต
    แม้ว่าจะทรงพอพระทัยในตัวบัณฑิตน้อยเป็นนักหนา แต่ก็ยังมิอาจตรัสชื่นชมมโหสถให้มากเกินไป ด้วยทรงมีพระประสงค์จะรับฟังความเห็นของท่านอาจารย์เสนกะเสียก่อน จึงรับสั่งถามอย่างไม่อ้อมค้อมว่า
    ท่านอาจารย์ เราสมควรจะรับพ่อมโหสถบัณฑิตเข้ามาได้หรือยัง
    ฝ่ายท่านเสนกะเห็นพระเจ้าวิเทหราชทรงใฝ่พระหฤทัยถึงมโหสถเป็นอันมาก ก็ยิ่งขุ่นเคืองใจ ทั้งเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่า
    นี่ขนาดยังมิทันรับตัวมโหสถเข้ามา พระองค์ยังทรงชื่นชมโสมนัสถึงเพียงนี้ หากวันใดมโหสถได้เข้ามาเป็นราชบัณฑิตของพระองค์ละก็ วันนั้น เห็นทีว่าตนและสหายที่เหลือคงจะสิ้นความสำคัญเป็นแน่ ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไร ก็จักต้องหาทางทูลทัดทานไว้ให้จงได้

    คิดดังนี้แล้ว จึงกราบทูลพระราชาอย่างตรงไปตรงมาเช่นกันว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ ขอได้ทรงโปรดยับยั้งเรื่องนั้นไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า
    อย่างไรเล่าท่านอาจารย์ ท่านคิดว่ายังไม่สมควรหรือ พระองค์รับสั่งถามซ้ำอีก
    พะยะค่ะ ข้าพระบาทเห็นว่า ข้อวินิจฉัยนี้ยังเป็นเหตุเล็กน้อยเกินไป ไม่สมควรแก่เหตุที่พระองค์จะทรงรับตัวมโหสถเข้ามาสู่พระราชมณเฑียรในฐานะราชบัณฑิตของพระองค์เลยพระเจ้าข้า
    ท่านเสนกะยืนยันหนักแน่นเช่นเดิม
    อะไรกันท่านอาจารย์ มโหสถกุมารอายุเพียงน้อยนิด แต่สามารถตัดสินข้อพิพาทที่ยากถึงเพียงนี้ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านยังจะเห็นว่าเป็นเหตุเล็กน้อยอยู่อีกหรือ
    พระเจ้าวิเทหราชทรงซัก ด้วยหวังว่าจะได้ฟังคำตอบที่ทรงพอพระหฤทัย
    ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่าเล็กน้อยนั้น เพราะคดีตู่อ้างความเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นเพียงคดีธรรมดาที่มิสู้จะมีเงื่อนงำที่เร้นลับแต่อย่างใด บัณฑิตอาศัยปัญญาเพียงเล็กน้อย ก็อาจวินิจฉัยได้ พระเจ้าข้า
    เช่นนั้นหรือ ท่านอาจารย์
    ใช่แล้วพะยะค่ะ จริงอยู่ มโหสถกุมารอาจเฉลียวฉลาดเกินกว่ากุมารทั่วไป แต่ก็หาได้มีปัญญามากไปกว่าบุรุษผู้เป็นบัณฑิตทั่วไปแต่อย่างใด ฉะนั้น มโหสถกุมารจึงยังไม่สมควรที่จะเรียกว่าเป็นยอดแห่งมหาบัณฑิต พระเจ้าข้า
    อืมม..ท่านอาจารย์ ที่ท่านกล่าวมาก็มีเหตุผลอยู่ แล้วถ้าเช่นนั้นเราควรจะทำอย่างไรกันดีละ
    คำทูลทัดทานของท่านเสนกะดูจะได้ผลดี พระสุรเสียงของพระองค์เริ่มอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด และมีทีท่าว่าทรงคล้อยตามคำของท่านเสนกะแล้ว
    ขอเดชะ ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าว่า ในเวลานี้ควรที่พระองค์จะต้องรอคอยต่อไปสักหน่อย จึงจะเป็นการดี ครั้นพระองค์ทรงพิจารณาใคร่ครวญ จนทราบแน่ชัดว่า มโหสถผู้นี้มีปรีชาญาณมากน้อยเพียงใด เมื่อนั้นก็สุดแล้วแต่พระองค์จะทรงตัดสินพระหฤทัย พระพุทธเจ้าข้า
    ก็ดีเหมือนกัน ท่านอาจารย์ เป็นอันตกลงตามนั้น
    รับสั่งเช่นนี้แล้ว ก็ให้ทูตนำพระกระแสรับสั่งกลับไปบอกอำมาตย์ผู้นั้นให้เฝ้าสังเกตดูเหตุการณ์ต่อไปอีก
    เรื่องที่ว่าอาจารย์เสนกะจะยินยอมให้มโหสถบัณฑิตเข้ามาสู่พระราชวังโดยง่ายนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะเขารู้ดีว่า นั่นคือเหตุที่จะทำให้รัศมีของเขาและสหายอ่อนแรงโรยแสงลง
    ส่วนเหตุการณ์ภายหน้าจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

     
  10. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบัณฑิต

    ต่อมา ในหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคามนั่นเอง มีสตรีนางหนึ่ง เพิ่งจะคลอดบุตรคนแรกได้เพียงไม่กี่เดือน วันหนึ่งนางทราบข่าวว่ามีการสร้างศาลาหลังใหญ่ขึ้นกลางหมู่บ้าน ก็ปรารถนาจะไปเที่ยวชมให้เพลิดเพลินใจ นางจึงอุ้มลูกน้อยไว้แนบอก มุ่งหน้าไปยังศาลาหลังนั้น ไม่นานนัก ก็เดินทางมาถึงศาลาที่มโหสถดำริสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่มหาชน นางเห็นร่มไม้จึงตรงรี่เข้าไปหาที่นั่งบริเวณใต้โคนไม้นั้นเพื่อนั่งพักให้หายเหนื่อย
    นางอุ้มลูกน้อยพลางเย้าหยอกเล่นด้วยความเอ็นดู ครั้นแลเห็นสระโบกขรณีเบื้องหน้าที่เต็มด้วยน้ำใสสะอาด จึงตรงดิ่งเข้าไปใกล้ขอบสระ มือข้างหนึ่งประคองลูกน้อยอย่างระมัดระวัง อีกมือหนึ่งก็ค่อยๆ วักน้ำในสระ ขึ้นลูบตัวทารกน้อยพอให้เย็นสดชื่น จากนั้นนางจึงพับผ้าทำเป็นเบาะปูให้ลูกได้นั่งใต้ร่มไม้ ส่วนตนก็ผละไปล้างหน้าด้วยความสบายอกสบายใจ
    ทันใดนั้นเอง ยักษิณีตนหนึ่งซึ่งสิงสถิตอยู่ในราวป่า ถูกความหิวบีบคั้นมานาน เฝ้ารอคอยโอกาสที่จะจับมนุษย์ผู้อ่อนแอกินเป็นอาหาร ครั้นเห็นหญิงนั้นอุ้มลูกน้อยผ่านมาทางที่อยู่ของตน ก็ปรารถนาจะกินทารกนั้นเป็นอาหารจึงติดตามมาจนถึงสระโบกขรณี จ้องหาโอกาสที่จะชิงทารกไป แต่ก็ยังไม่ได้โอกาส เพราะแม้หญิงผู้เป็นมารดาจะเดินไปล้างหน้า แต่สายตาก็ยังชำเลืองแลบุตรน้อยอยู่ตลอดเวลาด้วยความเป็นห่วง
    นางยักษิณีจึงตัดสินใจแปลงกายเป็นหญิงชาวบ้าน ทำทีเดินผ่านเข้ามาใกล้ แล้วทักทายขึ้นว่า “โอ...หนูน้อยนี่ช่างน่ารักเสียจริง” พลางถามหญิงผู้เป็นมารดาว่า “นี่เป็นลูกเธอหรือจ๊ะ”

    หญิงนั้นก็ตอบว่า “ลูกของฉันเองจ้ะ”
    “ช่างเป็นบุญของเธอนะ ที่มีบุตรน่ารักอย่างนี้” นางยักษิณีกล่าวป้อยอ แล้วสาธยายความว่า
    “ฉันเองก็เคยมีกับเขาเหมือนกันแหละจ้ะ แต่คงจะไร้วาสนา เพราะไม่ทันไรก็จำต้องพลัดพรากจากกัน ทั้งๆที่ลูกน้อยกำลังน่ารักน่าชมทีเดียว”
    “อย่าเสียใจเลยจ้ะ ถึงอย่างไร เธอก็ยังไม่เกินวัยที่จะมีลูกได้อีก มิใช่หรือจ๊ะ” หญิงนั้นกล่าวปลอบใจ
    “ก็ถูกของเธอแหละจ้ะ” นางยักษ์ตอบ “แต่ทุกวันนี้ ฉันก็จำต้องอยู่อย่างว้าเหว่ใจ”
    นางยักษิณีแสร้งตีสีหน้าเศร้าคล้ายเก็บกดความทุกข์ไว้ในใจ
    นิ่งเงียบครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า
    “แหม...หนูน้อยนี่ ช่างน่ารักเหลือเกิน ผิวพรรณผุดผ่องเป็นยองใย เนื้อตัวก็อวบอูมแน่น น่าจับน่าอุ้มเสียจริง ขอฉันอุ้มหน่อยเถิดนะ ฉันจะให้แกดื่มนม ท่าจะหิวแล้วกระมัง”
    “เชิญเถิดจ้ะ” มารดาเด็กกล่าวอนุญาตด้วยความซื่อ หารู้ไม่ว่าหญิงที่นางกำลังสนทนาอยู่ด้วยมิใช่หญิงธรรมดา แท้ที่จริงเป็นยักษิณีจำแลงมา
    พอมารดาเด็กออกปากอนุญาตเท่านั้น นางยักษิณีก็รีบคว้าทารกด้วยมือทั้งสอง ชูทารกขึ้นจนสุดแขน เด็กน้อยเมื่อถูกยักษิณีอุ้มก็ร้องไห้งอแง เพราะร่างน้อยบอบบางเกินกว่าที่จะทานทนต่อพละกำลังของนางยักษิณีได้
    หญิงผู้เป็นมารดายังมิทันเอะใจ เพราะคิดว่าเป็นธรรมดาของลูกที่ไม่คุ้นกับมือของหญิงอื่น นางจึงแค่หันมามองดูหน่อยหนึ่ง แล้วก็ลงไปในสระน้ำล้างหน้าล้างตาต่อไป
    ยักษิณีหยอกเย้าทารกเล่นครู่หนึ่ง เห็นมารดาเด็กยังก้มหน้าก้มตาล้างหน้าอยู่ ก็รีบฉวยทารกนั้นวิ่งหนีไปโดยเร็ว
    มารดาเด็กเห็นลูกน้อยถูกชิงไปต่อหน้าต่อตา ก็ตกใจสุดขีด ไม่รอช้ารีบขึ้นจากสระแล้ววิ่งกวดตามไปอย่างไม่คิดชีวิต
    ในที่สุดก็คว้าผ้านุ่งของนางยักษิณีไว้ได้ พลางตวาดถามอย่างไม่เกรงใจว่า
    “เอ็งจะพาลูกข้าไปไหน ขอข้าอุ้ม ข้าก็ให้อุ้มเพราะเห็นใจ แล้วนี่ยังจะมาชิงลูกข้าไปอีก”
    “แน่ะ หญิงถ่อย ดูซิหน้าไม่อาย อยู่ๆ ก็มาตู่เอาลูกเขาเสียอย่างนั้นแหละ ลูกของเอ็งที่ไหนกัน ลูกของข้าต่างหาก” นางยักษิณีตอบสวนทันควัน
    “หน็อยแน่ะ นางขี้ตู่ จู่ๆก็มาว่าเป็นลูกของตัว แล้วยังมีหน้ามาว่าเจ้าของเขาอีก เอาลูกของข้ามานะ” มารดาเด็กเถียงไม่ลดละ
    “ข้าไม่ให้! ลูกของข้าต่างหาก ลูกของแกเสียเมื่อไหร่ล่ะ” นางยักษ์จำแลงยืนกราน
    ทั้งสองนางต่างทะเลาะโต้เถียงกัน ตะโกนด่าทอกันจนสุดเสียงตามประสาหญิง เดินติดตามยื้อยุดกันไปจนถึงประตูศาลา มโหสถบัณฑิตได้ยินเสียงหญิงทั้งสองทะเลาะกันมาแต่ไกล ก็ออกมาที่หน้าศาลาให้คนเรียกเข้ามา ถามว่า “เธอทั้งสองทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไร”

    มโหสถบัณฑิตจะตัดสินความอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป