มโหสถบันฑิต-ตอน-2

กระทู้: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. 8ocdj said:

    มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    [JUSTIFY]ขอเชิญอ่าน มโหสถบันฑิต ภาคแรกได้ที่นี่ครับ http://www.watkoh.com/board/index.php?topic=2194.0
    มโหสถภาคแรก กำลังรวบรวมจัดรูปเล่ม เตรียมพิมพ์ ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เล่มละ 35 บาท ไม่ต้องการขาย แต่ต้องการหาเจ้าภาพจัดพิมพ์เพื่อแจกจ่ายแก่ญาติธรรมและผู้สนใจ ขอเชิญแสดงประสงค์ได้ที่นี่ครับ
    โต ปฏฺฐาย ปณฺฑิโต
    [JUSTIFY ALIGN=JUSTIFY] ต่อไปนี้ว่าด้วยตอนสุดท้ายของเรื่องมโหสถ เริ่มแต่ตอน มโหสถกำจัดข้าศึกภายใน คือนักปราชญ์ทั้ง 4 ให้ราบคาบแล้วไป จำเดิมแต่นั้นมา มโหสถก็รับหน้าที่สั่งสอนอรรถธรรมแก่สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชเป็นนิตยกาล ครั้นนานมาพระมโหสถก็ได้คิดจัดการบ้านเมืองไว้ต่อสู้ศัตรูภายนอกให้เรียบร้อยเป็นอันดีทุกประการ ทั้งพระองค์ก็ได้ทำการติดต่อกับพ่อค้าต่างประเทศ เพื่อรู้จักเหตุภัยอันจะมีมาแต่ภายนอกและพระองค์ให้ช่างทำเครื่องราชูปโภค คือ กุณฑล 1 ฉลองพระบาท 1 ดอกไม้ทอง 1 พระแสงขรรค์ 1 ให้ครบกษัตริย์ในชมพูทวีปทั้งปวง แล้วจารึกอักษรเป็นพระนามของพระองค์ ลงไปในเครื่องราชูปโภคทั้งปวงนั้นแล้วทรงอธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้ายังไม่ต้องการให้อักษรนี้ปรากฏอยู่ตราบใด อักษรเหล่านี้ขอจงอย่าปรากฏแก่คนทั้งหลายอยู่ตราบนั้น ครั้นแล้วจึงให้สหชาตโยธาของพระองค์ร้อยเอ็ดคน นำเครื่องราชูปโภคเหล่านั้น ไปถวายแก่พระมหากษัตริย์ในร้อยเอ็ดราชธานี องค์ละสิ่งๆ ตามแต่องค์ไหนจะพอพระทัยอย่างไหน และกำชับให้สหชาตโยธาเหล่านั้นอยู่เป็นข้าเฝ้าของกษัตริย์องค์นั้นต่อไป<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-comfficeffice" /><o></o>[/JUSTIFY ALIGN]
    [JUSTIFY] ในครั้งนี้ มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าสังขพละ ในกัมพลนคร ได้เตรียมเครื่องสรรพาวุธและพลโยธาไว้เป็นอันมาก บุรุษสอดแนมของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็แอบส่งข่าวมาถึง พระบรมโพธสัตว์เจ้าจึงโปรดให้นกแขกเต้าของพระองค์ ซึ่งได้ทรงเลี้ยงมาเป็นอันดี ไปสืบข่าวว่าจะเป็นประการใด นกแขกเต้านั้นก็ไปสืบข่าวให้ฟังเอาข้อราชการในกัมพลนครได้ตระหนักแน่แล้ว ก็ไปเที่ยวสืบข่าวในเมืองอื่นๆ อีกต่อไป
    จนกระทั่ง ถึงอุตตรปัญจาลนคร ซึ่งเป็นนครของ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตๆ นั้น มีปุโรหิตอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า เกวัฏฏพราหมณ์ๆ คนนี้เป็นคนมีสติปัญญาเฉียบแหลม ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเกวัฏฏพราหมณ์ตื่นนอนขึ้นในเวลาจวนใกล้รุ่ง เล็งดูที่อยู่ที่นอนอันรุ่งเรืองของตนแล้วก็คิดว่า เราได้ความสุขเช่นนี้ ก็เพราะพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้แก่เรา เราควรจะชักนำให้พระเจ้าอยู่หัวทำสงคราม ปราบปรามกษัตริย์ในชมพูทวีปให้อยู่ในอำนาจสิ้น เพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวของเราได้เป็นใหญ่ยิ่งในปฐพี ตัวของเราก็จักได้เป็นปุโรหิตผู้ล้ำเลิศ ครั้นคิดแล้วถึงเวลาเข้าเฝ้า จึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า ตนมีความลับที่จะกราบทูลให้ทรงทราบ แล้วเชิญพระเจ้าจุลนีให้เสด็จออกจากพระราชวังไปประทับที่พระราชอุทยาน จัดการระมัดระวังเป็นอันดี จึงอัญเชิญพระเจ้าจุลนีให้เสด็จไปประทับที่พระแท่นสิลาอาสน์ สองต่อสองกับตน เมื่อนกแขกเต้าได้สังเกตเห็นกิริยาของพระเจ้าจุลนี และเกวัฏฏพราหมณ์ดังนั้น ก็ติดตามออกไปดู บินซ่อนอยู่ที่กิ่งไม้รังตรงที่ประทับนั้น พระเจ้าจุลนีจึงตรัสถามเกวัฏฏพรหมร์ขึ้นว่า ความลับนั้นเป็นประการใด เกวัฏฏพราหมณ์กราบทูลว่า ความลับนี้เป็น จตุกรรณมนต์ คือให้ได้ยินได้แต่ 4 หูเท่านั้น ว่าแล้วก็ทูลชี้แจงอุบายของตนให้ทรงทราบโดยละเอียดว่า
    ข้าพระพุทธเจ้าได้คิดไว้ว่า จะให้พระองค์กรีฑาทัพไปปราบปรามบ้านเล็กเมืองน้อยให้อยู่ในเงื้อมมือเป็นลำดับไป แล้วจึงยกไปล้อมเมืองใหญ่ๆไว้ พอล้อมไว้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะเข้าไปเกลี้ยกล่อมให้เป็นพรรคพวก ถ้าไม่ยอมเราก็จะตีเมืองนั้นให้แตก แล้วจึงยกไปกระทำแก่เมืองอื่นต่อไป เมื่อได้หมดทุกเมืองแล้ว จึงจะเลี้ยงเหล้าชัยบานอันเจือ ด้วยยาพิษให้กษัตริย์เหล่านั้นสิ้นชีวิตไปเสียให้หมด เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วพระองค์ก็จะได้เป็นกษัตริย์ผู้ประเสริฐ ไม่มีผู้ใดเทียมถึง ในชมพูทวีปทั้งสิ้น เมื่อพระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับอุบายนี้แล้ว ก็ทรงยินดีตาม จึงตรัสว่า ขอท่านอาจารย์จงจัดการตามความคิดเถิด
    เวลานั้น นกแขกเต้าก็ขี้รดมาถูกศีรษะเกวัฏฏพราหมณ์ พอเกวัฏฏพราหมณ์แหงนหน้าขึ้นไปกำลังอ้าปากพูดว่า นกอะไรขี้ใส่หัวเรา นกแขกเต้าตัวนั้นก็ขี้รดลงมาถูกปากของ เกวัฏฏพราหมณ์อีก แล้วก็ร้องอีกว่า กิริๆ เป็นภาษานก แล้วบินไปจับกิ่งไม้นั้น จึงพูดเป็นภาษามนุษย์ขึ้นว่า ดูก่อนเกวัฏฏพราหมณ์ ท่านเข้าใจความคิดอันนี้รู้แต่ 4 หูเท่านั้นหรือ บัดนี้ กลายเป็น 6 หูไปแล้ว ไม่ช้าก็จะกลายเป็น 8 หูและ 100 หู 1000 หูต่อไป พระเจ้าจุลนีและเกวัฏฏพราหมณ์ก็ร้องสั่งพลทหารขึ้นทันทีว่า พวกเจ้าจงช่วยกันจับนกแขกเต้าตัวนี้ให้ได้ แต่นกแขกเต้านั้น ได้นิบหนีไปอย่างรวดเร็ว
    โปรดติดตามตอนต่อไป
    [/JUSTIFY][/JUSTIFY]
     
  2. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    พระเจ้าจุลนีและเกวัฏฏพราหมณ์ก็ร้องสั่งพลทหารขึ้นทันทีว่า พวกเจ้าจงช่วยกันจับนกแขกเต้าตัวนี้ให้ได้ แต่นกแขกเต้านั้น ได้นิบหนีไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถึงพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแล้วลงจับที่บ่าของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
    คือธรรมดานกแขกเต้าตัวนี้ เมื่อจะบอกสิ่งที่คนทั้งปวงควรรู้แก่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแล้ว จึงลงจับแผ่นดิน ถ้าจะให้รู้แต่พระบรมโพธิสิตว์เจ้ากับนางอมร ก็ลงจับบนพระเพลา ถ้าจะให้รู้เฉพาะพระบรมโพธิสัตว์เจ้าองค์เดียว ก็ลงมาจับพระอังสา คือบ่านี้เสมอมา ในเวลานั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็เข้าพระทัยว่า นกแขกเต้าจะบอกความลับแก่พระองค์ผู้เดียว จึงให้คนทั้งปวงหลีกไป แล้วพานกแขกเต้าขึ้นสู่ปราสาทชั้นบน ตรัสถามว่า
    ดูก่อนพ่อสุวบัณฑิต เจ้าไปเที่ยวสืบข่าวครั้งนี้ ได้ข่าวมาเป็นประการใดบ้าง แขกเต้าก็เล่าถวายตามเหตุการณ์ที่ตนได้ยินมาจากสำนักพระเจ้าจุลนีและเกวัฏฏพราหมณ์ พระโพธิสัตว์เจ้าก็ให้นกแขกเต้าบริโภคข้าวตอก อันคลุกด้วยน้ำผึ้ง แล้วให้นอนในกรงทองอันวิจิตรตามที่เคย
    จึงทรงพระราชดำริว่า เกวัฏฏพราหมณ์นี้หารู้ว่าเราผู้ชื่อว่า มโหสถ เป็นผู้มีสติปัญญากว่าตนไม่ เราจะทำลายความคิดของเกวัฏฏพราหมณ์เสียให้จงได้ ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็จัดการป้องกันพระนคร ให้แข็งแรงขึ้นอีก ให้อพยพเมืองที่ยากจนเข็ญใจไปอยู่นอกพระนครให้พวกที่มั่งมีบริบูรณ์เข้ามาอยู่ในพระนคร ป่าวร้องพลเมืองให้ทำไร่ไถนา สะสมข้าวปลาอาหารไว้ให้บริบูรณ์ ทั้งในฉางราษฎรและในฉางหลวงสิ้นทั้งปวง ก็มีในกาลนั้น
    จุลฺลนีพฺรหฺมทตฺโต เกวฏฺฏสฺส วจนํ คเหตฺวา เสนางฺคปริวุโต คนฺตฺวา เอกํ นครํ ปริกฺขิปิ เกวฏฺโฏปิ วุตฺตนเยเนว ตตฺถ ปวิสิตฺวา ราชานํ สญฺญาเปตฺวา อตฺตโน สนฺตกํ ทตฺวา เทว เสนา เอกโต กตฺวา อญฺญํ นครํ ปริกฺขิปิติ ปฏิปาฏิยา สพฺพาหิ ตานิ อคฺคมเหสีติ
    ดำเนินความว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงเชื่อถือตามถ้อยคำแห่งเกวัฏฏพราหมณ์แล้ว ก็กรีฑาทัพออกไปล้อมพระนครน้อยๆก่อน เกวัฏฏพราหมณ์ก็ผ่อนปรนเข้าไปเจรจาให้พระยาเมืองน้อยๆ ยอมมาเข้าเป็นพรรคพวกของตน แล้วยกไปล้อมเมืองใหญ่ๆ จนได้พระนครมากขึ้นๆ ส่วนบุรุษสอดแนมที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า จัดส่งไปไว้ในสำนักกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระนครนั้น ต่างก็ส่งข่าวแจ้งเหตุการณ์ไปให้พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทราบเสมอไปว่า บัดนี้ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้บ้านเมืองไว้เท่านั้นๆ แล้ว ขอพระองค์อย่าได้ประมาทนอนใจเลย พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ตอบไปว่า เรามิได้ประมาณนอนใจ ท่านอย่าได้เป็นทุกข์ ถึงเราและบุตรภรรยาของท่านเลย จงตั้งใจรับราชการไปเถิด
    นับแต่พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทำสงครามตีบ้านเล็กเมืองน้อยมากำหนดได้ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ก็ได้สมบัติในชมพูทวีปถึงร้อยเอ็ดพระนคร ยังเหลืออยู่แต่เมืองมิถิลามหานครเท่านั้น แล้วท้าวเธอก็ชวนเกวัฏฏพราหมณ์ให้ยกทัพไปตีเมืองมิถิลา แต่วัฏฏพราหมณ์ ทูลห้ามเสีย กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระนครนั้น ต่างก็อ้อนวอนเกวัฏฏพราหมณ์ให้ยกไปตีเมืองมิถิลา แต่เกวัฏพราหมณ์ ได้ห้ามเสียว่า อย่าไปเลย เราพากันกลับไปเลี้ยงเหล้าชัยบานในเมืองของเราให้สนุกสนานดีกว่า อันเมืองมิถิลานั้น อยู่ในกำมือของเราแล้ว เราจะไปตีเมื่อไรก็ได้ ว่าแล้วพระเจ้าจุลนีพรหมทัตแบเกวัฏฏพราหมณ์ ก็พาท้าวพระยาทั้งปวงกลับไปสู่อุตตรปัญจาลนคร กำหนดวันจะเลี้ยงเหล้าชัยบาน ในพระราชอุทยานให้ตกแต่งพระราชอุทยานอย่างมโหฬาร ตั้งที่ประทับของท้าวพระยาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ไว้เป็นลำดับ ตั้งตุ่มสุราเมรัยไว้มากกว่าร้อยกว่าพัน จัดข้าวปลาอาหารไว้พร้อมเสร็จทุกประการ
    ฝ่ายบุรุษสอดแนมของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ส่งข่าวไปให้พระมหาสัตว์เจ้าทรงทราบ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทรงเมตตา กรุณา แก่กษัตริย์ทั้งปวง ที่จะต้องตายด้วยเหล้าชัยบานอันเจือด้วยยาพิษ จึงทรงส่งสหชาตโยธาพันหนึ่งของพระองค์ไปพร้อมด้วยสาตรา โดยให้อาณัติสัญญาเป็นกลอุบายต่างๆ เพื่อให้ไปทำลายพิธีเลี้ยงเหล้าชัยบานนั้นเสีย สหชาตโยธาทั้งปวงก็พร้อมกันยกไปสู่เมืองพระเจ้าจุลนี เข้าไปในพระราชอุทยานแล้ว ก่อการทะเลาะวิวาทขึ้นกับพวกข้าราชการพลโยธาหาญอันจัดการอยู่ในพระราชอุทยาน โดยทำเป็นแย่งที่ประทับว่า ท่านทั้งปวงจงจัดที่ประทับสำหรับพระเจ้าวิเทหราช ซึ่งเป็นเจ้านายของเราให้คู่เคียงกันกับที่ประทับสำหรับพระเจ้าวิเทหราช ซึ่งเป็นเจ้านายของเราให้คู่เคียงกันกับที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าจุลนี ถ้าไม่จัดให้ดังนี้ เราจะทำให้เสียพิธีการ ว่าแล้วก็โห่ร้องขึ้นเอิกเกริก เหมือนกับพวกอสูรทำสงความกับพวกเทพยดา แล้วช่วยกันต่อยเสียซึ่งตุ่มสุราทั้งหลายให้แตกกระจัดกระจายไป สาดเทเสียซึ่งข้าวน้ำโภชนาหารแล้วรีบพากันหนีกลับคืนสู่เมืองมิถิลา
    โปรดคอยติดตามตอนต่อไป
     
  3. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ครั้งนั้น อำมาตย์ราชเสนาโยธาหาญข้ายฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตกับกษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์ มีสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเป็นประธานต่างก็โทมนัสขัดแค้นต่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเป็นนักเป็นหนา พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงขัดเคืองพระบรมโพธิสัตว์เจ้าว่า กระทำให้เป็นอันตรายแก่สุราอันประกอบด้วยยาพิษ ทำให้เสียความคิดของพระองค์
    พระยาทั้งร้อยเอ็ดนั้นก็ทรงขัดแค้นว่า เสียโอกาสที่จะได้ดื่มเหล้าชัยบานให้สนุกสนาน ไม่ควรเลย ที่มโหสถใช้ให้คนมากระทำการล้างพิธีสุราบานของพวกเรา เช่นนี้ พวกพลโยธีทั้งปวงก็ขัดแค้นว่า พวกเราจะได้กินเหล้าให้สนุกสนานไม่ต้องเสียเงินเสียทองแล้วเหตุไร มโหสถ จึงใช้คนให้มาทำลายเสีย ต่างก็พากันโกรธแค้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั่วทั้งมวล
    ในครั้งนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัต จึงมีพระบรมราชโองการตรัสแก่ท้าวพระยาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ว่า ดูก่อนชาวเราผู้กล้าหาญ การทั้งนี้ มโหสถได้กระทำให้เกิดความขัดแค้นแก่พวกเรานักหนา ควรที่พวกเราจะยกทัพไปสู่เมืองมิถินามหานคร จับเอาตัวมโหสถกับพระเจ้าวิเทหราช บั่นศีรษะเสียบประจานเสีย ให้สมกับที่ได้กระทำแก่พวกเรา แล้วพวกเราจึงเลี้ยงเหล้าชัยบานต่อภายหลัง ท่านทั้งปวงจงจัดแจงพลโยธาหาญให้พร้อมเพรียงกันเถิด
    ตรัสสั่งท้าวพระยาทั้งร้อยเอ็ดดังนี้แล้ว ก็เสด็จเข้าสู่ที่สงัด ตรัสปรึกษากับเกวัฏฏพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ เกวัฏฏพราหมณ์ จึงกราบทูลขึ้นว่า ขอพระราชทาน อันเมืองมิถิลานั้น มีมโหสถบัณฑิตคิดการพิทักษ์รักษาไว้เป็นอันดี มีอุปมาเหมือนกับสุวรรณคูหาที่พญาราชสีห์พิทักษ์รักษาไว้ ฉะนั้น การที่จะไปรบเอาเมืองมิถิลานั้น เห็นจะไม่สำเร็จได้ดังปรารถนา จะได้ความอัปยศอดสูเสียเปล่าๆ เมื่อเกวัฏฏพราหมณ์กราบทูลดังนี้ สมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตหาได้ทรงเชื่อฟังไม่ด้วยอาศัยที่พระองค์มัวเมาไปด้วยขัตติยมานะ ทรงพระดำริว่า มโหสถคนเดียวเท่านั้น จะวิเศษอะไรนักหนา ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็พร้อมด้วยท้าวพระยาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์กรีธาจตุรงค์พลทหาร ประมาณ 18 อักโขภิณี บ่ายหน้าเฉพาะต่อเมืองมิถิลามหานคร
    ส่วนบุรุษสอดแนมทั้งหลายก็ส่งข่าวไปถึงพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทุกๆวันว่า พระพุทธเจ้าข้า เวลาวันนี้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตรีบรัดยกกองทัพมาถึงที่นั้นๆ แล้ว ขอพระองค์อย่าได้ประมาทเลย พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ทรงจัดแจงเครื่องสรรพยุทธ์และจตุรงค์พลโยธาหาญให้ขึ้นไปประจำการอยู่บนเชิงเทิน และที่ป้อมค่ายคูประตูหอรบโดยรอบพระนครอย่างกวดขัน
    ในกาลเวลาพลบค่ำวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต จึงทรงยกกองทัพหลวง ล่วงเข้าไปในกรุงมิถิลามหานคร บันลือสุรสิงหนาทประกาศสั่งกองทัพทั้งปวงให้ล้อมพระนครมิถิลา ไว้ถึง 4 ชั้น คือล้อมไว้ด้วยกำแพงช้างชั้น 1 กำแพงม้าชั้น 1 กำแพงรถชั้น 1 กำแพงพลบทจรเดินเท้าชั้น 1 ดูนี่แน่นหนาไปด้วยเสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ เสนาพลบทจรเดินเท้า แต่ละหล่าๆ ล้วนเข้มแข็ง ถือหน้าไม้ปืนไฟ สาตราอาวุธน้อยใหญ่น่าสะพรึงกลัว ล้อมเมืองมิถิลาอันกว้างถึง 6 โยชน์ ไว้รอบหาระหว่างมิได้ กองทัพตั้งเป็นถ่องแถวเป็นหลั่นเป็นชั้นกัน สล้างสลอนไปด้วยพัดโบกและจามรเศวตรฉัตรพัดวาลวิชนี กำหางนกยูงและเครื่องสูงต่างๆ สล้างสลอนไปด้วยธงชัยและธงช่อ ฉัตรน้อย ฉัตรใหญ่สว่างไปด้วยแสงคบเพลิงอันโยธาทั้งหลายจุดขึ้นมากกว่าหมื่น กว่าแสน รุ่งเรืองแปลบปลาบไปด้วยแสงหอกดาบ และเครื่องประดับประดาแห่งพลโยธาหาญปานประหนึ่งว่า แสงดาวประกายพรึกในนภาลัยประเทศเวหา เมืองมิถิลาอันกว้างขวางได้ 6 โยชน์ ก็รุ่งโรจน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยแสงคบเพลิงและแสงเครื่องประดับกับแสงสาตรวุธทั้งหลาย พลโยธาทั้งหลายทั้งกองทัพหลวงและกองทับพราษฏร์ บ้างก็โห่ บ้างก็เกริ่น บ้างก็ผิวปาก ตบมือคุกคามคำรามร้อง บ้างก็ตีฆ้องน้อยฆ้องใหญ่ กลองน้อยกลองใหญ่เสียอึกทึกครึกโครมไป เสียงช้าง ม้า ฆ้อง กลอง แตร สังข์ ดังสนั่นหวั่นไหว เสียงโห่ร้องเกริ่นเสียงร้องตักเตือนกันให้นั่งยามตามพิทักษ์รักษาหน้าที่อึงคะนึงสนั่นไป มีอุปไมยดังพื้นแผ่นดินจะถล่มทะลายลง ก็ปานกัน
    ครั้งนั้น นักปราชญ์ทั้ง 4 พากันสะดุ้งตกใจกลัว ไม่รู้หน้าหลังว่ากองทัพของใครยกมาตั้งล้อมพระนคร จึงรีบพากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชกราบทูลให้ทรงทราบตามเหตุการณ์ที่ตนได้เห็นและได้ยินมา สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชทรงตระหนกตกประหม่า เผยออกมาซึ่งสีหบัญชรช่องพระแกล ทอดพระเนตรแลออกไปดูกองทัพ ก็ทรงทราบว่าเป็นกองทัพของ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตยกมา ท้าวเธอยิ่งตระหนกตกประหม่า ตรัสปรับทุกข์กับนักปราชญ์ทั้ง 4 ว่า ครั้งนี้ ชีวิตของเราทั้งสิ้นจะพินาศไปด้วยอำนาจข้าศึกแล้ว พรุ่งนี้เช้า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็จะบุกเข้ามาจับพวกเราไปประหารเสียสิ้นโดยไม่ต้องสงสัย
    โพธิสตฺโต ปนสฺสาคตภาวํ ญตฺวา ฝ่ายว่าสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ครั้นทรงทราบว่ากองทัพพระเจ้าจุลนียกมาล้อมพระบุรีไว้แล้ว จึงเสด็จเข้าสู่ที่เฝ้าของพระเจ้าวิเทหราช ด้วยกิริยาอันองอาจดังไกรสรราชสีห์ โดยไม่ทรงครั่นคร้ามต่ออรินทราชไพรี ถวายบังคมขัตติยาธิบดี วิเทหราช แล้วก็ยืนเฝ้าอยู่ในที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พอสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ค่อยดีพระหฤทัยขึ้น ด้วยทรงพระดำริเห็นว่า ผู้อื่นนอกจากมโหสถแล้ว ย่อมไม่มีใครที่จะต่อสู้ไพรีในครั้งนี้ได้ จึงตรัสโดยนัยแห่งพระคาถา ดังที่ยกขึ้นไว้เป็นเบื้องต้นว่า
    ปญฺจปาโล สพฺเสนาย เป็นอาทิ แปลความว่า ดูก่อนมโหสถ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตยกกองทัพมาในครั้งนี้ ประกอบด้วยพลโยธียากที่จะประมาณว่ามีเท่าไร พร้อมด้วยพลช่างไม้อันถือเราเครื่องไม้มาทำการ เป็นต้นว่าวิรัลและข่ายปิดป้องกำบังกายแห่งตนๆ ประกอบด้วยพลบทจรอันเข้มแข็งแต่ละเหล่าๆ ล้วนเรี่ยวแรงแข็งกล้าในพยุหสงคราม อาจสามารถจะลุกลามเข้าไปในระหว่างแห่งข้าศึกได้โดยไม่ทันเห็นตัว บั่นเอาศีรษะแล้วนำมาเวลานี้อื้ออึงไปด้วยเสียงช้าง ม้า รถลาพาหนะ ฆ้อง กลอง แตร สังข์ กังสดาล ตามที่เราได้ฟังมาว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตนั้นมีพลโยธาล้วนแต่สำเร็จในศิลปะศาสตร์ทั้ง 18 ประการ คนมีปรีชาญาณเฉลียวฉลาดนั้นถึง เป็น 10 คน ทั้งมีข่าวว่า พระมารดาของพระเจ้าจุลนีมีพระปรีชาญาณ ว่าราชการแทนพระเจ้าจุลนีได้ ดูก่อนมโหสถ เราได้ยินมาว่า พระเจ้าจุลนีนั้นมีพระยาร้อยเอ็ดเป็นบริวาร ยกพลโยธาหาญติดตามมาด้วย ครั้งนี้เราจะคิดอ่านเป็นประการใด ฝ่ายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็กราบทูลรับอาสาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะกำจัดข้าศึกให้พ่ายแพ้ไปในไม่ช้า ขอพระองค์จงทรงผาสุกเถิด ครั้นกราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาออกจากที่เฝ้าไป ป่าวร้องชาวพระนครให้เล่นมหรสพกันขึ้นอย่างเอิกเกริกโกลาหล ห้ามไม่ให้คนใดคนหนึ่งแสดงความทุกข์ร้อน
    ราชา นคเร โกลาหลํ สุตฺวา ครั้นสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ได้ทรงสดับเสียงมหรสพกึกก้องในพระนคร เช่นนั้น จึงตรัสถามอำมาตย์
    อักโขภิณี = หน่วยนับจำนวนที่มีค่าสูงสุด คือ มีเลข 1 นำหน้าแล้วตามด้วยเลข 0 จำนวน 42 ตัว (เจ็ดหลักก็ล้าน ถ้า 43 ก็กี่ล้าน คงอ่านไม่ออก /- จากพจนานุกรมฉบับราชบันฑิตย์สถาน
    โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป เร็วๆ นี้
     
  4. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ราชา นคเร โกลาหลํ สุตฺวา
    ครั้นสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ได้ทรงสดับเสียงมหรสพกึกก้องในพระนคร เช่นนั้น จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งปวงว่า เราได้ยกทัพหลวงมาล้อมพระนครถึง 18 อัคโขภิณีเช่นนี้ เหตุไรชาวบุรีจึงไม่ตื่นตกใจกลัว กลับพากันมึนเมาในการเล่นอย่างสนุกสนาน
    ครั้งนั้น พวกบุรุษสอดแนมของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทราบทูลขึ้นว่า วันนี้พวกข้าพระพุทธเจ้าได้เข้าไปในพระนครตามประตูน้อยๆ ได้เห็นคนทั้งปวงพากันเล่นมหรสพอยู่ จึงถามเขาว่า ก็เมื่อท้าวพระยาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ยกพลโยธามาล้อมพระนครอยู่แน่นหนาถึงเพียงนี้ เหตุไรท่านทั้งปวงจึงไม่พากันทุกข์ร้อนเลย ชาวพระนครตอบว่า เพราะเหตุว่าพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่เวลาพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ว่า ถ้าหากพระยาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ยกกองทัพมาล้อมพระนครของพวกเราเวลาใด เราจะให้ชาวพระนครเล่นมหรสพให้สนุกสนานในวันนั้น บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวของพวกเรา ได้เสด็จออกมาเสวยน้ำจันทน์อยู่ที่ท้องพระโรงหลวงพร้อมด้วยอำมาตย์ราชเสนาทั้งปวง ชาวพระนครเขาได้บอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า
    พรหมฺทตฺโต เตสํ กถํ สุตฺวา
    สมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ ทรงสดับคำกราบทูลมุสาวาท ของบุรุษซึ่งเป็นคนสอดแนม ของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าอย่างนี้แล้ว ก็ทรงพระพิโรธเป็นกำลัง จึงเปล่งพระสุรสิงหนาท ประกาศแก่พลโยธาทั้งปวงว่า สูเจ้าทั้งหลายอย่าได้ช้า จงเร่งกันยกเข้าตีพระนครให้ได้ในวันนี้ แล้วตัดศีรษะพวกที่เล่นมหรสพบรรทุกเกวียนออกมา พร้อมทั้งพระยาวิเทหราชและพระมโหสถ ให้กูได้ดูน้ำหน้าจงเร็วพลันสุรโยธาทั้งหลายก็พร้อมกันยกไปเป็นหมู่ๆ บ้างเต้นบ้างโลดบ้างรำเพลงหอกเพลงดาบเพลงง้าว เพลงทวน ยิงธนู ศร เกาทัณฑ์ หน้าไม้ และปืนยาว ตรงเข้าไปสู่ในที่ใกล้กำแพงค่ายคูประตูหอรบ เสียงตลบกลบดินฟ้าอากาศ มีอาการปานประหนึ่งว่าจักครอบง้ำย่ำยีเสียซึ่งกรุงมิถิลามหานคร ให้แหลกละเอียดเป็นผงเผ่าเถ้าธุลีไปในบัดเดี๋ยวใจ
    ฝ่ายโยธาของพระบรมโพธิสิตว์เจ้าซึ่งรักษาอยู่บนหอรบและเชิงเทินนั้น ก็สาดเทลงมาด้วยน้ำร้อนๆ โคลนร้อนๆ กรวดร้อนๆ สิลาร้อนๆ ยิงลงมาซึ่งธนู ศร เกาทัณฑ์ หน้าไม้และปืนยาวพุ่งลงมาซึ่งหอกและแหลนหลาวราวกับห่าฝน ตกลงมาถูกต้องพวกพลของพระเจ้าพรหมทัตป่วยเจ็บล้มตายเป็นอันมาก จนกองทัพเหล่านั้นได้แตกร่นออกไป ฝ่ายพลโยธาของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็คุกคามด่าว่าเย้ยหยัน ยักคิ้วหลิ่วตาแลบลิ้นหลอกว่า เหวยๆ อ้ายชาวกองทัพ พวกมึงชวนกันมาล้อมเมืองของกู แห้งเกรียมแกร่วอยู่หามีอะไรจะกินไม่ พวกกูจะให้ทานพวกมึงกินบ้าง ว่าแล้วก็โยนกระติกเหล้าและข้าวปลาอาหารลงไปให้
    พวกพลโยธาหาญของฝ่ายพระเจ้าจุลนีก็กลับเข้าไปกราบทูลว่า ไม่สามารถจะตีหักเข้าไปในพระนครได้ ขอพระองค์จงทรงหาอุบายใหม่เถิดพระเจ้าจุลนีก็สั่งให้พลโยธีหยุดพักอยู่ถึง 5 วัน ก็ยังไม่เห็นช่องที่จะตีเอาพระนครได้ จึงตรัสถามเกวัฏฏพราหมณ์ว่า จะทำประการใด
    เกวัฏฏพราหมณ์จึงกราบทูลว่า เมืองนี้มีแม่น้ำอยู่นอกเมือง พวกเราจงล้อมเมืองนี้ไว้ให้จงหมดน้ำในบ่อและสระอันมีอยู่นอกเมือง ก็จะตีเมืองได้โดยง่าย บุรุษสอดแนมของพระบรมโพธิสัตว์ ก็เขียนหนังสือผูกลูกธนูยิงเข้าไปให้ชาวเมืองๆก็นำหนังสือนั้นไปให้แก่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า พระองค์จึงให้ไปตัดเอาไม้ไผ่ยาว 60 ศอกมาผ่าออกให้เป็น 2 ซีก แล้วเลาะข้อข้างในเสียให้เกลี้ยงเกลาแล้วประกบกันเข้า เอาเชือกมัดให้มั่นคง อุดด้วยดินเหนียว แล้วพระองค์ก็เอาเมล็ดบัวปลูกลงไปในสระโบกขรณี ให้เอาไม้ไผ่ที่ทำไว้นั้น สวมพืชบัวไว้ เทน้ำลงไปให้เต็มทุกลำ แล้วทรงอธิษฐานว่า ขอให้เกิดเป็นสายบัวยาวจนสุดไม้ไผ่ในเวลากลางคืนนี้จงได้ ด้วยอำนาจอธิษฐานของพระองค์ ก็มีสายบัวงอกยาวขึ้นจนสุดไม้ไผ่ในชั่วคืนเดียว เช้าขึ้นจึงให้พวกทหารโยนสายบัวเหล่านั้น ออกไปให้พวกกองทัพๆก็นำไปแจ้งแก่พระเจ้าจุลนีๆ จึงตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า สายบัวเหล่านี้มีอยู่ในที่ไหน พวกสอดแนมของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทูลเป็นคำเท็จว่า สายบัวเหล่านี้เกิดอยู่ที่ตามริมฝั่งสระโบกขรณีอันมีอยู่ภายในเมือง พระเจ้าจุลนีก็ทรงเข้าพระทัยว่า มีสระลึกนักหนา จึงตรัสปรึกษากับเกวัฏฏพราหมณ์อีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า จะทำเป็นประการใด
    เกวัฏฏพราหมณ์กราบทูบอุบายว่าต้องล้อมไว้ให้ชาวเมืองอดข้าว พวกบุรุษสอดแนมของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เขียนหนังสือผูกลูกศรยิงเข้าไป แจ้งให้พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทราบอีก พระบรมโพธิสัตว์ ก็สั่งให้พลทหาร ขนเอาโคลนเลน ขึ้นไปบนเชิงเทินแล้วให้หว่านพืชข้าวกล้าลง พืชข้ากล้านั้นก็ขึ้นสูงพ้นกำแพง ด้วยอำนาจพระบารมีของพระองค์ พอพระเจ้าจุลนีได้เห็น จึงตรัสถามว่า นั่นเป็นอะไร บุรุษสอดแนมของพระบรมโพธิสิตว์เจ้าก็กราบทูลพรางอีกว่า นั่นเป็นข้าวที่เหลือจากยุ้งฉาง ซึ่งเขาเทไว้ตามเชิงเทิน ถูกน้ำฝนก็งอกงามขึ้นเป็นข้าวกล้า เมื่อพระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนี้ จึงตรัสถามอุบายใหม่กับเกวัฏฏพราหมณ์
    เกวัฏฏพราหมณ์ ก็ทูลว่า ต้องล้อมไว้จนชาวเมืองสิ้นฟืน พวกจารบุรุษก็ทูลพรางพระเจ้าจุลนีว่า มโหสถได้ตระเตรียมบ้านเมืองไว้ อย่างบริบูรณ์ด้วยข้าวน้ำฟืนผักทุกประการ ที่แลเห็นนั้น เป็นกองฟืนอันเหลือจากที่เก็บทั้งนั้น เวลานั้น พระเจ้าจุลนีก็ทรงท้อพระทัยว่า ที่จะล้อมเมืองนี้จนให้หมดน้ำ หมดข้าว หมดฟืนนั้นยากนัก เราควรจะยกกองทัพกลับไปเสีย
    แต่เกวัฏฏพราหมณ์ได้ทูลคัดค้านว่า เมื่อสู้รบด้วยสาตราวุธไม่ได้ชัยชนะแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ากจะสู้รบในทางธรรม คือให้เชิญมโหสถออกมาโต้กันในทางสนทนาธรรม ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่กว่ามโหสถ มโหสถต้องไหว้ข้าพระพุทธเจ้าก่อน แล้วให้ถือว่า ข้างพระเจ้าวิเทหราชแพ้ ขอให้พระองค์จงแจ้งไปแก่พระเจ้าวิเทหราชว่า เราทั้งสองจักต้องแพ้และชนะกันโดยธรรม คือ จงให้นักปราชญ์ของเราทั้ง 2 ออกมาโต้กันด้วยการสนทนาธรรมที่ภายนอกพระนครเถิด พระเจ้าจุลนีก็ทรงเห็นดีด้วย จึงทรงส่งทูตให้เข้าไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช ตามถ้อยคำของเกวัฏฏพราหมณ์
    พระเจ้าวิเทหราชก็แจ้งแก่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าๆ ก็ทูลรับอาสา แล้วประกาศแก่อำมาตย์ทั้งปวง ให้ออกไปจัดที่สนทนาธรรมของนักปราชญ์ทั้ง 2 ไว้ ในภายนอกพระนครเรียบร้อยเป็นอันดีแล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทูลขอเอาแก้วมณีดวงใหญ่จากพระเจ้าวิเทหราช แล้วขึ้นสู่รถห้อมล้อมด้วยพลโยธาออกไปสู่ธรรมสภา ข้างพระเจ้าจุลนีกับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ก็เสด็จมาประทับที่พลับพลาใกล้กับที่สนทนาธรรม เพื่อจะทอดพระเนตรนักปราชญ์ 2 สนทนากัน เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จมาถึงแล้ว ได้ลงจากรถปราศรัยกับเกวัฏฏพราหมณ์ว่า ข้าพเจ้าได้นำแก้วมณีมาให้ท่าน//73// อาจารย์ดวงหนึ่ง แล้วชูแก้วมณีขึ้นทำอาการเหมือนกับจะยื่นให้แก่เกวัฏฏพราหมณ์ พอเกวัฏฏพราหมณ์แบมือรับ ก็ทิ้งแก้วมณีลงไปโดยแรง แก้วมณีก็พลัดตกจากมือของเกวัฏฏพราหมณ์ลงไปที่พื้นดิน พอเกวัฏฏพราหมณ์ก้มลงจะหยิบแก้ว พระองค์ก็ทรงคว้าจับก้านคอกดลงไว้กับหว่างขา แล้วประกาศห้ามขึ้นว่า เกวัฏฏพราหมณ์อย่าไหว้ข้าพเจ้าเลยๆ ดังนี้ถึง 3 ครั้ง
    พอพระเจ้าจุลนีกับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดได้ทรงสดับ และมองเห็นอาการดังนั้น ก็ทรงเข้าพระทัยว่า เกวัฏฏพราหมณ์แพ้แล้ว ต่างก็ตกใจกลัว ได้เผ่นขึ้นทรงม้าควบหนีไปเป็นอลหม่าน พวกทหารของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ร้องไชโยโห่สนั่นกันขึ้นว่า พระเจ้าจุลนีหนีไปแล้วๆ เวลานั้น พวกทหารทั้งปวงของพระเจ้าจุลนีก็พากันแตกหนีเป็นอลหม่าน ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้าก็จับก้านคอของเกวัฏฏพราหมณ์ ถูไปถูมากับพื้นดินจนหน้าฉีกตาฉีก เลือดไหลโทรมหน้า แล้วตรัสว่า ดูก่อนคนอันธพาล เรารู้เท่าทันอุบายของเจ้า เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่า เราคือมโหสถ ปรากฏกระเดื่องไปทั้งแผ่นดิน ว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาอันแกล้วกล้า ว่าแล้วก็เสือกเกวัฏฏพราหมณไปตกไกลได้ 1 เส้น กับ 15 วา ด้วยกำลังของพระองค์อันเท่ากับกำลังคชสาร 5 เชือก พอเกวัฏฏพราหมณ์ลุกขึ้นได้จึงอุตสาหะตะเกียกตะกายวิ่งตามกองทัพไป ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร พร้อมด้วยพลนิกรหมู่ใหญ่ แล้วปิดประตูพระนครเสียทันที
    โปรดติดตามตอนต่อไป
     
  5. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    พฺรหฺมทตฺตสฺส เสนาปิ ติโยชนานิ ปกฺขนฺทึสุ ฯ เกวฏฺโฏปิ อสฺสมารุยฺเห นลาเต โลหิตํ ปุจฺฉิยมาโน เสนํ ปตฺวา อสฺสปิฏฺฐิยํ นิสินฺโน โภนฺโต มา ปลายถ นาหํ คหปติปุตฺตํ วนฺทามิ ติฏฺฐถ ติฏฺฐาติ
    ตามวาระพระบาลีว่า เมื่อพระเจ้าจุลนีแตกทัพกลับไป มีเนื้อความว่า เมื่อเกวัฏฏพราหมณ์ลุกขึ้นได้แล้ว ก็ขึ้นหลังม้าควบขับตามไป พลางเช็ดถูเลือดที่หน้าผากไปพลาง จนกว่าจะทันเสนาทั้งปวงก็ล่วงมรรคาไปได้ 3 โยชน์ จึงร้องห้ามให้พลโยธาหยุด พลโยธาก็ไม่หยุด ได้ร้องด่ามาว่า ดูก่อนอ้ายพราหมณ์คนร้าย อ้ายพราหมณ์ใจบาป อ้ายพราหมณ์ชั่วช้า มึงอวดว่าจะรบโดยทางธรรมชนะมโหสถ จะให้มโหสถไหว้ แต่เมื่อไปถึงแล้วมึงกลับไหว้มโหสถเอง
    เกวัฏฏพราหมณ์จึงร้องตอบว่า เราไม่ได้ไหว้มโหสถเลย คือ มโหสถได้ยื่นแก้วให้แก่เราๆก็ก้มรับแก้วจากมโหสถต่างหาก
    ดูก่อนอ้ายพราหมณ์คนชั่ว ถ้าอย่างนั้น มึงได้แก้วมณีมาหรือเปล่าเล่า ไม่ได้เอามาเลย เพราะมโหสถลวงว่า จะให้แล้วก็ไม่ให้ มิหนำซ้ำจับคอเราบีบไว้เหมือนกับบีบด้วยคีมเหล็ก จะดิ้นเท่าใดก็ไม่หลุด พอหลุดออกมาเราก็วิ่งตามมานี่แหละ ขอท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังถ้อยคำของเราเถิด
    ครั้นเกวัฏฏพราหมณ์ชี้แจงความเป็นจริง ให้พลโยธาเชื่อถือดังนี้แล้ว ก็ให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ทรงนำกองทัพยกกลับมาล้อมพระนครมิถิลาไว้ดังเก่า คราวนี้เกวัฏฏฏพราหมณ์ทูลแนะนำให้ปิดประตูน้อยๆแห่งพระนครเสีย เพื่อมิให้ชาวพระนครเข้าออกนอกในได้
    บุรุษของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็แอบส่งข่าวไปถึงพระโพธิสัตว์เจ้า ให้ทรงทราบตามอุบายของเกวัฏฏ พราหมณ์ เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าทรงทราบดังนั้นจึงทรงพระดำริว่า ควรจะคิดกำจัดข้าศึกให้แตกไปเสียโดยเร็วจะไม่ลำบากแก่การเมือง
    ครั้นทรงพระดำริดังนี้แล้ว จึงให้อำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่าอนุเกวัฏฏ์เข้ามาชี้แจงว่า ดูก่อนอนุเกวัฏฏ์ สงครามครั้งนี้เป็นสงครามอันใหญ่หลวง ยากที่จะเอาชัยชนะได้โดยง่าย เราอยากให้ท่านอาสากู้บ้านเมืองตามอุบายของเรา คือ ท่านขึ้นไปบนเชิงเทิน พอเห็นพวกพลของเราเผลอ ท่านจงโยนเนื้อและปลาลงไปให้แก่พวกข้าศึก แล้วเราจะกำชับทหารของเราให้จับท่านมัดโบยตีให้แตกเป็นริ้วรอย แล้วขมวดผมของท่านให้เป็นจุกๆ ถึง 5 แห่ง เอาผงอิฐโรยบนศีรษะของท่านขะมุกขะมอม แล้วเอาใส่สาแหรกหย่อนลงไปนอกกำแพง ครั้นแล้วท่านจึงออกจากสาแหรกไป พวกข้าศึกก็จะจับตัวท่านไปถวายแด่พระเจ้าจุลนีพรหมทัตๆ ก็จะตรัสถามว่า ท่านกระทำผิดสิ่งใดหรื เขาจึงได้ทำโทษแก่ท่านอย่างนี้ ท่านจงทราบทูลว่า ขอพระราชทาน ข้าพระพุทธเจ้าจะได้กระทำความผิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็หามิได้ แต่มโหสถริษยาข้าพระพุทธจ้า โดยเห็นข้าพระพุทธเจ้าไม่ไปมาหาสู่เขา เขาก็ริบเอาทรัพย์สมบัติพัสถานและบริวารของข้าพระพุทธเจ้าไปเสียหมด ทำให้ข้าพระพุทธเจ้า น้อยใจยิ่งนักหนา ได้คิดว่า จะให้พลโยธาของพระองค์ตัดศีรษะมโหสถเสียในวันพรุ่งนี้ ให้สมกับที่มโหสถทำแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพลโยธาของพระองค์ขัดสนเสบียงอาหาร จึงได้โยนเสบียงจากบนเชิงเทินลงมาให้ แล้วกล่าวเล้าโลมด้วยถ้อยคำอันงามต่อพลโยธาของพระองค์ พลโยธาของมโหสถก็ได้ทำโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้าแล้วนำตัวไปหามโหสถๆ จึงลงอาญาแก่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นปานฉะนี้ ดูก่อนอนุเกวัฏฏ์ ท่านจงกราบทูลแต่พระเจ้าจุลนีให้เหมือนอย่างนี้ ให้พระเจ้าจุลนีได้ทรงเชื่อถ้อยคำของท่านให้จงได้ แล้วกราบทูลขอสวามิภักดิ์เป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระเจ้าจุลนีว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับอาสาพาพวกพลโยธาของพระองค์ไปตีหักเอาเมืองมิถิลามหานครให้จงได้ จะจับเอาตัวพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถมาถวายพระองค์ ให้สมดังพระราชประสงค์ เพราะเหตุว่าข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจดีว่า กำแพงที่ไหนมั่นคงหรือไม่มั่นคง คูที่ไหนมีจระเข้ร้ายหรือไม่ เมื่อท่านกราบทูลอย่างนี้ พระเจ้าจุลนีจะโปรดปรานท่าน จะตั้งให้ท่านนำกองทัพเข้าตีพระนคร ท่านจงพาพวกพลโยธาลงไปในคูที่มีจระเข้ร้าย เมื่อพวกพลทั้งหลายกลัวจระเข้ก็จะไม่กล้าลงไปในคูตามถ้อยคำของท่าน เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านจงกลับไปกราบทูลพระเจ้าจุลนี ขอพระราชทาน บัดนี้พวกพลโยธาหาซื่อตรงต่อพระองค์ไม่ ด้วยเหตุว่า ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะมีแก่ใจยกเข้าไปตีพระนคร ตามถ้อยคำของข้าพระพุทธเจ้า ตามความเห็นของข้าพระพุทธเจ้าว่า เกวัฏฏพราหมณ์และพระยาทั้งร้อยเอ็ด ล้วนแต่ได้รับสินบนของมโหสถทั้งสิ้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อถ้อยคำของข้าพระพุทธเจ้าก็กราบทูลอย่างนี้แล้ว ขอได้โปรดให้ท้าวพระยาทั้งร้อยเอ็ดแต่งตัวเข้ามาเฝ้าดูเถิด พระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นเครื่องประดับที่จารึกเชื่อมโหสถอยู่ในกุณฑล และดอกไม้ทองเป็นต้น ของพระยาเหล่านี้ เมื่อท่านกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็จะกระทำตามถ้อยคำของท่าน เวลาท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นชื่อของเราอยู่ในเครื่องประดับของท้าวพระยาเหล่านั้น จริงตามถ้อยคำของท่านแล้ว ก็จะทรงเชื่อถือว่า ท้าวพระยาทั้งหมดเป็นพรรคพวกของเรา แล้วจะต้องปรึกษากับท่านว่า จะทำเป็นประการใดดี ท่านจงกราบทูลว่า ถ้าพระองค์ขืนชักช้าอยู่ในที่นี้แม้เพียง 2-3 วัน มโหสถก็จะกระทำเสนาของพระองค์ให้อยู่ในเงื้อมมือ แล้วจะจับพระองค์ฆ่าเสียเป็นแน่แท้ ขอพระองค์อย่าได้ทรงชักช้าเลย ควรจะขึ้นม้าทรงพระที่นั่งลอบหนีไปเสียในเวลากลางคืน อย่าทันให้ผู้ใดผู้หนึ่งรู้จึงจะเป็นการดี เมื่อท่านกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็จะกระทำตาม ท่านจงพาท้าวเธอหนีไปให้ไกล จากกองทัพแล้วกลับมาบอกแก่เรา
    เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าสั่งสอนแก่อนุเกวัฏฏ์อย่างนี้แล้ว อนุเกวัฏฏ์ก็ยินดีกระทำตามอุบายนั้น จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักรับอาสากระทำตามอุบายอันนี้ให้ได้ มโหสถจึงถามว่า ดูก่อนอนุเกวัฏฏ์ ท่านจะทนการโบยตีได้สักเท่าไร อนุเกวัฏฏ์ตอบว่า ข้าแต่เจ้าปราชญ์ ข้าพเจ้าขออวัยวะน้อยใหญ่กับชีวิตเท่านั้น นอกจากนั้นขอให้กระทำตามชอบใจเถิด เมื่ออนุเกวัฏฏ์รับอาสาแข็งแรงอย่างนี้แล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็บำเหน็จรางวัลให้แก่อนุเกวัฏฏ์ตลอดทั้งผู้คนในเรือนของอนุเกวัฏฏ์นั้นเป็นอันมาก จึงทำให้อนุเกวัฏฏ์ถึงซึ่งวิปริตด้วยอาชญา มีการโบยตีเป็นต้น แล้วให้เอาตัวอนุเกวัฏฏ์ใส่ลงในสาแหรกหย่อนออกไปนอกกำแพง
    พวกพลโยธาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต จึงจับเอาอนุวัฏฏ์นำไปถวายแก่พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ท้าวเธอจึงทรงสอบถาม ได้ความตามที่อนุเกวัฏฏ์ได้รับเสี้ยมสอนมาจากพระโพธิสัตว์เจ้า แล้วก็ทรงเชื่อถือ จึงทรงมอบพลโยธาทั้งปวงให้แก่อนุเกวัฏฏ์เป็นผู้ควบคุม อนุเกวัฏฏ์ก็นำพวกพลโยธาทั้งปวงลงไปในคูที่มีจระเข้ร้าย ถูกจระเข้ขบกัดฟัดฟาดล้มตายเสียเป็นอันมาก ทั้งพลโยธาของพระโพธสัตว์เจ้า ซึ่งอยู่บนหอรบนั้น ก็ยิงธนูเกาทัณฑ์หน้าไม้ปืนยาวลงมา พุ่งหอกแหลนหลาวลงมาดังห่าฝน ถูกต้องพลโยธาของพระเจ้าจุลนีบาดเจ็บล้มตายลงเป็นอันมาก พลโยธาทั้งปวงก็ถอยออกจากคู ไม่มีผู้ใดจะรุกไปตีพระนครเลย อนุเกวัฏฏ์จึงเข้าไปกราบทูลพระเจ้าจุลนีพรหมทัตว่า
    บัดนี้พลโยธาทั้งปวงของพระองค์ กับกษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์ ตลอดทั้งเกวัฏฏพราหมณ์ ล้วนแต่ได้รับสินบนของมโหสถสิ้นทั้งนั้น ถ้าหากพระองค์ไม่ทรงเชื่อถ้อยคำของข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขอได้โปรดให้กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ทรงเครื่องประดับประดาสรรพาภรณ์เข้ามาสู่ที่เฝ้าเถิด จะได้ทอดพระเนตรเห็นชื่อของมโหสถจารึกอยู่ที่เครื่องประดับประดาของกษัตริย์ทั้งปวงนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็ทรงกระทำตาม ในขณะนั้น อักษรที่จารึกชื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้นก็ปรากฏขึ้นด้วยกำลังอธิษฐานของพระองค์ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงเห็นจริงตามถ้อยคำกราบทูลของเกวัฏฏ์ก็ทรงเข้าพระทัยว่า พลโยธาของพระองค์กับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ได้เอาใจออกห่างจากพระองค์จริงตามถ้อยคำกราบทูลของเกวัฏฏ์ก็ทรงเข้าพระทันว่า พลโยธาของพระองค์กับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ได้เอาใจออกห่างจากพระองค์จริง ตามถ้อยคำแห่งอนุเกวัฏฏ์แล้ว ท้าวเธอก็ทรงตกพระหฤทัย ทรงหวาดหวั่นต่อมรณภัยอันจะมีมาถึง จึงโปรดให้กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์กลับออกจากที่เฝ้าแล้วตรัสถามอนุเกวัฏฏ์ว่า จะทำอย่างไรดี อนุเกวัฏฏ์จึงกราบทูลว่า ทางดีที่สุด ก็คือพระองค์ต้องลอบทรงม้าพระที่นั่ง หนีออกไปในเวลาเที่ยงคืนวันนี้อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอตามเสด็จไปด้วย
    โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป
     
  6. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ลำดับนั้นพระเจ้าจุลนีพรหมทัตจึงตรัสสั่งอนุเกวัฏฏ์ ให้เตรียมม้าพระที่นั่งไว้ว่า เราจะต้องหนีไปในเวลาเที่ยงคืนวันนี้ อนุเกวัฏฏ์ทูลรับพระบรมราชโองการ แล้วออกมาให้อาณัติสัญญาแก่พวกจารบุรุษของ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทราบทั่วกันว่า ในเวลาเที่ยงคืนวันนี้ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตจะได้เสด็จหนีทิ้งกองทัพไป ท่านทั้งหลายอย่าได้หลับนอนเป็นอันขาด ครั้นแล้วอนุเกวัฏฏ์ก็ออกไปเตรียมม้าพระที่นั่งไว้ พอถึงเวลาเที่ยงคืน จึงเข้าไปกราบทูลพระเจ้าจุลนีพรหมทัตให้เสด็จหลีกลัดหนีออกจากกองทัพ แล้วขึ้นทรงม้าพระที่นั่งหนีไปกับตน ม้าพระที่นั่งนั้น เป็นม้าที่อนุเกวัฏฏ์ได้เลือกสรรขึ้นใหม่เป็นม้าที่มีฝีเท้าเร็วที่สุด ยิ่งชักก็ยิ่งวิ่ง เมื่ออนุเกวัฏฏ์ติดตามพระเจ้าจุลนีไปสักครู่ใหญ่แล้ว ก็เลี้ยวม้ากลับมาร้องบอกแก่พวกพลโยธาทั้งปวงว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จหนีไปแล้วๆ ฝ่ายจารบุรุษของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ร้องประกาศต่อๆกันไป เมื่อกษัตริย์ท้งร้อยเอ็ดพระองค์ได้ทรงสดับ ก็ทรงเข้าพระทัยว่า มโหสถบัณฑิตเปิดประตูพระนครยกกองทัพออกมาแล้ว ต่างองค์ก็สะดุ้งตกพระทัยว่า บัดนี้มโหสถจะไม่ไว้ชีวิตแก่เราแล้ว กษัตริย์เหล่านั้นได้รีบเสด็จหนีออกจากพลับพลา โดยไม่ทันจะทรงคว้าสิ่งใด สิ่งหนึ่งไปด้วย พวกจารบุรุษของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็โห่ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดได้หนีไปแล้วๆ ในขณะนั้น พลโยธาของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าซึ่งอยู่บนหอรอบเชิงเทิน ก็ส่งเสียงโห่ร้องสนั่นหวั่นไหวเหมือนกับเสียงแผ่นดินจะถล่มลงไป พวกพลโยธาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตทั้ง 18 อักโขภิณีนั้นเข้าใจว่า พระบรมโพธิสัตว์เจ้ายกออกไปจับพระเจ้าจุลนีพรหมทัตกับพวกกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ได้แล้ว ต่างคนต่างก็สะดุ้งตกใจกลัวต่อความตายเป็นกำลัง ได้ทิ้งสาตราอาวุธและสิ่งของอื่นๆ เสีย โดยที่สุดแม้แต่ผ้าพันพุงก็ไม่อาจเอาไป พากันแตกหนีไปไม่เป็นสมปฤดี บ้างนั่ง บ้างลุก บ้างคุกเข่าเบียดเสียดกันไป เมื่อได้ยินเสียงฝีเท้าของพวกตนสำคัญว่าพวกข้าศึกไล่ ได้พากันแตกหนีไปจนตราบเท่าเมืองออกไปในเวลารุ่งเช้า ขนเอาสิ่งของที่ทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ในกองทัพเข้าไปไว้ในพระนคร ได้จัดสิ่งของไว้เป็นแผนกๆ สิ่งใดที่เป็นของกษัตริย์ ก็ยกถวายแด่พระเจ้าวิเทหราช สิ่งใดที่เป็นของเศรษฐีและของเกวัฏฏพราหมณ์ ก็ให้เป็นส่วนของพระองค์เสีย นอกจากนั้น ก็ยกให้แก่พวกพลโยธาทั้งสิ้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ให้บำเหน็จรางวัลแก่อนุเกวัฏอำมาตย์อย่างถึงขนาด สมกับความดี จำเดิมแต่นั้นมา มิถิลาราชธานีก็บริบูรณ์ด้วยเงินทอง แก้วแหวน ช้างม้า สาตราวุธ ยิ่งกว่าหัวเมืองอื่นๆ ทั้งสิ้น อันมีในชมพูทวีปในเวลานั้น
    พฺรหฺมทตฺตสฺสาปิ ฝ่ายพระเจ้าเจ้าจุลนีพรหมทัตกับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ได้ทรงยับยั้งตั้งตาทัพอยู่ที่เมืองอุตตรปัญจาลนคร ล่วงเวลาได้ปีหนึ่ง ก็ยังไม่ตรัสสั่งให้เลิกการขัดตาทัพ ด้วยกลัวพระบรมโพธิสัตว์เจ้าจะยกทัพติดตามไป อยู่มาวันหนึ่ง เกวัฏฏพราหมณ์ได้ยกกระจกขึ้นส่องดูหน้าของตนพอมองเห็นแผลที่หน้าผาก ก็เกิดโทมนัสขัดแค้นว่า แผลนี้มโหสถเป็นผู้ทำให้แก่เรา ทำให้เราได้รับความอับอายแก่ท้าวพระยา และผู้คนทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไรหนอเราจะได้เห็นหลังมโหสถผู้เป็นข้าศึกตัวสำคัญ แล้วก็นิ่งตรึกตรองหาอุบาย จึงนึกขึ้นได้ว่า เจ้านายของเรามีพระธิดาซึ่งทรงพระรูปพระโฉมดังเทพธิดาองค์หนึ่ง เราจะล่อล่วงให้พระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถหลงเข้ามาในบ้านเมืองของเรา แล้วจับฆ่าเสียให้หนำใจ
    ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีพรหมทัตกราบทูล่วา ขอพระราชทาน ข้าพระพุทธเจ้าคิดได้อุบายอีกอย่างหนึ่ง เป็นอุบายที่ดีนักหนาที่จะเอาชัยชนะแก่ศัตรูได้ ตั้งใจจะกราบทูลให้ทรงทราบ เพื่อขอให้ทรงกระทำตามอุบายอันนี้
    พระเจ้าจุลนีจึงตรัสถามว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ เราทั้งปวงเกือบจะไม่มีผ้าติดตัวมาในคราวก่อนนั้น ก็เพราะอุบายของท่านอาจารย์ มาบัดนี้ ขอท่านอาจารย์อย่าคิดอ่านประการใดเลย ท่านอาจารย์นิ่งเสียเถิดดีกว่า เกวัฏฏจึงทูลขึ้นว่า ขอพระองค์อย่าได้ตรัสอย่างนี้เลย เพราะอุบายอันนี้เป็นยอดแห่งอุบายทั้งหลาย ไม่มีอุบายใดจะเสมอเหมือน
    จึงตรัสว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นจงว่าไปดูที ขอพระราชทาน อุบายนี้เป็นอุบายที่ลี้ลับอย่างยิ่ง ว่าแล้วก็เชิญพระเจ้าจุลนีขึ้นสู่ปราสาทชั้นบนจึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะให้คนแต่งกาพย์กลอนโคลงฉันท์ สรรเสริญพระรูปพระโฉมแห่งสมเด็จพระนางปัญจาลจันที ผู้เป็นพระราชธิดาของพระองค์ให้ไพเราะที่สุดแล้วให้คนไปขับร้องที่เมืองมิถิลา ให้พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับ เมื่อรู้ว่าพระเจ้าวิเทหราชทรงลุ่มหลงในพระราชธิดาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นราชทูตจำทูลพระราชสาส์นว่า พระองค์มีความประส่งค์จะถวายพระเยาวมาลย์ราชธิดาให้แด่พระเจ้าวิเทหราช จะกำหนดวันและคืนที่จะถวาย ถ้าพระเจ้าวิเทหราชเสด็จสู่เมืองของเราแล้ว มโหสถก็จะต้องมาด้วย เราจะจับพระเจ้าวิเทหราชและมโหสถฆ่าเสียโดยง่าย
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงให้พวกนักกวีแต่งกาพย์โคลงชมพระรูปโฉมของพระราชธิดาให้เป็นที่ไพเราะเสนาะโสต แล้วให้เหล่านักสนมกำนัลได้เล่าเรียนเอาไปขับร้องจนชำนิชำราญ แล้วให้หาคนที่มีเสียงไพเราะเข้ามาเล่าเรียนเพลงนั้นอีกเป็นอันมาก แล้วจึงทรงส่งคนเหล่านั้นไปเที่ยวขับร้องเพลงในเขตแดนเมืองมิถิลามหานคร โดยกำชับสั่งว่าให้พวกเจ้าจับนกตัวใหญ่ๆไว้ให้มาก พอถึงเวลาเที่ยงคืนจงพากันขึ้นไปขับเพลงนี้อยู่บนต้นไม้ ในเวลาเช้าจึงให้ปล่อยนกตัวใหญ่ๆเหล่านั้นไป แล้วจึงพากันหลบลงจากต้นไม้หนีไปซ่อนตัวอยู่ที่อื่นเสีย เพื่อให้คนทั้งหลายหลงเข้าใจผิดว่า มีเทพยดามาขับเพลงชมโฉมพระนางปัญจาลจันที ครั้นสั่งอย่างนี้แล้ว ก็ส่งพวกเหล่านั้นไป แล้วให้พวกจินตกวีผูกเพลงอีกบทหนึ่งซึ่งมีใจความว่า พระนางปัญจาลจันที ผู้เป็นพระราชธิดาอันประเสริฐของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตนั้น จะได้สมควรแก่กษัตริย์ซึ่งมีอยู่ในพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้หามิได้ เว้นไว้แต่พระเจ้าวิเทหราชพระองค์เดียวเท่านั้น ดังนี้ เพลงบทนี้ก็ให้พวกนักร้องมาเล่าเรียนแล้วก็ส่งไปขับร้องในแขวงกรุงมิถิลามหานคร ไปขับร้องที่ไหนก็มีคนสรรเสริญที่นั่น ได้รับสิ่งของเงินทองเป็นรางวัลในที่นั้นๆ เป็นอันมากในครั้งนั้น ก็มีเสียงเล่าลือไปถึงพระเจ้าวิเทหราช พระองค์จึงรีบสั่งให้หาพวกขับร้องเหล่านั้นเข้าไปขับร้องถวาย ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก
    พวกขับร้องเหล่านั้นจึงกลับไปกราบทูลพระเจ้าจุลนีให้ทรงทราบ พระเจ้าจุลนีจึงทรงแต่งเกวัฏฏพราหมณ์ให้เป็นราชทูตจำทูลพระราชสาส์น ไปยังกรุงมิถิลามหานคร ในพระราชสาส์นมีใจความว่า บัดนี้สมเด็จพระจุลนีพรหมทัต มีพระราชประสงค์จะเป็นทองแผ่นเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช โดยทรงยินดีจะถวายพระราชธิดาแด่สมเด็จพระเจ้าวิเทหราช ผู้เป็นพระมหากษัตริย์อันยิ่งใหญ่เสมอกันกับเรา ดังนี้
    ข่าวที่เกวัฏฏพราหมณ์ไปนั้น ก็เล่าลือไปถึงพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก่อน สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทรงพระดำริว่า เกวัฏฏพราหมณ์ซึ่งจะมาในครั้งนี้ จะมาด้วยสุจริตใจนั้นหามิได้ จำเราจะต้องสืบสวนเอาความจริงให้จงได้ ครั้นทรงดำริแล้ว ก็รีบส่งจารบุรุษของพระองค์ออกไปสืบสวนทางอุตตรปัญจานคร แต่พวกจารบุรุษได้ตอบมาว่า การที่พระเจ้าจุลนีพรหมทัตคิดอ่านกันในครั้งนี้ ได้คิดอ่านกันสองต่อสองในห้องอันเป็นสิริบนปราสาท ไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดอาจล่วงรู้ล่วงเห็น เว้นไว้แต่นางนกสาลิกาซึ่งรักษาห้องบรรทมของสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเท่านั้น ขอให้พระองค์โปรดส่ง สุลโปดกนกแขกเต้ามาสอบสวนเอาความจริงจากนางนกสาลิกาเถิด เห็นจะได้ความจริงเป็นเที่ยงแท้ เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ทรงทราบดังนี้แล้ว ก็ทรงพระดำริว่า เกวัฏฏพราหมณ์มาด้วยกลอุบายทุจริตเป็นแน่นอน เราไม่ควรจะให้เห็นพระนครของเรา ซึ่งเราตกแต่งไว้เป็นอันดี
    ครั้นทรงดำริดังนี้แล้ว จึงให้ตกแต่งมรรคา จำเดิมแต่ประตูพระนครไปจนกระทั่งถึงพระราชวัง จากพระราชวังจนกระทั่งถึงปราสาทแห่งพระองค์นั้นให้แปลกประหลาด คือสองข้างมรรคา นั้นให้กั้นด้วยเสื่อลำแพนอันวาดด้วยลวดลายต่างๆ และให้ปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อย ทั้งสองข้างมรรคาประดับด้วยธงช่อธงชัย ตั้งหม้อน้ำไว้ให้เรียงกันเป็นแถวไปในเบื้องมรรคานั้น ให้ดาด เพดานอันวิจิตรไปด้วยรูปดาวต่างๆ อย่างน่าจับใจ ให้โปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ควรเป็นที่ชื่นชูใจ เมื่อเกวัฏฏพราหมณ์ไปถึงก็ดีอกดีใจว่า พระเจ้าวิเทหราชให้ตกแต่งมรรคาไปรับตน หาได้รู้ไม่ว่าเป็นเล่ห์กลอุบายของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าไม่ ครั้นเข้าไปถึงที่เฝ้าแล้ว ก็ถวายเครื่องราชบรรณาการและสุรสาส์นอักษร ซึ่งมีใจความดังที่แสดงมาแล้วนั้น ทั้งได้กราบทูลเพิ่มเติมอีกว่า
    เบื้องหน้าแต่นี้ไป ราชทูตทั้งสองพระนครซึ่งมีเสียงอันไพเราะ ก็จะได้นำทูลพระราชสาส์นไปๆ มาๆ มีอุปมาเหมือนกระแสน้ำอันไหลมาไม่ขาดสายฉะนั้น เดิมที สมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต จะทรงส่งให้อำมาตย์อื่นๆ มา แต่ครั้นแล้วก็ทรงเกรงว่าจะมากราบทูลผิดๆถูกๆ ไม่เป็นที่พอพระทัยของพระองค์จึงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นทูตจำทูลพระราชสาส์น ขอพระองค์จงเสด็จพระราชดำเนินไปสู่กรุงอุตตรปัญจาลนครเถิด ประโยชน์อันใหญ่ 2 ประการจะได้เกิดแก่พระองค์ คือ ประการหนึ่ง จะได้พระราชธิดาซึ่งทรงพระรูปพระโฉม และพระคุณสมบัติหาผู้เสมอเหมือนมิได้ อีกประการหนึ่ง จะได้เป็นพระราชไมตรี กับสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ผู้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระนคร ขอพระองค์จงทรงทราบด้วยประการฉะนี้เถิดพระพุทธเจ้าข้า เมื่อเกวัฏฏพราหมณ์กราบทูลอ่างนี้แล้ว ก็นิ่งฟังพระราชดำรัสตอบของสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชอยู่ด้วยอาการอันสงบ ณ กาลนั้น
    โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป 18 พ.ย. 52
     
  7. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    โส ตสฺส วจนํ สุตฺวา ตุฏฺฐมานโส หุตฺวา อุตฺตมรูปธรํ กิรกุมาริกํ ลภิสฺสามีติ สวนสํสคฺเคน พุชฺฌิตฺวา อาจาริย ตุมฺหากญฺจ กิรมโหสถปณฺฑิตสส จ ธมฺมยุทฺเธน วิวาโท อโหสีติ
    ดำเนินความว่า ครั้นสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช ได้สดับถ้อยคำของเกวัฏฏพราหมณ์มากราบทูล เรื่องสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต จะยกพระราชธิดาถวายนั้น ก็ทรงโสมนัสยิ่งนักว่า เราจักได้ขัตติยนารี ผู้สมบูรณ์ด้วยพระรูปพระโฉมอันล้ำเลิศ แล้วตรัสว่า
    ดูก่อนอาจารย์เกวัฏฏ์ท่านกับมโหสถมีเรื่องโกรธเคืองกัน ตั้งแต่ครั้งกระทำยุทธสงครามกันนั้น เพราะฉะนั้น ขอจงให้อาจารย์ไปพูดจาปราศรัยกับมโหสถเสียสักหน่อยเถิด เพื่อจะได้มีไมตรีต่อกันขึ้น เกวัฏฏพราหมณ์ทูลรับพระราชโองการว่า เป็นการดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า จึงถวายบังคมบ่ายหน้าออกไปสู่บ้านพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
    ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแน่พระทัยอยู่แล้วว่าอย่างไรก็ดี เกวัฏฏพราหมณ์จะต้องมาหาเราเป็นแน่ จึงทรงดำริว่า ต้องการอะไร ที่เราจะสนทนากับคนใจบาปหยาบช้าเช่นนั้น ครั้นทรงดำริแล้ว จึงเสวยเนยใสหน่อยหนึ่งเสียในเวลาเช้า สั่งให้คนทั้งหลายเอาขี้โคสดๆ ไปโบกที่พื้นในท้องพระโรงใหญ่ แล้วให้เก็บเครื่องตั้งที่มีอยู่ในห้องนั้นเสียสิ้น ให้เหลือไว้แต่เตียงน้อย สำหรับพระองค์จะบรรทมเท่านั้น จึงเรียกพวกมหาดเล็กมาสั่งว่า เราจะนอนอยู่ที่เตียงเล็กนี้ ถ้าเกวัฏฏพราหมณ์มาถึงแล้ว ปรารถนาจะพูดกับเรา ให้พวกเจ้าห้ามเสียว่า เวลานี้ท่านปราชญ์ได้ดื่มกินซึ่งเนยใสอันกล้า ท่านอย่าเข้ามาซักถามเจรจานานที่นี่ ขณะนั้นฝ่ายเราจะทำอาการเหมือนดังจะพูดขึ้น พวกเจ้าจงห้ามว่า พระเจ้าข้า โอสถเนยใสที่พระองค์ดื่มในเวลานี้อยู่ข้างจะกล้าขออย่าเพิ่งเจรจาก่อน ได้สั่งพวกมหาดเล็กไว้อย่างนี้แล้ว ก็ตั้งพวกมหาดเล็กอีกพวกหนึ่งให้เป็นผู้พิทักษ์รักษาในซุ้มประตูทั้ง 7 ส่วนพระองค์ก็ทรงนุ่งผ้าสีแดงทรงบรรทมอยู่บนเตรียงน้อยในท้องพระโรงอันใหญ่นั้น
    พอเกวัฏฏพราหมณ์ไปถึงซุ้มประตูที่ 1 จึงถามพวกนายประตูว่า ท่านปราชญ์อยู่ที่ไหน พวกนายประตูนั้นห้ามว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านอย่าส่งเสียงอึงไป ถ้าจะเข้าก็ให้มาเงียบๆ เพราะวันนี้ท่านปราชญ์ได้ดื่มโอสถเนยใส อันแรงกล้า ห้ามไม่ให้ใครเจรจา จึงเลยประตูที่ 1 เข้าไปจนถึงชั้นเป็นลำดับ ก็มีผู้ห้ามอยู่อย่างนั้น เมื่อไปถึงพระบรมโพธิสิตว์เจ้าๆ ก็แสดงอาการเหมือนจะแย้มโอษฐ์ออกจำนรรจากับเกวัฏฏพราหมณ์ พวกมหาดเล็กก็ทูลห้ามเสียว่า พระเจ้าข้า โอสถเนยใสที่พระองค์ทรงดื่มเมื่อเช้านี้ ออกจะแก่กล้าอยู่ ขออย่าเพิ่งเจรจาก่อน จะประโยชน์อันใดที่จะเจรจากับอ้ายพราหมณ์ชั่วร้ายเช่นนี้ เมื่อพวกมหาดเล็กทูลห้ามอย่างนี้แล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทรงดุษณียภาพนิ่งอยู่ ฝ่ายเกวัฏฏพราหมณ์ก็เหลียวซ้าย แลขวาหาที่จะนั่ง ก็ไม่มีที่ไหนจะนั่งได้ เพราะเปื้อนด้วยขี้โคทั้งนั้น จะหันไปพิงเสาก็ทาน้ำมันเสียหมด จึงยืนแกว่งเก้ออยู่ในสถานที่นั้น พวกมหาดเล็กของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ต่างคนต่างมองดูเกวัฏฏพราหมณ์ พอสบสายตาเข้าแล้วก็ยังคิ้วหลิ่วตา บ้างก็เบี้ยวปากทำบุ้ยใบ้ บ้างก็งอศอกทำท่าจะถอง บ้างก็กำหมัดยกเท้าทำท่าจะชกจะเตะ เกวัฏฏพราหมณ์ยืนก้มหน้าก้มตาอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจึงอำลาพระโพธิสัตว์เจ้าไปว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าจะขอลาไปละ แต่พอบอกลาเท่านี้ พวกมหาเล็กก็พากันตวาดว่า เหม่ๆ อ้ายพราหมณ์ชาติชั่วยิ่งห้ามก็ยิ่งขืนพูด เดี๋ยวกูจะเตะเสียให้กระดูกแตกเสียเดี๋ยวนี้ ส่วนเกวัฏฏพราหมณ์ก็สะดุ้งตกใจกลัว จึงรีบเดินออกมาพลางเหลียวซ้ายแลขวา ระวังหน้าระวังหลัง พอออกมาถึงประตูที่ 1 พวกนายประตูก็ตบด้วยฝ่ามือบ้าง ตีด้วยซี่ไม้ไผ่บ้าง จับต้นคอไสออกไปบ้าง พอออกมาถึงประตูชั้นที่ 2 ทั้งถูกถองถูกถาม ออกมาถึงชั้นที่ 3 ทั้งถูกถามถูกตี ออกมาถึงชั้นที่ 4 ทั้งถูกตีถูกด่า ออกมาถึงชั้นที่ 5 ทั้งถูกด่าถูกชก ออกมาถึงชั้นที่ 6 ทั้งถูกชกถูกเตะ ออกมาถึงชั้นที่ 7 ถูกหมัดเด็ดด้วยชีกไม้ไผ่ กว่าจะออกพ้นประตูที่ 7 ชั้นได้ก็ปางตาย เหมือนกับเนื้ออันพ้นออกจากปากสีหราชร้ายฉะนั้น
    ทางพระเจ้าวิเทหราชนั้นทรงพระดำริอยู่ว่า เวลานี้นักปราชญ์ทั้ง 2 คงจะสนทนากันด้วยถ้อยคำอันเป็นที่รักใคร่ คงต่างจะขออภัยแก่กันและกัน ครั้งนี้เป็นเวลาอันประเสริฐของเราแล้ว ในไม่ช้าก็ทรงเห็นหน้าเกวัฏฏพราหมณ์โผล่เข้ามา จึงรีบตรัสถามว่าดูก่อนอาจารย์ๆ ได้สนทนาปราศรัยกับมโหสถดีแล้วหรือ ขอพระราชทานจะดีอะไรได้ มโหสถไม่ใช่เป็นสัตบุรุษ เป็นคนมีน้ำใจกระด้างกระเดื่อง ไม่ต้อนรับแขกเลย ทำเป็นมึนตึงเพิกเฉยอยู่ เหมือนกับคนใบ้คนหนวก จะได้เจรจาสักคำหนึ่งก็หามิได้ ขอพระองค์อย่าทรงนับถือว่า เป็นนักปราชญ์อีกต่อไป ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชทรงนิ่งอยู่สักครู่หนึ่งแล้วจึงโปรดพระราชทานเบี้ยเลี้ยงรางวัลแก่เกวัฏฏพราหมณ์ พร้อมด้วยเหล่าบริวาร แล้วโปรดให้จัดการรับรองไปพักอยู่ในราชมณเฑียรหลังหนึ่ง แล้วจึงทรงดำริว่า
    มโหสถบัณฑิตนี้ฉลาดในการที่จะต้อนรับปราศรัยยิ่งนัก แต่เหตุไรจึงมาเป็นเช่นนี้ หรือ มโหสถจะเล็งเห็นภัยในอนาคตอย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้งทรงดำริดังนี้แล้วก็ทรงพระวิตกว่า ชะรอยเขาจะล่อลวงเราไปฆ่าเสียกระมัง เรานี้จะงมงายอะไรนักหนาถึงกับจะละบ้านเมืองของเราไปสู่เงื้อมมือของข้าศึก พระองค์ทรงดำริดังนี้อยู่ นักปราชญ์ทั้ 4 ก็เข้าไปสู่ที่เฝ้า จึงตรัสถามว่า ดูก่อนเสนา ข้อซึ่งว่าเราจะไปสู่เมืองอุตตปัญจาลนครเพื่อจะไปรับพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตนั้น เสนกจะเห็นเป็นประการใด เสนกจึงกราบทูลขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า เมื่อสิริมาถึงแล้วจะเอาไม้ค้อนต้อนหนีเสียนั้น ย่อมเป็นการไม่สมควรเสียนักหนา ขอเชิญเสด็จไปเถิด ถ้าได้พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีมาเป็นพระอัครมเหสีแล้ว ก็จะได้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ร้อยเอ็ดนคร ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าจุลนีต้องพิจารณาเห็นว่า ไม่มีกษัตริย์อื่นๆ ซึ่งจักคู่ควรแก่พระราชธิดาของพระองค์ เพราะเหตุว่า กษัตริย์อื่นๆล้วนแต่เป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าจุลนีทั้งนั้น นอกจากพระองค์นี้เท่านั้น ซึ่งยังเป็นเอกราชอยู่ ถ้าพระองค์เสด็จไปในครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็จะตามเสด็จไปด้วย จึงตรัสถามนักปราชญ์ทั้ง 3 อีกว่า จะเห็นเป็นประการใด นักปราชญ์ทั้ง 3 ก็กราบทูลเหมือนกับเสนก ฝ่ายเกวัฏฏพราหมณ์ได้รีบออกจากที่พักไปถวายบังคมลากลับสู่อุตรปัญจาลนคร
    เมื่อเกวัฏฏพราหมณ์กลับไปแล้วพระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช พระองค์จึงปรึกษากับพระโพธิสิตว์เจ้าว่า ดูก่อนมโหสถ เสนก ปุกกุส กามินท์ เทวินท์ กับเกวัฏฏ์ และเรา รวมเป็น 6 คนด้วยกัน ล้วนแต่มีความเห็นกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า ควรจะไปรับพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีในอุตตรปัญจาลนคร มาเป็นพระอัครมเหสี ส่วนมโหสถเล่าจะเห็นเป็นประการใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทานพระเจ้าจุลนีพรหมทัต เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยบริวารยศ และยิ่งด้วยศักดาเดชานุภาพ ที่ไหนจะทรงพอพระทัยที่จะยกพระราชธิดาถวายแก่พระองค์ผู้เป็นข้าศึกเล่า ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลให้ทรงทราบว่า พระเจ้าจุลนีนั้น มีพระราชประสงค์จะปลงพระชนม์ของพระองค์เสีย จึงทรงเล้าโลมพระองค์ด้วยพระราชธิดา เปรียบเหมือนกับนายพราน อันล่อเนื้อให้หลงนางเนื้อฉะนวนฉะนั้น คือ ธรรมดานายพรานที่ฉลาด ย่อมผูกนางเนื้อไว้ให้เป็นชนวนแก่ฝูงเนื้อทั้งหลาย อันเที่ยวไปมาแวงหาหญ้าและน้ำอยู่ในป่า เมื่อเนื้อทั้งหลายมาติดนางเนื้อนั้นแล้ว นายพรานก็ประหารเสียด้วยหอกอันใหญ่ให้ถึงซึ่งความตาย ข้อนี้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น คือนายพรานนั้นเปรียบเหมือนพระเจ้าจุลนี นางเนื้อชนวนนั้นเปรียบเหมือนพระราชธิดา หอกใหญ่นั้นเปรียบเหมือนเกวัฏฏพราหมณ์ หรือไม่อย่างนั้น พระเจ้าจุลนีก็เปรียบเหมือนนายพรานเบ็ด พระราชธิดาก็เปรียบเหมือนกับเหยื่อเบ็ด เกวัฏฏพราหมณ์เปรียบเหมือนกับตัวเบ็ด พระองค์เปรียบเหมือนปลา ถ้าพระองค์ทรงลุ่มหลงพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีแล้วก็จะต้องถึงความพินาศ เหมือนกับฝูงเนื้ออันหลงนางเนื้อชนวนและปลาอันโลภในอาหารกลืนกินเบ็ดเข้าไปฉะนั้น หรือไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเหมือนเนื้ออันหลงเข้าไปในละแวกบ้าน ซึ่งคนทั้งหลายได้ประหัตประหารเสียให้ตาย ฉะนั้น
    โส ราชา เตน อติวิย นิคฺคหิโตว กุชฺฌิตฺวา เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงสดับคำกราบทูลของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าอย่างนี้แล้ว ก็ทรงพระพิโรธว่า มโหสถดูถูกเราเหมือนกับทาสของเขา ยกเราไปเปรียบกับเนื้อกับปลาอันเป็นสัตว์ป่า จึงตรัสว่า
    ดูก่อนมโหสถ เวลานี้พวกเราทั้งปวงไม่มีใครรู้จักดีและชั่วเหมือนกับตัวมโหสถ ดูก่อนเจ้าลูกบ้านนอกเหตุดังฤาเจ้าจะรู้จักสิ่งที่เป็นมงคลแห่งกษัตริย์ นักปราชญ์ทั้ง 4 เขารู้จักดีกว่ามโหสถ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพนักงานว่า เหวยๆ สูเจ้าทั้งหลาย จงเร่งไสคอมโหสถออกไปจากประเทศของเราในเดี๋ยวนี้ เพราะมโหสถนี้มาว่ากล่าวให้เสียประโยชน์ของเรา แต่ไม่มีผู้ใดที่จะกระทำตามพระราชโองการ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้ารู้แจ้งว่า พระมหากษัตริย์กำลังทรงพระพิโรธ จึงทรงพระดำริว่า ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งจะมาไสคอ หรือแต่เพียงจะมาแตะต้องตัวเราเท่านั้น เราจะละอายตลอดชีวิตเพราะฉะนั้น เราควรจะรีบถวายบังคมลาออกไปเสีย
    ครั้นทรงดำริดังนี้แล้วก็รีบถวายบังคมลา เมื่อไปถึงที่ประทับของพระองค์แล้ว จึงทรงปริวิตกถึงสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชว่า พระเจ้าอยู่หัวของเราเป็นอันธพาลยิ่งนักหมักหมมอยู่แต่ในทางกามคุณ จะได้รู้จักภัยในอนาคตก็หามิได้ ถ้าปล่อยให้พระองค์ไปแต่ลำพัง ก็จักถึงความพินาศเป็นเที่ยงแท้ อันตัวเรานี้ พระองค์ก็ได้ทรงชุบเลี้ยงมานานแล้ว ควรจะทำการสนองพระคุณให้ พระองค์พ้นจากอันตรายทั้งปวงในครั้งนี้ให้จงได้ แต่เราควรจะส่งเจ้าสุวโปดกไปฟังถ้อยความให้ตระหนักแน่นอนก่อน จึงค่อยจัดการภายหลัง จึงทรงเรียกสุวโปดกมาสู่สำนักของพระองค์แล้วตรัสสั่งว่า
    ดูก่อนเจ้าสุวโปดก การที่เกวัฏฏพราหมณ์เป็นทูตจำทูลพระราชสาส์นมาครั้งนี้ จะร้ายดีประการใด ย่อมไม่มีใครรู้แจ้ง เพราะพระเจ้าจุลนีกับเกวัฏฏพราหมณ์ ได้คิดกันในห้องบรรทม 2 ต่อ2 เท่านั้น ไม่มีผู้ใดจะรู้เห็น เว้นแต่นางนกสาลิกา อันรักษาห้องบรรทมเท่านั้น เจ้าจงไปเล้าโลมให้นางนกสาลิกายอมเป็นภรรยาของเจ้า แล้วจงไต่ถามให้ได้ความจริง แต่จงรักษาตัวอย่าให้มีภัยอันตรายประการใด จะพูดจาไต่ถามสิ่งใดๆ ก็ให่ดูหน้าหลังระวังระไวให้รอบคอบ อย่าเจรจาต้องเสียงอันดัง จงซ่อนเนื้อซ่อนตัวให้ดี เมื่อได้ความอย่างใดแล้วจงกลับมาแจ้งแก่เรา ครั้นทรงสอนสุวโปดกนกแขกเต้าอย่างนี้แล้ว ก็ให้สุวโปดกกินข้าวน้ำจนอิ่มหนำสำราญแล้ว เอาน้ำหอมอันหุงได้ร้อยครั้งมาทาปีกขนให้แก่สุวโปดกแล้วปล่อยไป
    โปรดติดตามตอนต่อไป 18 พ.ย. 52
     
  8. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ตสฺส ปฏิสุณิตฺวา มหาสตฺตํ วนฺทิตฺวา
    ฝ่ายสุวโปดกก็ทูลรับถ้อยคำแห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแล้ว ยกปีกทั้ง 2 ขึ้นก้มศีรษะถวายบังคมแล้วก็บินออกโดยช่องพระแกล ตรงไปสู่เมืองอริฏฐบุรี ออกจากเมืองนั้นแล้ว จึงตรงไปสู่เมืองอุตตรปัญจาลราชธานี ลงจับที่ช่อฟ้ามหาปราสาทแล้วร้องขึ้นด้วยเสียงอันไพเราะ ควรจะเกิดราคะดำกฤษณา ฝ่ายนางนกสาลิกาอยู่ในกรงทอง พอได้สดับเสียงร้องนั้น ก็เกิดความรักใคร่ขึ้นจึงร้องตอบขึ้นไปถึง 3 ครั้ง สุวโปดก นั้นเห็นว่าเป็นโอกาสอันดี จึงขยับลงไปทีละน้อยๆ เปล่งเสียงอันไพเราะอยู่เนืองๆ นางนกสาลิกานั้นก็ร้องรับทุกครั้งไป สุวโปดกก็ขยับลงไปจนกระทั่งถึงธรณีช่องพระแกลแลซ้ายแลขวา เห็นว่าไม่มีภัยแล้ว จึงบินเข้าไปที่กรงทอง ฝ่ายนางนกสาลิกาก็ร้องเรียกให้เขาไปในกรงทอง พูดจาปราศรัย ไต่ถามถึงทุกข์สุขแล้ว นางนกสาลิกาก็ไต่ถามถึงทุกข์สุขบ้าง สุวโปดกจึงตอบว่า ทุกวันนี้ก็เป็นสุขอยู่ ทั้งได้รับพระราชทานอาหารบริบูรณ์อยู่เสมอ นางนกสาลิกาจึงถามว่า ท่านมาจากไหน ใครเป็นผู้ใช้ให้มา จึงตอบว่า พี่มาจากเมืองอริฏฐบุรี พระเจ้าอริฏฐบุรีใช้ให้พี่มา นางนกสาลิกาจึงถามว่า ถ้าอย่างนั้นท่านก็ต้องเป็นข้าเฝ้าของพระเจ้าสีวิราชซิ นกแขกเค้าตอบว่า อย่างนั้นแหละน้อง คือตัวพี่นี้ได้เป็นนกรักษาห้องบรรทมของสมเด็จพระเจ้าสีวิราช อยู่ในกรงทองเหมือนกับตัวน้อง แต่ว่ากรงทองที่พี่อยู่นั้นเปิดอยู่เป็นนิตย์ พี่ต้องการจะไปไหนก็ได้ตามชอบใจ พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงกักขัง นางนกสาลิกาจึงถามว่า เหตุใดพระเจ้าสีวิราชจึงใช้ให้พี่มาในที่นี้ นกแขกเต้าจึงตอว่าเป็นเหตุด้วยเหยี่ยวตัวหนึ่ง ได้เฉี่ยวเอานางนกสาลิกาผู้เป็นภรรยาของพี่ไป ในเวลาที่ตามเสด็จพระเจ้าสีวิราชไปสรงสนาน เวลานั้นนางนกสาลิกาผู้เป็นภรรยาของพี่ก็ตามเสด็จไปด้วย พอพระเจ้าสีวิราชเสด็จกลับตอนเย็นพี่ก็พาภรรยาขึ้นไปผึ่งปีกอยู่ที่ช่อฟ้า มีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาเฉี่ยวเอาภรรยาของพี่ไปเสีย พี่ก็ร้องไห้ร่ำไรไปกราบทูลพระเจ้าสีวิราช กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า อย่าร้องไห้ไปเลย เพราะไม่อาจทำให้ภรรยากลับเป็นขึ้นมาได้ จงคิดแสวงหาภรรยาใหม่เถิด พี่ก็กราบทูลว่า พี่จะหานางนกสาลิกาให้ได้เหมือนภรรยาเก่านั้นยากนัก จึงตรัสว่า ดูก่อนสุวโปดก เราเห็นนางนกสาลิกาอันรักษาห้องบรรทม ของสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ประกอบด้วยกิริยามรรยาทอันสวยงาม รูปร่างก็แช่มช้อยโสภาเหมือนกับภรรยาของเจ้า เจ้าจงไปทาบทามดู ถ้านางนกสาลิกาเมตตาแก่เจ้าแล้ว จงกลับมาบอกแก่เรา เรากับพระราชเทวีจักไปทูลขอจากพระเจ้าจุลนีพรหมทัตให้มาเป็นภรรยาของเจ้า พี่จึงอุตส่าห์สืบเสาะแสวงหามาจนกระทั่งถึงตัวเจ้า เจ้าจงมีความเอ็นดูกรุณาต่อพี่เถิด อย่าตัดรอนไม่ตรีในพี่เลย นางนกสาลิกาจึงตอบว่า น่าสงสารพี่ที่เป็นพ่อม่าย แต่ธรรมดานกแขกเต้าแล้วควรจะหานกแขกเต้าเหมือนกันจึงจะเป็นการดี นกแขกเต้าจะมาอยู่คลุกเคล้ากับนาสาลิกานั้นผิดไป ถึงได้อยู่เป็นคู่กันแล้วก็จะไม่ยืด เพราะถ้าพบนางนกแขกเต้าเหมือนกันแล้ว ก็จะทิ้งสาลิกาเสีย จะทำให้สาลิกาได้รับความทุกข์ กินแต่น้ำตาทุกวันไป นกแขกเค้าจึงตอบว่า ดูก่อนเจ้าสาลิกา อันชาติตระกูลนั้นย่อมไม่เป็นประมาณ ไม่เป็นของสำคัญอะไร สำคัญอยู่ที่ในเท่านั้น การที่มีใจรักใครเอ็นดูกันนั้นแหละเป็นประมาณ พี่จะขอเล่าให้เจ้าฟัง เมื่อครั้งก่อนมีกษัตริย์อยู่พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าสุเทพ ครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองทวาราวดี อยู่มาวันหนึ่งได้ไปไปพบนางจัณฑาลผู้เป็นหญิงรุ่นสาวที่พระราชอุทยาน ก็ทรงปฏิพัทธ์รักใคร่ขึ้น จึงทรงซักถามแจ้งว่านางเป็นชาติจัณฑาล ซึ่งยังไม่มีสามี จึงทรงรับไปตั้งเป็นอัครมเหสี มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สีวิกุมาร ได้ครองราชย์สมบัติแทนพระราชบิดาต่อมา ยังอีกเรื่องหนึ่งคือ มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง ออกไปบวชเป็นดาบสอยู่ในป่าหิมพานต์ ในป่าที่ใกล้อาศรมของดาบสนั้นมีถ้ำใหญ่อยูถ้ำหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่แห่งหมู่กินนร มีแมงมุมใหญ่ตัวหนึ่งชักใยอยู่ที่ปากถ้ำ คอยกัดกินศีรษะกินนรทั้งหลายสูบเลือดกินเป็นนิตย์มา กินนรทั้งหลายเป็นชาติขี้ขลาด ก็ไม่อาจต่อสู้แมงมุมได้ จึงพากันไปอ้อนวอนให้ดาบสช่วยฆ่าแมงมุมนั้นเสีย ดาบสนั้นก็ตวาดว่า เราเป็นบรรพชิตย่อมไม่ฆ่าสัตว์เป็นอันขาด พวกเจ้าอย่าได้พากันเจรจาเช่นนี้ พวกกินนรก็พากันหลีกไปเสีย ได้ปรึกษาหารือกันเห็นว่า ควรจะนำกินนรีอันมีชื่อว่า รัตนวดี ไปล่อฤาษีนั้นจึงจะได้การ เมื่อตกลงกันอย่างนี้แล้วก็นำนางกินนรีนั้นไปให้ฤาษีนั้นๆ ก็รับอาสาไปฆ่าแมงมุมนั้นตาย แล้วอยู่กินกับนางกินนรีนั้นต่อมาจนกระทั่งมีบุตรและธิดา ดูก่อนสาลิกา เยี่ยงอย่างย่อมมีมาอย่างนี้ ขอให้เจ้าจงคิดดูเถิดว่า กษัตริย์กับนางจัณฑาลก็ยังร่วมกันได้ ฤาษีผู้เป็นมนุษย์กับนางกินนรีผู้เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังร่วมกันได้ ประสาอะไรกับตัวพี่กับน้องซึ่งเป็นนกเหมือนกันจะร่วมกันไม่ได้ พี่ก็เป็นนก เจ้าก็เป็นนก จะแปลกอะไรกันนักหนา แปลกก็แต่พี่เป็นนกแขกเต้าส่วนเจ้าเป็นสาลิกาเท่านั้น เจ้าจงเอ็นดูพี่เถิดอย่าได้ตัดอาลัยไมตรีพี่เลย นางนกสาลิกาจึงตอบว่า ข้าแต่สุวโปดก พี่เล่ามานี้ก็พอจะเห็นตามได้ แต่นานไป ข้างหน้ากลัวแต่จะกินน้ำตาแทนอาหาร โดยเหตุนี้ จะรับถ้อยคำของท่านไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อนกแขกเต้าเข้าใจในมารยาของสตรี ได้ฟังดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า ดูก่อนเจ้าสาลิกาผู้มีวาจาอันน่ารัก เมื่อเจ้าสลัดรักพี่อย่างนี้แล้ว ก็จงค่อยอยู่ดีเถิด ก็ทำท่าจะลาไป
    สา ตสฺส วจนํ สุตฺวา ภิชฺชนหทยา วิย ตสฺส สหทสฺสเนเนว อุปฺปนฺนาย กามรติยา อนุฑยฺหมานา วิย หุตฺวา อตฺตโน อิตถิมายาย อนิจฺฉมานา วิย หุตฺวา ทิยฑฺฒคุมาหาติ
    ดำเนินความว่า เมื่อนางนกสาลิกา ได้ฟังถ้อยคำของเจ้าสุวโปดกว่าจะลาไป ก็มีใจหมกไหม้ไปด้วยไป คือ ราคะ ดังประหนึ่งว่าหัวใจนั้นจะแตกออกไป จึงกระทำกลมารยาปราศรัยเล้าโลมใจเจ้าสุวโปดกว่า ดูก่อนสุวบัณฑิต เหตุไรเจ้าจึงมีใจเร็วนักหนา โบราณท่านกล่าวไว้ว่า ช้าเป็นการนานเป็นคุณ ในหุนหันมักเสียที ดังนี้ อันการที่จะหาดีย่อมสำเร็จได้ด้วยความพยายาม ก็เมื่อมาถึงนี่แล้ว จะด่วนไปข้างไหนเล่า จงอยู่ชมสมบัติของบรมกษัตริย์อันสะพรึบพร้อมไปด้วยสาวสนมกำนัลใน ซึ่งทรงพระรูปพระโฉม พระสิริวิลาส อันงดงามเหมือนกับนางกินนรี ในเวลานางนักสนมเหล่านั้นเข้ามาประโคมขับถวาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ให้สบายใจก่อนเถิดจึงค่อยไป เมื่อสุวโปดกได้ฟังถ้อยคำอ่อนหวานแห่งนางนกสาลิกาดังนั้นแล้ว ก็ถอยขยดขยับเข้าไปให้ใกล้ ประโลมเล้าเชยชมสนมสนิทจนสำเร็จกิจประสงค์ ในเวลาสายัณห์ตะวันเย็นจึงคิดว่า ทีนี้นางนกสาลิกาเห็นจะเปิดเผยความลับแก่เราได้ ควรเราจะรีบไต่ถามดูให้ได้ความแล้ว เราจะได้รีบไปแจ้งแก่พระมโหสถบัณฎิตโดยเร็วพลัน ครั้นทรงดำริดังนี้แล้วก็กล่าวว่า ดูก่อนเจ้าสาลิกาอันเป็นที่รักดังดวงนัยนาของพี่ พี่อยากจะถามสารคดีอย่างหนึ่งกับเจ้า จะได้หรือมิได้ประการใด นางนกสาลิกาจึงตอบว่า จะถามก็ถามได้ แต่เจ้าสุวโปดกได้กล่าวขึ้นว่า ดูก่อนเจ้าสาลิกา วันนี้เป็นวันมงคลของเรา พี่จะยกไว้ก่อน จนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้จึงค่อยถามนางนกสาลิกาจึงกล่าวว่า ข้าแต่นาย ถ้าเรื่องที่จะถามนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลก็จงยกไว้ ถ้าเห็นว่า เป็นเรื่องที่เป็นมงคลก็จงถามมาเถิด ดูก่อนเจ้าสาลิกา เรื่องนั้นเป็นเรื่องมงคลยิ่งหนักหนา ข้าแต่พี่สุวโปดกถ้าอย่างนั้น พี่จงถามมาเถิด นี่แน่ะเจ้าสาลิกา พี่ได้ยินเสียงเล่าระบือไปว่า พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ทรงพระรูปพระโฉมอันงามเลิศ มีพระฉวีวรรณประเสริฐรุ่งเรือง ประหนึ่งว่า ดาวประกายพรึกในเวหาส แต่พี่ได้ยินมาว่า พระเจ้าจุลนีจะถวายพระราชธิดานั้นแก่พระเจ้าวิเทหราชจริงหรือ ก็พระเจ้าจุลนีกับพระเจ้าวิเทหราชเป็นข้าศึกศัตรูกันอยู่ ส่วนท้าวพระยาอื่นๆที่ชื่นชมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าจุลนีก็มีอยู่มากกว่ามาก เหตุไรพระเจ้าจุลนีจึงมิได้ยกพระราชธิดาให้แก่ท้าวพระยาอื่นๆเล่า เฉพาะจะไปยกให้แก่พระเจ้าวิเทหราช ซึ่งเป็นข้าศึกกันทำไม เหตุผลจะเป็นประการใด ขอจงเล่าให้พี่ฟังบ้าง
    โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป 30 พ.ย. 52
     
  9. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    นางสาลิกาจึงตอบว่า ข้าแต่พี่สุวโปดก ก็เมื่อพี่บอกว่า เรื่องที่จะถามนั้นเป็นมงคล แต่เหตุไรจึงยกเอาเรื่องที่ไม่เป็นมงคลขึ้นมาถามเล่า
    เออ เจ้าสาลิกา ก็พี่เห็นว่าเป็นมงคลแล้วจึงถาม เหตุไรเจ้าจึงเห็นว่า ไม่เป็นมงคลเล่า
    ข้าแต่พี่สุวโปดก ก็ท้าวพระยาทั้ง 2 พระองค์นี้ยังเป็นข้าศึกกันอยู่ ที่จะทำมงคลแก่กันนั้นมีเยี่ยงอย่างมาแต่ไหนเล่า
    อ้อ เจ้าสาลิกา ถ้าอย่างนั้นขอจงว่าไปให้พี่ฟังสักหน่อยเถิด
    ว่าให้ฟังไม่ได้เป็นอันขาด
    พิโธ่ เจ้าสาลิกาเอ๋ย เพียงแต่เรื่องเท่านี้ก็ยังบอกพี่ไม่ได้เสียแล้ว ก็เราจะอยู่กินด้วยกันต่อไปอย่างไรเล่า
    เมื่อนางนกสาลิกาอันเจ้าสุวโปดกแค่นได้เท่านี้ ก็อดทนไม่ได้จึงได้บอกไปตามความจริงว่า ข้าแต่พี่สุวโปดก สมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตไม่ได้มีพระราชประสงค์ จะทรงทำไมตรีกับพระเจ้าวิเทหราชและมโหสถมาสู่เมืองนี้แล้ว ก็จะจับฆ่าเสียทั้ง 2 คน
    อ้อ เป็นอย่านั้นดอกหรือ เจ้าสาลิกา น่าชมเกวัฏฏพราหมณ์จริง ว่าเป็นผู้ฉลาดในอุบายนักหนา แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่เป็นมงคล สมควรที่เราจะนิ่งเสียเถิด ว่าแล้วก็ขวนนางนกสาลิกานอน พอรุ่งเช้า ขึ้นจึงอำลานางนกสาลิกาว่า จงอยู่ดีเถิดพี่จักขอลาเจ้าไปกราบทูลพระเจ้าสีวิราชและพระราชเทวี ให้เสด็จมาสู่ขอเจ้าไปอยู่ด้วยกันกับพี่ภายใน 7 วันนี้ให้จงได้
    นางนกสาลิกาจึงตอบว่า ขอให้พี่กลับมาภายใน 7 วัน ให้จงได้ ถ้าพ้นจาก 7 วันนี้แล้ว ชีวิตของสาลิกาก็จะขาดสูญ ถึงจะกลับมาก็ไม่ได้เห็นหน้าสาลิกาเป็นมั่นคง
    เจ้าสุวโปดกจึงกล่าวว่า เจ้าสาลิกาเอ๋ย ตัวพี่ก็เหมือนกัน ถ้าพ้น 7 วันแล้วไม่ได้มาเห็นหน้าเจ้า ชีวิตของพี่คงจะดับสูญเป็นแน่นอน ครั้นกล่าวดังนี้แล้วเจ้าสุวโปดกก็บินออกจากกรงทอง บ่ายหน้าเข้าสู่เมืองอริฏฐบุรี พอบินไปได้สักหน่อยหนึ่งแล้ว ก็บินย้อนกลับคืนมา ทำอาการประหนึ่งว่า จะจากไปไม่ได้ ไปแล้วก็กลับมาปลอบอีกว่า ดูก่อนเจ้าสาลิกา พี่ระลึกถึงเจ้าจนสุดกำลังใจ พี่เห็นจะไปไม่ได้เสียแล้ว แต่ถ้าพี่ไม่ไปครั้งนี้ เราทั้งสองก็จะไม่ได้อยู่กินเป็นสามีภรรยากันโดยชอบธรรม พี่จำเป็นต้องข่มขืนฝืนใจไปให้ได้ เพื่อเห็นแก่ความสุขของเราทั้งสองข้างหน้า ว่าแล้วก็โผผินบินถลาไปด้วยกำลังอันเร็ว ตั้งหน้าเฉพาะต่อเมืองมิถิลามหานคร ครั้นถึงจึงจับบนบ่าแห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้า พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็พาสุวโปดกขึ้นไปยังปราสาทชั้นบน แล้วตรัสถามเหตุการณ์กับเจ้าสุวโปดก เจ้าสุวโปดกก็เล่าถวายตามถ้อยคำแห่งนางนกสาลิกา
    พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงทรงดำริว่า สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชนี้ ถึงเราจะไม่ยินยอมให้พระองค์เสด็จไปก็ไม่ได้ โดยที่พระองค์ทางลุ่มหลงด้วยราคะดำฤษณายิ่งกว่าสิ่งอื่น ถ้าพระองค์ทรงเสด็จไป ก็จะต้องถึงซึ่งอันตรายเป็นเที่ยงแท้ ถ้าแลเราจะถือโกรธต่อพระองค์ ไม่ช่วยพระองค์ให้พ้นภัยในครั้งนี้ ความติดฉินนินทาก็จะเกิดมีแก่เราต่อภายหลัง ถึงอย่างไรก็ดี พระองค์ก็มีพระคุณแก่เราอยู่มาก เมื่อผู้เป็นนักปราชญ์เหมือนดังตัวเรานี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่จะ ละเมินให้พระองค์ถึงความพินาศลง ย่อมไม่เป็นการสมควรนักหนา จำเราจะต้องล่วงหน้าไปก่อน ไปตกแต่งพระนครพระราชนิเวศน์ให้เป็นที่ประทับของท้าวเธอ แล้วจะขุดอุโมงค์อันใหญ่ไว้เป็นทางสำหรับทำการอันสำคัญ ในเวลาที่พระเจ้าจุลนีทรงยกกองทัพออกไปล้อมพระนครของเราไว้ เราจักให้พลโยธาของเรา ไปนำเอาพระราชธิดาของพระจ้าจุลนีออกมาอภิเษกกับพระเจ้าอยู่หัวของเรา แล้วจะส่งกลับพระนคร
    ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้วก็เกิดปรีดาปราโมทย์ออกพระโอษฐ์ว่า บุคคลผู้มีปัญญาได้ยศ ทรัพย์ บริวาร จากบุคคลผู้ใดแล้ว ก็ควรทำให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้นั้น ถึงบุคคลผู้นั้นจะด่าว่าตีรักเสือกไสขับไล่อย่างไรก็ดี ก็ไม่ควรจะโกรธตอบต่อผู้นั้น ควรซื่อตรงต่อผู้นั้น ทั้งในที่ต่อหน้าและลับหลัง ครั้นพระโพธิสัตว์เจ้าออกพระโอษฐ์เปล่งพระวาจาอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จเข้าสรงชำระสระสนานพระองค์ทรงเครื่องเต็มยศเสด็จเข้าสู่ที่เฝ้าของพระเจ้าวิเทหราชแล้วถวายบังคม กราบทูล่า พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปสู่อุตตรปัญจาลนครให้ได้จริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสตอบว่า ดูก่อน มโหสถ เออ บิดาคิดจะไปให้ได้ เพราะบิดาไม่ได้นางปัญจาลจันที แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรในการที่จะเสวยราชสมบัติต่อไป ขอพ่ออย่าทิ้งบิดานะ มาไปด้วยกันกับบิดา เพราะการที่เราไปในครั้งนี้ มีประโยชน์อยู่ 2 ประการ คือ จะได้พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตนั้น ประการหนึ่ง จะได้เป็นพระราชไมตรีกับสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตนั้นอีกประการหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น กระหม่อมฉันทั้งปวงจะถวายบังคมลาล่วงหน้าไปก่อน จะได้ตกแต่งที่ประทับไว้สำหรับพระองค์ เมื่อเสร็จแล้วจึงจะส่งข่าวมาให้ทรงทราบ พระองค์จึงค่อยเสด็จไปต่อภายหลัง
    พอสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำกราบทูลดังนี้ ก็ทรงพระโสมนัสยินดีหาที่เปรียบมิได้ จึงตรัสสั่งว่า ดูก่อนมโหสถ พ่อต้องการจะเอาสิ่งใดไปด้วย จงจัดเอาไปตามต้องการ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่าขอพระราชทาน กระหม่อนฉันจะขอเอาพวกพลพาหนะไปแต่พอสมควรกราบทูลดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมลาออกไปเปิดเรือนจำ เลือกเอานักโทษที่แข็งแรงเป็นอันมาก แล้วทรงเลือกสรรเอามหาโยธาอันแกล้วกล้าอาจหาญซึ่งจะให้สำเร็จการทั้งปวง และได้จัดสรรเอามหาเสนา 18 เหล่า ที่ฉลาดในศิลปะศาสตร์ต่างๆ เป็นต้นว่า ฉลาดในช่างไม้ ช่างอิฐ ช่างสลัก ช่างเขียน ช่างเหล็ก ช่างเจียระไน ช่างปั้น ช่างรัก และช่างทอง ซึ่งล้วนแต่ช่ำชองในศิลปะศาสตร์วิทยาการ ครั้นแล้วก็โปรดให้จัดแครื่องใช้ทั้งปวง เป็นต้นว่า มีดพร้าจอบเสียมสิ่งสว่านให้พร้อมบริบูรณ์ทุกประการแล้วก็เข้าไปถวายบังคมลา ยกพวกพลนิกายออกจากเมืองมิถิลามหานครไป ได้ตั้งค่ายและพลับพลาไปตามรายทาง ห่างกันชั่วระยะ 1 โยชน์ ให้มหาอำมาตย์ผู้กล้าแข็งกับพวกไพร่อยู่พิทักษ์รักษาไปทุกหมู่ทุกแห่ง ทรงกำชับไว้ว่า ถ้าพระมหากษัตริย์ของพวกเราพานางปัญจาลจันทีเสด็จมาถึงเวลาใด พวกท่านอย่าชักช้า ให้รีบผลัดเปลี่ยนช้างรถคชไกรส่งเสด็จกลับไปบ้านเมืองโดยเร็วพลัน ส่งต่อๆกันไปเป็นทอดๆจงรักษาพระมหากษัตริย์ของเราให้พ้นจากข้าศึกศัตรูให้จงได้ ครั้นตรัสดังนี้ทุกแห่งแล้ว ก็เสด็จล่วงมรรคาไปโดยลำดับ จนตราบเท่าถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งข้ามไปสู่เมืองอุตตปัญจาลนคร จึงรับสั่งให้อานันทมหาอำมาตย์เข้ามาสั่งว่า ท่านจงหาช่างไม้ 300 คน ขึ้นไปข้างเหนือน้ำ แล้วเร่งจัดเรือให้ได้ 300 ลำ และจัดหาไม้สำหรับสร้างพระนคร บรรทุกกล่องลงมาให้เต็มทุกลำเรือโดยเร็วพลัน อานันทมหาอำมาตย์ก็กระทำตามรับสั่งของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า พาพลโยธา 300 คน ขึ้นไปตามลำดับแม่น้ำข้างเหนือ เพื่อจะทำเรือขนไม้มาสร้างพระนคร ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เสด็จข้ามแม่น้ำจนไปถึงฝั่งข้างโน้น แล้วจึงทรงดำเนินไปด้วยพระบาท ทรงกระทำระยะทางด้วยย่างก้าวพระบาทไปทีละก้าวๆ สิ้นระยะทางได้กึ่งโยชน์ จึงทรงคิดว่า เราจะขุดมหาอุโมงค์ลงในที่นี้จนกระทั่งถึงพระนคร แล้วทรงดำเนินไปอีกสิ้นระยะทาง 100 เส้น ก็ถึงพระนคร จึงทรงกระทำที่สร้างพลับพลารับเสด็จพระเจ้าวิเทหราช และทรงกะว่าจะทำชังฆอุโมงค์ให้เป็นทางพอคนเดินได้ใต้ดิน ครั้นทรงกะการอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จเข้าสู่เมืองอุตตรปัญจาลนครด้วยยศศักดิ์บริวารเป็นอันมาก
    ราชา โพธิสตฺตสฺส อาคมนํ สุตฺวา ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ได้ทราบว่า พระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จมา ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาภิรมย์ว่า จะสมความคิดของเราแล้ว ในครั้งนี้ มโหสถมาแล้วอย่างนี้ มิช้ามินานวิเทหราชก็จะตามมา เราก็จะจับฆ่าเสียทั้ง 2 คนให้สมกับความแค้นที่มีมาแล้วแต่หนหลัง ครั้งนั้น ชาวพระนครอุตตระทั้งสิ้น ก็แตกตื่นกันมาคอยดูพระบรมโพธิสัตว์เจ้า แล้วชมเชยว่า ท่านผู้นี้แหละเป็นผู้ที่มีนามว่า พระมโหสถบัณฑิตวิจิตรไปด้วยปรีชาญาณ ซึ่งกระทำให้กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์แตกหนีมา เหมือนกับบุคคลไล่ฝูงกาด้วยไม้ค้อนก้อนดิน ฉะนั้นท่านผู้มีรูปร่างอันสวยสมกับปัญญา มีท่าทางอันองอาจประหนึ่งว่า ราชสีห์ทั้งมีวัยหนุ่มแน่นกำลังแกล้วกล้า มหาชนทั้งหลายพากันซ้องสรรเสริญพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ด้วยประการฉะนี้ฯ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เสด็จไปโดยลำดับ จนตราบเท่าถึงประตูพระราชวัง ยังนายประตูให้ไปเปิดประตูแล้ว จึงเสด็จเข้าสู่ที่เฝ้า ถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตแล้ว ก็ยืนเฝ้าอยู่นี่อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสปราศรัยพอสมควรแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนมโหสถ สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจะเสด็จมาเมื่อใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้ากราบทูลว่า ขอพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจะเสด็จมาในเมื่อทรงได้รับข่าวจากข้าพระพุทธเจ้า จึงตรัสถามว่า การที่มโหสถล่วงหน้ามาก่อนนี้เพื่อประสงค์สิ่งใด ขอพระราชทาน การที่ข้าพระพุทธเจ้าล่วงหน้ามาก่อนนี้ก็เพื่อประสงค์จะสร้างพระราชนิเวศน์สำหรับเป็นที่ประทับของพระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการดีแล้ว ขอจงจัดแจงตามประสงค์เถิด ครั้นตรัสสั่งอย่างนี้แล้ว ก็พระราชทานสิ่งของทั้งปวง ให้เป็นเสบียงเลี้ยงหมู่เสนาที่มากับพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้นเป็นอันมาก ทั้งได้พระราชทานรางวัลให้แก่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า และที่พักอาศัยให้เป็นที่สบายใจ ตรัสสั่งว่า เจ้าจงพักผ่อนให้สบายอยู่ก่อนเถิด เมื่อเห็นว่า สิ่งใดสมควรทำ ก็จงกระทำตามชอบใจ จึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาดูการทั้งปวง แต่เมื่อแรกเข้ามาสู่ที่เฝ้า ได้เห็นว่า เชิงอัฒจันทร์ปราสาทนั้นไม่มั่นคง สมควรที่จะกระทำเสียใหม่ ถ้าพอพระหฤทัยให้ข้าพระพุทธเจ้าทำถวาย ข้าพระพุทธเจ้าก็จะทำเสียใหม่ให้แน่นหนาแข็งแรง เมื่อพระเจ้าจุลนีอนุญาตแล้ว จึงให้บ่าวไพร่ของพระองค์ยกอัฒจันทร์เก่าออก เอากระดานแผ่นหนาๆเข้ารับรองให้มิดชิดสนิทดี แล้วปูกระดานลงเป็นพื้นรองเชิงอัฒจันทร์อีกชั้นหนึ่ง ตั้งอัฒจันทร์ไว้บนกระดานนั้น เมื่อพระเจ้าจุลนีได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงโปรดปรานว่า เป็นการดีครั้นรุ่งเช้าขึ้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่า จะให้ข้าพระพุทธเจ้าทำที่ตรงไหนให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสว่า ดูก่อนเจ้าปราชญ์ ยกเสียแต่พระราชวังของเราเท่านี้ นอกจากนี้เจ้าจงเลือกหาเอาตามชอบใจ ขอพระราชทาน เมื่อข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นแขกเมืองกระทำอย่างนี้ ขาวพระนครก็จะเข้ามากราบทูลพระองค์ว่า ข้าพระพุทธเจ้าไปจับจองเอาที่บ้านเรือนของเขา พระองค์จะทรงพระกรุณาประการใด จึงตรัสว่าดูก่อนเจ้าปราชญ์ เราได้ให้อนุญาตเป็นสิทธิ์ขาดแล้ว ใครจะกล่าวว่าประการใดก็อย่าเชื่อฟัง ขอพระราชทาน คนทั้งปวงจะเข้ามารบกวนกราบทูลพระมหากรุณาอยู่เนืองๆ จะทำให้เป็นที่ขัดเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาท ถ้าพระองค์โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดตั้งนายประตูเสียใหม่ ก็จะเป็นการดีพระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสว่า เจ้าจะจัดตั้งนายประตูใหม่ก็ตามใจเถิด พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ทรงตั้งคนของพระองค์ให้เป็นนายประตูพระราชวังทุกๆ//97//ประตูไป จนกระทั่งถึงเชิงอัฒจันทร์ และยอดอัฒจันทร์ ตรัสสั่งไว้ว่าอย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งเข้าไปในพระราชวังนี้ได้ เมื่อทรงจัดการอย่างนี้แล้วจึงเสด็จไปจับจองเอาพระราชวังของนางสลากเทวี ผู้เป็นพระราชชนนีแห่งพระเจ้าจุลนีนั้นก่อน ทำท่าจะให้พวกพลโยธารื้อพระราชวังเสีย
    โปรดติดตามอ่านต่อ 7 ธ.ค.52
     
  10. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    พระราชเทวีก็มีพระราชเสาวนีย์ตรัสถามว่า ใครให้มารื้อบ้านของเราอย่างนี้ พวกพลโยธาก็บอกว่า พระมโหสถบัณฑิตเป็นผู้สั่งการให้มายึดเอาสถานที่นี้ทำพระราชวังสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช พระราชเทวีจึงทรงขอให้ไปจับจองที่อื่นแต่พวกพลโยธาก็ไม่เชื่อฟัง ได้กราบทูลว่า ที่อื่นมีแต่แคบๆ ไม่พอจะเป็นที่ประทับได้ จึงตรัสว่า พวกเจ้าไม่รู้จักหรือ เรานี้แหละคือพระราชมารดาของเจ้าจุลนี เราจะไปหาลูกของเราเดี๋ยวนี้ พวกพลโยธาของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็กล่าวว่า ยายจะเข้าไปก็ไปเถิด พวกเราจะต้องทำตามคำสั่งของพระมโหสถอย่างเดียว เมื่อพระราชเทวีได้ทรงฟังก็พิโรธดังเพลิงกัลป์ จึงรีบเสด็จออกจากพระราชวังไปเฝ้าโดยเร็วพลัน แต่พวกนายประตูได้ห้ามไว้เสียว่า ยายจะเข้าไปในพระราชวังนี้ไม่ได้เป็นอันขาด จึงตรัสว่าอ้ายพวกนี้มึงไม่รู้จักกูหรือ กูนี้แหละคือสมเด็จพระพันปีหลวง พวกนายประตูทั้งปวงตอบว่า ยายจะเป็นอะไรก็ช่างยายเป็นไร มีรับสั่งไว้ว่าไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปเป็นอันขาด ถ้ายายขืนเข้าไป หัวจะต้องหลุดเดี๋ยวนี้ สมเด็จพระราชเทวีก็จนพระทัย ไม่กล้าที่จะฝ่าฝืนคำนายประตูได้ จึงเสด็จกลับไปหาพระมโหสถ ตรัสถามว่า พระมโหสถจะให้รื้อบ้านเรือนของเราไปทำไม แต่พระมโหสถทรงนิ่งเสีย พวกพลโยธาของพระองค์จึงกราบทูลแทนว่า ยายเอ๋ย ท่านว่าให้ยึดเอาที่นี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช พระราชเทวีจึงตรัสว่า เมืองนี้ใหญ่กว้างเป็นนักหนา จงพากันไปหาจับจองเอาที่อื่นเถิด เราจะให้ทรัพย์แก่พวกเจ้าแสนตำลึงพวกพลโยธีจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นก็จะเป็นไรมี แต่ว่ายายอย่าได้บอกใครให้รู้เรื่องนี้เป็นอันขาด เพราะถ้าคนทั้งหลายรู้แล้ว ก็จะมีแต่ผู้ให้ทรัพย์สินเงินทอง จะไม่ได้ ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสตอบว่าพวกเจ้าอย่าวิตกเลย เพราะเราเป็นถึงพระราชมารดา เมื่อเราให้ทรัพย์เป็นสินบนแก่พวกเจ้าอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องละอาย และกลัวคนทั้งหลายจะนินทาว่าเสียแรงเป็นถึงพระราชมารดา ยังต้องมาเสียสินบนให้แก่พวกคนของพระเจ้าวิเทหราช เช่นนี้ ตรัสแล้วก็ยกทรัพย์แสนตำลึงให้แก่พวกพลโยธาของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ให้ถอยออกไปยึดเอาบ้านเกวัฏฏพราหมณ์อีก เกวัฏฏพราหมณ์ก็ขัดแค้น จึงรีบไปสู่พระราชวังเพื่อกราบทูลสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต แต่ก็โดนพวกนายประตูเอาซีกไม้ไผ่เพ่นลงที่หลังจนหลังแอ่นหนังกำพร้าขาดวิ่น สิ้นปัญญาที่จะเข้าไปจึงกลับมาขอให้สินบนแก่พวกนั้นอีกแสนตำลึง พระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ทรัพย์สินเป็นค่าไถ่บ้านโดยอาการอย่างนี้ ในวันเดียวได้ถึง 9 โกฏิกหาปณะ โดยไม่มีผู้ใดที่จะบอกกล่าวกันให้รู้ ก็มีในกาลนั้น
    มหาสตฺโต สกลนคเร วิจาเรตฺวา ราชกุลํ อคมาสิฯ อถ นํ ราชา ปุจฺฉิ กิ ปณฺฑิต ลทฺธนฺเต วสนฏฐานนฺติฯ มหาราช อเทนฺตา นาม นตฺถิ อปิจ โข ปน เคเหสุ คณฺหนฺเตสุ กิลมนฺติ เตสํ ปิยวิปฺปโยคํ กาตุ อมฺหากํ พหินคเรติ
    ดำเนินความว่า เมื่อพระมโหสถบรมโพธิสัตว์เจ้าได้เลือกหาที่สร้างพลับพลาทั่วพระนครแล้ว ก็เข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีพรหมทัต พระเจ้าจุลนีพรหมทัตจึงตรัสถามว่า ได้ที่สร้างพลับพลาแล้วหรือยัง กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปเอาที่ไหนเป็นได้ทั้งนั้น ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขืนเลย แต่ข้าพระพุทธเจ้ามานึกว่า การทำให้ผู้อื่นลำบากด้วยที่อยู่ที่กินนั้นเป็นการไม่สมควร จึงคิดว่า สมควรจะไปยึดเอาที่นอกพระนคร ห่างจากพระนครไปประมาณสัก 100 เส้น และห่างจากแม่น้ำทางโน้นกึ่งโยชน์ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า ที่นั้นจะเหมาะดีกว่าในพระนครทั้งสิ้น จึงทรงพระดำริว่า อันการที่จะรบพุ่งกันนอกพระนครนั้น เป็นการสบาย ถ้าจะรบพุ่งกันในพระนครก็เป็นการยุ่งยาก เสนาของเขากับของเราอาจจะปะปนกัน ถ้าเราให้มโหสถไปจัดที่รับพระเจ้าวิเทหราชไว้นอกพระนครนั้นเป็นการดีมาก ครั้นทรงพระดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนมโหสถ เมื่อเห็นว่านอกพระนครดี ก็จงไปจัดตามชอบใจเถิด พระบรมโพธิสัตว์เจ้ากราบทูลว่า ขอพระราชทานถ้าอย่างนั้น ขอจงทรงห้ามผู้คนอย่าให้ไปวี่แววในที่ที่ข้าพระพุทธเจ้ากระทำการเป็นอันขาดเพราะกลัวจะเกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้น ซึ่งจะทำให้พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าไม่เป็นสุข ตรัสตอบว่า ดูก่อนมโหสถ ความคิดนี้ดีนักหนา พ่อจงตั้งค่ายวางทหารป้องกันคนไปมาเสีย อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งสัญจรไปมาได้ จึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน ยังมีการขัดข้องอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือฝูงช้างของข้าพระพุทธเจ้าย่อมพอใจลงเล่นน้ำหนักหนา เมื่อช้างลงเล่นน้ำขุ่นก็จะเป็นที่ระคายเคืองแก่ชาวเมือง พระองค์จะทรงพระกรุณาสถานใด จึงตรัสว่า ดูก่อนมโหสถ เรื่องนี้เรารับรอง ไม่ต้องให้เป็นที่หนักใจของเจ้า เจ้าจงทำไปตามชอบใจเถิด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ถวายบังคมลา พาบริวารของพระองค์ออกจากพระนครไปสู่ที่ซึ่งพระองค์ทรงกำหนดไว้แล้วว่า จะสร้างเป็นพลับพลาขึ้น
    เภริญฺจาราเปตฺวา ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ก็มีพระดำรัสให้ตีกลองร้องป่าวแก่ชาวพระนครว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งออกไปสู่ที่ซึ่งมโหสถบัณฑิต จะตกแต่งพระนครเลยเป็นอันขาด ถ้าใครขืนไป จะต้องถูกปรับไหมพันตำลึง จำเดิมแต่นั้นมา ก็ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งจะวี่แววไปสู่ที่นั้นได้เป็นอันขาด ส่วนสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ครั้นได้โอกาสถนัดแล้ว พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยคิดอ่านจัดแจงงานทั้งปวงที่ริมฝั่งแม่น้ำข้างโน้นซึ่งตรงกันข้ามกับที่ตั้งพระนครนั้น พระองค์ตั้งบ้านขึ้นบ้านหนึ่ง สำหรับเป็นที่พักช้างม้า โคเกวียน ตลอดถึงราชรถทั้งหลาย แล้วได้โปรดให้พลโยธาหกพันคน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนสามารถด้วยประการทั้งปวงให้ขุดอุโมงค์อันใหญ่หลวง ทำปากประตูอุโมงค์ลงที่แม่น้ำนั้น เอาดินที่ขุดไว้ออกมาใส่กระสอบหนังใหญ่ๆ เทลงไปในแม่น้ำ แล้วให้ช้างลงเหยียบย่ำให้แหลกเหลวไหลไปตามกระแสน้ำ พวกชาวพระนครที่อยู่ใต้น้ำก็เกิดความสงสัยว่า เหตุไรน้ำจึงขุ่นเช่นนี้ ก็มีผู้บอกเล่าต่อๆ กันไปว่า ช้างของมโหสถลงเล่นน้ำ ด้วยเดชานุภาพแห่งโพธิสมภารบารมี ซึ่งพระองค์ในได้อบรมมาแล้วในอเนกชาตินั้น บันดาลไม่ให้มีสิ่งที่กีดขวางทั้งสั้นเกิดขึ้น เป็นต้นว่า รากไม้ใหญ่ก็จมลงไปในแผ่นดินหมด พลโยธาก็ขุดดินได้สะดวกง่ายดาย ประตูที่จะเข้าไปสู่อุโมงค์เล็กในพระนครที่สร้างขึ้นใหม่ ให้พวกพลโยธาอีก 3 พันคนรับหน้าที่กระทำ ดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์เล็กนั้นให้ขนเอาลงไปเทในที่จะตั้งพระนครใหม่ พวกพลโยธาซึ่งมีหน้าที่สร้างพระนครนั้น ก็เอาดินเหล่านั้นไปทำเป็นอิฐก่อกำแพงพระนครและทำเป็นสิ่งอื่นๆ อีก 2 ข้างอุโมงค์ใหญ่นั้น ทำฝาผนังแล้วไปด้วยอิฐ สูงได้ 18 ศอก โบกด้วยปูนเป็นอันดี เพดานอุโมงค์นั้นปูด้วยแผ่นกระดาน เขียนด้วยลวดลายต่างๆ ประดับไปด้วยพวงดอกไม้เป็นทิวแถว 2 ข้างอุโมงค์ใหญ่นั้นได้มีดวงประทีป ซึ่งมีสายยนต์แล่นถึงกันขึ้นตลอดไปตามทางในชั่วระยะทาง 100 เส้นนั้น จัดให้มีห้องบรรทมถึงร้อยเอ็ดห้องสำหรับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ภายในห้องทั้งปวงนั้น จัดตั้งพระแท่นใหญ่ๆไว้สำหรับเป็นที่บรรทม ปูลาดไปด้วยเครื่องลาดอันวิจิตร และมีที่นั่งเป็นพระแท่นใหญ่ๆอีกร้อยเอ็ดพระแท่น ภายในห้องเหล่านั้นล้วนแต่ให้ช่างวาดรูปภาพอันเป็นที่เพลิดเพลินเจริญตาทั้งนั้น ส่วนฝาผนังก็ให้ช่างเขียนรูปต่างๆ คือ เขียนเป็นรูปพระอินทร์ รูปพระพรหม รูปเทพบุตร รูปเทพธิดา อันกำลังเชยชมทิพยสมบัติอยู่ในวิมานต่างๆ ทั้งให้เขียนรูปภูเขาทั้ง 7 ชั้น อันล้อมรอบเขาสิเนรุราช และให้เขียนรูปทวีปใหญ่ทั้ง 4 รูปป่าหิมพานต์ รูปมหาสมุทรทั้ง 7 ดูเป็นที่สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ ใครได้เห็นแล้วก็เป็นขวัญตา ให้เขียนรูป พระจันทร์ พระอาทิตย์ รูปสวรรค์ ทั้ง 6 ชั้นและ 2 ข้างอุโมงค์ใหญ่นั้น ให้ตั้งร้านตลาดไปเป็นแถว ที่ประตูอุโมงค์นั้น ทำให้เป็นประตูยนต์สูง 18 ศอกขึ้นเป็นคู่ๆ กัน ถึง 80 ประตู ประตูน้อยอีก 64 ประตู ซึ่งล้วนแต่มีสายยนต์แล่นตลอดถึงกันทั้งนั้น ส่วนพวกช่างไม้ที่ขึ้นไปทำเรือน และตัดเครื่องไม้ล่องลงมาสร้างพระนครใหม่นั้น ก็พากันตั้งใจกระทำการงานจนสำเร็จสมประสงค์ พระนครใหม่นั้น มีกำแพงสูงได้ 18 ศอก ประกอบด้วยค่ายคูประตูหอรบอันแน่นหนา มีคูล้อมพระนครถึง 3 ชั้น คือคูน้ำชั้นหนึ่ง คูโคลนชั้นหนึ่ง คูแห้งชั้นหนึ่ง ภายในพระนครนั้น ประกอบด้วยพระตำหนักใหญ่น้อยเป็นถ่องแถว เป็นหลั่นเป็นชั้น มีทั้งโรงช้าง โรงม้า โรงราชรถ โรงครัว และโรงเก็บสิ่งของทั้งปวง พระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ทำการทั้งปวง ดังที่แสดงมาแล้วสำเร็จลงโดยกำหนดเวลาได้ 4 เดือนเต็ม
    อถ มหาสตฺโต ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงจัดส่งราชทูตให้ไปทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช พระองค์ก็ทรงยกจตุรงคเสนาออกจากมิถิลามหานครมาโดยสถลมารคกระทั่งถึงฝั่งแม่น้ำ พระมหาสัตว์เจ้าก็จัดต้อนรับลงสู่เรือขนานข้ามแม่น้ำไปประทับในพระนครที่สร้างใหม่นั้น ครั้นถึงเพลาเย็นวันนั้น สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจึงรับสั่งให้ราชทูตจำทูลพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าจุลนีพรหมทัตใหทราบว่า พระองค์ได้เสด็จมาถึงแล้วพระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็ทรงพระโสมนัสปรีดาว่า ทีนี้แหละสำเร็จความประสงค์ของเราแล้ว เราจะจับพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถฆ่าเสียในเวลาพรุ่งนี้เช้า แล้วจะดื่มเหล้าชัยบานให้สนุกสนานตามชอบใจ ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งราชทูตว่า การที่พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมาในครั้งนี้ เป็นการเสด็จมาดี เราจะหาฤกษ์แล้วจะส่งพระราชธิดาออกไปถวายให้สมกับพระราชประสงค์ ราชทูตก็ถวายบังคมลากลับไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช พระองค์ตรัสว่า วันนี้ฤกษ์ดีแล้ว ราชทูตจงไปกราบทูลให้ทรงทราบเถิด ราชทูตก็กลับไปกราบทูลตามพระราชบัญชา พระเจ้าจุลนีจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะก็จะจัดส่งพระราชธิดาออกไปเดี๋ยวนี้ ครั้นตรัสแล้วท้าวเธอก็ทรงให้อาณัติสัญญาแก่กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ว่า ท่านทั้งปวงจงตรวจเตรียมพลโยธาสรรพไปด้วยสาตราวุธ ออกไปล้อมพระนครของพระเจ้าวิเทหราชให้ทันในวันนี้จงได้ ในขณะนั้น กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ก็ยกจตุรงคเสนาออกจากพระนครไปโดยพร้อมเพรียงกัน ส่วนสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตนั้น จึงทรงจัดให้พระราชมารดากับพระอัครมเหสี และพระราชโอรส พระราชธิดา ไปรวมอยู่ในมหาปราสาทของพระองค์เสร็จแล้ว พอถึงเวลาเย็น พระองค์ก็เสด็จยกทัพหลวงออกไปล้อมพระนครของพระเจ้าวิเทหราชไว้
    โพธิสตฺโตปิ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทรงจัดการเลี้ยงดูพระเจ้าวิเทหราชกับพลโยธาที่ตามเสด็จมาให้อิ่มหนำสำราญแล้ว ก็ให้ไปพักผ่อนในที่พักนั้นๆ ตามสบาย ส่วนสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็ล้อมพระนครไว้ด้วยกำแพง 4 อย่างคือ กำแพงทะแกล้ว กำแพงรถ กำแพงม้า กำแพงเสนาเดินเท้า พลโยธาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตกำหนดได้ 18 อักโขภินี ล้วนแต่สรรพไปด้วยสาตราวุธ พอถึงเวลากลางคืน ก็จุดคบเพลิงสว่างไสว อย่างประหนึ่งเป็นเวลากลางวัน
    โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป 14 ธ.ค.52