มโหสถบันฑิต-ตอน-2

กระทู้: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ต่อจาก 8 ธ.ค.52
    ตํ ญตฺวา มหาสตฺโต พระมหาสัตว์เจ้ารู้ประจักษ์แจ้งว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้เสด็จออกจากพระนครแล้ว จึงตรัสสั่งพลโยธาของพระองค์ 300 คนว่า พวกเจ้าจงพากันลงอุโมงค์เล็กไปจับเอากษัตริย์ทั้ง 4 คือ พระมารดาพระเจ้าจุลนี และพระอัครมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา ออกมารักษาไว้ในที่ใกล้ประตูอุโมงค์ใหญ่ริมแม่น้ำโดยเร็วไว จวนเวลาที่พระเจ้าวิเทหราชจะเสด็จ จึงให้ออกไปไว้ ณ ท้องพระโรงใหญ่ริมประตูอุโมงค์เดี๋ยวนี้
    พวกพลโยธาเหล่านั้น ได้รับคำสั่งของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแล้ว พากันลงอุโมงค์เดินไปจนสิ้นระยะทาง 100 เส้น ก็ถึงซึ่งอัฒจันทร์ที่มหาปราสาทของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต รื้อที่ตั้งอัฒจันทร์นั้นขึ้นแล้ว ก็พากันไปจับผู้คนที่มีอยู่ภายในพระราชวังทั้งสิ้น ผูกมัดมือและเท้าปิดหูปิดปากไว้แล้ว จึงพากันเที่ยวค้นหากินเครื่องเสวยต่างๆ ตามชอบ เมื่อกินอิ่มหนำสำราญแล้ว ที่เหลือก็สาดเสียเทเสีย ทุบต่อยภาชนะใช้สอยเสียแหลกราน แล้วจึงพากันขึ้นไปถึงที่ประทับของกษัตริย์ทั้ง 4 กราบทูลพระราชชนนี้ของพระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวจับพระเจ้าวิเทหราชและมโหสถฆ่าเสียแล้ว จะเสวยเหล้าชัยบานพร้อมด้วยกษัตริย์และราชบริพารทั้งปวง จึงตรัสใช้ให้ข้าพระพุทธเจ้ามาอัญเชิญพระองค์ทั้ง 4 ให้เสด็จไปในเพลาราตรีวันนี้ กษัตริย์ทั้ง 4 ก็ทรงเชื่อว่าเป็นจริง จึงเสด็จลงปราสาทชั้นบน แต่พอถึงอัฒจันทร์ก็ถูกเชิญลงไปในอุโมงค์ กษัตริย์ทั้ง 4 จึงตรัสว่า หนทางนี้เราไม่เคยเดิน พวกนั้นกราบทูลว่า ขอพระราชทาน ทางนี้เป็นมงคลวิถี ต่อเมื่อใดมีการมงคลอันใหญ่หลวง จึงสมควรจะเสด็จตามทางนี้ กษัตริย์ทั้ง4 พระองค์นั้นก็ทรงเข้าพระทัยว่าจริง จึงเสด็จลงสู่อุโมงค์ พวกพลโยธาเหล่านั้นก็แบ่งกันออกเป็น 2 พวก พวกหนึ่งคุมกษัตริย์ทั้ง 4 นั้นไป อีกพวกหนึ่งย้อนกลับไปสู่พระราชวัง ขนเอาแก้วแหวนเงินทองตามที่ต้องการปรารถนาจมหมดสิ้น ส่วนกษัตริย์ทั้ง 4 เมื่อเสด็จไปถึงอุโมงค์ใหญ่ ก็ทรงเข้าพระทัยว่า ที่อันนี้คงเป็นที่ประพาสเล่นแห่งพระมหากษัตริย์ของเรา พอเสด็จไปถึงปากประตูอุโมงค์ริมน้ำ พวกพลโยธาก็ให้กษัตริย์ทั้ง 4 ทรงประทับอยู่ในห้องใหญ่ห้องหนึ่ง แล้วใช้ให้พรรคพวกไปทูลแจ้งแก่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า พระบรมพระโพธิสัตว์เจ้าได้เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ซึ่งกำลังตั้งพระหฤทัยคอยทอดพระเนตรพระนางปัญจาลจันที อยู่ที่ช่องพระแกลว่า บัดนี้แลพระเจ้าจุลนีจะส่งพระราชธิดาออกมาให้แก่เรา แต่พอท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นพวกพลโยธามาล้อมพระนครอยู่แน่นหนา สว่างไสวไปด้วยคบเพลิงมากกว่าหมื่นกว่าแสน ก็ทรงประหลาดพระทัย จึงทรงปรึกษากับเหล่านักปราชญ์ทั้งปวงว่า เหตุไรพวกพลโยธาจึงมาล้อมพระนครเราไว้แน่นหนาถึงเพียงนี้
    เสนกจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน ชะรอยพระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้อัญเชิญพระราชธิดาออกมาแล้ว ปุกกุสกราบทูลว่า ชะรอยพวกเหล่านี้จะเป็นพวกที่ออกมาพิทักษ์รักษาพระองค์ ผู้เป็นแขกเมืองให้สมกับพระเกียรติยศของพระองค์ แต่ในไม่ช้าพระเจ้าวิเทหราชกับอำมาตย์ราชเสวกทั้งหลายก็รู้แน่ว่า เป็นกองทัพที่จะมาล้อมจับ ต่างก็กลัวตายจนหาที่เปรียบมิได้ ในลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสถามพระบรมโพธิสัตว์เจ้าว่า
    ดูก่อนมโหสถ พวกเสนาที่มาแวดล้อมนี้จะดีร้ายประการใด
    ขอพระราชทาน ขอพระองค์จงทรงทราบเถิดว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้เสด็จยกกองทัพออกมาล้อมไว้ เพื่อจะจับพระองค์ฆ่าเสียในวันพรุ่งนี้เช้า
    ในเวลานั้นยิ่งเพิ่มความกลัวตายให้แก่คนทั้งปวง มีพระเจ้าวิเทหราชเป็นประธาน พระเจ้าวิเทหราชทรงกระวนกระวายพระทัยจนแทบไม่ได้สติสมปฤดี ถึงกับทรงพระกันแสง
    พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทานความคิดของพระองค์ที่ทรงคิดไว้กับนักปราชญ์ทั้ง 4 นั้น ได้ถูกทำลายเสียแล้วพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอำมาตย์ผู้ภักดีต่อพระองค์ ได้กราบทูลคัดค้านพระองค์ไว้แล้วมิใช่หรือ ก็บัดนี้พระองค์จงให้นักปราชญ์ทั้ง 4 ซึ่งเป็นผู้มีความคิดรักษาพระองค์เถิด เวลานี้พระองค์ตกอยู่ในเงื้อมมือของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตแล้ว เหมือนกับเนื้ออันตกอยู่ในเงื้อมมือของนายพรานแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลไว้แล้วว่า ถ้าพระองค์ทรงลุ่มหลงพระราชธิดา ขืนเสด็จมาสู่อุตตรปัญจาละแล้ว ก็จะถึงซึ่งความพินาศ เหมือนกับเนื้ออันเสียชีวิต เพราะความลุ่มหลงนางเนื้อชนวนของนายพราน ไม่อย่างนั้นก็เหมือนกับปลา อันเห็นแก่เหยื่อซึ่งกลืนเบ็ดเข้าไป ไม่อย่างนั้นก็เหมือนกับเนื้ออันหลงเข้าไปในละแวกบ้าน ฉะนั้น แต่พระองค์หาได้ทรงเชื่อฟังคำของข้าพระพุทธเจ้าเลย ขอพระราชทาน ขึ้นชื่อว่า การคบหากับคนพาล ดังเช่นเกวัฏฏพราหมณ์นั้น ย่อมมีแต่จะถึงซึ่งความทุกข์ เหมือนกับบุคคลจับงูเห่าใส่พกไว้ ฉะนั้น การคบหากับบัณฑิตผู้มีความรู้และความประพฤติดี ย่อมมีแต่ความสุขทุกเวลา
    เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนี้ ก็ทรงน้อยพระทัยว่า มโหสถนี้ลำเลิกโทษของเราเสียแล้วและทรงพระดำริว่า การที่มโหสถว่ากล่าวข่มขี่เราไว้แต่ก่อนนั้น ก็เพราะมองเห็นภัยในอนาคตเช่นนี้ จึงตรัสว่า ดูก่อนมโหสถ ธรรมดานักปราชญ์ย่อมไม่ยกเอาโทษที่ล่วงแล้วมากล่าวเสียดแทงผู้อื่น เพราะฉะนั้น ขอพ่ออย่ายกเอาโทษในอดีตมาว่ากล่าวเสียดแทงบิดาเลย ถ้าพิจารณาเห็นอุบายที่จะช่วยให้บิดาพ้นทุกข์ได้ในครั้งนี้ ก็จงช่วยเถิด บิดาเห็นว่า นอกจากเจ้าแล้ว ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้
    ขอพระราชทาน กาลครั้งนี้ สุดความคิดของมนุษย์แล้ว เว้นแต่มีช้างหรือม้าตัวประเสริฐ ครุฑหรือยักษ์ที่จะมารับพาเหาะไปทางอากาศนั้นแหละ จึงจะพ้นจากข้าศึกได้ สำหรับข้าพระพุทธเจ้าเป็นอันหมดความสามารถแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
    สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงอัดอั้นตันพระหฤทัย ไม่สามารถจะตรัสจำนรรจาต่อไปได้ เสนกจึงอ้อนวอนพระบรมโพธิสัตว์เจ้าต่อไปว่า ข้าแต่เจ้าปราชญ์ บุคคลที่สำเภาแตก กำลังว่ายน้ำอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรซึ่งแลไม่เห็นฝั่ง เมื่อลอยไปตามกระแสน้ำ ถึงที่ตื้นแล้วจึงจะได้ความสุขฉันใด พระมหากษัตริย์กับข้าพเจ้าทั้งปวงนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น ส่วนตัวท่านซึ่งเป็นผู้เลิศด้วยความคิดจงทำตัวให้เป็นเหมือนที่ตื้น เพื่อให้พระมหากษัตริย์กับข้าพเจ้าทั้งปวงได้หยุดยืนพอได้ความสุขเถิด เมื่อครั้งพระเจ้าจุลนีพรหมทัตกรีฑาทัพไปล้อมพระนครของเราไว้ ท่านก็ได้ปลดเปลื้องให้คนทั้งปวงรอดพ้นความตายไปได้
    พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงตอบว่า ดูก่อนเสนก อันครั้งกระโน้นเราพอช่วยได้ แต่มาบัดนี้ เราหมดความสามารถที่จะช่วยแล้ว เว้นแต่มีผู้วิเศษ มาพาเหาะไปเท่านั้นแหละจึงจะพ้นไปได้
    ในลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงผันพระพักตร์ไปปรับทุกข์กับเสนกด้วยถ้อยคำต่างๆ
    เสนกจึงดำริว่าพระมหากษัตริย์ทรงเห็นเป็นประการใด จึงมาปรับทุกข์กับเราผู้เป็นเหมือนกับคนตาบอดเช่นนี้ เราจะต้องกราบทูลไปตามความคิดของเรา ครั้นคิดแล้วจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน ข้าพระบาทคิดเห็นว่า ควรจะปิดประตูปราสาทเสีย เอาไฟจุดปราสาทขึ้น แล้วพวกเราถือเอามีดคนละเล่มๆ ตลุมฟันกันให้ตายเสีย ดีกว่าจะให้พระเจ้าจุลนีจับเอาไปฆ่า เราเอาปราสาทนี้แหละเป็นเชิงตะกอน
    จึงทรงนึกว่า เชิงตะกอนเช่นนี้ให้เสนกเอาไปทำให้แก่บุตรภรรยาของเจ้าเถิด จึงหันไปตรัสถามปุกกุสว่า จะทำประการใดดี ปุกกุสกราบทูลว่า ควรจะกินยาพิษให้ตายเสียดีกว่า แล้วตรัสถามกามินท์และเทวินท์ต่อไป กามินทร์กราบทูลว่าพวกเราควรจะผูกคอตายเสียดีกว่า เทวินทร์กราบทูลว่า ควรจะอ้อนวอนมโหสถให้ช่วย ถ้ามโหสถช่วยไม่ได้แล้ว ก็จงทำตามอุบายของเสนกเถิด เพราะเป็นอุบายดีกว่าอุบายทั้งปวง
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับถ้อยคำของนักปราชญ์ทั้ง 4 ดังนี้แล้ว ก็ทรงพระกันแสงคร่ำครวญว่า ธรรมดาคนที่หาแก่นต้นไม้จากต้นกล้วย หรือต้นงิ้วไม่ได้ดังประสงค์ฉันใด เราก็หาอุบายให้พ้นจากพวกคนโง่ มีเสนกเป็นต้น ก็ไม่ได้เหมือนกันฉันนั้น เราคบกับพวกเสนก ย่อมเหมือนกับช้างสารอันตกอยู่ในที่ซึ่งหาน้ำไม่ได้ มีแต่จะถึงซึ่งความตายฉะนั้น เออ ตัวเรานี้ได้เลี้ยงนักปราชญ์ไว้ถึง 5 คน แต่จะเอาเป็นที่พึ่งสักคนหนึ่งก็ไม่ได้ เวลานี้เรารู้นึกว่าตัวของเราหวั่นไหวไปหมด เหมือนกบไปในสำเภาอันถูกลมพัดในคอของเราก็รู้สึกแห้งผาก ในท้องของเราก็รู้สึกเหมือนกับเตาอบแห่งช่างทองฉะนั้น ท้าวเธอไม่ทรงทราบว่าจะทำประการใด ได้แต่ทรงพระกันแสงคร่ำครวญด้วยถ้อยคำต่างๆ ดังแสดงมานี้
    ตํ สุตฺวา ปณฺฑิโต อยํ ราชา อติวิย กิลมติ สเจ น นํ อสฺสาเสสฺสามิ หทเยน ผลิเตน มริสฺสตีติ จินฺเตตฺวา อสฺสาเลติ ฯ ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห
    ตโต โส ปณฺฑิโต ธีโร อตฺถทสฺสึ มโหสโถ
    เวเทหํ ทุกฺขิตํ ทิสฺวา อิทํ วจนมพฺรวีติ.

    ดำเนินความว่า พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้ทรงสดับถ้อยคำพิไรรำพัน แห่งสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า พระมหากษัตริย์นี้ทรงลำบากพระหฤทัยยิ่งนัก ถ้าแม้ว่าเราจะนิ่งเสียมิได้โลมเล้าเอาพระทัยของท้าวเธอในบัดนี้ ท้าวเธอก็จักมีพระหฤทัยแตกทำลาย
    ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน พระองค์อย่าได้ทรงครั่นคร้ามสิ่งใดเลย ข้าพระบาทจะปลดเปลื้องพระองค์ให้พ้นภัยในครั้งนี้ให้จงได้ ให้มีอุปไมยดังเทพยดาผู้มีฤทธิ์ปลดเปลื้องเสียซึ่งพระจันทร์พระอาทิตย์ ให้พ้นจากปากอสุรินทราหู หรือเหมือนดังเทพยดาอันมีกำลังมากยกช้างสารอันจมอยู่ในเมือกตม หรือเหมือนดังบุคคคลอันปล่อยงูเสียจากกระโปรง ปล่อยนกเสียจากกรง ปล่อยปลาเสียจากแหฉะนั้น ข้าพระบาทนี้แหละจะเปลื้องพระองค์ด้วยอำมาตย์ราชเสนาพลโยธาทั้งปวง ให้พ้นจากอันตรายในครั้งนี้ ขอพระองค์อย่าทรงตกพระทัยเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระบาทจะกำจัดเสียซึ่งพลโยธาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต เหมือนกับบุคคลอันไล่กาหนีด้วยไม้ค้อนก้อนดินฉะนั้น อำมาตย์ผู้มีปัญญาดังข้าพระบาทนี้ เมื่อเปลื้องเจ้านายผู้ตกทุกข์ไม่ได้แล้วจะนับว่ามีปัญญาอย่างไรได้ ข้าพระบาทได้ล่วงหน้ามาก่อนพระองค์ ก็เพื่อประสงค์จะมาจัดการป้องกันอันตรายทั้งสิ้น จะมาโลเลเหลาะแหละลุ่มหลงด้วยมาตุคามนั้นหามิได้ ขอพระองค์อย่าได้ทรงสะดุ้งตกพระทัยเลย พระพุทธเจ้าข้า
    ครั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า กราบทูลอย่างนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยราชบริพารทั้งปวงก็แสนที่จะชื่นชมโสมนัสปรีดา
    โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป 22 ธ.ค.52
     
  2. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ต่อจาก 14 ธ.ค.52
    เสนกอาจารย์จึงถามขึ้นว่า ข้าแต่เจ้าปราชญ์ ท่านจะพาข้าพเจ้าทั้งปวงไปให้พ้นจากข้าศึกได้ด้วยวิธีใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงตรัสว่า เราจะพาไปด้วยวิธีนำลงไปในอุโมงค์อันประดับประดาไว้ดีแล้ว ขอจงรีบพากันจัดการอย่าให้เนิ่นช้า ครั้นตอบอย่างนี้แล้ว พระบรมโพธสัตว์เจ้าก็ให้พลโยธาของพระองค์ เปิดประตูอุโมงค์และห้องประทีบทั้งปวงขึ้น ให้เห็นปรากฏสว่างไสวรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์ จึงอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชให้เสด็จลงจากปรางค์ปราสาท โดยเร็วพลัน ส่วนเสนกอาจารย์ ได้ถอดหมวก แล้วจัดแจงนุ่งผ้าโจงกระเบนเหน็บรั้งหาผ้าพันพะรุงพะรัง พระบรมโพธิสัตว์เจ้า จึงถามว่า ทำอะไรกันอย่างนี้เล่าเสนกตอบว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะลงไปในอุโมงค์ได้หรือ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงตอบว่า ท่านอย่าเข้าใจอย่างนั้น อันอุโมงค์ของเรานี้สูงถึง 18 ศอก มีประตูอันกว้างขวาง ท่านจะขึ้นช้างหรือขึ้นม้าหรือรถไปก็ได้ ไม่มีขัดข้องประการใด ขอท่านจงล่วงหน้าไปก่อนเถิด ครั้นให้เสนกออกหน้าไปแล้ว ก็ให้พระมหากษัตริย์เสด็จไปในท่ามกลาง ส่วนพระองค์เสด็จไปข้างหลัง อำมาตย์ราชเสนาทั้งปวงแห่ห้อมล้อมไปในเบื้องซ้าย เบื้องขวา เบื้องหน้า เบื้องหลัง ดูคับคั่งไปในอุโมงค์ พลโยธาเหล่านั้นเดินพลางกินพลาง ซึ่งโภชนาหารพฤกษาหารขนมนมเนยต่างๆ ซึ่งมีอยู่ใน 2 ฟากข้างอุโมงค์ สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรเห็นอุโมงค์อันวิจิตรบรรจงดังเทวสถานในสวรรค์ ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาเบิกบานหรรษาภิรมย์ ทรงดำเนินพลางชมพลาง ตามระยะทางพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้คอยทูลอัญเชิญให้รีบด่วนเสด็จ จนกระทั่งถึงโรงกลมกว้างใหญ่อันมีในที่ใกล้ประตูอุโมงค์ด้านริมน้ำ เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช เสด็จออกจากอุโมงค์พร้อมด้วยพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแล้ว กษัตริย์ทั้ง 4 มีพระสลากเทวีเป็นต้น ได้ทอดพระเนตรเห็น เข้าพระทัยว่าตนได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึกแล้ว ต่างองค์ต่างสะดุ้งกลัวต่อความตาย ทรงร้องขึ้นด้วยน้ำเสียงหวีดหวาด เวลานั้นเป็นเวลาเที่ยงคืนดึกสงัด สมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ซึ่งล้อมอยู่ด้านข้างแม่น้ำ ไกลจากที่นั้นได้ 100 เส้น ก็ทรงได้ยิน เกือบจะออกพระโอษฐ์ว่า ดูเหมือนเสียงพระนางนันทาอัครมเหสีของเรา แต่ก็ทรงอดกลั้นไว้เสียด้วยกลัวพลโยธาจะว่าเป็นห่วงเมีย ถึงกับได้ยินเสียงอื่นว่าเป็นเหมือนเสียงเมีย
    ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ทูลปลอบกษัตริย์ทั้ง 4 นั้นให้หายสะดุ้งพระหฤทัยแล้ว จึงจัดการอภิเษกพระนางปัญจาลจันที กับสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชที่โรงกลมอันกว้างใหญ่ แล้วก็อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชและกษัตริย์ 4 พระองค์ เสด็จลงเรือพระที่นั่งเรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชว่า ขอพระราชทาน ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาแก่ปัญจาลกุมารว่า เป็นพระเจ้าน้องของพระนางปัญจาลจันทีให้เหมือนกับพระเจ้าน้องของพระองค์เถิด จงทรงพระกรุณาต่อพระนางเจ้า ผู้เป็นพระอัครมเหสีผู้เป็นพระมารดาของพระนางปัญจาลจันที นี้ไปให้เหมือนกับพระมารดาของพระองค์ จงทรงพระกรุณาพระนางปัญจาลจันทีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ตามเยี่ยงอย่างขัตติยประเพณีเถิด ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสเรียกพระโพธิสัตว์เจ้า ให้ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย แต่พระองค์กราบทูลว่า
    ข้าพระบาทยังไปไม่ได้ ขอพระองค์กับราชเสวกทั้งปวงจงเสด็จล่วงหน้าไปก่อนเถิด ข้าพระบาทจะย้อนกลับหลังเสียก่อน เพราะเหตุว่า พลโยธาซึ่งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าพากันหลับนอนไม่รู้ตัวก็มีอยู่มาก ข้าพระบาทจะนำพลโยธาทั้งสิ้นกลับมาจากพระนครที่สร้างใหม่นั้นให้หมดในคืนวันนี้ ขอพระองค์จงเชิญเสด็จไปโดยเร็วพลัน ข้าพระพุทธเจ้า ได้จัดพลช้าง เมื่อพระองค์ขึ้นจากเรือพระที่นั่งแล้ว จงเร่งพลโยธาไปให้ถึงกรุงมิถิลาโดยเร็วพลัน
    สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสว่า พ่อมโหสถเอ๋ย พ่ออย่ากลับไปต่อสู้กับพระเจ้าจุลนีพรหมทัต เพราะโยธาของเรามีน้อยอาจถึงซึ่งปราชัย
    พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน ถึงข้าพระบาทจะมีพลโยธาน้อยก็ตาม แต่ถ้ามีปัญญามากแล้วก็อาจต่อสู้กับคนหมู่มากได้เหมือนกับพระอาทิตย์ดวงเดียวยังต่อสู้กับความมือทั้งปวงได้ ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็ถวายบังคมลาไปสู่พลับพลาที่สร้างขึ้นใหม่นั้น
    ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช ทรงระลึกถึอุปการคุณของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า และทรงสรรเสริญพระโพธิสัตว์เป็นนักหนาว่า ได้พ้นจากเงื้อมมือข้าศึกก็เพราะมโหสถ ครั้นเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งแล้ว ก็ขึ้นทรงช้างพระที่นั่งเสด็จไป เมื่อเสด็จลงจากช้างพระที่นั่งแล้ว ก็ทรงขึ้นม้าพระที่นั่งและรถพระที่นั่ง เสด็จผลัดเปลี่ยนไปเป็นทอดๆ จนล่วงเสียซึ่งหนทางอันไกล 100 โยชน์จึงบรรลุถึงซึ่งกรุงมิถิลามหานคร
    อุมฺมงฺคทฺวารํ คนฺตฺวา ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้า เวลาเสด็จกลับไปถึงประตูอุโมงค์แล้ว ก็ทรงถอดพระแสงขรรค์ออกหมกไว้ที่หาดทราย แล้วจึงเสด็จเข้าสู่อุโมงค์ไปจนกระทั่งถึงนครที่สร้างใหม่ แล้วก็ทรงอาบน้ำชำระพระองค์ เสวยพระกระยาหารเป็นสุขสำราญแล้ว จึงเสด็จขึ้นสู่ที่บรรทม ทรงรำถึงถึงสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ บัดนี้ความประสงค์ของเราได้สำเร็จถึงที่แล้ว ไม่เสียแรงเสียเวลาที่เราได้อุตสาหะกระทำมาจนเต็ม 4 เดือน ไม่เคลื่อนคลา ครั้งรงพระดำริอย่างนี้แล้ว ก็บรรทมหลับไปบนพระแท่นที่สิริไสยาสน์ในกาลครั้งนั้น
    อถสฺสา รตฺติยา อจฺจเยน จุลฺลนี ราชา ฝ่ายว่าสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตผู้เป็นพระบรมกษัตริย์อันทรงศักดาเดช เป็นมหิสราธิเบศร์มิ่งมงกุฎอุตมาธิบดี ในกรุงอุตตรปัญจาลราชธานี ก็พร้อมด้วยพลโยธาทั้ง 18 อักโขภินีและกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระนคร ล้อมพระนครที่สร้างใหม่ไว้ด้วยกำแพงช้าง กำแพงม้า กำแพงรถ กำแพงพวกบทจรล้วนแต่มีพลโยธาทวยหาญถือโล่ห์โตมรธนูศรเกาทัณฑ์หน้าไม้ปืนยาวสรรพด้วยสาตราวุธต่างๆ อยู่ประจำเป็นถ่องแถวเป็นหมวดเป็นหมู่กัน ดูน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก สล้างสลอนไปด้วยพัดโบกจามร ธงช่อธงชัยเศวตฉัตรพัดวาลวีชนี และกำหางนกยูงเครื่องสูง สว่างไสวไปด้วยแสงคบเพลิงและแสงเครื่องประดับกับแสงหอกดาบดูวาบวับเหมือนกับแสงดาวประกายพรึก ในนภาลัยประเทศเวหา แต่ล้อมอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งสิ้นราตรีกาล สมเด็จพระเจ้าจุลนีจึงเสด็จขึ้นทรงช้างพระที่นั่งอันมีกำลังกล้าหาญ เป็นช้างสารตัวประเสริฐ มิได้ย่อท้อต่อศัตรูหมู่ปัจจามิตร ทรงสวมสอดเกราะแก้วแล้วทรงพระแสงธนูไสช้างพระที่นั่ง เข้าไปหยุดยืนอยู่ในที่ใกล้อุปจารนครที่สร้างใหม่แล้วตรัสสั่งพลโยธาทั้งปวงว่า สูเจ้าทั้งหลายจงเร่งไสช้างเข้าไปเหยียบย่ำ กำแพงเมืองพระเจ้าวิเทหราชให้ย่อยยับลงในบัดนี้ พวกพลโยธาที่ชำนาญในการยิงธนูจงเร่งปล่อยธนูไป พวกพลโยธาของเรานี้ล้วนแต่แกล้วกล้าถืออาวุธมีด้ามอันวิจิตรต่างๆ อาจแล่นทะลวงเข้าไปในสมรภูมิไม่ครั่นคร้ามต่อข้าศึกศัตรู ถึงแม้จะมีช้างมีงามาขวางหน้า ก็อาจจะจับเอางาถอนเสียอันนี้เป็นพลโล่เขนของเรา ส่วนพลหอกของเรานั้น แต่ละคนๆก็ล้วนแต่ถือหอกใหญ่อันแหลมคม ชโลมน้ำมันเป็นอันดี มีสีหอกแวววาวเหมือนดาวในอากาศ ล้วนสวมเกราะและประกอบด้วยกำลังอันเข้มแข็งทั้งนั้น ในคราวนี้ พระเจ้าวิเทหราชเป็นไม่พ้นเงื้อมมือของเราไปได้ เว้นไว้แต่จะบินไปในอากาศได้เหมือนกับนกเท่านั้นจึงจะพ้นเราไปได้ อนึ่งเล่า พลโยธาของเรา 3 หมื่น 8 พันนี้ ก็ล้วนแต่แกล้วกล้าสามารถได้เคยปราบปรามทั่วชมพูทวีปมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีพลโยธาของกษัตริย์พระองค์ใดจะมีฝีมือเหมือนกับพลโยธา 3 หมื่น 8 พันของเราได้ พลช้างของเราเล่าแต่ละตัวๆก็ล้วนกล้าหาญ มีนายหัตถาจารย์ผูกสายประทัดรัดประโคนเป็นอันดี ล้วนมีอายุตั้ง 60 ปี จึงจะหย่อนกำลังทั้งนั้น พลช้างเหล่านี้อาจย่ำยีพวกพลศัตรูให้พินาศได้โดยเร็ว อีกประการหนึ่ง พวกพลโยธาที่ขี่บนคอช้างสารทั้งปวงก็ล้วนแต่ถือดาบเหล็กอันแหลมและกลั่นได้ถึง 7 ครั้งแล้วทั้งนั้น คือ ดาบเหล่านั้นล้วนแต่นายช่างกร่างเหล็กให้นกกระเรียนกินถึง 7 ครั้ง แล้วเอามาถลุงเอาแต่เนื้อเหล็กทำดาบทั้งนั้น พวกพลดาบเหล่านั้นก็ล้วนแต่แกล้วกล้าสามารถต่อการศึกทั้งนั้น ล้วนแต่สวมเกราะและจับโล่สำหรับป้องกันตัวทั้งนั้น ดูก่อนพระเจ้าวิเทหราช ตัวของท่านเปรียบเหมือนกับเด็กน้อยอันอยู่ในกำมือของเรา หรือเปรียบเหมือนกับปลาซึ่งติดอยู่กับเบ็ดฉะนั้น เมื่อครั้งก่อนท่านได้พ้นมือของเราด้วยอาศัยปัญญามโหสถ ครั้งนี้จะพ้นเราไปได้เป็นอันไม่มี พระเจ้าจุลนีทรงร้องเข้าไปดังนี้ ด้วยทรงเข้าพระทัยว่า สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชยังอยู่ภายในเมืองที่สร้างขึ้นใหม่นั้น ครั้นทรงร้องขู่ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่า จะจับพระเจ้าวิเทหราชทั้งเป็น จึงทรงไสช้างพระที่นั่งขยับเข้าไป ตรัสสั่งพวกพลโยธาว่า เจ้าทั้งหลายจงเร่งพังค่ายเข้าไป จับเอาพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถมาให้เราทั้งเป็น ในบัดนี้ ฝ่ายพวกบุรุษสอดแนมของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งไปสมัครเป็นข้าเฝ้าของสมเด็จพระเจ้าจุลนี และกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์นั้น ก็เร่งยกพลของตนเข้าไปก่อน ทำอาการฮึกฮัดดังประหนึ่งว่าจะหักทะลายค่ายเข้าไป ทั้งนี้หวังว่าถ้าพวกอื่นรุกเข้าไป ก็จะได้กั้นกางไว้เสีย
    ตสฺมึ ขเณ โพธิสตฺโต ในขณะนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จตื่นจากบรรทม ชำระพระองค์เสร็จ เสด็จเข้าสู่ที่เสวยในเวลาเช้าแล้ว จึงทรงประดับประดาพระองค์ด้วยพระภูษากาสิกพัสตร์อันมีค่า ได้แสนตำลึง ทรงสวมผ้ากัมพลเหลืองบนบ่าข้างหนึ่ง ทรงสวมกำไลแก้ว 7 ประการ ที่ข้อพระหัตถ์ ทรงฉลองพระบาททองอันงดงามระยับ มีสตรีนับสิบๆล้วนแต่มีรูปร่างเหมือนนางฟ้าถือพัดวาลวิชนีโบกอยู่ในเบื้องซ้ายเบื้องขวา ทรงเผยออกซึ่งช่อพระแกลปราสาท เสด็จไปๆมาๆ อยู่ด้วยลีลาปานดังสมเด็จอมรินทราธิราชเจ้าในสวรรค์ฉะนั้น สำแดงพระองค์ให้ปรากฏแก่พระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีจะได้ทรงยินดีในพระรูปพระโฉมพระสิริวิลาสอันงดงามของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแม้แต่น้อยหนึ่งก็หามิได้ มีแต่ทรงพระดำริว่ากูจะจับตัวมโหสถห่ำหั่นเสียในบัดนี้ให้จงได้ จึงทรงไสช้างพระที่นั่งเข้าไปตรงหน้าพระบรมโพธิสัตว์เจ้า พระบรมโพธิสัตว์เจ้า จึงทรงพระดำริว่าพระเจ้าจุลนีนี้หาทรงทราบไม่เลยว่า บุตรภรรยาของตนอยู่ในเงื้อมมือของเจ้านายของเราแล้ว เราจะชี้แจงให้ท้าวเธอทรงทราบ ครั้นทรงพระดำริแล้วจึงประทับยืนที่ช่องพระแกลเปล่งออกซึ่งพระสุรเสียงดันไพเราะ เป็นเชิงเยาะเย้ยว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัต เหตุไรพระองค์จึงทรงด่วนไสช้างพระที่นั่งเข้ามา ทั้งทรงพระโสมนัสปรีดาว่าจะจับตัวพระเจ้าวิเทหราช และตัวข้าพระบาทได้หรือประการใด ขอพระองค์จงทิ้งพระแสงธนูกับแล่งธนู และเกราะที่ทรงนั้นเสียเถิด เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่พระองค์แล้ว พระองค์อย่าได้มาเฝ้าให้ลำบากเลย จงเสด็จกลับคืนพระนครเสียเถิด
    โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป 29 ธ.ค.52
     
  3. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ต่อจาก 22 ธ.ค.52
    โส ตสฺส วจนํ สุตฺวา พอสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ได้สดับคำเยาะเย้ยดังนี้ ก็ยิ่งทรงพระพิโรธ จึงตรัสว่า ดูก่อนมโหสถ เราดูสีหน้าเจ้าวันนี้ ดูนวลตายขึ้นเต็มที่แล้ว วันนี้แหละเราจะตัดศีรษะของเจ้าเสีย แล้วจะดื่มเหล้าชัยบานให้สำราญใจ ฝ่ายพวกพลนิกายของพระเจ้าจุลนีซึ่งได้แลเห็นพระรูปพระโฉมของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าในคราวนั้น ต่างก็ชอบใจเมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้สดับคำขู่ของพระเจ้าจุลนีดังนั้น จึงตรัสตอบว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ขู่เสียเปล่าๆ จะทำอะไรแก่ใครได้ ความคิดของพระองค์ที่ทรงคิดไว้กับเกวัฏฏพราหมณ์ในห้องบรรทมนั้น ได้ถูกทำลายเสียแล้ว ข้าพเจ้ารู้เสียสิ้นแล้วว่าเกวัฏฏพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของพระองค์เปรียบเหมือนม้ากระจอก ส่วนพระองค์เปรียบเหมือนบุรุษขี่ม้ากระจอก อันตัวข้าพเจ้าเปรียบเหมือนม้าสินธพอาชาไนย ซึ่งมีฝีเท้าว่องไวดังลมพัด จอมกษัตริย์วิเทหราช เปรียบเหมือนบุรุษที่ขี่ม้าสินธพอาชาไนยฉันใด ส่วนพระองค์ก็ไม่อาจจะตามทันพระเจ้าวิเทหราชฉะนั้น เพราะพระเจ้าวิเทหราชนั้นข้าพเจ้าได้ส่งข้ามแม่น้ำกลับไปแต่วานนี้แล้ว จะได้เสด็จกลับไปองค์เดียวหามิได้ ได้เสด็จกลับไปพร้อมด้วยอำมาตย์ราชเสวกแห่แหนไปเหมือนกับพญาหงส์อันมีหมู่หงส์แวดล้อมไปฉะนั้น การที่พระองค์จะติดตามพระเจ้าวิเทหราชไปนั้น ย่อมไม่อาจจะตามทัน เหมือนกับกาอันติดตามพญาหงส์แล้วตกลงในกลางทางฉะนั้น สุนัขจิ้งจอกอันเห็นดอกทองกวาวในเวลากลางคืนแล้วเข้าใจว่าชิ้นเนื้อ จึงชวนกันล้อมไว้ด้วยหมายใจว่า จะได้กินในวันรุ่งขึ้น แต่พอตะวันขึ้นจึงรู้ว่าเป็นดอกทองกวาว แล้วพากันกลับไปเปล่าฉันใด พระองค์ทรงพาพลโยธามาล้อมพระนครอยู่ครั้งนี้ ก็เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกฉะนั้น เพราะเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า พระเจ้าวิเทหราชเสด็จกลับไปแล้ว ก็จะต้องขาดจากพระประสงค์ แล้วพาพลโยธากลับไปเปล่า
    ราชา ตสฺส อฉมฺภีตวจนํ สุตฺวา ครั้นสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงสดับถ้อยคำอันองอาจกล้าหายของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่า บางทีมโหสถบัณฑิตผู้นี้จะแก้ไขให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จกลับไปเสียจริงแล้วกระมัง เมื่อครั้งก่อนมโหสถก็ได้ทำความแค้นให้แก่เรานักหนา มาครั้งนี้ก็ได้ทำความแค้นให้แก่เราอีก เราได้คิดไว้แล้วว่า จะลงโทษแก่คนทั้งสอง คือวิเทหราชกับมโหสถนั้น บัดนี้เราจะต้องทำแก่มโหสถแต่ผู้เดียว ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพลโยธาว่า เหวยๆสูเจ้าทั้งหลาย จงเร่งเข้าไปจับมโหสถเอามาตัดมือตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูกเสีย ให้หนำใจในเวลานี้ให้จงได้ เถือเอาหนังของมโหสถ มาเสียบไม้ย่างให้เหมือนกับย่างเนื้อ เอาขอเหล็กเกี่ยวมือเท้าดึงแผ่ให้ออกไปให้เหมือนกับคนขึงหนังราชสีห์และหนังเสือโคร่งฉะนั้น แล้วจงแทงมโหสถให้ปรุโปร่งไปด้วยหอกอันแหลมคม ให้สมกับโทษที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชไปในบัดนี้ให้จงได้ สมเด็จพระเจ้าจุลนีทรงพระพิโรธออกพระโอษฐ์บังคับพลโยธาให้เร่งรัดกันเข้าไปเพื่อจะจับเอาพระโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งสถิตอยู่บนปราสาทภายในค่าย ด้วยไม่ทรงทราบเหตุผลต้นปลายก็มีในกาลนั้น
    ตํ สุตฺวา มหาสตฺโต หสิตํ กตฺวา อยํ ราชา น ชานาติ อตฺตโน เทวิยา จ พนฺธวานญฺจ มยา มิถิลํ ปหิตภาวํ เตน เม อิทํ กมฺมกรณํ วิจาเรติ โกธวเสน โข ปน มํ อุสุนา วา วิชฺเฌยฺย อญญํ วา อตฺตโน รุจฺจนกํ กเรยฺยาติ
    ดำเนินความว่า พอพระมหาสัตว์เจ้า ได้สดับถ้อยคำอันร้ายกาจของสมเด็จพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ตรัสตวาดขู่ว่าจะฆ่าฟันบั่นทอน ดังที่แสดงมาแล้วนั้น จึงทรงพระดำริว่า สมเด็จพระเจ้าจุลนีนี้หารู้ไม่ว่าเราได้ส่งพระญาติพระวงศ์ของท้าวเธอไปไม่ เธอตรัสพิรี้พิไรจะให้กระทำกรรมกรแก่เรานี้แน่ๆ ด้วยสามารถจะทรงโกรธ ผิดังนั้นเราจะบอกให้ท้าวเธอแจ้งเหตุ จะให้ท้าวเธอได้เสวยทุกขเวทนา เดือดร้อนด้วยความโศก จะให้ท้าวเธอถึงวิสัญญีภาพเหนือหลังช้างพระที่นั่งในกาลบัดนี้ ทรงดำริดังนี้แล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงมีพระวาจาว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์จะได้ ตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูก แห่งข้า จะให้เถือเนื้อเสียบไม้ย่าง จะขึงออก จะแทงด้วยหอก จะกระทำเป็นประการใดๆ ถ้ารู้ไปถึงพระเจ้าวิเทหราชแล้ว พระเจ้าวิเทหราชก็จะกระทำแก่พระราชบุตรและพระราชธิดา พระอัครมเหสี และพระราชชนนีของพระองค์นั้น ให้เหมือนกันกับพระองค์ได้กระทำแก่ข้าพระพุทธเจ้านี้ ข้าพระพุทธเจ้ากับพระเจ้าวิเทหราชได้ปรึกษากันในที่สงัด ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งไปกับพระเจ้าวิเทหราชว่า การที่ข้าพระบาทอยู่ข้างนี้ ถ้าพระเจ้าจุลนีเธอทรงโกรธกระทำโทษเป็นประการใดๆ รู้ไปถึงพระองค์แล้ว จงกระทำโทษแก่เจ้าปัญจาลจันทา และนางปัญจาลจันที พระนางนันทาราชเทวี พระสลากเทวี ให้เหมือนกับที่พระเจ้าจุลนีเธอกระทำแก่ข้าพระบาท ได้สั่งพระเจ้าวิเทหราช ฉะนี้แล พระเจ้าข้า อันข้าพระบาทนี้เปรียบดังโล่หนังอันหนักได้ 100 ชั่ง โล่หนังอันหนัก อาจป้องกันลูกศรทั้งปวงได้ อาจรักษาไว้ซึ่งจนได้ฉันใดก็ดี โล่หนังอันหนัก กล่าวคือ ปัญญาแห่งข้าพระพุทธเจ้านี้ ก็ป้องกันเสียได้ซึ่งลูกศร กล่าวคือ ความคิดแห่งพระองค์ รักษาซึ่งตนและกันซึ่งทุกข์ นำมาซึ่งความสุขแก่สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ มีอุปไมยดังนั้น เมื่อพระบรมโพธิสัตว์สำแดงเหตุฉะนี้ สมเด็จพระเจ้าจุลนีได้ทรงฟัง จึงมาดำริว่า มโหสถนี้เป็นอะไร จึงมากล่าวดังนี้ เรากระทำโทษฉันใด พระเจ้าวิเทหราชก็จะกระทำแก่ลูกเมียและมารดาเราฉันนั้น ชะรอยมโหสถหารู้ได้ไม่ ลูกเมียมารดาเราให้รักษาไว้เป็นอันดี เมื่อกลัวความตาย ก็มางมบ่นพิไรไปเปล่าๆ เราหาเชื่อไม่ ฝ่ายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ก็รู้อัธยาศัยว่า พระเจ้าจุลนีมิเชื่อจึงมีพระวาจาตรัสสืบต่อไปว่า ขอพระราชทาน ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อแล้วก็ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรเถิด พระราชนิเวศน์แห่งพระองค์นี้เปล่าแล้วจากกษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์คือ พระราชบุตรและพระราชธิดา พระอัครมเหสี พระชนนีมารดาแห่งพระองค์นี้ ข้าพระบาทให้มาณะไปนำมาโดยอุโมงค์ ส่งไปกับสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชสิ้นแล้ว พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระเจ้าจุลนี ได้ทรงสดับดังนั้น ก็สะดุ้งพระทัย ทรงพระดำริว่า เจ้ามโหสถว่าเป็นมั่นคงหนักหนาแล้วก็จะจริงดอกกระมัง เมื่อคืนนี้เราได้ยินเสียงอยู่ข้างแม่น้ำนั้นแจ้วๆ เหมือนเสียงแก้วพระนันทา ดำริฉะนี้แล้วก็บังเกิดมีความโศกเศร้าเป็นกำลัง
    โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป 5 ม.ค.53
     
  4. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ต่อจาก 29 ธ.ค.52
    แต่ท้าวเธออุตส่าห์ตั้งสติไว้ กระทำอาการประดุจดังว่าไม่โศกเศร้า แล้วท้าวเธอจึงมีพระราชโองการใช้อำมาตย์ผู้หนึ่ง เข้าไปชันสูจน์ดูอำมาตย์ผู้นั้นก็เข้าไปกับบริวาร ขึ้นสู่พระราชนิเวศน์เรือนหลวง ก็เห็นแต่คนเตี้ยและคนค่อม อันโยธาทั้งปวงผูกมือและเท้าปิดปากแล้วแขวนไว้ในนาคทันต์ทั้งปวง แล้วก็เห็นภาชนะในโรงครัวอันโยธาทั้งหลายได้ทุบต่อยเสียให้กระจัดกระจาย มีขาทนียะและโภชนียะอันเรี่ยรายในสถานที่นั้นๆ เห็นทั้งห้องแก้วอันโยธาทั้งหลายขนไปและเปิดไว้ แล้วเห็นหมู่กาทั้งหลายบินเข้าไปโดยช่องพระทวารและช่องพระแกล แล้วเที่ยวไปในปรางค์ปราสาท ยิ่งดูก็ยิ่งอนาถน่าสังเวช เห็นพระราชนิเวศน์นั้นหาสิริมิได้ เปรียบปานดุจบ้านร้างและบ้านแซ หรือมิฉะนั้น ก็เปรียบปานดังสุสานป่าช้า อำมาตย์ผู้นั้น ก็กลับออกไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าจุลนีว่าพระพุทธเจ้าข้า จริงเหมือนถ้อยคำของเจ้ามโหสถแล้ว พระราชนิเวศน์เรือนหลวงว่างเปล่าแล้ว ครุวนาดังว่าร้านปลาอันบุคคลพังเสียแทบฝั่งสมุทรและอาเกียรณ์ไปด้วยหมู่กาทั้งหลาย ได้กลิ่นปลาและบินมา สมเด็จพระเจ้าจุลนีได้ทรงฟังอำมาตย์กราบทูลดังนั้น มีพระทัยอัดอั้นตันใจด้วยความโกรธ ทรงพระราชดำริว่า ทุกข์ทั้งนี้จะเกิดขึ้นก็อาศัยแก่เจ้ามโหสถ ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว ทรงโกรธพระบรมโพธิสัตว์เป็นกำลัง ดุจดังว่าอสรพิษอันบุคคลประหารด้วยท่อนไม้ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าเห็นอาการของพระเจ้าจุลนีอันทรงโกรธดังนั้น ทรงดำริว่า พระยาองค์นี้เธอมีบริวารมากและยศเป็นอันมากจะไว้ใจเธอกระไรได้ เกลือกว่าถ้าเธอมีขัตติยมานะไม่คิดเห็นแก่ลูกแก่เมีย แล้วเธอจะเบียดเบียนเรา ดังนั้น เราจะพรรณนาพระรูปพระโฉมแห่งพระนางนันทาราชเทวี ให้ท้าวเธอมีพระกมลหฤทัยชุ่มชื่นไปด้วยอำนาจความสิเนหา ถ้าท้าวเธอทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระนางนันทาเป็นกำลังอยู่แล้ว ท้าวเธอก็จะไม่ทำอันตรายอันใดอันหนึ่งแก่เรา พระบรมโพธิสัตว์เจ้าดำริฉะนี้แล้ว ก็เยี่ยมหน้าต่างอันมีพรรณดังทองจากกลีบบัวผ้ารัตกัมพลชี้บอกมรรคาที่พระนางนันทาเสด็จ แล้วมีพระวาจาสรรเสริญรูปสิริแห่งพระนางนันทาว่า ขอพระราชทาน สมเด็จพระนางนันทาเทวีเสด็จไปโดยอุโมงค์นี้ ตรงมือข้าพระบาทชี้นี้แลพระเจ้าข้า พระโสนีเพิ่งได้เห็นเป็นขวัญตา สมเด็จพระราชเทวีองค์นี้งามเพริศพริ้งพร้อม พระโสนีผายผึ่งประหนึ่งแผ่นกระดานทองทรงพระเสาวภาค พื้นพระบาททั้งสองแดงดีดูงามประดุจบริกรรมด้วยน้ำครั่ง มีพระฉวีวรรณผิวหนังอันเหลืองงามประดุจดังสีทองทรงซึ่งเบญจกัลป์ยานี ประกอบด้วยพระกระแสเสียงอันไพเราะ ดุจเสียงหงส์ ที่ท่ามกลางพระองค์ดังจะกำรอบ กลมกล่อมงามประหนึ่งว่า สุพรรณไพทีทอง มีพระเนตรทั้งสองผ่องใสดูงามขำ อันบริสุทธิ์ด้วยประสาททั้ง 9 ที่ควรเขียวก็เขียว ที่ควรดำนั้นก็ดำ ที่ควรแดงนั้นก็แดงดี ดุจว่าเท้าแห่งนกพิราบ ที่ควรจะขาวนั้นก็ขาว ดุจดังว่ารัศมีดาวประกายพรึก ที่ควรเหลืองก็เหลืองงาม ดุจว่าทองชมพูนุท พระเนตรนั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ ด้วยพระเนตรนั้นกว้างกลม อย่างประหนึ่งว่า ตาแห่งลูกนก อันเกิดอยู่แถบเชิงเขา พระเกศาแห่งสมเด็จพระนางนันทานั้นเล่า ก็ดำขลับยาวเรื่อยลงมา แล้วมีปลายอันงอนพุ่งขึ้นเบื้องบน เหมือนกับปลายมีดเชือดเนื้อ พระโอษฐ์แห่งพระนางนันทานั้น แดงงามเหมือนกับผลไทรสุก หรือผลตำลึงสุกงามแฉล้ม ประหนึ่งว่า จะแย้มพระโอษฐ์ตรัสจำนรรจา มีทรวดทรงไม่สูงไม่ต่ำเกินประมาณ มีเต้าพระพันทั้งคู่ตูมตั้งดังผลมะพลับทองอันวางอยู่บนแผ่นกระดานทอง พระเต้าทั้งสองนั้น ติดชิดกันเป็นอันดี พอจะสอดแซมดอกไม้ไว้ได้ พระเพลาทั้งสองเกลี้ยงกลมดังลำกล้วยทอง พระกรทั้งสองเหมือนงวงเอราวัณ พระโลมาไม่มากไม่น้อยพองามพอดี มีพระโฉมอันงดงามจับใจ อย่างประหนึ่งว่า เปลวไฟในฤดูหนาว เพราะเป็นที่น่าใคร่อิงแอบอุ่นอบ มิดังนั้น โฉมแห่งพระนางนันทาก็ประกอบด้วยระเบียบแห่งพระโลมาอันงามเหมือนกับแม่น้ำในซอกเขา อันมีสองฟากฝั่งดารดาษไปด้วยกอไม้น้อยๆ ฉะนั้น ความงามนั้นหาที่ติมิได้ จะดูที่ไหนก็งามที่นั่น เมื่อพระนางเจ้าทรงพระภูษาโกไสยพัสตร์แล้ว แล้วประดับด้วยสะอิ้งแก้วสะอิ้งทองเครื่องสรรพาภรณ์ทั้งปวง ก็ดูงามขำล้ำเสิศประเสริฐด้วยสิริวิลาสอันอ้อนแอ้นระทดระทวยเหมือนกับเครือวัลย์ ก็พระนางนันทาเจ้าน้น ได้เสด็จไปทางอุโมงค์ข้างล่างนี้แล้ว เมื่อสมเด็จพระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำรำพันพระรูปโฉม แห่งพระอัครมเหสีดังนี้แล้ว ก็บังเกิดความสิเนหาอาลัยเหมือนกับไม่เคยได้พบเห็น ฝ่ายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็รู้แจ้งว่า พระเจ้าจุลนีผู้มีความสิเนหาในพระอัครมเหสีแก่กล้าแล้ว จึงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยสิริสมบัติ พลพาหนะ พระองค์ทรงยินดีที่จะให้พระนางนันทาอัครมเหสี ถึงซึ่งความแตกดับแห่งชีวีดินทรีย์หรือประการใด จึงมาทรงเข่นเขี้ยวจะทำร้ายข้าพระองค์ในบัดนี้ ถ้าพระองค์ฆ่าข้าพระองค์เสียแล้ว สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็จะฆ่าพระนางนันทาเสีย ข้าพระองค์กับพระนางนันทา ก็จะพร้อมกันไปสู้สำนักพระยายมราช เมื่อพระยายมราชเห็นว่า ข้าพระองค์กับพระนางนันทานั้น เป็นนักโทษถูกฆ่าไปเหมือนกันก็จะยกพระนางนันทาให้แก่ข้าพระองค์เสีย ข้าพระองค์ถึงจะตายไป ก็ไม่ทุกข์ร้อนประการใด เพราะไปแล้วก็จะได้นางแก้วอันประเสริฐสุด เห็นปานดังนี้
    จึงมีคำปุจฉาสอดเข้ามาว่า เหตุไรพระบรมโพธิสัตว์เจ้า จึงสรรเสริญแต่พระนางนันทาแต่ผู้เดียว ไม่สรรเสริญกษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์นั้น มีคำวิสัชนาว่า ธรรมดาคนและสัตว์ทั้งปวง จะมีความอาลัยในคนอื่นเหมือนกับภรรยาอันเป็นที่รักนั้นหามิได้ ภรรยาอันเป็นที่รักนั้น ย่อมรักยิ่งกว่าลูกหญิงลูกชาย ถ้าไม่ระลึกถึงภรรยาแล้ว ก็หาระลึกถึงลูกหญิงลูกชายไม่ อันคนทั้งหลายที่บ่นถึงลูกหญิงลูกชายนั้น ก็เป็นการแก้เก้อเขินเท่านั้น อันที่จริงนั้นก็คือ ระลึกถึงภรรยานั่นเอง เพราะฉะนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงพรรณนาแต่พระรูปพระโฉมแห่งพระนางนันทาองค์เดียวเท่านั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าจุลนี ได้ทรงฟังคำพรรณนา พระรูป พระโฉม พระนางนันทาอัครมเหสี ดังที่แสดงมาแล้วนี้ ก็ทรงพระดำริว่า ผู้อื่นนอกออกไปจากมโหสถแล้ว ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะไปนำเอานางแก้วผู้เป็นอัครมเหสีของเรานั้นกลับมาให้แก่เราได้ ครั้นทางดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัย ทรงระลึกถึงนางนันทาอัครมเหสียิ่งนักหนา ประหนึ่งว่าจะดำรงทรงพระกายอยู่บนหลังช้างพระที่นั่งไม่ได้ ให้ทรงอัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศรก ประหนึ่งว่า จะสลบซบพระพักตร์ลงกับหลังช้างพระที่นั่งนั้น
    อถ นํ มหาสตฺโต ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงโลมเล้าเอาพระทัยของพระเจ้าจุลนีว่า ขอพระองค์อย่าได้ทรงพระปริวิตกไปเลย พระพุทธเจ้าข้า ถ้าข้าพระบาทกลับไปถึงกรุงมิถิลาเมื่อไรแล้ว ก็จะส่งกษัตริย์ทั้ง 3 คือ พระอัครมเหสี พระราชโอรส และพระราชชนนีของพระองค์ มาถวายพระองค์เมื่อนั้น ขอพระองค์อย่าได้ทรงเป็นทุกข์ไปเลย พระพุทธเจ้าข้าฝ่ายสมเด็จพระเจ้าจุลนีก็ค่อยสร่างความโศกลง จึงทรงพระดำริว่า พระนครของเรา เราก็ได้พิทักษ์รักษาไว้เป็นอันดี พระนครนี้เล่า เราก็ล้อมไว้มั่นคงหนักหนา แต่ว่า มโหสถยังให้พลโยธาไปนำเอากษัตริย์ทั้ง 4 จากพระนครของเรามาสู่นครนี้ แล้วส่งไปกับพระเจ้าวิเทหราชได้ ไม่มีใครรู้เล่ห์แต่สักคนเดียว มโหสถนี้เป็นคนรู้ทิพยมารยา หรือว่ามนต์บังตาประการใด ทรงพระดำริดังน้าแล้ว ก็ตรัสถามว่า ดูก่อนมโหสถบัณฑิต ตัวเจ้าได้เรียนมารยาอันเป็นทิพย์ หรือมนต์บังตาหรือ จึงปลดเปลื้องพระเจ้าวิเทหราชให้พ้นจากเงื้อมมือของเราไปได้ พระบรมโพธสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน ธรรมดานักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมได้เรียนมารยาอันเป็นทิพย์ไว้ จึงจะช่วยตนและผู้อื่นให้พ้นภัยอันตรายได้ พวกโยธาหนุ่มๆทั้งหลายของข้าพระองค์นี้ แต่ละคนล้วนฉลาดในการตัด ฟัน ติดต่อ ก่อแซมสิ่งทั้งปวง ข้าพระองค์ให้พลโยธาเหล่านี้ทำอุโมงค์ไว้สำหรับส่งเสด็จเจ้านายของข้าพระองค์ให้เสด็จกลับไปสู่กรุงมิถิลา ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าจุลนีก็มีพระราชประสงค์จะได้ทอดพระเนตรอุโมงค์ แต่ไม่ได้ตรัสประการใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็รู้แจ้งพระอัธยาศัย จึงกราบทูลว่า ขอพระราชทานเชิญพระองค์เสด็จเข้ามาทอดพระเนตรอุโมงค์ ตามพระราชประสงค์เถิด อุโมงค์นี้ ข้าพระองค์ได้ตกแต่งไว้แล้วเป็นอันดี วิจิตรไปด้วยรูปปั้นรูปเขียน เป็นต้นว่า รูปช้าง รูปม้า ราชสีห์ พลโยธีที่เดินเท้า อุโมงค์นี้มีแสงสว่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกับแสงสว่างแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ ดูวิจิตรรจนาอย่างประหนึ่งว่า เทวสภาในสวรรค์ มีประตูใหญ่ 70 ประตู ประตูน้อยๆอีก 64 ประตู มีห้องบรรทมสำหรับกษัตริย์ร้อยเอ็ดห้อง ถ้าพระองค์มีไมตรีต่อข้าพระองค์แล้ว ก็ขอเชิญมาทอดพระเนตรพร้อมด้วยราชบริวารเถิด ข้าพระองค์จะให้เปิดประตูพระนครถวาย ฝ่ายพระเจ้าจุลนีก็ทรงรับคำว่า เราทั้งหลายจักเป็นไมตรีกับเจ้านักปราชญ์นับแต่วันนี้เป็นต้นไป พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ให้เปิดประตูพระนครรับเสด็จในทันใด สมเด็จพระเจ้าจุลนีกับบริษัททั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ก็เสด็จเข้าไปในภายในพระนคร พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ลงจากปราสาทมาถวามบังคม แล้วนำเสด็จลงสู่อุโมงค์พร้อมด้วยบริวาร สมเด็จพระเจ้าจุลนีได้ทรงทอดพระเนตรเห็นอุโมงค์นั้น ก็ตรัสสรรเสริญพระบรมโพธิสัตว์เจ้าว่า ดูก่อนเจ้ามโหสถ ถ้านักปราชญ์มีเหมือนกับตัวเจ้านี้ อยู่ในถิ่นฐานบ้านเมืองหรือเหย้าเรือนอันเดียวกันกับบุคคลผู้ใดแล้ว บุคคลผู้นั้นชื่อว่า มีลาภอันล้ำเลิศ สมเด็จพระเจ้าจุลนีทรงสรรเสริญพระบรมโพธิสัตว์เจ้าพลาง ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยลำดับ เชยชมซึ่งห้องสิริไสยาสน์ทั้งร้อยเอ็ดห้อง และห้องดวงประทีปกับรูปภาพต่างๆ ในการเสด็จไปนั้น ได้เสด็จออกไปหน้าพระบรมโพธิสัตว์เจ้าฯ เสด็จตามไปข้างหลัง อำมาตย์ราชเสนาทั้งปวงต่างก็ชวนกันเข้าไปในอุโมงค์ แต่พอเสด็จไปถึงประตูอุโมงค์ริมแม่น้ำ ก็เสด็จออกทางประตูอุโมงค์ โดยไม่ทันรู้สึกพระองค์ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงเสด็จตามออกไป แล้วเหยียบสลักยนต์ให้แล่นถึงกัน ปิดประตูห้องใหญ่ห้องน้อย และห้องประทีปเสียหมด ในขณะนั้น ก็เกิดความืดเหมือนกับโลกันตนรก คนทั้งปวงก็สะดุ้งตกใจ ร้องไห้อื้ออึงอยู่ในอุโมงค์ ส่วนพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้ทรงฉวยพระขรรค์ที่หมกทรายไว้ใกล้ประตูอุโมงค์นั้น แล้วก็เผ่นโผนโจรทะยานขึ้นไปบนอากาศ สูงได้ถึง 18 ศอก จึงลงมาจับข้อพระหัตถ์ของพระเจ้าจุลนีไว้ แล้วเงื้อพระขรรค์ขึ้นคุกคามว่าสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นเป็นของผู้ใด เวลานั้นพระเจ้าจุลนีตกพระทัยถึงกับพระกายสั่นพระขวัญบิน จึงตรัสตอบว่า ดูก่อนเจ้าปราชญ์ สมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้เป้นของพ่อทั้งนั้น ขอพ่อจงให้อภัยแก่เราเถิด
     
  5. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ต่อจาก 5 ม.ค.53
    พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทรงเห็นว่า ท้าวเธอเป็นผู้หมดพยศอันร้ายแรง จึงตรัสว่า การที่ข้าพระบาทเงือดเงื้อพระขรรค์นี้ มิได้คิดจะฆ่าพระองค์เลย คิดแต่ที่จะแสดงอานุภาพของปัญญาให้ปรากฏเท่านั้น ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็ส่งพระขรรค์เล่มนั้นถวายแด่พระเจ้าจุลนี พร้อมด้วยกราบทูลว่า ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงฆ่าข้าพระบาทแล้ว ก็จงฆ่าด้วยพระขรรภ์เล่มนี้เถิด ถ้าไม่ทรงฆ่า ก็จงทรงให้อภัยข้าพระบาทเสีย สมเด็จพระเจ้าจุลนีจึงตรัสตอบว่า ดูก่อนเจ้าปราชญ์ เรายินดีให้อภัยแก่พ่อแล้ว ขอพ่ออย่าวิตกเลย ในขณะนั้น คนทั้งสอง คือ พระบรมโพธิส้ตว์เจ้ากับพระเจ้าจุลนี ต่างก็จับดาบสาบานกันว่า จะไม่ทำอันตรายแก่กันอีกต่อไป แล้วพระเจ้าจุลนีจึงตรัสถามว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ พ่อก็มีปัญญามากมายถึงเพียงนี้ เหตุไรจึงไม่คิดเอาสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นเสีย พระบรมโพธิสัตว์เจ้ากราบทูลว่า การคิดเอาสมบัติของผู้อื่นเสียนั้น ย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญแห่งนักปราชญ์ทั้งหลาย ดูก่อนเจ้าปราชญ์ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการดีแล้ว บัดนี้ พ่อจงให้ชีวิตแก่คนทั้งหลาย ซึ่งอยู่ในอุโมงค์นี้ก่อนเถิด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เปิดประตูอุโมงค์ออก ให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ให้คนทั้งหลายหายใจคล่อง คนทั้งหลายมีกษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์เป็นประธาน ก็พากันชื่นบานทั่วทุกตัวตน แล้วออกไปจากอุโมงค์ไปรวมกันอยู่ในที่ใกล้พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งประทับอยู่ใกล้โรงกลมอันกว้างใหญ่ กับสมเด็จพระเจ้าจุลนี ในเวลานั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็กราบทูลสมเด็จพระเจ้าจุลนีว่า หม่อมฉันได้จัดการอภิเษกพระเจ้าวิเทหราช กับพระราชธิดาของพระองค์บนกองแก้วในโรงกลมอันกว้างใหญ่นี้ แล้วได้ส่งเสด็จไปตามลำดับนั้น กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ จึงตรัสว่า ดูก่อนเจ้าปราชญ์ ข้าพเจ้าทั้งปวงนี้ ได้รอดชีวิตอยู่ได้เพราะท่านผู้เดียว ถ้าท่านไม่เปิดประตูอุโมงค์เพียงอีกสักครู่เดียวเท่านั้นก็จะต้องตายหมด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงกราบทูลขึ้นว่าพระองค์ทั้งหลาย รอดชีวิตเพราะข้าพเจ้าแต่ในคราวเดียวนี้ก็หาไม่ ถึงในคราวก่อนก็เหมือนกัน ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงทูลเล่าเรื่องที่พระเจ้าจุลนีผู้ทรงเลี้ยงเหล้าชัยบานในพระราชอุทยาน ดังที่ได้แสดงมาแล้วข้างต้นนั้น ถวายให้ทรงทราบโดยพิสดาร ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์จึงกราบทูลถามพระเจ้าจุลนีว่า จะจริงหรือประการใด พระเจ้าจุลนีก็รับสารภาพว่า จริง กษัตริย์ทั้งปวงจึงพากันสรรเสริญพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแล้วเปลื้องเครื่องประดับออกบูชาองค์พระบรมโพธิสัตว์เจ้าๆ ก็ถวายโอวาทแก่พระเจ้าจุลนีผู้เป็นขัตติยาธิราชว่า ขอพระราชทาน การที่พระองค์ทรงทำกรรมอันลามกเช่นนี้ ก็เพราะคบหาเกวัฏฏพราหมณ์ผู้เป็นคนใจบาปหยาบช้า เวลานี้ขอพระองค์จงทรงขอโทษท้าวพระยาทั้งปวงเถิด ฝ่ายพระเจ้าจุลนีก็ทรงขอโทษต่อกษัตริย์ทั้งปวงแล้ว แสดงความยินดีแก่กันและกันลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัต จึงโปรดให้จัดเลี้ยงดูท้าวพระยาและมหาชนคนทั้งปวง แล้วเสด็จเข้าสู่พระนคร ทรงสักการบูชาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก แล้วจึงชวนพระบรมโพธิสัตว์เจ้าไม่ยอมอยู่ ได้ทูลลากลับไปสู่กรุงมิถิลาในวันที่ 8 นับแต่วันนั้นไป สมเด็จพระเจ้าจุลนีได้พระราชทานสิ่งของ เงินทอง บ้านส่วย ทาส ทาสี ให้แก่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก และพระราชทานซึ่งพระราชทรัพย์ไปให้แก่พระราชธิดาของพระองค์อีกมาก กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ได้พร้อมกันพระราชทานเครื่องราชบรรณาการอีกเป็นอันมาก ฝ่ายบุรุษที่พระโพธิสัตว์เจ้าให้มาสมัครทำราชการอยู่กับพระเจ้าจุลนี และกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดพระองค์นั้นก็ลาออกจากหน้าที่ทั้งสิ้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้ากับบริวารทั้งปวง ก็เสด็จล่วงมรรคาไป จนตราบเท่าถึงกรุงมิถิลามหานคร พร้อมด้วยนิกรจตุรงค์ ครั้นไปถึงแล้ว สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจึงทรงต้อนรับปราศรัย แล้วจัดการมหรสพสมโภชพระบรมโพธิสัตว์เจ้าอยู่ตลอด 7 วัน 7 คืน ครั้นแล้วพระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงให้เสนาข้าราชการอัญเชิญกษัตริย์ทั้ง 3 คือพระราชมารดา พระอัครมเหสี พระราชโอรส กลับไปถวายแด่พระเจ้าจุลนีๆ ก็ทรงส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าวิเทหราชเป็นอันมาก จำเดิมแต่นั้นมา พระเจ้าจุลนีกับพระเจ้าวิเทหราช และประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ต่างก็มีความรักใคร่สนิทสนมกันเป็นนิตย์
    ปญฺจาลจนฺที รญฺโญ ปิยา มนาปา อโหสิ สาปิ ทุติเย สํวตฺฉเร ปุต์ตํ วิชานิ ตสฺส ทสเม สํวจฺฉเร วิเทหราชากาลมกาสิ โพธิสตฺโต ตสฺเสว ฉตฺกั อุสฺสาเปตฺวา เทว อหํ ตว อยฺยกฺส จุลฺลนีรญฺโญ สนฺติถํ คมิสฺสามีติ อาปุจฺฉีติ
    ดำเนินความว่า สมเด็จพระนางเจ้าปัญจาลจันที ซึ่งได้ไปเป็นพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชนั้น พระนางเจ้าเป็นที่พอพระหฤทัยของท้าวเธออย่างยิ่ง ครั้นล่วงเข้าปีที่ 2 พระนางเจ้าก็ได้ทรงพระครรภ์อยู่จนถ้วนทศมาส 10 เดือน แล้วก็คลอดพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ในปีต่อไป ก็ได้คลอดพระราชโอรสและพระราชธิดาอีก เมื่อพระราชโอรสนั้นมีพระชนมายุได้ 10 ขวบ ก็ได้ประจวบกับเวลาที่สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชผู้เป็นพระราชบิดาได้เสด็จสู่สวรรคาลัย สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็จัดการราชาภิเษก ซึ่งพระราชกุมารนั้น สืบสันตติราชวงศ์แทนพระราชบิดาสืบต่อไป ครั้นแล้วพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็กราบทูลลาพระราชกุมาร เพื่อจะไปอยู่กับสมเด็จพระเจ้าจุลนี ตามที่ได้ถวายปฏิญาณไว้แต่เมื่อครั้งทำสัจสาบานกันที่ประตูอุโมงค์นั้น พระราชกุมารและพระนางปัญจาลจันทีก็ทรงอ้อนวอนไว้ด้วยถ้อยคำต่างๆ แต่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ทูลคัดค้านว่าจะเสียปฏิญาณจำเป็นที่พระราชกุมาร พระอัครมเหสีต้องทรงอนุญาต พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็พาบ่าวไพร่บริวารของพระองค์ถวายบังคมลาออกจากพระนคร ในเวลานั้น มหาชนคนทั้งปวงทั่วพระนคร ก็พากันยอกรข้อนทรวงร้องไห้ร่ำไรรักพระบรมโพธิสัตว์เจ้ามี่สนั่นไป เมื่อทราบข่าวถึงไหนก็พากันร้องไห้ร่ำไรถึงนั้น เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าไปถึงอุตตรปัญจาลนครแล้ว สมเด็จพระเจ้าจุลนีก็เสด็จออกไปต้อนรับอัญเชิญเข้าไปสู่ราชธานี พระราชทานเรือนใหญ่ให้เป็นที่อยู่ กับหมู่บ้าน 80 ตำบล ซึ่งได้พระราชทานไว้เมื่อคราวทำสัจสาบานกันที่ปากอุโมงค์นั้น ส่วนสมบัติอื่นๆ ยังไม่ได้พระราชทานเลย จำเดิมแต่นั้นไป พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ตั้งใจรับราชการอยู่ในสำนัก พระเจ้าจุลนีตลอดกาลนาน
    ตทา เภรี นาม ปริพฺพาชิกา ในคราวนั้น มีนางปริพาชิกาคนหนึ่งชื่อว่านางเภรีปริพาชิกา เป็นผู้มีปัญญาฉลาดคนหนึ่ง เข้าไปฉันอาหารอยู่ในพระราชนิเวศน์อยู่เป็นนิตย์ อยู่มาวันหนึ่ง ได้พบหน่อยพระพิชิชิตมาร คือพระบรมโพธิสัตว์เจ้าในเวลาขากลับออกจากพระราชวัง จึงคิดว่ามโหสถบัณฑิตนี้จะมีปัญญาสมกับเขาเลื่องลือจริงหรือหามิได้ จำเราจะถามปริศนาในใจลองดูปัญญาสักหน่อย ครั้นคิดแล้วจึงแบมือออกถามปริศนาในใจว่า พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานทรัพยสมบัติสิ่งใด แก่ท่านบ้างหรือว่าหามิได้ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็รู้แจ้งในปริศนานั้น จึงกำมือออก เป็นเครื่องหมายว่า ทุกวันนี้พระมหากษัตริย์ทรงยังมัธยัสถ์อยู่ ยังไม่ทรงพระราชทานสิ่งใดสิ่งหนึ่งอีกเลย ยังทรงกำสมบัติเหมือนกับกำมือของข้าพเจ้านี้ นางปริพาชิกาก็ยกมือขึ้นลูกศีรษะเป็นปริศนาว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านควรจะบวชเสียดีกว่า พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ลูบท้องเป็นปริศนาว่า ยังบวชไม่ได้ เพราะยังจะต้องเลี้ยงบุตรภรรยาอยู่อีกมาก ครั้นแล้วนางปริพาชิกาก็กลับออกไปสู่อาวาส ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เข้าไปสู่ที่เฝ้า เมื่อหญิงทั้งหลาย ที่พระนางนันทาผู้เป็นพระราชเทวีของพระเจ้าจุลนีได้ทรงกำชับไว้ให้คอยจับความผิดของพระโพธิสัตว์เจ้า โดยความที่พระนางเจ้าทรงโกรธแค้นว่า ได้พรากพระราชธิดาของพระนางเจ้าเสีย เมื่อได้เห็นกิริยาที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้ากับนางปริพาชิกทำเป็นปริศนาแก่กันดังนั้น จึงพากันเข้าไปกราบทูลยุงยงพระเจ้าจุลนิว่า บัดนี้ พระมโหสถคิดการเป็นกบฏ เสียแล้ว ข้าพระบาททั้งหลาย ได้เห็นกริยาของมโหสถ กับนางปริพาชิกา ทำเป็นปริศนาแก่กันเมื่อวานนี้ เป็นสำคัญที่หน้าพระลาน คือ ฝ่ายข้างนางปริพาชิกาแบบมือยื่นไปเป็นปริศนาว่า ท่านจะทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ ในเงื้อมมือไม่ได้หรือ ข้างมโหสถก็กำมือตอบเป็นปริศนาว่า อีก ๒-๓ วัน เราจะทำสมบัติให้อยู่ในกำมือของเรา นางปริพาชิกาจึงยกมือขึ้นลูบศีรษะ เป็นปริศนาว่า ท่านจงตัดศีรษะเสียเถิด ข้างมโหสถยกมือขึ้นลูบท้องเป็นปริศนาว่า จะตัดกลางตัว เพราะฉะนั้น ขอพระองค์อย่าได้ประมาทเลยพระพุทธเจ้าข้า
    โปรติดตามอ่านตอนต่อไป 19 ม.ค.53
     
  6. 8ocdj said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    ต่อจาก 11 ม.ค.53
    เมื่อได้เจ้าจุลนีได้ทรงสดับถ้อยคำของหญิงเหล่านั้น ดังที่ แสดงมาแล้ว จึงดำริว่ามโหสถนี้ คิดจะประทุษร้ายแก่เราจริงหรืออย่างไร เมื่อเราถามนางปริพาชิกา ก็จะรู้แน่ พอนางปริพาชิกาเข้าไปฉันอาหารในวันรุ่งขึ้น จึงถามได้ความจริงว่า ที่ทำเป็นปริศนาให้แก่กันดังที่แสดงมาแล้วนั้น หาได้ทำเป็นปริศนาเรื่องกบฏไม่ เวลานางปริพาชิกาฉันเสร็จแล้ว กลับออกมา จากพระราชวัง เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าไปเฝ้าในภายหลัง พระเจ้าจุลนี ก็รับสั่งสอบถามอีก ได้ความตรงกันกับถ้อยคำของนางปริพาชิกา จึงทรงพระโสมนัสปรีดา ได้พระราชทานตำแหน่ง เสนาบดีให้แก่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า พระองค์เดียว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงทรงเฉลียวพระทัยว่า การที่พระมหากษัตริย์ ได้ทรงพระราชทานตำแหน่งและอำนาจอันสิทธิ์ขาดในราชการแก่เราในคราวเดียวเช่นกัน จะเป็นทุจริตหรือไม่ หรือจะเป็นอุบายที่คิดจะฆ่าเราเสีย จำเราจะต้องสืบสวนดูจากนางปริพาชิกาเสียก่อน เมือถวายบังคมลาออก จากที่เฝ้าแล้วจึงออกไปหานางปริพาชิกา ได้ถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า การที่พระมหากษัตริย์เจ้าได้พระราชทานยศ และอำนาจอันใหญ่หลวงแก่ ข้าพเจ้าในคราวเดียวเช่นนี้เป็นทุจริตประการใด ขอพระแม่เจ้า จงช่วยคิดอ่านให้รู้น้ำพระทัยของพระมหากษัตริย์เจ้าด้วยเถิด
    นางปริพาชิกา ก็รับด้วยคำว่าจะช่วยเหลือ แล้วพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เสด็จกับสู้เคห สถาน ในเวลารุ่งเช้านางปริพาชิกาก็เข้าไปฉันอาหารในพระราชวัง เสร็จแล้วจึง ทูลพระมหากษัตริย์ว่า อาตมาต้องการความสงัด พระมหากษัตริย์ตรัสสั่ง ให้คนทั้งปวงไปจากที่นั้นเสีย
    นางปริพาชิกาจึงทูลถามเป็นปัญหาเรื่อง ผีเสื้อน้ำเพื่อจะทดลองน้ำพระทัยพระมหากษัตริย์ว่า จะทรงคิดอ่านประการใดว่า ขอถวายพระพร ถ้าคนทั้ง ๗ คน คือ สมเด็จพระสลากเทวีผู้เป็นพระราชชนนีของพระองค์ ๑ พระอนุชาของพระองค์ ๑ ธนุเสกขะผู้เป็นพระสหายของพระองค์ ๑ เกวัฏฏพราหมณ์ปุโรหิต ๑ มโหสถบัณทิต ๑กับพระองค์ ๑รวมเป็น ๗ คน ด้วยกัน ลงสำเภาลำเดียวกันแล่นออกไปในมหาสมุทร มีผีเสื้อน้ำแหวกน้ำ ขึ้นมาขอกินคนในสำเภาของพระองค์ จะพระราชทานใครให้ผีเสื้อน้ำกินเป็นคนที่ ๑ และจะพระราชทานใครเป็นคนที่ ๒-๓ ต่อไปโดยลำดับ
    สมเด็จพระเจ้าจุลนีตรัสตอบว่าจะพระราชทานมารดาของเราก่อน ถัดมาที่ ๒ จะให้พระนันทาอัครมเหสี ที่ ๓ จักให้ติกข-มนตรีเป็นพระอนุชาที่ ๔ จัก ให้ธนุเสกขะผู้เป็นพระสหาย ที่ ๕ จัดให้เกวัฏฏอาจารย์ ที่ ๖ จัดให้ตัวเราเอง ส่วนมโหสถนั้นจะไม่ให้ผีเสื้อน้ำกินเป็นอันขาด พอนางปริพาชิกาได้ ฟังพระราชดำรัสดังนี้ ก็แน่ใจว่า พระมหากษัตริย์ได้คิดที่จะทำร้ายพระ โพธิสัตว์เจ้าปรากฏแก่คนทั้งหลาย เหมือนกับพระจันทร์ในวันเพ็ญ อันปรากฏเด่นอยู่ ในอากาศฉะนั้น
    จึงทูลให้คนทั้งปวงซึ่งอยู่ในพระราชวังมาประชุมกันสิ้นแล้วทูลถามปัญหาดังที่ว่ามาแล้วนั้น พระมหากษัตริย์ก็ทรงแก้ไขโดยนัยหนหลัง
    นางปริพาชิกาจึงถวายพระพรถามหาเหตุผลว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระราชสมภารผู้เป็นใหญ่ในปฐพีมณทล พระมารดาของพระองค์ ได้ทรง พระคุณมากกว่ามาก ได้ทรงเลี้ยงดูพระองค์มาด้วยการป้อนข้าวอาบน้ำวันล่ะ ๓ เวลาเป็นนิตย์ ในเวลาที่ฉัพภิพราหมณ์คิดจะทำร้ายพระองค์ พระมารดาก็ทรงแก้ไขสิ่งอื่นมาแลกเปลี่ยน ให้พระองค์พ้นจากมรณภัยเสีย เมื่อพระมารดามีพระคุณแก่พระองค์มากเช่นนี้ เหตุไรจึงจะให้พระมารดา เป็นอาหารแก่ผีเสื้อน้ำก่อนคนทั้งปวงเล่า
    ในเรื่องนี้มีมาว่า ครั้งพระเจ้าจุลนียังทรงพระเยาว์เป็นทารกอยู่นั้นพระมารดาได้รักใคร่กับฉัพภิพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต จึงทรงประกอบยาพิษ ให้พระเจ้ามหาจุลนีผู้เป็นพระราชสามีเสวย เมื่อพระราชสามีสวรรคตแล้วพระนางเจ้าผู้เป็นหญิงกาลี ก็ยกราชสมบัติให้แก่ฉัพถิพราหมณ์ครอบครองต่อไป อยู่มาวันหนึ่ง เวลาพระจุลนีกุมารเสวยน้ำอ้อย มีหมู่แมลง วันมาตอม จุลนีกุมารทรงบิน้ำอ้อยทิ้งลงให้แมลงวันหน่อยหนึ่ง พอแมลงวันทั้งหลายมาตอมกินก็ไล่ตีแมลงวันเหล่านั้น เมื่อฉัพภิพราหมณ์ ได้เห็น จึงคำนึงว่า กุมารผู้นี้เป็นคนมีนิสัยฉลาด เวลาเติบโตขึ้นอาจ จะฆ่าเราเสียเป็นมั่นคง ควรเราจะฆ่าเสียโดยเร็วพลัน ครั้นดำริแล้ว จึงชี้แจงแก่พระนางกาลี ๆ ก็ทูลว่า หม่อมฉันรับอาสาฆ่าเอง โดยไม่ให้ผู้ใด ผู้หนึ่งรู้ล่วง ครั้นกราบทูลแล้ว จึงมอบพระโอรสให้พ่อครัวรับไปไว้ ในโรงครัวด้วยกัน ทรงกำชับว่า ท่านจงไปหากระดูกแพะมาไว้ในโรงครัวเสีย พาลูกของท่านกับลูกของเราเล็ดลอดหนีไปอยู่บ้านเมืองอื่น จงได้ เพราะเวลานี้ฉัพภิพราหมณ์คิดจะฆ่าลูกของเราเสีย พ่อครัว ก็กระทำตามคำสั่ง เมื่อไฟไหม้ โรงครัวขึ้นแล้วคนทั้งหลายก็ช่วยกันดับ แล้วโจทย์ขึ้นว่า พ่อครัวกับพระราชกุมาร ถูกไฟไหม้ตายเสียหมด แล้วจึงเก็บเอากระดูกไปถวายพระนางโสภณทุจริตๆ ก็นำขึ้นกราบทูล แก่พราหมณ์ใจอำมหิตว่า ไฟไหม้พระราชโอรสกับพ่อครัวและลูกของเขา ตายเสียหมดแล้ว นี่แหล่ะเป็นกระดุกพระราชโอรส ฝ้ายอ้ายพราหมณ์ทรยศก็แสนที่จะดีใจ จึงว่าเมื่อมันตายแล้วก็ดี จักได้กลับ
    กล่าวถึงพ่อครัวต่อไปเป็นใจความว่า พ่อครัวได้พาลูกของตัวอันชื่อว่า ธนุเสกขกุมารกับพระจุลนีกุมาร ลอบหนีออกจากบ้านเมืองไปถวายตัว เป็นพ่อครัวของพระเจ้ามัททราช ในสกลนคร เวลาพ่อครัวขึ้นเฝ้าพระเจ้า มัททราช ๆ ก็ตรัสถามว่า เด็กทั้งสองนี้เป็นลูกของใคร พ่อครัวกราบทูลเป็น คำอำพรางว่า เป็นลูกของตนทั้งหมด แต่ที่มีรูปร่างท่าทางแปลกกันเพราะต่างมารดากัน ครั้นอยู่มาพระเจ้ามัทราชก็ทรงสงสัย ด้วยวันหนึ่งพระจุลนี ราชกุมาร ได้ขึ้นไปเล่นอยู่ในที่ใกล้พระนางนันทาราชิดาของพระองค์ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ พระนางนันทาให้เข้าไปหยิบเอาเชือกลูกข่าง แต่พระจุลนีกุมารหาได้หยิบให้ไม่ เวลาที่พระนางมันทาทรงกริ้วก็ตรงเข้าจะต่อยตามประสาเด็ก พระนางนันทาก็ทรงกันแสงไปฟ้องต่อพระบิดา อยู่มา ที่เล่นเด็กอื่นๆ ได้คุกเข่าเข้าไปรับทั้งนั้น แต่ของเล่นพระจุลนีกุมารกระเด็นเข้าใต้พระแท่นบรรทมน้อยของพระเจ้ามัททราช พระจุลนีราชกุมารได้ไปหาไม้มาเขี่ย ออกมา ไม่ทรงลอดเข้าไปเก็บโดยถือว่าพระองค์ว่า เราไม่ควรที่จะลอดใต้ที่บรรทมของกษัตริย์บ้านเล็กเมืองน้อยเช่นนี้ เหตุการณ์เหล่านี้ทั้งสิ้น พระเจ้ามัททราชได้ทรงรู้เห็นทั้งนั้น จึงเชื่อแน่พระทัยว่า กุมารคนนี้ไม่ใช่ลูกพ่อครัวเป็นแน่นอน จึงให้พ่อครัวเข้าเฝ้า ชักพระขรรค์ออกขู่ว่า เด็กคนนี้เป็นลุกของใคร ถ้าไม่บอกตามความจริงกูจะฆ่าเสียเดี๋ยวนี้ พ่อครัวกลัวตายจึงกราบทูลไปตามความจริง เมื่อพระเจ้ามัททราชทรงรู้แจ้งดังนั้นก็ไม่ถือโทษพระราชกุมาร เวลาพระราชกุมารและพระราชธิดาของ พระองค์ทรงพระเจริญวัย ก็ทรงจัดการอภิเษกให้เป็นภัสดาและพระชายา กันเสีย อาศัยเหตุผลดังนี้
    นางปริพาชิกาจึงกราบทูลถามพระเจ้าจุลนี้ว่าเมื่อพระราชมารดาได้ช่วยปลดเปลื้องให้พระองค์พ้นจากมรณภัย แต่ในเวลาเมื่อยังทรงพระเยาว์ จัดว่าเป็นผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ แต่เหตุไรพระองค์จึงจักให้พระมารดาเป็นอาหารแก่ผีเสื้อน้ำก่อนคนทั้งปวง พระราชมารดามี ความผิดสิ่งใด หรือพระเจ้าข้า
    พระเจ้าจุลนีตรัสชี้แจงว่า เพราะพระมารดา ของเราทำให้เราได้รับความอัปยศอดสู่อยู่เป็นอันมาก คือข้อที่ ๑ พระราชมารดาของเราได้แต่งตัวเหมือนกับสาวน้อยๆ ทรงสร้อยสะอิ้งสังวาลเดินกรายไปกรายมาในเวลาที่เสนาอำมาตย์มาประชุมพร้อมกัน ทำกิริยา กระซิกกระชี้ให้เขาเห็น ไม่นึกว่า ตัวเป็นคนแก่ใกล้จะตายแล้ว ทั้งไม่นึกว่า ตัวเป็นมารดาของพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ เราได้แลเห็นแล้วรู้สึก อดสู่ต่อหมู่อำมาตย์ยิ่งนักหนา ข้อที่ ๒ พระราชมารดาของเราได้ทรงเรียกบ่าวไพร่เป็นต้นว่า นายช้าง นายม้า นายประตู เข้าไปพูดจาหัวเราะเล่นเป็นการไม่สมควรแก่นางท้าวนางพระยาข้อที่ ๓ มารดาของเราได้เขียนหนังสือลับไปถึงกษัตริย์ต่างๆ ให้มาขอไปเป็นเมีย โดยทำเป็นหนังสือ ของเรา ปลอมลายมือของเรา เมื่อกษัตริย์เหล่านั้นได้รับแล้วก็ตอบเรามาว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นข้าเฝ้าของพระองค์ เหตุไรพระองค์จึงมีพระราชสาส์นไปเช่นนั้นเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องทำให้เราอดสูทงนั้นเพราะฉะนั้น เราจึงจักให้ผีเสื้อน้ำกินเสียก่อนทั้งปวง
    นางปริพาชิกาได้ทูลถามความผิดของคนอื่นๆ ต่อไป พระเจ้าจุลนี ก็ได้ทรงชี้ความผิดของคนอื่นๆ ตามลำดับ คือ ทรงชี้ว่า พระนางนันทาอัคร มเหสีนั้น เป็นคนริษยาคอยหาช่องทางแย่งชิงเอาของที่พระราชทานจาก นางนักสนมกำนัลในอื่นๆ เสมอๆ ติกข-นมนตรีผู้เป็นอนุชานั้นเป็น ผู้ถือตัวว่าพระเจ้าจุลนีได้ราชสมบัติเพราะตน คือ พระอนุชาพระองค์นี้เมื่อ พระมารดาเป็นชู้ฉัพภิพราหมณ์นั้น ยังอยู่ในพระครรภ์ของพระมารดา พอเติบโตขึ้นมาได้ทราบชัดว่า ฉัพภิพราหมณ์ไม่ใช่พระราชบิดา จึงหา โอกาสฆ่าฉัพพราหมณ์เสีย แล้วไปทูลเชิญพระเจ้าจุลนีมาเสวยราชย์เป็น พระเจ้าจุลนีต่อมา ธนุเสกขะเป็นผู้เป็นพระสหายนั้น ได้มีความผิดโดยเหตุ ถือความคุ้นเคยกับพระเจ้าจุลนีเกินไปเช่น ในเวลาที่พระเจ้าจุลนีประทับอยู่ในห้องบรรทมสองต่อสองกับพระอัครมเหสี เขาก็จู่เข้าไปโดยไม่ทันได้รับอนุญาตดังนี้เป็นต้น เกวัฏฏพราหมณ์นั้นเป็นคนมีความผิดในฐานที่ชอบมองพระเนตรพระมหากษัตริย์ในเวลากราบทูล ไม่รู้สึกเกรงกลัวต่อพระบรมราชานุภาพบ้าง โดยเหตุเหล่านี้ สมเด็จพระเจ้าจุลนีจึงจะให้คนเหล่านี้เป็นอาหารแก่ผีเสื้อน้ำตามลำดับกัน ส่วนพระองค์เองนั้นทรงเห็นว่าไม่เป็นผู้คุณความดีเท่าพระมโหสถ จึงจะขอตายแทนพระมโหสถเสีย ส่วนพระมโหสถนั้น เป็นผู้ทรงคุณความดีหาผู้ใดจะเสมอมิได้ กาย วาจา ใจ ของมโหสถล้วน แต่ทำดี คิดสิ่งที่มีประโยชน์แก่ตน และคนทั้งหลายเหล่านีอยู่เป็นนิตยกาล ทั้งประกอบด้วยปรีชาญาณนึกซึ้งยิ่งนักหนา ทำให้เป็นประโยชน์ แก่ประชาชนคนทั้งหลายตลอดถึงตัวพระเจ้าจุลนีด้วย ดังเรื่องที่แสดงมา แล้วตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงชี้ฌโทษและคุณ ของคนทั้งหลายให้ฟังดังนี้แล้ว นางปริพาชิกาจึงขอให้ป่าวร้องชาวพระนครมาสโมรสกันที่หน้าพระลานหลวง แล้วทูลเชิญพระเจ้าจุลนีออกไปแก้ปริศนาให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายดังที่แสดงมา ครั้นแล้วจึงประกาศให้คนทั้งหลายทราบว่า พระมโหสถ เป็นผู้ทรงคุณประเสริฐยิ่งกว่าคนทั้งหลาย คนทั้งหลายก็เห็นตามทุกประการ
    โปรดติดตามอ่าน กลับชาติและปัจฉิมเทศนา 20 มกราคม 2553 ครับ
     
  7. piangfan said:

    Re: มโหสถบันฑิต-ตอน-2

    สาธุค่ะ ลุงโจ
    ขอบคุณค่ะ