คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ

กระทู้: คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. **wan** said:

    คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ



    คำสอนในพระพุทธศาสนา
    โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ


    มีคำถามว่า เวลาใกล้ตายจะทำจิตอย่างไร ตายแล้วจึงจะไปเกิดในที่ดี

    ตอบว่า ถ้าจะไปหัดทำจิตในเวลาใกล้ตายจะมีประโยชน์อะไร อุปมาเหมือนคนตกน้ำ ถ้าคนนั้นว่ายน้ำไม่เป็น เวลาตกน้ำจะไปบอกว่าให้ว่ายอย่างนั้นซิ ให้ทำอย่างนี้ซิ คนตกน้ำจะทำได้หรือ ก็ทำไม่ได้ ผลที่สุดก็จมน้ำตาย แต่ถ้าจะไม่ให้จมน้ำตายก็ต้องหัดว่ายน้ำให้เป็นก่อน เมื่อตกน้ำไปจะได้ไม่จมน้ำตาย แต่ถ้าจะไปหัดว่ายน้ำเวลาตกน้ำจะมีประโยชน์อะไร ฉันใดก็ดีคนที่จะไปหัดจิตใจในเวลาใกล้ตายก็ไม่มีประโยชน์ฉันนั้น เพราะใกล้จะตายแล้ว จิตหมดกำลังแล้วจะไปทำอะไรได้

    ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ต้องการจะไปเกิดในที่ดี ก็ต้องหัดจิตให้ทำดีตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาตาย คือต้องหัดจิตให้ทำกุศลให้คล่อง ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ขณะที่ยังมีกำลัง มีความสามารถอยู่ เพราะคนที่ทำกุศลเป็นแล้ว เมื่อเวลาใกล้ตายก็ไม่จำเป็นต้องไปถามใคร ๆ ว่าจะทำจิตอย่างไรจึงจะไปเกิดที่ดี เหมือนกันคนที่ว่ายน้ำเป็นแล้ว เมื่อตกน้ำไปก็ไม่ต้องถามใครว่าจะว่ายน้ำอย่างไร

    ดังนั้น บุคคลที่ต้องการให้ชีวิตเดินทางไปสู่ในที่ดี จึงต้องศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวกับความจริงของชีวิตให้เข้าใจถูกต้องตรงความเป็นจริง จึงจะเอาเป็นที่พึ่งให้เอาตัวรอดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะการรู้เหตุผลถูกต้อง เมื่อจะต้องการผลอะไร ก็จะได้ทำเหตุได้ถูกทำให้ได้ผลสมปรารถนา คนเราที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่รู้เหตุและผลตามความเป็นจริงของชีวิต ทั้ง ๆ ที่ ทุกคนต่างก็ต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ แต่เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดความสุข และอะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ จึงได้ทำทุกอย่างไปตามความเห็นของตัวเองคือทำตามชอบใจ แต่ไม่ได้ทำตามชอบธรรม เพราะฉะนั้น ผลที่ตนต้องการคือความสุขก็ไม่ได้ ส่วนผลที่ไม่ต้องการคือความทุกข์ก็กลับได้มา จนเป็นเหตุให้ชีวิตต้องพลัดไปเกิดในอบายภูมิ ภูมิที่มีแต่ความทุกข์หาความสบายไม่ได้ เลยเป็นเหตุให้หมดโอกาสที่จะแก้ตัว เพราะการไปเกิดในอบายเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน นั้น มีแต่ไปรับผลของความทุกข์ ปัญญาก็ไม่มี จะมีโอกาสหาความรู้ได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่เดี๋ยวนี้ มีความสุขมีปัญญาเกิดได้ ยังแสวงหาความรู้ที่เกี่ยวกับเหตุผลความจริงของชีวิตไม่ค่อยได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด ก็เพราะปัจจัยของแต่ละคนที่สั่งสมอบรมนิสัยมาต่างกัน เป็นอุปสรรคขัดขวางอันสำคัญ เพราะคนเราย่อมเข้ากันได้ด้วยธาตุที่เสมอกัน เช่น คนกินเหล้าก็ไปอยู่กับพวกกินเหล้า คนมีธรรมะก็ไปอยู่กับคนมีธรรมะ คือมีจิตประเภทไรก็ไปอยู่กับจิตประเภทนั้น ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ อานนท์ เธอเห็นภิกษุที่เดินตามหลังพระสารีบุตรไปไหม ภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต มีปัญญามากทั้งนั้น แต่ส่วนภิกษุที่เดินตามหลังพระเทวทัต ล้วนมีแต่ความเห็นผิดเป็นพาล เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีปัญญา มีแต่ทำตัวให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น ”

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การสั่งสมเหตุปัจจัยนี้เป็นของสำคัญ คือใครสั่งสมอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น เหตุนี้คนโง่จึงต้องไปอยู่กับคนโง่ คนฉลาดก็ไปอยู่กับคนฉลาด แต่ถ้าคนโง่ได้ฟังธรรมที่เห็นถูก สามารถเปลี่ยนความเห็นผิดได้ก็ไปอยู่กับคนฉลาดได้

    การฟังธรรมเกี่ยวกับความเห็นถูกจึงเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สามารถ มีปัญญาที่จะรู้ความจริงได้ ทั้งยังได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นศาสนาแห่งเหตุผล พระพุทธองค์ทรงบอกเหตุและผลให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง เหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ชื่อว่าเป็นยอดของบัณฑิตเป็นยอดของกัลยาณมิตร เพราะมีแต่แนะนำประโยชน์สุขให้แก่ชาวโลก ตั้งแต่สุขเล็กน้อยจนถึงสุขที่พ้นจากความตายไม่ต้องเกิดมารับทุกข์ อีกต่อไป

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาไปตามความจริงของธรรมชาติ เหตุนี้จึงไม่มีคำสอนใด ๆ ในโลกที่จะนอกไปจากคำสอนในพระพุทธศาสนา เว้นไว้แต่ว่าคำสอนเหล่านั้นสอนถูกหรือสอนผิดจากความจริงของธรรมชาติเท่านั้นเอง และการที่เราจะรู้ว่าคำสอนของพระพุทธองค์นั้น สอนถูกตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ พระพุทธองค์ก็บอกให้เอาเหตุผลที่ทรงแสดงไว้ให้ไปพิสูจน์กับธรรมชาติเหล่านั้น เช่น จะต้องการรู้ความจริงของเกลือก็ต้องไปชิมเกลือ เกลือก็จะบอกความจริงให้รู้เองว่าเกลือเค็ม ถ้าต่อมาใครมาบอกว่าเกลือหวานจะเชื่อไหม ก็ไม่เชื่อ เพราะได้รู้ความจริงที่เกลือแล้ว เหตุนี้จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นของจริงหรือไม่จริง ก็ต้องพิสูจน์ความจริงจากธรรมชาตินั้น แล้วธรรมชาตินั้นจะบอกความจริงให้รู้เอง แต่ถ้าฟังเขาบอกอย่างเดียวยังไม่ได้พิสูจน์ก็ตัดสินความจริงยังไม่ได้ จะต้องพิสูจน์ก่อนด้วยตัวเองจึงจะหมดความสงสัยในสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่จำเป็นต้องมีบุคคลเป็นผู้รับรองคำสอนว่าเป็นคำสอนที่ดี เป็นความจริงควรเชื่อถือได้ เพราะสภาพธรรมเหล่านั้นจะเป็นผู้รับรองความจริงเองว่าจริงหรือไม่จริง ด้วยเหตุนี้คนที่รู้จักความจริงแล้วจึงได้รู้เหมือนกันหมด จะไม่รู้ต่างกันเลย เพราะความจริงนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือเป็นมาอย่างไรตั้งแต่โลกเกิดจนโลกทลาย ก็คงความจริงอยู่อย่างนั้น เช่นเกลือเค็มก็คงความเค็มอย่างนั้นอยู่ตลอดกาลไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย

    ความจริงจึงเป็นสิ่งที่ทนต่อการพิสูจน์ จะพิสูจน์เมื่อไรก็ได้ เพราะความจริงมีให้พิสูจน์อยู่ตลอดกาล คำสอนในพระพุทธศาสนาจึงไม่มีการล้าสมัย ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงคำสอน เพราะเป็นคำสอนที่เป็นไปตามความเป็นจริง แม้สิ่งที่เกิดกับตัวเอง เช่นตามีหน้าที่เห็น ถ้าตาบอดแล้วจะเอาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปใช้เห็นแทนตาก็ไม่ได้ เพราะหน้าที่ของใครก็เป็นของเฉพาะตัว เพราะเป็นธรรมที่เกิดจากปัจจัยที่ต่างกันจึงยืมกันใช้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ของจริงจึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นอัตตา เพราะบังคับบัญชาไม่ได้ จึงไม่เป็นไปตามใจที่ต้องการ เพราะธรรมทั้งหลายที่เกิดจากเหตุจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้ามีปัจจัยสมควรแก่เหตุที่ทำได้ แต่ถ้าปัจจัยไม่สมควรแก่เหตุก็ทำไม่ได้ ความจริงจึงเป็นอนัตตาไม่ใช่เป็นอัตตา

    สิ่งที่เป็นความจริงย่อมมีเป็นสาธารณะแก่สัตว์ทั่วไป คือที่ตัวเราก็มีที่โลกภายนอกก็มี ความจริงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งทุกอย่าง จะต้องมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งสิ้น คือเกิดมาแล้วก็ต้องดับเสื่อมสลายไป ที่เกิดมาแล้วจะไม่ดับไม่เสื่อมสลายไปนั้นไม่มี เพราะฉะนั้น ของจริงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เป็นสาระแก่นสารเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะเกิดแล้วก็ดับไป สิ่งที่ดับไปจะเอาเป็นที่พึ่งได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ของจริงจึงต้องรู้ด้วยปัญญา คนไม่มีปัญญาก็รู้ไม่ได้

    เหตุนี้คำสอนในพระพุทธศาสนาจึงเป็นคำสอนที่เกิดด้วยพระปัญญาคุณของพระพุทธองค์ที่ตรัสรู้ความจริง พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งปัญญา เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ความจริงแล้ว ก็ได้นำเอาความจริงนี้มาแสดงเพื่อให้สัตว์โลกหายหลงพ้นจากทุกข์ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ คือพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลกตลอดเวลา ๔๕ ปี โดยไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากลำบากเหน็ดเหนื่อย เพราะพุทธองค์ตั้งใจปรารถนาที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์อย่างเดียว พระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในการแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก พระพุทธองค์ก็ไม่ได้หวังอามิสใด ๆ เป็นเครื่องตอบแทน เพราะพระพุทธองค์เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสแล้ว พระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นด้วยพระบริสุทธิคุณ
    เหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งธรรมชาติ เป็นศาสนาที่สาธารณะทั่วไปแก่สัตว์โลกทั้งหลาย คือบุคคลใดจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ถ้าปฏิบัติถูกตรงตามเหตุผลความเป็นจริงก็ได้ผลดี ถ้าปฏิบัติผิดจากเหตุผล ความจริงก็ได้ผลไม่ดี เพราะฉะนั้นบุญบาปจึงเกิดได้กับคนทุกศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งธรรมชาติ เป็นศาสนาแห่งเหตุผล เป็นศาสนาที่สอนตามความจริง เป็นศาสนาที่ไม่มีความลี้ลับ เพราะพระพุทธองค์ทรงเปิดเผยความจริงให้สัตว์โลกได้รู้ความจริงหมดทุกอย่าง พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ทุกคนควรนับถือ เพราะไม่ตรัสผิดจากความจริง คำสอนในพระพุทธศาสนาจึงไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม เพราะผู้ใดรู้เหตุผลถูกต้องตามความจริงก็รู้ได้เร็วเท่าไร ก็พ้นจากความวิบัติไม่ต้องเป็นทุกข์เสียใจ พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่น่าศึกษา เพราะเป็นประโยชน์แก่คนทุกคนให้เอาตัวรอดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

    เหตุนี้ชาวพุทธถ้าไม่ศึกษาคำสอนที่เกี่ยวกับเหตุผลความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็จะไม่รู้จักพระพุทธศาสนา จะไม่เห็นความมหัศจรรย์ในพระปัญญาคุณ ในพระมหากรุณาธิคุณ และในพระบริสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าประเสริฐเลิศล้นเพียงใด เพราะพระพุทธองค์ทรงลำบากมากมายในการสร้างบารมีถึง ๒๐ อสงไขยแสนกัปเพื่อใคร ก็เพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงชี้ทางพ้นทุกข์ให้แล้ว เหตุไฉนชาวพุทธจึงไม่รับเอาเพื่อความสุขและความพ้นทุกข์ของตัวเอง


    ต่อตอน 2
     
  2. **wan** said:

    Re: คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ

    ทีนี้ การหาความรู้ที่เกี่ยวกับความจริงของชีวิตจะหาได้จากที่ไหน ก็หาได้จากการศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งเป็นคำสอนที่สอนตามความเป็นจริงของธรรมชาติ คำสอนในพระอภิธรรมจะแสดงประวัติความจริงของสภาพธรรมทุกอย่างที่มีอยู่ในตัวเราให้ได้ทราบความจริงทุกอย่าง แต่ถ้าไม่ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ใคร ๆ จะรู้เหตุผลความจริงในเรื่องของตัวเองไม่ได้เลย ว่าชีวิตที่มีความเป็นอยู่ได้อย่างนี้เป็นไปได้เพราะอะไร จิตใจเราทำการงานกันอย่างไร อะไรคือบุญ อะไรคือบาป บุญบาปเกิดจากอะไร บุญบาปให้ผลอะไร เหตุใดจึงเกิดเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เพราะทำกรรมอะไรจึงเกิดไม่เหมือนกัน แม้เกิดเป็นคนเหมือนกัน แต่บางคนก็มีนิสัยดี มีนิสัยไม่ดี บางคนมีสุข มีทุกข์ บางคนมีความสามารถมาก แต่บางคนไม่มีความสามารถเพราะเหตุอะไร คำสอนในพระอภิธรรมจะบอกความจริงในเรื่องของตัวเองให้รู้หมดทุกอย่าง ตลอดจนบอกให้รู้ถึงภูมิที่เกิดของสัตว์โลกว่ามีเท่าไรและเกิดเป็นอะไรได้บ้าง ที่ไปเกิดเหล่านั้น เพราะทำกรรมอะไรมา เมื่อรู้เหตุผลแล้วจะเลือกเกิดที่ไหนก็เลือกเกิดได้ และถ้าไม่ต้องการเกิดจะทำอย่างไร คำสอนในพระอภิธรรมจะบอกเหตุผลความจริงแท้ให้รู้หมดทุกอย่าง ไม่ให้หลงไปตามสมมติบัญญัติของโลก การรู้เหตุผลความจริงจึงทำให้เกิดปัญญา ให้เกิดความเห็นถูก ทำลายความเห็นผิดให้หมดไป ทำให้เกิดความสุขเพราะได้รู้เหตุผลความจริง เมื่อรู้ความจริงแล้ว ใคร ๆ จะมาหลอกให้เห็นผิดจากความจริงไม่ได้เลย อย่างที่กล่าวมาแล้ว่าเกลือเค็ม ใครจะมาบอกว่าเกลือหวานจะไม่เชื่อเลย และ ความรู้ที่เกิดจากความเห็นถูกยังจะเป็นปัจจัยติดตามตนไปในชาติต่อ ๆ ไปให้ได้สร้างปัญญาให้เกิดความเห็นถูกอีก จนสามารถทำลายกิเลสคือความเห็นผิดให้ขาดเป็นสมุจเฉท พ้นจากทุกข์ได้แน่นอน

    ด้วยเหตุนี้ การศึกษาให้รู้เหตุผลความจริง ท่านอย่าคิดว่าเสียเวลาเปล่า เพราะต้องศึกษานาน สู้ไปปฏิบัติให้รู้ความจริงขึ้นมาเองจะดีกว่า เพราะจะได้พ้นทุกข์เร็วเข้า แต่ท่านอย่าลืมว่า การที่ไม่รู้เหตุผลความจริง จะไปทำเหตุให้ถูกได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นความจริงแท้ อะไรเป็นความจริงตามสมบัติ เพราะความจริงแท้นั้นไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ามีเหตุปัจจัยให้เกิดก็เกิดอีก ถ้าดับเหตุปัจจัยหมดก็ไม่เกิด แล้วรู้หรือว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ธรรมเหล่านั้นดับไม่เกิดอีกต่อไป แม้การไปปฏิบัติธรรม ปฏิบัติแล้วละกิเลสอะไรได้ กิเลสมีกี่อย่าง จะละกิเลสชนิดไหนด้วยธรรมอะไร เรื่องเหล่านี้จะต้องศึกษาให้รู้เหตุผลก่อน เมื่อไปปฏิบัติจึงจะรู้เหตุผลตรงตามความเป็นจริงได้ การศึกษาจะเป็นที่พึ่งเหมือนแผนที่นำทาง ให้ได้ไปค้นหาขุมทรัพย์ได้สมปรารถนา เพราะสิ่งใดก็ตามถ้าหากได้ตั้งต้นถูก ก็ชื่อว่าได้เข้าถึงความสำเร็จแล้วกึ่งหนึ่ง เมื่อเพียรพยายามปฏิบัติต่อไปก็จะถึงความสำเร็จสมปรารถนา แต่ถ้าตั้งต้นผิดแล้วจะถึงความสำเร็จได้อย่างไร

    การศึกษาพระอภิธรรมก็คือการศึกษาให้รู้จักความจริงของชีวิต ถ้าผู้ใดปฏิเสธพระอภิธรรม ผู้นั้นก็ปฏิเสธตัวเอง คือจะไม่รู้จักความจริงของตัวเอง ชีวิตก็จะต้องจมอยู่กับความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ก็คือ ตรัสรู้อภิธรรม ตรัสรู้เหตุผลความจริงในตัวเรานี่เอง การรู้ความจริงในเรื่องของตัวเอง พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่าเป็นธรรมอันยอดเยี่ยม เป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ จึงเรียกว่าพระอภิธรรม พระอภิธรรมจึงเป็นพุทธพจน์ เป็นพุทธภาษิต เป็นพุทธวิสัยโดยแท้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ จะต้องตรัสรู้ธรรมนี้ จึงจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอภิธรรมจึงไม่ใช่สาวกภาษิต ไม่ใช่ของนักปราชญ์คนใดจะรู้ได้เอง เพราะสาวกหรือนักปราชญ์คนใดถ้าไม่ได้ฟังพระอภิธรรมจากพระพุทธองค์ก่อนแล้ว จะประกาศพระอภิธรรมไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกพระอภิธรรมเป็นธรรมอันยอดเยี่ยมกว่าพระสูตร และพระวินัย ด้วยเหตุ ๖ ประการ คือ

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ ได้ทรงพิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริงคือ
    พระอภิธรรม อยู่ถึง ๗ วัน ทรงรู้ว่าธรรมนี้เป็นของสุขุมลึกซึ้งยิ่งนัก ยากแก่การที่สัตว์ทั้งหลายจะรู้ได้ ทำให้เกิดท้อพระทัยที่จะแสดงธรรม ต่อเมื่อได้พิจารณาถึงอินทรีย์แก่อ่อนของสัตว์ทั้งหลาย ก็รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสน้อยมีอยู่ สามารถจะรู้ธรรมชาติตามความเป็นจริงนี้ก็ได้ จึงได้ประกาศสัจธรรมตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งหลายจะได้พ้นจากทุกข์ พระอภิธรรมจึงเป็นธรรมอันเยี่ยมกว่าพระสูตร และพระวินัยเพราะพระสูตรและพระวินัย พระพุทธองค์ไม่ต้องพิจารณาถึง ๗ วัน
    ๒. การรู้พระสูตร และพระวินัย ไม่ได้ทำให้รัศมีของพระพุทธองค์พลุ่งออกจากพระวรกายเป็นมหัศจรรย์ เหมือนอย่างตรัสรู้พระอภิธรรม คือเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ความจริงแล้ว ทรงพิจารณาพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ พอถึงคัมภีร์ที่ ๗ คือมหาปัฏฐาน พระวรกายของพระพุทธองค์ก็ได้เปล่งฉัพพรรณรังสี มีรัศมี ๖ สี คือ สีเขียว สีขาว สีแดง สีเหลือง สีเงินยวง สีม่วง และสีเลื่อมพราย เหตุที่พระพุทธองค์ทรงมีฉัพพรรณรังสี ก็ด้วยอำนาจของพระอภิธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ประหารกิเลสขาดเป็นสมุจเฉท ทำให้พระทัยของพระพุทธองค์บริสุทธิ์ผ่องใสสะอาด พระโลหิตก็สะอาดบริสุทธิ์ จึงเป็นเหตุให้พระรัศมีซ่านออกมาจากพระวรกายของพระพุทธองค์ ไปจนถึงอัชฎากาศ คืออากาศที่ว่างเปล่าหาปริมาณมิได้ เพราะเหตุนี้เองพระอภิธรรมจึงได้เรียกว่าปรมัตถ์ เพราะเป็นความจริงอันประเสริฐยิ่งใหญ่ คือความเป็นจริงแท้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกลับกลอก คือความจริงเป็นอย่างไร ก็คงความจริงอย่างนั้นตลอดกัปตลอดกัลป์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ใดที่รู้ความจริงนี้ได้ ผู้นั้นก็เปลี่ยนจากความเป็นปุถุชนมาเป็นพระอริยบุคคล คือบุคคลที่ประเสริฐตามธรรมที่ประเสริฐนั้นด้วย โดยไม่ต้องเปลี่ยนภพชาติใหม่ ก็สามารถเปลี่ยนบุคคลได้ทันที
    ในบรรดารัศมีทั้งหลาย รัศมีที่เกิดจากพระอาทิตย์ พระจันทร์ เทวดาและพระเจ้าจักรพรรดิก็ดี ก็ไม่มีใครจะมีรัศมียิ่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเทียบเท่ารัศมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย เมื่อกล่าวถึงรัศมีของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ขอกล่าวถึง เหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีรัศมียิ่งกว่าสัตว์ทั้งหลาย ก็ด้วยอำนาจของพุทธวิสัยที่ประกอบด้วยเดช ๕ ประการ คือ
    ๑. พระพุทธองค์ทรงมีศีลเดช คือไม่มีใคร ๆ จะมีศีลหรือวินัยดี มีกาย วาจาปกติเรียบร้อย มีมารยาทดีงามยิ่งไปกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ๒. มีคุณเดช คือพระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแผ่ไปทั่วหมดในสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีความรักความชังใคร มีแต่เมตตาทั่วถึงกันหมด
    ๓. มีปัญญาเดช คือมีปัญญาเลิศล้นกว่าสัตว์โลกทั้งหลาย เพราะสามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงด้วยสัพพัญญุตญาณ
    ๔. มีบุญเดช เพราะได้สั่งสมบุญมาตลอดกาลตั้งแต่ปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สร้างบุญบารมีเรื่อยมา ตั้งแต่เป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี จนครบ ๓๐ บารมี เรียกว่า ติงสบารมี ซึ่งไม่มีใครจะสามารถสร้างบุญบารมีได้เทียบเท่ากับพระพุทธองค์
    ๕. มีธรรมเดช คือสามารถรู้ธรรมชาติตามความเป็นจริงทุกอย่าง เพราะรู้วิเสสะลักษณะ และสามัญลักษณะ แล้วนำมาสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ได้จริง

    วิเสสะลักษณะ คือ ลักษณะที่ประจำตัวของสภาพของธรรมทั้งหลาย เช่น ดินมีลักษณะอ่อนและแข็ง ไฟมีลักษณะร้อนและเย็น เป็นต้น พระพุทธองค์ทรงรู้ทุกอย่าง ใคร ๆ ไม่สามารถรู้ได้ แม้แต่พระปัจเจกพุทธะก็รู้ไม่ได้ เพราะเหตุที่รู้ลักษณะสภาพธรรมได้ทุกอย่าง พระพุทธองค์จึงได้ทรงรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นอัตตา เพราะสภาพธรรมนั้นมีลักษณะต่าง ๆ กัน ไม่ใช่เป็นอย่างเดียวกัน จึงได้แสดงธรรมโปรดสัตว์โลกได้

    ส่วน สามัญลักษณะ คือลักษณะที่มีเสมอทั่วไปหมดในบรรดาธรรมที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมจะมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เหมือนกันหมด
    ด้วยคุณธรรมเหล่านี้จึงทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีรัศมียิ่งกว่าสัตว์ทุกประเภท


    ต่อตอน 3...
     
  3. **wan** said:

    Re: คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ

    ๓. พระสูตรและพระวินัย พระพุทธองค์ไม่ได้ยกขึ้นเทศนา โปรดพระพุทธมารดา เพราะไม่มีคุณค่าเปรียบเท่ากับคุณของพระพุทธมารดา มีแต่พระอภิธรรมเท่านั้น ที่คู่ควรแก่การตอบแทนคุณของพุทธมารดา เพราะเมื่อแสดงทำให้ผู้ฟังเกิดความเห็นถูกตามความเป็นจริงทำให้หายหลงพ้นจากความเห็นผิด

    ๔.การแสดงพระสูตรและพระวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงทำปาฏิหาริย์ให้เห็นเป็นอัศจรรย์แก่มหาชนทั้งหลาย เหมือนกับการแสดงพระอภิธรรม คือก่อนแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา พระพุทธองค์ได้แสดงยมกปาฏิหาริย์ คือแสดงในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ เป็นคู่ ๆ กัน ให้ปรากฏแก่สายตาของมหาชนทั้งหลาย เช่น ทรงแสดงให้ท่อน้ำ ท่อไฟ พลุ่งออกจากที่นั้นเป็นคู่ ๆ พลุ่งออกไปพร้อม ๆ กันทุกแห่ง เช่น แสดงท่อน้ำให้พลุ่งออกจากพระเนตรข้างซ้าย ท่อไฟออกจากพระเนตรข้างขวา และยังท่อน้ำ ท่อไฟทั้งสองให้พลุ่งขึ้นไปจนจรดพรหมโลก ทางกว้างก็พลุ่งออกไปจนจรดขอบจักรวาลแม้พระฉัพพรรณรังสีก็พลุ่งออกไปเป็นคู่ ๆ คือพลุ่งขึ้นไปจนจรดพรหมโลกแล้วตลบลงมาจนจรดขอบปากจักรวาล เป็นต้น และในขณะที่แสดงยมกปฏิหาริย์ ก็ยังทรงแสดงธรรมแก่มหาชน ให้มีความร่าเริงยินดีในธรรมอีกด้วยและยังทรงตรวจดูอัธยาศัยของชนทั้งหลายที่มาประชุมกันว่า จิตใจของแต่ละคนเป็นอย่างไร แล้วก็ทรงแสดงธรรมและปาฏิหาริย์ให้ถูกใจของคนแต่ละคนด้วย

    ๕.พระสูตรและพระวินัย พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงยกขึ้นมาแสดงรวดเดียวจบตลอด ๓ เดือน เหมือนอย่างแสดงพระอภิธรรม

    ๖. พระสูตรและพระวินัย เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง ไม่ได้ทำให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย บรรลุมรรคผลนิพพาน เหมือนกับการแสดงพระอภิธรรม เช่นเมื่อพระพุทธมารดาได้สดับพระอภิธรรมแล้ว ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันพร้อมด้วยเทวดา พรหม ก็บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมากมายเป็นแสนเป็นโกฏิ เพราะเหตุผลเหล่านี้ พระอภิธรรมจึงเป็นธรรมยอดเยี่ยม

    ด้วยเหตุนี้ บุคคลใดต้องการรู้จักความจริงของชีวิต จึงต้องศึกษาพระอภิธรรม พระอภิธรรมจะบอกความจริงในเรื่องของตัวเองตั้งแต่เกิดมาทีเดียวว่าเกิดมาได้อย่างไร เมื่อเกิดมาแล้วร่างกายจิตใจ ทำการงานสืบต่อภพชาติกันไปอย่างไร อดีตเรามาจากไหน ปัจจุบันเราจะใช้ชีวิตอย่างไร ตายแล้วจะไปไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือ กรรมให้ผลได้จริงหรือ นรกสวรรค์มีจริงหรือ เรื่องปัญหาชีวิตเหล่านี้ พระอภิธรรมจะบอกความจริงให้รู้หมดทุกอย่าง เรื่องความจริงของชีวิตเหล่านี้ นักปราชญ์บัณฑิตคนใดก็สอนให้รู้ความจริงไม่ได้ ได้แต่สอนเรื่องนอกตัวซึ่งไม่ใช่ความจริง วิชาทางโลกจึงเรียนไม่รู้จบ เพราะไม่ได้เรียนเข้าหาความจริง จึงทำให้เกิดความหลงวนเวียนอยู่ในวัฏฏะส่วนวิชาทางธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้รู้จักความจริง การรู้ความจริงจึงสามารถเรียนจบ คือผู้ใดรู้จักความจริงของตัวเองจบก็ชื่อว่ารู้จบโลกพระพุทธองค์ที่ว่ารู้แจ้งโลก ก็รู้แจ้งโลกในกายยาววาหนาคืบกว้างศอกที่ตัวเรานี่เอง จึงได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งนอกในโลก สิ่งใด ๆ ที่พระพุทธองค์จะไม่ทรงรู้ไม่มีเลย เหตุนี้มาพบพระพุทธศาสนาแล้วจะปล่อยชีวิตให้ผ่านไปโดยไม่ศึกษาให้รู้เหตุผลความจริงของชีวิตเพื่อความพ้นทุกข์หรือ ?
    การเรียนอภิธรรมเป็นการเรียนรู้ความจริงตามที่พระพุทธองค์ทรงบอกไว้ แต่ตัวเราเองยังไม่รู้จริง ๆ จึงต้องมีการปฏิบัติให้รู้จริงเห็นจริงด้วยตนเอง จึงจะหายหลงหมดความสงสัย ข้อปฏิบัติที่จะให้เห็นความจริงได้ ข้อปฏิบัตินั้นจึงต้องมีการทำลายกิเลสด้วย เพราะความจริงนั้นเกิดมีอยู่ตลอดเวลา แต่ที่เราไม่เห็นความจริงก็เพราะถูกกิเลสคืออวิชชาปิดบังไว้ เหตุนี้จึงต้องขูดเกลากิเลสให้หมดก่อน ปัญญาจึงจะรู้แจ้งความจริงได้ เพราะฉะนั้นข้อปฏิบัติที่จะให้เห็นความจริงได้ ข้อปฏิบัตินั้นต้องมีการกำจัดอวิชชาด้วยจึงจะเห็นความจริงได้ ข้อปฏิบัตินั้นคืออะไร คือมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายกลางที่ปฏิบัติพอดี ไม่ยิ่งและไม่หย่อนเกินไป ที่ว่าปฏิบัติพอดีไม่ยิ่งไม่หย่อนเกินไปหมายความว่าอย่างไร คือในสมัยพุทธกาลเขาได้มีการปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส คือพวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อกำจัดโลภะ ก็เรียกข้อปฏิบัตินั้นว่า อัตตกิลมถานุโยค คือการปฏิบัติด้วยการทำตัวให้ลำบากเพื่อไม่ให้เกิดโลภะก็จะหมดจากกิเลส ส่วนอีกพวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค คือปฏิบัติด้วยการบำรุงตัวด้วยกามคุณ ให้มีความสุขมาก ๆ เพราะเมื่อเป็นสุขแล้วโทสะก็จะไม่เกิด ก็เข้าใจว่าหมดจดจากกิเลส คนในสมัยนั้นรู้จักกิเลสเฉพาะโลภะกับโทสะ แต่ไม่รู้จักโมหะ ซึ่งเป็นมูลให้เกิดโลภะและโทสะ เพราะฉะนั้นถึงจะละโลภะ และโทสะอย่างไรก็ละได้ไม่หมด เพราะว่ามูลที่ให้เกิดโลภะ โทสะ คือโมหะ นั้นยังมีอยู่ ยังไม่ได้ถูกทำลาย โลภะโทสะก็เกิดได้อีก แต่ถ้ากำจัดมูล คือโมหะได้แล้ว โลภะ โทสะก็เกิดไม่ได้ จึงจะหมดจากกิเลส กิเลสคือโมหะนี้ ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มาตรัสรู้ ใคร ๆ ก็รู้จักโมหะไม่ได้ เพราะเหตุที่พระพุทธองค์ทรงรู้จักโมหะ จึงได้กำจัดกิเลสได้ขาดเป็นสมุจเฉท ด้วยเหตุนี้ข้อปฏิบัติที่ว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลางนั้น เพราะเป็นข้อปฏิบัติที่เดินไประหว่างกลางของโลภะ และโทสะ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นทางสุดโต่งทั้งสองข้าว จึงไม่สามารถปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทาละโมหะได้จึงจะพ้นทุกข์ได้ ด้วยเหตุนี้ ข้อปฏิบัติอันใดก็ตาม ถ้าปฏิบัติแล้วละโมหะไม่ได้ ข้อปฏิบัตินั้นก็ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทาเพราะปฏิบัติแล้วพ้นทุกข์ไม่ได้ เหตุนี้เป็นชาวพุทธจึงต้องรู้จักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถูกต้องจึงจะเอาตัวรอดพ้นจากทุกข์ได้
    ทีนี้ การปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทาจะปฏิบัติอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ เพราะสติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส เนื่องจากเป็นธรรมที่ทำลายวิปลาสได้ และกำจัดอภิชฌาโทมนัสได้ อภิชฌาก็คือโลภะ โทมนัสก็คือโทสะ การที่สติปัฏฐานกำจัดอภิชฌาและโทมนัสได้ทั้ง ๒ อย่าง ก็หมายความว่ากำจัดโมหะได้นั่นเอง เพราะกำจัดโมหะคือมูลของโลภะโทสะได้ โลภะและโทสะจึงเกิดขึ้นไม่ได้ การที่พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่าสติปัฏฐานกำจัดโมหะ ก็พูดเพื่อคล้อยตามอัธยาศัยของคนในสมัยนั้นที่ต้องการจะกำจัดโลภะและโทสะอยู่แล้ว เมื่อเขารู้ว่าสติปัฏฐานกำจัดได้ทั้งโลภะ และโทสะ เขาก็ยินดีที่จะปฏิบัติตาม เพราะข้อปฏิบัติของเขาละได้เฉพาะทีละอย่าง แต่ถ้าพระพุทธองค์ไปบอกว่าข้อปฏิบัตินี้ละโมหะเขาไม่รู้จักโมหะเขาก็จะไม่รับฟัง ไม่น้อมเอาไปปฏิบัติ ความพ้นทุกข์ก็จักไม่เกิดแก่เขา

    การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือการกำหนดรู้ที่กาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริง กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ได้แก่ขันธ์ ๕ หรือได้แก่นามรูป ซึ่งได้แก่กายและใจ คือตัวเรานี่เอง ก็ต้องอาศัยมีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ เป็นผู้พิจารณาความจริง

    การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม จะเรียกว่าเป็นการกำหนดรู้ทุกข์ก็ได้ เพราะทุกข์ในที่นี้ก็หมายถึงทุกข์ คือขันธ์ ๕ ไม่ได้หมายเฉพาะทุกขเวทนาเท่านั้น เพราะทุกขเวทนาก็อยู่ในขันธ์ ๕ นั่นเอง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานคือความเพียร สติ สัมปชัญญะ ที่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ ก็คือการทำกิจของอริยสัจ ๔ นั่นเอง เพราะอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์เป็นกิจที่จะต้องกำหนดรู้ สมุทัยเป็นกิจที่จะต้องละให้หมดไป นิโรธเป็นกิจที่ต้องทำให้แจ้ง มรรคเป็นกิจที่จะต้องเจริญให้เกิดขึ้น ที่ว่าทุกข์เป็นกิจที่จะต้องกำหนดรู้นั้นคือจะต้องพิจารณาขันธ์ ๕ ให้เห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นทุกข์จริง ๆ ไม่ได้มีสุข ทั้งเป็นของไม่เที่ยง ไม่มีสาระ แก่นสาร บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อผู้ใดพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ว่ามีแต่ทุกข์จริง ๆ ใครเลยจะอยากได้ทุกข์ เพราะทุกข์มีแต่ความเป็นบีบคั้นทำลายตนให้เดือดร้อนอยู่เสมอ เมื่อไม่อยากได้ทุกข์ สมุทัยคือความอยากก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ขณะที่กำหนดรู้ทุกข์ สมุทัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ ก็ได้ชื่อว่าละสมุทัย เพราะสมุทัยมีกิจต้องละให้หมดไป การที่ละความอยากคือสมุทัยได้ ก็ทำให้ห่างไกลจากความทุกข์ เพราะสมุทัยคือความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุนี้เมื่อละสมุทัยได้มากเท่าไรก็เข้าใกล้นิโรธ คือนิพพานธรรมที่ดับทุกข์เข้าไปทุกที จนสมุทัยเกิดไม่ได้เลยก็แจ้งนิโรธ เข้าถึงธรรมที่ดับทุกข์ ก็พ้นจากทุกข์ เพราะการที่ กำหนดรู้ทุกข์ นั่นเอง คือการเจริญมรรค อันนี้จึงเป็นข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความพ้นทุกข์ จะเรียกว่าเจริญมรรคก็ได้ เพราะที่กำหนดรู้ทุกข์ก็คือการเจริญมรรคมีองค์ ๘ จึงเรียกว่าเจริญวิสุทธิก็ได้ เพราะการเจริญมรรค ๘ ทำให้เกิดญาณความรู้ หมดจดจากกิเลสเป็นขั้น ๆ ไป เพราะฉะนั้น การเจริญมรรค ๘ จะเรียกว่า ปฏิบัติพรหมจรรย์ก็ได้ หรือ จะเรียกว่าเจริญวิปัสสนาก็ได้ เพราะเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ คือ เห็นนามรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือ จะเรียกว่าเจริญอินทรีย์สังวรก็ได้ เพราะการเจริญวิปัสสนาจะต้องมีการสำรวมอินทรีย์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้เฉพาะอารมณ์ที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเพื่อรู้แจ้งความจริง จึงมีชื่อเรียกได้หลายชื่อ เพราะเรียกไปตามกิจหน้าที่การงานที่ละกิเลส เหตุนี้ข้อปฏิบัติธรรมจึงต้องมีธรรมเหล่านี้เข้าร่วมทำงานไปด้วยกัน จึงสามารถประหารกิเลสให้ขาดเป็นสมุจเฉทพ้นจากทุกข์ได้

    ด้วยเหตุนี้ การนับถือพระพุทธศาสนา จะนับถือเพียงแค่ศรัทธาเชื่อตาม ๆ กันมาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะศรัทธาไม่สามารถทำลายกิเลสให้พ้นทุกข์ได้ การนับถือเพียงศรัทธาผลก็พ้นทุกข์ไม่ได้เหมือนกัน การนับถือด้วยศรัทธาจึงรักษาพุทธศาสนาไว้ไม่ได้ การนับถือพระพุทธศาสนาจะต้องนับถือด้วยปัญญาคือต้องศึกษาให้รู้เหตุผล ต้องมีปัญญาทำลายกิเลสได้ เพราะคำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนสอนให้ละกิเลสเป็นประการสำคัญ การละกิเลสได้จึงเป็นพุทธประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะช่วยให้สัตว์ทั้งหลายได้พ้นจากทุกข์ ถ้าไม่มีปัญญาละกิเลสไม่ได้


    ต่อตอน 4
     
  4. **wan** said:

    Re: คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ

    ดังนี้
    การนับถือพระพุทธศาสนาจึงต้องนับถือด้วยปัญญาจึงจะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงอยู่ได้ เพราะทำให้เห็นประโยชน์ของพระพุทธศาสนา ให้เห็นคุณค่าของมรรค ผล นิพพาน ว่าทำให้สัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์ได้จริง พระพุทธศาสนาที่ว่าประเสริฐเป็นเลิศกว่าศาสนาอื่น ๆ ก็เพราะมีคำสอนให้รู้จักธรรมชาติตามความเป็นจริง สอนให้เกิดปัญญาเห็นถูก สามารถทำลายกิเลสคือความเห็นผิดได้ก็ด้วยการเจริญวิปัสสนา ทำให้พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย คำสอนอย่างนี้ไม่มีในศาสนาอื่นเลย มีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เมื่อรู้เหตุผลความจริงอย่างนี้ ก็ควรจะศึกษา ควรจะปฏิบัติตามคำที่พระพุทธองค์ทรงสอน ในเมื่อโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ ตัวเองก็เป็นทุกข์ ต้องแก้ทุกข์ด้วยการหาความสุขจากกามคุณมากลบทุกข์อยู่ทุกวัน ๆ แม้จะหาความสุขเท่าไร ก็แก้ไม่ให้เป็นทุกข์ไม่ได้ เช่น ทุกข์เพราะต้องกิน จึงต้องเหนื่อยยากลำบากในการทำมาหากิน ต้องบำรุงรักษาพยาบาลตัวเองตลอดเวลา เช่น ต้องหาอะไรให้กิน ต้องป้อนข้าว ต้องอาบน้ำ ต้องถ่าย ต้องแต่งตัว ต้องให้นั่ง นอน ยืน เดิน แล้วยังมีทุกข์อื่น ๆ อีกสารพัดทุกข์ที่จะต้องแก้ไข แต่การแก้ทุกข์ให้กับตัวเอง เรามองไม่เห็นความจริงว่าเป็นทุกข์ก็เพราะความรักตัวเอง ถึงแม้จะลำบากทุกข์ยากอย่างไร ถ้าทำให้แก่ตัวเองแล้วก็ทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้าลองไปพยาบาลผู้อื่นเหมือนอย่างทำให้ตัวเอง จึงจะรู้ว่าเป็นทุกข์ลำบาก ไม่อยากทำเลย เพราะเราไม่รัก ด้วยเหตุนี้ ความรักจึงทำให้หลง ไม่เห็นความจริงว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์
    ทุกข์มีอยู่ ๒ อย่าง คือทุกข์เกิดจากกิเลส กับทุกข์ที่เกิดจากวิบาก ทุกข์ที่เกิดจากวิบากก็เพราะทำกุศล อกุศลกรรมไว้ เมื่อกรรมนั้นให้ผลก็ต้องรับผลกรรมนั้น จนกว่าจะหมดกรรมที่ให้ผล เหตุนี้ ทุกข์ที่เกิดวิบาก จึงเป็นทุกข์ที่แก้ไขไม่ได้ เพราะเกิดจากกรรมที่ตัวทำมาแล้วแต่อดีต ผู้ไม่รู้เหตุผลความจริงเมื่อได้รับทุกข์จึงไม่เห็นโทษของตัวเอง ไม่รู้ว่าที่เป็นทุกข์นี้เกิดเพราะตัวทำกรรมไว้ไม่ดี จึงไปเพ่งโทษคนอื่น หาว่าคนอื่นทำให้ตนเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เกิดกิเลสเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นไปอีก ทุกข์เกิดจากกิเลส จึงมีมากมาย เช่นอยากได้อะไร ก็ ต้องเป็นทุกข์ในการแสวงหา ครั้นหาได้มาแล้วก็ ต้องเป็นทุกข์ในการรักษา ต่อไปอีก ถ้าหากสิ่งนั้นเกิดมีอันพลัดพรากจากไปก็ต้องเป็น ทุกข์เพราะพลัดพราก ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสย่อมเผาใจให้เร่าร้อนอยู่เสมอ ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสมาก ๆ กิเลสจะพาไปอบายภูมิเมื่อไรก็รู้ไม่ได้ เพราะอบายภูมินั้นชื่อว่าเป็นบ้านเก่าของปุถุชน ส่วนสุคติภูมินั้นเป็นที่มาเที่ยวเสวยสุขชั่วคราว ถ้าผู้นั้นไม่ประมาทรู้จักทำบุญกุศล ก็ได้อยู่ในสุคติภูมิ แต่ถ้าประมาททำแต่บาปอกุศลก็ต้องกลับไปเสวยความทุกข์ที่ในอบายภูมิอีก ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสถ้ารู้เหตุผลตามความจริงก็แก้ไขได้ คือเราจะเผากิเลสหรือจะให้กิเลสเผาเรา เช่น ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน ถ้ารู้เหตุผลก็แก้ไขได้ เพราะว่าตายแล้วจะไปเกิดที่ไหนก็อยู่ที่เจตนา คือการกระทำของตัวเองในปัจจุบัน ถ้ากระทำกรรมเหมือนกับจิตใจในสัตว์ภูมิใด ตายแล้วก็ต้องไปสู่ภพภูมินั้น เพราะตั้งคลื่นกรรมไว้เป็นอย่างเดียวกัน อุปมาเหมือนกับคลื่นวิทยุ คลื่นส่งกับคลื่นรับ ต้องเป็นคลื่นอย่างเดียวกันจึงรับกันได้ฉันใด การจะไปเกิดในที่ไหนก็ต้องตั้งคลื่นกรรมให้ตรงกันฉันนั้น เช่นจะไปเกิดในอบายก็เพราะทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประพฤติผิดศีล ๕ คือทำแต่บาป บาปก็จะแจกไปเป็นสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง เดรัจฉานบ้างตรงตามกรรมที่ทำไว้ตั้งแต่ที่เป็นมนุษย์ เช่นคนที่โลภมาก โกงเขา ปล้นเขามีความอยากได้ไม่รู้จักพอ ทำจิตใจเหมือนกับเปรตที่มีแต่ความอดอยากหิวโหย ตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต หรือคนที่ชอบใช้อำนาจข่มเหงรังแกคนอื่นโดยไม่ชอบธรรม ตายแล้วก็ต้องไปเกิดเป็นอสุรกายที่มีใจหยาบช้าทารุณเช่นกัน หรือคนใดที่เป็นคนมักโกรธ จิตใจมีแต่ความเร่าร้อนเหมือนถูกไฟเผา ตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรกอยู่ในที่ที่มีแต่ไฟเผาผลาญ หรือบุคคลใดสั่งสมแต่ความโง่ ความหลงเอาแต่กิน เที่ยวเตร่แล้วนอน ไม่รู้จักทำประโยชน์ ทำจิตใจเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะเหตุที่ตัวชอบทำกรรมอย่างไรก็แสดงว่าชอบผลอย่างนั้น ตายแล้วจึงต้องไปเสวยผลตามกรรมที่ตนทำไว้ โดยที่ตัวทำของตัวเองไม่มีคนอื่นมาทำให้เลย
    แต่ถ้าจะไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรักษาศีลห้าให้เป็นปกติ เรียกว่ามีมนุษยธรรมก็จะได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าจะไปเกิดเป็นเทวดาก็ต้องมีเทวธรรม คือมีหิริโอตัปปะ มีความละอายบาปเกรงกลัวต่อบาป ไม่กลัวประพฤติชั่ว แต่ถ้าจะไปเกิดเป็นพรหมก็ต้องบำเพ็ญเพียรทำฌาน แต่ถ้าจะไม่ให้เกิดเลยก็ต้องเจริญวิปัสสนา ทำลายกิเลสให้หมด ก็จะพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ผู้ที่รู้เหตุผลเมื่อจะต้องการผลอย่างไรก็เลือกทำเหตุได้ เพราะเหตุที่จะให้ไปนรก สวรรค์ นิพพาน นั้นอยู่ที่ตัวเรานี่เอง
    ที่กล่าวมานี้ก็เป็นธุระในพระพุทธศาสนาซึ่งต้องมีทั้งคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ คันถธุระ ก็คือการศึกษาเล่าเรียนให้รู้จักคำสอนเรียกว่าปริยัติธรรม ปริยัติธรรมย่อมจะแสดงธรรมมีเหตุ มีผลให้รู้จักความจริง ปริยัติธรรมจึงมีคุณกว้างขวางสามารถเอาเป็นที่พึ่งให้ประพฤติถูกทาง ดังนั้น ผู้ที่เห็นธรรมจึงได้ประกาศคุณของพระพุทธองค์ว่าเหมือนดุจประทีปส่องทาง เหมือนกับหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด ชี้ทางใดคนหลงทาง เพื่อคนมีจักษุจักได้เห็นทาง การศึกษาปริยัติจึงเป็นการสร้างปัญญาบารมี เพื่อละกิเลส เพื่อไปสู่ความพ้นทุกข์อยู่จบพรหมจรรย์ หมดกิจธุระที่จะต้องทำใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่สร้างปัญญาบารมีก็สะสมแต่กิเลสเรื่อยไป
    การอยู่จบพรหมจรรย์จึงต้องปฏิบัติวิปัสสนาธุระ วิปัสสนาก็คือปัญญาที่เห็นนามรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์ย่อมจะนำส่งให้ถึงพระนิพพานแน่นอน ฉะนั้นผู้หวังพ้นทุกข์ถ้าไม่เจริญวิปัสสนาตามคำสอนของพระพุทธองค์ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะ หนทางที่ไปนิพพานถ้านอกจากคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ใคร ๆ ก็ไม่สามารถปฏิบัติธรรมให้ถึงนิพพานได้เลย เพราะถ้าทุกคนปฏิบัติให้ถึงนิพพานได้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่จำเป็นต้องมาตรัสรู้ การที่พระพุทธเจ้ามา
    ตรัสรู้ก็เพื่อจะบอกหนทางไปนิพพานนี่เอง
    เหตุนี้ ชาวพุทธเมื่อจะปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตรงกับคำสอน ต้องเอาคำสอนคือธรรมวินัยเป็นที่พึ่งอย่าได้เอาผู้อื่น เป็นที่พึ่งเลยจักไม่พ้นจากทุกข์ เพราะถ้าไม่รู้ปริยัติธรรมแล้วก็ไม่สามารถเอาธรรมอะไรมาตัดสินความจริงได้ว่า ผู้นั้นสอนผิดหรือถูก แต่ถ้ามีปริยัติธรรมเป็นที่พึ่งแล้วก็สามารถเอาลักษณะของสภาวธรรมเป็นเครื่องตัดสินความจริงได้ว่าสอนผิดหรือถูก เพราะสภาวธรรมจะไม่หลอกลวงใคร ๆ ให้เห็นผิดจากความจริงเลย สภาวธรรมจะบอกตรงตามความจริงทุกอย่าง


    ต่อตอน 5...
     
  5. **wan** said:

    Re: คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ

    ทีนี้ การปฏิบัติวิปัสสนาทำอย่างไร ก็ต้องรู้จักวิปัสสนาภูมิ ๖ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาอันได้แก่ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท หรือได้แก่นามรูปนั่นเอง อารมณ์ของวิปัสสนาจะต้องใช้ปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เพราะปรมัตถ์มีความจริงให้ดู จึงจะเห็นความจริงได้ วิปัสสนาจะใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ไม่ได้ เพราะบัญญัติไม่มีความจริงให้ดู จึงจะเห็นความจริงได้ วิปัสสนาจะใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ไม่ได้ เพราะบัญญัติไม่มีความจริงให้ดู บัญญัติมีแต่ชื่อจะเอาชื่อมาพิสูจน์ให้เห็นความจริงไม่ได้ อุปมาเช่นคนกินยา จะเอาชื่อยาไปกินก็ไม่หายโรค จะต้องเอาตัวยาไปกินจึงจะหายโรค ฉันใดก็ดี การปฏิบัติวิปัสสนาก็จะต้องเอาความจริงมาดูจึงจะเห็นความจริงได้ จะเอาชื่อหรือบัญญัติมาดูก็เห็นความจริงไม่ได้
    เหตุนี้การเจริญวิปัสสนาจึงต้องใช้ปรมัตถ์ คือความจริงแท้เป็นอารมณ์ การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงวิปัสสนาภูมิ ๖ ก็เพื่อให้เหมาะสมแก่อัธยาศัยของผู้ปฏิบัติ ที่จะเลือกใช้อารมณ์ตามใจชอบ ถ้าผู้มีปัญญามากก็พิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยสามารถรู้ลักษณะของปรมัตถ์นั้น ๆ ถูกตรงตามความจริงทุกอย่าง เช่น ขันธ์ ๕ มีลักษณะอย่างไรก็ต้องรู้หมดทุกขันธ์ แต่ถ้าผู้มีปัญญาน้อยก็พิจารณานามรูปรู้ลักษณะของนามและรูป คือนามมีลักษณะน้อมไปสู่อารมณ์ รูปมีลักษณะเสื่อมสลายไปด้วยความเย็น ความร้อน เป็นต้น การรู้เป็นรูป เป็นนาม ก็เพื่อถ่ายถอนความเห็นผิดว่าเป็นเราให้ออกไป เพราะเมื่อรู้ว่าไม่ใช่เราแล้วจะเป็นอะไร ก็ต้องมีสภาพธรรมคือนามรูปเป็นผู้รับรองความจริง วิปัสสนาจึงต้องดูนามรูปให้เห็นตามความเป็นจริง
    การดูนามรูป หรือขันธ์ ๕ ก็ ต้องเจริญวิปัสสนาตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ เพราะสติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส การกำหนดนามรูป หรือขันธ์ ๕ ก็คือกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม โดยอาศัยมีความเพียรตามรู้ในนามรูป มีสติเป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส มีสัมปชัญญะคือปัญญา รู้ธรรมตามความจริงว่าเป็นนามอะไร เป็นรูปอะไร
    สำหรับการปฏิบัติก็จะพูดเพียงให้เข้าใจเหตุผลแต่พอประมาณ การปฏิบัติธรรม จุดประสงค์ก็เพื่อให้รู้แจ้งความจริง ปกติทุกคนก็เห็นผิดในขันธ์ ๕ ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา และยังเห็นผิดต่อไปอีกว่า เรานั้นเป็นสุข เป็นของสวยงาม เป็นของเที่ยง เหตุนี้จึงต้องไปดูขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นสุข เป็นของสวยงาม เป็นของเที่ยงจริงหรือเปล่า การที่เห็นขันธ์ ๕ แล้วไม่รู้ความจริงว่าเป็นขันธ์ ๕ นั้น เราหลงและเห็นผิดกันที่ไหน ก็หลงและเห็นผิดขณะที่รับรู้อารมณ์อยู่ทุก ๆ อารมณ์ เพราะเรารู้อารมณ์ไปตามสมมุติบัญญัติของโลก จึงได้ถูกอวิชชาความหลงปิดบังไม่ให้เห็นความจริง และยังถูกตัณหาเข้าครอบงำให้เห็นผิดจากความจริงอีกด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อจะทำลายความเห็นผิดจึงต้องทำลายที่ตรงกระทบอารมณ์ ให้รู้อารมณ์ถูกตรงตามหน้าที่ของอายตนึงจะละอวิชชานุสัย ความหลงซึ่งเป็นกิเลสละเอียดให้ออกจากอารมณ์นั้นได้ เพราะจุดประสงค์ของการปฏิบัติวิปัสสนาก็เพื่อทำลายกิเลส จึงต้องรู้ว่าเจริญวิปัสสนาทำลายกิเลสอะไร เพราะว่ากิเลสมีอยู่ ๓ อย่าง คือ กิเลสอย่างหยาบ เรียกว่า วีติกกมกิเลส ที่เกิดขึ้นทางกาย วาจา เช่นทำร้ายเขาตีเขา ว่าเขา เป็นต้น ก็ ต้องละด้วยศีล ถ้าคนมีศีลจะไม่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนเลย ส่วน กิเลสอย่างกลาง เรียกว่า ปริยุฏฐานกิเลส ที่เกิดกลุ้มรุมจิตใจเป็นนิวรณ์ เช่นมีความอยากเป็นกามฉันทะนิวรณ์ มีความโกรธเป็นพยาบาทนิวรณ์ เป็นต้น นิวรณ์เหล่านี้ ต้องข่มด้วยสมาธิ คือเมื่อทำสมาธิจิตสงบ นิวรณ์ก็เกิดไม่ได้ จิตใจก็เป็นสุข ส่วน กิเลสอย่างละเอียด เรียกว่า อนุสัยกิเลส ที่นอนตามอยู่ในสันพานของคนที่ยังละกิเลสไม่หมด จะ ต้องละด้วยปัญญา คือวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น จึงจะทำลายอนุสัยกิเลสได้ การทำลายกิเลสจึงต้องรู้จักทำลายให้ถูกที่ ที่กิเลสกำลังเกิดจึงจะทำลายกิเลสให้หมดไปได้ เหตุนี้การปฏิบัติธรรมจึงต้องรู้ว่าปฏิบัติแล้วละกิเลสอะไรได้ ถ้าไม่รู้ความจริงก็ทำลายกิเลสไม่ได้ การปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น เป็นชาวพุทธจะทำอะไรทุกอย่างต้องมีความรู้ให้ถูกต้องตามความจริง จึงจะชื่อว่าชาวพุทธ เพราะพุทธ แปลว่า ผู้รู้ คือ รู้อะไร ก็รู้อริยสัจ ๔ คือ รู้ธรรม ให้ถูกต้องตามความจริง จึงจะหายหลงพ้นจากทุกข์ได้
    การปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อจะทำลายอนุสัยกิเลส จึงต้องรู้ว่าอนุสัยกิเลส เกิดที่ไหน อนุสัยกิเลสก็เกิดตามอารมณ์ทุก ๆ อารมณ์ที่ไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริง เหตุนี้จะละกิเลสจึงต้องละที่อารมณ์ การละกิเลสก็ต้องละด้วยความรู้สึกตัวตามอารมณ์ที่กำลังเกิดเป็นปัจจุบันอารมณ์ ไม่ใช่ละกิเลสด้วยการนึกคิดเอา เพราะการรู้โดยการนึกคิดเป็นความจริงก็ได้ ไม่เป็นความจริงก็ได้แต่ถ้า รู้ด้วยความรู้สึก จะรู้ตรงตามความจริงของสภาวธรรมแน่นอน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะการรู้ด้วยความรู้สึกจะต้องมีสภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏเป็นปัจจุบันอยู่ เช่น เราเห็นน้ำแข็ง ก็รู้ได้ว่าน้ำแข็งเย็น เพราะรู้ด้วยสัญญาที่เคยจำไว้ เป็นการนึกรู้ แต่ถ้าเอามือไปจับน้ำแข็งจะรู้สึกเย็นทันที โดยไม่ต้องนึก เพราะรู้ตรงกับสภาพธรรมที่กำลังแสดงความจริงอยู่ การรู้ด้วยความรู้สึกจึงทำให้หมดความสงสัย เพราะรู้ตรงกับความจริงที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่าเป็นรูปอะไร นามอะไรให้ถูกกับความจริงด้วยขณะนั้นก็ชื่อว่าทำลายความเห็นผิดว่าเป็นเราให้หมดไปด้วย เช่นรู้ว่าเย็นก็ต้องรู้เป็นรูปเย็น เพราะหลักของ
    การเจริญวิปัสสนา กิเลสเห็นผิดในที่ไหนก็ต้องทำลายความเห็นผิดในที่นั้นให้ไปหมดไป เช่นทางตา เห็นผิดว่าเป็นเราเห็น การเห็นถูกต้องรู้ว่าเป็นนามเห็น เพราะไปยึดเอาการเห็นซึ่งเป็นจักขุวิญญาณว่าเป็นเราเห็น เพราะความจริงจักขุวิญญาณเป็นผู้เห็น ไม่ใช่เราเป็นผู้เห็น จึงต้องเห็นให้ถูกต้องตรงตามความจริง จึงจะเอากิเลสออกได้ ทางหูก็เห็นผิดว่าเราได้ยิน ทางจมูกเห็นผิดว่าเราเหม็น เราหอม เห็นถูกต้องรู้เป็นรูปกลิ่น เพราะเหม็น หรือหอม ถ้าไม่มีกลิ่นก็เหม็นหอมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นผิดในที่ไหนจึงต้องทำความเห็นให้ถูกในที่นั้น ให้รู้ว่าเป็นรูปกลิ่น ทางลิ้นเห็นผิดว่าเราอร่อย ไม่อร่อย เห็นถูกต้องรู้ว่าเป็นรูปรส เพราะความอร่อย ไม่อร่อยไม่ได้ เกิดจากเรา แต่เกิดจากอาหาร ถ้าไม่มีอาหาร เราก็อร่อย ไม่อร่อยไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องกำหนดสภาพธรรมนั้นให้ถูกตรงตามความจริงจึงจะเห็นความจริงในสิ่งนั้นได้ ทางกายเห็นผิดว่าเราเย็น เราร้อน เป็นต้น เห็นถูกต้องรู้ว่าเป็นรูปเย็น รูปร้อน เพราะถ้าความเย็น ความร้อนไม่มากระทบ เราก็เย็น ร้อนไม่ได้ จึงต้องรู้ให้ตรงกับความจริง ทางใจนึกคิดกลัดกลุ้ม ฟุ้งซ่าน เป็นต้น ก็เห็นผิดว่าเรานึกคิด เห็นถูกต้องรู้ว่าเป็นนามนึก นามคิด เพราะการนึก การคิดเป็นเรื่องของจิต ถ้าจิตไม่มีก็นึกคิดไม่ได้ แล้วทางใจยังมีการให้เกิดรูปอิริยาบถใหญ่-ย่อยได้อีก เพราะถ้าจิตไม่มีก็ทำรูปให้นั่ง นอน ยืน เดิน เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อไม่รู้ความจริงก็เข้าใจว่า เป็นเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อจะให้เห็นถูก จึงต้องรู้ว่าเป็นรูปนั่งรูปนอน ซึ่งเป็นรูปแต่ละรูปที่เกิดจากจิต ถ้า ไม่รู้ตามหน้าที่ของอายตนะจะรู้อะไรเห็นอะไรก็ผิดจากความจริงหมด จึงละกิเลสไม่ได้ อวิชชาก็ปิดบังเรื่อยมาเพราะไม่เจริญสติปัฏฐาน
    วิปัสสนาจะต้องทำความเห็นให้ถูกตรงตามความจริงอย่างนี้ เช่นการใช้อิริยาบถใหญ่หรือย่อย จะต้องรู้สึกตัวว่าต้องใช้ต้องทำ จึงจะกันกิเลสได้ เพราะการรู้สึกว่าทำอะไรเพราะต้องทำ จะทำให้เห็นทุกข์ว่าที่ทำทุก ๆ อย่างนั้นเพราะถูกบังคับให้ทำ ไม่ทำก็ไม่ได้จึงทำให้เห็นความจริงว่าชีวิตมีแต่ทุกข์กับกรแก้ทุกข์ตลอดเวลา ถ้าทำความรู้สึกได้ตรงตามความจริงอย่างนี้ ก็เรียกว่าทำโยนิโสมนสิการถูกตรงตามความจริง ปัญญาจะเห็นความจริง ปัญญาจึงจะเห็นความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ เหตุนี้การจะรู้เหตุผลความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ จึงต้องได้พบกัลยาณมิตร ผู้มีความเห็นถูกตรงตามความจริง สามารถบอกเหตุผลให้รู้ความจริงได้ เรียกว่า ปรโตโฆสะ คือต้องอาศัยผู้รู้ความจริงเป็นผู้บอก บอกแล้วผู้ฟังก็ต้องเข้าใจทำความเห็นให้ถูกต้องตามความจริงด้วย เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การเจริญวิปัสสนาจะขาดธรรม ๒ ประการ คือ ปรโตโฆสะ กับโยนิโสมนสิการไม่ได้เลย เพราะถ้าขาดธรรม ๒ ประการนี้ ก็รู้ความจริงไม่ได้ เหตุนี้ การเจริญวิปัสสนาจึงต้องใช้ความรู้สึกตัว เพราะความรู้สึกตัวจะทำให้รู้อยู่กับสภาวะที่กำลังแสดงความจริงเป็นปัจจุบันอยู่ ปัจจุบันของวิปัสสนาก็ไม่ใช่ปัจจุบันที่รู้บัญญัติเรื่องราว แต่เป็นปัจจุบันที่รู้ปรมัตถ์รู้เฉพาะความจริงของสภาวะที่กำลังแสดงจึงไม่รู้ว่าเป็นเรื่องราวอะไร ความชอบไม่ชอบ คืออภิชฌาโทมนัสมันก็เกิดไม่ได้ และการที่รู้อยู่กับสภาวะตามความเป็นจริง ไม่หลงไปตามสมมุติบัญญัติจึงได้ทำลายอวิชชาความไม่รู้ คืออนุสัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นไม่ให้เกิดในอารมณ์นั้น ก็เท่ากับได้ทำลายโมหะ คือความหลงไม่ให้เกิดขึ้นเป็นขณะ ๆ ไป ก็เพราะอาศัยมีความเพียรตามรู้ใน ทุก ๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้น ความเพียรในที่นั้นก็ไม่ใช่ความเพียรธรรมดา แต่เป็น ความเพียรที่ทำหน้าที่ที่สัมมัปปธาน ๔ คือเพียรระวังอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น เท่ากับเพียรละอนุสัยไหมไม่ให้เกิดขึ้นในอารมณ์นั้น เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพราะเมื่อเพียรละ อนุสัยใหม่จนเกิดไม่ได้แล้วอนุสัยเก่าที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็จะถูกละไปเป็นสมุจเฉท แล้วก็ เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น คือเพียรเจริญสมาธิ และปัญญา ได้แก่เจริญสติและสัมปชัญญะ ให้รู้สึกตัวอย่างอยู่ทุก ๆ อารมณ์ แล้วก็ เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ความเพียรในการเจริญวิปัสสนาจะต้องเข้าพร้อมกันทั้ง ๔ กิจสติจึงจะกั้นกระแสกิเลสให้ปัญญารู้ความจริงได้ เพราะฉะนั้นในการเจริญวิปัสสนาจึงต้องมีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะร่วมกันไปในอารมณ์เดียวกัน ธรรมทั้ง ๓ อย่างจะเกิดร่วมกันได้ ก็ต้องอาศัยมีการสำรวมอินทรีย์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้เฉพาะปัจจุบันอารมณ์ตามหน้าที่ของอายตนะ เมื่อสำรวมอินทรีย์ได้ วิปัสสนาก็ทำงานได้ ด้วยเหตุนี้การเจริญวิปัสสนาจึงไม่จำเป็นต้องไปทำสมาธิให้จิตสงบก่อน แล้วจึงจะมาพิจารณาความจริงให้วิปัสสนาเกิดทีหลัง เพราะ ขณะที่สำรวมอินทรีย์อยู่กับอารมณ์ที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน มีกาย วาจาเป็นปกติ จัดว่าเป็นศีล ขณะที่ทำความเพียรเป็นสัมมัปปธาน ๔ กั้นนิวรณ์ไม่ให้เกิดขึ้นในอารมณ์นั้น ก็เป็นสมาธิ เพราะกิจของสมาธิคือข่มนิวรณ์ไม่ให้เกิด และขณะมีสติระลึกอยู่กับอารมณ์ทุก ๆ อารมณ์ติดต่อกันไม่ขาดสาย ก็เป็นขณิกสมาธิ เพราะฉะนั้น ความเพียร กับสติจึงเป็นอารมณ์ของสมาธิ เพราะกำจัดนิวรณ์ไม่ให้เกิดขึ้น โดยรู้อยู่กับปัจจุบันอารมณ์ ส่วน สัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัวว่ากำลังดูรูปอะไร นามอะไร จัดเป็นสัญญา การเจริญวิปัสสนาจึงต้องมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เข้าร่วมพร้อมกันในอารมณ์เดียวกันตรงตามองค์มรรค ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดว่าเป็นปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดว่าเป็นศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดว่าเป็นสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดร่วมกันในมรรค ๘ ก็ต้องเป็นอธิศีล อธิจิต อธิจิตก็คืออธิสมาธิและอธิปัญญาด้วย คือเป็นศีล สมาธิ ปัญญาที่ไม่มีกิเลสเป็นปัจจัย จึงจะมีกำลังสามารถประหารกิเลสให้ขาดเป็นสมุจเฉทได้ มิใช่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมดา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาที่เกิดร่วมพร้อมกันจะมีได้ก็เฉพาะเวลาเจริยมรรค ๘ หรือเจริญสติปัฏฐานมีนาม รูปเป็นอารมณ์เท่านั้น เหตุนี้การเจริญมรรค ๘ หรือเจริญสติปัฏฐานจึงไม่ใช่ไปเจริญศีลให้บริสุทธิ์ก่อนแล้วจึงมาเจริญสมาธิ ให้จิตสงบแล้วจึงจะมาเจริญปัญญาให้เกิดทีหลัง เพราะถ้าเจริญทีละอย่างจะเรียกว่า เจริญมรรค ๘ ได้อย่างไร เพราะมรรค ๘ จะต้องเจริญทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ให้ร่วมไปพร้อมกันในอารมณ์เดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญาจึงจะมีกำลังประหารกิเลสให้ขาดเป็นสมุจเฉทได้ นี่คือเหตุผลของการเจริญวิปัสสนา


    ต่อตอน 6...
     
  6. **wan** said:

    Re: คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ

    ทีนี้วิธีการเจริญวิปัสสนาจะเจริญอย่างไร ก็ต้องมีนามรูปเป็นอารมณ์ต้องเป็นอารมณ์ปัจจุบันด้วย ต้องมีโยนิโสมนสิการกำหนด นามรูปให้ถูกตรงตามความจริง ต้องมีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำหนดรู้นามรูป และต้องมีความสังเกตให้รู้สึกตัวว่ากำลังดูรูปอะไรนามอะไรอยู่ จะทำให้จิตไม่ตกจากปัจจุบันอารมณ์ การเจริญวิปัสสนาก็ให้ตามดูนามรูปเหมือนกับละคร คือรูปอะไร นามอะไรปรากฏก็ให้ดูไปทุกนาม ทุกรูปไม่ต้องเลือกดูนามรูป จึงจะเห็นความจริงของนามรูปได้ เช่นกิเลสออกมาแสดงก็ให้รู้ว่าเป็นนามกิเลสให้รู้ว่ากิเลสไม่ใช่เราก็ทำลายความเห็นผิดได้ ชื่อว่าดูละครรู้เรื่อง แต่ถ้าไปเลือกดูนามรูปก็เท่ากับไปหัดละคร ตัวไหนไม่ชอบก็ไม่ให้ออกมา จึงไม่รู้เรื่องของละคร คือไม่เห็นความจริงของนามรูป เหตุนี้การ เจริญวิปัสสนาจึงมีแต่หน้าที่ตามดูนามรูป ไม่ใช่ไปทำนามรูปขึ้นมาดู และการดูก็ต้องดูด้วยความรู้สึกตัว เพราะความรู้สึกจะทำให้รู้ตรงกับสภาพธรรมชาติที่กำลังแสดงความจริงเป็นปัจจุบันอารมณ์ รู้ว่าเป็นรูปอะไร นามอะไร ไม่รู้ไปถึงบัญญัติเรื่องราว จึงจะกั้นกิเลสคือความชอบ ไม่ชอบ ไม่ให้เกิดขึ้นในอารมณ์นั้นได้ เพราะเหตุว่ารู้อยู่กับสภาวะความจริง โมหะก็เกิดไม่ได้ โลภะ โทสะก็เกิดไม่ได้ และเมื่อรู้นามรูปทันปัจจุบันให้ติดต่อกันเป็นสาย จนกิเลสเกิดไม่ได้ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นเห็นความจริงในที่นั้นเพราะ ขณะที่มีความรู้สึกตัวอยู่กับสภาพธรรมชาติที่กำลังปรากฏ ก็คือมีสัมปชัญญะ เมื่อมีสัมปชัญญะก็ต้องมีสติว่า “ อาตาปิ สัมปชาโน สติมา ” คือเมื่อมีความเพียร มีความรู้สึกตัว คือมีด้วย แต่ถ้ามีความเพียรมีสติอาจไม่มีสัมปชัญญะ คือไม่มีปัญญาก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวว่า “ อาตาปิ สติมา สัมปชาโน ” ด้วยเหตุนี้ การเจริญวิปัสสนาจึงต้องใช้ความรู้สึกตัว เพราะถ้ารู้ด้วยความรู้สึกเป็นการรู้ด้วยปัญญาจะรู้ตรงกับสภาวะที่กำลังแสดงความจริงและเป็นปัจจุบันอารมณ์ด้วย สภาวะย่อมจะแสดงความจริงให้เห็นได้ แต่ถ้ารู้ด้วยความนึกคิดเป็นการรู้ด้วยสัญญาที่จำมา เป็นอดีต อนาคตไม่อยู่กับปัจจุบัน เพราะสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้ กำลังเกิดจึงเห็นความจริงไม่ได้ เหตุนี้ขาดความรู้สึกตัวเมื่อไร ความรู้นั้นก็เป็นเพียงแค่สัญญา ไม่ใช่ปัญญา
    ด้วยเหตุนี้ การเจริญวิปัสสนา จึงต้องแยกนึก กับรู้สึกให้ออกจากกัน เพราะวิปัสสนาจะใช้อารมณ์นึกคิดไม่ได้ วิปัสสนาจะต้องรู้อารมณ์ตามความเป็นจริงด้วยความรู้สึก เพราะความรู้สึกทำให้อยู่กับปัจจุบันอารมณ์ จึงทำให้เห็นความจริงได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลายท่านจงเป็นผู้รู้ตัวอยู่เถิด จักละกิเลสได้จักพ้นจากทุกข์ ” เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวเมื่อไรก็เจริญวิปัสสนาได้เมื่อนั้นนะกิเลสได้เมื่อนั้น แต่ถ้าไม่รู้สึกตัวเลย ก็ไม่มีการละกิเลสเลย ก็สั่งสมแต่กิเลสเรื่อยไป
    การเจริญวิปัสสนา ท่านอย่าได้คิดว่าเป็นของทำยาก ทำลำบากสู้ทำสมาธิไม่ได้ทำง่ายกว่า แต่ความจริงสิ่งใดที่ทำได้ยาก ทำลำบาก สิ่งนั้นต้องเป็นของดีมีคุณประโยชน์คุ้มค่า เพราะถ้าไม่ดีจริง พระพุทธองค์จะไม่สอนให้รู้เลย เหตุนี้คำสอนในพระพุทธศาสนาจึงได้มีแต่คันถธุระกับวิปัสสนาธุระแต่ไม่มีสมถธุระ เพราะการเจริญสมถะอย่างเดียวพ้นทุกข์ไม่ได้ การเจริญสมาธิต้องการให้จิตสงบแนบแน่นอยู่กับอารมณ์เดียว สมาธิไม่ต้องการความรู้จึงเห็นความจริงไม่ได้ เพราะสมาธิใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น เพ่ง ดิน น้ำ ไฟ ลม ฯลฯ เป็นกสิณบัญญัติเพื่อให้จิตสงบแนบแน่นเป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ การเจริญสมาธิที่จะให้เป็นปัจจัยแก่ปัญญา ก็ต้องเจริญสมาธิให้ได้ถึงฌานแล้วยกองค์ฌานขึ้นสู่วิปัสสนา พิจารณาองค์ฌานให้เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดวิปัสสนาญาณจนถึงมรรคญาณ จึงจะพ้นทุกข์ได้หรือว่าเจริญสมาธิให้จิตสงบแล้ว ก็ต้องพิจารณาสิ่งนั้นให้เห็นเป็นปฏิกูล โดยเจริญวิปัสสนามีนามรูปเป็นอารมณ์ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ รู้สึกตัวตามสภาพความจริงที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบันอารมณ์ จะใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือนึกคิดไม่ได้เลย จึงจะทำลายความเห็นผิดว่าเป็นเราออกไปได้ เหตุนี้การเจริญวิปัสสนาจึงไม่ต้องเจริญสมาธิก่อน เพราะเจริญวิปัสสนาก็มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เกิดร่วมพร้อมกันในอารมณ์เดียวกัน การเจริญวิปัสสนา คือการเจริญปัญญาให้รู้ธรรมชาติตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนายานิก โดยเจริญวิปัสสนากำหนดนามรูปมาตั้งแต่ต้น เกิดญาณที่ ๑ เป็นต้นไปก็ละกิเลสเป็นตทังคปทาน พอบรรลุถึงมรรคก็ละกิเลสเป็นสมุจเฉทปทาน ส่วนผู้ที่เจริญสมาธิต้องได้ฌานก่อนละกิเลสเป็นวิกขัมภนปทาน ตอนใช้ฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนาละกิเลสเป็นตทังคปทาน พอบรรลุถึงมรรคประหารกิเลสเป็นสมุจเฉทปทาน เรียกว่า สมถยานิก ในจำนวนคน ๕ ส่วน ผู้เป็นวิปัสสนายานิก พ้นทุกข์มีจำนวน ๓ ส่วน เพราะบรรลุธรรมได้ง่ายกว่า ส่วนผู้เป็นสมถยานิก พ้นทุกข์ มีจำนวน ๒ ส่วน เพราะบรรลุธรรมได้ยากกว่า แต่พุทธองค์ทรงยกย่องสมถยานิกว่าเลิศกว่าวิปัสสนายานิก เพราะสามารถทำฌานสมาบัตร อภิญญาต่าง ๆ ให้เกิดได้ จึงสามารถประกาศพระศาสนาให้แผ่ไพศาลได้มากกว่า แสดงธรรมได้บริบูรณ์ถี่ถ้วนมากกว่าทำให้มีคนนับถือเลื่อมใสได้มาก ส่วนผู้เป็นวิปัสสนายานิกได้แต่เทศนาธรรมไปตามที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาเท่านั้น ไม่สามารถแสดงอะไรให้กว้างขวางได้
    เหตุผลความจริงของธรรมชาติล้วนมีความสุขุมลึกซึ้งยิ่งนัก ถ้าไม่ศึกษาจะรู้ธรรม เห็นธรรม คือมรรค ผล นิพพานได้อย่างไร การศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ต้องการความพ้นทุกข์จึงต้องรู้จักเจริญกุศลในพระพุทธศาสนา คือเจริญวิปัสสนาซึ่งเป็นกุศลที่มีอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
    อีกอย่างหนึ่ง การเจริญวิปัสสนา พระพุทธองค์ทรงยกย่อง ผู้ปฏิบัติว่าเป็นบุคคลผู้ประเสริฐที่ตถาคตรับการบูชา เพราะการบูชามีอยู่ ๒ อย่าง คือ อามิสบูชา กับปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยอามิสรักษาพุทธศาสนาไม่ได้ แต่การบูชาด้วยการปฏิบัติรักษาพุทธศาสนาไว้ได้ เพราะถ้ามีผู้ปฏิบัติตามคำสอนพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ได้ยั่งยืน ดังมีคำกล่าวไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพาน เทวดาทั้งหลายทราบข่าวก็พากันไปโปรยดอกไม้ทิพย์นานาชนิดเต็มป่าไปหมดเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่พระตถาคตก็ได้บอกกับพระอานนท์ว่า “ ถึงแม้เทวดาจะบูชาตลอดด้วยการโปรยดอกไม้ทิพย์เต็มป่า แต่ตถาคตก็ไม่รับการบูชา ต่อเมื่อบุคคลใดเห็นภัยในสังสารวัฏแล้วทำความเพียรเจริญวิปัสสนาเพื่อออกจากสังสารวัฏ การกระทำอย่างนั้นแหละตถาคตจึงจะรับการบูชา ” เมื่อเป็นอย่างนี้ชาวพุทธที่จะบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงต้องรู้จักเจริญกุศลในกรพระพุทธศาสนา คือเจริญวิปัสสนาจึงจะได้ชื่อว่าได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การได้มาพบพระพุทธศาสนาแต่ถ้าไม่เคยเจริญวิปัสสนา ก็ไม่ได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและไม่ได้พบพระพุทธศาสนาด้วย เพราะไม่ได้เจริญกุศลในพระพุทธศาสนา
    ที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธควรรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองให้ได้ถึงความพ้นทุกข์ แม้ว่าชาตินี้จะยังพ้นทุกข์ไม่ได้ แต่ถ้าได้ตั้งต้นปฏิบัติถูกตรงต่อคำสอนก็มีหวังจักได้พ้นจากทุกข์ เพราะทุกอย่างจะไม่สายเกินแก้ ถ้าได้ตั้งต้นเดินทางถูก แต่ถ้าชาตินี้ไม่ปฏิบัติตามคำสอนให้ถูกต้องเป็นปัจจัยติดตัวไปแล้ว โอกาสที่จะพบคำสอนเพื่อความพ้นทุกข์ในชาติต่อไปก็ยากขึ้นทุกที เพราะต่อสู้กิเลสไม่ไหว เหตุว่ากิเลสมีกำลังแรงกล้าขึ้น กิเลสจะกั้นไม่ให้ได้พบคำสอนเพื่อความพ้นทุกข์เรื่อยไป แล้วเมื่อไรจึงจะถึงที่สุดแห่งทุกข์
    “ รู้อะไร ก็ไม่สู้ เท่ารู้ตัว ไม่พ้นพัว อกุศล พ้นอบาย ”
    เราได้ตกเป็นทาสแห่งเบญจขันธ์ ตกเป็นทาสของกิเลส ต้องรักษาเบญจขันธ์มาทุกชาติ ๆ ถ้าจะนับชาติก็เป็นอเนกอนันต์ พ้นวิสัยที่จะนับชาติได้ ก็ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นบุญเหลือหลายยังจะเป็นกังวลรักษาเบญจขันธ์อยู่อีกหรือ ในเมื่อรักษามานานนักหนาแล้วยังไม่เข็ดหลาบอีกหรือ ยังจะเป็นทาสรักษาไปถึงไหนอีกเล่า อย่าเป็นธุระที่จะรักษาเบญจขันธ์ต่อไปอีกเลย จงขวนขวายบำเพ็ญสมณธรรมเอาตัวรอดให้จงได้เถิด
    เพราะว่าสงสารนี้กำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ คือเมื่อเหล่าสัตว์มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบได้ท่องเที่ยวไปมาหาที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ แม้เบื้องปลายก็ไม่รู้ว่าจะไปจบเมื่อไร
    พวกเราเคยเสวยความทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้ามาตลอดกาลนาน ด้วยเหตุเหล่านี้ พอหรือยังที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอหรือยังเพื่อจะคลายความกำหนด พอหรือยังเพื่อจะหลุดพ้นจากทุกข์


    ต่อตอน 7...
     
  7. **wan** said:

    Re: คำสอนในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ

    แม้น้ำตาของสัตว์ก็มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เพราะการที่ท่องเที่ยวมาช้านาน ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักต้องร้องไห้มาไม่รู้จักเท่าใด แม้น้ำนมที่ดื่มกินจากมารดา ก็มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เช่นเดียวกัน
    เพราะสงสารไม่มีที่สิ้นสุด เพียงบุคคลหนึ่งที่ท่องเที่ยวไปมา ถ้าจะเปรียบแล้ว ความตายที่เหลือเป็นโครงกระดูก เมื่อขนมารวมกันแม้ปฐพีนี้ก็ไม่พอที่จะรองรับกองกระดูก
    ฉะนั้นบุคคลใดที่เห็นแจ้งอริยสัจ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ความดับทุกข์ และหนทางเพื่อความดับทุกข์ อันยังสัตว์ทั้งหลายให้ถึงความสงบสุขด้วยปัญญาอันชอบ บุคคลนั้นย่อมท่องเที่ยวอย่างมากก็ไม่เกิน ๗ ชาติ จักเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
    การรู้ความจริงทำให้รู้จบโลกพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เหตุนี้วิชาใดรู้แล้วไม่เข้าถึงความจริง ก็จงหยุดรู้เสียบ้าง เพราะชีวิตที่วนเวียนไปในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะไม่รู้ความจริง เหตุนี้จงหันมารู้ในวิชาที่เข้าถึงความจริงเสียบ้าง เพื่อชีวิตจะได้พ้นจากทุกข์
    เป็นชาวพุทธถ้าไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย ก็ไม่ได้ทำกุศลในพุทธศาสนา ชื่อว่าไม่รู้จักพุทธศาสนา ชื่อว่าไม่รู้จักพุทธศาสนาเพราะไม่รู้ว่าพระธรรมคืออะไร พระธรรมในพระพุทธศาสนาได้แก่มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เหตุนี้ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้อย่างไร ก็ชื่อว่าไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ส่วนการให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิปัญญาธรรมดา แม้ไม่มาพบพระพุทธศาสนาก็เจริญได้ตลอดกัปตลอดกัลป์ เพราะกุศลเหล่านี้มีอยู่ในทุกศาสนา แต่การเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้ถึงมรรคผลนิพพาน มีเฉพาะในพระพุทธศาสนามีมาก เหตุนี้เป็นชาวพุทธ ถ้าไม่เจริญกุศลในพุทธศาสนาจะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร
    พระธรรมอันพระตถาคตตรัสเทศนา ถ้าบุคคลใดเป็นพหูสูตมีความเพียรอุตส่าห์เทศนา ให้บริษัททั้งปวงของพระตถาคตได้สดับเนือง ๆ พระธรรมของพระตถาคตก็จะเจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าบุคคลใดผู้เป็นพหูสูต ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเพียร ไม่อุตส่าห์เทศนาให้พุทธบริษัททั้งหลายได้สดับเนือง ๆ แล้ว พระธรรมของพระตถาคตก็จะอันตรธานไม่ปรากฏรุ่งเรือง
    เหตุนี้การแสดงธรรมในพระพุทธศาสนา ถ้าแสดงเพียงแต่ศีลธรรมธรรมดา บุคคลจักไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็อันตรธาน
    ธรรมที่หยุดความพอ หรือความอยากให้หมดไปได้ ก็มีแต่สติปัฏฐานเท่านั้น เพราะสติปัฏฐานเป็นธรรมที่ทำลายอภิชฌาโทมนัส คือความโลภความโกรธให้สิ้นไป (ก็เพราะทำลายความหลงได้) ถ้าทำลายอันนี้ได้ ก็พ้นจากทุกข์ได้ สติปัฏฐานจึงเป็นมรดกอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ทรงมอบให้แก่พุทธบริษัท เพื่อใช้กำจัดกิเลสให้พินาศไป
    ผู้จะพ้นจากทุกข์ จึงต้องรู้จักทุกข์ คือรูปนามขันธ์ ๕ ที่ตัวเรานี่เอง ด้วยการดูตัวเองให้เห็นตัวเองว่ามีแต่ทุกข์ ถ้าเห็นตัวเองว่ามีแต่ทุกข์ใครเลยจะอยากได้ทุกข์ การเห็นทุกข์จึงเป็นเหตุให้ทำลายความอยากให้หมดไปได้ เพราะถ้าไม่อยากก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ความอยากคือตัณหาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ในอริยสัจ ๔ จึงได้ให้กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัยด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เหตุนี้การเห็นทุกข์ จึงมีความสำคัญมากที่สุดในพุทธศาสนา เพราะทำให้เห็นสัจธรรม ทุกข์จึงเป็นตัวอริยสัจ คือเป็นทุกข์สัจ ถ้าไม่เห็นทุกข์ก็ไม่เห็นอิริยสัจ
    การจะเห็นทุกข์ได้ง่าย ก็ควรพิจารณาอิริยาบถ ๔ เพราะอิริยาบถเป็นตัวปิดบังทุกข์ อิริยาบถเป็นปัจจัยให้เกิดได้ทั้งความพอใจ และความไม่พอใจ คืออิริยาบถเก่าที่เห็นที่อาศัยของความพอใจให้เกิดอภิชฌา เพราะเปลี่ยนแล้วสบายคือเป็นทุกข์ในอิริยาบถเก่า เปลี่ยนแล้วเป็นสุขในอิริยาบถให้เห็นความจริงว่า อิริยาบถใหม่เป็นสุขจริงหรือก็สุขไม่จริง เพราะเปลี่ยนแล้วเป็นสุขเดี๋ยวเดียวแล้วก็เป็นทุกข์อีก จึงต้องแก้ทุกข์เปลี่ยนอิริยาบถอยู่เรื่อย ไม่มีวันหยุดพักผ่อนเลย การดูอิริยาบถจึงทำให้เห็นทุกข์ว่าไม่มีอิริยาบถใดเป็นสุขเลย เพราะต้องแก้ทุกข์อยู่เรื่อย ๆ เมื่อดูจนรู้ความจริงย่อมทำลายวิปลาสความเห็นผิดว่าเป็นสุขให้หมดไปได้ ความจริงทุกข์เกิดอยู่กับเราตลอดเวลา แต่เราไม่เห็นทุกข์ก็เพราะถูกอวิชชาความหลง ไม่รู้ความจริงปิดบังไว้ เพราะไม่เคยพิจารณาดูตัวเองให้เห็นความจริง ทั้ง ๆที่ ทุกคนมีทุกข์ แต่ทุกคนก็ไม่อยากเห็นทุกข์ เพราะมัวไปแสวงหาความสุขจึงพ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะสุขไม่ใช่ของจริง สุขสัจจึงไม่มี มีแต่สุขวิปลาส ส่วนทุกข์เป็นของจริงจึงมีทุกข์สัจ แต่ไม่มีทุกข์วิปลาส เหตุนี้ผู้แสวงหาความสุข พระพุทธองค์จึงได้บอกว่า ไม่ต้องไปหาสุขที่ไหนหรอก ให้ดูทุกข์ที่ตัวเอง แล้วละสมุทัยได้ ก็จะพบสันติสุขอันแท้จริง เพราะเป็นสุขที่สงบจากกิเลส สุขอย่างนี้จะเอาเงิน เอาทอง เอาอำนาจราชศักดิ์ไปแลกก็ไม่ได้ แต่จะแลกได้ด้วยปัญญาที่รู้ความจริงเท่านั้นถ้าไม่มีปัญญาก็แลกเอาสันติสุขไม่ได้
    ผู้ต้องการปัญญารู้ความจริง เมื่อจะทำอะไรทุกอย่าง เช่นจะกินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว นั่ง นอน ยืน เดิน เป็น ต้น ก็ให้รู้ตัวทุกครั้งว่าทำทำไม ทำเพราะ อยากทำ หรือว่าทำเพราะ ต้องทำ ถ้าว่าทำเพราะอยากทำอย่างนั้นไม่ทำเลยจะได้ไหม เช่นกินข้าวเพราะอยากกิน ไม่กินเลยจะได้ไหม เพราะถ้าไม่กินเสียอย่างเดียวก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปทำงานให้เหนื่อยยาก ทำไมไม่เลิกกินก็เลิกกินไม่ได้ เพราะฉะนั้นการกิน จึงไม่ใช่กินเพราะอยากกิน แต่ว่ากินเพราะต้องกิน การที่กินเพราะต้องกินจึงเป็นปัจจัยให้เห็นทุกข์ ว่า การที่ต้องกินนี่เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อื่นติดตามมาหลาย ๆ อย่าง เพราะฉะนั้นการดูตัวเองแล้วเกิดความรู้สึกอย่างนี้จึงเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เห็นความจริงว่า ชีวิตนี้มีแต่ทุกข์กับการแก้ทุกข์ตลอดวัน เพราะ การที่แก้ทุกข์ได้จึงได้เห็นผิดว่ามีความสุข แต่ที่แท้จริงแล้วมีแต่ทุกข์ เพราะถ้าไม่เป็นทุกข์จะแสวงหาความสุขไปทำไม ที่ต้องแสวงหาความสุขก็เพื่อจะเอามาแก้ทุกข์ แต่ไม่รู้ความจริงว่าทำทุกอย่างเพื่อแก้ทุกข์จึงไม่ได้แสวงหาทางพ้นทุกข์ มัวหลงไปแสวงหาแต่ความสุขที่ไม่มีจริงจึงพ้นทุกข์ไม่ได้
    เหตุนี้การเจริญสติปัฏฐานที่ให้กำหนดรู้ทุกข์ ก็เพื่อให้เห็นนามรูปว่ามีแต่ทุกข์ ที่ต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในนามรูป ถ้าเกิดเบื่อหน่ายเมื่อไรตัณหาก็จะลดลง เพราะตัณหาอยากได้แต่สิ่งที่เป็นสุข เป็นของสวยงาม เป็นของเที่ยง เป็นสาระเท่านั้น แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ตัณหาก็ไม่อยากได้ เพราะฉะนั้น การรู้ทุกข์จึงละสมุทัยได้ ถ้าไม่รู้จักทุกข์ก็ละสมุทัยไม่ได้ เพราะสมุทัยคือความอยากเมื่ออยากแล้วได้สมใจทำให้เกิดความสุขใครเลยจะคิดละสมุทัย แต่ถ้ากำหนดรู้ทุกข์รู้ว่าทุกข์นี้มาจากไหน ก็รู้ว่ามาจากความอยาก การรู้ทุกข์จึงทำให้ละสมุทัยได้
    ด้วยเหตุนี้การรู้เหตุผลในธรรมะ ทำให้รู้จักกำจัดความต้องการให้พอดีกับเหตุผลที่ตนทำได้ ทำให้ไม่เกิดกิเลสดิ้นรนอยากได้ให้เป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะใจที่มีกิเลสมากเท่าไร ก็ต้องเป็นทุกข์มากเท่านั้น ผู้อยากละกิเลสก็จงอย่าได้แสวงหาปัจจัยให้แก่กิเลส เพราะอะไรเป็นปัจจัยแก่ตัณหาอันนั้นก็เป็นปัจจัยแก่สังสารวัฏ เช่นมักมากในกามคุณก็ต้องเป็นทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอยากไม่รู้จักพอ ผู้เห็นภัยของวัฏฏะจึงต้องหลีกให้พ้นจากกิเลส ด้วยการเอาชนะกิเลสของตนเอง อย่าเอาชนะกิเลสคนอื่น อย่าไปลงโทษคนอื่น แต่จงลงโทษตัวเอง เพราะกิเลสของเราจึงทำให้เราเดือดร้อน เหตุนี้ผู้ไม่ทำความเพียรก็เพราะไม่เห็นกิเลสว่าเร่าร้อน
    ดังนั้นคำสอนในพระพุทธศาสนา จึงเปรียบเหมือนแก้วมณีอันมีค่าที่มีรัศมีส่องสว่างสามารถจะส่องโลกให้เห็นความจริงของโลกได้เลย การจะเห็นความจริงของโลกได้จึงต้องเรียนพระอภิธรรม คือเรียนให้รู้สภาพธรรมที่มีอยู่ในตัวเรา ให้รู้เหตุผลตามความเป็นจริง จึงจะหมดความสงสัยเอาชนะกิเลสให้พ้นจากทุกข์ได้ เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นมรดกที่พ่อแม่คืออวิชชากับตัณหามอบให้มา ถ้าคนมีปัญญาได้มรดกมาแล้วก็เอามาทำประโยชน์ให้พ้นทุกข์ได้ ส่วนคนไม่มีปัญญารับมรดกมาแล้วไม่รู้จักทำประโยชน์ให้พ้นทุกข์ได้ คนไม่มีปัญญารับมรดกมาแล้ว ไม่รู้จักทำประโยชน์แก่ตนก็เกิดมาเสียชาติเปล่า เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากพระพุทธศาสนา ทั้งที่พระพุทธศาสนามีความดีมากหลายเอาเป็นที่พึ่งได้ แต่เหตุไรชาวพุทธจึงไม่ศึกษาให้รู้จักคำสอนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเอง โดยเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นไตรสรณาคมน์ เป็นที่พึ่งให้พ้นจากทุกข์ได้จริง ด้วยการกำจัดภัยให้พ้นจากทุคติภัย และวัฏฏภัย ต้องไม่ทำบาปอกุศล ทำแต่กุศล จักพ้นจากทุคติภัย และต้องเจริญวิปัสสนากุศล ให้ถึงโลกุตตรกุศลก็จักพ้นจากวัฏฏภัย เพราะพระพุทธ ได้แก่ปัญญาที่แทงตลอดอริยสัจ ๔ พระธรรมได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ พระสงฆ์ ได้แก่อริยบุคคล ๘ การถึงพระพุทธเมื่อใด ก็ถึงพระธรรมพระสงฆ์พร้อมกันในจิตดวงเดียวกันคือถึง มรรคจิต ผลจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์บริบูรณ์พร้อมด้วยปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรมและปฏิเวธธรรม อยู่จบพรหมจรรย์พ้นจากทุกข์ทั้งปวง

    ขอความมีปัญญา และความพ้นทุกข์ จงมีแด่ท่านสาธุชนทั้งหลาย เทอญ

    สาธุ สาธุ สาธุ
    บุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะสละสุขพอประมาณ
    ผู้มีปัญญา เห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณ
    จึงจะได้พบสุขอันไพบูลย์


    ที่มา http://www.raksa-dhamma.com/topic_13.php