จดหมายถึงลูก ฉบับที่ ๒
โดย คนเดินทาง


ลูกรักของแม่


ลูกอยู่ไกลถึงต่างแดน แม่ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับลูก.... อาศัยสิ่งแวดล้อมใหม่ สังคมใหม่ เพื่อนใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติ แม่ไม่อาจจะทราบได้ว่า ลูกซึมซับความเห็น และความรู้สึกอะไรมาบ้างแล้ว...

แม้ลูกอ่านจดหมายนี้จบแล้ว ก็เพียงหวังว่า จะเป็นปัจจัยแก่ปัญญาลูกบ้าง เพื่อจะกั้นไม่ให้จิตใจไหลไปในความทุกข์เดือดร้อนในวันข้างหน้า

เรื่องที่ลูกเล่าให้แม่ฟังในเรื่อง ที่ถูกเพื่อนของเพื่อนชาวซาอุฯ เบี้ยวเงินค่าใช้จ่ายไป ทำกุญแจห้องทิ้งหายไป.... ไม่ว่าจะเกิดจากเจตนากลั่นแกล้งเพื่อเบี้ยว หรือละเลยก็ตาม ...นี้ลูกพึงทราบว่า เป็นผลกรรมไม่ดีของตนเองที่ต้องมาพานพบกับบุคคลที่เป็นพาลอย่างนี้

น้ำเสียงของลูกเปลี่ยนไปจากเดิมประกอบกับความขัดเคืองมากขึ้น เพราะความยึดถือในความถูกต้องมากเกินไป นี่เป็นลักษณะของคนทั่วๆไปที่ต้องพาจิตใจตนเองให้ไหลไปกับเครื่องเดือดร้อนต่างๆมากมาย และอัธยาศัยอย่างนี้ พบได้มากในหมู่ชาวต่างชาติ

แม่มีเพื่อนเป็นชาวอิตาลี ชาวเยอรมันหลายคน พวกเขาล้วนเป็นทุกข์ที่พวกเขาไม่รู้ตัว เหมือนที่ลูกกำลังรู้สึกกระสับกระส่ายใจโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ดังนั้นแม้จะกล่าวอย่างนี้ ลูกก็จะค้านขึ้นมาในใจว่า ลูกไม่เห็นจะกระสับกระส่ายใจเลย?.. เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของจิตใจ ที่บุคคลโดยมากไม่สนใจศึกษาธรรมภายในตน แต่หลงออกไปไขว่คว้าความสุขภายนอกตนกันทั้งนั้น ชีวิตจึงเหน็ดเหนื่อยและเป็นทุกข์มาก โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวกันทั้งนั้น

ชีวิตจึงมีแต่คำถามว่า ทำไม? ทำไม? ทำไม?

เหมือนๆกับลูกตั้งคำถามว่า..... ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ มันไม่ถูกต้อง..มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องรับผิดชอบในความผิดที่เขาทิ้งเอาไว้ ช่างไม่ยุติธรรมเลย..

ขอลูกจงฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่ท่านแสดงว่า ..... ผลทั้งหลายที่ปรากฏแล้วแก่เรา ล้วนเกิดจากกรรมในอดีตทั้งสิ้น คราวนี้อาศัยความไม่แยบคาย ความประมาท ความขาดการพิจารณาบ้าง ปัญหาก็เกิดขึ้นแล้วเป็นผล

ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด ไม่พึงกล่าวว่า “ไม่ยุติธรรม” ได้เลย..เพราะกรรมนั้นเที่ยงธรรมเป็นที่สุด

ก็เพราะความไม่ชอบใจที่เป็นไปกับโทสะ และความชอบใจที่เป็นไปกับโลภะในขณะรับผลของกรรมเก่า.... กรรมไม่ดีอย่างใหม่ก็เกิดแล้วแก่เรา....และแล้วผลไม่ดีก็ย่อมปรากฏเป็นผลแก่เราอีกต่อไปในภายภาคหน้า

เราจึงไม่พอใจ ในขณะที่คนอื่นทำไม่ดีแก่เรา.......เราก็รู้สึกว่าเขาทำไม่ดี ทำให้เราเจ็บใจ.... แต่เรากลับไม่รู้สึกถึงกรรมชั่วอย่างใหม่ คือ โทสะที่กำลังโลดแล่นอยู่ในจิตใจของเราได้เลย ..... ไม่รู้เลยว่า เขากำลังทำร้ายจิตใจเราให้กระสับกระส่าย นั่งคิด นอนคิด ผุดขึ้นมาเป็นอารมณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า .....ลืมไม่ลง

นี่เป็นผลแห่งการเบียดเบียนของลูกแต่ครั้งหนหลัง... กำลังส่งผลแล้ว .....

ลูกจงยอมรับ....ไม่ต่อกรรมผูกเวรกันต่อไป แม้ด้วยทางวาจา และทางใจ......

จะทำอย่างนี้ได้ เพราะใจเกิด “การยอมรับ” ขึ้นมาได้ในผลแห่งกรรมของตน

อย่าไปสำคัญว่าตนจะเป็นคนเหลวเปล่าไป กลายเป็นคนยอมคนอื่น เป็นคนอ่อนแอ...แต่ความจริงคนที่จะยอมรับความจริงได้โดยจิตใจที่ไม่เดือดร้อนนั้นแหละ เป็นผู้กล้าหาญ ...เขาย่อมกำจัดเสียซึ่งความหวั่นไหวของกิเลสโทสะในตนออกได้สิ้น เขาจึงหาใช่ผู้แพ้ หรือแหยต่อคนอื่นไม่.....

เพราะเขาคือผู้ชนะ... คือผู้ชนะกิเลสภายในตนได้

“ผู้ชนะตน ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะในที่ทั้งปวง”

เพราะไม่ว่าจะเป็นขุนศึกผู้กรำศึกน้อยใหญ่มาราบคาบแล้วสักปานใด แม้จะเป็นผู้ชนะอย่างนั้น เขาก็หาได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะไม่หรอก....... เพราะเขาไม่อาจจะกำจัดความเดือดร้อนแห่งจิตใจตนเพราะอำนาจโทสะ หรืออำนาจราคะได้เลย

ศึกภายใน ย่อมชื่อว่าใหญ่หลวงนัก

ผู้ชนะตน เขาจึงไม่ใช่ผู้แพ้ ผู้แหย หรือผู้อ่อนแอแต่อย่างใด..เขาย่อมเป็นผู้กล้าด้วยปัญญาโดยแท้

เมื่อตนยังชนะกิเลสภายในตนได้แล้ว จะป่วยกล่าวไปใยในบุคคลอื่น... กิเลสคนอื่น.... ความชั่วของคนอื่นที่ปรากฏขึ้นแล้วด้วยเล่า?.... ย่อมไม่อาจจะกระทำความหวั่นไหวให้แก่เขาได้เลย

ลูกจึงสมควรหันมาฟังไว้บ้าง พอเป็นปัจจัยแก่ปัญญาตน

เมื่อคราวใด ลูกรู้สึกถึงความเดือดร้อนในใจ กระสับกระส่ายขึ้นมา....ลูก ก็จงถามตนว่า....นี่ เราเดือดร้อน เพราะความอยากได้ หรือความไม่อยากได้ในสิ่งอันใดเล่า?

เพราะหากมีปัญญาเกิดแล้ว ลูกย่อมรู้ว่า ธรรมทั้งหลายปรากฏโดยความเป็นผลต่อตนเองแล้ว ก็รู้ทันทีว่า นี้เกิดขึ้นเพราะอำนาจกรรม..... หาได้อยู่ในอำนาจแห่งตนที่จะบังคับบัญชาเอาได้เลย...

ไม่อยากได้ ก็ต้องได้รับ.... ไม่อยากเห็น ก็ต้องเห็น.... ไม่อยากประสบพบเจอ ก็ต้องพบเจอ..เราหรือบังคับเอาได้ตามใจปรารถนา?

และในธรรมบางอย่าง แม้เราอยากจะได้สักปานไหน หากกรรมไม่สมควรแก่ผลนั้นๆ ไม่ว่า ใครๆในโลกนี้ก็ไม่สามารถบังคับเอาได้เลย..ไม่ว่าจะเป็นพระราชาในแว่นแคว้นใดๆในโลก หรือขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ ก็ไม่อาจจะกระทำความปรารถนาให้เกิดทุกอย่างแก่ตนได้เลย

เขาย่อมไม่สามารถบังคับเอาว่า... ขอความแก่ อย่าเกิดแก่เรา.... ขอความเจ็บอย่าเกิดแก่เรา... ขอความทุกข์กายทุกข์ใจอย่าเกิดแก่เรา... ขอความตายอย่างเกิดแก่เรา...ได้เลย

ดังนั้น การที่ลูกได้เจอคนไม่ดี และเสียทรัพย์ไปนั้น จงกระทำความร่าเริงใจให้เกิดภายในตนเถิด

คนมีปัญญา ยามได้รับก็รับเป็น...ในยามเสีย ก็เสียเป็น เขาจึงเป็นผู้สงบ เป็นผู้ชนะตน

ลูกจงพิจารณาให้เกิดความร่าเริงอย่างนี้ว่า..เพราะความไม่แยบคายของเราทำให้ให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ต่อไป....เพราะไม่แยบคาย ผลอันเกิดแต่กรรมชั่วก็ได้ปัจจัยมาส่งผลทำให้เสียทรัพย์ไป...... เอาละ ดีแล้วที่เราไม่เจ็บป่วยกาย......ดีละที่เราไม่ได้ประสบเภทภัยอันใด...ดีละเราได้รู้จักคนพาลที่เราพึงหลีกเลี่ยงไปเสีย

แม้บทเรียนที่เกิดราคาความเสียหายครั้งนี้ ชื่อว่าดีนัก..... เพราะย่อมปรากฏเสมือนของราคาถูก..... การเรียนรู้จักคนพาลอย่างนี้ ราคาไม่แพงอย่างที่คิด....... เพราะบางคนในโลกถึงกับหมดเนื้อหมดตัว เสียทั้งกายและใจเพราะหลงคบคนพาล ราคาค่าเสียหายเห็นปานฉะนั้นไม่เกิดแก่เรา..เรานี้ช่างบุญดีนัก

ก็เมื่อลูกปรารภอย่างนี้ ลูกย่อมสงบภายในใจ อภัยในความชั่วของคนอื่นเพราะยอมรับ และเพิ่มความระมัดระวังตนในคราวต่อไป...

เมื่อเป็นดังนี้ ก็ดุจบุคคลผู้ฉลาด.....ไม่หลงหอบหิ้วของอันไม่เป็นประโยชน์วางไว้บนบ่าของตน ไม่หลงสะพาย ไม่หลงแบกความไม่สบายใจหรือความกลัดกลุ้มใดๆไว้อีก.......เขาย่อมเบากายเบาใจ ดุจบุรุษผู้วางของของที่หนักบนบ่าของตนไว้กับพื้น..ก็ของหนักนั้น ย่อมไม่ผุดขึ้นมาเป็นอารมณ์แก่ความขัดเคือง คับข้องใจอีกต่อไป การไม่หลงคบคนชั่วเป็นมิตรต่อไป ย่อมเป็นความโปร่งใจ สบายใจ...เมื่อปรารภอย่างนี้ ลูกย่อมเข้าถึงความร่าเริงใจ ในบัดนั้น ดุจบุคคลผู้ชำระหนี้ของตนหมดในงวดสุดท้ายนั่นเทียว

แม่ขอฝากข้อความนี้ไว้เป็นปัจจัยแก่ปัญญาของลูก เพื่อให้ระลึกรู้ถึงความจริงได้ เพื่อประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า ไม่ให้เป็นผู้หลงโลก หลงอารมณ์ ต่อสู้เอาผิดเอาถูกตลอดเวลา จนทำให้ใจเดือดร้อน.... เพราะหลงว่าตนมีอำนาจบังคับบัญชาอะไรๆได้ จึงเป็นผู้เหนื่อยเปล่า อ่อนล้า หาสาระอะไรไม่ได้เลย

แม้ลูกไม่เชื่อ ไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่เป็นไร .....เพราะแม่คงไม่มีสิทธิไปสอนลูก...ลูกต้องมีปัญญาขึ้นมาสอนตนเองให้เป็น........แต่ก็จงพิจารณาให้ดีเถิด เพราะในที่สุด ความทุกข์ภายในใจของลูก ย่อมจะเป็นครูสอนตนเอง

เป็นผู้ประกาศความจริงกับลูกในวันหนึ่งข้างหน้า...

ลูกย่อมสามารถนำข้อความทั้งหมดนี้ ไปพิจารณาถึงเหตุผลความจริง เพื่อเป็นปัจจัยแก่ปัญญาลูก ..ต่อไป ลูกย่อมคิด ...ย่อมพูด... ย่อมทำตามวิสัยของผู้มีปัญญาได้..

ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้สงบ เป็นสุข ปราศจากเครื่องเดือดร้อนในชีวิต ซึ่งทั้งหลายทั้งปวง ลูกต้องตัดสินด้วยปัญญาของลูกเอง..ใครก็ทำแทนให้ก็ไม่ได้ และความสุขความทุกข์ต่อไปเบื้องหน้าของลูก ตนก็ย่อมต้องเสวยผลที่ตนกระทำลงไปทั้งสิ้น นี้เป็นสัจจะโดยแท้!

ด้วยรักและห่วงใย
แม่ของลูก


ที่มา http://www.raksa-dhamma.com/topic_66.php