ประวัติ พระพุทธศิลามงคลมิ่งเมือง วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย


ประวัติพระพุทธศิลามงคลมิ่งเมือง วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย (หลวงพ่อหิน วัดเลยหลง) แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานว่า หลวงพ่อหิน วัดเลยหลง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักด้วยหิน ขนาดหน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูง 54 เซนติเมตร ศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลาย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บุญบารมีของหลวงปู่ศรีจันทร์องค์หนึ่ง
กิตติศัพท์เล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปหลวงพ่อหินองค์นี้ มีคนเล่าว่าในสมัยก่อนที่ยังไม่อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีสุทธาวาสนั้น เคยมีกลุ่มคนนำพระพุทธรูปหินไปถ่วงน้ำ เนื่องจากได้ทำการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่นาในเขตพื้นที่บ้านโป่ง แต่บริเวณพื้นที่ที่ พระพุทธศิลามงคลมิ่งเมือง ประดิษฐานอยู่นั้น ไม่มีใครสามารถบุกรุกถางป่าเพื่อทำไร่นาได้ เพราะเมื่อบุกรุกเข้าไปต้องมีอันเป็นไปต่างๆ นานา และสุดท้ายต้องตายด้วยอาการแปลก ๆ ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าเข้าไปบุกรุกใช้พื้นที่นั้นอีก จนกระทั่งหลวงปู่ศรีจันทร์ ท่านได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีสุทธาวาส และมีผู้คนไปสักการะบูชา กลับได้รับผลดี มีความเจริญรุ่งเรือง บางคนอธิษฐานขอพรก็ได้สมประสงค์ตามปราถนา จึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดเลยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน





นามแห่ง "พระธรรมวราลังการ" หรือ "หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ" อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุทธาวาส (วัดเลยหลง) พระอารามหลวง อ.เมือง จ.เลย และรองเจ้าคณะภาค 8 (ธรรมยุต) เป็นที่ทราบกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชน

ท่านเป็นพระนักปฏิบัติและพระนักอนุรักษ์ในเรื่องวัฒนธรรม วัตถุโบราณ สถานต่างๆ จะเห็นได้จากมีพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่หลวงปู่ได้เก็บรักษาไว้ อาทิ พระบางเมืองทรายขาว, หลวงพ่อหิน ซึ่งพระพุทธรูปแต่ละองค์ มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี

ประวัติหลวงพ่อหิน วัดเลยหลง
"หลวงพ่อหิน วัดเลยหลง" กล่าวกันว่า เป็น พระพุทธรูปคู่บุญบารมีของหลวงปู่ศรีจันทร์องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปบูชาที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่มณฑปภายในวัดศรีสุทธาวาส

ความเป็นมาของหลวงพ่อหิน ที่ได้บันทึกไว้ที่หน้ามณฑป สถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อหิน กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปหินโบราณ ที่ได้มาจากในป่าไผ่ริมแม่น้ำเลย ที่หมู่บ้านโป่ง ต.นาแขม อ.เมือง จ.เลย ได้ถวายนามว่า "พระพุทธศิลามิ่งมงคลเมือง" แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานว่า หลวงพ่อหิน

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักด้วยหิน ขนาดหน้าตักกว้าง 37 เซนติ เมตร สูง 54 เซนติเมตร ศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งบริเวณที่พบหลวงพ่อหิน เป็นพื้นที่เมืองเก่า ชื่อเมืองจำปา มีอายุหลายร้อยปี เป็นเมืองร้างมานานแล้ว

ความเป็นมา ของหลวงพ่อหินที่มาประดิษฐานและเป็นพระพุทธรูปคู่บุญของหลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ คือ ประมาณปี พ.ศ.2498 หลวงปู่ศรีจันทร์ หรือ เจ้าคุณอดิสัยคุณาธาร สมณศักดิ์ของหลวงปู่ในขณะนั้น ได้ทราบจากช่างที่มาก่อสร้างพระอุโบสถที่วัดศรีสุทธาวาส มีผู้พบพระพุทธรูปอยู่ในป่า ริมแม่น้ำเลย ห่างจากหมู่บ้านโป่ง ต.นาแขม อ.เมืองเลย ไม่มากนัก แต่ไม่มีชาวบ้านเข้าไปแตะต้องหยิบจับ จึงได้มานิมนต์กราบเรียนหลวงปู่ศรีจันทร์ให้ทราบ และให้ท่านเป็นผู้อัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวมาประดิษฐานไว้ที่วัด

ดังนั้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2498 หลวงปู่ศรีจันทร์ พร้อมคณะกรรมการวัด ได้เดินทางไปที่บ้านโป่ง ต.นาแขม เพื่อนิมนต์หลวงพ่อหินมาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีสุทธาวาส เชื่อกันว่า หลวงพ่อหินมีความศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในศีลธรรมอันดี แทบทุกวันจะมีพุทธศาสนิกชนไปกราบไหว้บูชา อธิษฐานขอพร จะประสบความสำเร็จสมประสงค์ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อหิน จึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

พระกิตติสารสุมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุทธาวาส รูปปัจจุบัน ได้กล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อหิน ว่า ตอนที่หลวงปู่ศรีจันทร์ไปอัญเชิญหลวงพ่อหินมาจากป่าบ้านโป่ง ต.นาแขม ในขณะที่ญาติโยมช่วยกันหามหลวงพ่อหินออกมาจากป่านั้น คนที่หามออกมา บอกว่าพระพุทธรูปมีน้ำหนักมาก

แต่ครั้นพอหลวงปู่ศรีจันทร์ได้ไปจับ ต้องที่หลวงพ่อหิน พร้อมกับอธิษฐาน ปรากฏว่า พระพุทธรูปมีน้ำหนักเบาและสามารถอัญเชิญออกมาจากป่าได้

หลวงปู่ศรีจันทร์ จึงได้เอาไปไว้ในพระอุโบสถของวัด เพื่อความสะดวกของคนที่มากราบไหว้ ตอนกลางคืน ใส่โซ่คล้องกุญแจประตูพระอุโบสถไว้ เพื่อกันคนมาขโมย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2526 ในตอนกลางคืนวันหนึ่ง ได้มีคนร้ายจำนวนหนึ่งประมาณ 5-6 คน ได้มาขโมยหลวงพ่อหิน โดยตัดโซ่ประตูโบสถ์เข้าไปยกเอาหลวงพ่อหิน แต่ยกไม่ได้ จึงลากหลวงพ่อหินออกมา แล้วขนใส่รถหลบหนีไป

ตอนเช้าจึงรู้ว่าหลวงพ่อหินถูกขโมยไป ที่ยกไปไม่ได้เพราะพื้นพระอุโบสถมีรอยลากหลวงพ่อหินออกมานอกโบสถ์อย่างเห็นได้ชัด พอตกตอนเย็นวันเดียวกันนั้น ก็มีคนนำหลวงพ่อหินมาคืนที่วัด โดยบอกว่ามีคนพบอยู่ที่ อ.ภูกระดึง คนที่นำมาส่งก็มีรอยฟกช้ำหลายแห่ง ต่อมาจึงทราบว่า พวกที่ขโมยหลวงพ่อหินไปเกิดอุบัติเหตุ ไม่สามารถเอาหลวงพ่อหินไปได้


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.tumsrivichai.com/index.ph...65231&Ntype=42