ความรักเพียรละ


กาโมฆะ โอฆะ คือกาม จมอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่มันจมอยู่ คือมันดูแต่ข้างนอกไม่ดูข้างในไม่ดูตัวของเรานี้ แต่เราชอบดูคนอื่น คนอื่นเห็นหมดแล้ว แต่ตัวเราไม่ชอบดูกัน มันจึงไม่เห็น มันไม่ใช่เป็นของยากลำบากอะไรแต่เราไม่พยายามที่สุดในตรงนี้ ยกตัวอย่าง มองดูสีกาสวยๆ เป็นอย่างไรล่ะ? พอมองเห็นหน้ามันมองเห็นหมดทุกอย่าง เห็นไหม?ดูในใจนี้ก็ได้ เห็นสภาพของผู้หญิงเป็นอย่างไร? เห็นแล้วพอตานอกมองเห็นตาใน เห็นหมดทุกแห่ง ทำไมมันเร็วอย่างนั้น? คือมันจมอยู่ในน้ำ มันจมอยู่ มันวินิจฉัยอยู่ มันวิจัยอยู่ มันติดอยู่ในนั้น เพราะว่าเราเป็นทาสมัน เหมือนเราเป็นทาสของคนหนึ่งคนนั้นมีอำนาจมากกว่าเรา ชี้ให้วิ่งก็ต้องวิ่ง ให้นั่งก็ต้องนั่ง ให้เดินก็ต้องเดิน เพราะอะไร? เราฝืนไม่ได้ เพราะเราเป็นทาสเขา เราเป็นทาสของกามนี้ก็เช่นกัน จะเขี่ยอย่างไรมันก็ไม่ออก ยิ่งให้คนอื่นเขี่ยก็ยิ่งร้าย เราต้องเขี่ยของเราเอง

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมะนี้ เรื่องที่มันจะพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านจึงมอบให้เรานี้เอง พูดง่ายๆ อย่างพระนิพพานนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ชัดแจ้ง ทำไมไม่อธิบายธรรมะให้ละเอียดแยบคายเกี่ยวกับเรื่องนิพพาน? ท่านบอกแต่ว่าให้ปฏิบัติรู้เฉพาะตัวเท่านั้นแหละ ทำไมถึงบอกอย่างนั้น? ก็ควรจะชี้ว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มิใช่หรือ? พระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติมาเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าหลายอสงไขย ก็เพื่อท่านจะได้โปรดสัตว์นั่นเอง ทำไมท่านไม่ชี้พระนิพพานให้รู้จักกัน ให้มันไปกัน? บางคนก็คิดอย่างนั้น "ถ้าพระพุทธเจ้ารู้จริงก็บอกจริงๆ ซิ จะปกปิดอำพรางไว้ทำไม? ไอ้ความเป็นจริงคิดเช่นนี้มันผิด คือเราจะเห็นอย่างนั้นไม่ได้ มันจะเห็นเพราะการประพฤติ เพราะการปฏิบัติ ท่านเพียงแต่จะแนะแนวทางพอให้เกิดปัญญาเท่านั้น บอกแต่ว่าให้ปฏิบัติเองให้กระทำเอง ผู้บรรลุก็เห็นเอง

แต่ว่าแนวทางที่ท่านแนะไปมันก็ขัดใจเราอยู่แล้ว ให้มักน้อย ให้สันโดษ ให้อย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ยังไม่ชอบอยู่แล้วเลยบอกไปว่าให้ท่านชี้นิพพาน ชี้ทางไปนิพพาน ให้คนที่งอมืองอเท้าไปก็ได้ อย่างตัวปัญญาก็เหมือนกัน ท่านจะเอาตัวปัญญานี้ชี้กันให้เกิดปัญญา เอาปัญญาให้กันไม่ได้หรอก แต่ท่านก็แนะแนวทางที่จะให้เกิดปัญญานี้ได้ แต่จะเกิดปัญญามากหรือน้อยนั้นแล้วแต่กรณี พูดถึงบุญวาสนาบารมี ความรู้ ความเห็นมันต่างกันเช่น พูดถึงวัตถุอันหนึ่ง อย่างรูปสิงห์อยู่หน้าโบสถ์เรานี้ ต่างคนต่างดู ดูตัวเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน คนนี้ว่า "แหม สวย" คนนั้นว่า "ไม่สวย" ก็ตัวเดียวกันนั่นล่ะ สวยไม่สวย เท่านี้เราก็รู้จักว่ามันเป็นอย่างไร ฉะนั้นผู้บรรลุธรรมะช้ากว่ากัน เร็วกว่ากันมันมีอยู่พระพุทธองค์ และสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานั้น ความเป็นจริงท่านทำด้วยตนเอง แต่ว่าทำด้วยตนเองนั้น ก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์บอกอุบายให้เกิดปัญญา ท่านไม่สามารถเอาปัญญาให้กันได้หรอก ท่านสามารถแต่จะให้ความรู้เป็นบ่อเกิดของปัญญาเท่านั้น

ทีนี้เมื่อเราจะฟังธรรม ฟังมันจนหมดสงสัย มันก็ไม่หมดหรอก ความสงสัยมันไม่หมดด้วยการฟัง หรือการคิด เราต้องเอาไปฟอกใหม่ ฟอกใหม่คือปฏิบัติใหม่ ถึงแม้ว่าท่านจะพูดความจริงมาสักเท่าไหร่ก็ตามเถอะ เราก็ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริงนั้น ถ้ารู้ก็สักแต่ว่าคาดคะเน หรือประมาณเอาเท่านั้น แต่ถึงไม่บรรลุธรรมะในขณะที่ฟังอยู่นั้น ก็ตัวจิตมันสร้างตัวมันขึ้นได้

มีเหมือนกันในครั้งพุทธกาล นั่งฟังธรรมะ บรรลุธรรมะถึงขั้นที่สุดในขณะที่นั่งฟังอยู่ก็มี แต่ว่าเมื่อฟังอยู่มันรู้อุบายเร็วคล้ายๆ กับลูกโป่ง ลูกโป่งนั้นนะ เขาสูบลมเข้ามันพองตัว ไอ้ลมที่มันอยู่ในลูกโป่งนั้นมันมีพลังที่จะดันออกมา มันพยายามที่จะออกแต่มันไม่มีรู พอเอาเข็มหมุดไปแทงสักนิดเดียวเท่านั้น ลมก็ฟี้ออกไปเลย อันนี้ก็ฉันนั้น วิสัยของสาวกที่ฟังธรรมะ บรรลุธรรมะในอาสนะที่นั่งนั้นก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรสัมผัส มันดันอยู่เหมือนลูกโป่ง ที่มันทึบอยู่ คือมันมีอะไรบังอยู่นิดเดียว มันไม่ออก พอได้ฟังธรรมะถูกจริตเข้าเท่านั้น ก็เกิดปัญญาปุ๊บขึ้นมาทันที ล่วงรู้ในเวลานั้น ปล่อยวางในเวลานั้น ท่านก็บรรลุธรรมอย่างแท้จริงได้มันเป็นเสียอย่างนั้น มันง่าย... ก็เพราะมันพลิกกลับเท่านั้นแหละมันเปลี่ยน หรือมันพลิกออกจากความเห็นอย่างนั้นมาเป็นความเห็นอย่างนี้ จะว่าไกลมันก็ไกล จะว่าใกล้มันก็ใกล้

อันนี้เป็นของทำเอาเอง พระพุทธเจ้าให้อุบายที่จะทำให้เกิดปัญญา ครูบาอาจารย์เราทุกวันนี้เหมือนกันฉันนั้น ท่านเทศน์ให้เราฟัง เอาความจริงพูดให้ฟังกัน แต่เราก็เอาความจริงนั้นไปไม่ได้เพราะอะไร? มันมีเยื่ออะไรมาปิดบังอยู่นะ นี่จะหมายว่ามันจมก็ได้ มันจมอยู่ในน้ำ กาโมฆะ โอฆะ คือกาม ภโวฆะ โอฆะคือภพ ภพที่เกิด กามทั้งหลายก็อยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในกามแน่น

ดังนั้นผู้ปฏิบัติบางทีก็เบื่อ เอือมระอา เบื่อในการปฏิบัติขี้เกียจ ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอก อย่างเราฟังธรรมะกันนี้ไม่ค่อยจะจำอยู่ในใจกัน แต่ว่าถูกคนอื่นเขาด่า ด่าอย่างจริงจัง โน้น...ด่าแต่วันเข้าพรรษาโน้น ด่าอย่างหนัก ถึงวันจะออกพรรษาแล้ว มันก็ยังไม่ลืม อีกพรรษาหนึ่งมันก็ยังไม่ลืม ชั่วชีวิตนี้ก็ยังไม่ลืม ถ้ามันเข้าถึงใจจริงๆ แต่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ให้มักน้อยปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทำไมไม่อยากจะเอาเข้าไปในใจนั้น? ทำไมมันถึงลืมกันมาตั้งนมนาน? ไม่ต้องพูดถึงอะไรมากหรอก ข้อวัตรเรานี้ อย่างเราตั้งข้อวัตรว่าก่อนฉันกัน หรือฉันเสร็จแล้วเก็บบาตรอย่าไปคุยกันนะ เท่านี้มันก็ยังไม่ค่อยจะได้ แต่รู้ด้วยว่าการคุยกันนี้มันดีอะไรไหม? มันตกอยู่ในกามทั้งนั้นแหละ คุยไปคุยมาก็ขัดแย้งกันแล้วก็ทะเลาะกันขัดใจกันเท่านั้น ไม่มีเรื่องอะไรมากหรอก เท่านี้มิใช่เป็นของละเอียด เป็นของหยาบๆ อย่างนี้มันก็ไม่ค่อยจะเอานะคนนี่ ว่าอยากจะบรรลุธรรมะ แต่จะเดินไปทางนั้นไม่ค่อยจะเดินมาตามทางนี้ มันเป็นไปเสียอย่างนั้น ข้อวัตรทุกอย่างทุกประการนี้ มันเป็นอุบายให้เข้าไปเห็นธรรมะทั้งนั้น แต่เราไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยประพฤติปฏิบัติให้มันเดินไปตรงนั้น

การปฏิบัติอย่างจริงจังนี้ คำว่า อย่างจริงจัง มิใช่ลงเรี่ยวลงแรงอะไรมาก คือตั้งใจให้มันมีพลังของจิตขึ้นเท่านั้น ให้พยายามมีความรู้ทุกอย่างที่มันเป็นมา ที่มันจะจมอยู่ในกาม ที่มันเป็นข้าศึก เท่านี้ก็ยังไม่ค่อยจะได้ ทุกปีจวนจะออกพรรษาก็ยิ่งเป็นนะ คือมันเดินไม่ไหว มันเดินไปสุดขีดของมันแล้ว จวนจะออกพรรษาเท่าไหร่ยิ่งเลอะ เรียกว่ามันไม่มีต้น ไม่มีปลาย มันไม่สม่ำเสมอ พูดทุกปีทำไม่ค่อยจะได้ ตั้งข้อวัตรปุ๊บไม่ถึงปีเลย...เสีย...เสียแล้ว จวนจะออกพรรษาก็เอาแล้ว เกิดคุยกัน เกิดอะไรต่ออะไร อารมณ์ต่างๆ หลายอย่าง...เลอะ...ชอบจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ถ้าผู้ปฏิบัติจะให้ดีนะ ท่านจะต้องรู้มันว่า อันนี้ทำไมถึงทำอย่างนั้น นี่เป็นเพราะว่ามันมองไม่เห็นโทษ

มาบวชในพระพุทธศาสนาก็อยู่กันอย่างนี้ ไม่มีอะไรมากหรอก เวลาเราสึกออกไปแล้วนี่ ไปรบกัน ไปยิงกัน ยิงเฉียดกันทุกวันทุกวัน อย่างนี้ยังชอบ อยากจะไปกันจริงๆ อันตรายมันใกล้เหลือเกิน ก็ยังยอมอย่างนั้น ทำไมมันถึงไม่เห็นนะ? จะตายเพราะลูกกระสุนเขานะยอมไป แต่จะตายเพื่อที่จะสร้างคุณงามความดีนี้ไม่ยอม ดูแค่นี้ก็พอแล้ว ก็เพราะเราเป็นทาสมันนั่นเองแหละ ไม่ใช่อื่นหรอก เราดูเท่านี้ก็รู้จัก เพราะเราไม่เห็นโทษมัน...ไปโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า โอ้โฮ ทหารบ้าง ตำรวจบ้าง ขาขาดก็มี แขนขาดก็มี เดินอย่างเต่าก็มี ขนาดนั้นยังวิ่งแข่งกันเลยคนขาเดียวมันวิ่งแข่งกันสนุกสนาน นี่เราก็ไปนั่งดู มันไม่เห็นโทษอันนี้ก็น่าอัศจรรย์เหมือนกันนะ มันน่าจะเห็นแต่ยังไม่เห็น ถ้ายังไม่เห็นอย่างนั้นก็ออกไม่ได้ มันก็เวียนในวัฏฏะจนได้ นี่มันเป็นเสียอย่างนี้ ไม่พูดอย่างอื่น พูดถึงสิ่งใกล้ๆ นี้ก็รู้จัก

ถ้าเราพูดถึงเกิดมาทำไมมนุษย์นี้ มันก็คงตอบปัญหาได้ยาก เพราะมันยังไม่เห็นนั่นเอง มันตกอยู่ในกาม ตกอยู่ในภพภพคือที่เกิด มันเป็นที่เกิดของเรา พูดกันง่ายๆ ที่เกิดของสัตว์ทุกวันนี้คืออะไร? ภพนั้นสำหรับก่อชาติ มันจะไปเกิดในภพนั้นนะที่ไหนก็ช่างมันเป็นภพ อย่างเช่นต้นไม้ในสวนของเรา มีต้นลำไยที่เราชอบๆ อย่างนี้ นั่นแหละคือภพอันหนึ่ง ถ้าเราไม่รู้จักมันด้วยปัญญา มันเป็นภพอย่างไรล่ะ? คือเราจะมีสวนลำไยอยู่สัก ๑๐๐ต้น ๑,๐๐๐ ต้นก็ช่างเถอะ ขอให้ถือว่าบริเวณนี้เป็นต้นไม้ของเราทั้งนั้น แล้วมันจะไปเกิดเป็นตัวด้วงอยู่ทุกๆ ต้น เจาะอยู่ในนั้นแต่ตัวใหญ่มันนอนอยู่ในบ้าน แต่แขนงของมันไปเจาะต้นไม้อยู่ทำไมถึงจะรู้จักว่ามันเป็นภพ? มันเป็นภพที่เกิด คำว่าภพก็เพราะอุปาทานว่า อันนี้ต้นไม้ของเรา สวนของเรา งั้นถ้ามีคนเอามีดไปสับซิ สับต้นลำไยตาย เจ้าของอยู่บ้าน...ตาย...เดือดร้อน จะต้องไปต่อว่ากัน จะต้องไปทะเลาะกัน จะต้องไปฆ่าไปแกงกันอีก ไอ้ที่มันไปทะเลาะกัน มันไปเกิดตรงนั้นแหละ ภพคือต้นไม้ที่อุปาทานยึดมั่นว่า อันนี้สวนเรา อันนี้ต้นไม้ของเรา จะไปเกิดที่ว่ามันเป็นของเรา จะไปเกิดที่ภพอันนั้น อย่างปลูกลำไย หรือทุเรียน สัก ๑,๐๐๐ ต้นก็ดี ให้เขาไปสับเถอะต้นใดต้นหนึ่งในสวนนั้น มันถูกเราทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าอะไรมันไปเกิดตรงนั้น อยู่ตรงนั้น มันไปเกิดเมื่อเรารู้จัก รู้เพราะความไม่รู้ รู้จักว่าเขาไปตัดลำไยของเราแต่ไม่รู้ว่านี้ไม่ใช่ต้นลำไยของเรา เรียกว่ารู้ด้วยความไม่รู้ มันก็ต้องเกิดในภพนั้นซิ

วัฏฏะนี้ มันจะเกิดโดยวิธีอันนี้ คือมันติดภพอันนั้นอยู่ มันอาศัยภพนั้นอยู่ มันจะพลอยไปดีใจในที่นั้น นี้ก็คือความเกิด มันจะพลอยไปเสียใจในที่นั้น นี่คือความเกิด นี่มันวางยังไม่ได้ มันเป็นตัววัฏฏะทั้งนั้นแหละ สังสาระทุกขัง ทุกข์ในสงสาร มันก็เป็นไปตามวัฏฏะ อันนี้ให้ไปคิด ให้ไปพิจารณาดู อะไรที่เราจะยึดว่านั่นเรา นั่นของเรา นั่นแหละเป็นภพทั้งนั้น เห็นง่ายๆ ภพนั้นมีไว้เพื่อจะเกิด อุปาทานนี้มีไว้เพื่อจะเกิด นั่นแหละ พระพุทธเจ้าท่านว่ามีอะไรก็อย่าให้มันมี ให้มันมีแต่อย่าให้มันมี ให้รู้จักว่ามีหรือไม่มีนั้นมันเป็นอย่างไร? ให้รู้เรื่องตามความจริงของมัน อย่าให้มันเกิดทุกข์

ภพที่เราเกิดมานี้นะ มันอยากไปเกิดอีกใช่ไหม? พระเณรเราทุกคนเคยเกิดมาจากไหนล่ะ? ที่ไหนที่เราเกิดมา เคยรู้ไหม? เราอยากจะเข้าไปอีกใช่ไหม? ตรงนั้นนะนี่ดูซิ ทุกคนเตรียมตัวทั้งนั้น มันเกิดมาจากตรงไหน มันก็จะเข้าไปตรงนั้นแหละ จวนจะออกพรรษาแล้วมันเตรียมตัวจะไปเกิดตรงนั้น อย่างนั้นมันน่าจะเห็น มันน่าจะรู้นะว่าถ้าไปเกิดตรงนั้นมันจะเป็นอย่างไรนะ ตัวขนาดนี้ไปอยู่ในท้องของคน มันจะอยู่ยากลำบากแค่ไหน ดูซิให้เราอยู่ในกุฏิสักวันหนึ่งก็พอแล้ว ปิดประตูหน้าต่างไว้อึดอัดเต็มทีแล้ว จะไปอยู่ในนั้นสัก ๑๐ เดือน ๙ เดือน ลองคิดดูซิ อย่างนั้นก็ยังไม่เห็นโทษของมัน ว่าเราอยู่ยังไง ว่าชาติมันเป็นทุกข์อย่างไร ก็ไม่รู้เรื่อง ยังอยากจะดันเข้าไปอยู่ในนั้นอีกหรือ? ทำไม? มันน่าจะเห็น แต่ว่ามันไม่เห็น ทำไมมันไม่เห็น? มันไปคาอะไร? มันไปติดอะไรอยู่นะ? ไปวิจัยเอาเองซิ ก็เพราะมันมีภพมีชาติที่มันเกิด ไปดูรูปเด็กที่อยู่ในศาลานั้นสิ เห็นไหม? ใครกลัวใหม? ไม่มีใครกลัวหรอก เห็นเด็กที่มันนอนอยู่ในท้อง มันก็เป็นอย่างนั้นทั้งนั้น เราก็อยากจะสร้างมันขึ้นอีกให้มันเป็นอยู่ ตัวเราก็อยากจะไปนอนแช่ในนั้นอีก แช่อยู่อย่างนั้น ทำไมไม่เห็นโทษมัน ไม่เห็นประโยชน์มัน? ดูซิ นั่นคือภพ มันอยู่นั่นแหละ มันเวียนอยู่นั่นแหละ นี่พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณากันตรงนี้ พิจารณาดูเอาเถอะ แต่ว่าดูไปดูมาก็ยังไม่เห็น มันยังเตรียมตัวจะไปอยู่ทุกคนนั่นแหละ รู้อยู่ว่าไอ้ตรงนั้นมันไม่ค่อยสบาย แต่มันก็อยากเอาศีรษะโผล่เข้าไปตรงนั้น ยื่นคอเข้าไปหาบ่วงนั้นอีก ทั้งที่รู้ว่าบ่วงนี้ถ้าหากยื่นคอเข้าไปถูกบ่วงมันจะลำบาก ก็รู้อยู่ แต่ก็อยากจะยื่นคอเข้าไปในบ่วงนั้นอีก ทำไมไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น? อันนี้มันเป็นเรื่องปัญญาทั้งนั้น เรื่องเราจะพิจารณา

บางคนเมื่อเทศน์อย่างนี้ก็ว่า "ถ้าอย่างนั้นก็บวชกันหมดละซี จะไม่มีโลกกันหรือ? โลกเราจะอยู่ได้อย่างไร?" ไม่มีใครบวชหมดหร๊อก ไม่มีใครบวชหมด โลกนี้มันก็อยู่ได้เพราะคนหลงอย่างนี้ เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เท่าไหร่หรอก ผมก็บวชมา เข้าวัดตั้งแต่อายุ ๙ ขวบเลย พยายามมันอยู่อย่างนี้ แต่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องหรอกสมัยก่อน มารู้เมื่อเป็นพระนั่นแหละ พอบวชมาแล้วโอ้โฮ มันกลัวทั้งนั้นแหละ มันคล้ายๆ ว่า เห็นกามที่เขาอยู่นะ ไม่เห็นความสนุกกับเขา แต่เห็นความทุกข์มากกว่า มันคล้ายๆ กับกล้วยน้ำว้าใบหนึ่ง เราไปทานมัน มันก็หวานดีอยู่ มันมีรสหวานก็รู้อยู่ แต่เวลานี้รู้อยู่ว่าเขาเอายาพิษไปฝังไว้ในกล้วยใบนั้น แม้จะรู้อยู่ว่ามันหวานเท่าไรก็ช่าง ถ้ากินไปแล้วมันจะตายใช่ไหม? ความเห็นมันเป็นเช่นนั้นทุกที ว่าจะกินก็เห็นยาพิษฝังอยู่ในนั้นทุกทีนั่นแหละ มันก็เลยถอนออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีอายุพรรษามากขนาดนี้แล้ว ถ้าเรามามองเห็นแล้ว มันไม่น่ากินเลยนะ

บางคนก็ไม่เห็น บางคนก็เห็นอยู่ แต่อยากไปทดลองทดลองยาพิษ ไอ้ฝ่ามือมันมีแผล อย่าไปแตะของพิษนะ มันซึมซาบเข้ามาได้ สมัยก่อนผมก็เคยคิดเหมือนกัน เมื่ออายุพรรษาได้ ๕-๖ พรรษา นึกถึงพระพุทธเจ้า ปฏิบัติ ๕-๖ พรรษา ก็ปฏิบัติได้แล้ว แต่เรามันห่วงโลก มันอยากจะกลับไปอีกหละ "จะไปสร้างโลกสักพักหนึ่งจะดีละมั้ง มันจะได้รู้เรื่องอะไรต่ออะไรดีพระพุทธองค์ท่านก็ยังมีราหุลเว้ย ไอ้เรามันจะเกินไปละมั้ง" ก็นั่งภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เลยเกิดความรู้ขึ้นมา..."ดีเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าองค์นี้ น่ากลัวจะไม่เหมือนองค์ก่อน" มันมาต่อต้านนะ "องค์นี้ น่ากลัวจะจมลงไปในโคลนเลย มันจะไม่เหมือนพระพุทธเจ้าองค์ก่อนละมั้ง" นี่ มันต่อต้านกันเรื่อยมา มันเป็นเสียอย่างนั้น ตั้งแต่ ๖-๗ พรรษา ถึง ๒๐ พรรษานี่ โอย มันรบกันขนาดหนัก เดี๋ยวนี้มันจะหมดกระสุนแล้ว ยิงมานาน กลัวพระเณรที่นี้มีกระสุนมากๆ อยากจะไปยิงกันอยู่นะ ถ้าหากว่ามันอยากก็คิดให้มันดีเสียก่อน

ไอ้เรื่องกามทั้งหลายนี้นะ มันออกได้ยาก มันยากที่จะเห็นที่มันจะเห็นได้ มันก็มีอุบายของมันอยู่ ผมว่ามันไม่แปลกอะไรกันเท่าไหร่กับเราฉันเนื้อ เนื้อมันยัดเข้าไปในซีกฟันของเรา แหม มันปวด มันเจ็บ ฉันข้าวยังไม่เสร็จ แต่ก็เอาไม้จิ้มมันออก เนื้อมันหลุดออกไปจากฟันเราก็สบายไปพักหนึ่ง แล้วก็ไม่อยากฉันเนื้ออีกแต่พอเห็นเนื้อมาก็ฉันอีก แล้วก็ไปอุดอีก อุดอีกก็เอาไม้ไปจิ้มออกอีก มันก็สบายสักนิดหนึ่งอีก เท่านั้นแหละ...เรื่องของกามไม่ใช่อื่นหรอกเท่านี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ไอ้เนื้อมันอุดซี่ฟันมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ทุรนทุราย เอาไม้จิ้มออกก็สบายไปพักหนึ่ง ไม่มากไปกว่านี้ อันนี้ก็เหมือนกัน อึดอัด...อึดอัด...เอามันออกสักนิดหนึ่ง โอย เท่านั้นแหละ ไม่รู้ว่ามันเรื่องอะไร เรื่องบ้าๆ บอๆ

อันนี้ไม่มีใครสั่งสอนเราหรอก เราคิดของเราไป พิจารณาไปเรื่อย เรานั่งภาวนาอยู่ก็เห็นว่าไอ้เรื่องกามนี้ คล้ายๆ กับรังมดแดงใหญ่ๆ เราเอาไม้ไปแหย่ ยิ่งแหย่ก็ยิ่งหล่นมาใส่ มดมันหล่นลงมาใส่หน้าใส่ตา แสบหูแสบตา นั่นก็ยังไม่เห็นโทษมัน มันน่าจะเห็นโทษมันนะ แต่ว่ามันไม่เหลือวิสัยของมนุษย์นะ คำสอนของพระพุทธเจ้าได้ความว่า อะไรที่เราเห็นโทษ มันดีขนาดไหนก็ช่างมันเถอะ มันเสียหาย อะไรเรายังไม่เห็นโทษมัน มันก็ดีทั้งนั้นทุกอย่างให้เข้าใจว่า ถ้าเราไม่เห็นโทษในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ออกจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้

เห็นไหมล่ะ? ถึงจะน่ารังเกียจขนาดไหนมันก็ดี ไอ้งานชนิดนี้มันเป็นงานสกปรก แต่ถึงไม่ต้องจ้างคนเขาก็สมัครทำงาน งานอย่างอื่นเขาให้วันละ ๒๐-๓๐ บาทก็ไม่เอา ไอ้งานนี้ไม่ต้องจ้างเลยยอมมาเป็นทาสเอง มิใช่ว่าเป็นงานสะอาดเสียด้วย งานสกปรกทำไมมันชอบทำกัน? นี่จะว่ามันมีปัญญากันได้อย่างไรคนเรานี้ เอาไปคิดกันดูนะ เห็นไหมสุนัขนี่ เห็นสุนัขที่อยู่ในวัดเราไหม? มันมีเป็นฝูงๆ โอ้โฮ มันกัดกัน บางตัวขาขาดเลย อีกสักเดือนก็ไม่ได้โอกาสสักทีหนึ่ง พอเข้าไปตัวที่มันมีกำลังมากตะครุบ...เกือบตายออกมานะ ลากขาออกไปร้อง เอ๋งๆ เขาวิ่งเป็นฝูงก็ยังจะตามไปอีก กำลังมันน้อยก็นึกว่าจะได้กับเขาสักทีหนึ่งเขากัดเสียแล้ว เออ...ในฤดูฝนนี้คงยังไม่มีโอกาสจะได้กับเขาสักทีก็ได้นะเห็นแต่อยู่ตามวัด เห็นไหม? ฉันใดก็ฉันนั้น ไอ้สุนัขมันวิ่งตามกันเป็นฝูงๆ นะ แล้วมันก็ร้อง โฮ้งๆ ๆ ผมว่ามันร้องเพลง ถ้าเป็นคนมันก็ร้องเพลงเลยนะ ถ้าไปคิดเป็นเรื่องสนุกสนาน มันร้องเพลงเลย มันมีอะไรชักจูงใจมันหรือเปล่าก็ไม่รู้เรื่อง มันไปตามอารมณ์ไม่รู้เรื่อง

เราคิดให้มันดี ถ้าอยากปฏิบัติแล้วควรรู้จัก รู้จักอารมณ์ภายใน อย่างพวกพระเณรเรา ญาติโยมเราทุกคน ใครควรจะเข้าไปใกล้ชิดไหม? ไปกับคนพูดมากก็ชวนเราพูดมากๆ ของเรามันมีเยอะเสียแล้ว คนนั้นก็เยอะ เอามารวมกันเข้ามันก็ระเบิดเท่านั้นชอบไปหาคนคุยมากๆ คุยเรื่องเลอะๆ เทอะๆ ไปนั่งฟังคุยกันสนุกสนาน มันก็ชอบไปอย่างนี้ ถ้าพูดถึงธรรมะ พูดถึงเรื่องข้อปฏิบัตินี้แล้วไม่ค่อยได้ยิน ที่ไปเทศน์ก็เหมือนกัน พอขึ้น "นโมตัสสะ ภะคะวะโต..." เท่านั้น ง่วงแล้วทั้งนั้น ไม่ยอมรับมันเลย...ตาย...พอถึง "เอวัง" ก็ลืมตาขึ้นมาอีก เกิดขึ้นมาอีก เทศน์ทุกทีง่วงทุกที หลับทุกที มันจะเอาอะไรไปได้? เราเป็นนักปฏิบัติฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ พอออกจากที่นั่งไปนะ ใจมันใหญ่ ใจมันสูง มันรู้จักอะไรขึ้น ๖ วัน ๗ วัน ท่านก็เทศน์ให้ฟัง เพิ่มกำลังอีกเรื่อยๆ

เรามีโอกาสเท่านี้บวชนี่ มีโอกาสในเวลานี้เท่านั้นนะ ให้มาดูมาดูงานดูการ ว่าเราจะเอายังไง อายุ ๒๐ ปี ๒๐ กว่าปีแล้วนี่ มันบรรลุนิติภาวะ ต่อไปนี้เราจะเดินทางไหน? มายืนอยู่ตรงนี้ ตรงกับโลกพระศาสนานี้ มันจะเอาอย่างไรกัน? จะไปทางโลกก็ได้จะไปทางธรรมก็ได้ ตรงนี้มันเป็นที่ตัดสินแล้ว เอาอย่างไรก็เอาตรงนี้ตรงที่เราวิพากษ์วิจารณ์นี้ ถ้ามันจะหลุดมันจะหลุดไปตรงนี้


นำมาจาก http://www.ajahnchah.org/thai/effort.php