ความสันโดษ

กระทู้: ความสันโดษ

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. RooT said:

    ความสันโดษ

    เมื่อกล่าวถึงคำว่า "สันโดษ" แต่ละท่านจะเข้าใจความหมายอย่างไรกันบ้าง
    และรู้สึกอย่างไรบ้าง ขณะที่ได้ยินได้ฟังคำนี้
    ...ควรทราบว่า แต่ละคำสอนของพระพุทธองค์ ต้องมีความละเอียดลึกซึ้ง
    การเข้าถึง "สภาพธรรม" นั้นๆต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆเจริญขึ้นไปเป็นลำดับขั้นจริงๆ

    มงคลที่ ๒๔
    คำว่าสันโดษไม่ได้หมายถึงการอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้ คือ
    1. ยถาลาภสันโดษ หมายถึงความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่
    2. ยถาพลสันโดษ หมายถึงความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถเป็นต้น
    3. ยถาสารูปสันโดษ หมายถึงความยินดีตามควร ซึ่งโยงใยไปถึงความพอเหมาะพอควรในหลายๆเรื่อง เช่นรูปลักษณ์ของตนเอง และรวมทั้งฐานะที่เราเป็นอยู่
     
  2. RooT said:

    Re: ความสันโดษ

    บางคนอาจหลง เข้าใจผิดคิดว่า ตนเองเป็นผู้ถือสันโดษแล้ว
    ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน ทุกๆขณะใดที่จิตว่า ยังมีความพึงพอใจ ในสิ่งที่มีอยู่นั้นหรือไม่
    ขณะนั้นเป็น อโลภะ จริงๆแล้วหรือยัง
    เช่น ขณะนี้อยากอยู่เพียงลำพัง , อยากกินอยู่แบบง่ายๆ , ใช้ชีวิตประหยัดเรียบง่าย , พอใจแค่อาหารจานนี้ที่มีอยู่ ,
    ไม่อยากไปเที่ยวไหน , ไม่อยากไปในที่ๆมีความวุ่นวาย , ไม่ต้องการมีพิธีรีตรองมากมายนัก
    อยากใส่เสื้อผ้าง่ายๆ แค่ไม่กี่ตัว , ไม่อยากซื้อของมีค่า ราคาแพงๆ
    การพอใจในโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เท่าที่เรามีในขณะนี้
    ...จะเห็นได้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ใช่ ความสันโดษก็ได้ เช่น ไม่ชอบอย่างนี้ แต่ไปชอบอย่างอื่นแทน
    หรือ ชอบอย่างนี้ จึงไม่ต้องการอย่างอื่น
    บางที ไม่มีความต้องการ เพียงขณะจิตเดียวจริงๆในตอนนั้น
    แต่ขณะจิตต่อไป ก็ไปต้องการอย่างอื่นแทนเสียแล้ว เป็นโลภะเกิดอีกล้ว

    ...ความสันโดษ เป็นฝึกฝนตนเอง ให้รู้จักความมักน้อย ในรูปแบบต่างๆ
    คือฝึกการพอใจแค่ในสิ่งที่ตนมีขณะนั้นๆจริงๆ ไม่ดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า โดยไม่มีจำเป็นเลย
    ความสันโดษ นั้นอาจยังมีความต้องการแฝงอยู่บ้าง แต่เป็นความต้องการที่บางเบา และละเอียด
     
  3. RooT said:

    Re: ความสันโดษ

    ไม่ใช่เรา ไปทำความสันโดษ หรือ ไปทำความสันโดษให้มีขึ้นได้เลยนะครับ
    แต่เป็นการที่ เจตสิกฝ่ายดีเกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วค่อยๆสะสมในจิต
    ค่อยๆปรุงแต่งสังขารธรรม จากความมักมาก ไปสู่ความมักน้อย ไปทีละน้อยๆ
    กว่าจะเป็น "ผู้ที่ยินดีในความสันโดษได้จริงๆ" นั้นยากแสนยาก ต้องใช้เวลายาวนานในการอบรม
    เพื่อสะสมบารมีอื่นๆหลายอย่าง เพื่อเกื้อกูลกันให้เกิดสภาพธรรม "ความสันโดษ" นี้ขึ้นมาได้
    ซึ่งทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามการสะสมจริงๆ

    ตราบใดที่ยังมี "ความยึดถึอว่า เรามีตัวมีตน" , "ขันธ์ 5 หรือ กายและใจนี้ ยังเป็นของๆเรา"
    ขณะนั้นก็ยังมี "โลภะมูลจิต" อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าอะไรๆ ก็เป็นของๆเรา ไปตั้งมากตั้งมายเลยทีเดียว
    ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง ความสุข บ้าน รถ ญาติ พี่น้อง พ่อแม่ แฟน ลูก เสื้อผ้า อาหาร
    ชีวิต ลมหายใจ ความคิด ความจำ ความรู้สึก การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รลิ้มรส กระทบสัมผัส
    ก็ยังเป็นเรา เป็นของๆเราอยู่ ...ขณะนั้น เต็มไปด้วยโลภะ มีความติดข้อง ยินดีพอใจ
    ในการเป็นผู้ได้ครอบครอง ในการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ขาดสายเลย
     
  4. RooT said:

    Re: ความสันโดษ

    ดังนั้น... จะเห็นได้ว่า สันโดษ ก็หมายถึงการพอใจ แค่ในสิ่งที่ตนมีขณะนั้นๆจริงๆ
    ไม่ใช่ว่า ขณะนี้มีอย่างนี้ แต่ไปพอใจอย่างอื่น ซึ่งไม่ได้อยู่ตรงหน้าเลย
    ขณะนั้น จิตไม่ได้มีอารมณ์ตั้งอยู่ "ในสิ่งที่กำลังปรากฎ ในปัจจุบัน"
    จิตคิดไปถึงสิ่งอื่นๆ ด้วยกำลังของ "โลภะ ที่สะสมอยู่ในจิต" นั่นเองครับ
    จิตคิดไปถึงสิ่งหนึ่ง แล้วก็ไปอีกสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่ง เรื่อยไปตลอดเวลา
    ไม่หยุดหย่อน ตามที่เรียกว่า "ฟุ้งซ่าน" นั่นเอง
    จิตคิดไปตามกำลังของ โลภะบ้าง โทสะบ้าง
    ...แผ่ไป ซ่านไป ในสิ่งต่างๆ ตามความติดข้องที่สะสมไว้

    ถ้าหากจิตมีสติรู้อยู่ ระลึกอยู่กับสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฎจริงๆ ขณะนั้นๆ
    จึงจะได้ชื่อว่า มีสติจริงๆ และขณะนั้นมีสมาธิ และวิริยะเกิดด้วย
    แต่จะประกอบด้วยปัญหาหรือไม่นั้น ก็อีกเรื่องนึงนะครับ เพราะปัญญาก็มีหลายระดับ

    การฝึกฝนตนเอง ให้ถือความสันโดษ หรือความมักน้อยนี้ จะเป็นบาทฐาน
    ไปสู่การเจริญทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา ได้จริงๆ
    แต่จะเป็นไปได้อย่างไรนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าถึงความสันโดษ ขั้นหยาบๆ เสียก่อน
    จึงจะเกิดปัญญาเข้าใจในสภาพธรรมะ ของความสันโดษได้ชัดเจน
    แล้วปัญญา ที่ค่อยๆเจริญขึ้น ก็จะทราบว่าความละเอียดของการถือสันโดษ
    จึงทราบได้ว่า ขณะนี้ยังสันโดษไม่พอ ยังจะต้องเจริญขึ้นไปอีก ขึ้นไปอีก ขึ้นไปอีก
    ทั้งนี้...จะต้องเป็น "ผู้ยินดีในความสันโดษจริงๆ" อย่างเป็นธรรมชาติ ตามการสะสมของผู้นั้น
    จนกระทั่งสามารถเกื้อกูลให้ มีการสละ ละคลายความยินดีในสภาพธรรมทั้งปวงได้
     
  5. RooT said:

    Re: ความสันโดษ

    ถ้าหาก สหายธรรมท่านอื่นๆ มีความเห็นอย่างไร
    ก็ร่วมกันแสดงความเห็นได้นะครับ
    อาจจะมีการยก พระสูตรดีๆ ที่เกี่ยวข้อง
    มาร่วมกันโพสในกระทู้นี้ ก็จะเป็นการดียิ่งเลยนะครับ


     
  6. รูปส่วนตัว D E V

    D E V said:

    Re: ความสันโดษ


    อนุโมทนาคับ ซ้าๆๆๆๆๆทุ

    เรื่องความสันโดษนี้
    มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาอยู่หลายส่วนทีเดียวคับ
    ขออัญเชิญมาร่วมแสดงเพียงบางส่วนละกันนะคับ

    ***********************************************************************

    ๖๙๑] คำว่า ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
    ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้
    ทั้งกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีความได้
    และไม่ถึงความแสวงหาผิด อันไม่สมควรเพราะเหตุแห่งจีวร
    เมื่อไม่ได้จีวรก็ไม่สะดุ้ง (ไม่ขวนขวาย)
    เมื่อได้จีวรแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลงใหล ไม่พัวพัน
    มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกบริโภค
    ทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น.

    ก็พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน
    มีความรู้สึกตัว มีสติอยู่ ในจีวรสันโดษนั้น
    พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้ ท่านกล่าวว่า ดำรงอยู่ในวงศ์ของพระอริยะ
    ที่ทราบกันว่า เป็นวงศ์เลิศอันมีมาแต่โบราณสมัย.
    พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้
    ... เป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้
    ... เป็นผู้สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้
    ทั้งกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้
    และไม่ถึงความแสวงหาผิดอันไม่สมควรเพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
    เมื่อไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารก็ไม่สะดุ้ง
    เมื่อได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารก็เป็นผู้ไม่ติดใจ ไม่หลงใหล ไม่พัวพัน
    มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกบริโภค
    ทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้นั้น.
    ก็พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน
    มีความรู้สึกตัว มีสติอยู่ ในคิลานปัจจัยเภสัชบริขารสันโดษนั้น
    พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ท่านกล่าวว่าดำรงอยู่ในวงศ์ของพระอริยะ
    ที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์เลิศ อันมีมาแต่โบราณสมัย
    เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ายินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้.

    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒
    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
    http://www.84000.org/tipitaka/read/v...82&pagebreak=0




    เดฟ

    สรณะคือพระรัตนตรัย
     
  7. รูปส่วนตัว D E V

    D E V said:

    Re: ความสันโดษ


    [๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ๕ จำพวกเป็นไฉน
    คือ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย ๑
    มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑
    ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑
    ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะรู้ว่าเป็นวัตรอันพระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ๑
    ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ
    ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้
    ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย
    ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด
    ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้
    เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด
    และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้
    เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด
    เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส
    หัวเนยใสชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอดในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้น
    ฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้
    ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย
    ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด
    ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้
    เป็นเลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด
    และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
    อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
    อรัญญวรรคที่ ๔
    ๑. อารัญญกสูตร

    และมีต่อด้วย....
    ๑๐. ปัตตปิณฑิกสูตร
    ซึ่งกล่าวถึงการฉันเฉพาะในบาตร

    http://www.84000.org/tipitaka/read/v...83&pagebreak=0




    เดฟ

    สรณะคือพระรัตนตรัย
     
  8. รูปส่วนตัว D E V

    D E V said:

    Re: ความสันโดษ


    ภิกษุยินดีอยู่ด้วยปัจจัยตามมีตามได้
    ย่อมไปได้ ๔ ทิศ ไม่ติดขัด
    อดกลั้นต่ออันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดหวั่น
    คนเดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด ดังนี้.

    อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
    สามัญญผลสูตร
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/...p?b=9&i=91&p=6

    ****************************************************************

    จาตุทฺทิโส อปฺปปฏิโฆ จ โหติ
    สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน
    ผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีความได้
    ย่อมเป็นผู้อยู่สบายในทิศทั้ง ๔ และไม่มีปฏิฆะเลย

    อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/...p?b=25&i=5&p=4



    เดฟ

    สรณะคือพระรัตนตรัย
     
  9. RooT said:

    Re: ความสันโดษ

    ขอบพระคุณครับท่านเดฟ
    ที่ให้กรุณาอัญเชิญพระสูตรมาไว้ในกระทู้นี้
    ทำให้ได้ความรู้ในพระธรรมเพิ่มอีกมากมาย
    ศึกษาเท่าไหร่ก็ยังไม่พอจริงๆครับ
    ยิ่งศึกษา ก็ยิ่งรู้ยิ่ง เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป

    ขออนุโมทนาครับ