ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

พระพุทธองค์ได้ตรัสปราศรัยแก่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งประชุมกันอยู่ในป่านอกเมืองกุสินารา และการตรัสครั้งนี้เป็นพระดำรัสครั้งสุดท้ายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย , นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้าย ที่เราจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลาย”
“สังขารทั้งหลาย ทั้งปวง มีความสิ้นไป และเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงทำความรอดพ้นให้บริบูรณ์ถึงที่สุด ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ลำดับนั้น พระพุทธองค์ทรงเข้าสู่สมาบัติ และเลื่อนเข้าสู่สมาบัติอันลึกยิ่งๆ ขึ้นไปอีกตามลำดับ
จนถึงที่สุดแห่งสมาบัติอันดับที่ ๙ แล้วทรงถอยหลังจากสมาบัติอันลึกนั้นมาตามลำดับ
และทรงกลับเข้าสู่สมาบัติอย่างเดิมอีกเพียง ๔ ลำดับ ครั้งออกมาจากสมาบัติอันดับที่ ๔ นั้นแล้ว
ก็เสด็จดับขันธ์ ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่สำหรับการเกิดขึ้นในโลกนี้ หรือโลกไหนอีกต่อไป
พระพุทธองค์ได้เสด็จปรินิพพานด้วยอาการอย่างนี้

เวลาล่วงมาถึง ๒๕ ศตวรรษแล้ว นับตั้งแต่พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และเสด็จปรินิพพานที่นอกเมืองกุสินาราในประเทศอินเดีย แต่คำสั่งสอนอันประเสริฐของพระองค์หาได้ล่วงลับไปด้วยไม่
คำสั่งสอนเหล่านั้นยังคงอยู่ เป็นเครื่องนำบุคคลให้ข้ามขึ้นพ้นจากความมีชีวิต ขึ้นไปสู่สิ่งซึ่งมีคุณค่ายิ่งกว่าชีวิต
สำหรับคนจำนวนล้านๆ ในโลกนี้

หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว สาวกของพระองค์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์และมิใช่พระอรหันต์
ได้ช่วยกันเผยแพร่พุทธวัจนะอันประเสริฐนั้นไปจนทั่วประเทศอินเดีย และล่วงเลยออกไปนอกเขตประเทศอินเดีย
ทางทิศตะวันตกไปจนกระทั่งถึงประเทศอียิปต์ ทางทิศตะวันออกถึงประเทศธิเบต ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น
ทางทิศเหนือจนถึงประเทศเล็ปแลนด์ ทางขั้วโลกก็ยังมีพระสาวกนำคำสอนของพระองค์ไปเผยแพร่
และทางทิศใต้ถึงประเทศชวา และหมู่เกาะในทะเลใต้ทั่วๆ ไป จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

เป็นเวลา ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว หนึ่งในสามของมนุษย์ที่อาศัยในโลก ได้เอ่ยพระนามของพระองค์ด้วยความเคารพอย่างสูงสุดว่า
“พระองค์เป็นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาค เป็นพระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดาผู้สั่งสอนเทวดาและมนุษย์ ด้วยเรื่องแห่งพระนิพพาน และหนทางปฏิบัติเพื่อลุถึงนิพพานนั้น”

สรุปด้วยพุทธอุทาน ดังนี้

“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งคนมี ทั้งคนจน
ล้วนเดินหน้าไปสู่ความตายทั้งสิ้น”
“ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งสุกและดิบ
ล้วนมีความแตกทำลายเป็นที่สุดฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นที่สุด ฉันนั้น”

“วัยของเราหง่อมแล้ว ชีวิตของเรายังอยู่เพียงเล็กน้อย เราจะจากพวกเธอไป.
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีความประพฤติดีงาม
มีความดำริมั่นคง จงตามรักษาจิตของตน.
ผู้ใดในธรรมวินัยนี้จักเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท
ผู้นั้นจะละชาติสงสาร กระทำความจบสิ้นทุกข์ได้”

“เพราะฉะนั้นในชีวิตเหลืออยู่นี้ ทุกคนควรกระทำกิจหน้าที่ และไม่พึงประมาท”