วัดป่าไกลกังวล จ. ชัยนาท
เคยเป็นวัดโบราณเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้านหลังพระอุโบสถเป็นถ้ำมีรอยพระพุทธบาท และยอดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ


หลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท
ท่านเจ้าอาวาสวัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม)

http://www.4shared.com/embed/839112300/2a59ccff


ประวัติวัดไกลกังวล
วัดไกลกังวลเป็นวัดราษฎร์ สังกัดนิกาย มหานิกาย ตั้งอยู่บนเขาสารพัดดี เลขที่ ๑๔๕ บ้านไร่ สวนลาว หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ๑๗๑๓๐

ด้านตะวันตกติดกับเขาดินสอ ถัดจากเขาดินสอมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นเขาหนองสอด ด้านเหนือเป็นหมู่บ้านไร่สวนลาว ส่วนทางทิศตะวันออก เป็นบ้านหนองทาระกู และ คลองชลประทาน อู่ทอง - มะขามเฒ่า

บรรยากาศร่มรื่นไปทั้งภูเขามีต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งที่ขึ้นโดยธรรมชาติและปลูกขึ้นภายหลัง มี รั้วรอบขอบชิดด้วยกำแพงถาวรสูง ๓.๗๐ เมตร ยาวรอบภูเขา ๕ กิโลเมตร ซึ่งนับว่า เป็นกำแพงวัดที่ยาวที่สุดในโลก และมีกำแพงล้อมป่าปลูกด้านทิศเหนืออีกราว ๒ กิโลเมตร

ได้รับอนุญาตให้ยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ ทำการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้ มีเนื้อที่ของวัดตาม สค.๑ เลขที่ ๒๐๒ จำนวน ๑๐๐ ไร่เศษ

ทิศเหนือ ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อบ้านนายนิล ดวงแก้ว
ทิศใต้ ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อเขาสารพัดดี
ทิศตะวันออก ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อบ่อน้ำซับ
ทิศตะวันตก ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อเขาดินสอ
ยังมีที่ธรณีสงฆ์ เนื้อที่ ๓๒๔ ไร่ จากหลักฐานกองศาสนสมบัติ กรมการศาสนาปี ๒๕๒๑ และได้ซื้อเพิ่มเพื่อปลูกป่า และอนุรักษ์สัตว์ราว ๒,๐๐๐ ไร่ มีศาลา กุฎีวิหาร พร้อมรับผู้เข้ามาปฏิบัติ จากทิศทั้ง ๔ ครั้งละกว่า ๑,๐๐๐ ชีวิตอย่างเพียงพอ มีธรรมานุศาสน์ และธรรมชาติเจริญหูเจริญตา ตลอดเวลา พระสงฆ์องค์เณรทรงศีลสิกขาหมดจดและมั่นคงในธุดงควัตร ในรูปแบบที่ทั่วๆ ไป เรียกกันว่า "วัดพระป่า" หรือว่า "วัดพระปฏิบัติกัมมัฏฐาน" (สมเด็จพระสังฆราช, สา)

ความเป็นมา


วัดไกลกังวล ตามกองโบราณคดี กรมศิลปากร พิสูจน์แล้วว่าสร้างขึ้นในสมัยลพบุรี (พันกว่าปีที่แล้ว) แต่กลายเป็นวัดร้างมากี่ร้อยปีหรือถูกทำนุบำรุงขึ้นกี่ครั้งนั้นยังมิอาจค้นพบได้ ในละแวกใกล้เคียง เช่น ทิศเหนือ ด้านตีนเขาลงไปใกล้บ้านสวนลาว มีวิหารเก้าห้อง มีเจดีย์เก่าเป็นหลักฐาน และบนยอดเขาหนองสอด ก็มีเจดีย์ปรากฏเช่นกัน ส่วนทิศตะวันออก ตีนเขาพื้นราบก็มีวัดเก่าเรียกว่า วัดไกรลาศ (ไกรราษฎร์หรือหนองทาระภู) โบราณสถานดังกล่าวเหล่านั้น สร้างในสมัยลพบุรีทั้งสิ้น ลักษณะวัสดุก่อสร้างที่เหลือให้เห็นเป็นซากเจดีย์ซึ่งก่อด้วยอิฐหนาใหญ่ยาว ส่วนเศษกระเบื้องดินเผาจะเหลือเห็นชัดก็คือ ตะขอกระเบื้อง มีลักษณะงอแหลมยาวราวนิ้วชี้เห็นจะได้ ส่วนอื่นๆที่เหลือเป็นส่วนองค์พระพุทธรูปแกะด้วยหินทรายแดงเช่น เศียร แขน และหน้าตัก ฯลฯ ยังมีให้เห็น ส่วนฐานพระเจดีย์นั้นเป็นหลุมลึกลงไป เพราะสมัยนั้นนักนิยมของเก่าได้ฝากฝีมือไว้


เล่ากันสืบมาว่า เมื่อวัดไกลกังวลตกอยู่ในสภาพรกร้างนั้น ทายกทายิกา บ้านใกล้เรือนเคียงได้ช่วยกันนำพระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่มีอยู่ไปไว้วัดที่มีพระสงฆ์ เช่น หลวงพ่อแดง อยู่ที่วัด ประชุมธรรม (ทับนา) หลวงพ่อดำวัดหนองทาระภู พระพุทธมาลีศรีเนินขาม วัดเนินขาม และระฆัง อยู่ที่วัดหนองแจง ทั้ง ๔ วัดอยู่ในอำเภอหันคานี้เอง พระพุทธรูปและโบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนศักดิ์สิทธิ์ มีผู้เคารพนับถือกันมาก จนกลายเป็นสมบัติคู่วัดคู่บ้านไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อมองดูภาพความรุ่งเรืองในอดีตแล้ว ต้องขอยกสองมือประนมอนุโมทนา แก่พุทธบริษัทในสมัยบรรพกาลที่ดำรงมั่นในพระพุทธศาสนา ได้ร่วมกันสร้างอารามเป็นพุทธบูชาธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อเพิ่มทาน ศีลและภาวนาบารมีให้แก่ตนและอนุชน อันเต็มไปด้วยวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด

แต่สามัญลักษณะมีอนิจจังเป็นต้น ทำให้ทุกอย่างมีเกิดขึ้นและหมดไปเป็นธรรมดา เป็นไป ตามกาลและตามอายุขัย เป็นอยู่นานเท่าไรไม่อาจหยั่งรู้ได้



แผนที่วัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม)