การเดินทางเข้าถึงพุทธธรรม
คัดจาก : หนังสือ มรรคาแห่งศีล สมาธิ ปัญญา
หลวงพ่อชา สุภัทโท

ตามธรรมดา การที่บุคคลจะไปถึงบ้านเรือนได้นั้น มิใช่บุคคลที่มัวแต่นอนคิดเอา เขาเองจะต้องลงมือเดินทางด้วยตนเอง และเดินให้ถูกทางด้วย จึงจะมีความสะดวก และถึงที่หมายได้

หากเดินผิดทางก็จะได้รับอุปสรรค และยังไกลที่หมายออกไปทุกที หรืออาจจะได้รับอันตรายระหว่างทาง เมื่อเดินไปถึงบ้านแล้ว จะต้องขึ้นอยู่อาศัย พักผ่อนหลับนอน เป็นที่สบายทั้งกายและใจ จึงจะเรียกว่าคนถึงบ้านได้โดยสมบูรณ์

ทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา

ถ้าหากเดินเฉียดบ้าน หรือผ่านบ้านไปเฉย ๆ คนเดินทางนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการเดินทางของเขา

ข้อนี้ฉันใด การเดินทางเข้าสู่พุทธธรรมก็เหมือนกัน ทุกๆ คนจะต้องออกเดินทางด้วยตนเอง ไม่มีการเดินให้กัน ต้องเดินไปตามทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงซึ่งที่หมาย ได้รับความสะอาด สงบ สว่าง นับว่าเป็นประโยชน์เหลือหลายแก่ผู้เดินทางเอง

แต่ถ้าหากผู้ใดมัวแต่อ่านตำรา มัวแต่กางแผนที่ออกดู อยู่ตั้งร้อยปีร้อยชาติ เขาผู้นั้นไม่สามารถไปถึงที่หมายได้เลย เขาจะเสียเวลาไปเปล่า ๆ ปล่อยให้ประโยชน์ที่ตนจะได้รับให้ผ่านเลยไป

ครูบาอาจารย์เป็นเพียงผู้บอกให้เท่านั้น เราทั้งหลาย เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว จะเดินหรือไม่เดิน จะได้รับผลมาน้อยเพียงใด นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตน

เช่นเดียวกันกับการที่หมอให้ยาคนไข้ ถ้าคนไข้มัวแต่อ่านฉลากยา แต่ไม่เคยได้นำยานั้นไปใช้ คนไข้ก็คงอาจจะตายเปล่า และก็จะมาร้องตีโพยตีพายว่า ยาไม่ดี หมอไม่ดี เพราะมัวแต่ไปอ่านฉลากยาจนเพลิน

แต่ถ้าเขาเชื่อหมอ จะอ่านฉลากเพียงครั้งเดียว หรือไม่อ่านก็ได้ แต่ถ้าลงมือกินยาตามคำสั่งหมอ ถ้าคนไข้เป็นไม่มาก เขาก็จะหายจากโรค แต่ถ้าเป็นมาก... อาการก็จะทุเลาลงไปเรื่อย ๆ ถ้าหากกินบ่อย ๆ โรคก็จะหายไป

ที่ต้องกินยามาก และบ่อยครั้ง ก็เพราะโรคของมันมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก ๆ แต่ถ้าโรคน้อยกินครั้งเดียวก็อาจจะหายได้เลย ผู้อ่านลองใช้สติปัญญาพิจารณาถ้อยคำนี้ให้ละเอียดจริง ๆ จะเข้าใจได้ดี

การทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์

ศีล นั้นก็คือ ระเบียบควบคุมรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย ว่าโดยประเภทมีทั้งชาวบ้าน และของนักบวช แต่เมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้วมีอย่างเดียวคือ เจตนา

เมื่อเรามีสติระลึกได้อยู่เสมอ เพื่อควบคุมให้รู้จักละอายต่อความชั่ว ความเสียหาย และรู้สึกตัวกลัวผลของความชั่วจะตามมา พยายามรักษาใจให้อยู่ในแนวทางแห่งการปฏิบัติที่ถูกที่ควร พยายามรักษาใจให้อยู่ในแนวทางแห่งการปฏิบัติที่ถูกที่ควร เป็นศีลอย่างดีอยู่แล้ว ตามธรรมดาเมื่อเราใช้เสื้อผ้าที่สกปรก และตัวเองก็สกปรก ย่อมทำให้จิตใจยึดอัดไม่สบาย แต่ถ้าหากเรารู้จักรักษาความสะอาด ทั้งร่างกายและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ย่อมทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน

ดังนั้น เมื่อศีลไม่บริสุทธิ์ เพราะกายวาจาสกปรก ก็เป็นผลให้จิตใจเศร้าหมอง ขัดต่อการปฏิบัติธรรม และเป็นเครื่องกั้นมิให้บรรลุถึงจุดหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจที่ได้รับการฝึกมาดีหรือไม่เท่านั้น เพราะใจเป็นผู้สั่งให้พูดให้ทำ ฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝึกจิตใจต่อไป

การฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิก็คือ การฝึกจิตใจของเราให้ตั้งมั่น และมีความสงบ เพราะตามปกติ จิตนี้เป็นธรรมชาติ ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอารมณ์ต่ำ ๆ เหมือนน้ำที่ชอบไหลลงสู่ที่ลุ่มเสมอ

พวกเกษตรกรทั้งหลาย เขารู้จักกั้นน้ำไว้ให้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่าง ๆ มนุษย์เรามีความฉลาดรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น ทำฝาย ทำทำนบ ทำชลประทาน เหล่านี้ล้วนแต่กั้นน้ำเพื่อประโยชน์ทั้งนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่าง และใช้ทำประโยชน์อื่น ๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี้เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงที่ลุ่มเสียหมด

ดังนั้น จิตใจที่มีการฝึกที่ดีอยู่ ก็ให้ประโยชน์มหาศาลเช่นกัน

พระพุทธองค์ตรัสว่า..

จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนําความสุขมาให้
การฝึกจิตให้ดี ย่อมสําเร็จประโยชน์

เราสังเกตดูแต่สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ก่อนที่เราจะเอามันมาใช้งานต้องฝึกเสียก่อน เมื่อฝึกดีแล้ว เราจึงได้อาศัยแรงงานมันทำประโยชน์นานาประการ

ท่านทั้งหลายก็ทราบกันแล้วว่า จิตที่ฝึกดีแล้ว.. ย่อมมีคุณค่ามากกว่ากันหลายเท่า ดูแต่พระพุทธองค์ และพระอริยสาวก ได้เปลี่ยนจากภาวะปุถุชน มาเป็นพระอริยบุคคล จนเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป และท่านก็ยังได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวางเหลือประมาณที่เรา ๆ จะกำหนด ก็เพราะว่า พระองค์และสาวก ได้ผ่านการฝึกจิตมาด้วยดีแล้วทั้งนั้น

จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์แก่ทุกสิ่งทุกอย่าง อันได้แก่การดำเนินชีวิต การประกอบกิจการงานอาชีพทุกอย่าง นอกจากนี้ก็ยังเป็นทางให้รู้จักทำงานด้วยความรอบคอบ ไม่เป็นคนหุนหันพลันแล่น ทำให้ตนเองมีเหตุผล และได้รับความสุขตามสมควรฐานะ

..............................................................