ศีล

กระทู้: ศีล

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. รูปส่วนตัว chocobo

    chocobo said:

    ศีล

    สวัสดีครับมิตรธรรมทุกท่าน

    มีความสงสัยนิดนึงอ่ะครับ ว่าศีลเนี่ย สำเร็จเมื่อไหร่ เวลาไหน แล้ว องค์ธรรมของศีล คือวิรตีเจตสิก ใช่ไหมครับ แปลว่า ศีลสำเร็จแค่เฉพาะเวลาที่มีจิตวิรัติ ในทุจริคทางกาย วาจา ใจ เท่านั้นหรือครับ ขณะอื่นๆ ก็ไม่ชื่อว่ามีศีลใช่ไหม
     
  2. รูปส่วนตัว D E V

    D E V said:
    .
    สวัสดีคับ น้องโจ๋

    คำว่า "ศีล" นั้นมีนัยยะที่กว้างขวางมาก
    โดยนัยยะอันเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือ
    การเป็นผู้มีกาย วาจา เป็นปรกติไม่เบียดเบียนผู้อื่น

    ขณะที่กำลังเว้นจากการกระทำทุจริต
    สามารถระงับยับยั้งการเบียดเบียนไว้ได้
    เช่น จะตบยุง แต่ระงับไว้ได้...ไม่ตบ
    จะโกหก แต่ระงับไว้ได้...ไม่โกหก ฯลฯ
    ศีลได้เกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล
    ขณะนั้นมีความตั้งใจเกิดขึ้นที่จะไม่เบียดเบียน
    และมี "วิรตีเจตสิก" เกิดขึ้นจึงเว้นจากการเบียดเบียนได้

    หรือผู้ที่สมาทานศีล
    คือมีความตั้งใจรับเอาศีลมาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ
    ตั้งใจที่จะไม่ก้าวล่วงทุจริตกรรมต่างๆ
    ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลโดยนัยยะหนึ่ง
    (แต่ขณะนั้นไม่มีวิรตีเจตสิกเกิดร่วม)

    หรือผู้ที่ตั้งอยู่ในความสำรวมระวัง
    ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลโดยนัยยะหนึ่ง
    ฯลฯ ต่างๆ ดังนี้เป็นต้น

    จะเห็นได้ว่า
    เรื่องของศีลนั้นละเอียดและกว้างขวางด้วยประการต่างๆ
    ไม่ว่าจะโดยเจตนาเป็นศีล เจตสิกเป็นศีล การสำรวมเป็นศีล การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล ฯลฯ
    เมื่อจะกล่าวถึงศีล ก็ให้เข้าใจในความหลากหลายโดยนัยยะประการต่างๆ น่ะคับ

    ---------------------------------------------

    [๘๙] บัดนี้ พระสารีบุตรครั้นแสดงประเภทของศีลที่มีอยู่ด้วยมีที่สุดและไม่มีที่สุดแล้ว
    เพื่อแสดงประเภทของศีลโดยสัมปยุตด้วยธรรม ด้วยชาติ ด้วยปัจจัยต่อไป
    จึงกล่าวบทมีอาทิว่า กึ สีลํ - อะไรเป็นศีลดังนี้.
    ในบทเหล่านั้น ชื่อว่า สมุฏฺฐานํ เพราะมีวิเคราะห์ว่าศีลเป็นเหตุตั้งขึ้น.
    บทนี้เป็นชื่อของปัจจัย.
    ชื่อว่า กึ สมุฏฺฐานํ เพราะมีวิเคราะห์ว่า ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน.
    ชื่อว่า กติธมฺมสโมธานํ เพราะมีวิเคราะห์ว่า ศีลเป็นที่ประชุมเป็นที่ประมวลแห่งธรรมอะไร.
    บทว่า เจตนา สีลํ - เจตนาเป็นศีล. ความว่า เจตนาของผู้เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น หรือของผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ.
    บทว่า เจตสิกํ สีลํ - เจตสิกเป็นศีล. ความว่า การเว้นของผู้เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น.
    อีกอย่างหนึ่ง เจตนาชื่อว่าเป็นศีล ได้แก่ เจตนาในกรรมบถ ๗ ของผู้เว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น.
    เจตสิกชื่อว่าเป็นศีล ได้แก่ ธรรมคืออนภิชฌา อัพยาบาทและสัมมาทิฏฐิที่ท่านกล่าวไว้
    โดยนัยมีอาทิว่า อภิชฺฌํ โลเก ปหาย วิคตาภิชฺเฌน เจตสา วิหรติ๑- - ภิกษุละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่.
    ____________________________
    ๑- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๒๕

    ในบทว่า สํวโร สีลํ ความสำรวมเป็นศีลนี้ พึงทราบความสำรวมมี ๕ อย่าง คือ
    ปาติโมกขสังวร - ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑ สติสังวร - ความสำรวมในสติ ๑
    ญาณสังวร - ความสำรวมในญาณ ๑ ขันติสังวร - ความสำรวมในขันติ ๑ วีริยสังวร - ความสำรวมในความเพียร ๑.
    ในความสำรวม ๕ อย่างนั้นภิกษุเข้าถึง เข้าถึงเสมอด้วยความสำรวมในปาติโมกข์นี้ นี้ชื่อว่าปาติโมกขสังวร.๒-
    ภิกษุรักษาจักขุนทรีย์, ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์นี้ ชื่อว่าสติสังวร.๓-
    ____________________________
    ๒- อภิ. วิ เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๐๒ ๓- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๕๕

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๔-
    พึงปิดกั้นกระแสเหล่านี้ด้วยปัญญา.
    ____________________________
    ๔- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๒๕

    นี้ชื่อว่าญาณสังวร.
    แม้การเสพเฉพาะปัจจัย ก็ย่อมเข้าในบทนี้ด้วยเหมือนกัน.
    ความสำรวมมาแล้วโดยนัยมีอาทิว่า๕- ขโม โหติ สีตสฺส อุณฺหสฺส - ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อความหนาวความร้อน
    นี้ชื่อว่าขันติสังวร.
    ความสำรวมมาแล้วโดยนัยมีอาทิว่า๖- อุปฺปนฺนํ กามวิตกฺกํ นาธิวาเสติ - ภิกษุอดกลั้นกามวิตกที่เกิดขึ้น นี้ชื่อว่าวีริยสังวร.
    แม้อาชีพบริสุทธิ์ก็รวมเข้าในบทนี้ด้วยเหมือนกัน.
    ความสำรวม ๕ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
    ____________________________
    ๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๕ ๖- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗

    อนึ่ง เจตนาเว้นจากวัตถุที่มาถึงของกุลบุตรผู้กลัวบาป, พึงทราบว่าทั้งหมดนั้นเป็นสังวรศีล.
    บทว่า อวีติกฺกโม สีลํ - ความไม่ก้าวล่วงเป็นศีล ได้แก่ ความไม่ก้าวล่วงทางกายและทางวาจาของผู้สมาทานศีล.
    นี้เป็นการแก้ปัญหาว่า กึ สีลํ อะไรเป็นศีลไว้เพียงนี้ก่อน.


    เนื้อความเต็ม
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/...?b=31&i=86&p=3





    เดฟ

    สรณะคือพระรัตนตรัย
     
  3. รูปส่วนตัว chocobo

    chocobo said:
    สาา ธุ ครับท่านเดฟ _/\_
     
  4. Admax said:
    พอดีผมหาธรรมะอ่านไปเรื่อยๆ ไปพบกระทู้นี้ น่าจะมีประโยชน์บ้างนะคับ



    •••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

    ศีล

    ศีล ที่ปรากฏในคำสอนทางพระพุทธศาสนามีหลากหลายนัย มีคำแปลหลายความ
    หมาย หมายถึง การรวบรวมกาย วาจา จากที่เคยเป็นไปกับด้วยอกุศล ก็เป็นไปกับด้วย
    กุศลมากยิ่งขึ้น เป็นความประพฤติเรียบร้อยดีงาม, หมายถึง เป็นที่รองรับกุศลธรรม
    ทั้งหลาย นอกจากนั้น ยังมีความหมายหลายอย่าง คือ ปกติ เกษม สำรวม
    ซึ่งโดยมากเรามักเข้าใจว่า ศีล คือ การกระทำทางกาย วาจา เป็นการวิรัติงดเว้นที่จะ
    ไม่กระทำบาป ทางกาย วาจาเท่านั้น เช่น งดเว้นจากการฆ่าสัตว์งดเว้นจากการลักทรัพย์
    งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยอัน
    เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ซึ่งเป็นศีล ๕ แต่ในความเป็นจริง ศีล มีหลากหลายนัย
    ขึ้นอยู่กับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงศีล โดยนัยใด จึงสำคัญอยู่ที่ผู้ศึกษาจะ
    ต้องมีความละเอียดรอบคอบในการศึกษา เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความ
    เป็นจริง และประการที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ศีล เป็นธรรม
    นัยหนึ่งที่ทรงแสดงเรื่องศีล จำแนกศีล ออกเป็น ๔ อย่าง คือ
    ๑. เจตนา เป็น ศีล
    ๒. เจตสิก เป็น ศีล
    ๓. ความสำรวม สังวร เป็นศีล
    ๔. การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล
    ซึ่งมีคำอธิบายโดยสังเขป ดังนี้
    เจตนา เป็นศีล หมายถึง เจตนาที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการ
    ประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ เป็นต้น ขณะที่มีความจงใจตั้งใจที่งดเว้นในสิ่ง
    ที่ไม่ดีเหล่านั้น ก็เป็นศีล เป็นธรรมที่มีจริง
    เจตสิกเป็นศีล คือ การงดเว้นจากความโลภ คือไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น
    มาเป็นของตน ที่เป็นอนภิชฌา งดเว้นจากการพยาบาท คือ ไม่พยาบาทปองร้ายผู้
    อื่น ที่เป็น อพยาปาทะ และ มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่า เจตสิก
    เป็น ศีล เป็นธรรมที่มีจริง
    การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล คือ มีเจตนาสมาทานศีล ซึ่งเป็นการถือเอาด้วยดีเป็นข้อ
    ปฏิบัติที่จะรักษา โดยไม่ล่วงละเมิด ในสิ่งที่ตนเองได้ตั้งใจเอาไว้ เพื่อความเป็นผู้มี
    ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม อย่างนี้ เรียกว่า การไม่ก้าวล่วง เป็น
    ศีล
    ความสำรวม หรือ การสังวร เป็นศีล ความสำรวม หรือ การสังวรในที่นี้ ไม่ได้
    หมายถึงอาการกิริยาภายนอกที่ทำการสำรวม แต่มุ่งหมายถึงสภาพจิตเป็นสำคัญ
    กล่าวคือ สภาพจิตที่เป็นกุศล อันเป็นการปิดกั้นไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ในขณะ
    ที่กุศลเกิดขึ้น การสำรวม หรือ สังวรนั้นมี ๕ ประการ คือ
    -ปาฏิโมกขสังวร คือ การประพฤติงดเว้นในข้อบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัส
    ห้ามไว้และน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต เป็นไปเพื่อขัดเกลาละ
    คลายกิเลสของตนเอง ก็เป็น ศีล
    -สติสังวร คือ การสำรวมด้วยสติ ในขณะที่มีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม
    ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และใจ
    ชื่อว่า สติสังวร ก็เป็นศีล
    -ญาณสังวร คือ การสำรวมด้วยปัญญา ในขณะที่ปัญญาเกิด ละกิเลส ชื่อว่า สังวร
    ด้วยปัญญา และหมายรวมถึงการพิจารณาปัจจัยที่ได้มา มีอาหาร เป็นต้น ก่อนแล้วจึง
    บริโภคใช้สอย ว่า ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลินมัวเมา แต่เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้ชีวิต
    ดำเนินต่อไปได้เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป
    การพิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงบริโภค ก็ชื่อว่า ญาณสังวร เป็นศีลในขณะนั้น คือ ปัจจย-
    สันนิสสิตศีล
    -ขันติสังวร คือ การสำรวมด้วยขันติ ความเป็นผู้อดทนต่อหนาวและร้อน อดทนที่
    จะไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส มีโลภะ โทสะ เป็นต้นชื่อว่า สำรวมด้วยขันติ ก็เป็นศีล
    -วิริยสังวร คือ สังวรด้วยความเพียร เป็นการปรารภความเพียรเพื่อไม่ให้อกุศลที่ยัง
    ไม่เกิดขึ้น เพื่อละอกุศลที่เกิดแล้ว เพื่อเจริญกุศลยิ่ง ๆ ขึ้นไป ชื่อว่าสำรวมด้วยวิริยะ
    ก็เป็นศีล ด้วย
    ศีล มีหลากหลายนัย คือ ทั้งเจตนางดเว้นจากบาปก็เป็นศีล และไม่ใช่เพียงงดเว้น
    จากบาป ที่เป็นวิรตีเจตสิกเท่านั้น ขณะที่เจตนาที่จะประพฤติสมาทานศีล อันเป็นการ
    ไม่ก้าวล่วงตามที่ตั้งใจไว้ ก็เป็นศีล และแม้ไม่มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
    ไม่มีวิรตีเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่มีการสำรวม สังวรก็ชื่อว่า ศีล ที่เป็น
    สติสังวร เป็นต้น ด้วย
    อีกนัยหนึ่งที่ทรงแสดงศีล ๒ อย่าง ที่เป็น วาริตศีล และ จาริตตศีล ดังนี้ คือ วาริตศีล
    เป็นการงดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น เช่น งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์
    เป็นต้น นอกจากจะเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้นแล้ว ก็ยังจะต้องน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่ง
    ที่ดีงามด้วย เช่น เลี้ยงดูมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ช่วยเหลื่อผู้อื่น เป็นต้น
    ซึ่งเป็นจาริตศีล
    และอีกนัยหนึ่งที่ทรงแสดงศีล โดยนัยที่เป็นปกติ กล่าวคือ ทรงแสดงตามความ
    ประพฤติเป็นไปของสัตว์โลก ว่า ไม่พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ คือ ปกติเป็นอกุศล ก็เป็น
    อกุศลศีล ปกติเป็นกุศล ก็เป็นกุศลศีล และ ปกติเป็นอัพยากตะ (สำหรับพระอรหันต์)
    ก็เป็นอัพยากตศีล
    ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ สมณมุณฑิกสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง
    แสดงถึงความแตกต่างระหว่าง อกุศลศีล กับ กุศลศีล ไว้ว่า กายกรรมเป็นอกุศล วจีกรรม
    เป็นอกุศล การเลี้ยงชีพชั่ว เหล่านี้เรากล่าวว่าศีลเป็นอกุศล ก็ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้
    มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นอกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าว
    ว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นไฉน ถึงจิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่าง ๆ
    จิตใดมีราคะ โทสะ โมหะ ศีลเป็นอกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน
    เราย่อมกล่าวซึ่งกายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล และอาชีวะอันบริสุทธิ์ ลง
    ในศีล เหล่านี้เรากล่าวว่าศีลเป็นกุศล ก็ศีลเป็นกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้
    สมุฏฐานแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน
    จิตเป็นไฉน แม้จิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่าง ๆ จิตใดปราศจากราคะ
    ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน
    นี้คือ ความประพฤติเป็นไปของสัตว์โลก ที่ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ยังไม่พ้นไป
    จากความประพฤติเป็นไปที่เป็นอกุศล บ้าง เป็นกุศล บ้าง ตามการสะสม เพราะเหตุว่า
    การที่จะดับอกุศลได้นั้น ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น พระอริยบุคคล เป็นผู้
    ดับอกุศล (ดับอกุศลศีล) ได้ตามลำดับขั้น จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความ
    เป็นพระอรหันต์ จึงกล่าวได้ว่า พระอรหันต์ ดับได้ทั้งอกุศลศีล และ ไม่มีกุศลศีลเกิด
    ขึ้นเป็นไป มีแต่อัพยากตศีล เท่านั้น
    ศีล จึงหลากหลายนัยมาก ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้ได้เข้าใจ
    ธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ไม่ให้เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
    เพราะความจริง เป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใคร ๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
    พระบารมีทั้งหมดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญมา ก็เพื่อที่จะได้ทรงตรัสรู้
    สภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงพระธรรมอุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลก
    ให้ได้เข้าใจตามด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ที่จะได้
    ฟัง ได้ศึกษาในสิ่งที่มีจริง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไปตามกำลังปัญญาของแต่
    ละบุคคล
    ...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน...
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  5. Admax said:
    ขอบคุณที่มาจาก http://www.dhammahome.com/front/webb...w.php?id=21683
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  6. รูปส่วนตัว chocobo

    chocobo said:
    ส๊าา ธุครับคุณแอ้ดฯ _/\_
     
  7. khitk said:
    ขอบคุณมากครับ