ธชัคคสูตรบรรยาย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชนิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐




จะเล่าตำนานสวดมนต์ต่อ ตำนานที่ ๕ ในเจ็ดตำนานคือ ธชัคคสูตร จัดเป็นพระปริตรที่ ๕

คำว่า ธชัคคะ แปลว่า ยอดธง ธชัคคสูตรคือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง อันท่านแสดงว่า
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเรื่อง เทวาสุรสงคราม คือ สงครามแห่งเทพดากับอสูรซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้ว โดยตรัสเล่าว่า
เมื่อเทพดาทั้งหลายรบกับอสูร ความกลัวบังเกิดขึ้นแก่เทพดาทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดา จึงได้ตรัสแนะนำให้หมู่เทพแลดูยอดธง หรือชายธงของพระองค์หรือว่าของเทวราชที่รองลงมา ความกลัวก็จะหายไปได้
ส่วนพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในป่าเกิดความกลัวขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ความกลัวก็จะหายไป
พระสูตรนี้แสดงทางธรรมปฏิบัติก็คือ ให้เจริญพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ในเมื่อภิกษุทั้งหลาย หรือผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เข้าไปอยู่ในป่า ก็จะทำให้ความกลัวต่าง ๆ หายไปได้ ก็เป็นพระสูตรที่สอนให้เจริญพุทธานุสสติเป็นต้น นั้นเอง
และเรื่อง เทวาสุรสงคราม ที่ว่าเป็นเรื่องเคยมีมานั้น ก็มีเรื่องโดยสังเขปว่า ท้าวสักกะจอมเทพได้ไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ว่าอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุซึ่งตั้งอยู่กลางใจโลก และที่ตรงนั้นเป็นที่อยู่ของอสูรทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะไปอยู่ ทีแรกก็อยู่ร่วมกับอสูรทั้งหลาย แต่มายหลังก็ได้หาวิธีขับอสูรทั้งหลายออกไป ฝ่ายอสูรทั้งหลายต้องเสียรู้ท้าวสักกะต้องถอยออกไปอยู่ภายนอก ก็มีความผูกใจแค้น ถึงคราวก็ยกมารบกับหมู่เทพซึ่งเข้ามายึดถิ่นฐานเดิมของตนเสียทีหนึ่ง ก็เกิดสงครามระหว่างเทพกับอสูรทั้งหลายกันทีหนึ่ง และอสูรทั้งหลายก็ต้องถอยไปทุกที แต่ว่าถึงคราวก็ยกมารบใหม่ เล่าว่าอย่างนั้น เรียกว่าเทวาสุรสงคราม เป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้ว และนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันก็สันนิษฐานว่า คงจะมีสงครามแย่งถิ่นกันระหว่างชาวอริยกะซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในอินเดียกับหมู่ชนชาวพื้นเมือง ดังที่แสดงเล่าไว้ในพุทธประวัติตอนต้นนั้น ก็เป็นเค้ามูลของเรื่องเทวาสุรสงคราม ซึ่งแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงอ้างมาเล่านี้ และแม้ในสมัยพุทธกาลเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเก่ามาแล้ว จึงใช้คำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเคยมีมาแล้ว
พระสูตรนี้ก็เป็นพระสูตรที่นับถือกันพระสูตรหนึ่ง มีคำแปลตั้งแต่ต้นดังต่อไปนี้
ตั้งต้นพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ อันข้าพเจ้า (คือพระอานนทเถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ เอกํ สมยํ ภควา เป็นอาทิ ซึ่งแปลความเป็น ลำดับ ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่เชตวันวิหาร อารามของอนาถปิณฑิกคหบดี ใกล้เมืองสาวัตถี ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระภิกษุเหล่านั้นจึงทูลรับพระพุทธพจน์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องดึกดำบรรพ์เคยมีมาแล้ว สงครามแห่งเทพดากับอสูร ได้เกิดประชิดกันแล้ว
ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพ เรียกหมู่เทพในชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่หมู่เทพ ผู้ไปสู่สงครามในสมัยใด
ในสมัยนั้น ท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงหรือยอดธงของเรานั่นแหละ เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเราอยู่ ความกลัวความหวาดสะดุ้งหรือขนพองสยองเกล้า อันใดจักมี อันนั้นจักหายไป ถ้าท่านทั้งหลาย ไม่แลดูชายธงของเรา ทีนั้นท่านทั้งหลาย พึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดี เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราช ชื่อปชาบดีอยู่ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าอันมีจักหายไป
ถ้าท่านทั้งหลายไม่แลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดี ทีนั้นท่านทั้งหลาย พึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อวรุณ เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราช ชื่อวรณอยู่ ความกลัวความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองใสยองเกล้ที่จักมี ก็จักหายไป ถ้าท่านทั้งหลายไม่แลดูชายธงของเทวราช ชื่อวรุณ ทีนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเทวราชชื่ออีสาณ
เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราช ชื่ออีสาณอยู่ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าที่จักมีก็จักหายไป
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนั้นแล คือการแลดูชายธงของเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดีก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่อวรุณก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่ออีสาณก็ตาม ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าที่จักมี ก็จักหายไปได้บ้าง ไม่หายไปบ้าง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งเทพ เธอมีราคะยังไม่สิ้นไป มีโทสะยังไม่สิ้นไป มีโมหะยังไม่สิ้นไป เธอยังเป็นผู้กลัว ยังเป็นผู้หวาด ยังเป็นผู้สะดุ้ง ยังเป็นผู้หนี ดั่งนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแล กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่า เพื่อท่านทั้งหลายไปอยู่ในป่าก็ตาม ไปอยู่ทีโคนไม้ก็ตาม ไปอยู่ที่เรือนเปล่าก็ตาม ความกลัว ความหวาดสะด้ง หรือความขนพองสยองเกล้า ที่บังเกิดขึ้นในสมัยใด
ในสมัยนั้น ท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงเรานั่นเทียวว่า
อิติปิ โส ภควา อรหฺ สมฺมาสมฺพุทโธ แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
อรหํ เป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ ควรบูชา
สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้รู้ชอบเอง
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้บริบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ
สุคโต เป็นพระสุคตผู้เสด็จไปดีแล้ว
โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้โลก
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาผู้สอนของเทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย
พุทฺโธ เป็นผู้เบิกบานแล้ว
ภควา เป็นผู้จำแนกธรรม ดั่งนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป
ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงเรา ทีนั้นพึงระลึกถึงพระธรรมว่า
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง
อกาลิโก เป็นธรรมให้ผลไม่มีกาล เป็นของไม่มีกาลเวลา
เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมอันจะพึงเรียกร้องให้มาดูได้
โอปนยิโก เป็นธรรมอันบุคคลควรน้อมเข้ามาใส่ใจ หรือควรน้อมเข้ามาในตน
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ เป็นธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตัวดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป
ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระธรรม ทีนั้นพึงระลึกถึงพระสงฆ์ว่า
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติถูกแล้ว หรือปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้แล้ว
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คือ คู่แห่งบุรุษบุคคลทั้งหลาย ๔
อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา บุรุษบุคคลทั้งหลาย ๘
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรสักการะที่พึงนำมาบูชา
ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ
ทกฺขิเนยฺโย เป็นผู้ควรทักษิณาคือของทำบุญหรือควรทำบุญ
อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรอัญชลีคือควรพนมมือไหว้ คือแสดงความเคารพ
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพอง สยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุว่าพระตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีราคะสิ้นไปแล้ว มีโทสะสิ้นไปแล้ว มีโมหะสิ้นไปแล้ว เป็นผู้ไม่กลัว เป็นผู้ไม่หวาด เป็นผู้ไม่สะด้ง เป็นผู้ไม่หนี ดั่งนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้
พระองค์ผู้เป็นพระสุคต ครั้นตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ลำดับนั้น พระองค์ผู้เป็นพระศาสดา จึงตรัสพระพุทธพจน์นั้นอีกว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในป่า หรือที่โคนไม้ หรือในเรือนว่าง พึงระลึกถึงพระสัมพุทธ มัยก็จะไม่พึงมีแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระพุทธซึ่งเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญที่สุดในโลก ประเสริฐแห่งนรชน ทีนั้นพึงระลึกถึงพระธรรม อันเป็นเครื่องนำออก ที่เราแสดงไว้ดีแล้ว ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระธรรม อันเป็นเครื่องนำออก ที่เราแสดงไว้ดีแล้ว ทีนั้นพึงระลึกถึงพระสงฆ์ซึ่งเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านมาระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีแล
พระสูตรนี้มีคำแปลโดยความดังที่ได้แสดงมา ในการสวดมนต์เมื่อมีเวลามาก หรือในพิธีใหญ่ที่ต้องการให้สวดพระสูตรเต็ม ก็สวดพระสูตรเต็ม ในการสวดมนต์ทั่วไป สวดจำเพาะอนุสสรณปาฐะ คือปาฐะที่เป็นอนุสสรณะ คือเป็นเครื่องระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือสวด อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นต้น ต่อด้วย สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโมเป็นต้น ต่อด้วย สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ก็คือสวดจำเพาะพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เท่านั้น อันนำสวดด้วยคำว่า อนุสสรณปาฐะ คือ เป็นปาฐะบาลี หรือถ้อยคำที่แสดงอนุสสรณะ คือคำที่สำหรับระลึกถึง ก็หมายถึงระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นเนื้อหาสำคัญของพระสูตรนี้ กับสวดตอนท้ายพระสูตรอันเรียกว่านิคมคาถา ที่แปลว่าคาถาตอนท้าย ตั้งต้นด้วยคำว่า อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา เป็นต้น ที่แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในป่า หรือที่โคนไม้ หรือในเรือนว่างเรือนเปล่า ดั่งนี้เป็นต้น
ต่อไปนี้นั่งขัดสมาธิ เรื่องอานาปานสติยังมีต่อ แต่ว่าเท่าที่ได้แสดงแนวทางปฏิบัติมาแล้วอันเป็นขั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติปัฏฐานขั้นพิจารณากาย ก็เป็นการเพียงพอสำหรับที่จะใช้ฝึกหัดปฏิบัติ จึงจะแสดงถึงกรรมฐานข้ออื่น อันควรถือเป็นข้อปฏิบัติสับเปลี่ยนกับอานาปานสติ และข้อกรรมฐานทีจะแนะในวันนี้ก็คือ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติสังฆานุสสติ ดั่งที่สอนให้ปฏิบัติในธชัคคสูตรนี้ อันนับว่าเป็นกรรมฐานข้อหนึ่ง
การระลึกถึงพระพุทธเจ้าอันเรียกว่า พุทธานุสสติ นั้น ที่ใช้ปฏิบัติก็คือระลึกถึงพระคุณดังบทที่สวดว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ เป็นต้น แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ คือเป็นผู้ไกลกิเลส ควรไหว้ควรบูชา สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้เองชอบดั่งนี้เป็นต้น วิธีระลึกนั้น
วิธีที่หนึ่ง ก็คือการระลึกถึงบทพระพุทธคุณ ยกขึ้นมาทีละบท เช่นบทว่า อรหํ ยกขึ้นมาว่า อรหํ และก็พิจารณาไปตามความว่าเป็นผู้ไกลกิเลส คราวนี้ อิติปิ ที่เป็นคำต้นนั้นแปลว่า เพราะเหตุนี้ ๆ ก็คือระลึกขยายความออกไปว่า เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเป็นผู้บรรลุถึงธรรมที่ตัดกิเลสได้อย่างนี้ ๆ ฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ไกลกิเลส คือสิ้นกิเลส และกิเลสที่สิ้นนั้นก็สิ้นทั้งหมด ทั้งกิเลสที่เป็นชั้นหยาบ ชั้นกลาง ชั้นละเอียด กิเลสที่เป็นชั้นหยาบก็คือที่เป็นชั้นแรงอันทำให้ละเมิดทางกาย ทางวาจา เช่นฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ปรากฏเป็นกรรมกิเลสออกมา ที่เป็นอย่างกลาง ก็คือที่บังเกิดขึ้นเป็นนิวรณ์กลุ้มกลัดอยู่ในจิตใจ ที่เป็นอย่างละเอียด ก็คือที่เป็นอาสวอนุสัย นอนจมหมักหมมอยู่ในจิต สืบเป็นจิตสันดานฝ่ายเศร้าหมอง ละได้หมดจึงเป็นผู้สิ้นอาสวะ คือกิเลสที่ดองสันดานได้หมด จึงเป็นผู้ไกลจริง ๆ คนสามัญทั่วไปนั้น ยังไม่ไกล ยังอยู่กับกิเลส แม้ว่ากิเลสส่วนหยาบจะไม่ปรากฏ เพราะรักษาศีลมีศีล กิเลสอย่างกลางไม่ปรากฏเพราะมีสมาธิ แต่ว่ากิเลสอย่างละเอียดที่เป็นอาสวอนุสัย ยังดองจิตสันดานอยู่ เป็นตะกอนนอนก้น เป็นน้ำที่บนพื้นผิวในตุ่มก็ใสแต่ว่าก้นตุ่มนั้นมีตะกอน ถ้าไปกวนน้ำขึ้นเมื่อใดตะกอนฟุ้งขึ้นมา น้ำในตุ่มก็ขุ่นไปทั้งหมด จิตคนสามัญก็เหมือนกัน ในขณะที่ดูใสตะกอนกิเลสยังอยู่ แต่เมื่อประสบอารมณ์มายั่วยวนเข้า ตะกอนกิเลสก็ฟุ้งขึ้นมาปรากฏเป็นนิวรณ์ หรือเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง เป็นราคะ โทสะ โมหะ จิตก็ขุ่นมัวจึงยังไม่ไกลกิเลส แม้ว่าดูจิตจะใสเหมือนอย่างไกล แต่อันที่จริงนั้นใกล้ คืออยู่กับกิเลส อยู่กับอาสวอนุสัย แต่พระพุทธเจ้านั้นละได้หมด ด้วยทรงบรรลุมรรคผลนิพพาน ตัดกิเลสได้สิ้นเชิงทั้งหมด จึงเป็น อรหํ เป็นผู้ไกลกิเลส เมื่อเป็นผู้ไกลกิเลส ก็เป็นผู้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจสิ้นเชิง ก็เป็นผู้ที่ควรไหว้ ควรบูชาอย่างแท้จริง อย่างนี้แหละที่เรียกว่า อิติปิ ที่แปลว่า แม้เพราะเหตุนั้น ๆ คือเป็นอย่างนี้ ๆ พระองค์จึงทรงเชื่อว่า เป็นอรหันต์ เป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา และก็ยกบท สัมมาสัมพุทโธ ขึ้นมาทีละบทแล้วก็พิจารณาไป ในบทพระธรรมคุณก็เหมือนกัน ในบทพระสังฆคุณก็เหมือนกัน
วิธีที่สอง กำหนดสวดมนต์นี่แหละเป็นกรรมฐาน ก็กำหนด อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นต้น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ให้จิตอยู่กับบทสวดมนต์นี้ วิธีที่สองนี้เป็นวิธีสาธยายกรรมฐาน แต่ว่าสาธยายอยู่ในจิต คือว่าจิตสวดมนต์ นึกถึงบทสวด และในการระลึกถึงบทสวดนั้นเมื่อมีความเข้าใจอยู่แล้ว ใจก็เข้าถึงอรรถคือ เนื้อความไว้ด้วย แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจ รู้จักไม่เข้าถึงอรรถคือเนื้อความ ได้แต่พยัญชนะคือถ้อยคำแต่ก็ทำให้ใจรวมได้ และก็ด้วยเหตุที่พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณนั้นเป็นบทที่บริสุทธิ์ แม้จิตจะระลึกถึงโดยพยัญชนะ ไม่รู้ความ ก็ยังเป็นการดี เพราะเป็นบทที่บริสุทธิ์ ไม่มีบทไหนที่ไม่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์อย่างยิ่งจริง ๆ จิตก็อยู่กับบทสวดที่บริสุทธิ์ ก็ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ และแม้ในการเจริญอานาปานสติที่หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ก็เป็นการเจริญพุทธานุสสติไปกับลมหายใจเข้าออก เมื่อเจริญหายใจเข้า ธัม หายใจออก โม ก็เป็นการเจริญธรรมานุสสติไปกับลมหายใจเข้าออก เมื่อใช้หายใจเข้า สัง หายใจออก โฆ ก็เป็นการเจริญสังฆานุสสติไปกับลมหายใจเข้าออก