บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

กระทู้: บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. Admax said:

    บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน

    อธิบาย



    บันทึกแนวทางกรรมฐานละกำหนัดเมถุน เป็นแนวปฏิบัติ การเจริญได้ และผล ของ Admax เท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับใคร และ ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ผู้ที่ถึงพระอรหันต์แล้ว แต่เป็นบันทึกการปฏิบัติและผลที่ได้รับส่วนตัวของผมเท่านั้น
    ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่นำพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระบรมศาสดา ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว และ ธรรมคำสอนของพระอริยะสงฆ์ที่ได้ชี้แนะสั่งสอน นำมาโอปะนะยิโก คือ น้อมมาสู่ตน แล้วโยนิโสมนสิการ พิจารณาปฏิบัติตาม เพื่อให้ตนได้หลุดพ้นจากทุกข์ที่มีฉันทะราคะเป็นอันมาก



    เจตนาที่โพสท์นี้ไม่ใช่เพื่อเผยแพร่หรืออวดการปฏิบัติตน แต่แค่ขอฝากบันทึกนี้ไว้ที่เวบวัดเกาะ เพื่อที่ผมจะมาเปิดทบทวนดูการปฏิบัติของตนเมื่อผ่านเลยเวลานานแล้ว สิ่งนี้มีทั้งจริงและไม่จริงและผมยังปุถุชนอยู่จึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เว้นธรรมที่เป็นพระสูตรที่คัดลอกมานั่นคือธรรมของพระพุทธเจ้า และคำสอนบางส่วนของพรอรหันต์ที่พอจะจำได้ บางส่วนก็จะระลึกได้โดยสัญญาปะปนกับความตรึกนึกที่พอจะจำได้และใช้ได้กับผมซึ่งไม่ใช่คำพูดตรงๆจริงๆจากท่านก็มีแต่ผมก็จะกำกับไว้เสมอว่าสิ่งนี้ประกอบกับความคิดเห็นตน สิ่งนี้ๆคือคำจริงของพระอรหันต์ท่าน หากท่านใดมีความอนุเคราะห์แวะชมขอท่านโปรดแยกแยะและเข้าใจตามนี้ครับ


    ขอขอบพระคุณท่านผู้ดูแลเวบอย่างสูงที่แบ่งปันพื้นที่ให้ผมได้บันทึกการปฏิบัติเก็บไว้ครับ
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย Admax : 05-26-2015 เมื่อ 08:26 AM
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  2. Admax said:

    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๑ (อสุภะกรรมฐาน)

    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้มองเห็นเป็นมารดา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นป้า เป็นน้า เป็นอา เป็นเครือญาติ(ภารทวาชสูตร)
    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้ระลึกเจริญในอานาปานสติ ให้มีความรู้ตัวในปัจจุบันรู้ว่ากำลังตามรู้ลมหายใจ รู้ว่ากำลังกายใจเข้า รู้ว่ากำลังหายใจออก รู้กองลมทั้งปวง จิตจดจ่ออยู่ที่ลมตรงปลายจมูก หน้าอก หรือ ท้องน้อยเป็นต้น ย่อมถึงความคลายกำหนัดในกายสังขารและจิตสังขารเป็นต้นได้(กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, คิริมานนทสูตร, สัญญา ๑๐)



    กายคตาสติสูตร

    [๒๙๔]พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กายคตาสติอัน ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
    (ก็เพื่อให้ทั้งกายและใจมั่นคง ไม่เลื่อนไหลลงสู่ความง่วงงุนซึมเซา หรือภวังค์ง่ายๆ)
    ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติ หายใจออก มีสติ หายใจเข้า
    เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
    เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
    สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
    สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
    เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร (เมื่อ)ส่งตนไปในธรรมอยู่ อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
    เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ

    [เรียกเฉพาะว่า อานาปานสติ พึงรู้ระลึกว่า เป็นการใช้สติเป็นสำคัญไปในกายที่หมายถึงลมหายใจอันเป็นกายสังขารอย่างหนึ่ง ที่พรั่งพร้อมทั้งสัมมาสมาธิที่หมายถึงมีความตั้งมั่น ยังมิได้มีจุดประสงค์ในฌานสมาธิระดับประณีตลึกซึ้ง ในขั้นนี้หรืออานาปานสติจึงควรประกอบด้วยสติ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงจะได้ไม่ให้เลื่อนไหลลงภวังค์หรือนิมิตได้ง่ายๆ เพราะไม่มีเจตนาลงลึกไปในฌานสมาธิในระดับประณีตลึกซึ้งแต่อย่างใด ถ้าเคลิบเคลิ้มหรือเลื่อนไหลลงภวังค์หรือหลับหรือเกิดนิมิตขึ้นอยู่เสมอๆ ก็อย่าหลับตาให้ลืมตา หรือแม้ลุกขึ้นยืนปฏิบัติก็ยังได้, อนึ่งพึงสังเกตุว่า เหตุเพราะสติระลึกอยู่กับลมหายใจได้ดี จึงหมายถึงย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปคิดปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน หรือก็คือการละความคิด(ดำริ)พล่านออกไปปรุงแต่งภายนอกกายสังขารคือลมหายใจนั่นเอง จึงเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง จิตจึงเป็นธรรมเอกตั้งมั่นได้, เมื่อพิจารณาโดยแยบคายย่อมได้ทั้งความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา]



    ราหุโลวาทะสูตร
    อานาปานสติภาวนา


    [๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล
    เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่. ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร
    ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่? ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี
    อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติ
    หายใจออก มีสติหายใจเข้า. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว
    ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว. เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น
    ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียก
    ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อม
    สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อม
    สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อม
    สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง
    หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียก
    ว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจาก
    ราคะหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียก
    ว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่
    สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า. ดูกรราหุล
    อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
    ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ
    ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็น
    อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.



    - เมื่อเราได้น้อมนำมาพิจารณาปฏิบัติอย่างนี้ เอาลมหายใจมาเป็นอารมณ์ ได้รับอานิสงส์..คือ รู้และเห็นว่าการอยู่กับปัจุบันมีสติรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ในปัจจุบันอยู่ทุกขณะนี้ประเสริฐมาก มีอานิสงส์มาก เป็นความสงบสุขอันโล่งเบาเย็นไม่เร่าร้อน ทำให้เรารู้สึกถึงความแช่มชื่นปราโมทย์ ไม่เร่าร้อนจากการที่ราคะเมถุนถูกสลัดทิ้งไป
    - มีความอิ่มเอมเป็นสุขเข้าถึงความสงบกายและใจประดุจมีสมาธิอันมีกำลังมากเข้าปกคลุมก่ายใจเราอยู่ทุกขณะ และความคิดอสุศลธรรมอันลามกจัญไรใดๆก็หายไปไม่กำเริบเกิดขึ้น แม้พยายามจะหวนตรึกนึกถึงก็นึกไม่ออก นึกได้แต่ธรรมอันงานอันปราศจากราคะเท่านั้น ถึงความไม่ติดใจข้องแวะในสิ่งไรๆอารมณ์ใดๆ วางเฉยนิ่งว่างอยู่ ความกลัวก็ไม่มี ความเกลียดก็ไม่มี ไม่พอใจก็ไม่มี แต่แต่จิตที่เบิกบานอันยินดีในกุศลธรรมทั้งปวงแม้ในขณะลืมตาหรือหลับตา
    - เมื่อว่างจากกิจการงานไรๆแล้ว มีความรู้ตัวอยู่ มีจิตแนบอยู่ที่ลมหายใจ ก็เข้าสู่ความนิ่งว่างมีแต่ความสำเหนียกไม่มีความตรึกนึก มีแต่สุขที่พรั่งพรูออกมาอย่างเกิดมาไม่เคยพบเจอเลยใจชีวิต จนถึงความสงบว่างมีแต่จิตรู้จิต มีแต่จิตเห็นจิตนิ่งว่างแช่อยู่ มีสัมปะชัญญะรู้ตัวอยู่เกิดแยกจากความติดแช่ในสภาวะธรรมนั้นๆ จนจะหมายใจไว้ว่าจะทำอย่างไรจิตก็จะเพิกไปทันที ไม่มีความตรึกนึกคิดอันใดให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายแค่สำเหนียกรู้อยู่ แลดูอยู่ รู้ตัวอยู่เท่านั้น
    - เมื่อออกมาจากจุดนั้นแล้วก็ประดุจดั่งมีความสงบจดจ่อแน่นิ่งอันปราศจากราคะปกคลุมอยู่ทั่วกายทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงอยู่ได้มากสุด 4 วัน 3 คืน ไม่ติดใจสิ่งไรๆปารถนาเพียงจักบวชเท่านั้น
    - เมื่อมีอานาปานสติตั้งอยู่เฉพาะในภายใน จิตจะเพิกไปทางใด ก็ให้ได้เห็นธรรมทั้งภายในและภายนอก เกิดธรรมเอกผุดขึ้นย่อมรู้ได้เห็นได้เสมอๆ ถึงซึ่งวิราคะอยู่ ณ ที่นั้น





    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  3. Admax said:

    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๒ (อสุภะกรรมฐาน)

    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เข้าไปตั้งในอานาปานสติไว้ แล้วระลึกเจริญในอสุภะกรรมฐาน เป็นซากศพผุพังเน่าเปื่อยย่อยสลายไป ในภายนอก ให้เห็นเป็นของไม่งาน ไม่น่าใคร่ปารถนายินดี กายนั้นๆแม้เมื่อก่อนจะงดงามแค่ไหนก็ไม่คงอยู่นานก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พองอืด เขียวคล้ำ เน่าเปื่อยย่อยสูญสลายไป ต่อให้งามแค่ไหนที่สุดก็อยู่ที่ความผุพังเน่าเปื่อย แล้วก็ตายและก็ดับสูญคืนสู่ดินไปบังคับให้กายอันงามนั้นคงอยู่ไม่เสื่อมไม่สูญไปก็ไม่ได้ดังนี้เป็นต้น ซึ่งพระตถาคตจะตรัสสอนให้จับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ กระดูกโดยส่วนเดียว หนังที่เน่าเปื่อยโดยส่วนเดียว หรือเนื้อที่เน่าเปื่อยโดยส่วนเดียว น้ำเหลืองจากศพโดยส่วนเดียว จากสภาพใดสภาพหนึ่งในอสุภะ ๑๐ นั้น เช่น จากศพที่อืดเขียวบวม หรือ จากศพที่เน่าเหม็นน้ำเลื้อน้ำหนองไหล เป็นต้น มาพิจารณา(อสุภสูตร, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน,นางสิริมา [๑๑๙])



    ๖. อสุภสูตร

    [๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้พิจารณาเห็นอารมณ์
    ว่าไม่งามในกายอยู่ จงเข้าไปตั้งอานาปาณสติไว้เฉพาะหน้าในภายใน และจง
    พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอ
    ทั้งหลายพิจารณาเห็นอารมณ์ว่าไม่งามในกายอยู่ ย่อมละราคานุสัยในเพราะความ
    เป็นธาตุงามได้ เมื่อเธอทั้งหลายเข้าไปตั้งอานาปาณสติไว้เฉพาะหน้าในภายใน
    ธรรมเป็นที่มานอนแห่งวิตกทั้งหลาย (มิจฉาวิตก) ในภายนอก อันเป็นไปใน
    ฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ย่อมไม่มี เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
    ในสังขารทั้งปวงอยู่ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ฯ


    ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอารมณ์ว่าไม่งามในกาย มีสติเฉพาะใน
    ลมหายใจ มีความเพียรทุกเมื่อ พิจารณาเห็นซึ่งนิพพาน
    อันเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ภิกษุนั้นแล ผู้เห็นโดยชอบ
    พยายามอยู่ ย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้ง
    ปวง ภิกษุนั้นแล ผู้อยู่จบอภิญญา สงบระงับล่วงโยคะเสียได้
    แล้ว ชื่อว่าเป็นมุนี ฯ


    จบสูตรที่ ๖



    กายคตาสติสูตร

    [๒๙๙]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า
    อันตายได้วันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ที่ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม
    จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดามีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
    เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
    เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ
    (นวสีวถิกาบรรพ แสดงอาการของศพไว้ ๙ ระยะหรือแบบ)
    [๓๐๐]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า อันฝูงกาจิกกิน(ลูกนัยตา ฯ)อยู่บ้าง
    ฝูงแร้งจิกกิน(เนื้อหนัง ตับ ไต ฯ)อยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกิน(ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ฯ)อยู่บ้าง หมู่สุนัขบ้านกัดกิน(แขน ขา ฯ)อยู่บ้าง
    หมู่สุนัขป่ากัดกิน(กัดแทะกระดูก อวัยวะน้อยใหญ่ ฯ)อยู่บ้าง สัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆชนิดฟอนกิน(แทะเล็มส่วนต่างๆทั่วกาย)อยู่บ้าง
    จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
    เมื่อภิกษุนั้น ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
    เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
    [๓๐๑]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างอยู่ด้วยกระดูก มีทั้งเนื้อและเลือดเส้นเอ็นผูกรัดไว้......
    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ไม่มีเนื้อ มีแต่เลือดเปรอะเปื้อนอยู่ เส้นเอ็นยังผูกรัดไว้......
    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูกปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่เส้นเอ็นยังผูกรัดอยู่......
    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องผูกรัดแล้ว กระจัดกระจายไปทั่วทิศต่างๆ คือ
    กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง
    กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง
    กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางหนึ่ง
    จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
    เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มี ความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
    เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ ฯ
    [๓๐๒]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งใน ป่าช้า เป็นแต่กระดูก สีขาวเปรียบดังสีสังข์......
    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก เรี่ยราดเป็นกองๆ มีอายุเกิน ปีหนึ่ง......
    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นแต่กระดูก ผุเป็นจุณ จึงนำเข้ามาเปรียบ เทียบกายนี้ว่า
    แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้ เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้
    เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
    เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ



    - เมื่อเราได้พิจารณาอย่างนี้ เวลาที่ตัวเรารู้ว่ามีจิตเป็นราคะเกิดขึ้น ก็จะตั้งอานาปานสติไว้ในภายในก่อน มีพุทโธระลึกถึงคุณอันเป็นผู้รู้, ผู้ตื่นจากโมหะ, ผู้เบิกบาน เป็นลมหายใจเข้าออกเป็นตั้งแห่งจิต ทำให้จิตเบาโล่งสงบเย็นขึ้น ทุเลาความเร่าร้อนลงได้บ้างแล้ว มีความอบอุ่นจากสมาธิยังจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จากนั้นก็ได้ยกเอาศพที่เน่าเปื่อยแหวกภายในให้เห็นอวัยวะน้อยใหญ่ภายในมีหนอนชอนไชอยู่บ้าง ถูกหมู่สัตว์ยื้อแย่งกัดกินอวัยวะภายในอยู่บ้าง(หวนระลึกภาพตามที่เคยไปล้างป่าช้ากับมูลนิธิร่วมกตัญญูแล้วเห็นศพในสภาพนั้นๆบ้าง หรือตอนบวชได้ไปสวดศพเห็นหน้าศพอืดพองบ้าง) ซึ่งจะยกมาพิจารณาเพียงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือสภาพศพแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น อานิสงส์ที่ได้รับ.. คือ ให้เราเห็นเพศตรงข้ามสักแต่เป็นเพียงซากศพ เห็นเป็นโครงกระดูกมีหนังแห่งติดหุ้มอยู่เท่านั้นบ้าง
    - เมื่อพิจารณาอย่างนั้นจนแยบคายในสภาวะที่หนังแห้งหุ้มติดกระดูกนั้น ก็เกิดอานิสงส์..ให้เห็นเป็นเพียงส่วนสะดูกขาวขุ่นเท่านั้น
    - เมื่อพิจารณาเพียงกระดูกมากเข้าๆ จนจับเอาพิจารณาโดยส่วนที่เป็นกระดูกเชิงกรานกระบังลมโดยส่วนเดียวทุกครั้งที่เป็นสัญญาเกิดขึ้นเมื่อทำสมาธิระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าว่าด้วยคุณเป็นผู้รู้ ผู้ตืน ผู้เบิกบานด้วยธรรม ผนวกกับลมหายใจเข้าออก บริกรรมพุทโธไป ก็เกิดอานิสงส์ว่า..เมื่อหายใจเข้าเห็นกระดูกเคลื่อน หายใจออกกระดูกก็เคลื่อน
    - จิตจึงคลายกำหนัดมีความสงบนิ่งอยู่มีสภาวะที่สงบว่างปกคลุมดูจิตมีกำลังมากตั้งมั่นอยู่ แต่เบากายไม่ตรึงหน่วงจิต มีสติสัมปะชัญญะรู้อยู่ทุกขณะทั้งลมหายใจและทรงสภาวะธรรมอันพิจารณาเห็นเป็นอสุภะนั้นอยู่
    - เห็นความย่อยสลายของกาย รูปขันธ์อันเป็นธาตุดินก็คืนสู่ธาตุดิน ไม่คงอยู่นาน ไม่เที่ยง ไม่อาจจะยื้อรั้งให้คงอยู่กับเราได้
    - กายนั้นๆแม้เมื่อก่อนจะงดงามแค่ไหนก็ไม่คงอยู่นานก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย พองอืด เขียวคล้ำ เน่าเปื่อยย่อยสูญสลายไป ต่อให้งามแค่ไหนที่สุดก็อยู่ที่ความผุพังเน่าเปื่อย แล้วก็ตายและก็ดับสูญคืนสู่ดินไปบังคับให้กายอันงามนั้นคงอยู่ไม่เสื่อมไม่สูญไปก็ไม่ได้ดังนี้เป็นต้น






    « แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 03, 2014, 06:06:09 PM โดย เกียรติคุณ »
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  4. Admax said:

    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๓ (อสุภะกรรมฐาน ว่าด้วย อาการทั้ง ๓๒ ประการ)


    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้ระลึกเจริญในอานาปานสติ ให้มองโดย อสุภะเป็นซากศพผุพังเน่าเปื่อยย่อยสลายไป ในภายนอก จนเกิดปัญญาเห็นเป็นอาการทั้ง ๓๒ ประการ ทั้งภายในตนและภายนอกตน(ผู้อื่นที่เรามองเห็น) (กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ทวัตตติงสปาโฐ)



    กายคตาสติสูตร

    [๒๙๗]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป
    ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
    ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
    หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (มันสมอง)
    ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร



    [สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่ปฏิกูล ไม่งาม แต่เมื่อมาเป็นเหตุปัจจัยประกอบกันเป็นกลุ่มก้อนตัวตนหรือฆนะขึ้น มีผม ขน เล็บ ฟัน หนังอันแสนสกปรกมาปกปิดห่อหุ้ม และยังเป็นมายาเครื่องล่อลวงให้เห็นเป็นไปว่าเป็น มวลรวมหรือตัวตน(ฆนะ)ที่สวยงามขึ้นมาอีกด้วย แต่เมื่อจำแนกแยกชำแหละออกเป็นส่วนๆด้วยปัญญา ก็ย่อมยังแลเห็นได้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ล้วนประกอบมาแต่สิ่งที่ไม่งาม เป็นปฏิกูล ไม่สะอาด และยังล้วนต้องคืนกลับสู่สภาวะเดิมๆด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์ เหมือนกันหมดสิ้นทุกบุคคลเขาเรา - ทวัตติงสาการ]



    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากทั้ง ๒ ข้างเต็มด้วยธัญญชาติต่างๆ ชนิด คือ
    ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วทอง งา และข้าวสาร บุรุษผู้มีตาดี แก้ไถ้นั้นออกแล้ว
    พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วทอง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
    เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้
    ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
    หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (มันสมอง)
    ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
    เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
    เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ (แสดงภาพรวม)



    [ปฏิกูลมนสิการ การพิจารณากายให้รู้ความจริงว่า เมื่อแยกแยะชำแหละพิจารณาโดยละเอียดแต่ละส่วนด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นส่วนประกอบต่างๆของร่างกายทั้ง ๓๒ (ทวัตติงสาการ) ล้วนไม่งาม ประกอบด้วยแต่สิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ก็เพราะเมื่อประกอบกันเป็นตัวตนเป็นสังขารร่างกายโดยมวลรวมหรือฆนะแล้ว ก็เกิดมายาล่อลวงให้แลเห็นเป็นไปว่าเป็นสิ่งสวยงาม จึงไม่สามารถแลเห็นตามความเป็นจริงได้
    ฝ่ายไถ้ที่มีปาก ๒ ข้าง อีกปากหนึ่งนั้นก็คือก้นรั่ว ก็ยังนำมาพิจารณาให้เกิดปัญญาได้อีกว่า จึงเติมไม่รู้จักเต็ม จึงกินไม่รู้จักพอ เป็นไถ้อันแสนปฏิกูลสกปรกชนิดที่บรรจุเท่าใดก็ไม่รู้จักเต็ม จึงต้องหมั่นเติมให้เต็มให้อิ่มอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นภาระเวร,เป็นภาระกรรมที่ต้องคอยดูแลต้องรักษาไปตลอดกาลนานจนสิ้นกาละ ทางหนึ่งพึงเข้าทางปาก อีกทางหนึ่งพึงขับถ่ายออกมา ก็แสนปฏิกูลเหลือกำลัง ภายในไส้เล็กก็ล้วนคลุกเคล้าเป็นปฏิกูลสั่งสมไปด้วยซากพืช อีกทั้งอสุภะซากศพของสัตว์น้อยใหญ่ทั้งปวง น้ำลาย น้ำย่อย น้ำดี ฯ. คลุกเคล้ากันแลไม่น่าดู เหม็นเปรี้ยวไม่น่าดอมดม ไม่สวยงามประกอบกันแลเป็นปฏิกูลยิ่งนัก ภายในจึงเป็นไปดุจดั่งสุสานใหญ่ที่แสนปฏิกูล ที่หมักหมมกันจนเป็นคูถเป็นมูตรอันยิ่งเน่าเหม็นยิ่งๆขึ้นไปภายในไส้ใหญ่ จนย่อมไม่มีใครอยากลิ้มหรือดอมดมอีกต่อไป เป็นดั่งนี้สิ้นทั้งในกายตนแลผู้อื่นล้วนสิ้น]



    - ด้วยพระธรรมคำสอนนี้เราได้พิจารณาปฏิบัติโดยมีลมหายใจตั้งไว้ภายใน เห็นรู้รูปโดยมีอาการทั้ง ๓๒ ในเบื้องหน้า ได้เห็นว่าอาการทั้งหมดเหล่านี้สงเคราะห์ประกอบรวมกันขึ้นมาโดยแบ่งหน้าที่กันทำงานต่างๆกันไปมีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบจึงเกิดเป็นตัวตน คนใดๆ สัตว์ใดๆขึ้นมา

    ๑. ทั้งๆที่รูปขันธ์ที่ไม่ว่าเราหรือใครๆได้เข้ามาอาศัยอยู่นี้ ก็มีเพียงแค่อาการทั้ง 32 ประการ ที่สงเคราะห์ประกอบกันทำงานร่วมกันอยู่เท่านั้น มีแต่ความเสื่อมโทรมอยู่ทุกวัน สักแต่รอให้ถึงเวลาที่จะดับสูญไป ด้วยเหตุดังนี้มันจึงมีไว้อาศัยเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเที่ยงไม่ได้เลย ดังนี้จึงเรียกว่า รูปขันธ์ไม่เที่ยงไม่คงอยู่ สักแต่มีไว้อาศัยใช้ทำในกิจการงานใดๆเพียงชั่วคราว สักแต่มีไว้ระลึกรู้ดูสภาวะและสภาพที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน เสื่อมโทรม และ ดับไปเท่านั้น เข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย เพราะมันไม่เที่ยง เมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งอันไม่เที่ยงมีแต่จะเสื่อมโทรมสลายไปทุกขณะเวลา มันก็ไม่พึงได้ตามใจปารถนา มันจึงมีแป็นทุกข์

    ๒. รูปขันธ์ มันก็มีแค่ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้รวมกันแยกกันอยู่ก็ไม่ได้ เพราะเมื่อแยกกันอยู่ก็ไม่อาจทำหน้าที่ของกันและกันได้ มีแต่จะยังความเสื่อมโทรมและสูญสลายมาให้ ลองหวนระลึกถึงอวัยวะทั้งหลายที่เขาแช่ดองไว้ในโหลแก้วตามโรงพยาบาลหรือศูนย์วิทยาศาสตร์ เมื่อแยกกันออกมาแล้วมันก็หยุดทำงานมีแต่สภาพที่คงนิ่งอยู่ไม่มีความเคลื่อนไหวทำงานใดๆใช่มั้ยครับ และแม้เขาจะดองอยู่ในฟอร์มาลีนหรือแช่เย็นไว้มันก็ยังความเสื่อมโทรมแปรเปลี่ยนและสูญสลายไปทุกๆขณะจะช้าเร็วอยู่ที่การดูแลรักษาของเราใช่ไหมครับ ดังนั้นรูปขันธ์หรืออาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้มันจึงไม่เที่ยง

    ๓. เพราะมีอาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้รวมกันและยังทำงานในหน้าที่ของกันและกันอยู่มันจึงมีคนนั้นคนนี้ มีสัตว์นั้นๆ มีสิ่งของนั้นๆได้ รูปขันธ์ หรือ อาการทั้ง 32 ประการนี้เราจะไปบังคับยื้อยึดฉุดรั้งใดๆให้มันเป็นไปดั่งใจได้ไหม มันก็ไม่ได้ใช่มั้ยครับ ห้ามไม่ให้เจ็บไม่ให้ปวดก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้แก่ไม่ให้เสื่อมโทรมสูญสลายไปก็ไม่ได้ แล้วควรหรือไม่ที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ ว่าเป็นตัวตน ว่านี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นของเขา ก็ด้วยเพราะเหตุดังนี้ รูปขันธ์ จึงชื่อว่าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา

    ๔. หากมีเพียงแค่อาการใดอาการหนึ่งจาก 32 ประการนี้ ก็ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นคนหรือสัตว์ได้ ดังนี้แล้วเราจะไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่สักแต่เพียงมีไว้แค่อาศัยอยู่ชั่วคราว สิ่งที่สักแต่เพียงอาศัยการสงเคราะห์ประกอบร่วมกันโดยมีอาการที่เรียกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน และ หนังที่หุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบปกปิดอาการอันเน่าเหม็นภายในไว้นี้ว่าเป็นสิ่งที่มีตัวตน มีเขา มีเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นเรา ได้หรือไม่

    ๕. ความเข้าไปปารถนาเอากับสิ่งอันไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน มันเป็นทุกข์ เราจึงควรเพิกถอนความสำคัญมั่นหมายของใจอันยึดมั่นในอาการทั้ง 32 หรือ รูปขันธ์ เหล่านี้ออกไปเสีย พึงเห็นมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมโทรม ดับไป เพียงมีไว้ระลึกรู้ไม่ได้มีไว้เสพย์ในกิเลสตัณหาจากรูปขันธ์นั้นจนเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่นอุปาทาน

    ๖. เมื่อได้ทำความเข้าใจให้เห็นตามจริงดังนี้แล้ว จิตย่อมน้อมวิเคราะห์ลงในธรรม แล้วเห็นว่า เราไม่มีในรูป รูปไม่ใช่เรา
    เราไม่มีในรูปนั้นเป็นไฉน รูป คือ ร่างกายของเรานี้ มีอาการทั้ง 32 ประการ พึงพิจารณาให้เห็นดังนี้ว่า

    ผมหรือที่เป็นเรา, ขนหรือที่เป็นเรา, เล็บหรือที่เป็นเรา, หนังหรือที่เป็นเรา, เนื้อหรือที่เป็นเรา, เอ็นหรือที่เป็นเรา
    กระดูกหรือที่เป็นเรา, เยื่อในกระดูกหรือที่เป็นเรา, ม้ามหรือที่เป็นเรา, หัวใจหรือที่เป็นเรา, ตับหรือที่เป็นเรา
    พังผืดหรือที่เป็นเรา, ไตหรือที่เป็นเรา, ปอดหรือที่เป็นเรา, ไส้ใหญ่หรือที่เป็นเรา, ไส้น้อยหรือที่เป็นเรา
    อาหารใหม่หรือที่เป็น, อาหารเก่าหรือที่เป็นเรา, น้ำดีหรือที่เป็นเรา, เสลดหรือที่เป็นเรา, น้ำเหลืองหรือที่เป็นเรา
    เลือดหรือที่เป็นเรา, เหงื่อหรือที่เป็นเรา, มันข้นหรือที่เป็นเรา, น้ำตาหรือที่เป็นเรา, เปลวมัน(มันเหลว)หรือที่เป็นเรา
    น้ำลายหรือที่เป็นเรา, น้ำมูกหรือที่เป็นเรา, น้ำมันไขข้อหรือที่เป็นเรา, น้ำมูตรหรือที่เป็นเรา, (มันสมอง)หรือที่เป็นเรา

    - ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้ อันเราได้พิจารณาใน อนุโลม ปฏิโลม โดยแยบคายแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีเราหรือมีสิ่งใดที่เป็นเราอยู่ในรูปขันธ์ คิแ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านั้น ด้วยเหตุดังนี้ "เราจึงไม่มีในรูป" (อนัตตา)
    - ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้ อันเราได้พิจารณาใน อนุโลม ปฏิโลม โดยแยบคายแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีรูปขันธ์ คือ อาการใดๆใน 32 ประการเหล่านี้ที่จะเป็นเรา ด้วยเหตุดังนี้ "รูปจึงไม่ใช่เรา" (อนัตตา)

    - ก็เมื่อรูปขันธ์ คือ ร่างกายของเรานี้ อาศัยอาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้รวมกันอยู่ก็จึงได้สมมติเอาว่าเป็นเรา ก็เมื่อแยกอาการทั้ง 32 ประการออกมามี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นนั้นออกมาจากรูปขันธ์ แยกออกมากองๆไว้อย่างนี้แล้ว เราจะเห็นรูปขันธ์มีอยู่ในเราหรือใครๆบ้างไหม มันก็หาไม่ได้ใช่ไหม ที่จะเห็นได้นั้นก็มีแต่กองสิ่งเน่าเหม็น ไม่มีร่างกายไรๆในเราหรือใครๆ รูปขันธ์ก็ไม่มีในเราและตัวตนบุคคลใดเหลืออีก ด้วยเหตุดังนี้ "รูปจึงไม่มีในเรา" (อนัตตา)
    - ก็เพราะ รูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีตัวตนอันที่จะไปบังคับใดๆได้ อาการทั้ง 32 ประการนี้ จึงมีความเสื่อมโทรมไปทุกๆขณะเวลา

    - เมื่อเห็นดังข้อที่ ๑-๖ นี้แล้ว เราก็ย่อมรู้ว่า รูปขันธ์ คือ อาการทั้ง 32 ประการเหล่านี้ มันมีความแปรเปลี่ยนเสื่อมโทรมไปทุกขณะ ไม่นานก็เสื่อมสลายแล้วดับไปเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงอยู่นาน จะสูญสลายไปช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา สภาพแวดล้อม สภาพธรรมที่ปรุงแต่งทั้งภายในภายนอกและกาลเวลา มันเป็นกองทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป รูปไม่มีในเรา รูปไม่ใช่เรา รูปไม่ใช่ของเรา สักแต่มีไว้ระลึกรู้ มีไว้อาศัยชั่วคราว เมื่อเราเข้าไปปารถนาหมายมั่นในรูปขันธ์ไปมันก็เสียแรงเปล่า ปารถนาไปทำไมให้มันเป็นทุกข์เปล่าๆ หากเมื่อเราไม่ปารถนาที่จะเอาความทุกข์ก็เพิกถอนความสำคัญมั่นหมายยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ทิ้งไปเสีย ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากสิ่งอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เราก็จักไม่ทุกข์อีก






    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย Admax : 05-26-2015 เมื่อ 08:27 AM
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  5. Admax said:


    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)


    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐)

    ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๑
    อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง


    [๓๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ
    บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลายผู้มีอายุ. ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว.
    พระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งแห่งสัตว์
    ทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในรอยเท้าช้าง
    รอยเท้าช้างชาวโลกย่อมกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นของใหญ่
    แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด
    ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าในอริยสัจสี่ ฉันนั้นเห็นเหมือนกันแล. ในอริยสัจสี่เหล่าไหน? คือ ใน
    ทุกขอริยสัจ ในทุกขสมุทัยอริยสัจ ในทุกขนิโรธอริยสัจ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
    [๓๔๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? คือ แม้ความเกิดเป็นทุกข์
    แม้ความแก่เป็นทุกข์ แม้ความตายเป็นทุกข์ แม้ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความ
    ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ แม้ความที่ไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้ ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ
    อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน? คืออุปาทานขันธ์
    คือ รูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือ
    วิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์คือรูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูป
    ที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มหาภูตรูป ๔ เป็นไฉน? คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
    เตโชธาตุ วาโยธาตุ.

    ปฐวีธาตุ

    [๓๔๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฐวีธาตุเป็นไฉน? คือ ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายใน
    ก็มี ปฐมวีธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุ ที่เป็นไปภายในเป็น
    ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็น
    ของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
    หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
    ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของ
    หยาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ เป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุอันใด
    แล เป็นไปภายใน และปฐวีธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นปฐวีธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็น
    ปฐวีธาตุนั้น นั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็น
    นั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
    อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุ. ดูกรท่านผู้มี
    อายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล ในสมัยนั้น ปฐวีธาตุ
    อันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่ง
    ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็น
    ของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็น
    ของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา
    ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็น
    ธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่
    ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในปฐวีธาตุ อันเป็นภายใน
    นั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ กระทบ
    กระเทียบ จะเบียดเบียน ภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่
    โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมี
    ไม่ได้ ทุกขเวทนานี้ อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงมีได้. ภิกษุนั้น ย่อมเห็นว่า
    ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง
    ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมี
    ธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเสื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อม
    หลุดพ้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการ
    ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ คือด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหาร
    ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง. ภิกษุนั้นย่อมรู้
    ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการ
    ประหารก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหาร
    ด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกร
    ภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วย
    เลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้าย ในพวกโจร แม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่า
    ทำตามคำสั่งสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้. อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติ
    ไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว
    จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว
    คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย
    จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหาร
    ด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ เราจะ
    ทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้
    ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่
    ตั้งอยู่พร้อมได้. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
    ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่
    อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม
    ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึง
    ความสลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้
    ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่
    ได้ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
    ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า
    อยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย
    กุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า
    เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่
    อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจ
    เพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี
    พระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.

    อาโปธาตุ

    [๓๔๓] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? คือ อาโปธาตุที่เป็นไปภายใน
    ก็มี อาโปธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
    ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความ
    เอิบอาบ คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก
    ไขข้อ น้ำมูตร ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน
    เป็นของเอิบอาบ ถึงความเป็นของเอิบอาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า อาโปธาตุเป็นไปภายใน. ดูกร
    ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และอาโปธาตุอันใด เป็นไปภายนอก
    นั้นเป็นอาโปธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
    อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. ครั้นเห็นอาโปธาตุนั่น ด้วย
    ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย
    กำหนัดในอาโปธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่อาโปธาตุ ที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อม
    จะมีได้แล อาโปธาตุ อันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง พัดเอานิคมไปบ้าง พัดเอา
    เมืองไปบ้าง พัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบทไปบ้าง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
    สมัยที่น้ำในมหาสมุทรย่อมลึกลงไปร้อยโยชน์บ้าง สองร้อยโยชน์บ้าง สามร้อยโยชน์บ้าง
    สี่ร้อยโยชน์บ้าง ห้าร้อยโยชน์บ้าง หกร้อยโยชน์บ้าง เจ็ดร้อยโยชน์บ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกร
    ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่เจ็ดชั่วลำตาลบ้าง หกชั่วลำตาลบ้าง ห้าชั่ว
    ลำตาลบ้าง สี่ชั่วลำตาลบ้าง สามชั่วลำตาลบ้าง สองชั่วลำตาลบ้าง ชั่วลำตาลหนึ่งบ้าง ย่อมมี
    ได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ได้เจ็ดชั่วบุรุษบ้าง หกชั่วบุรุษ
    บ้าง ห้าชั่วบุรุษบ้าง สี่ชั่วบุรุษบ้าง สามชั่วบุรุษบ้าง สองชั่วบุรุษบ้าง ประมาณชั่วบุรุษหนึ่ง
    บ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ กึ่งชั่วบุรุษบ้าง
    ประมาณเพียงสะเอวบ้าง ประมาณเพียงเข่าบ้าง ประมาณเพียงข้อเท้าบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกร
    ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำแม้ประมาณพอเปียกข้อนิ้วมือจะไม่มีในมหาสมุทร ก็ย่อมมีได้
    แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่แห่งอาโปธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งมากถึง
    เพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความ
    เป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏ
    ได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่
    ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความ
    เสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้
    ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิ ในอาโปธาตุอันเป็นภายนอกนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้น
    เลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
    พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดี
    ไซร้ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณ
    เท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.



    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย Admax : 05-26-2015 เมื่อ 08:28 AM
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  6. Admax said:


    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, ภารทวาชสูตร, คิริมานนทสูตร สัญญา ๑๐)


    ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๒
    อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง


    เตโชธาตุ(ไฟ)

    [๓๔๔] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุเป็นไฉน? คือ เตโชธาตุที่เป็นไปภายใน
    ก็มี เตโชธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
    ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึง
    ความเป็นของเร่าร้อน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย
    สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องถึงความแปรปรวนไปด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว
    ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน
    เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของเร่าร้อน อย่างอื่น นี้เรียกว่า เตโชธาตุ
    อันเป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และเตโชธาตุ
    อันใด เป็นภายนอก นั่นเป็นเตโชธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบ
    ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นของเรา. บัณฑิต
    ครั้นเห็นเตโชธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายใน
    เตโชธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในเตโชธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัย
    ที่เตโชธาตุอันเป็นไปภายนอก กำเริบ ย่อมจะมีได้แล เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อม
    ไหม้บ้านบ้าง ย่อมไหม้บ้านเมืองบ้าง ย่อมไหม้นิคมบ้าง ย่อมไหม้ชนบทบ้าง ย่อมไหม้ประเทศ
    แห่งชนบทบ้าง. เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้นมาถึงหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือภูมิภาค
    อันเป็นที่รื่นรมย์ ไม่มีเชื้อ ย่อมดับไปเอง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลายแสวง
    หาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขูดหนังบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า
    ความที่แห่งเตโชธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้นซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้
    ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้
    ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือ
    เอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็น
    ของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวน
    ไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะ
    และทิฏฐิในเตโชธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุ
    นั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
    อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น.
    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านั้นแล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอัน
    ภิกษุทำให้มากแล้ว.

    วาโยธาตุ(ลม)

    [๓๔๕] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุเป็นไฉน? คือ วาโยธาตุที่เป็นไปภายใน
    ก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุที่เป็นไปภายในเป็น
    ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึง
    ความเป็นของพัดไปมา คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่
    ในลำไส้ ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หรือสิ่งใด
    สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความ
    เป็นของพัดไปมา อย่างอื่น นี้เรียกว่า วาโยธาตุเป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
    ก็วาโยธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และวาโยธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็น
    วาโยธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
    นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วย
    ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย
    กำหนัดในวาโยธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่วาโยธาตุอันเป็นไปภายนอกกำเริบ
    ย่อมจะมีได้แล วาโยธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง ย่อมพัดเอานิคมไป
    บ้าง ย่อมพัดเอานครไปบ้าง ย่อมพัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบท
    ไปบ้าง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลาย แสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วย
    พัดสำหรับพัดไฟบ้าง ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลายก็ไม่ไหว ย่อม
    มีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่งวาโยธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่ง
    ใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้
    ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรา-
    *กฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้ายึดถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้ง
    อยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็น
    ของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อ
    เป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในวาโยธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย.
    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะ
    เบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้
    เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุพึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้
    ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไร จึงมีได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะ จึงมีได้. ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า
    ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของ
    ไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง
    จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี
    ย่อมหลุดพ้น.


    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย Admax : 05-26-2015 เมื่อ 09:07 AM
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  7. Admax said:


    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (มหาหัตถิปโทปมสูตร)


    ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร # ๓
    อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง


    การทำตามพระโอวาท

    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่า
    ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วย
    ก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง. ภิกษุนั้น
    ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็น
    ไปแห่งการประหารด้วยก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็น
    ไปแห่งการประหารด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาท อันเปรียบ
    ด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะ
    ใหญ่น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้
    นั้น. ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้. อนึ่ง ความเพียรอันเรา
    ปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม
    กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็น
    ธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปใน
    กายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้
    ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี
    ตามทีเถิด คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้เราจะทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
    หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
    พระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้พร้อม. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ
    ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่
    ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราแล้วหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง
    พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี
    ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ
    แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึก
    ถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้
    ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ
    ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธ-
    *เจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย
    กุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
    หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์
    อย่างนี้ อุเบกขาอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น.
    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันภิกษุ
    ทำให้มากแล้ว.

    ผู้เห็นธรรม

    [๓๔๖] ดูกรท่านมีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้า
    แวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า เป็นเรือนฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูก
    และอาศัยเอ็นเนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า รูป ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่าน
    ผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลาย
    อันเป็นภายนอกย่อมไม่มาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ไม่มี ความ
    ปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้ง
    หลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็น
    ภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ แต่ความกำหนดอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นไม่มี ความปรากฏ
    แห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
    แต่ว่าในกาลใดแลจักษุอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกไม่ทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็น
    ภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปก็ย่อมมีในกาลนั้น ความ
    ปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้. รูปแห่ง
    สภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ รูป
    เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์
    คือ เวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์
    ในอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา สังขารแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นเหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อม
    ถึงความสงเคราะห์ในอุปาทาน คือ สังขาร วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น
    ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า
    การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประ
    การอย่างนี้. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อ
    ว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด
    อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. ความพอใจความอาลัย ความยินดี ความ
    ชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัดด้วย
    สามารถความพอใจ การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด
    อันนั้นชื่อว่าทุกขนิโรธแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล. คำสอนของ
    พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า โสตะอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกทำลาย
    แล้ว ฯลฯ
    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ฆานะอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
    แล้ว ฯลฯ
    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชิวหา อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
    แล้ว ฯลฯ
    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า กายอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
    แล้ว ฯลฯ
    ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย
    แล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมไม่มาสู่คลอง ทั้งความกำหนดอันเกิด
    แต่มนะ และธรรมารมณ์นั้น ก็ไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่มนะและ
    ธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะอันเป็นไปในภาย
    ใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมมาสู่คลอง
    แต่ความกำหนดอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้นไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอัน
    เกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่ว่าในกาลใด
    แล มนะอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภาย
    นอก ย่อมมาสู่คลอง ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ย่อมมี ในกาล
    นั้น ความปรากฏแห่งส่วนแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ย่อมมีได้
    ด้วยอาการอย่างนี้. รูปแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ใน
    อุปาทานขันธ์คือรูป เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึงความ
    สงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือเวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้น
    ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสัญญา สังขารทั้งหลายแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้น
    เหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสังขาร วิญญาณ
    แห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์
    คือวิญญาณ. ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม
    หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประการอย่างนี้. อนึ่ง พระผู้มีพระภาค
    ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น
    ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ชื่อว่า
    ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทาน-
    *ขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนี้ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ
    การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนั้นชื่อว่า
    ทุกขนิโรธแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี
    พระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
    ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีภาษิต
    ของท่านพระสารีบุตรแล้วแล.


    จบ. มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘
    -----------------------------------------------------

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย Admax : 05-26-2015 เมื่อ 09:07 AM
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  8. Admax said:


    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)


    จตุธาตุววัฏฐาน

    จตุธาตุววัฏฐาน หรือเรียกว่า ธาตุกรรมฐาน หมายความว่า การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏในร่างกายจนกระทั่งเห็นเป็นแต่เพียงกองแห่งธาตุ โดยปราศจากความจำว่าเป็นหญิง ชาย เรา เขา สัตว์ บุคคลใดๆ เสีย องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในมหากุศลจิต มหากิริยาจิต

    คำว่า ธาตุ หมายถึง การธำรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่รองรับรูปทั้งหมดที่เหลือ คือ เพราะการรวมกันของธาตุดิน ความแข็งจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุน้ำ ความเอิบอาบจึงเกิดได้ เพราะการรวมกันของธาตุไฟ ความร้อนจึงเกิดได้ และเพราะการรวมกันของธาตุลม ความเบาแห่งการเคลื่อนไหวจึงเกิดได้

    การกำหนดจตุธาตุววัฏฐานนี้ ผู้เจริญจะต้องพิจารณาธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายในตน ธาตุ ๔ ที่มีอยู่ภายตนนี้ มี ๔๒ คือ ธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้า ๑๒ ธาตุไฟ ๔ ธาตุลม ๖


    วิธีการกำหนดโดยความเป็นธาตุ มีดังนี้

    ๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน
    - พึงพิจารณาว่า ปฐวีธาตุเหล่านี้ ถูกเกาะกุมไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ อาโป เตโช วาโย) ถูกรวมเข้าด้วยกันอย่างนี้

    - อาโปธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี เตโช วาโย) ถูกยึดไว้ด้วยกันรวมกันได้อย่างนี้

    - เตโชธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป วาโย) ถูกทำให้อุ่นอย่างนี้

    - วาโยธาตุอาศัยอยู่ในปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ถูกทำให้อุ่นโดยเตโชธาตุ ธาตุ ๓ (คือ ปฐวี อาโป เตโช) ถูกค้ำจุนไว้อย่างนี้
    - ธาตุ ๓ (น้ำ ไฟ ลม) อาศัยปฐวีธาตุ ถูกยึดไว้ด้วยกันโดยอาโปธาตุ ธาตุ ๓ จึงไม่กระจัดกระจาย
    - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ลม) อุ่นโดยเตโชธาตุ จึงไม่มีกลิ่น
    - ธาตุ ๓ (ดิน น้ำ ไฟ )ค้ำจุนไว้โดยวาโยธาตุ จึงดำเนินไปและอยู่รวมกันได้ ไม่แตก กระจัดกระจาย


    สรุป ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    ๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย
    - พิจารณาโดยเหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นปัจจัยสร้างธาตุขึ้นมา

    เหตุ ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร
    - ธาตุทั้ง ๔ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกรรม กรรมนี้แหละทำให้มีการเกิดด้วยอำนาจของชนกกรรม ทำ
    ให้กรรมและวิบากของกรรมเป็นไป และทำให้เกิดปัจจัยต่างๆที่เข้าไปอุดหนุนเกื้อหนุนให้ธาตุ ๔ เป็นไป


    - ธาตุ ๔ นี้ เกิดมาจากจิต ทำให้ปัจจัยต่างๆ เป็นไป ปฏิสนธิจิตทำให้รูป คือ ธาตุทั้ง ๔ เกิดพร้อม
    กันกับจิต

    - ธาตุ ๔ นี้ ตั้งอยู่ได้ไม่เน่าเสียไป ก็ด้วยการอุปการะของ อุตุ คือไออุ่นที่หล่อเลี้ยงธาตุทั้ง ๔

    - ธาตุ ๔ นี้ มีอาหารเป็นผู้หล่อเลี้ยงให้ตั้งอยู่และเจริญได้

    ๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ
    - ลักษณะของปฐวีธาตุ คือ ความแข็ง
    - ลักษณะของอาโปธาตุ คือ การซึมซาบ
    - ลักษณะของเตโชธาตุ คือ ความเย็น ร้อน
    - ลักษณะของวาโยธาตุ คือ ไหว เคลื่อนไปมา


    เมื่อสิ่งใดปรากฏชัดในการรับรู้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะก็ให้ระลึกรู้โดยความเป็นเพียงธาตุเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต เป็นเพียงแต่สภาวะของธรรมชาติ คือ ธาตุดิน น้ำไฟ ลม

    ๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน
    - ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ เสมอกันเพราะความมีน้ำหนัก
    - ส่วนเตโชธาตุและวาโยธาตุ เสมอกันเพราะความเบา
    - อาโปธาตุและเตโชธาตุ ไม่เสมอกัน อาโปธาตุสามารถกำจัดความแห้งของเตโชธาตุได้
    - ปฐวีธาตุและวาโยธาตุ ไม่เสมอกัน เพราะปฐวีธาตุขัดขวางการออกไปของวาโยธาตุ วาโยธาตุก็สามารถทำลายปฐวีธาตุได้


    ๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น
    - เปรียบเหมือนการทำหุ่นจำลองเป็นมนุษย์สตรี บุรุษ แล้วมีเชือกสาหรับชักเพื่อให้หุ่นนั้น เดิน ยืนนั่ง นอน เต้นรำ

    หุ่นนี้ คือ ร่างกาย ผู้ทำหุ่นคือ กิเลสในอดีต ที่เป็นเหตุให้กายนี้ถูกสร้างขึ้นจนสมบูรณ์ เชือก คือ เส้นเอ็น ดินเหนียว คือ เนื้อ สีที่ทำ คือ ผิวหนัง ช่องทั้งหลายคืออากาศ เพราะอาศัยอาภรณ์ เครื่องประดับต่างๆ จึงได้ชื่อว่าบุรุษหรือสตรี การเคลื่อนไหวไปได้ของหุ่นก็ด้วยวาโยธาตุที่เกิดจากจิตที่คิดจะเดิน ยืน คู้เข้า เหยียดออก สนทนาพูดจำได้

    มนุษย์หุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณธาตุ ตกอยู่ในอำนาจความโกรธ ความโศกเศร้า ความทุกข์ เพราะอวิชชา พวกเขาหัวเราะสนุกสนานหรือเล่นด้วยกันได้ มีอาหารรักษาหุ่นเหล่านี้ไว้ และชีวิตินทรีย์รักษาไว้ ทำให้หุ่นเหล่านี้เดินไป ที่สุดแห่งชีวิตทำให้หุ่นแตกกระจัดกระจาย และเมื่อกรรมและกิเลสยังมีอยู่ หุ่นใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีก การเกิดขึ้นครั้งแรกของหุ่นนั้นไม่สามารถรู้ได้ จุดสุดท้ายของหุ่นนั้นใครๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดกายนี้โดยเปรียบกับหุ่นว่าอาการเหล่านี้ กิจกรรมเหล่านี้ว่า “ไม่มีสัตว์ ไม่มีชีวะ เป็นเพียงแต่สภาวะ”

    ๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์
    - เมื่อพิจารณาธาตุ ๔ โดยประการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาโดยความเป็นนามและรูป คือ ธาตุทั้งหลายเป็นรูป จิตพร้อมเจตสิกต่างๆ ที่พิจารณารูปเหล่านั้นโดยความเป็นจริง เป็นนาม แล้วพิจารณาต่อไปอีกว่า นามรูปเป็นทุกข์ เป็นตัณหา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แล้วกำหนดรู้ว่า ความดับทุกข์ได้ต้องดับที่ตัณหา มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง

    นิมิต ภาวนา และ มรรค ผล ที่ได้จากการเจริญจตุธาตุววัฏฐาน
    การเจริญจตุธาตุววัฏฐานนี้ ไม่มีอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต คงมีแต่บริกรรมนิมิตอย่างเดียว คือธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในร่างกายตนนั้นเอง

    ส่วนภาวนานั้นได้ ๒ อย่าง คือ บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนา สำหรับอัปปนาภาวนาอันเป็นตัวฌานนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นสภาวะล้วนๆ ผู้เจริญต้องใช้ปัญญาอย่างแรงกล้า จึงจะรู้เห็นในสภาวะเหล่านี้ได้ เหตุนี้สมาธิของผู้เจริญจึงไม่มีกาลังพอที่จะถึงฌาน

    ดังนั้น หากว่าการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในกายตน โดยมีปัญญาเป็นประธานนี้ทำให้พิจารณาธาตุ ๔ โดยความเกิดดับ ก็จะทำให้ผู้ที่เจริญธาตุ ๔ นั้นสามารถสำเร็จมรรคผลได้

    อานิสงส์ของจตุธาตุววัฏฐาน
    ๑. เห็นความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตลักษณะ)
    ๒. ละความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ชาย หญิงได้
    ๓. ไม่กลัวภัยต่างๆ
    ๔. สามารถตัด ระงับ ความพอใจและไม่พอใจได้ มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา
    ๕. ทำให้เป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง
    ๖. เข้าถึงพระนิพพาน
    ๗. ถ้าไม่เข้าถึงพระนิพพานในภพนี้ ก็จะไปสู่สุคติ


    จบจตุธาตุววัฏฐาน



    อ้างอิง
    บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๙ สมถกรรมฐาน ตอนที่ ๓
    บรรณานุกรม
    ๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอภิธรรมิกะโท : พระสัทธัมมโชติกะ : อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : โรงพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๙
    ๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา
    พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
    ๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
    ๔) พระสูตร และ อรรถกถา แปลขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒
    ๕) การเจริญสมาธิ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา BUDDHIST MEDITATION ผศ.ดร.นฤมล มารคแมน
    สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๔
    ขอบคุณภาพจาก http://pixserv.clipmass.com,http://www.packagetourtravel.com,htt...age.ohozaa.com



    ขอขอบพระคุณที่มาจาก ท่าน raponsan
    http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19399#msg19399



    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย Admax : 05-26-2015 เมื่อ 09:09 AM
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  9. Admax said:


    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)




    จตุธาตุววัฏฐาน ๔ # ๑

    สำหรับวันนี้ จะขอพูดเรื่องสมถภาวนาจนจบ คำว่าจบในที่นี้หมายความว่าจะเว้นอรูปฌานทั้ง ๔ เสีย เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น สำหรับวันนี้ก็จะพูดเรื่องจตุธาตุววัฏฐานสี่ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ธาตุ ๔ สำหรับกรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา ไม่ใช่กรรมฐานภาวนา คำว่าภาวนาหมายความว่า จับคาถาบทใดบทหนึ่งเข้ามาภาวนาให้จิตทรงตัว

    แต่ว่าสำหรับกรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นกรรมฐานที่เหมาะสำหรับท่านที่เป็นพุทธจริต คำว่าพุทธจริตเป็นอารมณ์รู้ หมายถึงว่าคนทุกคนก็มีด้วยกันทุกคน เวลาใดที่มีอารมณ์ปลอดโปร่งเห็นว่าโลกเป็นทุกข์ อัตภาพร่างกายมีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงเป็นท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด เห็นว่าเป็นอนิจจังหาความเที่ยงไม่ได้ เป็นทุกขังเป็นความทุกข์ อนัตตามันจะสลายตัว

    ถ้าอารมณ์ของเราเกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นว่าร่างกายไม่เป็นเรื่องเป็นราว มีความตายไปในที่สุด ชื่อว่าเวลานั้นอารมณ์จิตเราเป็นพุทธจริต เป็นจิตที่ตกอยู่ในความฉลาด

    ฉะนั้นกรรมฐานบทหนึ่งในพุทธจริตที่เรายังไม่ได้พูดกันมาก็เหลือจตุธาตุววัฏฐานสี่ คือท่านให้พิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เอามาผสมกันเข้าเป็นเรือนร่าง แล้วก็มีอากาศธาตุ มีวิญญาณธาตุเข้ามาสิงรวมเป็นธาตุ ๖ ประการด้วยกัน เนื้อแท้เดิมจริงๆ มันมี ๔

    ธาตุดินได้แก่ของที่แข็ง มีหนัง มีเนื้อ มีกระดูก เป็นต้น
    ธาตุน้ำได้แก่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น
    ธาตุไฟได้แก่ความอบอุ่นในร่างกาย
    ธาตุลมได้แก่การที่พัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น


    รวมความว่าร่างกายนี้ต้องมีธาตุ ๔ ประกอบกัน ทั้งธาตุแต่ละธาตุก็ต้องมีความแข็งแรงสม่ำเสมอกัน ร่างกายของเราจึงจะมีความสมบูรณ์พูนสุข อันการที่ร่างกายป่วยไข้ไม่สบายแสดงว่าธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งมันบกพร่อง มีการทรงตัวไม่เสมอกัน เหมือนกับเรามีโต๊ะ ๔ ขา แต่ขาหนึ่งมันหักหรือมันร่อยไปเสียก็แสดงว่าตั้งไม่สนิท ถ้ามันร่อยลงไป ๒ ขา ก็แสดงว่าเอียงลงไปแล้ว

    แม้แต่ก้านกล้วยมันก็หนัก ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มีความสมบูรณ์แข็งแรงปกติใช้งานได้สะดวก ก็ได้แก่ธาตุทรงตัวสม่ำเสมอกัน เมื่อธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งมีความทรุดโทรมเรียกว่าพอเสื่อมตัวลงไป ร่างกายก็ต้องแสดงถึงการทรุดโทรมให้ปรากฏ แล้วในที่สุดธาตุแต่ละธาตุทั้ง ๔ ธาตุนี้มันก็จะต้องสลายตัวไป

    ถึงเวลาตายเราจึงว่าธาตุลมหายไป
    ธาตุไฟหายไป เหลือ ๒ ธาตุ คือธาตุน้ำกับธาตุดิน
    ในเมื่อมีดินกับน้ำ ไม่มีความอบอุ่นเข้าประคับประคอง น้ำก็ละลายดิน ดินก็เกิดอาการยุ่ย เกิดอาการอืดพองขึ้นมา หนังเปื่อยเนื้อเปื่อย เน่า ทว่าไม่เน่าเปล่ามีการส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็ค่อยสลายตัวไปทีละน้อยละน้อย

    ธาตุน้ำแห้งไป ธาตุดินก็ยุบตัวลงสลายไป
    เป็นอันว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความเสื่อมไปลดน้อยถอยลงไปทีละน้อยๆ เราจะเห็นว่าความเป็นเด็กเกิดขึ้น เรามีการเจริญขึ้นด้วยธาตุ จนถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแสดงว่าธาตุ ๔ ประกอบสมบูรณ์

    พออายุมากลงความสมบูรณ์กับเวลาที่เสื่อมลงไปยามแก่มาถึง สิ่งที่เข้าไปปรนเปรอไม่พอกับสิ่งที่เสื่อมสลายตัวไป ของที่เต็มอยู่มันก็พร่องคือว่าเนื้อหนัง เนื้อมันน้อยลงหนังก็เริ่มเหี่ยว ความเปล่งปลั่งไม่ปรากฏ มีการสลายตัวของธาตุดินมองเห็นชัด

    แล้วในที่สุดธาตุดินก็สลายตัวทรงไม่ได้ กายทรงตัวอยู่ไม่ได้ นี่มันตาย มานั่งพิจารณาดู ร่างกายเราเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ขณะใดที่ธาตุทั้ง ๔ ไม่สามัคคีกันเมื่อไหร่ก็พังเมื่อนั้น

    แล้วมาดูการพิจารณาดูธาตุ ๔ เพื่อประโยชน์อะไร พิจารณาเพื่อตัดความเมาในธาตุคือร่างกายเสีย ว่าเราจะไปนั่งเมามันในร่างกายของเราว่า มันจะทรงตัวนั้นมันไม่มี เราจะหาความผ่องใสในร่างกายตลอดกาลตอลดสมัยมันก็ไม่มี หาความแข็งแรงหาการคล่องตัวตลอดไปมันก็ไม่มี

    เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้มันจะทรงตัวความแข็งแรงไม่เสมอกัน มันจะพร้อมเพรียงกันก็อยู่ชั่วขณะหนึ่ง สักวันหนึ่งปีหนึ่งอาจจะหลายครั้งที่มีธาตุบางอย่างกะพร่องกะแพร่งร่อยหรอไปเสื่อมตัวลงไป อาหารป่วยมันก็เกิด นี่มองเห็นสภาวะของธาตุมันไม่ดี มันไม่ทรงตัว

    แล้วก็มองดูต่อไปด้วยว่าธาตุนี้มันเกิดมาแล้วมันไม่ทรงตัว ในที่สุดมันเป็นอย่างไร มันก็พังสลายตัวไปในที่สุด แล้วเราจะไปนั่งมัวเมาในธาตุเพื่อประโยชน์อะไร ธาตุ ๔ ไม่ทรงตัว ธาตุของเราไม่ทรงตัว ธาตุของบุคคลอื่นก็ไม่ทรงตัว การปรารถนาในการมีคู่ครองก็เพราะว่าเรามีโมหจริต คือ ความโง่ไม่ได้คิดถึงความเป็นจริง

    เพราะการมีคู่ครองนี้สร้างความเป็นห่วงให้เกิดขึ้น มีอารมณ์ยึดถือให้เกิดขึ้น ความจริงเราปรารถนาจะเปลื้องความทุกข์ แต่การแสวงหาร่างกายของบุคคลอื่นๆ มาคู่กับร่างกายเรา หวังจะเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่เปลื้องทุกข์มันเพิ่มทุกข์ ต้องรับภาระร่างกายของเราเองด้วย รับภาระร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ทีแรกเราก็ทุกข์แต่ตัวเรา

    เมื่อเอาบุคคลอื่นเข้ามาเราก็ทุกข์ เพื่อบุคคลอื่นอีกทุกข์เพราะอยู่เป็นคนคู่ไม่พอ ความโง่ยังสร้างต่อไป อยากจะมีลูก อยากจะมีลูกผู้หญิง อยากจะมีลูกผู้ชาย อยากจะมีหลาน นี่มันเป็นอาการของความโง่ไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความห่วง สร้างอุปาทาน สร้างความยึดมั่นผูกพันในสิ่งที่ไม่ทรงตัว ฉะนั้นในความทุกข์ไม่มีถึงที่สุด หาที่จบก็ไม่ได้

    องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบรรลุอภิเสกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีบแก้วเห็นโทษของการมัวเมาอยู่ในธาตุ ๔ มัวเมาในธาตุของตัวหรือว่าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วย คนเมาแต่ธาตุของตัวยังพอดี เรียกว่าทุกข์น้อย ถ้าเมาในธาตุของบุคคลอื่นด้วยเรียกว่าทุกข์หนักขึ้นไป ถ้ายิ่งเมาอยากจะมีลูก เมาอยากจะมีหลาน เมาอยากจะมีเหลนก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกเท่าตัว

    พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ภาระหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหาเป็นภาระอันหนัก แต่เพียงธาตุ ๔ ของเราประกอบเข้าเรียกว่าขันธํห้า เท่านี้ก็ปรนเปรอมันไม่ไหวอยู่แล้ว ไปเลี้ยงมันทั้งวันมันก็ไม่รู้จักอิ่ม มันก็ไม่รู้จักพอ ปรนเปรอมันตลอดกาลตลอดสมัย มันก็ไม่มีความหยุดยั้งในความต้องการ บำรุงร่างกายขนาดไหนก็ดีมันก็ไม่วายจะทรุดโทรม ประคับประคองเท่าไรก็ตามมันก็ไม่พ้น ที่จะตายไม่พ้นที่จะพัง นี้คือร่างกายของเราคนเดียว

    พระพุทธเจ้าท่านก็บอกหนักแสนหนัก มันแบกจะไม่ไหวอยู่แล้ว ต้องไปแบกร่างกายของบุคคลอื่นเข้า เราจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด มันเพิ่มทุกข์ แสดงว่าอารมณ์โง่มันเกิดขึ้น

    การที่จะตัดความโง่ตัวนี้ได้ก็ต้องปลดร่างกายของคนอื่นทิ้ง แล้วก็หาทางมาปลดร่างกายของเรา มานั่งนึกดูว่าเราคนเดียวเราก็ยังแย่ หาที่สุดของความทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไปแบกเข้าอีกขันธ์ห้าหนึ่งก็หนักอีกเท่าตัว เพียงแต่ตัวของเราก็เอาชีวิตไม่รอด

    เดิมทีเราถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ เวลาที่อายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุกาลผ่านวัยไป มาถึงอายุนี้แล้วความเสื่อมมันก็ปรากฏ องค์สมเด็จพระบรมสุคตบอกวางร่างกายของบุคคลอื่นเสียเป็นปัจจัยของความทุกข์ เห็นเรามาแบกแต่ร่างกายของเราแต่ผู้เดียว

    เมื่อต้องมาแบกร่างกายของเราคนเดียวก็นั่งมองดูว่ามันหนักหรือมันเบา มันหนักไปด้วยภาระทั้งปวงต้องหาอาหารมาให้อิ่ม เวลานี้จะกินอย่างนี้ เวลาโน้นจะกินอย่างโน้น เวลานั้นต้องกินอย่างนั้น ความอยากของมันไม่สิ้นสุด

    หนักเฉพาะการกินก็หนักแย่อยู่แล้ว เครื่องประดับประดาเครื่องแต่งตัวมันก็อยากจะได้ไอ้นั่น มันก็อยากได้ไอ้นี่ อาหารแต่ละชิ้น ผ้าแต่ละชิ้นที่จะได้ก็ได้มาด้วยความทุกข์ความเหนื่อยยาก เอามาหนักเท่านี้ก็ยังไม่พอ ประเดี๋ยวก็ป่วยโน่นประเดี๋ยวก็ป่วยนี่ ป่วยอย่างนั้น ป่วยอย่างนี้ ต้องรักษาพยาบาลมัน อาการป่วยก็เป็นทุกข์

    การจะหาเงินมารักษาก็แสนจะทุกข์ แสนจะเหนื่อยยาก นั่นก็เป็นอาการของความทุกข์ของร่างกาย มันดีตรงไหน และถึงแม้จะประคับประคองประการใดก็ดี จะรักษาอย่างไรก็ดี บำรุงอย่างไรก็ดี ในที่สุดมันก็ตาย

    ในเมื่อมันจะต้องตายแบบนี้ เราจะไปแบกมันทำไมต่อไป ถ้าเรายังจะต้องเกิดอีกเราก็แบกมันรูปนี้ตลอดไป เราเลิกแบกมันเสียดีกว่า โยนมันทิ้งไป การที่โยนมันทิ้งก็ไม่ได้หมายความว่า จะไปเชือดคอตาย ผูกคอตายโยนทิ้ง ไม่ใช่อย่างนั้น โยนมันออกไปเสียจากใจจะได้ไม่ต้องห่วงมันมากนัก ถือว่ามันเป็นที่อาศัยชั่วคราว

    ขณะใดที่เรายังอาศัยมันอยู่ ก็ประคับประคองมันตามหน้าที่ ให้มีความรู้สึกว่านี่เราทำตามหน้าที่เท่านั้น เราไม่ได้รักมันเราไม่ได้ห่วงมัน ขณะที่เรายังอาศัยมันอยู่ ถ้ามันทรุดโทรมมากเกินไปแบบเดียวกับบ้านที่อาศัย ปล่อยให้หลังคารั่วปล่อยให้พื้นผุ

    ผลที่สุดเราเองก็เป็นผู้ลำบากมากเกินไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าบ้านมันเก่าอยู่ทุกวัน หลังคารั่วพอฝนมันรั่วแดดส่อง หาอะไรมาปกปิดกันความร้อนชั่วขณะ พื้นมันผุก็หาสิ่งของเท่าที่จะซ่อมแซมได้มาซ่อมแซมมัน ประคับประคองมันไว้ แต่ว่าไม่ได้รักมัน

    กำหนดจิตว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากกันเมื่อไร เราก็จะไม่ห่วงใยขันธ์ห้านี้เป็นอันขาดและเราก็ไม่ต้องการมันอีก เพราะเราไปพบมันอีกเมื่อไรก็จะพบกับความทุกข์แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

    วิธีที่เราไม่ต้องการจะพบมันก็พิจารณาสักกายทิฏฐิ พิจารณาว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ธาตุ ๔ มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยชั่วคราว เราไม่เห็นว่ามันสวยที่ไหน ไม่เห็นว่ามันดีที่ไหน มันเต็มไปด้วยความทุกข์

    ขึ้นชื่อว่าธาตุแบบนี้เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอ เราไม่ต้องการธาตุ ๔ เป็นเรือนร่างต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิดที่มีธาตุ ๔ ไม่มีสำหรับเรา

    และแล้วต้องหาทางอ้อมต่อไปว่า ถ้าเราจะไม่ต้องมาเกิดจะทำอย่างไร
    อันดับแรกเราต้องตัดโลภะความโลภ โดยการให้ทาน อย่างนี้ต้องมีอารมณ์เป็นปกติ ไม่ใช่จะมานึกว่าจะไม่เกิด จะไม่เกิด มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องตัดมัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัดโลภะความโลภ อย่าให้มันข้องอยู่ในใจ อย่าทะเยอทะยานเกินไปจะมีความผูกพันในทรัพย์สินเกินไป ตายแล้วไม่มีใครเอาไปได้ เมื่อตัดความโลภ โดยการให้ทานโดยการบริจาค จิตจะได้มีความเบา


    เราต้องตัดโทสะ ความโกรธ โดยการทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ เราต้องตัดตัวยึดถือ คืออุปาทานในขันธ์ห้าเสีย ได้แก่การพิจารณาพบความจริงของร่างกายว่ามันเป็นทุกข์ ความผูกพันมันจึงจะไม่มี

    นี่ถ้าเราพิจารณาแบบนี้ชื่อว่าพิจารณาทั้งด้านสมถะและวิปัสสนาร่วมกัน สมถภาวนาจำจะต้องมีอยู่เสมอ แต่สมถะจะทรงตัวได้ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณประคับประคอง วิปัสสนาญาณจะติดอยู่กับจิตใจของเราได้ตลอดกาลตลอดสมัยก็ต้องมีสมถะเป็นเครื่องสนับสนุน ทั้ง ๒ อย่างนี้แยกกันไม่ออก ถ้าแยกกันเหลือส่วนใดส่วนหนึ่ง เราก็ซวยเต็มที เพราะความดีมันจะไม่ทรงตัว

    การพิจารณาธาตุ ๔ เราควรจะเห็นว่าถ้าเราพิจารณาแล้วก็ควรจะน้อมเข้าไปสู่อสุภกรรมฐานในตัวด้วย เพราะธาตุ ๔ นอกจากมันจะไม่ทรงตัวเป็นปกติ ยังมีความไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์มีการสลายตัวไปในที่สุด และยังเต็มไปด้วยความสกปรกโสมมอีกด้วย เป็นของน่าเกลียดของโสโครก นี่มองกรรมฐานจุดใดจุดหนึ่งแล้วอ้อมลงไปหาจุดจบเพื่อเป็นการทำลายจิตที่ผูกพันไว้ได้ ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานจึงจำเป็นจะต้องรู้กรรมฐานหมดทั้ง ๔๐ อย่าง ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องศึกษาให้ครบแล้วก็


    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย Admax : 05-26-2015 เมื่อ 09:09 AM
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ
     
  10. Admax said:


    บันทึกกรรมฐานเพื่อละราคะที่ ๑

    เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเกิดความติดใจเพลิดเพลิน(นันทิ) ๔ (สงเคราะห์ลง ธาตุ ๔ ในกายเรานี้)

    - พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระทศพลญาณทรงตรัสสอนว่า ให้เห็นอาการทั้ง 32 นั้นเป็นเพียง ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนถึงธาตุ ๖ คือ รวมทั้ง อากาศ วิญญาณ จนเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่ตัวตน เป็ทุกข์ (ทวัตติงสาปาฐะ, กายคตาสติ, กายานุสติปัฏฐาน, จตุธาตุววัฏฐาน)




    จตุธาตุววัฏฐาน ๔ # ๒

    ต่อไปสำหรับท่านที่ปรารถนาจะเจริญพระกรรมฐานเพื่อฝึกทิพจักขุญาณ โดยใช้บทภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ บทนี้สำคัญมากถ้าใช้เป็นทิพจักขุญาณจะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ ในตอนต้นก็ขอให้ทุกท่านให้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยเสียก่อน

    การพิจารณาในสมถะบทใดก็ตามนั้นและวิปัสสนาญาณก็ดีเป็นของดีมากถ้ายังทรงจิตอยู่ได้ จิตไม่วอกแวกไม่คลาดเคลื่อนไปให้พิจารณาไปเสมอๆ จะเป็นการตัด ถ้าเราเจริญกรรมฐานเราต้องการตัดกิเลสจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ถ้าตัดได้ตัดให้มันหมดไป

    เมื่อเห็นว่าพิจารณาจิตมันจะซ่านเกินไปก็จับคำภาวนา รักษาอารมณ์ให้ทรงตัว ในอันดับแรกเราเคยภาวนาว่าอย่างไรให้ทรงตัว ก็ภาวนาอย่างนั้นเสียก่อนจนกว่าจิตจะสบายถึงที่สุด

    เมื่อมีความอิ่มของจิตดีเรียบร้อยแล้ว จิตเรียบเป็นระเบียบดีจึงจับคำว่า นะ มะ พะ ทะ ภาวนาต่อไปแทน แต่เมื่อภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ ไม่ใช่จะอยากเห็นโน่น อยากเห็นนี่ อยากให้ปรากฏความสว่าง ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีผล ให้รักษาอารมณ์ตน

    โดยเฉพาะ ใช้คำภาวนาว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว จะมืดจะสว่างอย่างไรก็ช่าง อะไรจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ช่าง ไม่สนใจ สนใจรักษาคำว่า นะ มะ พะ ทะ อย่างเดียว พอจิตเป็นสมาธิทรงตัวดีแล้ว ถึงขั้นอุปจารสมาธิอารมณ์จิตจะสว่างไสว หลับตาจะมีความรู้สึกเหมือนว่าเรานั่งอยู่ในเวลากลางวัน มันมีความสว่างทั่วตัว

    ถ้าบังเอิญจิตเป็นทิพจักขุญาณเห็นภาพใดๆ ตามที่เราต้องการ จะมีความแจ่มใสเป็นพิเศษ เห็นชัดแม้แต่ผมแต่หนวดเส้นเล็กๆ ก็สามารถจะมองเห็นได้ คุณประโยชน์ของการเจริญกรรมฐานกองนี้ก็เพื่อว่าจะได้ทรงวิชชาสาม สามารถค้นคว้าพิจารณาหาความจริงในหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง

    ต่อจากนี้ไปขอให้บรรดาภิกษุสามเณร พุทธบริษัทชายหญิงพากันตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาต่อไป จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา




    ที่มา หนังสือ กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
    ขอบคุณภาพจาก
    www.bknowledge.org,www.kmitl.ac.th,http://1.bp.blogspot.com,www.watermis.com,www.212cafe.com



    ขออนุญาตสรุปตามความเข้าใจของผม(หมายถึงตัวท่าน raponsan สรุป)

    จตุธาตุววัฏฐาน เป็นกรรมฐานที่ต่างจากกรรมฐานอื่นๆ ตรงที่เป็นกรรมฐานพิจารณา เป็นการพิจารณาธาตุกรรมฐาน เหมาะสำหรับผู้มีพุทธจริต(ปัญญาจริต) ต้องคิด ต้องนึก ต้องใคร่ครวญ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้ดีก่อน ทำให้หลายคนอาจคิดว่ายาก

    ผมนึกถึงคำว่า" วิปัสสนึก"ขึ้นมาได้ ผมได้มีโอกาสคุยกับแม่ชีทศพร ถามท่านว่า ทำไมผมขึ้นวิปัสสนาไม่ได้
    ท่านตอบว่า สมาธิคุณแข็งไป วิปัสสนาต้องมีวิปัสสนึกก่อน

    ถึงตรงนี้บางคนอาจแย้งว่า การนึกไม่ใช่วิปัสสนา ผมเห็นด้วยครับ
    แต่อารมณ์กรรมฐาน ผมว่าน่าจะมาจากจริตวาสนาบารมีของคนนั้นๆ ไม่น่าจะมีอะไรที่ตายตัว


    กลับมาเรื่องวิปัสสนึก การพิจารณาธาตุในลักษณะนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ จะได้สมถะ
    ความหมายของผมก็คือ วิปัสสนึกเป็น สมถะนั่นเอง
    (ขอไม่คุยวิปัสสนา เนื่องจากไม่สันทัด)

    การพิจาณาธาตุตามแนวอภิธรรม มี ๖ วิธีด้วยกัน
    ๑. การกำหนดธาตุโดยไม่แยกกัน
    ๒. การกำหนดธาตุโดยเหตุและปัจจัย
    ๓. การกำหนดธาตุโดยลักษณะ
    ๔. การกำหนดธาตุโดยความเสมอกันและไม่เสมอกัน
    ๕. การกำหนดธาตุโดยความเป็นหุ่น
    ๖. พิจารณาธาตุโดยความเป็นอารมณ์


    การพิจารณาธาตุตามแนวนี้ จะไ้ด้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น
    แม้จะได้แค่อุปจารสมาธิ ก็เพียงพอสำหรับการวิปัสสนาเพื่อพ้นทุกข์แล้วครับ
    ขอคุยเท่านี้ครับ รู้สึกอึดอัด




    ผมแนบไฟล์ บทความเรื่อง "การพิจารณาธาตุกรรมฐาน" มาให้ดาวน์โหลดครับ

    http://www.madchima.org/forum/index.php?action=dlattach;topic=5260.0;attach=1855


    ขอขอบพระคุณที่มาจาก ท่าน raponsan
    http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19400#msg19400
    http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5260.msg19401#msg19401
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย Admax : 05-26-2015 เมื่อ 09:12 AM
    ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
    ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
    รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
    การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ