บ้านมีชีวิต


โดย ปิยโสภณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร

ในชีวิตหนึ่ง เริ่มจากในวัยเด็ก โลกวันนั้นเป็นโลกสีชมพู เป็นโลกที่เต็มไปด้วยสีสัน
อันงดงาม เมื่อเราเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น เป็นวันที่เราเริ่มนึกคิดด้วยตนเอง วัยนี้เราต้องเรียน
รู้เรื่อง การคบ ให้มาก เพราะเป็นวัยที่เดินอยู่บนทาง 2 แพร่ง

โตเป็นผู้ใหญ่ การเผชิญโลกมีมากขึ้น เราต้องเรียนรู้การวินิจฉัยคน เรียนรู้
การวินิจฉัยงาน เราจำเป็นต้องเผชิญทั้งสุขและทุกข์ด้วยตัวเราเอง เราต้องเรียนรู้เรื่องชีวิตมากขึ้น
เราต้องทำความเข้าใจคนอื่น และยอมให้คนอื่นเข้าใจเราได้ด้วย เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวเพื่อ
ให้เข้ากับจุดที่เรายืนอยู่ แม้เราจะไม่ปรารถนาก็ตาม

การรำลึกถึงความหลังของชีวิตวัยนี้จะหนักแน่นมากกว่าตื่นเต้น เพราะทุกอย่างจะ
แจ่มชัดอยู่ในตัวตลอดเวลา

อดีตของคนเรานั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับอนาคตมากนัก หากเรายืนอยู่ในปัจจุบัน เพราะ
ทั้งสองข้างก็เป็นสิ่งที่แจ่มชัดในจินตนาการ หากอดีตใดเป็นที่ประทับใจก็จะสว่างจ้าแจ่มใสเหมือนจินตนาการ
ต่ออนาคตที่หมายมั่นก็จะเจิดจ้าไม่แพ้กัน

ชีวิต คือการผสมผสานระหว่างอดีตกับอนาคต

แท้จริงแล้วปัจจุบันที่เราสมมติเรียกนั้น ก็คือ การผสมผสานระหว่างอดีตกับอนาคต
ตนนั่นเอง

และในชีวิตคนไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่มีอำนาจให้จดจำเท่ากับความรักโดยเฉพาะความรักที่
ได้รับจากอ้อมกอดอันอบอุ่นของแม่

ความรักจากแม่ เป็นตัวสร้างความหมายอันแท้จริงของคำว่า "บ้าน" ให้เกิดขึ้นกับ
คนทุกคน เป็นความรักที่เจือด้วยกลิ่นอายแห่งบ้าน บ้านอันเป็นจุดกำเนิดแห่งเลือดเนื้อและชีวิต ความรัก
ที่ได้จากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ลุงป้าน้าอา ความเป็นธรรมชาติ จะกลายเป็นความรักจากความหลังที่พรั่งพรู
ออกมาอย่างชัดเจนต่อดวงจิตของเราเสมอ เมื่อระลึกถึงคราใดก็อบอุ่นใจครานั้น

ความรักในความหลัง จึงไม่ต่างอะไรกับยารักษาโรคของคนป่วยไข้ แต่ขอให้เป็น
ความหลังที่พรั่งพร้อมด้วยความอบอุ่นและอ่อนโยน ก็จะเป็นความหลังที่ฝังแน่นในความรู้สึกที่งดงาม
ตลอดเวลา

แต่นั่นมิใช่ประเด็นสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่รอยจารึกของชีวิตที่อาจเป็นทั้งร่องรอย
และริ้วรอยว่า ได้ตอกย้ำจิตสำนึก และปลูกเพาะรากแก้วอันงดงาม ของชีวิตได้มากน้อยเพียงไร

พวกเราย่อมประจักษ์ใจดีว่า วัฒนธรรม และอารยธรรมอันงดงามของชนชาติของโลก
ของเผ่าพันธุ์ แม้แต่อารยธรรมของชนชาติไทยที่เราได้มาเป็นสมบัติของชาติของแผ่นดิน ก็เกิดจากการปลูก
เพาะและตอกย้ำที่ละนิดๆ ของบ้าน

วัฒนธรรมทุกอย่างเริ่มต้นจากบ้าน เพราะบ้านเป็นที่กำเนิดของชีวิต บ้านเป็นที่เริ่ม
ต้นของศาสนา บ้านเป็นแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ บ้านเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นที่พักกาย พักใจ และเป็นเรือนตาย
ของคนทุกคน

บ้าน...ที่นี่มีหลายอย่างที่เปี่ยมล้นด้วยความหมาย บ้านมิใช่เพียงอาคารใหญ่โต
เรือนล้าน มิใช้บ้านวัสดุสิ่งของหรูหราราคาแพง บ้านมิใช่ที่จอดรถคันงาม แต่คำว่าบ้านมีความหมายมาก
กว่านั้น

กระท่อมน้อยที่มีความรักความเข้าใจ อาจเป็นวิมานแสนสุขของพ่อแม่ลูก ได้ดีกว่า
คฤหาสถ์ที่ปราศจากความอ่อนโยน

เมื่อเรามองถึงความหมายของบ้านแล้ว ก็ควรจะได้คำนึงถึงสิ่งสำคัญอันเป็นหัวใจ
ของบ้านว่าคืออะไร

คำว่าบ้าน หมายถึง ความอบอุ่นผูกพันที่มีให้แก่กันและกัน เช่น ความผูกพันระหว่าง พ่อ-
แม่ลูก หากปราศจากใครคนใดคนหนึ่งแล้ว บ้านก็ไร้ความหมายทุกอย่าง หากเราจะสังเกตเห็นเด็กๆ
เวลาอยู่บ้าน เขาจะวิ่งเล่นรอบบ้าน ขณะที่แม่ทำงานไปโดยไม่สนใจเขา แต่เด็กๆ ก็จะแอบมาดูชั่วขณะ
ว่าแม่ทำอะไร แม่อยู่ไหน เมื่อมองเห็นแม่แล้วก็จะวิ่งเล่นอีกต่อไป แล้วก็แอบดูอีกที เมื่อไม่เห็นก็จะตะโกน
หาว่าแม่อยู่ไหน เมื่อได้ยินเสียงแม่ตอบรับก็จะวิ่งเล่นอย่างสบายใจต่อไป

เด็กๆ มักจะเป็นเช่นนี้ คือเขาต้องการความมั่นใจว่า มีแม่อยู่ใกล้ตัว มีเงาของแม่อยู่
ใกล้ชีวิต เพราะตัวของแม่นั่นเองคือบ้าน มิใช่เรือนชานใหญ่โต วันไหนที่แม่ไม่อยู่บ้าน จำเป็นต้องอยู่คนเดียว
เขาจะรู้สึกเหงาไม่เป็นสุข วันไหนที่ต้องกลับถึงบ้านก่อนแม่ เขาจะรอคอยที่หน้าประตูรั้วหน้าบ้าน คอยรอว่า
เมื่อไหรนะแม่จะกลับมา

การรอคอยการกลับมาของแม่ เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ของลูกทุกคน เป็นอารมณ์ที่มี
ความหมาย

มองดูชีวิตคนแล้ว ลองสังเกตดูชีวิตสัตว์บ้าง ลูกนกที่ร้องเจี๊ยบๆ คอยรออาหาร เมื่อแม่มาก็จะ
ดีอกดีใจตื่นเต้น เพราะแม่มาพร้อมกับความอิ่ม แม้บางครั้งแม่จะหิวก็ต้องยอมเพื่อลูกรัก การกลับมาของแม่แต่
ละครั้ง ทำให้บ้านมีความหมายขึ้นมากอย่างนี้

เพราะแม่เป็นมนต์มหาเสน์ห์ของบ้านนี่เอง แม่จึงเป็นตัวตนอันแท้จริงของคำว่า ส่วน
เรือนนั้น เป็นแต่เพียงอาคารและสถานที่เท่านั้น

ถ้าจะเปรียบกับคน แม่คือจิตวิญญาณส่วนเรือนชานนั้น เป็นเรือนร่างที่จิตใจอิง
อาศัย เรือนที่ปราศจากแม่บ้าน ก็ไม่ต่างอะไรกับเรือนร่างที่ปราศจากจิตวิญญาณครองนั่นเอง

สำหรับบ้านที่ปราศจากพ่อ แม่จำเป็นต้องแสดงบทบาทให้ได้ทั้งสอง คือ มีความ
เข้มแข็งเป็นพ่อ อ่อนโยนเป็นแม่ เพื่อป้อนสิ่งที่ขาดไปให้กับลูกรัก ลูกเองก็ต้องเข้าใจแม่ในภาวะเช่นนี้ให้มาก
หากไม่เป็นเช่นนั้นก็ต้องมองให้เห็นความโชคดีของชีวิตที่มีพ่อแม่อยู่ใกล้ ให้รีบขวนขวายดูแล อย่าเพียง
แต่แลดู อย่าคิดว่ามีคนอื่นดูแลแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำ ลูกต้องถือว่าแม่กับพ่อคือพระอรหันต์ของบ้าน ใคร
อยากได้บุญต้องทำเอง เพราะบุญเป็นของเฉพาะตัว ใครทำใครได้

การได้มีโอกาสอยู่ใกล้แม่ มีพ่อให้ใกล้ชิดให้พูดคุย ท่านยังให้โอกาสเรามองดูใบหน้าแววตา
ในวันนี้ได้ ถือเป็นบุญอันยิ่งใหญ่แล้วสำหรับชีวิตลูกหลานทุกคน พ่อแม่ คือบ้านที่แท้จริง และ บ้านคืออู่
อารยธรรมของโลก


ขอขอบคุณที่มาคะ http://manager.co.th/Dhamma/ViewNews...=1831174147128