พระมหาอัสสชิเถระ


ชาติภูมิ
ท่านพระอัสสชิ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในเมืองกบิลพัศดุ์นคร พราหมณ์ผู้เป็นบิดาได้เห็นพระมหาบุรุษ มีพระลักษณะถูกต้องตามตำราลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ ในคราวที่ได้รับเชิญเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะของพระองค์ จึงได้มาบอกเล่าให้ท่านฟังและสั่งไว้ว่า บิดาก็แก่เฒ่าชราแล้ว เห็นจะไม่ทันเห็นพระองค์ ถ้าพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชเมื่อใด ให้ออกบวชตามเสด็จเมื่อนั้น ตั้งแต่นั้นมาท่านมีความเคารพนับถือและเชื่อในพระองค์เป็นอันมาก เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชแล้ว และกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ท่านได้ทราบข่าวจึงพร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญะพราหมณ์เป็นหัวหน้า พากันออกบวชตามเสด็จ คอยเฝ้าปฏิบัติพระองค์อยู่ทุกเช้าค่ำ ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ถึง ๖ ปี ยังไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันใด ทรงทราบแน่ในพระทัยว่าไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยานั้นเสีย ตั้งพระทัยบำเพ็ญเพียรในทางใจสืบต่อไปฯ ทว่าท่านเข้าใจว่า พระองค์คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากในกิเลสกามคุณเสียแล้ว เห็นจะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันใดอันหนึ่งเป็นแน่นอน จึงเกิดความเบื่อหน่ายพากันละทิ้งพระองค์เสีย แล้วหลีกไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสีฯ ครั้นพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรในทางใจได้ตรัสรู้แล้ว จึงเสด็จไปตรัสเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร โปรดเป็นปฐมเทศนา และวันต่อมา ตรัสปกิรณกเทศนา ท่านได้สดับเทศนานั้นพอเป็นเครื่องปลูกความเชื่อแลเลื่อมใส แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดไม่ ครั้นได้สดับ ปกิรณกเทศนา ที่พระองค์ตรัสในวาระที่สี่ ท่านได้ดวงตาเห็นธรรมฯ



อุปสมบท
ท่านได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงรับให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ครั้นกาลต่อมาได้ฟังเทศนา อนัตตลักขณสูตร ที่พระองค์ทรงแสดงในลำดับ ปกิรณกเทศนา นั้น ท่านพร้อมด้วยภิกษุ ๔ รูป คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็น พระอเสขบุคคล ก่อนกว่าพระอริยสาวกทั้งหมดฯ



การบำเพ็ญประโยชน์ (ประกาศพระศาสนา)

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนาในตอนปฐมโพธิกาล ท่านองค์หนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ช่วยเป็นกำลังประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ปรากฏว่าท่านเป็นผู้เฉลียวฉลาดรู้จักประมาณตนไม่โอ้อวดหรือเย่อหยิ่ง กิริยามารยาทก็เป็นที่น่าเลื่อมใส เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ ประเวฬุวัน ในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ อุปติสสปริพพาชกเดินมาแต่สำนักของปริพพาชก ได้เห็นท่านเข้าเกิดความเลื่อมใส จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านกล่าวว่า ผู้มีอายุ เราเป็นคนใหม่บวชไม่นาน พึ่งมายังพระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านโดยกว้างขวาง เราจักกล่าวแก่ท่านโดยย่อพอรู้ความ แล้วท่านก็แสดงธรรมแก่ อุปติสสปริพพาชกพอเป็นเลา ๆ ความว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุของธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้” อุปติสสปริพพาชก ได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วท่านก็ได้ชักนำให้ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ภายหลังปรากฏว่า อุปติสสปริพพาชก ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา มีนามว่า สารีบุตร เป็นอัครสาวกฝ่ายขวา จัดว่าท่านพระอัสสชิได้ศิษย์สำคัญองค์หนึ่ง ท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธ์ปรินิพพานฯ



ข้อควรกำหนด

คำว่า “อมฤต” ตามพราหมณโวหาร หมายถึง น้ำทิพย์อันเกิดจากการกวนพระมหาสมุทร ซึ่งพวกเทวดาช่วยทำกันตามคำพระนารายณ์ เกิดน้ำทิพย์ในท่ามกลางมหาสมุทรเรียกว่า “น้ำอมฤต” บ้าง “สุรามฤต” บ้าง แปลว่า น้ำทำผู้ดื่มไม่ให้ตาย ตามศาสนโวหาร หมายถึง ธรรมของผู้ที่ทำในใจโดยชอบ ละอัสมิมานะได้ขาด ไม่ถือมั่นว่าเรา ว่าของเรา ว่าเขา ว่าของเขา เมื่อสิ่งนั้น ๆ แตกดับไปตามธรรมดา ก็ไม่สำคัญว่า เราตาย ของเราตาย เขาตาย ของเขาตาย เห็นเป็นแต่สภาพอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ธรรมของผู้เห็นเช่นนี้เรียกว่า “อมฤต”



ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณ เทียบด้วยจักรรัตนะ ประกาศความเป็นจักรพรรดิราช เนื้อความแห่งธรรมจักรว่า “ส่วนสุด ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค ได้แก่การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกามอันเป็นส่วนสุดข้างหย่อน และ อัตตกิลมถานุโยค ได้แก่การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า อันเป็นส่วนสุดข้างตึง อันบรรพชิตไม่ควรเสพ มัชฌิมาปฏิปทา คือ ปฏิบัติเป็นสายกลาง ไม่ข้องแวะส่วนสุดทั้ง ๒ นั้น มี ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ, สัมมาวาจา เจรจาชอบ, สัมมากัมมันตะ การงานชอบ, สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ. สัมมาวายะมะ เพียรชอบ, สัมมาสติ ระลึกชอบ, และสัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ได้แก่ สภาวทุกข์ และเจตสิกทุกข์, ทุกขสมุทัย ได้แก่ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา, ทุกขนิโรธ ได้แก่ความดับสิ้นเชิงแห่งตัณหานั้น, และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ มัชฌิมาปฏิปทานั้นประการหนึ่ง ญาณในอริยสัจ ๔ นั้น อย่างละ ๓ คือ สัจจญาณ ได้แก่รู้อริยสัจ ๔ นั้น กิจจญาณ ได้แก่รู้กิจอันจะพึงทำเฉพาะอริยสัจนั้น ๆ กตญาณ ได้แก่รู้ว่ากิจอย่างนั้น ๆ ได้ทำสำเร็จแล้วประการหนึ่ง พระญาณทัสสนะมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด ยังปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ได้เพียงนั้น ต่อบริสุทธิ์แล้ว จึงปฏิญญาอย่างนั้นได้ ในที่สุดทรงแสดงผลแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ นั้นคือ เกิดพระญาณเป็นเครื่องเห็นว่า วิมุตติ คือ ความพ้นจากกิเลสสวะของพระองค์ไม่กำเริบ ความเกิดครั้งนี้เป็นที่สุด ต่อไปนี้ไม่มีการเกิดอีก”



คำว่า ธรรมจักษุ ได้แก่ดวงตา คือ ปัญญาอันเห็นธรรมปราศจากธุลีว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา” พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ผู้ได้ธรรมจักษุเป็นพระโสดาบัน โดยนัยนี้ ธรรมจักษุ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค



อนัตตลักขณสูตร ที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะแสดงลักษณะเครื่องกำหนดปัญจขันธ์ว่าเป็น อนัตตา จึงเรียกว่า อนัตตลักขณสูตร ใจความโดยย่อว่า “ปัญจขันธ์” คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา มิใช่ตน หากปัญจขันธ์จักเป็นอัตตา เป็นตนแล้วไซร้ ปัญจขันธ์นี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และจะพึงได้ในปัญจขันธ์นี้ว่า ขอจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะเหตุปัญจขันธ์เป็นอนัตตาคือ มิใช่ตน จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และย่อมไม่ได้ตามปรารถนาอย่างนั้น ในลำดับนั้น ตรัสนำให้เห็นแล้ว รู้ว่า ปัญจขันธ์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยเหตุเนื่องกันมาเป็นลำดับแล้ว ทรงแนะให้ละความถือมั่นในปัญจขันธ์ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่หยาบ ทั้งที่ละเอียด ทั้งที่เลว ทั้งที่ดี ทั้งที่อยู่ห่าง ทั้งที่อยู่ใกล้ ว่านั่นมิใช่เรา นั่นมิใช่ของเรา นั้นมิใช่ตัวของเรา ในที่สุดทรงแสดงอานิสงส์ว่า อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปัญจขันธ์ ย่อมปราศจากความกำหนัดรักใคร่ จิตย่อมพ้นจากความถือมั่น มีญาณรู้ว่าพ้นแล้ว รู้ชัดว่าความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว กิจอื่นที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่ต้องทำกิจอย่างอื่นอีก เพื่อบรรลุผลอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์



วันตรัสเทศนา สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรยังพระอัญญาโกณฑํญญะให้ตั้งในพระโสดาปัตติผล ในวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส ตรัสเทศนาอนัตตลักขณสูตร ยังพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ให้ตั้งในพระอรหัตผล เมื่อดิถีที่ ๕ แห่งกาฬปักษ์เป็นลำดับมา (ในครั้งนั้นนับเป็นต้นแห่งสาวนมาส) โดยนัยนี้ระยะกาลที่ทรงสั่งสอนท่านทั้ง ๔ ให้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล ๔ วันในระหว่างนั้นฯ..



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab05.htm