พระโมฆราชเถระ

ชาติภูมิ

ท่านพระโมฆราช เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามประเพณีพราหมณ์ฯ ครั้น พราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส ได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศล ออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ โมฆราชมาณพพร้อมกับมาณพสิบห้าคนออกออกบวชติดตามไปอยู่ด้วย และอยู่ในมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหาให้ไปกราบทูลถามพระบรมศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธฯ



ทูลถามปัญหา ๑ ข้อ

โมฆราชมาณพ ปรารภจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่สอง เพราะถือว่าตนเองเป็นคนมีปัญญาดีกว่ามาณพทั้งสิบหกคน คิดจะทูลถามปัญหาก่อน แต่เห็นว่าอชิตมาณพเป็นผู้ใหญ่กว่าและเป็นหัวหน้า จึงยอมให้ทูลถามปัญหาก่อน พระบรมศาสดาจึงตรัสห้ามว่า โมฆราช ท่านรอให้มาณพอื่นได้ทูลถามปัญหาก่อนเถิด โมฆราชก็หยุดอยู่แต่หลังจากที่มาณพคนอื่น ๆ ได้ทูลถามปัญหาเป็นลำดับ ๆ กันถึงแปดคนแล้ว โมฆราชมาณพปรารภจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่เก้าอีก พระบรมศาสดาก็ทรงห้ามไว้ โมฆราชก็ยับยั้งนิ่งอยู่ รอให้มาณพอื่นทูลถามถึงสิบสี่คนแล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบห้าว่า



ข้าพระพุทธเจ้า ได้ทูลถามปัญหาถึงสองครั้งแล้ว พระองค์ไม่ทรงแก้ประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินว่า ถ้าทูลถามถึงสามครั้งแล้วพระองค์จะทรงแก้ จึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบห้าว่า โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหาถึงพระองค์ผู้ทรงพระปรีชา เห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงไม่แลเห็น คือจะตามไม่ทัน



พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่า ตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะพ้นจากมัจจุราชได้ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจะไม่แลเห็นฯ



เอตทัคคะ



ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา โมฆราชมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล (ก่อนอุปสมบท) เมื่อพระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ปัญหาที่ปิงคิยมาณพถามจบลงแล้ว โมฆราชมาณพมาณพพร้อมด้วยมาณพสิบห้าคนทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระโมฆราชเมื่อได้อุปสมบทแล้ว ท่านยินดีในจีวรที่เศร้าหมอง ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมองฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab32.htm