พระอุบาลีเถระ

ชาติภูมิ

ท่านพระอุบาลี เป็นบุตรแห่งนายช่างกัลบก ในพระนครกบิลพัศดุ์ เดิมชื่อว่าอุบาลี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้เป็นที่เลื่อมใสเจริญพระหฤทัยแห่งเจ้าในศากยวงศ์ทั้งห้าพระองค์ ได้รับตำแหน่งเป็นนายภูษามาลาแห่งเจ้าศากยวงศ์นั้น ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัศดุ์แล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัศดุ์ ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนารามของมัลลกษัตริย์ ฯ ครั้งนั้น ศากยกุมารห้าพระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ และ กิมพิละ รวมเทวทัตต์ ซึ่งเป็นเจ้าในโกลิยวงศ์เข้าด้วยเป็น ๖ เสด็จออกจากพระนครด้วยจาตุรงคเสนา เพื่อจะออกบวชในพระพุทธศาสนา อุบาลี เป็นนายภูษามาลาได้ติดตามออกไปด้วย พากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบท ก่อนแต่จะอุปสมบท พวกเจ้าศากยะเหล่านั้นทูลขอให้พระองค์บวชอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาก่อน พระองค์ก็ได้โปรดให้บวชอุบาลีก่อน เมื่อพระอุบาลีอุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระกรรมฐานที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนฯ



เอตทัคคะและหน้าที่หลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน

ท่านไม่ประมาทอุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตต์ และท่านได้ศึกษาทรงจำพระวินัยปิฎกแม่นยำชำนิชำนาญมาก เป็นผู้สามารถจะทำเรื่องราวอะไรซึ่งเกี่ยวด้วยวินัยได้เป็นอย่างดี ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างที่ท่านได้รับพระอนุญาต ให้เป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์สามเรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ, อัชชุกวัตถุ, และกุมารกัสสปวัตถุ ฯ ด้วยเหตุนี้ท่านพระอุบาลีจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย



ภายหลังเมื่อพระบรมศาสดานิพพานแล้ว ท่านพระมหากัสสปะกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระวินัยปิฎก เพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนี้ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab39.htm