ภัยร้ายรายวัน ประจำสัปดาห์ นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของรถยนต์ ให้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของเหล่ามิจฉาชีพ ที่สามารถเข้าไปภายในห้องโดยสารเพียงเวลาไม่กี่นาที เพื่อขโมยรถ หรือฉกทรัพย์สิน ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

กุญแจปลอม : ที่มิจฉาชีพทำขึ้นจากการแอบหยิบกุญแจตัวจริงไปทำการปั๊ม เมื่อเจ้าของนำรถยนต์ไปล้าง ซ่อม ตรวจเช็คสภาพ ตามสถานที่ให้บริการ หรือแม้แต่การซื้อรถมือสองจากแหล่งที่ไม่น่าไว้วางใจ

เหล็กแข็ง : มักจะดัดแปลงมาจากประแจสแตนเลส ที่มีขนาดใกล้เคียงกับกุญแจรถ เพื่อสอดเข้าไปยังรูไขกุญแจ ก่อนจะใช้แรงบิดเสียจนฟันเฟืองภายในเสียหาย จนระบบล็อกถูกเปิด

ลวดแข็งตัวยู : เป็นวิธีที่ช่างใช้ปลดล็อกเมื่อลืมกุญแจไว้ในรถ โดยการดัดลวดให้เป็นตัวยู เลาะยางรีดน้ำที่ประตูรถออก ก่อนสอดลวดเข้าไปดันปุ่มล็อกให้เลื่อนขึ้น หรือกระตุกมือเปิดประตู

งัดประตูหูช้าง : สำหรับรถกะบะที่มีแค๊บ มิจฉาชีพจะใช้ลวดแข็งดัดแปลงเป็นรูปตัวยู สอดปลายเข้าไปที่ขอบกระจกด้านหูช้าง แล้วใช้แรงแงะให้กระจกเปิดออกเพียงเล็กน้อย ก่อนทำลายตัวล็อกให้เสียหาย แล้วเอื้อมมือเข้าไปปลดล็อก

น้ำกรด : มิจฉาชีพจะฉีดน้ำกรรมจากเข็มฉีดยา เข้าไปยังรูสอดกุญแจ ทำลายระบบล็อกภายในให้เสียหาย

ทุบกระจก : พวกมิจฉาชีพจะใช้ของแข็งหุ้มผ้า เพื่อลดเสียงดังขณะทุบกระจกเพียงแค่ให้เกิดรอยแจกร้าวทั่วแผ่น ก่อนผลักแผงกระจก ปลดล็อก หรือฉกทรัพย์

แทรกแซงวงจรไฟฟ้า : ด้วยการช๊อตกระแสไฟ ทำให้การล็อกรถด้วยรีโมทล้มเหลว

หากไม่ต้องการให้เหล่ามิจฉาชีพเข้าถึงภายในห้องโดยสาร เจ้าของรถควรติดตั้งอุปกรณ์กันขโมย เพื่อยับยั้งการโจรกรรม หรือเพิ่มอุปสรรคทำให้การก่อเหตุของมิจฉาชีพกินเวลานานขึ้น อย่างการล็อกเกียร์ พวงมาลัย เบรกและครัช ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดอยู่หลากหลาย ซึ่งควรจะเลือกใช้อุปกรณ์กันขโมยที่มีคุณภาพ ทำขึ้นจากเหล็ก สแตนเลสชนิดหนา

ที่สำคัญ เจ้าของรถควรใส่ใจเลือกจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ลับสายตา ไม่เปลี่ยว ไม่จอดรถในสถานที่ต่างๆ ทิ้งไว้นานเกินไป หมั่นศึกษาอุปกรณ์กันขโมยที่พัฒนาให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และนำมาติดตั้งกับตัวรถของคุณ.

ที่มา เดลินิวส์